กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

ปวดท้ายทอย อาการกวนใจ เกิดจากอะไรได้บ้าง?

ปวดท้ายทอย อาการกวนใจ เกิดจากอะไรได้บ้าง?
เผยแพร่ครั้งแรก 26 ต.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 4 ก.พ. 2021 ตรวจสอบความถูกต้อง 6 มี.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ปวดท้ายทอย อาการกวนใจ เกิดจากอะไรได้บ้าง?

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • อาการปวดท้ายทอย เป็นอาการที่พบได้บ่อยในผู้คนตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงวัยสูงอายุ โดยมักมีสาเหตุมาจากความเครียด และกล้ามเนื้อที่ตึงตัว ซึ่งเกิดจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียด และภาวะกดดันในชีวิตประจำวัน
  • อาการปวดท้ายทอยเป็นอาการที่เกิดอย่างแพร่หลายมากขึ้นในผู้คนปัจจุบัน เนื่องจากพฤติกรรมติดเล่นโทรศัพท์มือถือ และต้องนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์บ่อยๆ จนกล้ามเนื้อหดเกร็ง
  • แต่อาการปวดกล้ามเนื้อก็สามารถหายเองได้ หากคุณรู้จักยืดกล้ามเนื้อบ่อยๆ หรือลุกไปเคลื่อนไหวยืดเส้นยืดบ้าง นอกจากนี้ ยังมีวิธีรักษาอาการปวดท้ายทอยอีกหลายวิธี โดยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการด้วย เช่น พักผ่อนให้เพียงพอเสมอ รับประทานยาแก้ปวด ประคบร้อน นวดกดจุด
  • การหมั่นออกกำลังกาย ไม่นั่งอยู่กับที่นานๆ และไม่เครียดจนเกินไป คือ ตัวอย่างวิธีป้องกันอาการปวดท้ายทอยที่ทำได้ง่าย อีกทั้งยังทำให้กล้ามเนื้อต้นคอ และท้ายทอยแข็งแรงยืดหยุ่นมากขึ้นด้วย
  • แต่หากอาการปวดท้ายทอยรุนแรงมากๆ คุณก็อาจต้องเข้ารับการผ่าตัดหมอนรองกระดูกเพื่อรักษา ซึ่งทางที่ดี หากคุณมีอาการปวดท้ายทอยเรื้อรังไม่ยอมหาย ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการ และรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพกับแพทย์โดยตรง ทั้งผู้หญิง และผู้ชายทุกวัยได้ที่นี่)

อาการปวดท้ายทอย หรือปวดคอ (Neck pain) อาจมีอาการปวดร้าวจากศีรษะลงมาถึงท้ายทอย ปวดตุบๆ หรือปวดจี๊ดๆ และเป็นอาการที่พบบ่อยทั้งในวัยรุ่น หนุ่มสาว วัยกลางคน ไปจนถึงผู้สูงอายุ ซึ่งอาการอาจแตกต่างกันออกไป 

ทั้งนี้อาการปวดท้ายทอยนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ และบ่งบอกถึงความผิดปกติหรือสภาวะร่างกายที่ต่างกันไป มาดูกันว่าอาการปวดท้ายทอย ที่เราเป็น น่าจะเกิดจากอะไรได้บ้าง

อาการปวดท้ายทอยจากความเครียดและกล้ามเนื้อตึงตัว (Tension headache)

เป็นสาเหตุที่พบบ่อยมาก ซึ่งเกิดจากการเกร็งของกล้ามเนื้อรอบศีรษะ ทำให้มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงและปวดร้าวลงมาถึงท้ายทอย ไหล่ บ่า รวมถึงอาจมีอาการปวดเบ้าตาและคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย 

สาเหตุของอาการปวดจากความเครียดและกล้ามเนื้อตึงตัว เกิดจาก

  • การพักผ่อนไม่เพียงพอ 
  • นอนน้อย 
  • อยู่ในภาวะเครียด 
  • กดดัน 
  • บางคนอาจมีอาการหลังดื่มแอลกอฮอล์ด้วย

