"กระเพาะอาหาร" เป็นอวัยวะที่สำคัญในระบบทางเดินอาหาร ทำหน้าที่รองรับอาหารที่รับประทานและย่อยอาหารให้มีโมเลกุลเล็กลงด้วยน้ำย่อยและกรดที่หลั่งออกมาจากผนังของกระเพาะอาหาร ทั้งนี้การหลั่งของน้ำย่อยและกรดในกระเพาะอาหารขึ้นอยู่กับการกระตุ้นหลายประการ
ปัจจัยกระตุ้นการหลั่งของน้ำย่อยและกรดในกระเพาะอาหาร
- ระบบประสาทปกติ กระเพาะอาหารจะมีการควบคุมโดยระบบประสาท เมื่อมีอะไรมากระตุ้นจะทำให้เกิดการหลั่งของกรดมากขึ้น
- อาหารที่ประกอบด้วยไขมัน แป้ง โปรตีน เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการหลั่งของกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น
- เครื่องดื่มบางชนิด เช่น สุรา กาแฟ มีสารกระตุ้นในการสร้างกรด
- ยาบางชนิด เช่น ยาแก้ปวดแอสไพริน คอติโซน นอกจากมีฤทธิ์ในการกระตุ้นการสร้างกรดแล้วยังมีผลทำลายเยื่อบุกระเพาะโดยตรงได้
- การสูบบุหรี่จะกระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะ ทำให้มีกรดในกระเพาะอาหารสูงกว่าปกติ
- ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคไขข้ออักเสบ โรคปวดเรื้อรัง จะมีโอกาสเกิดโรคกระเพาะสูงกว่าปกติ
โรคกระเพาะอาหาร หรือแผลในกระเพาะอาหาร
โรคกระเพาะอาหารเป็นโรคที่พบบ่อย โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ผู้คนใช้ชีวิตอย่างรีบเร่งแข่งกับเวลา ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดท้องแบบเป็นๆ หายๆ หิวก็ปวด อิ่มก็ปวด
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
โรคกระเพาะอาหาร หรือแผลในกระเพาะอาหาร หมายถึง แผลที่เกิดในเยื่อบุทางเดินอาหารส่วนที่สัมผัสกับน้ำย่อย หรือกรดในกระเพาะอาหาร
สาเหตุส่วนมากมักเกิดจากการมีกรดในกระเพาะอาหารมากเกินไปทำให้เยื่อบุทางเดินอาหารเกิดความระคายเคืองจนเป็นแผล ซึ่งอาจเป็นได้ตั้งแต่กระเพาะอาหารอักเสบ แผลในกระเพาะอาหาร แผลในลำไส้ส่วนต้น (ดูโอดินัม) เป็นต้น
สาเหตุ หรือปัจจัยเสี่ยงของโรคกระเพาะอาหาร
- รับประทานอาหารรสจัดเป็นประจำ
- รับประทานอาหารไม่เป็นเวลาเป็นประจำ
- รับประทานอาหารไม่มีประโยชน์เป็นประจำ
- รับประทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะเป็นประจำ
- มีความเครียดและวิตกกังวลทำให้มีการหลั่งกรด หรือน้ำย่อยมากขึ้น
- การดื่มเครื่องดื่มบางประเภท เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สุรา กาแฟ
- การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ปวดแอสไพริน หรือยาลดการอักเสบ เป็นประจำ
- การสูบบุหรี่ เพราะสารนิโคตินในบุหรี่จะทำให้หลอดเลือดหดรัดตัว เลือดไปเลี้ยงกระเพาะอาหารน้อยลงทำให้แผลในกระเพาะอาหารหายช้า
อาการของโรคกระเพาะอาหาร
- แสบท้อง
- ปวดท้องแบบจุกแน่นบริเวณลิ้นปี่ มักปวดเวลาหิว หรือท้องว่าง ถ้าได้รับประทานอาหาร หรือนม อาการปวดท้องก็จะทุเลาลง
- บางรายอาจมีอาการปวดท้องมากเวลารับประทานอาหารรสจัด เช่น เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด หรือดื่มน้ำอัดลม
- บางครั้งมีอาการปวดท้องตอนดึกๆ
- ปวดแน่น ท้องอืด มีลมในท้องมาก หรือคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย โดยเฉพาะหลังมื้ออาหารทำให้อิ่มง่ายกว่าปกติ
- เบื่ออาหาร รับประทานอาหารได้น้อยลง
- ปวดท้องเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ มานานเป็นปี
อาการแทรกซ้อนของโรคกระเพาะอาหาร
- ในรายที่กระเพาะอาหารเป็นแผลลึกทำให้มีเลือดออกในกระเพาะอาหารได้อาจมีอาการอาเจียนเป็นเลือด และถ่ายอุจจาระเป็นสีดำด้วย
การวินิจฉัยโรคกระเพาะอาหาร
ส่วนใหญ่อาศัยการซักประวัติและตรวจร่างกาย เช่น ลักษณะการปวดท้อง ประวัติที่ใช้ยา บางรายอาจตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีต่อไปนี้
- การเอกซเรย์โดยให้ผู้ป่วยกลืนแป้งแล้วถ่ายภาพรังสี แป้งจะเข้าไปเคลือบกระเพาะทำให้เห็นแผล
- การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น เพื่อดูแผลในกระเพาะอาหารแล้วตัดชิ้นเนื้อมาตรวจเพื่อให้แน่ใจว่าเป็นแผลในกระเพาะอาหาร ไม่ใช่เป็นเนื้อของมะเร็ง
- การดูดเอาน้ำย่อยไปตรวจดูว่า มีกรดสูงมากแค่ไหนก็เป็นส่วนช่วยในการวินิจฉัย
ส่วนการแยกโรคที่สำคัญโรคหนึ่งที่ต้องแยกออกให้ได้คือ มะเร็งในกระเพาะอาหาร ซึ่งโรคนี้จากการตรวจทางรังสี การส่องกระเพาะ และการตรวจชิ้นเนื้อ สามารถวินิจฉัยแยกโรคได้
การรักษาโรคกระเพาะอาหาร
ในเบื้องต้นจะรักษาด้วยยาลดกรดก่อน หากไม่ได้ผลจริงๆ หรือมีอาการแทรกซ้อนแพทย์จะวางแผนการรักษาเป็นรายๆ ไป
ยาลดกรดนั้นมีหลายชนิด มีความแตกต่างกันบ้างแล้วแต่ชนิดของยา แต่องค์ประกอบส่วนใหญ่ไม่ได้แตกต่างกันเท่าไร ผู้ป่วยควรรับประทานยาลดกรดสม่ำเสมอจนครบตามที่แพทย์สั่ง
ตรวจ รักษาโรคทางเดินอาหาร วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 116 บาท ลดสูงสุด 74%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักหยุดยาเอง เนื่องจากเมื่อได้รับยาเข้าไปแล้วอาการจะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่การที่ผู้ป่วยรับประทานยาไม่สม่ำเสมอจะทำให้แผลไม่หายสนิท และมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำได้
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อบรรเทาอาการโรคกระเพาะอาหาร
- รับประทานอาหารให้ตรงเวลาทุกมื้อ
- รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย
- เคี้ยวช้าๆ เคี้ยวให้ละเอียด
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด เปรี้ยวจัด เผ็ดจัด ของหมักดอง
- งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ และน้ำอัดลม
- งดการสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน ยาแก้ปวด และยาลดการอักเสบ
- หลีกเลี่ยงการซื้อยามารับประทานเอง
- หลีกเลี่ยงความเครียด ความวิตกกังวล
- พักผ่อนให้เพียงพอ
โรคกระเพาะอาหาร ถ้าปล่อยทิ้งไว้นานๆ โดยไม่ได้รักษาอาจจะเกิดอาการแทรกซ้อน อาการที่พบคือ เลือดออกในทางเดินอาหาร กระเพาะอาหารทะลุ ซึ่งต้องรักษาทางศัลยกรรมต่อไป และยังมีโอกาสที่แผลนั้นจะเปลี่ยนไปเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้ในอนาคต
ทางที่ดีที่สุดเมื่อเกิดโรคแผลในกระเพาะอาหารแล้ว ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย รวมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร และการใช้ชีวิตบางอย่างใหม่เพื่อให้อาการทุเลาขึ้น และมีโอกาสหายเป็นปกติ ไม่ป่วยเรื้อรัง
ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัพเดทแพ็กเกจเหล่านี้ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android