กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
นพ. ชยากร พงษ์พยัคเลิศ แพทย์ทั่วไป
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
นพ. ชยากร พงษ์พยัคเลิศ แพทย์ทั่วไป

แผลเป็น สาเหตุ อาการ การรักษา และการป้องกัน

รู้จักวิธีรับมือกับแผลเป็น ถ้าไม่อยากมีรอยแผลเป็นของที่ระทึกบนเรือนร่าง
เผยแพร่ครั้งแรก 11 ก.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 26 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 10 ต.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
แผลเป็น สาเหตุ อาการ การรักษา และการป้องกัน

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • การที่เนื้อเยื่อฉีกขาด ร่างกายจะสร้างเนื้อเยื่อและคอลลาเจนขึ้นมาทดแทน แต่บางครั้งร่างกายสร้างเนื้อเยื่อมากเกินไป จนเกิดแผลเป็น
  • แผลเป็นแบ่งได้ 3 แบบ คือ แผลเป็นแบบโตนูนเกิน แผลเป็นบุ๋มลึก และแผลเป็นหดรั้ง
  • การผ่าตัดเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยแก้แผลเป็นได้ แต่มีโอกาสกลับมาเป็นอีกสูงกว่าวิธีอื่น ๆ อาจต้องฉีดยาสเตียรอยด์เพิ่มเติม
  • หากมีแผลใหม่ๆ ให้นวดเบาๆ อย่างสม่ำเสมอ ช่วง 3 - 6 เดือนแรก เพื่อลดการขยายตัวและลดโอกาสการกลายเป็นแผลเป็นนูน
  • เป็นแผลไฟไหม้ หรือได้รับอุบัติเหตุ อาจทำให้แผลเป็นรุนแรงกว่ารูปแบบอื่น ๆ ดูแพ็กเกจรักษาแผลคีลอยด์ได้ที่นี่

เวลาเกิดอุบัติเหตุไม่ว่าเล็ก หรือใหญ่ มักจะมีผลกระทบต่อผิวหนังจนเนื้อเยื่อถลอก หรือฉีกขาดกลายเป็นแผลได้ ไม่ว่าจะเป็นแผลเปิด แผลไฟไหม้หรือแผลน้ำร้อนลวก รวมถึงแผลที่เกิดจากโรค เช่น อีสุกอีใส การผ่าตัด และการปลูกฝี เมื่อเป็นแผล ร่างกายจะมีกลไกการห้ามเลือดและสมานแผล เมื่อแผลเริ่มหายดีจะทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นมีลักษณะเปลี่ยนไปจากเดิมจนกระทั่งเกิดแผลเป็นตามมาในที่สุด

สาเหตุการเกิดแผลเป็น

เมื่อเนื้อเยื่อมีการฉีกขาด ร่างกายจะมีกระบวนการรักษาตัวเอง เช่น การสร้างเนื้อเยื่อและคอลลาเจนขึ้นมาใหม่เพื่อทดแทนส่วนที่ขาดหายไป การจัดโครงสร้างผิวหนัง การสร้างเส้นเลือดใหม่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเนื้อเยื่อที่ฉีกขาดว่า ตื้นลึกอย่างไร และการดูแลรักษาความสะอาดของแผลว่า ดีมากน้อยหรือไม่ แต่ถ้ากระบวนการรักษาตัวเองเกิดความผิดพลาดขึ้น เช่น สร้างเนื้อเยื่อมากเกินไปจะทำให้เกิดแผลเป็นขึ้นตามมา 

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจว่า วัยเด็กจะมีโอกาสเกิดแผลเป็นได้น้อยกว่าผู้ใหญ่ เพศชายเสี่ยงต่อการมีแผลเป็นน้อยกว่าผู้หญิง ส่วนวัยรุ่นและวัยเจริญพันธุ์รวมถึงผู้ที่มีผิวคล้ำนั้นจะมีโอกาสเกิดแผลเป็นได้มากกว่าวัยอื่นๆ และผู้ที่มีผิวขาว ชาวแอฟริกันมีโอกาสเป็นแผลเป็นมากกว่าชาวยุโรป และยังพบว่าการเกิดแผลเป็นยังสัมพันธ์กับระดับฮอร์โมน โดยพบว่าในหญิงตั้งครรภ์มีโอกาสเป็นแผลเป็นมากขึ้น

อาการของแผลเป็น

แผลเป็นมีหลายรูปแบบด้วยกัน แต่ละแบบก็จะมีลักษณะอาการแตกต่างกันออกไป โดยแผลเป็นในระยะแรกๆ จะเป็นสีแดง หรือสีน้ำตาลนูนแล้วจางหายไป

1. แผลเป็นแบบโตนูน แบ่งออกได้ 2 แบบ คือ

  • แผลเป็นโตนูนเกิน (Hypertrophic) แผลเป็นที่มีลักษณะโต นูนจากผิวหนังเล็กน้อยแต่มีขนาดไม่เกินจากขอบเขตเดิม ในระยะแรกๆ จะเป็นรอยนูน ชมพู แดง และมีอาการคัน เมื่อเวลาผ่านไป 1-2 ปี แผลเป็นแบบนี้จะจางลง หรือค่อยๆ ยุบตัวแบนราบได้
  • แผลเป็นคีลอยด์ (Keloid) แผลเป็นที่มีลักษณะโต นูน คล้ายชนิดแรก แต่ตัวแผลจะนูน หรือกว้างเกินขอบเขตจากแผลเดิมไปมาก และความผิดปกติดังกล่าวจะสามารถเพิ่มขึ้นได้เรื่อยๆ ไม่สามารถยุบหายไปเองได้

