กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

Impetigo (โรคพุพอง)

เผยแพร่ครั้งแรก 9 ก.พ. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • โรคพุพอง เป็นโรคผิวหนังจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่สามารถติดต่อหากันได้ง่าย แบ่งออกได้ 2 ประเภท คือ โรคพุพองแบบมีตุ่มน้ำ โรคพุพองแบบไม่มีตุ่มน้ำ
  • โรคพุพองเกิดได้กับผู้คนทุกวัย แต่มักเกิดกับเด็กเป็นส่วนมาก และสามารถติดต่อหากันได้ผ่านการใช้สิ่งของร่วมกัน รวมถึงการสัมผัสตัว
  • โรคพุพองประเภทไม่มีตุ่มน้ำ ลักษณะโรค คือ จะมีผื่นแดงขึ้นรอบจมูก และรอบปาก จากนั้นจะกระจายไปทั่วตัวผู้ป่วยรวมถึงเปลี่ยนเป็นตุ่มน้ำ และจะแตกออก มีน้ำเหลืองไหลออกมาในไม่กี่วันหลังจากนั้น ก่อนที่จะแห้งเป็นสะเก็ด
  • โรคพุพองประเภทมีตุ่มน้ำจะพบได้น้อยกว่าประเภทไม่มีตุ่มน้ำ โดยผู้ป่วยจะมีตุ่มน้ำขนาดใหญ่ขึ้นตามตัว แล้วจะตกสะเก็ดกลายเป็นสีน้ำตาล ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคพุพองประเภทนี้ควรไปตรวจร่างกาย เพราะเป็นหนึ่งในอาการของการติดเชื้อ HIV ได้
  • โรคพุพองสามารถรักษาได้ผ่านการรับประทาน หรือทายาปฏิชีวนะ และวิธีป้องกันโรคนี้ คือ ไม่สัมผัสตัวผู้ป่วยโรคพุพอง หมั่นดูแลสุขอนามัยร่างกายให้สะอาดอยู่เสมอ หากสังเกตเห็นตุ่มน้ำตามร่างกาย ให้รีบไปพบแพทย์ทันที (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพเด็ก ผู้ใหญ่ได้ที่นี่)

รู้จักกับโรคพุพอง

โรคพุพอง (Impetigo) เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย และสามารถติดต่อกันได้ง่าย มีลักษณะเป็นผื่นแดงที่ทำให้เกิดอาการเจ็บ 

อาการแรกของการติดเชื้อโรคชนิดนี้ คือ มีถุงน้ำพองเกิดขึ้นที่ใบหน้า และเมื่อโรคดำเนินต่อไป ตุ่มน้ำจะแตกออก และมีสะเก็ดสีเหลืองน้ำตาลคล้ายสีน้ำผึ้ง ผื่นพุพองอาจจะดูน่ากลัว แต่สามารถรักษาได้ง่าย ไม่ใช่โรคร้ายแรงแต่อย่างใด

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

โรคพุพองแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ 

  • โรคพุพองแบบไม่มีตุ่มน้ำ เป็นประเภทของโรคพุพองแบบที่พบได้มากกว่า 
  • โรคพุพองแบบมีตุ่มน้ำ

สาเหตุโรคพุพอง

โรคพุพองส่วนมากเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย 2 ชนิดซึ่งเป็นเชื้อที่แพร่กระจายได้ง่าย ได้แก่

  1. เชื้อสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) 
  2. เชื้อสเตรปโทคอคคัส กรุ๊ปเอ (Streptococcus group A)

โรคพุพองในเด็ก

โรคพุพองมักเกิดในเด็กตั้งแต่อายุ 2-6 ปี โดยตุ่มน้ำมักจะเริ่มเป็นที่ใบหน้าก่อน โดยเฉพาะรอบๆ จมูก และปาก ซึ่งเด็กอาจจะติดเชื้อนี้มาจากผู้อื่นที่ยังอยู่ในระยะที่แพร่กระจายเชื้อได้ 

