กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

นวดแผนไทย คลายปวดเมื่อยด้วยศาสตร์โบราณ

ทำความรู้จักการนวดแผนไทย ประโยชน์ของการนวดไทย และลิสต์ผู้ที่เข้าข่ายไม่ควรนวด
เผยแพร่ครั้งแรก 30 ก.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 4 พ.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 7 นาที
นวดแผนไทย คลายปวดเมื่อยด้วยศาสตร์โบราณ

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • การนวดแผนไทย แบ่งตามสรรพคุณได้ 4 ประเภท คือ นวดเพื่อสุขภาพ นวดเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย หรือโรคบางชนิด นวดเพื่อป้องกันการเกิดโรคบางชนิด และนวดเพื่อฟื้นฟูสุขภาพจากโรคเรื้อรัง
  • ตัวอย่างอาการเจ็บป่วยที่การนวดแผนไทยสามารถช่วยได้ ได้แก่ อาการปวดคอ หัวไหล่ ใบหน้า แขน หลัง เอว โรคเครียด นอนไม่หลับ อาการตะคริว เหน็บชา
  • มีกลุ่มคนบางกลุ่มที่ไม่ควรนวดแผนไทย เพราะจะทำให้เกิดอันตรายได้ เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยที่แผลผ่าตัดยังไม่หายดี หญิงมีประจำเดือน ผู้ที่กระดูกเปราะ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน อัมพฤกษ์ อัมพาต
  • ลำดับท่านวดแผนไทย จะแบ่งได้ดังนี้ คือ ท่านอนหงาย ท่านอนคว่ำ ท่านอนหงายอีกครั้ง ท่านั่ง
  • คุณอาจมีอาการปวดตัวหลังจากนวดได้ หากถูกกดนวดแรงเกินไป เพิ่งเคยนวดครั้งแรก หรือมีอาการป่วยก่อนมานวด และยังไม่หายดี
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจนวด สปา

การนวดแผนไทย (Thai Massage) หรือที่เรียกกันว่า นวดแผนโบราณ เป็นการรักษาที่เรียกว่าหัตถเวชกรรมไทย โดยใช้การบีบ นวด คลึง ดัด ดึง กด ทุบ เคาะ สับ ประคบร้อน อบ เพื่อให้เลือดลมในร่างกายไหลเวียนได้อย่างสมดุล

นวดแผนไทยมีกี่ประเภท

การนวดแผนไทย นอกจากจะแบ่งตามลักษณะการนวดที่มีมาแต่โบราณออกได้เป็น 2 ประเภท คือ การนวดแบบเชลยศักดิ์ และการนวดแบบราชสำนักแล้ว นอกจากนี้ นวดแผนไทยยังสามารถแบ่งตามสรรพคุณได้ 4 ประเภท คือ 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
นวด สปาวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 146 บาท ลดสูงสุด 77%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

  1. การนวดเพื่อสุขภาพ เป็นการนวดเพื่อผ่อนคลายร่างกาย และจิตใจ ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนได้ดี เส้นเอ็นที่ตึงจะหย่อนลง ทำให้ข้อต่อต่างๆ ไม่ติดขัด
  2. นวดเพื่อบำบัดรักษา คือ การนวดที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะในการักษาโรค หรือรักษาผู้ป่วย เน้นนวดเพื่อให้อาการของกล้ามเนื้อ และข้อต่อดีขึ้น ช่วยให้ขยับข้อต่อได้สะดวกยิ่งขึ้น

    สำหรับโรค หรืออาการเจ็บป่วยที่มักใช้การนวดแผนไทยรักษาเข้ามารักษาอาการ คือ โรคเกี่ยวกับปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง เช่น ปวดหลัง ปวดคอ โรคเกี่ยวกับข้อต่อ เช่น ไหล่ติด เข่าตึง

    ส่วนอาการเจ็บป่วยที่นิยมนำการนวดแผนไทยมารักษาเสริม ได้แก่ ปวดหัว โรคเครียด โรคนอนไม่หลับการนวดรูปแบบนี้ผู้นวดต้องมีความรู้เรื่องโรคต่าง ๆ ที่ให้การรักษาอย่างมาก

  3. นวดเพื่อป้องกันโรค การนวดประเภทนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตนเองได้น้อย และไม่ได้เคลื่อนไหว เช่น ผู้ป่วยนอนติดเตียง ผู้ป่วยที่มีแผลจากกดทับที่ผิวหนังหุ้มกระดูก ผู้ป่วยที่มักมีเสมหะติดอยู่ในปอด หรือุดตันที่หลอดลม

