เมื่อพูดถึงสับปะรด เชื่อว่าทุกคนต้องเคยลิ้มลองรสชาติหวานอมเปรี้ยวและฉ่ำน้ำของผลไม้ชนิดนี้กันมาบ้าง บางลูกก็มีรสหวานฉ่ำ แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าสับปะรดนั้นอุดมไปด้วยสารอาหารมากมาย และมีประโยชน์ต่อสุขภาพในหลากหลายด้าน วันนี้ HonestDocs จะพาคุณไปทำความรู้จักเจ้าผลไม้ชนิดนี้ให้มากขึ้น
ทำความรู้จักกับสับปะรดหลากหลายสายพันธุ์
สับปะรดเป็นผลไม้ที่มีลำต้นเตี้ย และจัดอยู่ในผลไม้เขตร้อนในวงศ์ Bromeliaceae เจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศที่แห้งแล้งและเป็นดินปนทราย มีต้นกำเนิดมาจากประเทศอเมริกาใต้ ค้นพบโดยนักเดินเรือชาวสเปนและโปรตุเกส ก่อนจะถูกนำเข้ามาจากทางยุโรปและแพร่หลายไปทั่วโลกในศตวรรษที่ 13
ลักษณะภายนอกของสับปะรดค่อนข้างโดดเด่น ใบ มีลักษณะเรียวยาวและแข็งแรง ด้านในเป็นเส้นใยที่มีความเหนียวมาก ใช้กักเก็บน้ำเอาไว้เลี้ยงลำต้นในสภาพอากาศที่แห้งแล้ง ผลของสับปะรดจะมีขนาดที่ใหญ่กว่าลำต้น เปลือกแข็ง และเต็มไปด้วยตุ่มนูนที่เราเรียกกันว่า "ตาสับปะรด" เรียงอยู่ทั่วทั้งลูก ส่วนเนื้อด้านในมักมีรสชาติหวาน อมเปรี้ยว ซึ่งรสชาติอาจแตกต่างกันไปตามแต่ละสายพันธุ์และการเพาะปลูก
เนื่องจากผลสับปะรดไม่มีเมล็ด การขยายพันธุ์จึงต้องนำเอาจุกและหน่อของสับปะรดมาปักชำ แต่การปลูกด้วยวิธีเหล่านี้จะทำให้สับปะรดกลายพันธุ์ได้ จนเกิดเป็นสับปะรดหลากหลายสายพันธุ์ให้เราได้รับประทาน โดยสายพันธุ์ที่พบได้บ่อย ได้แก่
1. พันธุ์อินทรชิต หรืออินทรชิตแดง
มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Singapore Spanish จัดเป็นพันธุ์ที่เก่าแก่มากในประเทศไทย เป็นที่รู้จักและปลูกกันอย่างแพร่หลายมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สับปะรดพันธุ์นี้จะมีหนามแหลมสีน้ำตาลอมแดงที่คมและโค้งงออยู่ตามลำต้น ใบเป็นสีเขียวอ่อน ส่วนลักษณะของผลนั้นค่อนข้างเล็ก มีตาลึกเมื่อแก่จัด ผลด้านบนนูน เนื้อด้านในเป็นสีเหลืองทอง รสชาติไม่หวานมากนัก และมีเส้นใยมาก
2. พันธุ์ปัตตาเวีย
มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า Smooth Cayenne เรียกอีกชื่อว่า "พันธุ์ศรีราชา" ผลมีขนาดใหญ่กว่าสับปะรดสายพันธุ์อื่นๆ เนื้อหวานฉ่ำเป็นพิเศษ มีใบสีเขียวเข้ม กลางใบเป็นร่องสีน้ำตาลแดง ปลายใบจะมีหนามแหลมขนาดเล็ก นิยมนำไปแปรรูปเป็นสับปะรดกระป๋อง
3. พันธุ์สวี
มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Malacca Queen บางคนก็เรียกว่าพันธุ์ภูเก็ต ลักษณะของใบค่อนข้างยาวและแคบ มีสีเขียวอ่อน และมีแถบสีแดงที่กลางใบ ขอบใบเป็นหนามแหลมสีแดง ผลมีขนาดเล็ก มองเห็นตาลึก ผลด้านบนนูน ส่วนเนื้อเป็นสีเหลือง มีกลิ่นหอมและรสชาติหวานกรอบ นิยมปลูกกันมากในภาคใต้
4. พันธุ์ขาว
ชื่อภาษาอังกฤษว่า Selangor Green ลักษณะต้นเป็นทรงพุ่มเตี้ย มีใบสีเขียวอมเหลือง ใบสั้นและแคบชิดกัน ขอบใบมีหนามแหลม ส่วนผลด้านบนมีหลายจุก เนื้อมีรสชาติหวานไม่นัก มีลักษณะใกล้เคียงกับพันธุ์อินทรชิต จึงเชื่อว่าอาจจะกลายพันธุ์มาจากสายพันธุ์ดังกล่าว
5. พันธุ์ภูแล
เป็นพันธุ์ที่กำลังได้รับความนิยม เนื่องจากรสชาติอร่อย มีกลิ่นหอม ผลมีขนาดเล็กกะทัดรัด แกนสับปะรดสามารถรับประทานได้เนื่องจากกรอบ ไม่เหนียวเหมือนสายพันธุ์อื่นๆ ให้ผลตลอดทั้งปี