เชื้อแบคทีเรียของโรคพุพองสามารถแพร่กระจายได้ง่ายจากการสัมผัสผิวหนัง น้ำมูก หรือจากการใช้ของเล่น เตียงนอน หรือผ้าเช็ดตัวร่วมกัน รวมถึงการอยู่ในสถานที่ที่มีคนหนาแน่น เช่น สถานรับเลี้ยงเด็ก บนรถไฟฟ้า เชื้อก็จะสามารถแพร่เชื้อได้รวดเร็วขึ้น 

และถ้าลูกของคุณเล่นกีฬา หรือกิจกรรมที่มีการสัมผัสผิวหนังกับผู้อื่น ก็จะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อพุพองได้เช่นกัน

โรคพุพองในผู้ใหญ่

ผู้ใหญ่สามารถมีโรคพุพองได้ โดยมากจะเกิดร่วมกับผื่นผิวหนังชนิดอื่น เช่น โรคภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ หรืออาจจะเกิดตามหลังการติดเชื้อทางเดินหายใจ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

อาการของโรคพุพอง

อาการของโรคพุพองประเภทไม่มีตุ่มน้ำ ประมาณ 4-10 วันหลังจากที่ได้รับเชื้อ ผู้ป่วยจะเริ่มมีผื่นสีแดงให้เห็นบริเวณจมูก หรือรอบปาก หลังจากนั้นผื่นสีแดงจะกลายเป็นตุ่มน้ำ และสามารถกระจายไปได้ทั้งตัวของผู้ป่วย โดยกระจายผ่านเสื้อผ้า หรือจากการถู และตุ่มน้ำจะแตกออกภายในไม่กี่วัน 

หลังจากนั้นจะมีน้ำเหลืองไหลออกจากตุ่มน้ำ ก่อนที่จะแห้งเป็นสะเก็ดสีเหลืองน้ำตาล 

โรคพุพองมักไม่ทำให้ผู้ป่วยมีไข้ หรือเบื่ออาหาร แต่ถ้าลูกของคุณ หรือคนใกล้ชิดของคุณที่เป็นโรคพุพองมีอาการเหล่านี้ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อรีบรักษาให้หายโดยเร็วจะดีที่สุด

โรคพุพองชนิดมีตุ่มน้ำ

โรคพุพองชนิดมีตุ่มน้ำ (Bullous Impetigo) เป็นประเภทของการติดเชื้อโรคพุพองที่พบได้น้อยกว่า โดยจะมีตุ่มน้ำขนาดใหญ่เกิดขึ้นที่หน้าอก ท้อง หลัง ก้นของทารก หรือเด็กเล็ก และสะเก็ดของตุ่มน้ำก็จะแห้งกลายเป็นสีน้ำตาล 

ผู้ใหญ่ที่มีโรคพุพองชนิดตุ่มน้ำนี้ อาจเป็นอาการของการติดเชื้อเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus: HIV) ด้วย ดังนั้นหากคุณคิดว่าตนเองมีความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวี ให้ปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการให้แน่ชัด

ภาวะแทรกซ้อนของโรคพุพอง

โรคพุพองเป็นโรคที่ไม่อันตราย และมักจะหายภายในไม่กี่วันหลังจากได้รับการรักษา แต่ภาวะแทรกซ้อนของโรคพุพองก็ยังมีอยู่ แต่เป็นภาวะที่พบได้น้อย เช่น 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

  • แผลเป็น หากแผลพุพองมีอาการรุนแรงมากหรือลูกของคุณแกะที่แผล ก็อาจทำให้มีแผลเป็นตามมาได้ 
  • โรคเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis) เป็นการติดเชื้อที่เนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง ซึ่งอาจแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองและเข้าสู่กระแสเลือดได้หากไม่ได้รับการรักษา ทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  • โรคไต (Kidney Disease) หรือไตอักเสบหลังการติดเชื้อสเตรปโทคอคคัส ซึ่งสามารถทำให้เกิดภาวะไตวายตามมาได้