  4. นวดเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพ เป็นการนวดเพื่อให้ร่างกายกับสู่สภาวะปกติ เหมาะกับผู้ที่ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น ผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคพาร์กินสัน โดยการนวดแผนไทยจะช่วยลดอาการเกร็ง ทำให้ร่างกายฟื้นฟูเร็วขึ้นจนสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เหมือนเดิม

    นอกจากนี้ ยังรวมถึงการนวดในนักกีฬาทั้งก่อนและหลังการเล่นกีฬา รวมถึงการบาดเจ็บจากการเล่น

องค์ประกอบการนวด

การนวดแต่ละครั้งอาจมีกรรมวิธีหลายอย่างประกอบกันดังนี้ 

  • นวดด้วยมือ เป็นการใช้มือทั้ง 2 ข้างนวดคลึงด้วยวิธีต่างๆ เช่น กด บีบ บิด ดึง ดัด ทุบ เคาะ สับ เพื่อสร้างความผ่อนคลายจุดต่างๆ ของร่างกายตั้งแต่นวดตัว (Body massage) เพื่อการปรับสมดุลของสรีระ 
  • นวดฝ่าเท้า (Foot massage) เป็นการเพื่อช่วยผ่อนคลายเส้นเอ็น น่อง ขา และเข่า อาจใช้วิธีใดวิธีหนึ่งหรือผสมผสานกันก็ได้
  • นวดน้ำมัน (Aroma therapy) การนวดน้ำมันจะใช้น้ำมันอโรม่าที่สกัดจากพืชธรรมชาติซึ่งมีกลิ่นหอม ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายยิ่งขึ้น เป็นวิธีบำบัดด้วยกลิ่น และการซึมเข้าผิวหนัง เช่น น้ำมันกุหลาบลดความเครียดได้ น้ำมันเซจลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อได้ 
  • นวดประคบ (Herbal ball massage) การประคบสมุนไพรมักเป็นขั้นตอนสุดท้ายหลังจากนวดเสร็จแล้ว ใช้เวลาประคบประมาณ 15-20 นาที โดยใช้ความร้อนช่วยให้สมุนไพรซึมเข้าสู่ผิวหนัง สามารถช่วยให้ลดความปวดเกร็งของกล้ามเนื้อ ลดการติดขัดของข้อต่อ เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น
    สมุนไพรที่นิยมใช้นวดประคบได้แก่ ตะไคร้ มะกูด ขมิ้นชัน ขมิ้นอ้อย ไพล ใบมะขาม ใบส้มป่อย ใบพลับพลึง

อ่านเพิ่มเติม: นวดไทย นวดน้ำมัน ต่างกันอย่างไร ประคบร้อนด้วยดีหรือไม่?

อาการเจ็บป่วยที่การนวดแผนไทยช่วยบรรเทาได้

การนวดแผนไทยสามารถรักษาได้ทั้งอาการทางร่างกาย และจิตใจได้มากมายดังต่อไปนี้

  • ปวดช่วงคอ หัวไหล่ ใบหน้า ไหล่ติด ไหล่อักเสบ สะบักจม อาจเกิดจากการนั่งทำงานออฟฟิศเป็นเวลานานโดยไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถ นอนตกหมอน หรือคอเคล็ด 
  • ปวดช่วงแขน ต้นแขน นิ้วล็อค มีก้อนปมหลังมือ 
  • ปวดเมื่อยช่วงหลัง เอว กระดูกสันหลังคด ยอกหลัง
  • ปวดกล้ามเนื้อที่เกิดจากการยึดติดของพังผืด มักเกิดกับอาชีพที่ไม่ต้องเคลื่อนไหวมาก นั่งนานๆ หรืออาจเกิดจากกล้ามเนื้อได้รับบาดเจ็บจนฉีกขาด
  • ปวดช่วงขา เข่า โครงสร้างขาผิดรูป ขาโก่ง ข้อเบี่ยง ข้อเคลื่อน 
  • โรคเครียด โรคนอนไม่หลับ 
  • อาการตะคริว เหน็บชา

ผู้ที่ควรหลีกเลี่ยงการนวดแผนไทย

แม้การนวดไทยจะมีจุดประสงค์เพื่อการรักษา แต่ก็มีข้อจำกัดในผู้ป่วยบางโรค และบางอาการที่อาจเกิดอันตรายได้หากไปนวด  ดังนี้

