เมื่ออยู่ในอิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่งเป็นระยะเวลานานๆ เช่น ขับรถ นั่งก้มทำงาน หรืออยู่ในท่าทางที่ไม่ถูกต้อง ก็อาจมีอาการปวด เมื่อย เคล็ด ขัด ยอก เกร็ง ตึง ฟกช้ำ ตามร่างกายในส่วนนั้นๆ ทำให้รู้สึกไม่สบายตัว เคลื่อนไหวลำบาก ภูมิปัญญาไทยแต่โบราณจึงคิดค้น "การนวดไทย" และการ "ประคบสมุนไพร" ขึ้น เพื่อบำบัดอาการโดยไม่ต้องรับประทานยา
การประคบสมุนไพร
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
การประคบสมุนไพรหมายถึง การรักษาอาการปวดเมื่อยด้วยสมุนไพรที่มีสรรพคุณแก้อาการปวด เมื่อย เคล็ด ขัด ยอก เกร็ง ตึง ฟกช้ำ หลายชนิดร่วมกับความร้อนชื้นของไอน้ำจากการนึ่งลูกประคบและแรงของผู้นวดที่กดลงไป อาจนวดไทยก่อนแล้วค่อยประคบ ประคบก่อนนวด หรือจะนวดไปพร้อมๆ กับการประคบก็ได้
ความร้อนที่เหมาะสมในการประคบไม่ควรเกิน 45 องศาเซลเซียสซึ่งจะส่งผลให้เนื้อเยื่อพังผืดคลายตัวออก ลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ลดการติดขัดของข้อต่อ ลดอาการเจ็บปวด ลดอาการบวมที่เกิดจากการอักเสบ กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ส่วนสมุนไพรก็ให้ผลตามสรรพคุณแต่ละชนิดที่เลือกสรรมา เช่น แก้อาการปวด เมื่อย เคล็ด ขัด ยอก เกร็ง ตึง ฟกช้ำ ยิ่งหากเป็นสมุนไพรที่มีน้ำมันหอมระเหย ตัวยาจะออกมากับไอน้ำและความชื้นซึมเข้าผิวหนังได้ดี ส่วนกลิ่นหอมของน้ำมันหอมระเหยจะช่วยให้สดชื่น ผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น
อุปกรณ์การทำลูกประคบ
- ผ้าสำหรับห่อลูกประคบ เป็นผ้าฝ้าย หรือผ้าดิบ ที่มีเนื้อผ้าแน่นพอที่จะป้องกันไม่ให้สมุนไพรหลุดล่วงมา
- เชือก
- ตัวยาสมุนไพรที่ใช้ทำลูกประคบ
- เครื่องชั่ง สำหรับชั่งสมุนไพรให้ได้ปริมาณที่ถูกต้อง
- เตา
- หม้อสำหรับนึ่งลูกประคบ
- จานรองลูกประคบ
ตัวยาที่นิยมใช้ทำลูกประคบ
ไพล: แก้ปวดเมื่อย ลดการอักเสบ ช่วยคลายกล้ามเนื้อ ลดอาการปวดเกร็ง ฟกช้ำ บวม
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ผิวมะกรูด หรือใบมะกรูด: มีน้ำมันหอมระเหยให้กลิ่นหอมปร่าช่วยให้รู้สึกสดชื่น หายใจโล่ง แก้อาการวิงเวียนหน้ามืด แก้ช้ำใน ช่วยขับลม
ตะไคร้บ้าน: มีน้ำมันหอมระเหยให้กลิ่นหอมปร่าช่วยให้รู้สึกสดชื่น แก้ฟกช้ำ ปวดเมื่อย บรรเทาอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ
ใบมะขาม: ช่วยให้เส้นเอ็นหย่อน แก้ผื่นคัน ช่วยให้ผิวพรรณสดใส เปล่งปลั่ง