ประโยชน์ของสับปะรด
สับปะรดอุดมไปด้วยวิตามินซี วิตามินเอแคลเซียม และแร่ธาตุ โดยวิตามินซีจะช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อม ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นเฉพาะภาพตรงส่วนกลาง ขณะที่รอบๆ ข้างยังมองเห็นได้อยู่ ส่วนแคลเซียมช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง นอกจากนี้ สับปะรดยังเป็นผลไม้ที่มีแร่โพแทสเซียมต่ำ เหมาะสำหรับผู้ที่มีภาวะโพแทสเซียมสูง
สับปะรดมีกากใยสูง ช่วยส่งเสริมระบบย่อยอาหาร และมีเอนไซม์ตามธรรมชาติที่ชื่อว่า "บรอมีเลน" ซึ่งจะเข้าไปเพิ่มการย่อยอาหารทั้งในสภาวะกรดและด่าง จึงเหมาะสำหรับรับประทานหลังอาหาร เพราะจะช่วยด้านการทำงานของกระเพาะอาหารได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ เอนไซม์บรอมีเลนยังมีส่วนช่วยให้เลือดลมไหลเวียนได้ดีขึ้น และลดกระบวนการอักเสบในร่างกายที่เป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพหลายๆ อย่าง เช่น ข้อเข่าเสื่อม และโรคมะเร็ง รวมถึงช่วยลดน้ำมูกและเสมหะได้ เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการหวัดเป็นอย่างยิ่ง
ประโยชน์ของแกนสับปะรด
แกนสับปะรดเป็นส่วนของผลสับปะรดที่เราไม่ค่อยนิยมรับประทานกัน เพราะส่วนมากจะเหนียวและแข็ง แต่รู้หรือไม่ว่าในแกนสับปะรดนั้นอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์มากกว่าในเนื้อสีเหลืองเสียอีก ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ในการช่วยย่อยเนื้อสัตว์ ช่วยลดการอักเสบของกระเพาะอาหารและลำไส้ กระตุ้นระบบขับถ่าย และยังมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ อีกด้วย
รับประทานสับปะรดอย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด
แม้สับปะรดจะมีแคลอรี่ต่ำ แต่ก็เป็นผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง ผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักและผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องควบคุมระดับน้ำตาลจึงไม่ควรรับประทานมากเกินไป โดยสับปะรดขนาดพอดีคำประมาณ 6 ชิ้น จะเท่ากับปริมาณผลไม้ 1 ส่วน ซึ่งปริมาณผลไม้ที่แนะนำให้รับประทานในแต่ละวัน คือ 3-5 ส่วน อย่างไรก็ตาม ในหนึ่งวันคุณควรรับประทานผลไม้ให้หลากหลาย โดยพิจารณาความหวานของผลไม้ประกอบด้วย ไม่รับประทานแต่ผลไม้ที่มีรสหวาน เพื่อไม่ให้ได้รับน้ำตาลมากเกินไป
เนื่องจากสับปะรดมีเอนไซม์บรอมมีเลนและมีความเป็นกรดสูง การรับประทานหลังมื้ออาหารจึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยอาหาร แต่ในขณะเดียวกันการรับประทานสับปะรดขณะท้องว่างนั้นก็อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหารได้ ทั้งยังอาจทำให้เกิดการระคายเคืองเล็กน้อยภายในปาก บริเวณริมฝีปาก และลิ้นได้เช่นกัน
นอกจากการรับประทานสับปะรดสดแล้ว หลายคนยังนิยมนำเนื้อสับปะรดไปทำเป็นอาหารคาวหวานหลายชนิด เช่น แกงสับปะรด ข้าวผัดสับปะรด แกงคั่วสับปะรดกับหอยแมลงภู่ ส่วนของหวานก็มีทั้งขนมและเครื่องดื่ม รวมไปถึงการนำมาแปรรูปให้อยู่ในรูปของการถนอมอาหารได้อีกด้วย