พญ. ศศิวิมล จันทรศรี แพทย์เฉพาะทางสาขาจักษุวิทยา
เขียนโดย
พญ. ศศิวิมล จันทรศรี แพทย์เฉพาะทางสาขาจักษุวิทยา
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

รวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับอาการ “คันตา”

อาการเกี่ยวกับดวงตาที่พบบ่อย สามารถเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ การรักษาจึงแตกต่างกันไปด้วย
เผยแพร่ครั้งแรก 30 พ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 14 ธ.ค. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 25 มิ.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
รวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับอาการ “คันตา”

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • อาการคันตา คือเกิดความระคายเคืองบริเวณรอบดวงตาหรือภายในดวงตา การขยี้เมื่อคันตายังเป็นเพียงกลไกเบี่ยงเบนความรู้สึกจดจ่อกับอาการคันให้ไปรู้สึกกับการขยี้แทน ไม่ได้ช่วยบรรเทาอาการจริงๆ 
  • สาเหตุที่ทำให้คันตา เช่น 1) เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ สัญลักษณ์ของคนที่เป็นภูมิแพ้เรื้อรังมักจะมีเบ้าตาคล้ำ 2) ตาแห้ง เมื่องานทำงานของน้ำตาผิดปกติ ก็ส่งผลให้เกิดภาวะตาแห้งนำไปสู่อาการคันตาได้ สามารถบรรเทาด้วยน้ำตาเทียม
  • 3) มีสิ่งแปลกปลอมในตา เช่น แมลง ฝุ่น สารเคมี สามารถล้างด้วยน้ำสะอาดได้ทันที 4) ระคายเคืองจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับผิวหน้าและดวงตา หากมีอาการคันตาควรงดใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้สักระยะ หากอาการยังไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์
  • 5) ตาแดงจากการติดเชื้อ และ 6) เปลือกตาอักเสบ พบได้บ่อยมาก อาจเกิดจากเอามือสกปรกขยี้ตา ตามมาด้วยตาแห้ง ขนตาร่วงหลุด ตามัว เป็นกุ้งยิงหรือต่อมไขมันอุดตัน (Chalazion) ทั้ง 2 กรณีควรไปพบแพทย์
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจตา

อาการคันตาเกิดได้กับทุกคน โดยเฉพาะในช่วงที่ฝุ่นมลพิษในเมืองมีมากมาย ก็อาจทำให้หลายคนประสบปัญหานี้ได้ เพราะฉะนั้นเราจึงควรอ่านสาเหตุของอาการคันตา เพื่อหาวิธีป้องกันได้อย่างถูกต้อง

อาการคันตาเป็นอย่างไร?

อาการคันตา คือเกิดความระคายเคืองบริเวณรอบดวงตาหรือภายในดวงตา เป็นหนึ่งในความผิดปกติเกี่ยวกับดวงตาที่พบได้บ่อย เมื่อเกิดอาการคันตาคนเรามักขยี้ตาโดยอัตโนมัติเพราะคิดว่าจะทำให้หายคัน เป็นเหตุให้เสียบุคลิก 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจตา รักษาโรคตาวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 437 บาท ลดสูงสุด 61%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

อีกทั้งที่จริงการขยี้เมื่อคันตายังเป็นเพียงกลไกการเบี่ยงเบนความรู้สึกจดจ่อกับอาการคันให้ไปรู้สึกกับการขยี้แทน ไม่ได้ช่วยบรรเทาอาการจริงๆ แถมทำให้เจ็บตา ตาบวมหนักกว่าเดิม  

6 สาเหตุที่ทำให้ คันตา

อาการคันตาไม่ใช่โรค เป็นเพียงอาการที่เกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ อาจบ่งบอกแค่ว่าคุณดูแลสุขลักษณะทางตาไม่ถูกต้อง หรืออาจเป็นหนึ่งในอาการแสดงของโรคตา สาเหตุของอาการคันตาที่พบบ่อยๆ มีดังต่อไปนี้

1. เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้

อาการคันตาเป็นสัญญานบ่งบอกสำคัญของเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ โดยอาจเกิดจากการแพ้อาหาร สัตว์ พืช สิ่งแวดล้อม หรือสิ่งกระตุ้นที่มาตามฤดูกาล 

