กภ. ธีรวิทย์ วิโรจน์วิริยะกุล นักกายภาพบำบัด
เขียนโดย
กภ. ธีรวิทย์ วิโรจน์วิริยะกุล นักกายภาพบำบัด
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

คอตกหมอนคืออะไร กายภาพบำบัดช่วยรักษาได้หรือไม่?

ทำความเข้าใจสาเหตุ อาการ วิธีการดูแลตัวเองเบื้องต้นรวมถึงวิธีการรักษาคอตกหมอนตามวิธีทางกายภาพบำบัด
เผยแพร่ครั้งแรก 30 เม.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 14 ธ.ค. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 23 เม.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
คอตกหมอนคืออะไร กายภาพบำบัดช่วยรักษาได้หรือไม่?

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • คอตกหมอน คือ อาการปวดต้นคอ เนื้อบ่า หรือสะบักหลังตื่นเช้า ร่วมกับมีอาการคอแข็ง ขยับคอไม่ได้
  • อาการคอตกหมอนเกิดจากการนอนในท่าผิดปกติ เช่น คอพับ คอเอียง ระหว่างหลับโดยไม่รู้ตัว สามารถรักษาเบื้องต้นได้ด้วยการประคบเย็น นวดกล้ามเนื้อคอ หรือยืดกล้ามเนื้อคอเบาๆ
  • ผู้ที่คอตกหมอนไม่ควรเข้ารับการนวด กด ดึงอย่างรุนแรงมากนัก เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อคออักเสบกว่าเดิม
  • วิธีรักษาอาการคอตกหมอนจะเป็นการทำกายภาพบำบัด เช่น การรักษาด้วยมือ การรักษาด้วยเครื่องมือกายภาพบำบัดอื่นๆ เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด และลดการอักเสบ รวมถึงการปรับเปลี่ยนที่นอน หรือหมอนให้เหมาะสมกับสรีระ
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจทำกายภาพบำบัดและนวดเพื่อการรักษา

คอตกหมอน เป็นอาการที่พบได้บ่อยในชีวิตประจำวัน แต่รบกวนการทำกิจวัตรประจำวันมาก นำมาซึ่งความเจ็บปวด ความรำคาญ จนทำให้หงุดหงิดได้ตลอดเวลาที่มีอาการ 

นอกจากนี้ยังอาจเป็นสัญญาณแสดงการเสื่อมของกระดูกคอ เป็นต้นเหตุของกล้ามเนื้อคออักเสบเรื้อรัง หรือบ่งชี้สุขลักษณะการนอนที่ผิดปกติด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

คอตกหมอนคืออะไร

คอตกหมอน เป็นคำเรียกอาการปวดต้นคอหลังจากตื่นนอนตอนเช้า คอแข็ง ขยับคอไม่ได้ เวลาจะหันคอต้องใช้การบิด หรือหันทั้งลำตัวแทน ส่วนมากสามารถหายไปได้เองภายใน 2-3 วัน

นอกจากอาการปวดตึงบริเวณหลังคอแล้ว เมื่อคลำดูอาจจะพบการแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อขึ้นเป็นลำ (muscle spasm) ชัดเจน หรือรู้สึกผิวหนังบริเวณนั้นอุ่นกว่าบริเวณอื่น นอกจากนี้ยังอาจมีอาการปวด และเกร็งแข็งของกล้ามเนื้อบ่า และสะบักข้างเดียวกันได้อีกด้วย

สาเหตุที่แท้จริงของคอตกหมอนคืออะไร?

อาการคอตกหมอนเกิดจากการอยู่ในท่าทางผิดปกติระหว่างนอนหลับ เช่น คอพับ คอเอียง คอหัก หรือหันไปข้างใดข้างหนึ่ง เมื่ออยู่ในท่าทางเหล่านี้นานๆ โดยไม่รู้สึกตัว กล้ามบริเวณต้นคอจึงหดเกร็ง ปวดเมื่อย 

หรือแม้กระทั่งอักเสบอย่างเฉียบพลัน (acute muscle strain) นำมาซึ่งอาการปวดอย่างรุนแรง มากไปกว่านั้นยังสามารถทำให้กล้ามเนื้ออื่นรอบๆ บาดเจ็บตามไปเป็นวงกว้างได้อีกด้วย เนื่องจากร่างกายต้องพยายามใช้กล้ามเนื้ออื่นมาทำงานแทนกล้ามเนื้อที่บาดเจ็บอยู่

เพื่อให้สามารถทำกิจวัตรประจำวันต่อไปได้ กล้ามเนื้อที่ถูกนำมาใช้งานแทนจึงบาดเจ็บเนื่องจากต้องทำงานมากกว่าปกติ และไม่ใช่หน้าที่ที่เหมาะสมกับลักษณะของกล้ามเนื้อนั้น

วิธีดูแลตัวเองเบื้องต้นเมื่อคอตกหมอนทำได้อย่างไร?

คำแนะนำทั่วไปสำหรับผู้มีอาการคอตกหมอนมีดังนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

  1. ตรวจร่างกายเบื้องต้นด้วยตนเอง จุดที่ปวดที่สุดจากคอตกหมอนมักเป็นข้างใดข้างหนึ่ง ส่วนมากอยู่บริเวณก้านคอ เมื่อใช้มือคลำเบาๆ จะพบว่ากล้ามเนื้อบริเวณนั้นแข็งตัวเป็นลำหรือก้อนแข็ง แต่ไม่มีอาการชาร้าวไปที่แขน
  2. ประคบเย็น อาจใช้น้ำแข็งใส่ถุงพลาสติกแล้วห่อด้วยผ้าขนหนู หรือใช้เจลประคบเย็นห่อด้วยผ้าขนหูก็ได้ ประคบค้างไว้ 15-20 นาที สามารถทำได้ทุกๆ 2 ชั่วโมง ไม่แนะนำให้ประคบร้อน เพราะแม้จะช่วยให้ลดปวดได้เหมือนกัน แต่ในระยะที่มีการอักเสบ การประคบร้อนจะทำให้อาการแย่ลง
  3. นวดกล้ามเนื้อคอเบาๆ โดยนั่งฟุบกับโต๊ะ ใช้หมอนขนาดพอเหมาะรองใบหน้า ใช้มือข้างเดียวกันกดคลึงบริเวณที่ปวดเบาๆ อย่างนุ่มนวล หรืออาจจะกดค้างไว้ 30 วินาที แล้วปล่อย รวมเวลากด 3-5 นาที หรือจนกว่าจะรู้สึกว่ากล้ามเนื้อบริเวณนั้นอ่อนนุ่มลง ก้อนแข็งที่คลำพบหายไป
    การนวดกล้ามเนื้อคอเบาๆ สามารถทำได้วันละ 1-2 ครั้ง ไม่แนะนำให้ออกแรงมากจนเกินไป เพราะจะยิ่งส่งเสริมให้มีการอักเสบมากขึ้น
  4. ยืดกล้ามเนื้อคอเบาๆ โดยก้มคอ หันหน้าไปด้านตรงข้ามกับข้างที่มีอาการปวด ใช้มือด้านตรงข้ามกับที่มีอาการปวดวางบริเวณเหนือใบหู ออกแรงยืดเบาๆ ให้มีความรู้สึกตึง ระวังไม่ให้อาการปวดเพิ่มขึ้น ค้างไว้ 10 วินาที 3 ครั้ง ทำได้วันละ 1-3 รอบ

วิธีรับมืออาการคอตกหมอนบ่อยๆ เมื่อผ่านไปหลายวันยังไม่หาย 

ผู้ที่มีอาการคอตกหมอนแล้วอาการไม่หายไปเองในระยะเวลา 2-3 วัน แนะนำให้เดินทางไปพบนักกายภาพบำบัด หรือแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู เพื่อตรวจวินิจฉัย และให้การรักษาเพิ่มเติมต่อไป 

ส่วนผู้ที่มีอาการคอตกหมอนบ่อยๆ ก็แนะนำให้ไปทำการตรวจรักษาอย่างถูกต้อง เพราะอาจจะส่งผลให้เกิดกล้ามเนื้อคออักเสบเรื้อรัง และมีปัญหาเรื่องกระดูกกับข้อ

ทั้งนี้รวมถึงผู้ที่ตื่นมามีอาการคล้ายคอตกหมอน แต่มีอาการชาร้าวลงไปที่แขน หรือแขนอ่อนแรงร่วมด้วย ก็แนะนำให้ไปทำการตรวจอย่างละเอียด เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคกระดูกคอเสื่อม (Spondylosis) หรือหมอนรองกระดูกต้นคอกดทับเส้นประสาท (Herniated Cervical Disc)

การรักษาที่นิยมทางกายภาพบำบัดสำหรับอาการเหล่านี้ ได้แก่

1. การรักษาด้วยมือ (Manual Therapy) 

นักกายภาพบำบัดจะใช้มือในการดัด ดึง ยืด หรือขยับข้อต่อของผู้ป่วยเบาๆ เพื่อช่วยให้กระดูกและกล้ามเนื้อวางตัวอย่างเป็นปกติ
เทคนิค และระยะเวลาในการรักษาด้วยมือจะขึ้นกับอาการของผู้ป่วยและความชำนาญของนักกายภาพบำบัด การรักษาด้วยวิธีนี้โดยทั่วไปจะไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดมากขึ้น หรืออาการแย่ลง

2. การรักษาด้วยเครื่องมือทางกายภาพบำบัด (Physical Modalities) 

มีเครื่องมือหลายชนิดที่นิยมใช้เพื่อลดอาการปวด เครื่องมือที่นักกายภาพบำบัดส่วนมากน่าจะเลือกใช้เพื่อลดอาการปวดจากคอตกหมอนเป็นอันดับต้นๆ คือ อัลตราซาวด์ (Ultrasound)

ขณะให้การรักษา ผู้ป่วยอาจจะไม่รู้สึกอะไรเลย หรือเพียงรู้สึกอุ่นสบายเท่านั้น อัลตราซาวด์จะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ส่งผลให้การอักเสบลดลง นอกจากนี้ยังช่วยลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อที่อยู่ลึกลงไปใต้ผิวหนังได้อีกด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

3. การให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน (Education and Home program) 

เช่น การเลือกเฝือกอ่อนช่วยพยุงคอ ในขณะขับรถ หรือทำกิจกรรมต่างๆ การเลือกที่นอน และหมอนให้เหมาะสมกับสรีระของผู้ป่วยแต่ละคน ท่านอนที่เหมาะสม และการออกกำลังที่สามารถทำได้เองที่บ้าน เพื่อบรรเทาและป้องกันการกลับมาเป็นคอตกหมอนซ้ำ ที่เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละรายอีกด้วย

สามารถไปนวดคลายเส้นได้หรือไม่?

คำถามที่นักกายภาพมักได้รับจากผู้ป่วยคอตกหมอนบ่อยๆ คือ สามารถไปนวดคลายเส้นได้หรือไม่? คำตอบ คือ แล้วแต่ว่าต้องการไปนวดแบบไหน หากเป็นการนวดเบาๆ เช่น การนวดแบบสวีดิช หรือนวดน้ำมันเบาๆ ใช้ระยะเวลาไม่นานก็สามารถทำได้ 

แต่ไม่แนะนำให้รับการนวด กด ดัด ดึงอย่างรุนแรง หรือใช้เวลานวดนานๆ เพราะอาจจะกระตุ้นให้กล้ามเนื้ออักเสบมากขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ แค่เพียงการนวดด้วยตนเองที่บ้านที่แนะนำไปข้างต้นก็สามารถบรรเทาอาการได้เพียงพอแล้ว

วิธีหลีกเลี่ยงคอตกหมอน

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า คอตกหมอนเกิดจากการนอนในท่าทางที่ไม่ถูกต้องเป็นเวลานานๆ ดังนั้นวิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือ การเลือกท่านอนให้เหมาะสม ไม่ว่าจะนอนในท่านอนหงาย หรือนอนตะแคงด้านใด กระดูกสันหลังตั้งแต่ระดับคอจนถึงเอวควรเรียงกันอยู่ในแนวเส้นตรง 

ตัวช่วยที่ดีที่จะช่วยให้เกิดท่านอนที่เหมาะสม คือ การเลือกหมอน และที่นอนให้เหมาะกับสรีระร่างกายของผู้นอน คือไม่แข็งหรือนุ่มจนเกินไป เมื่อนอนลงแล้วกระดูกสันหลังเรียงกันเป็นเส้นตรง 

นอกจากนี้การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อคอก็สามารถช่วยลดอัตราการเกิดคอตกหมอนได้อีกด้วย

คอตกหมอนเป็นอาการที่พบได้บ่อย แต่เป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด นอกจากนี้หลังมีอาการแล้วการป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำอีกก็เป็นเรื่องง่ายๆ ที่สามารถทำได้ที่บ้านด้วยตนเอง

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจทำกายภาพบำบัดและนวดเพื่อการรักษา จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Xavier Valle. Clinical practice guide for muscle injuries: Epidermiology, diagnosis, treatment and prevention.
Vavken P. Evidence-baded treatment of muscle energy. Swiss sport and exercise medicine. 2018.
Nicola Maffulli. Muscle injuries: Abrief guide to classification and management. Tranl Med UniSa. 2015

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
กล้ามเนื้ออ่อนแรง (Muscle Weakness)
กล้ามเนื้ออ่อนแรง (Muscle Weakness)

กล้ามเนื้ออ่อนแรง ภาวะที่เกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย แม้กระทั่งในคนที่ดูมีรูปลักษณ์กำยำก็ตาม

อ่านเพิ่ม