นอกจากนี้ การออกแรงมากๆ เช่น ยกของหนัก หรือการวิ่ง จะทำให้อาการปวดท้ายทอยแย่ลงได้

อาการปวดท้ายทอยเส้นประสาทต้นคอ (Occipital neuralgia)

เป็นสาเหตุที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ โดยอาจเป็นผลมาจากสาเหตุต่างๆ ดังนี้

  • หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทบริเวณต้นคอ 
  • กล้ามเนื้อหลังคอยึดตึง 
  • มีเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อและเส้นประสาทที่ท้ายทอยไม่เพียงพอ 
  • มีโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน ทำให้เส้นประสาทเสียหาย 
  • การนอนตกหมอน หรือนอนผิดท่า 

โดยสาเหตุเหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการปวดเส้นประสาทต้นคอได้ทั้งสิ้น 

อาการที่พบได้ คือ รู้สึกปวดจี๊ดๆ อย่างรุนแรงที่ท้ายทอย คล้ายมีเข็มมาทิ่ม หรือมีกระแสไฟฟ้าวิ่งผ่าน อาการปวดจะรุนแรงขึ้นเมื่อหันคอ และอาจปวดท้ายทอยลามไปถึงศีรษะด้านใดด้านหนึ่งและกระบอกตาด้วย

อาการปวดท้ายทอยจากกล้ามเนื้อหดเกร็ง (Muscle pain syndrome)

เป็นสาเหตุที่พบได้ในคนทุกวัย โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานในท่าก้มๆ เงยๆ ใช้คอมพิวเตอร์ หรือเล่นโทรศัพท์เป็นประจำ ซึ่งหากทำกิจกรรมเหล่านี้ในท่าทางที่ไม่เหมาะสม หรืออยู่ในอิริยาบถเดิมนานๆ โดยไม่หยุดพัก ก็อาจทำให้กล้ามเนื้อบริเวณท้ายทอยและต้นคอหดเกร็งจนรู้สึกปวดท้ายทอยตุบๆ ได้ 

อาการปวดสามารถหายเองได้ หากพักใช้กล้ามเนื้อ และทำการยืดกล้ามเนื้อบ่อยๆ แต่หากปล่อยกล้ามเนื้อหดเกร็งต่อเนื่องนานๆ อาจเกิดกล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง จนกลายเป็นพังผืด และเกิดเป็น จุดกดเจ็บ’ (Trigger point) หรือปมกล้ามเนื้อที่หดเกร็งตัวและไม่คลายออก ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อไม่พอ เมื่อกดโดนจะรู้สึกเจ็บปวดท้ายทอย และทำให้กล้ามเนื้อบริเวณข้างเคียงอ่อนแรงได้

การรักษาอาการปวดท้ายทอย

การรักษาอาการปวดท้ายทอยอาจแตกต่างกันไปตามสาเหตุของอาการ แต่โดยทั่วไปแล้ว มีแนวทางการบรรเทาอาการและรักษา ดังนี้

1. ใช้ยาแก้ปวด

หากมีอาการปวดรุนแรงมาก สามารถรับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล หรือยาคลายกล้ามเนื้อบางชนิด แต่ยาแก้ปวดสามารถบรรเทาอาการได้ชั่วคราวเท่านั้น และไม่ควรรับประทานติดต่อกันนานเกินไป โดยเฉพาะในผู้ที่มีอาการปวดแบบเรื้อรัง การใช้ในระยะยาวอาจส่งผลกับตับและไตได้

2. การประคบร้อน

ความร้อนจะช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี ทำให้มีออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อ และช่วยระบายของเสียที่คั่งค้างในกล้ามเนื้อบริเวณที่ปวดได้ วิธีทำ คือ ให้ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่น ถุงประคบร้อน หรือลูกประคบ มาวางบนท้ายทอยส่วนที่ปวดและกดเบาๆ ค้างไว้ ประมาณ 10 - 15 นาที จะช่วยให้อาการปวดดีขึ้น

3. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสม

หากมีอาการปวดท้ายทอยจากความเครียดและกล้ามเนื้อตึงตัว ควรพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงความเครียด หรือหากเกิดอาการปวดจากกล้ามเนื้อหดเกร็ง ควรพักใช้กล้ามเนื้อ ใช้การยืดเส้นบ่อยๆ และหลีกเลี่ยงท่าทางก้มๆ เงยๆ จนกว่าอาการปวดจะหาย

4. การนวด กดจุด

เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการปวดท้ายทอยจากกล้ามเนื้อหดเกร็ง ซึ่งการนวดและกดจุดอย่างถูกวิธี จะช่วยคลายกล้ามเนื้อ กระตุ้นการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อ ช่วยลดการตึง และการหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อได้ โดยเฉพาะในคนที่มีอาการปวดเมื่อยเรื้อรัง หรือเกิดจุดกดเจ็บที่กล้ามเนื้อ แต่ไม่แนะนำในผู้ป่วยที่เพิ่งมีการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อแบบฉับพลัน เพราะอาจทำให้อักเสบได้

5. การผ่าตัด

เป็นวิธีที่ใช้รักษาภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ในกรณีที่มีอาการปวดท้ายทอยรุนแรงจริงๆ และรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผลเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 - 8 เดือน หรือมีอาการอ่อนแรงมากขึ้น โดยจะต้องตรวจวินิจฉัยให้แน่นอน เช่น ทำ MRI เพื่อดูการกดของเส้นประสาท ซึ่งการผ่าตัดต้องทำโดยศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น และอาจมีความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อหรือเส้นประสาทบริเวณข้างเคียงเสียหาย เป็นต้น

6. รักษาด้วยวิธีอื่นๆ

การฝังเข็ม หรือทำกายภาพบำบัด ซึ่งเป็นวิธีที่ให้ผลดีพอสมควร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการปวดท้ายทอยด้วย

การป้องกันอาการปวดท้ายทอย

  • หลีกเลี่ยงการก้มหรือเงยคอต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน หากมีความจำเป็นต้องทำงานในท่าทางเดิมซ้ำๆ เช่น ใช้คอมพิวเตอร์เป็นประจำ ควรหาเวลาพัก เปลี่ยนอิริยาบถและยืดเส้นยืดสาย เพื่อป้องกันกล้ามเนื้อหดเกร็งและอักเสบเรื้อรังอันเนื่องมาจากการทำงาน
  • นอนพักผ่อนให้เพียงพอ และหาเวลาผ่อนคลายเพื่อไม่ให้รู้สึกเครียดมากเกินไป
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อบริหารกล้ามเนื้อต้นคอและท้ายทอยให้แข็งแรง ยืดหยุ่น ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อเกิดการอักเสบหรือบาดเจ็บได้ง่าย

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพกับแพทย์โดยตรง ทั้งผู้หญิง และผู้ชายทุกวัย เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
วันทนา วีระถาวร, กลุ่มอาการปวดพังผืดกล้ามเนื้อ (Myofascial Pain Syndrome) (https://med.mahidol.ac.th/orth...)
Myofascial Pain Syndrome (http://www.ped.si.mahidol.ac.t...)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
6 วิธีเดินเผาผลาญพลังงาน
6 วิธีเดินเผาผลาญพลังงาน

ใช้เทคนิคต่อไปนี้มาช่วยเผาผลาญพลังงานระหว่างการเดินกันเถอะ

อ่านเพิ่ม
อาหารและเมนูสำหรับกรดไหลย้อน (Heartburn)
อาหารและเมนูสำหรับกรดไหลย้อน (Heartburn)

แค่ปรับอาหารและพฤติกรรมการรับประทานให้เหมาัะสม ก็สามารถรักษาอาการกรดไหลย้อนได้

อ่านเพิ่ม