บทความนี้เขียนโดย กภ. ธีรวิทย์ วิโรจน์วิริยะกุล นักกายภาพบำบัด วันที่ 05/06/2562
กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยเป็นอันดับต้นๆ ในคลินิกกายภาพบำบัดบัด โดยสาเหตุของการเกิดภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงมีหลากหลายมาก เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรงจากการทำงานไม่สมดุลกันของกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรงจากโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรงบางรายสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้เกือบปกติ บางครั้งผู้ป่วยไปพบนักกายภาพบำบัดจากอาการอื่น เช่น มีอาการปวด ชา หรือทำกิจวัตรประจำวันบางอย่างได้ไม่สมบูรณ์ แล้วจึงได้รับการวินิจฉัยว่าแท้จริงแล้วเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ที่หลายคนอาจไม่ทราบคือ แม้แต่ในนักกีฬาที่มีความเนื้อสมบูรณ์ก็อาจมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงจึงเป็นประเด็นหนึ่งที่ควรทำความเข้าใจให้ถูกต้อง
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
กล้ามเนื้ออ่อนแรงคืออะไร?
กล้ามเนื้ออ่อนแรง (Muscle weakness) คือภาวะที่กำลังของกล้ามเนื้อลดลง ทำให้ความสามารถในการทำงานของกล้ามเนื้อลดลง อาจเป็นเพียงอ่อนแรงลงเล็กน้อย หรือรุนแรงถึงขั้นไม่สามารถขยับได้เลย สามารถพบได้ในทุกช่วงวัยตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ สาเหตุและความรุนแรงแตกต่างกัน บริเวณที่เป็นเกิดขึ้นได้กับกล้ามเนื้อลายทั่วร่าง
สาเหตุของกล้ามเนื้ออ่อนแรง
กล้ามเนื้ออ่อนแรงสามารถแบ่งได้ด้วยหลายเกณฑ์ ในที่นี้จะขอแบ่งตามพยาธิสภาพแบบกว้างๆ ให้เข้าใจง่ายเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
- กล้ามเนื้ออ่อนแรงที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากความผิดปกติของระบบประสาท (General weakness or disuse atrophy)
อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงในกลุ่มนี้พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ เมื่ออายุมากขึ้น การเคลื่อนไหวร่างกายในการทำกิจกรรมต่างๆ ก็น้อยลง ทำให้มวลของกล้ามเนื้อลดลง ส่งผลให้กำลังของกล้ามเนื้อลดลงด้วย (Disuse atrophy) นอกจากนี้ การทำงานไม่สมดุลกันของกล้ามเนื้อ เช่น ในผู้ที่นั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ อยู่ในท่าห่อไหล่และยื่นคอตลอดเวลา กล้ามเนื้อบางส่วนจะหดรั้ง (Shortening) หรือยืดยาวออก(Lenghtening) ทั้งการหดรั้งและยืดยาวออกอย่างไม่สมดุลนั้นก็สามารถนำมาซึ่งการอ่อนแรงได้ และการอ่อนแรงในลักษณะนี้ยังพบได้บ่อยในกลุ่มของผู้ที่ออกกำลังกายเพิ่มกล้ามเนื้ออย่างไม่สมดุลด้วย โดยถึงแม้จะมีรูปร่างกำยำ มีกล้ามเนื้อเห็นชัด แต่กล้ามเนื้อในส่วนลึกๆ หรือกล้ามเนื้อที่ไม่ได้รับการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมจะถูกกล้ามเนื้อที่ได้รับการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องดึงรั้งจนเสียสมดุล และกลายเป็นกล้ามเนื้อที่อ่อนแรงลงในที่สุด ซึ่งบ่อยครั้ง กล้ามเนื้อที่อ่อนแรงสามารถพัฒนาไปเป็นปัญหาสุขภาพอื่นๆ เช่น มีอาการปวดเรื้อรังเป็นๆ หายๆ เป็นต้น นอกจากนี้ ในผู้ป่วยที่นอนติดเตียง กล้ามเนื้อก็จะค่อยๆอ่อนแรง และฝ่อลีบลงจนข้อต่อติดแข็งผิดรูป จนไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อีกต่อไปเช่นกัน - กล้ามเนื้ออ่อนแรงที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของระบบประสาท (Neurological conditions related weakness)