2. แผลเป็นบุ๋มลึกลงไป (depressed scar) แผลเป็นที่มีลักษณะเป็นรูบุ๋มลึก หรือเป็นร่องลงไปใต้ผิวหนัง

3. แผลเป็นหดรั้ง (scar contracture) แผลเป็นที่มีลักษณะดึงรั้งอวัยวะรอบๆ บริเวณแผลให้ผิดรูป

วิธีรักษาแผลเป็น

การรักษาแผลเป็นจะต้องพิจารณาก่อนว่า แผลเป็นนั้นเป็นแบบชนิดใดจะได้รักษาให้เหมาะสมกับลักษณะแผลเป็นนั้นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้แผลเป็นมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือพัฒนากลายเป็นแผลเป็นคีลอยด์ได้ในอนาคต

  1. วิธีดั้งเดิม หรือ วิธีอนุรักษ์ (conservative) เป็นการใช้แผ่นซิลิโคนเจลใสๆ ปิดบนบาดแผลตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อช่วยให้ผิวหนังมีความชุ่มชื้นมากขึ้นและช่วยลดการอักเสบได้ 
  2. ใช้แผ่นเทปเหนียว หรือที่เรียกกันว่า microporous tape สามารถใช้ทดแทนการปิดด้วยแผ่นซิลิโคนเจลใสได้ โดยใช้แผ่นนี้แปะลงบนบาดแผลโดยตรงเพื่อให้ผิวหนังบริเวณบาดแผลมีความชุ่มชื้นและช่วยลดการอักเสบได้
  3. ฉีดด้วยยาสเตียรอยด์ ยาฉีดที่แนะนำให้ใช้คือ Triamcinolone acetonide มีคุณสมบัติช่วยลดการอักเสบซึ่งอาจก่อให้เกิดแผลเป็นนูน หรือคีลอยด์ได้ ยานี้จะต้องฉีดเข้าไปในบาดแผลซึ่งเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี หลังจากได้รับบาดแผล และฉีดประมาณเดือนละ 1 ครั้ง หากฉีดเป็นจำนวน 4-5 ครั้งติดต่อกันแล้วไม่สำเร็จ จะเปลี่ยนวิธีการรักษาเป็นการผ่าตัดแทน
  4. การผ่าตัด วิธีนี้มีหลายวิธีขึ้นอยู่กับรูปแบบของแผลเป็น หากเป็นคีลอยด์ หรือแผลเป็นนูนจะใช้วิธีตัดออก หรือลดขนาดบางส่วน และอาจจะใช้ร่วมกับวิธีอื่น เช่น ปิดด้วยแผ่นซิลิโคน ส่วนวิธีลดขนาดของแผลเป็นจะใช้วิธีตัดแผลเป็นออกบางส่วนเท่านั้น แล้วนัดติดตามผลการรักษา หรือตัดทีละน้อย แต่การผ่าตัดมักมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำสูงได้อย่างรวดเร็วจึงมักมีการรักษาร่วมหลังจากการผ่าตัด เช่น ฉีดยาสเตียรอยด์ ฉายรังสี หรือใช้ยาจำพวกกดภูมิคุ้มกันร่วมด้วย
  5. การขัดกรอผิวหนัง หรือ dermabration จะใช้ในกรณีที่แผลเป็นมีลักษณะเป็นรอยขรุขระไม่เรียบ หรือแผลที่เป็นรูบุ๋มลงไป โดยใช้หัวกรอ หรือเลเซอร์ปรับสภาพผิวให้เรียบ 

วิธีป้องกันการเกิดแผลเป็น

วิธีป้องกันไม่ให้เกิดแผลเป็น เริ่มต้นจากการป้องกันไม่ให้เกิดแผลเป็นวิธีที่ดีที่สุดเพราะเมื่อเกิดแผลแล้วมักจะต้องใช้ระยะเวลาในการรักษายาวนานพอสมควร (ขึ้นอยู่กับลักษณะแผลและความรุนแรง)  และหากดูแลรักษาบาดแผลไม่ดีก็จะกลายเป็นแผลเป็นได้ง่าย แต่ถ้าเรามีแผลใหม่ๆ ให้หมั่นนวดเบาๆ อย่างสม่ำเสมอในช่วงระยะเวลาประมาณ 3 ถึง 6 เดือนแรก เพื่อลดการขยายตัวและลดโอกาสการกลายเป็นแผลเป็นนูนได้

กรณีที่บาดแผลมีขนาดใหญ่และกว้างนั้น เช่น แผลไฟไหม้ หรือแผลน้ำร้อนลวกเป็นวงกว้าง อาจจะต้องใช้ผ้ารัดที่เรียกว่า pressure garment เป็นระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี นับตั้งแต่หลังจากที่เราได้รับอุบัติเหตุ แต่ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นแผลเล็ก หรือแผลใหญ่ ช่วงที่แผลเป็นมีอาการอักเสบให้นวดเบาๆ จะช่วยลดการเกิดแผลเป็นและไม่ให้แผลเป็นขยายใหญ่ได้


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
เลเซอร์รอยแผลเป็นด้วย Picoway กับข้อควรรู้ต่างๆ, (https://hdmall.co.th/c/hdinsight-remove-scars-at-gangnam-clinic).
Suphot Chattinnakorn, Update Managements for Keloid Scar(http://www.smj.ejnal.com/e-journal/showdetail/?show_detail=T&art_id=1913)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
มาตรฐาน การอบประคบสมุนไพร : การประคบสมุนไพร
มาตรฐาน การอบประคบสมุนไพร : การประคบสมุนไพร

ภูมิปัญญาไทย แก้ปวด เมื่อย เคล็ด ขัด ยอก ฟกช้ำ และอักเสบ ได้ด้วยสมุนไพรและความร้อน

อ่านเพิ่ม