  • ผู้ที่เพิ่งผ่าตัดแล้วแผลยังไม่หายดี รวมถึงผู้ที่ปลูกถ่ายผิวหนังมา ก็ยังไม่ควรมานวดแผนไทย เพราะอาจทำให้แผลปริแตกได้ 
  • ผู้ป่วยโรคหัวใจ และโรคความดันสูง หากผู้ป่วยมีค่าความดันเลือดสูงสุด (Systolic) สูงกว่า 160 mmHg และค่าความดันเลือดต่ำสุด (Diastolic) สูงกว่า 100 mmHg ไม่ควรนวดแผนไทย เพราะอาจทำให้หลอดเลือดดำอักเสบ ความดันขึ้นสูงได้
  • ผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกชนิด การนวดถูกจุดที่มีเชื้อมะเร็งในระยะลุกลาม อาจทำให้เชื้อมะเร็งลุกลามเร็วขึ้น รวมถึงมีโอกาสที่เชื้อจะกระจายสู่เส้นเลือดและน้ำเหลือง 
  • ผู้ที่เพิ่งได้รับบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา หรือหกล้มเป็นแผล มีรอยฟกช้ำ กล้ามเนื้ออักเสบ กระดูกหักทำให้มีลิ่มเลือด กลุ่มผู้ที่มีอาการเหล่านี้ห้ามมานวดแผนไทยเด็ดขาด หากนวดถูกบริเวณที่มีลิ่มเลือด อาจทำให้ลิ่มเลือดไหลไปตามเส้นเลือด และอุดตันจนเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ 
  • ผู้ที่มีไข้สูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส เพราะอาการไข้ในระยะนี้จะทำให้กล้ามเนื้อยอกได้ง่าย 
  • สตรีมีครรภ์ หากมานวดแผนไทยอาจมีผลกระทบต่อทารกในครรภ์ 
  • ผู้หญิงที่กำลังมีประจำเดือน เพราะอาจทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติเกิดจากเลือดลมในร่างกายแปรปรวน 
  • ผู้ที่มีกระดูกเปราะ กระดูกบาง ข้อต่อหลวม ไม่ควรมานวดเป็นอย่างยิ่ง เพราะเสี่ยงที่กระดูกจะหัก หรือแตกได้
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต และผู้สูงอายุ ควรระมัดระวังการนวด และการประคบร้อนเป็นพิเศษ เนื่องจากกลุ่มบุคคลดังกล่าวมีการตอบสนองต่อความร้อนช้าอาจทำให้ผิวหนังไหม้ หรือพองได้ง่าย

ขั้นตอนการบำบัดด้วยการนวดไทย

สำหรับคนที่ไม่เคยไปใช้บริการนวดไทย ก็คงจะสงสัยว่า พนักงานมีวิธีการในการนวดอย่างไร และมีขั้นตอนก่อนหลังอะไรบ้าง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วขั้นตอนของการนวดไทยจะมีดังต่อไปนี้ 

1. เตรียมความพร้อมในการนวดไทย 

ในขั้นตอนนี้ผู้ให้บริการจะทำการอธิบายรายละเอียดในการปฏิบัติ ว่าจะนวดจุดใดบ้าง โดยทั่วไปจะไล่ตั้งแต่เท้า ขา แขน มือ หลัง คอ และศีรษะตามลำดับ รวมทั้งแจ้งประโยชน์ของการนวดในแต่ละจุดให้ฟัง 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
กายภาพบำบัดและนวดเพื่อการรักษาวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 198 บาท ลดสูงสุด 92%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

2. เตรียมอุปกรณ์สำหรับนวดไทย 

ขั้นต่อมานี้ผู้ให้บริการจะจัดเตรียมห้อง และอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการนวดแผนไทย เช่น หมอนรองศีรษะ ที่นอน หมอนรองเข่า บางแห่งจะมีชุดเปลี่ยนให้ผู้รับการนวดสวม มักเป็นชุดใส่สบายแต่รัดกุม สามารถยกแขน ขา จัดท่าโดยผู้นวดได้อย่างสะดวก

3. ให้บริการนวดไทย 

ก่อนจะเริ่มนวดแผนไทย พนักงานจะแนะนำการปฏิบัติตนสำหรับผู้นวด เช่น การทำความสะอาดฝ่าเท้าก่อนนวด และถอดเครื่องประดับออกเพื่อความสะดวกในการนวดไทย 

นอกจากนี้ ผู้ให้บริการจะปฏิบัติตามมารยาทการนวดไทย เช่น สำรวมทำสมาธิก่อนเริ่มนวด ระหว่างการนวดต้องไม่นั่งคร่อมผู้ใช้บริการ และไม่หายใจรดผู้ใช้บริการ หลังจากนั้นจะนวดตามจุดต่างๆ โดยแบ่งเป็นท่าตามลำดับ ดังนี้