กล้ามเนื้ออ่อนแรงในกลุ่มนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การกดทับของเส้นประสาท (Nerve root compression) การกดทับไขสันหลัง (Myelopathy) การกดทับเส้นประสาทส่วนปลาย (Pheripheral nerve compression) นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองหรือผู้ประสบอุบัติเหตุที่เนื้อสมองเสียหายจากการขาดเลือด หรือมีเลือดออกและกดทับเนื้อสมอง ก็อาจจะพบอาการอ่อนแรงของร่างกายซีกใดซีกหนึ่งหรือทั้งสองซีก หรืออ่อนแรงจนไม่สามารถขยับได้เลย (Hemiplegia) และผู้ป่วยที่ประสบอุบัติที่กระดูกสันหลัง ก็อาจจะพบว่ากล้ามเนื้อของร่างกายท่อนร่างหลังจากส่วนที่ได้รับอุบัติเหตุลงไปนั้นอ่อนแรงลง หรือไม่สามารถขยับได้อีกเลยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มนี้ผู้ป่วยมักมีอาการผิดปกติของระบบประสาทร่วมด้วย เช่น อาการชา การรับความรู้สึกที่ผิวหนังผิดปกติ รู้สึกเหมือนโดนเข็มแทงตลอดเวลา เป็นต้น - กล้ามเนื้ออ่อนแรงที่เกิดจากโรคอื่นๆ (Specific disease related weakness)
มีโรคหลายชนิดที่ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอแอลเอส (Amyotrophic Lateral Sclerosis) โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจี (Myasthenia Gravis) โรคในกลุ่มนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งระบบภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง การติดเชื้อ หรือบางชนิดยังไม่ทราบสาเหตุ อย่างไรก็ตาม โรคเหลานี้มักจะมีอาการเฉพาะที่เห็นได้ชัด ร่วมกับมีรูปแบบการอ่อนแรงแบบพิเศษ เช่น มีหนังตาตกร่วมด้วย มีอาการกระตุก เริ่มจากแขนขาข้างใดข้างหนึ่ง ก่อนจะเป็นทั้งสองข้าง หรือเริ่มจากส่วนต้นของแขนหรือขาก่อนจะค่อยๆ ลุกลามไปยังส่วนปลายรยางค์ เป็นต้น
ระดับความรุนแรงของกล้ามเนื้ออ่อนแรง
การวัดความรุนแรงของภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่เป็นที่นิยม คือ การทดสอบกำลังกล้ามเนื้อด้วยมือ (Manual muscle testing) โดยการตรวจกล้ามเนื้อแต่ละมัดจะมีท่าทางเฉพาะที่ใช้ในการตรวจ ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อขนาดใหญ่ เช่นกล้ามเนื้อต้นแขน ต้นขา หรือกล้ามเนื้อที่เล็กมากๆ อย่างกล้ามเนื้อใบหน้า เกือบทั้งหมดแทบจะไม่ต้องใช้อุปกรณ์ อาศัยเพียงแรงของผู้ตรวจเท่านั้น
การอ่อนแรงสามารถแบ่งได้หลายระดับ แล้วแต่แหล่งอ้างอิงที่ใช้ ในที่นี้จะของแบ่งออกเป็น 6 ระดับ ด้วยคะแนนตั้งแต่ 0-5 ดังนี้
5 คะแนน |
สามารถเคลื่อนไหวได้เต็มช่วงการเคลื่อนไหว ในท่าที่ต้านแรงโน้มถ่วงของโลกและแรงต้านจากผู้ทดสอบอย่างเต็มที่ |
4 คะแนน |
สามารถเคลื่อนไหวได้เต็มช่วงการเคลื่อนไหว ในท่าที่ต้านแรงโน้มถ่วงของโลกและแรงต้านจากผู้ทดสอบบางส่วน |
3 คะแนน |
สามารถเคลื่อนไหวได้เต็มช่วงการเคลื่อนไหว ในท่าที่ต้านแรงโน้มถ่วงของโลก |
2 คะแนน |
สามารถเคลื่อนไหวได้เต็มช่วงการเคลื่อนไหว ในท่าที่ไม่ต้านแรงโน้มถ่วงของโลก |
1 คะแนน |
สังเกตเห็นการหดตัวของกล้ามเนื้อ (Muscle contraction) แต่ไม่มีการเคลื่อนไหวของข้อต่อ |
0 คะแนน |
ไม่สามารถหัดเกตเห็นการหดตัวของกล้ามเนื้อได้เลย |
ในบางตำราอาจจะแบ่งระดับการอ่อนแรงหยาบกว่านี้ หรือบางตำราอาจจะแบ่งละเอียดขึ้นด้วยการให้เครื่องหมาย +/- ในแต่ละระดับคะแนนด้วย ทั้งนี้ในระดับคะแนนที่เท่ากัน กำลังของกล้ามเนื้ออาจจะแตกต่างกัน ขึ้นกับดุลพินิจของผู้ตรวจ เพราะการตรวจด้วยวิธีนี้ใช้ประเมินกำลังของกล้ามเนื้อ เทียบกับอายุและสภาพร่างกายของผู้ถูกประเมินด้วย เช่น ผู้ป่วยอายุ 80 ปีที่ได้ 5 คะแนน กำลังของกล้ามเนื้ออาจจะน้อยกว่าผู้ป่วยอายุ 30 ปีที่ได้ 5 คะแนนเท่ากัน เป็นต้น
วิธีการรักษาภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงทางกายภาพบำบัด
ดังที่ได้อธิบายไว้ข้างต้นแล้วว่า กล้ามเนื้ออ่อนแรงเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ จึงมีการรักษาหลากหลายให้เหมาะกับสาเหตุและความรุนแรงโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม การรักษาภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงมักเรียกกันโดยรวมว่า การออกกำลังการเพื่อการรักษา (Therapeutic exercise) ซึ่งมีหลายวิธี เช่น
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
- สำหรับอาการอ่อนแรงที่เกิดขึ้นในผู้สูงอายุและผู้มีการทำงานของกล้ามเนื้อไม่สมดุล สามารถรักษาได้ด้วยการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้แก่กล้ามเนื้อที่อ่อนแรงลง
- สำหรับกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองหรือผู้ป่วยที่สมองได้รับบาดเจ็บ จะใช้การออกกำลังกายเพื่อฟื้นฟูการทำงานของสมอง (Motor relearning program) ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่เป็นอัมพาต ไม่สามารถขยับร่างกายได้เลยบางราย สามารถกลับมาใช้ชีวิตและทำงานได้อย่างปกติ
สำหรับผู้ป่วยในกลุ่มโรคกล้ามเนื้อ่อนแรงแบบต่างๆ รวมถึงผู้ป่วยที่ไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ และการพยากรณ์โรคเป็นไปในทิศทางแย่ลงเรื่อยๆ พึงทราบว่าการกายภาพบำบัดยังมีส่วนสำคัญอย่างมากในการชะลอความพิการที่จะเกิดขึ้น และการฝึกฝนกล้ามเนื้ออื่นๆ เพื่อทำหน้าที่แทนกล้ามเนื้อที่อ่อนแรงลงก็สามารถทำให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้อย่างเต็มความสามารถที่สุดเท่าที่จะเป็นได้
การป้องกันภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง
การป้องกันภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง สามารถทำได้ตามสาเหตุของกล้ามเนื้ออ่อนแรงแบบต่างๆ ดังนี้
- การป้องกันภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่มีสาเหตุมาจากระบบประสาทและโรคต่างๆ สามารถทำได้โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงให้มากที่สุด
- การป้องกันกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่เกิดจากการไม่ได้ใช้งานในผู้สูงอายุ สามารถป้องกันได้ด้วยการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงและความทนทานแก่กล้ามเนื้อ แต่ต้องทำอย่างเหมาะกับอายุและโรคประจำตัว
- การป้องกันกล้ามเนื้ออ่อนแรงจากการมีท่าทางไม่เหมาะสมจนทำให้กล้ามเนื้อทำงานไม่สมดุลนั้น สามารถป้องกันได้ด้วยการออกกำลังเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ร่วมกับการปรับเปลี่ยนท่าทางและสิ่งแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสม
กล้ามเนื้ออ่อนแรงเป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้ในทุกคน ทุกช่วงอายุ ในบางกรณีอาจจะเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่รุนแรง เมื่อสังเกตพบว่ากล้ามเนื้อมีการอ่อนแรงลง เช่น หยิบจับของแล้วหล่น ลุกขึ้นยืนลำบาก ควรรีบเข้ารับการตรวจประเมินจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก่อนที่อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงจะยิ่งรุนแรงขึ้น จนอาจถึงขั้นพิการได้
ที่มาของข้อมูล
- Olaf Evjenth, Jern Hambers. MUSCLE STRETCHING IN MANUAL THERAPY: A CLINICAL MANUAL: THE SPINAL COLUMN AND TEMPRO-MANDIBULAR JOINT (6TH EDITION). Istituto Grafico Silvio Basile, Italy, 2003.
- Helen J. Hislop. Daniels and Worthingham's Muscle Testing: Techniques of Manual Examination. W.B. Saunders Company. January 2007.
- Carolyn Kisner, Lynn Allen Colby. Therapeutic Exercise: Foundations and Techniques. F.A. Davis Company. April 2002.
กายภาพบำบัดและนวดเพื่อการรักษาวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 198 บาท ลดสูงสุด 92%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!