ขมิ้นอ้อย: ช่วยลดอาการอักเสบ แก้โรคผิวหนัง แก้ฟกช้ำบวม แก้เคล็ดขัดยอก
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ขมิ้นชัน: แก้อาการบวม ฟกช้ำ เคล็ดขัดยอก แก้ผื่นคันตามผิวหนัง ช่วยบำรุงผิว
การบูร: แก้ปวดตามเส้น แก้ปวดข้อ แก้เคล็ดขัดยอก ลดบวม และกลิ่นยังช่วยให้หายใจโล่ง บรรเทาอาการคัดจมูก
พิมเสน: ช่วยแต่งกลิ่น แก้อาการพุพอง ลดผื่นคัน มีกลิ่นที่ช่วยให้หายใจโล่ง
ใบส้มป่อย: ช่วยบำรุงผิว แก้โรคผิวหนัง ลดความดัน ช่วยให้เส้นเอ็นอ่อน แก้ปวดเมื่อย
ใบพลับพลึง: แก้ช้ำใน ลดอาการปวด บวม ฟกช้ำ
เกลือสมุทร หรือเกลือทะเล: ช่วยดูดความร้อน ช่วยให้ตัวยาซึมสู่ผิวหนังได้ง่าย มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคได้
วิธีทำลูกประคบ
- นำสมุนไพรที่เตรียมไว้มาล้างน้ำให้สะอาด ผึ่งให้สะเด็ดน้ำ
- หั่นสมุนไพรที่เตรียมไว้เป็นชิ้นๆ แล้วตำรวมกันพอหยาบ
- นำผิวมะกรูด ใบมะขาม ใบส้มป่อย ตำผสมกับข้อ 1 เสร็จแล้วให้ใส่เกลือ การบูร คลุกเคล้าและตำให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน แต่อย่าให้ละเอียดมากจนแฉะเป็นน้ำ
- แบ่งตัวยาที่ตำเรียบร้อยแล้วเป็น 2 ส่วนเท่าๆ กัน สามารถทำลูกประคบได้ 2 ลูก โดยแต่ละลูกให้ใช้ผ้าขาวห่อเป็นลูกประคบ แล้วรัดด้วยเชือกให้แน่น
- นำลูกประคบที่ได้ไปนึ่งในหม้อนึ่งครั้งละ 1 ลูก ใช้เวลานึ่งประมาณ 15-20 นาที
- นำลูกประคบที่ความร้อนได้ที่แล้วมาประคบผู้ป่วยที่มีอาการต่างๆ โดยสับเปลี่ยนลูกประคบระหว่าง 2 ลูกนี้
ขั้นตอนการประคบ
- จัดท่าผู้ป่วยให้เหมาะสม เช่น นอนหงาย นั่ง นอนตะแคง ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่จะทำการประคบสมุนไพร
- นำลูกประคบที่ความร้อนได้ที่แล้วมาประคบบริเวณที่ต้องการประคบ โดยเฉพาะบริเวณที่มีอาการปวดเมื่อย (ทดสอบความร้อนของลูกประคบด้วยการแตะที่ท้องแขน หรือฝ่ามือก็ได้)
- ในช่วงแรกของการประคบ ควรวางลูกประคบบนผิวหนังคนไข้โดยตรงด้วยความเร็ว ไม่ว่างแช่นานๆ เพราะในช่วงแรกที่ลูกประคบยังร้อนอยู่ คนไข้จะทนความร้อนไม่ได้มาก หรือหากลูกประคบร้อนมากหรือคนไข้ทนความร้อนได้ไม่ดี ควรมีผ้าขนหนูห่อที่ลูกประคบในช่วงแรกก่อนที่จะสัมผัสผิวของคนไข้
- เมื่อลูกประคบคลายความร้อนลงสามารถวางลูกประคบได้นานขึ้น และหากต้องการประคบต่อให้นำลูกเดิมไปนึ่งต่อ นำลูกใหม่มาประคบแทนตามขั้นตอน 2-3-4
โดยทั่วไปจะใช้เวลาในการประคบราว 15-30 นาที แต่ถ้ามีอาการมากอาจประคบได้วันละ 2 ครั้ง
ประโยชน์ของการประคบสมุนไพร (จากตัวยาสมุนไพรและความร้อน)
- บรรเทาอาการปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอก บวม ฟกช้ำ
- ช่วยลดอาการบวม อักเสบของกล้ามเนื้อ เอ็น ข้อต่อ หลังประสบเหตุตั้งแต่ 24 ชั่วโมงขึ้นไป - 48 ชั่วโมง
- ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ
- ช่วยให้เนื้อเยื่อ พังผืด ยึดตัวออก
- ลดการติดขัดของข้อต่อ
- ลดอาการปวด หรืออาการปวดอักเสบของกล้ามเนื้อและข้อต่อเรื้อรัง
- ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง
- กลิ่นน้ำมันหอมระเหยที่มาจากตัวยาสมุนไพรของลูกประคบช่วยคลายเครียด หายใจโล่ง บรรเทาอาการคัดจมูก
ข้อควรระวังในการประคบสมุนไพร
- ห้ามใช้ลูกประคบที่ร้อนเกินไปโดยเฉพาะบริเวณผิวหนังอ่อนๆ หรือบริเวณที่เคยเป็นแผลมาก่อน เพราะจะไวต่อความร้อนเป็นพิเศษ ถ้าต้องการประคบจริงๆ ควรใช้ผ้าขนหนูรองก่อน หรือรอให้ลูกประคบคลายความร้อนลง
- สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน อัมพาต เด็ก และผู้สูงอายุ การประคบสมุนไพรต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากกลุ่มบุคคลดังกล่าวความรู้สึกตอบสนองต่อความร้อนช้าอาจจะทำให้ผิวหนังไหม้ หรือพองได้ง่าย ถ้าต้องการประคบจริงๆ ควรใช้ลูกประคบอุ่นๆ
- ไม่ควรใช้ลูกประคบสมุนไพรในกรณีที่มีการอักเสบ ปวด บวม แดง และร้อน ในช่วง 24 ชั่วโมงแรกหลังประสบเหตุ เพราะอาจทำให้บวมมากขึ้น
- หลังจากประคบสมุนไพรเสร็จแล้วยังไม่ควรล้างตัว หรืออาบน้ำทันที เพราะจะไปชะล้างตัวยาออกจากผิวหนังและร่างกายอาจจะปรับอุณหภูมิไม่ทัน
- หากมีไข้สูง 38.5 องศาเซลเซียส ไม่ควรประคบร้อน
- หากมีโรคผิวหนัง มีบาดแผลเปิด แผลติดเชื้อ ฝีหนอง ห้ามประคบบริเวณที่เป็น
การเก็บรักษา
- ลูกประคบสมุนไพรที่ทำครั้งหนึ่ง สามารถเก็บไว้ใช้ได้ 3-5 วัน
- ควรเก็บลูกประคบไว้ในตู้เย็นเพราะจะทำให้มีอายุการใช้งานนานขึ้น (ควรเช็คตัวยาในห่อลูกประคบด้วยถ้ามีกลิ่นบูดเสียไม่ควรเก็บไว้)
- สังเกตความแห้ง ถ้าลูกประคบแห้ง ก่อนใช้ควรพรมด้วยน้ำ หรือเหล้า
- สังเกตสี ถ้าลูกประคบไม่มีสีเหลือง หรือสีเหลืองอ่อนลงแสดงว่า ตัวยาภายในคุณภาพน้อยลงแล้ว หากประคบไปก็จะใช้ไม่ได้ผล
การประคบสมุนไพรก็เช่นเดียวกับการใช้สมุนไพรอื่นๆ คือ ต้องใช้ให้ถูกวิธีและใช้อย่างเหมาะสม จึงจะเกิดประโยชน์และไม่เกิดผลข้างเคียง หรือให้โทษได้
บทความที่เกี่ยวข้อง
นวดไทย คลายปวดเมื่อยด้วยศาสตร์โบราณ