  • ท่านอนหงาย จะเป็นการนวดบริเวณขา ไล่ตั้งแต่ฝ่าเท้า โคนขา ขาด้านใน เข่า ฝ่าเท้า 3 แนว นวดกดเส้น
  • ท่านอนคว่ำ นวดหลัง 2 แนว ไล่ตั้งแต่เอวถึงไหล่ รวมทั้งบริเวณขาหลัง หน้าแข้ง 
  • ท่านอนหงายอีกครั้ง ครั้งนี้จะเป็นการนวดศีรษะ ทั้งบริเวณหัวคิ้ว กลางคิ้ว หางคิ้ว แก้ม เบ้าตา ไล่ถึงไรผม และขมับ
  • ท่านั่ง ท่านี้จะเป็นการนวดช่วงบนเป็นหลัก ได้แก่ หัวไหล่ คอ ท้ายทอย โดยการประสานมือหนีบที่คอ

4. แนะนำการปฏิบัติหลังนวดเสร็จ 

หลังจากเสร็จสิ้นการนวดไทย ผู้ให้บริการจะแนะนำการปฏิบัติที่เหมาะสมกับผู้ใช้บริการแต่ละคน รวมทั้งแนะนำทรีตเมนต์การนวดไทยที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมให้

ศาสตร์การนวดอื่นๆ

นอกจากศาสตร์การนวดไทยพื้นฐานแล้ว ตามสถานบริการหลายแห่งยังมักมีชื่อการนวดแบบอื่นๆ เช่น การนวดเฉพาะจุดอย่างนวดเท้า นวดคอ นวดบ่า นวดไหล่ หรือเป็นชื่อกรรมวิธีนวด อย่างนวดสวิดิช นวดหินร้อน รายละเอียดของการนวดแต่ละแบบมีดังนี้

1. นวดสวิดิช (Swedish massage) 

เป็นหนึ่งในศาสตร์การนวดที่ได้รับความนิยมเช่นกัน รูปแบบคล้ายกับการนวดกล้ามเนื้อทั่วไป แต่การนวดสวิดิชจะเป็นการนวดที่อ่อนโยน และเบามือกว่า เน้นเพื่อการผ่อนคลายความตึงของกล้ามเนื้อจากการออกกำลังกาย หรือนั่งท่าเดิมนานๆ 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
นวด สปาวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 146 บาท ลดสูงสุด 77%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ดังนั้น การนวดสวิดิชจึงเหมาะกับผู้ที่เริ่มนวดเป็นครั้งแรก พนักงานออฟฟิศ หรือผู้ที่ออกกำลังกายอย่างหนัก เพราะการนวดสวิดิชจะช่วยกระตุ้นปลายประสาท การหมุนเวียนโลหิต และต่อมน้ำเหลืองให้ทำงานได้ดีขึ้น

2. นวดหินร้อนบำบัด (Hot stone therapy) 

การนวดหินร้อนบำบัดนั้นมีความใกล้เคียงกับการนวดแบบสวิดิชมาก เพียงแต่การนวดหินร้อนบำบัดจะสามารถคลายความตึงของกล้ามเนื้อ และความปวดเมื่อยได้มากกว่า เพราะการนวดโดยใช้หินกดน้ำหนักได้ดีกว่าฝ่ามือคน 

ในขั้นแรกของการนวดด้วยศาสตร์นี้ พนักงานจะนำหินไปแช่น้ำร้อนให้ได้อุณหภูมิที่เหมาะสมก่อน แล้วจึงนำหินร้อนไปวางไว้บนจุดต่างๆ ของร่างกายเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต และอาจใช้หินนวดไปตามตัวโดยใช้เทคนิคความอ่อนโยนแบบเดียวกับสวิดิชเลยก็ได้ 

3. นวดเท้า (Foot massage) 

ร้านนวดไทยหลายร้านจะมีการแยกรายการการนวดออกมาตามความต้องการของลูกค้า โดยจะมีการนวดเท้า ฝ่าเท้า นวดขาอย่างเดียว เหมาะสำหรับผู้ที่ปวดเมื่อยจากการยืนเป็นเวลานาน

การนวดเท้าครอบคลุมถึงขาด้วย โดยจะนวดทีละฝั่งและมักเริ่มจากฝั่งซ้ายก่อน เริ่มจากขยำมือไล่ตั้งแต่ปลายเท้าไปจนถึงโคนขา ทั้งขาด้านใน ขาด้านนอก มีการกดกึ่งกลางฝ่าเท้าเพื่อเป็นการเปิดประตูลมเท้า 

