เผือก (Taro)

ดูสรรพคุณของ เผือก แหล่งคาร์โบไฮเดรตและวิตามินชั้นดี พร้อมตอบคำถามที่หลายคนสงสัย ว่ากินเผือกมากไปจะอ้วนหรือไม่?
เผยแพร่ครั้งแรก 23 เม.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 7 พ.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
เผือก (Taro)

เผือก เป็นพืชหัว ที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ ในปัจจุบันมีการเพาะปลูกอย่างแพร่หลาย บางพื้นที่รับประทานเป็นอาหารหลัก เช่น หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ปาปัวนิวกินี เกาะในอินโดนีเซีย ส่วนในประเทศไทยนิยมรับประทานเป็นอาหารว่างและของหวาน แต่แท้จริงแล้วสามารถนำมาประกอบอาหารและเป็นยาสมุนไพรได้

ชื่อวิทยาศาสตร์ Colocasia esculenta (L.) Schoot
ชื่อวงศ์ ARACEAE
ชื่อสามัญ Taro
ชื่ออื่นๆ บอน ตูน

ลักษณะทั่วไป

เผือกเป็นพืชหัวที่มีลำต้นใต้ดินสะสมอาหาร เรียกว่า หัว ซึ่งเมื่อเติบโตขึ้นจะขยายลำต้นออก พร้อมกับที่ความยาวของปล้องลดลง เมื่อลำต้นหรือที่เรียกกันว่าหัวเผือกมีขนาดใหญ่ จะมีรากช่วยดึงหัวให้ลึกลงในดิน ที่ปลายรากเหล่านี้จะพองโตขึ้นเป็นหัวย่อยที่มีขนาดเล็ก หรือเรียกว่า ลูกเผือก ซึ่งจะทำหน้าที่ช่วยยึดลำต้น ช่วยดูดน้ำและแร่ธาตุ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ส่วนใบ เป็นใบเดี่ยว ออกวนรอบข้อ รูปร่างคล้ายรูปหัวใจ ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่น ปลายใบมน ขนาดใบกว้างประมาณ 25-30 เซนติเมตร ยาว 35-45 เซนติเมตร ก้านใบยาว 45-150 เซนติเมตร สีของใบและก้านใบแต่ละสายพันธุ์จะแตกต่างกันเล็กน้อย ซึ่งมักพบสีเขียวอ่อน เขียวแก่ และสีม่วง

ส่วนดอก เป็นดอกช่อเชิงลดมีกาบ ออกเดี่ยวหรือหลายช่อ ดอกย่อยติดกับก้านดอกเดียวกัน บานจากล่างขึ้นไปทางปลายช่อ ช่อดอกยาว 10-15 เซนติเมตร กาบหุ้มช่อดอกยาวประมาณ 15-35 เซนติเมตร ลักษณะตั้งตรงเป็นสีเขียว ปลายกาบเรียวแหลมยาวคล้ายหาง ช่อดอกสั้นกว่ากาบ จำนวนช่อดอกประมาณ 5-15 ช่อต่อต้น มีสีขาวครีม และสีเหลืองอ่อน

ผล มีขนาดเล็ก เกาะกลุ่มอยู่ในก้านดอกเดียวกัน มีสีเขียวเปลือกบาง เนื้อผลอวบน้ำ เมื่อแก่มีสีน้ำตาลดำภายในผลจะมีเมล็ดเล็ก ๆ อยู่เป็นจำนวนมาก

ประเภทของเผือก

  1. เอดโด (Eddoe) หัวขนาดกลางและมีเผือกหัวเล็กๆ อยู่ล้อมรอบ ใช้รับประทานและนำมาขยายพันธุ์ได้
  2. แดซีน (Dasheen) หัวขนาดใหญ่ รอบๆ มีลูกเผือกติดอยู่เล็กน้อย เป็นประเภทที่นิยมปลูกอย่างแพร่หลาย

แม้จำนวนที่พบทั่วโลก จะมีมากกว่า 200 สายพันธุ์ แต่ที่พบและเป็นที่รู้จักในไทยมีอยู่ 4 ชนิด ได้แก่ เผือกเหลือง เผือกไม้ เผือกตาแดง และสุดท้ายคือเผือกหอม ซึ่งนิยมปลูกและรับประทานกันมากที่สุด 

