อาการชักเกร็งกระตุกทั้งตัวเกิดจากการรบกวนจากสัญญาณไฟฟ้าที่เกิดขึ้นกับกระบวนการทำงานของสมองทั้งสองข้าง ทำให้สมองส่งสัญญาณไปยังกล้ามเนื้อ เส้นประสาท หรือต่อมต่างๆ จนอาจทำให้เกิดอาการหมดสติและมีการเกร็งของกล้ามเนื้อรุนแรงตามมา
สาเหตุของการเกิดอาการชักเกร็งกระตุกทั้งตัว
อาการชักเกร็งกระตุกทั้งตัว อาจเกิดขึ้นได้จากภาวะสุขภาพหลายชนิด ได้แก่
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
- เนื้องอกในสมอง
- โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
- การได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ
- โซเดียม แคลเซียม กลูโคส หรือแมกนีเซียมในร่างกายต่ำ
- การใช้ยาบางชนิด
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากไป
- การถอนยา หรือแอลกอฮอล์
- การบาดเจ็บ
- การติดเชื้อ
ในบางครั้งแพทย์ก็อาจไม่สามารถระบุได้ว่าอาการชักเกร็งเกิดขึ้นจากสาเหตุใด ซึ่งจะต้องมีการวินิจฉัยต่อไป
อาการจากการชักเกร็งกระตุกทั้งตัว
ผู้ที่มีอาการชักเกร็งกระตุกทั้งตัว อาจมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นร่วมด้วย
- มีความรู้สึกแปลก ๆ (Aura)
- กรีดร้อง หรือร้องไห้โดยไม่ตั้งใจ
- ไม่สามารถควบคุมกระเพาะปัสสาวะ หรือลำไส้ใหญ่ของตนเองได้ ทั้งระหว่าง หรือหลังจากอาการชัก
- หมดสติและตื่นขึ้นมาพร้อมความสับสน หรือง่วงอีกหลายชั่วโมงจึงจะได้สติ
- ปวดศีรษะรุนแรงหลังประสบอาการชัก
ระยะของอาการชักเกร็งกระตุก
อาการชักเกร็งกระตุกทั้งตัวมีอยู่ 2 ระยะ ได้แก่
- ระยะ Tonic stage ทำให้กล้ามเนื้อตึง หมดสติ และอาจทำให้ผู้ป่วยล้มลง
- ระยะ Clonic stage คือ ระยะที่เกิดการเกร็งของกล้ามเนื้ออย่างรวดเร็วจนตัวกระตุก โดยอาการชักเกร็งทุกระยะ มักจะกินเวลา 1-3 นาที แต่หากอาการชักมีระยะเวลานานกว่า 5 นาทีจะนับว่า เป็นภาวะฉุกเฉินทันที
ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการชักเกร็งกระตุกทั้งตัวสูง
- คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคลมชัก
- เคยได้รับบาดเจ็บที่สมอง ซึ่งเกิดจากการกระทบกระแทกที่ศีรษะ
- การติดเชื้อ
- เป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้มีอาการชักเกร็งกระตุกทั้งตัว ได้แก่
- นอนหลับไม่เพียงพอ
- ความไม่สมดุลของอิเล็กโทรไลท์ (Electrolyte Imbalance) เนื่องจากภาวะสุขภาพอื่นๆ
- การใช้ยาบางชนิด
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากๆ
การวินิจฉัยอาการชักเกร็งกระตุกทั้งตัว
มีหลายวิธีที่แพทย์สามารถวินิจฉัยอาการ หรือหาสาเหตุของอาการชักเกร็งกระตุกทั้งตัว ดังนี้
- ตรวจสอบประวัติทางการแพทย์ แพทย์จะสอบถามเกี่ยวกับอาการชัก หรือภาวะสุขภาพอื่นๆ และอาจมีการสอบถามผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ เพื่อบรรยายอาการร่วมด้วย นอกจากนี้แพทย์อาจขอให้จดจำสิ่งที่ทำก่อนจะมีอาการชักขึ้นเพื่อช่วยหาว่า กิจกรรม หรือพฤติกรรมใดที่กระตุ้นให้เกิดอาการดังกล่าว
- การตรวจประสาทวิทยา แพทย์จะดำเนินการทดสอบง่ายๆ เพื่อทดสอบการทรงตัว การประสานงาน ปฏิกิริยาตอบสนอง และทำการประเมินความตึงและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเพื่อดูว่า สามารถหยิบจับ หรือเคลื่อนไหวร่างกายได้เป็นปกติหรือไม่
- การตรวจเลือด แพทย์อาจตรวจเลือดเพื่อพิจารณาปัญหาทางการแพทย์ต่างๆ ที่อาจส่งผลให้เกิดอาการชักขึ้น
- การถ่ายภาพร่างกาย เทคนิคสแกนสมองบางประเภทสามารถช่วยให้แพทย์ตรวจสอบการทำงานของสมองได้ เช่น วิธีบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมอง (Electroencephalogram (EEG)) ที่แสดงให้เห็นรูปแบบกิจกรรมทางไฟฟ้าภายในสมอง หรือการถ่ายคลื่นสะท้อนแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อให้เห็นภาพของสมอง
การรักษาอาการชักเกร็งกระตุกทั้งตัว
อาการชักเกร็งกระตุกทั้งตัว สามารถรักษาได้หลายวิธี ดังนี้
- การใช้ยากันชัก ผู้ป่วยอาการชักเกร็งกระตุกทั้งตัวส่วนมากสามารถควบคุมอาการชักของตนเองได้ด้วยการใช้ยา อาจเริ่มจากการใช้ยา 1 ชนิดในปริมาณต่ำก่อน จากนั้นแพทย์อาจเพิ่มปริมาณยาขึ้นตามความจำเป็น บางคนอาจต้องใช้ยากันชักมากกว่า 1 ชนิด และต้องใช้เวลาในการทดลองหาปริมาณและชนิดของยาที่ได้ผลกับบุคคลนั้นๆ มากที่สุด ยาที่ใช้ในการรักษาโรคลมชักมีดังนี้
- Levetiracetam (Keppra)
- Carbamazepine (Carbatrol, Tegretol)
- Phenytoin (Dilantin, Phenytek)
- Oxcarbazepine (Trileptal)
- Lamotrigine (Lamictal)
- Phenobarbital
- Lorazepam (Ativan)
- การผ่าตัด การผ่าตัดสมองเป็นทางเลือกในการรักษา กรณีที่ยาไม่สามารถควบคุมอาการชักได้ เชื่อกันว่า ตัวเลือกนี้เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากกับอาการชักบางส่วนซึ่งจะส่งผลกับสมองส่วนเล็กๆ มากกว่าที่จะเป็นอาการชักเกร็งทั้งตัว
- การใช้อาหารเสริม มีอาหารเสริม หรือการรักษาทางเลือกสำหรับอาการชักเกร็งทั้งตัวอีกสองประเภท ได้แก่
- การกระตุ้นเส้นประสาทสมองคู่ที่ 10 ด้านซ้าย (Vagus Nerve Stimulation) โดยจะมีการปลูกถ่ายอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ทำงานกระตุ้นประสาทที่ลำคอของผู้ป่วยอย่างอัตโนมัติ
- การรับประทานอาหารแบบคีโตเจนิก (Ketogenic Diet) ที่จะเน้นรับประทานอาหารไขมันสูงแต่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ เพื่อช่วยลดอาการชักบางประเภท
การป้องกันอาการชักเกร็งกระตุกทั้งตัว
ปัจจุบันอาการชักเกร็งกระตุกทั้งตัว เป็นอาการที่ยังไม่เป็นที่เข้าใจกันอย่างถ่องแท้ เพราะในบางกรณีอาการนี้ก็ไม่สามารถป้องกันได้เลยหากไม่ทราบว่าเกิดขึ้นจากสิ่งเร้าใด แต่บุคคลทั่วไปสามารถใช้หลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันต่อไปนี้ในการป้องกันอาการชักได้
- หลีกเลี่ยงการบาดเจ็บที่สมอง ด้วยการสวมหมวกกันน็อกขณะขับขี่จักรยานยนต์ หรือสวมเข็มขัดนิรภัยขณะขับรถ เ
- รักษาสุขอนามัยและหยิบจับอาหารอย่างสะอาดเพื่อเลี่ยงการติดเชื้อ หรือสิ่งสกปรกอื่น ๆ
- ลดปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง ด้วยการลดความดันโลหิต ลดระดับคอเลสเตอรอล เลิกสูบบุหรี่ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ควรไปฝากครรภ์และเข้าพบแพทย์เป็นประจำ เพราะการดูแลครรภ์อย่างถูกต้องจะช่วยเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่ส่งผลให้เกิดอาการชักในเด็กได้ และหลังจากที่คลอดแล้ว ก็ควรพาบุตรไปรับวัคซีนป้องกันโรคภัยต่างๆ ที่ช่วยป้องกันผลเสียต่อระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะชักเกร็งผิดปกติ
ผู้ป่วยที่มีอาการชักเกร็งกระตุกทั้งตัว ควรใช้ยากันชักตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพราะการหยุดยาเองกะทันหันจะทำให้ร่างกายเริ่มมีอาการชักซ้ำๆ และยาวนานมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสมองและถึงขั้นเสียชีวิตได้ในบางราย
เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพสำหรับผู้ชายและผู้หญิง จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android
ลูกเคยไปโรงพยาบาลเพราะชักจากไข้ อยากจะถามคุณหมอว่า การชักการไข้มีผลต่อสมองลูกเมื่อเติบโตไหมคะ การเรียนจะเป็นเช่นไร