จากนั้นพนักงานคลึงเข่า งอเข่า ตั้งเข่าขึ้น บิดเข้าด้านในรวมถึงนวดน่อง พับขาติดสะโพกก่อนจะกลับมาดัดปลายเท้า จากนั้นจึงสลับข้าง ทำเช่นเดิมอีกครั้ง

4. นวดคอ บ่า ไหล 

เป็นการนวดช่วงบนเพื่อคลายปวดเมื่อย โดยจะใช้นิ้วมือกดที่หัวไหล่ค่อยๆไล่เป็นระยะไปจนถึงบริเวณคอทั้ง 2 แนว ต่อด้วยนวดโค้งคอทั้งซ้ายและขวาสลับกัน กดท้ายทอย 3 จุด นวดขมับ และกลับมาใช้มือประสานกันหนีบคอเป็นจังหวะ ใช้ศอกกดไหล่ทั้ง 2 ข้างพร้อมกัน 

จากนั้นพนักงานจะเอียงคอผู้เข้ารับบริการชิดหัวไหล่ข้างใดข้างหนึ่ง และกดไหล่ให้ยืดคลายทั้งซ้ายขวาสลับกัน ปิดท้ายด้วยการนวดบ่า ทั้งใช้มือขยำ ใช้มือประสานกันสับบริเวณบ่า

สาเหตุที่ทำให้นวดแล้วยังปวดตัวอยู่

หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมไปนวดเพื่อคลายอาการปวดแล้วยังมีอาการระบมเกิดขึ้นอยู่เหมือนเดิม ซึ่งสาเหตุอาจเกิดได้จากปัจจัยต่อไปนี้

  • อาการอักเสบของร่างกาย เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้หลังจากนวด โดยจะสังเกตได้จากบริเวณที่อักเสบจะปวด บวม แดง ร้อน หรือเส้นอักเสบเฉียบพลัน เมื่อเกิดอาการเช่นนี้ ให้ประคบด้วยน้ำเย็น 24-28 ชั่วโมง จากนั้นประคบร้อนเพื่อลดอาการปวด
  • ถูกนวดกดน้ำหนักมากเกินไป หากผู้รับการรักษารู้สึกเจ็บมากเกินไป ในการนวดครั้งต่อไป คุณสามารถแจ้งกับพนักงานได้เพื่อให้เบาน้ำหนักมือลง
  • ผู้ที่มานวดครั้งแรก หรือไม่ได้มานวดเป็นเวลานานแล้ว อาจทำให้กล้ามเนื้อยังไม่คุ้นชิน
  • มีอาการป่วยก่อนไปนวด หากคุณกำลังมีไข้แล้วไม่ได้รับการซักประวัติ หรือตรวจสอบก่อนเข้ารับบริการ คุณก็อาจทำให้มีอาการปวดตัวมากขึ้นหลังจากนวดเสร็จได้ หรืออาการป่วยอาจทรุดหนักกว่าเดิม

ปัจจุบันมีคอร์ส แพ็กเกจการนวดอยู่หลายแนวทาง ทั้งบริการ และส่วนของร่างกายที่คุณต้องการเน้นให้ผ่อนคลาย ผู้รับบริการควรเลือกให้เหมาะกับวัตถุประสงค์ เช่น ต้องการผ่อนคลาย ฟื้นฟู หรือรักษาสุขภาพ เฉพาะของแต่ละคน 

อีกสิ่งสิ่งสำคัญที่คุณต้องไม่ลืมเด็ดขาด คือ ถ้าคุณเป็นผู้มีปัญหาสุขภาพ หรือโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์เสียก่อนว่า สามารถทำการนวดได้หรือไม่ เนื่องจากการนวดนั้นมีการบีบไล่ กระตุ้นเลือดลมให้ไหลเวียน อาจทำให้อาการของโรคบางอย่างแย่ลงได้

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจนวด สปา จากร้านนวดและร้านสปาใกล้คุณ และไม่พลาดทุกการอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


21 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
อยู่ไฟหลังคลอด นวดหลังคลอดได้ไหม?, (https://hdmall.co.th/c/guideline-for-new-mom).
รวมร้าน นวดตัว ตามแนว BTS และ MRT, (https://hdmall.co.th/c/clinics-and-hospitals-for-massage-services-nearby-bts-mrt-bangkok-thailand).
นวดสปามีอะไรบ้าง? ช่วยอะไร?, (https://hdmall.co.th/c/recommended-massage-and-spa).

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป