ภูวนัย ดวงสุภา
เขียนโดย
ภูวนัย ดวงสุภา
นพ.วรพันธ์ พุทธศักดา
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
นพ.วรพันธ์ พุทธศักดา

ลักษณะอาการปวดคออันตรายที่ควรไปพบแพทย์

ในบางครั้ง อาการปวดคออาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติในร่างกาย หากปล่อยทิ้งไว้ ไม่รีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ก็อาจทำให้เกิดอันตรายได้
เผยแพร่ครั้งแรก 9 ธ.ค. 2020 อัปเดตล่าสุด 29 มี.ค. 2021 ตรวจสอบความถูกต้อง 13 ม.ค. 2021 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
ลักษณะอาการปวดคออันตรายที่ควรไปพบแพทย์

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • อาการปวดคอ (Neck pain) เป็นอาการที่พบได้ทั่วไปในทุกเพศทุกวัย มีทั้งอาการปวดคอที่ไม่เป็นอันตราย และเป็นอันตราย
  • สาเหตุของอาการปวดคอ อาจเกิดได้ทั้งจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม เช่น มีพฤติกรรมและอิริยาบถท่าทางที่ผิดสุขลักษณะ พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือเกิดจากความผิดปกติในร่างกาย เช่น กระดูกคออักเสบ
  • หากมีอาการปวดคออย่างรุนแรง หรือมีอาการร่วมกับเป็นไข้ มีอาการชา ไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ หรือต่อมน้ำเหลืองในคอบวมเรื้อรัง เป็นอาการปวดคออันตราย ควรไปพบแพทย์ทันที
  • อาการปวดคอในเบื้องต้น สามารถรักษาได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสม รับประทานยาแก้ปวด และเข้ารับการทำกายภาพบำบัด และบรรเทาอาการได้ด้วยการนวด หรือทำสปา
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจกระดูก

อาการปวดคอ (Neck pain) เป็นอาการที่พบได้ทั่วไปในทุกเพศทุกวัย ซึ่งคนส่วนใหญ่มักคิดว่า อาการปวดคอเป็นอาการที่ไม่อันตราย เพียงแค่นั่งพักสักครู่หนึ่ง รับประทานยาแก้ปวด หรือใช้ยาทาแก้ปวดก็สามารถบรรเทาอาการได้แล้ว

อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งอาการปวดคออาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรงที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ไม่อย่างนั้นอาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจ รักษา หู คอ จมูก วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 854 บาท ลดสูงสุด 54%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ในบทความนี้จะพาไปทำความรู้จักกับสาเหตุของอาการปวดคอ ลักษณะอาการปวดคอที่เป็นอันตราย และวิธีบรรเทาอาการปวดคอในเบื้องต้น

สาเหตุของอาการปวดคอ

อาการปวดคอเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม หรือเกิดจากความผิดปกติในร่างกาย โดยสาเหตุของอาการปวดคอที่พบบ่อยมีดังนี้

  • มีพฤติกรรมและอิริยาบถ ท่าทางที่ผิดสุขลักษณะ เช่น นั่งก้มหน้า หรือเงยหน้าตลอดเวลา ชอบนอนหนุนหมอนสูงเกินไป
  • ความเครียดเรื้อรัง สามารถทำให้กล้ามเนื้อคอหดเกร็งจนทำให้เกิดอาการปวดคอได้
  • การพักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นต้นตอของปัญหาสุขภาพมากมาย เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความเครียด อาการซึมเศร้า รวมถึงอาการปวดคอด้วย
  • กล้ามเนื้อ หรือเอ็นรอบคอเกิดอาการเคล็ด ขัด ยอก มีหลายสาเหตุ เช่น ทำงานหนักเกินไป เคลื่อนไหวต้นคออย่างรวดเร็ว หรือรุนแรง ออกกำลังกายผิดท่า หรือนอนตกหมอน
  • กระดูกคอเสื่อมตามวัย ในระยะแรกมักไม่มีอาการแสดงใดๆ แต่เมื่อมีหินปูนมาเกาะที่กระดูก และเอ็นรอบคอหนาขึ้นเรื่อยๆ จนไปกดทับเส้นประสาท จะทำให้เกิดอาการปวดคอร้าวไปยังแขน และเกิดอาการชาที่แขนตามมา
  • กระดูกคอได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุต่างๆ เช่น หกล้ม ถูกทำร้ายร่างกาย หรือประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์
  • กระดูกคออักเสบจากโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ทำให้เกิดอาการปวดร้าวบริเวณท้ายทอย หากมีอาการอักเสบรุนแรงอาจมีอาการแขนขาอ่อนแรง หรือมีอาการชาที่ศีรษะลามลงมาที่แขนร่วมด้วย