อย่างไรก็ตาม บางครั้งก็หาได้ยากว่าสารใดเป็นตัวการที่ทำให้คนคนหนึ่งเกิดอาการแพ้ เนื่องจากสารบางอย่างก็เป็นสารที่คนอื่นๆ มักไม่แพ้ และหลายครั้งสารเหล่านั้นก็อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่คุณอยู่ประจำ ทำให้จับสังเกตยาก 

กลไกของเยื่อบุตาอักเสบนั้นเริ่มจากเมื่อคุณสัมผัสหรือรับประทานสิ่งกระตุ้นเข้าไป ก็จะเกิดอาการคันตานิดๆ ตาแฉะ เยื่อบุตาขาวแดง บวม เป็นอาการที่ไม่รุนแรงแต่สามารถเป็นต่อเนื่องทุกวันนานเป็นเดือนๆ สร้างความรำคาญได้ 

สัญลักษณ์ของคนที่เป็นภูมิแพ้เรื้อรังมักจะมีเบ้าตาคล้ำ ซึ่งเกิดจากการคั่งของเส้นเลือดดำรอบดวงตา สำหรับวิธีรักษานั้น ถ้ามีอาการแสดงออกทางดวงตาอย่างเดียว สามารถใช้เพียงยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของแอนติฮิสตามีน (Antihistamine) หยอดก็ทุเลา หรือถ้ามีอาการระบบอื่นๆ เช่น แน่นจมูก มีผื่น มักจะต้องใช้ยารับประทาน 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจตา รักษาโรคตาวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 437 บาท ลดสูงสุด 61%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

แต่หากเป็นอาการภูมิแพ้เฉียบพลัน (Anaphylaxis) อาการจะแสดงออกและเป็นหนักขึ้นในเวลาไม่กี่นาที โดยเปลือกตาจะบวม เยื่อบุตาจะบวมน้ำจนเป็นวุ้น อาการพวกนี้หากยิ่งขยี้จะยิ่งแย่ลง ตาบวมมากขึ้น ให้รีบประคบตาด้วยน้ำแข็งหรือเจลเย็น อาการจึงจะทุเลาลงโดยเร็ว 

หากคันตาพร้อมทั้งมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย ต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ได้แก่ อาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หรือมีผื่นลมพิษขึ้นอย่างรวดเร็ว 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกิดอาการเหล่านี้หลังรับประทานยา (ที่พบบ่อยคือ กลุ่มยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือ พวกยาปฏิชีวนะ) หรืออาหารที่เคยแพ้มาก่อน  

2. ตาแห้ง

ตามปกติคนเรามี น้ำตา ทำหน้าที่หล่อลื่นผิวตา ทำให้ตาชุ่มชื้น ส่งอาหารและออกซิเจนเลี้ยงลูกตา รวมถึงผลิตภูมิคุ้มกันปกป้องดวงตาจากการติดเชื้อ แต่เมื่องานทำงานของน้ำตาผิดปกติ ก็ส่งผลให้เกิดภาวะตาแห้งนำไปสู่อาการคันตาได้ 

โดยอาจเป็นเองตามธรรมชาติ เช่น ช่วงเข้าสู่วัยทอง หรือหลังทำการผ่าตัดตา เช่น ผ่าตัดต้อกระจก ทำเลสิก ผ่าตัดหนังตา และอาจมีภาวะอื่นๆ อีกได้แก่

  • ปริมาณน้ำตาไม่เพียงพอ อาจเกิดจากการใส่คอนแทกต์เลนส์เป็นประจำ ใช้ยารักษาสิวกลุ่มไอโซเตรตติโนอิน (Isotretinoin) หรือมีโรคแพ้ภูมิตัวเอง

  • คุณภาพของน้ำตาไม่ดี อาจเกิดจากภูมิแพ้เรื้อรัง เปลือกตาอักเสบ หรือต่อมไขมันอุดตันที่ตา

  • เกิดการระเหยหายไปมากและเร็วเกินไป อาจเป็นเพราะเป็นคนที่ตาโปนโต เปลือกตาปิดตาไม่สนิท หรือมีพฤติกรรมจ้องจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือเป็นเวลานานๆ จนตาแทบจะไม่กะพริบ

อาการตาแห้งมีได้หลากหลาย เช่น คันตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณหัวตาและหางตา แสบตาจนน้ำตาไหล รู้สึกฝืดๆ ตาเวลากะพริบ ตามัวบ้างชัดบ้าง ปัญหานี้มักจะเป็นเรื้อรัง และหลายๆ ครั้ง ไม่ได้เกิดจากสาเหตุใดเพียงสาเหตุเดียว 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจตา รักษาโรคตาวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 437 บาท ลดสูงสุด 61%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ในเบื้องต้น การใช้น้ำตาเทียมมักจะช่วยบรรเทาได้ แต่หากใช้น้ำตาเทียมแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น คันตามากขึ้น ตาแดง ตามัวมาก หรือเจ็บตาอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาตื่นนอนตอนเช้า ควรรีบไปพบแพทย์

3. มีสิ่งแปลกปลอมในตา

หากมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตาทันที เช่น ฝุ่น ทราย แมลง สารเคมีต่างๆ มักมีอาการเจ็บ เคือง กะพริบตาทุกครั้งจะรู้สึกได้ว่ามีอะไรแปล๊บๆ ควรล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที ยิ่งเร็วยิ่งดี ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำยาล้างตา

ไม่ควรขยี้ตาเป็นอย่างยิ่ง เพราะการขยี้คือการกดให้สิ่งแปลกปลอมติดแน่นขึ้น หรือฝังที่กระจกตา หรือถูกลากครูดบาดกระจกตาเป็นแผล 

แต่หากล้างตาแล้วยังมีอาการคันหรือรู้สึกถึงสิ่งแปลกปลอมไม่หยุด อาจจะยังมีเศษสิ่งแปลกปลอมค้างอยู่ หรือบางครั้งเศษหลุดไปแล้ว แต่มีรอยถลอกที่ผิวตา ก็สามารถทำให้คันเคืองตาได้ ซึ่งจะทราบได้ก็จากการตรวจโดยจักษุแพทย์เท่านั้น

4. เกิดการระคายเคืองจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับผิวหน้าและดวงตา

สารเคมีบางชนิด หรือส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดรอบดวงตา ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดคอนแทกต์เลนส์ ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว เครื่องสำอาง รวมไปถึงเครื่องประทินผิวต่างๆ อาจก่อให้เกิดอาการคัน ระคายเคือง หรือ แสบตาได้ 

ถ้าเป็นมากอาจทำให้เกิดผิวหนังบริเวณเปลือกตาอักเสบ แดง เป็นสะเก็ด หรือเป็นแผลลอก ปัญหาเหล่านี้มักจะไม่เกิดทันทีหลังใช้ แต่จะค่อยๆ เป็นมากขึ้นๆ ทีละเล็กทีละน้อย 

โดยเฉพาะเครื่องสำอางที่ใช้รอบดวงตาหรือใบหน้าที่มีลักษณะเป็นกลิตเตอร์ (Glitter) วาวๆ เกล็ดใหญ่ๆ จะพบว่าก่อให้เกิดอาการระคายเคืองได้บ่อย ส่วนเครื่องสำอางที่ติดแน่นกันน้ำที่ล้างออกยากก็ทำให้เกิดปัญหาได้เช่นกัน หากมีอาการคันตาควรงดใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้สักระยะ 

แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์

5. ตาแดงจากการติดเชื้อ

หากอาการคันตาพ่วงมากับอาการตาแดง เจ็บตา มีขี้ตามากทั้งวัน ให้สงสัยว่าอาจเกิดจากติดเชื้อ โดยเยื่อบุตาติดเชื้อที่พบบ่อยได้แก่

  • เชื้อไวรัสตาแดงระบาด มักเกิดในคนที่มีประวัติคนใกล้ชิดเป็นตาแดง หรือเกิดหลังสัมผัสน้ำในช่วงปลายฝนต้นหนาว ซึ่งเป็นช่วงระบาด อาการจะเป็นมากขึ้นอย่างรวดเร็ว นานเป็นวัน ตาจะบวม เยื่อบุตาแดง ตาแฉะมาก อาจเป็นที่ตาข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ อาจหายได้เอง หรือหากเชื้ออาจเข้าระยะสอง คือ เข้ากระจกตา ทำให้ตามัวได้เป็นเดือน

  • เชื้อไวรัสตาแดงที่มาพร้อมไข้หวัด อาการคล้ายไวรัสตาแดงระบาดแต่ไม่รุนแรงเท่า แต่จะมีอาการไข้หวัด เจ็บคอ น้ำมูกไหล

  • เชื้อแบคทีเรีย มักเกิดจากมือไม่สะอาด จับโน่นจับนี่แล้วมาขยี้ตา อาการคือมักจะคันตา ตาแฉะไม่มาก ขี้ตาเหนียวและมีสีเขียว มักดีขึ้นได้เองภายในเวลา 1 สัปดาห์ แต่กว่าจะหายสนิทมักต้องใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ขึ้นไป และหากใช้ยาปฏิชีวนะหยอดตา จะช่วยให้อาการดีขึ้นเร็วตั้งแต่วันแรกที่ใช้ ส่วนใหญ่หยอดตาไม่เกิน 5 วันก็เป็นปกติแล้ว  

ขอแนะนำว่า ถ้ามีอาการคันตา และตาแฉะ มีขี้ตาซึมออกมาทั้งวัน ให้สงสัยว่าจะเกิดจากการติดเชื้อ ให้รีบไปพบแพทย์ การไปซื้อยาหยอดตามาหยอดเองแบบลองผิดลองถูกมักไม่ได้ผล

6. เปลือกตาอักเสบ

อาการเปลือกตาอักเสบนั้นพบได้บ่อยมาก ทั้งในคนทั่วไปและผู้สูงอายุ อาจเกิดจากสุขลักษณะไม่ดี เอามือสกปรกขยี้ตา หรือจู่ๆ ก็เป็นขึ้นเอง จากการมีเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้ออื่นๆ เช่นดีโมเด็กซ์ (Demodex) เพิ่มจำนวนที่เปลือกตา ทำให้คันหนังตา บวม แดง เป็นสะเก็ดคล้ายรังแค

ตามมาด้วยอาการตาแห้ง ทำให้ขนตาร่วงหลุด ตามัว เป็นกุ้งยิงหรือต่อมไขมันอุดตัน (Chalazion) ซ้ำๆ และรายที่เป็นเรื้อรังอาจเป็นสาเหตุของมะเร็งที่หนังตาได้ โรคนี้จะทราบว่าเป็น ก็เมื่อได้ไปพบจักษุแพทย์และตรวจโดยละเอียดเท่านั้น

จะเห็นได้ว่า อาการคันตาบ่งบอกได้ถึงหลายโรค ดังนั้นเมื่อเกิดอาการคัน ไม่ว่าจะในส่วนไหนของดวงตา จนถึงบริเวณรอบๆ จึงควรไปพบแพทย์ให้วินิจฉัยและให้การรักษา หรือแนะนำการดูแลสุขลักษณะของตาให้ถูกต้อง

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจตา จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกการอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
เกวลิน เลขานนท์. โรคตาแห้ง: โครงการตำรารามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, 2561.
Amir A. Azari, Neal P. Barney. Conjunctivitis . A systemic review of diagnostic and treatment. JAMA. 2013 Oct 23; 310(16): 1721–1729.
American Academy of Ophthalmology. Cornea/External Disease Panel . Preferred Practice Pattern Guidelines: ConjunctivitisLimited Revision. American Academy of Ophthalmology; San Francisco, CA: 2011

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
ข้อควรรู้เกี่ยวกับโรคม่านตาอักเสบ
ข้อควรรู้เกี่ยวกับโรคม่านตาอักเสบ

ม่านตาอักเสบเกิดจากอะไร อาการเป็นอย่างไรและมีวิธีรักษาอะไรบ้าง

อ่านเพิ่ม
เยื่อบุตาอักเสบ (Conjunctivitis)
เยื่อบุตาอักเสบ (Conjunctivitis)

อาการ สาเหตุ และวิธีการรักษาภาวะเยื่อบุตาอักเสบหรือตาแดง

อ่านเพิ่ม
สุนัขตาฟางเป็นอย่างไร รักษาได้หรือไม่?
สุนัขตาฟางเป็นอย่างไร รักษาได้หรือไม่?

อาการตาฟางในสุนัข สามารถพบได้ในสุนัขที่มีอายุ 6-7 ปีขึ้นไป หากพาไปพบสัตวแพทย์เร็ว ก็มีโอกาสรักษาให้หายกลับมาเป็นปกติได้

อ่านเพิ่ม