สรรพคุณของเผือก

เผือกประกอบด้วยสารโพลีฟีนอล (Polyphenols) ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง และในใบสามารถนำมาต้มกับน้ำแล้วผสมอาบ ช่วยแก้โรคผิวหนังได้

คุณค่าทางโภชนาการ

หากรับประทานปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงาน 119 กิโลแคลอรี กินแล้วจึงทำให้อิ่ม ไม่หิวบ่อย และเป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรต หรือกลุ่มแป้งรวมถึงน้ำตาล มีไฟเบอร์ วิตามินและเกลือแร่ต่างๆ มากมาย 

  1. แป้งจากหัวเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ทำให้กระบวนการเปลี่ยนจากแป้งเป็นน้ำตาลจึงช้ากว่าแป้งขัดขาว ทำให้ร่างกายได้พลังงานต่อเนื่องยาวนานและระดับน้ำตาลในเลือดจะเพิ่มคงที่สม่ำเสมอ ป้องกันระดับน้ำตาลสูงหลังมื้ออาหาร
  2. มีธาตุเหล็กและฟลูออไรด์สูง ช่วยป้องกันฟันผุ ช่วยทำให้กระดูกแข็งแรง
  3. มีไฟเบอร์สูง ช่วยเรื่องระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย และยังมีแป้งต้านทานการย่อย (Resistant Starch) ที่อาจลดคอเลสเตอรอล และลดความเสี่ยงของโรคหัวใจได้
  4. มีวิตามินอีสูง ช่วยต้านอนุมูลอิสระและกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน

ไขคำตอบ กินแล้วจะอ้วนไหม?

แม้ว่าบางคนเลือกรับประทานแทนข้าวเพื่อช่วยลดน้ำหนัก เพราะทั้งอิ่มท้องและช่วยระบบขับถ่าย แต่ถึงอย่างไรเผือกก็จัดเป็นพืชกลุ่มที่ให้พลังงานสูง การรับประทานในปริมาณมากเกินไปก็อาจทำให้น้ำหนักมากขึ้น ดังนั้นหากต้องการลดน้ำหนักควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ ซึ่งปริมาณบริโภคที่แนะนำต่อวันคือ ½ -1 ถ้วยตวง และควรออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย

เอามาทำอะไรกินได้บ้าง?

  1. หัวเผือก ต้องทำให้สุกก่อน จึงจะสามารถนำมารับประทานได้ มักนิยมนำมาต้ม แปรรูปเป็นอาหารและขนมได้อย่างหลากหลายประเภท เช่น เผือกเส้น ทอด กวน สังขยาเผือก เค้ก หรือนำไปทำไส้ขนม เช่น ข้าวหลาม ข้าวต้มมัด เป็นต้น นอกจากนี้ยังไปนำไปทำแป้งเผือกเพื่อนำไปทำอาหารชนิดอื่นๆอย่าง ขนมปัง เค้ก หรือเครื่องดื่มได้
  2. ยอดเผือก รวมไปถึงใบและก้าน สามารถนำมารับประทานเป็นผักได้ โดยนำไปแกงหรือทำผักดอง

ข้อควรระวังในการกิน

  1. หัวและทั้งต้นมีผลึกแคลเซียมออกซาเลต (Calcium oxalate) ซึ่งทำให้เกิดอาการคัน ไม่ควรรับประทานแบบดิบ ต้องทำให้สุกก่อนรับประทาน
  2. บางรายอาจมีอาการแพ้ ถึงแม้จะทำให้สุกแล้วก็ตาม โดยอาการที่พบคือ คันในช่องปาก ลิ้นชา แสบร้อนปาก ลิ้น กระพุ้งแก้ม และทางเดินอาหาร

4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ, เรื่องที่ ๕ พืชหัว / เผือก (http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=5&chap=5&page=t5-5-infodetail04.html)
กลุ่มสื่อส่งเสริมเสริมการเกษตร สำนักพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยี กรมส่งเสริมการเกษตร. “อาหารจากเผือก”
MICHAEL JESSIMY, 9 Impressive Health Benefits of Taro Root (https://www.naturalfoodseries.com/9-benefits-taro-root/), 10 December 2018.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป