มาตรฐานด้านเวชกรรม
ผู้ที่จะเป็นหมอรักษาโรคด้วยทฤษฎีการแพทย์แผนไทยนั้นต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญ เบื้องต้นคือ
1. ต้องมีความรู้ ความเข้าใจทฤษฎีการแพทย์แผนไทย และความสามารถนำทฤษฎีการแพทย์แผนไทยมาใช้ในการวินิจฉัยและรักษาโรคได้
2. ต้องมีความรู้ในคัมภีร์เวชศึกษาว่าด้วยกิจของแพทย์ 4 ประการ คือ
- รู้ที่ตั้งที่แรกเกิดของโรค
- รู้ชื่อโรค
- รู้ยาต่าง ๆ สำหรับรักษาโรค
- รู้ว่ายาชนิดใดใช้รักษาโรคอะไร
3. ต้องมีความรู้เรื่องคัมภีร์สมุฎฐานวินิจฉัยแตกฉานและแม่นยำ เพื่อนำองค์คามรู้มาประยุกต์ใช้ในการวินิจฉัยและรักษาโรคที่มีลักษณะอาการระบุชัดเจน ที่บ่งบอกถึงการเสียสมดุลของร่างกายและสามารถจดจำเข้าใจในโรคที่มีสาเหตุการเกิดโรคและวิธีการรักษาที่แน่นอน เช่น เริม, ไข้หวัด, โรคกระเพาะ เป็นต้น
4. ต้องมีคามรู้ในคัมภีร์ต่าง ๆ ที่กล่าวถึงธาตุทั้ง 4 คือ ดิน (ปถวีธาตุ), น้ำ (อาโปธาตุ), ลม (วาโยธาตุ), ไฟ (เตโชธาตุ) ซึ่งเป็นส่วนประกอบของร่างกาย เมื่ออยู่ในลักษณะสมดุลก็จะไม่เกิดโรค แต่ถ้าเมื่อใดที่ร่างกายเสียสมดุลเกิดกำเริบ (การเพิ่มขึ้นของคุณลักษณะแห่งธาตุนั้น ๆ ในร่างกาย) หย่อน (การลดลงของคุณลักษณะแห่งธาตุนั้น ๆ) พิการ (การเปลี่ยนแปลงผิดปกติไปจากธรรมดาของธาตุนั้น ๆ) จะก่อให้เกิดปัญหาสำคัญแสดงลักษณะอาการออกทางอาการและความรู้สึกของคนไข้ที่สำคัญดังนี้ เป็นอย่างน้อย เช่น
- หอบหืด, หายใจไม่อิ่ม, ใจสั่น, เหนื่อยง่าย, อ่อนเพลีย, นอนไม่หลับ., ง่วงผิดปกติ, กระวนกระวาย, อารมณ์แปรปรวน, ซึมเศร้า, หวาดกลัว, คลุ้มคลั่ง, วิตกกังวล, ความจำเสื่อม, หลงลืมง่าย, หน้ามืดวิงเวียน, เป็นลม
- คลื่นไส้, อาเจียน, เบื่ออาหาร, เรอ, สะอึก, แน่นท้อง, ท้องผูก, ท้องอืด, ท้องเดิน, อุจจาระเป็นเลือด
- ตามัว, ตาฟางกลางคืน, ตาเจ็บ, ตาแดง, ตาอักเสบ, ปวดตา, เคืองตา, เกล็ดกระดี่ขึ้นตา, หูตึง, หูอื้อ, ปวดหู, คัดจมูก, น้ำมูกไหล, เจ็บคอ, เสียงแหบ, เลือดกำเดาออก
- ปวดฟัน, ปวดหัว, ปวดตามข้อ, ปวดกระดูก, เป็นเหน็บชา, ปวดหลัง, ปวดเมื่อยตามร่างกาย, กล้ามเนื้ออ่อนแรง, อัมพาตสั่น, ชักกระตุก
- ไข้, ซีด, บวม, อ้วน, ผอม, น้ำหนักลด, ตัวเหลือง, ตาเหลือง, ปัสสาวะเหลือง, ปัสสาวะแสบขัด
- ผิวหนังเป็นแผล, เป็นหนอง, ผื่น, พุพอง, คัน, ชา, แสบร้อนตามผิวหนัง, ผมร่วง
- อื่น ๆ ได้แก่ ตกขาว, ประจำเดือนผิดปกติ, ปวดประจำเดือน, การเจริญเติบโตและการพัฒนาของร่างกาย , สมอง, จิตไม่เป็นไปตามวัย
เมื่อทราบอาการดังกล่าวแล้ว สามารถแยกแยะได้ว่าเกิดจาการเสียสมดุลแบบใด ธาตุทั้ง 4 เป็นอย่างไร และสรุปได้ว่าสามารถรักษาได้หรือไม่ และอะไรควรส่งต่อแพทย์แผนปัจจุบัน
แนะนำอาหารตามธาตุ ดังต่อไปนี้ได้
- ธาตุดิน ควรรับประทานผักและผลไม้ที่มีรสฝาด รสหวาน รสมัน รสเค็ม เช่น ฝรั่งดิบ, หัวปลี, กล้วย, มะละกอ, เผือก, มัน, ถั่วพู, กะหล่ำปลี, เป็นต้น
- ธาตุน้ำ ควรรับประทานผักและผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น มะเขือเทศ, ส้มโฮ, สับปะรด, มะนาว, ส้มเขียวหวาน, ยอดมะขามอ่อน ฯลฯ
- ธาตุลม ควรรับประทานผักและผลไม้ที่มีรสเผ็ดร้อน เช่น กะเพรา, โหระพา, ตะไคร้, ข่า, กระเทียม, คื่นช่าย, ขิง, ยี่หร่า ฯลฯ
- ธาตุไฟ ควรรับประทานผักและผลไม้ที่มีรสขม รสเย็น รสจืด เช่น สะเดา, แตงโม, หัวผักกาด. ฟักเขียว, แตงกวา, คะน้า, บวบ, มะเขือ ฯลฯ