การวินิจฉัยโรคพุพอง

สำหรับเด็กที่เป็นโรคพุพอง กุมารแพทย์สามารถให้การวินิจฉัยได้ด้วยการตรวจลักษณะผื่นและตำแหน่ง ถ้ามีลักษณะไม่แน่ชัด แพทย์อาจตรวจหนองเพื่อยืนยันเชื้อแบคทีเรียว่าเป็นโรคพุพองหรือไม่

การรักษาโรคพุพอง

ส่วนมากโรคพุพองจะหายได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์ โดยการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะชนิดทา หรือชนิดรับประทาน ซึ่งจะช่วยให้โรคนี้หายได้เร็วขึ้ นและป้องกันการแพร่กระจายไปบริเวณอื่น 

ในกรณีที่ความรุนแรงของโรคน้อย ผื่นพุพองจะสามารถดีขึ้นได้อย่างรวดเร็วด้วยยาปฏิชีวนะชนิดทา ในขณะที่ถ้าความรุนแรงของผื่นเป็นมาก การรักษาก็จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน และอาการของผื่นจะเริ่มดีขึ้นในระยะเวลาประมาณ 3 วันหลังจากการเริ่มใช้ยาปฏิชีวนะ

การป้องกันโรคพุพอง

โรคพุพองเป็นโรคที่มีการแพร่กระจายของเชื้อโรคสูง วิธีการป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงจะได้แก่ 

  • ระมัดระวังในการสัมผัสกับผู้ป่วยที่มีโรคพุพอง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ หรือสัมผัสสิ่งของที่ผู้ป่วยโรคพุพองใช้ 
  • ล้างมือของคุณ และลูกของคุณด้วยสบู่ทันทีที่ได้สัมผัสกับผู้ป่วยโรคพุพอง หากคุณไม่สามารถล้างมือได้ทันที สามารถใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือแทนได้ 
  • ควรล้างแผลเปิด รอยข่วน หรือรอยกัดของแมลงทันที และปิดด้วยพลาสเตอร์แปะแผลจนกว่าแผลจะหายดี 

ในกรณีที่ตัวคุณ หรือลูกน้อยเป็นโรคพุพองให้ทำตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • ปิดแผลด้วยเสื้อผ้าหรือพลาสเตอร์หลวมๆ
  • ซักเสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว และผ้าปูที่นอนด้วยน้ำร้อนและอบร้อนให้แห้ง
  • ควรให้ลูกหยุดพักการเรียนประมาณ 1-2 วันหลังจากเริ่มได้รับยาปฏิชีวนะ เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อไปยังเด็กคนอื่นๆ

สิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยป้องกันโรคพุพองได้ก็คือ ความสะอาด ดังนั้นคุณควรหมั่นล้างมือ และทำความสะอาดร่างกายอยู่เป็นประจำ หรือควรพกทิชชู่เปียก เจลแอลกอฮอล์ล้างมือติดตัวไว้เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ 

นอกจากนี้ คุณต้องคอยดูแลสุขอนามัยให้ลูกของคุณให้ดี คอยกำชับให้เด็กล้างมืออยู่เป็นประจำจนเป็นนิสัย การมีพฤติกรรมดูแลความสะอาดให้กับตนเองอยู่เป็นประจำจะช่วยให้คุณ และลูกห่างไกลจากโรคพุพองได้

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพเด็ก ผู้ใหญ่ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


21 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Impetigo: Practice Essentials, Background, Pathophysiology. Medscape. (https://emedicine.medscape.com/article/965254-overview)
Impetigo | Strep | Staph. MedlinePlus. (https://medlineplus.gov/impetigo.html)
Impetigo: Symptoms, Causes, Contagious, Complications, Treatments. WebMD. (https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/understanding-impetigo-basics)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)