อาการปวดคอที่ควรไปพบแพทย์

ปกติแล้ว อาการปวดคอทั่วไปจะสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการปรับพฤติกรรม หรืออิริยาบถ รวมทั้งรับประทานยาแก้ปวด

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการปวดคออย่างรุนแรงจนไม่สามารถอยู่นิ่งๆ ได้ หรือมีอาการปวดคอร่วมกับอาการดังต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์ทันที

  • มีไข้ ปวดศีรษะ และคอเคล็ด อาจเป็นอาการแสดงของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณไขสันหลัง และเยื่อหุ้มสมอง ซึ่งต้องได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ
  • ปวดเมื่อยตามแขนข้างใดข้างหนึ่ง โดยเฉพาะถ้าแขน หรือมือมีอาการอ่อนแรง เหน็บชา หรือเสียวแปล๊บร่วมด้วย ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท อย่างไรก็ตาม หากรักษาด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและอิริยาบถท่าทาง รวมทั้งทำกายภาพบำบัดตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้หายจากโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้โดยไม่ต้องผ่าตัด
  • ไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายอุจจาระ และปัสสาวะ อาจเป็นอาการของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทในระดับรุนแรงมากที่ต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดทันที หากรักษาช้าเกินไปอาจทำให้ไม่สามารถฟื้นฟูระบบขับถ่ายได้
  • เอียงศีรษะไปข้างหน้า หรือด้านหลังได้มากกว่าปกติ อาจบ่งชี้ถึงอาการกระดูกหัก กระดูกแตก หรือเอ็นฉีกขาดที่เป็นผลกระทบจากการบาดเจ็บได้ ซึ่งส่วนใหญ่มักตรวจพบด้วยวิธีการเอกซเรย์
  • ต่อมน้ำเหลืองในคอบวมเรื้อรัง อาจเกิดจากการติดเชื้อ หรือเนื้องอก
  • เจ็บหน้าอก หรือเป็นโรคความดันโลหิตต่ำ หรือสูง ในบางครั้งภาวะหัวใจวาย หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบอาจทำให้เกิดอาการปวดคอร่วมกับอาการในกลุ่มโรคหัวใจได้

วิธีรักษาอาการปวดคอ

ในเบื้องต้นแนะนำให้พักผ่อนมากๆ ร่วมกับปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสมและใช้ยาแก้ปวด หรือยาทาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวดคอก่อนได้

อย่างไรก็ตาม หากอาการปวดคอไม่ดีขึ้น หรือมีอาการปวดที่เป็นอันตรายควรไปพบแพทย์ทันที ซึ่งแพทย์จะตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการปวดคอ และเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมให้ เช่น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจ รักษา หู คอ จมูก วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 854 บาท ลดสูงสุด 54%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและอิริยาบถท่าทางให้เหมาะสม ทั้งในด้านการพักผ่อนและการออกกำลังกาย
  • ใช้ยาแก้ปวด หรือยาแก้อักเสบ มักใช้ในกรณีที่อาการปวดคอไม่รุนแรง ทั้งนี้ไม่ควรซื้อยามาใช้ด้วยตนเอง ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา
  • ทำกายภาพบำบัด มักทำร่วมกับการรักษาอื่นๆ มีหลายวิธี เช่น การนวด การบำบัดด้วยความร้อนโดยใช้เครื่องกระตุ้นแม่เหล็ก หรือคลื่นอัลตราซาวด์ วารีบำบัด หรือการบำบัดด้วยความเย็น (Ice lab) สำหรับผู้มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้บริการเหล่านี้เพื่อความปลอดภัย
  • ใส่เฝือกอ่อนพยุงคอ ในกรณีที่แพทย์ประเมินแล้วว่า ไม่ควรขยับคอมากเกินไป
  • การผ่าตัด มักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ

วิธีป้องกันการเกิดอาการปวดคอ

วิธีป้องกันการเกิดอาการปวดคอที่ดีที่สุดคือ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการปวดคอ และดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ตัวอย่างเช่น

  • หลีกเลี่ยงการสะบัดคอแรงๆ เพราะอาจทำให้เกิดอาการคอเคล็ดได้
  • ไม่ควรนั่งทำงานท่าเดิมๆ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ควรหมั่นขยับตัว หรือลุกขึ้นเดินบ้างทุกๆ 30นาที
  • ในผู้ที่ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ ควรปรับจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับสายตา
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น เล่นกีฬา เล่นโยคะ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงและความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อคอ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • หนุนหมอนที่ไม่สูงมากเกินไป
  • หากมีอาการอ่อนล้ามาก สามารถบรรเทาอาการปวดคอได้ด้วยการทำกายภาพบำบัด ทำสปา นวดตัว หรือนวดแผนไทย ได้

แนะนำท่าบริหารกล้ามเนื้อคอ บ่า และไหล่ อย่างง่ายๆ

การบริหารกล้ามเนื้อคอ บ่า และไหล่ เป็นประจำ จะช่วยลดโอกาสการเกิดอาการปวดคอได้มาก สามารถทำได้ง่ายๆ ดังนี้

วิธีที่ 1: ก้มหน้า แหงนคอ เอียงคอไปด้านซ้าย และขวา ทำท่าละประมาณ 20 ครั้ง วันละ 2-3 รอบ ทั้งนี้ผู้มีอาการคอเสื่อมไม่ควรทำท่าแหงนคอ

วิธีที่ 2: ใช้มือขวาดึงศีรษะเอียงมาด้านขวา ค้างไว้ 10 วินาที แล้วสลับกับใช้มือซ้ายดึงศีรษะเอียงมาทางด้านซ้าย ค้างไว้ 10 วินาที จำนวน 10 ครั้ง วันละ 2-3 รอบ

วิธีที่ 3: ใช้มือขวาจับบริเวณคางด้านซ้ายแล้วดึงหน้าหันมาทางด้านขวา ค้างไว้ 10 วินาที แล้วสลับกับใช้มือซ้ายจับบริเวณคางด้านขวาแล้วดึงหน้าหันมาทางด้านซ้าย ค้างไว้ 10 วินาที จำนวน 10 ครั้ง วันละ 2-3 รอบ

วิธีที่ 4: ใช้มือประสานกันบริวเวณท้ายทอยแล้วดึงศีรษะลงมาในท่าก้ม ทำค้างไว้ 10 วินาที จำนวน 10 ครั้ง วันละ 2-3 รอบ

    อาการปวดคอส่วนใหญ่มักเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นทุกคนจึงควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายเป็นประจำ

    อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดอาการปวดคอก็ควรสังเกตลักษณะของอาการที่เกิดขึ้นให้ดี เพราะถ้าหากมีอาการปวดคออย่างรุนแรง หรือมีอาการปวดคอที่เข้าข่ายอันตรายก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที

    เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจกระดูก จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกการอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


    6 แหล่งข้อมูล
    กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
    Harvard Health Publishing, When to seek immediate medical attention for neck pain (https://www.health.harvard.edu/pain/when-to-seek-immediate-medical-attention-for-neck-pain), 8 December 2020.
    Harvard Health Publishing, The 7 faces of neck pain (https://www.health.harvard.edu/pain/7-faces-of-neck-pain), 8 December 2020.
    โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์, ท่าบริหารลดอาการปวดคอจากการนั่งทำงานนานๆ (https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/185), 8 ธันวาคม 2563.

    บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

    ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

    ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
    (1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

    บทความต่อไป
    โรคไซนัสอักเสบ ชนิดเรื้อรัง และเฉียบพลัน สาเหตุ การรักษา
    โรคไซนัสอักเสบ ชนิดเรื้อรัง และเฉียบพลัน สาเหตุ การรักษา

    รู้จักชนิดของไซนัสอักเสบ อาการที่หลายคนเป็น หากปล่อยไว้นานอาจต้องผ่าตัด

    อ่านเพิ่ม