กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

โรคไซนัสอักเสบ ชนิดเรื้อรัง และเฉียบพลัน สาเหตุ การรักษา

รู้จักชนิดของไซนัสอักเสบ อาการที่หลายคนเป็น หากปล่อยไว้นานอาจต้องผ่าตัด
เผยแพร่ครั้งแรก 28 มี.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 29 มี.ค. 2021 ตรวจสอบความถูกต้อง 6 ก.พ. 2019 เวลาอ่านประมาณ 7 นาที
โรคไซนัสอักเสบ ชนิดเรื้อรัง และเฉียบพลัน สาเหตุ การรักษา

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • โรคไซนัสอักเสบ เกิดจากเชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรีย เกิดจากสารที่ระคายเคือง เช่น สารจำพวกกรด ด่าง ควัน และสารพิษอื่นๆ นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากโรคภูมิแพ้ได้เช่นกัน และไซนัสอักเสบ แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ ไซนัสอักเสบชนิดเฉียบพลัน และไซนัสอักเสบชนิดเรื้อรัง
  • ไซนัสอักเสบชนิดเฉียบพลัน เกิดจาก สุขภาพทั่วไปของผู้ป่วยไม่ดี ภูมิต้านทานต่ำ เป็นโรคที่มีอาการนำทางจมูก รวมทั้งการสั่งน้ำมูกแรง ๆ การดำน้ำ การหยอดยาทางจมูก ซึ่งจะพาให้เชื้อโรคเข้าสู่ไซนัสได้ง่ายขึ้น
  • ไซนัสอักเสบชนิดเรื้อรัง มีอาการนี้เป็นเดือน เป็นปี หรือหลาย ๆ ปี บางรายอาจมีอาการชนิดเฉียบพลันเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ได้ อย่างไรก็ตาม มักเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่ร่างกายอ่อนแอมาก ๆ หรือมีโรคประจำตัวที่ร้ายแรงอยู่แล้วเท่านั้น
  • เพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นไซนัสอักเสบ ควรดูแลร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่นำเชื้อเข้าสู่จมูก ไม่ควรปล่อยให้ตนเองเป็นหวัดนานกว่า 1 สีปดาห์
  • เป็นภูมิแพ้ เป็นไข้หวัด บ่อยกว่าปกติ แนะนำให้พบแพทย์เพื่อหาทางแก้ไข ดูแพ็กเกจตรวจภูมิแพ้และภาวะแพ้ได้ที่นี่

โรคระบบทางเดินหายใจมีด้วยกันหลายประเภท หลายครั้งจึงทำให้เราสับสนว่าอาการที่ตนเองเป็นนั้นเข้าข่ายโรคแบบไหนกันแน่ เราจึงจะมาทำความเข้าใจหนึ่งในอาการที่คนเป็นกันบ่อยก็คือไซนัสอักเสบนั่นเอง

ไซนัสคืออะไร?

ไซนัส (Sinus) คือ โพรงอากาศภายในจมูก รวมถึงกระดูกบริเวณรอบๆ ด้วย โพรงอากาศไซนัสมีด้วยกันหลายตำแหน่ง ดังนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจ รักษา หู คอ จมูก วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 854 บาท ลดสูงสุด 54%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

  • ไซนัสกระดูกโหนกแก้ม (Maxillary sinus)

  • ไซนัสกระดูกหน้าผาก (Frontal sinus) 

  • ไซนัสกระโหลกศีรษะ (Sphenoidal sinus) 

  • ไซนัสระหว่างโคนจมูกแลหัวตาทั้ง 2 ข้าง (Ethmoidal sinuses)

โพรงอากาศไซนัสเหล่านี้มีหน้าที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งยังไม่อาจบ่งบอกได้แน่ชัด แต่เชื่อว่าไซนัสโพรงจมูกมีหน้าที่ปรับความดันในจมูกหากอากาศเปลี่ยนแปลง รวมถึงยังคอยสร้างของเหลวเพื่อป้องกันการติดเชื้อในโพรงจมูกอีกด้วย 

ไซนัสอักเสบคืออะไร?

โรคไซนัสอักเสบ หมายถึง การอักเสบของเยื่อบางๆ ขนาดประมาณ 0.5-1 มม. ที่อยู่ภายในโพรงอากาศรอบๆ จมูก หรือที่เรียกกันว่าโพรงไซนัสนั่นเอง 

โดยสาเหตุอาจเกิดจากเชื้อไวรัส (ไม่มีหนอง) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (มีหนอง) หรือเกิดจากสารที่ระคายเคือง เช่น สารจำพวกกรด ด่าง ควัน และสารพิษอื่นๆ นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากโรคภูมิแพ้ได้เช่นกัน 

แต่โดยส่วนใหญ่โรคไซนัสอักเสบนั้นจะเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย แบ่งออกได้เป็น ระยะเฉียบพลัน และระยะเรื้อรัง

ไซนัสอักเสบชนิดเฉียบพลัน

ไซนัสอักเสบชนิดเฉียบพลันนี้ มักจะรู้สึกเจ็บเวลากดบริเวณที่อักเสบ มีน้ำมูกข้นไหลลงคอ เยื่อบุโพรงจมูกพวกแดง อักเสบ 

สาเหตุของไซนัสอักเสบเฉียบพลัน

1. สุขภาพทั่วไปของผู้ป่วยไม่ดี เช่น ภูมิต้านทานต่ำ โดยมีโรคอื่นเป็นพื้นฐาน ได้แก่ โรคเลือด เบาหวาน โรคภูมิแพ้ วัณโรค โรคขาดสารอาหาร ภาวะที่ร่างกายทำงานหนักเกินไป นอนไม่หลับ รวมไปถึงการเผชิญการเปลี่ยนแปลงของอากาศอย่างกะทันหัน โดยเฉพาะความเย็นจัด การสูดดมฝุ่นละออง ควันบุหรี่ หรือสารเคมีที่มีฤทธิ์รุนแรง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจ รักษา หู คอ จมูก วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 854 บาท ลดสูงสุด 54%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

2. สภาพของจมูกที่ส่งเสริมให้เป็นโรคนี้ง่าย เช่น มีการอักเสบในจมูกหรือในไซนัสอันใดอันหนึ่งมาก่อน มีเนื้องอกในจมูก แผ่นกั้นช่องจมูกคด ส่วนโครงสร้างภายในจมูกเบียดบังรูเปิดของไซนัสทำให้อากาศถ่ายเทไม่ดี กระดูกไซนัสแตกหัก เป็นต้น

3. สาเหตุโดยตรง ได้แก่

  • โรคที่มีอาการนำทางจมูก เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หัด คางทูม ไอกรน และอื่นๆ
  • ฟันผุและการถอนฟัน โดยเฉพาะฟันบน เชื้ออาจแพร่มาจากรากฟันซี่บนซึ่งอยู่ติดกับโพรงไซนัสใหญ่สุด ส่งผลให้ไซนัสที่แก้มข้างนั้นอักเสบได้
  • สาเหตุอื่นๆ ได้แก่ การสั่งน้ำมูกแรงๆ การจามมากๆ อย่างรุนแรง การใส่ยาในจมูก และการดำน้ำ ซึ่งจะพาให้เชื้อโรคเข้าสู่ไซนัสได้ง่ายขึ้น

อาการของไซนัสอักเสบเฉียบพลัน

ผู้ที่มีไซนัสอักเสบอาจมีประวัติเป็นหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอมาก่อน หรือบางคนก็อาจมีประวัติฟันผุถอนฟันนำมาก่อนหน้า หลังจากนั้นจึงเริ่มสังเกตเห็นอาการต่อไปนี้

  1. มีไข้ต่ำๆ ประมาณ 38ºC - 39ºC อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตัว และปวดศีรษะบริเวณขมับ ท้ายทอย หรือปวดทั่วศีรษะ

  2. ปวดบริเวณหน้าหรือกระบอกตา ในวันแรกๆ มักรู้สึกปวดทั่วตัว หรืออาจปวดทั่วศีรษะ หลังจากวันที่ 2 จะปวดเฉพาะบริเวณไซนัสที่อักเสบ เช่น ปวดที่แก้ม ซอกตา หัวคิ้ว และกลางศีรษะ เป็นต้น

    นอกจากนี้ยังอาจมีอาการปวดร้าวไปตามอวัยวะใกล้เคียง เช่น ฟันบน ขมับ หน้าผาก กระบอกตา ท้ายทอย หูและกลางกระหม่อม ได้เช่นเดียวกัน

  3. คัดจมูก จาม น้ำมูกไหล โดยส่วนมากจะมีอาการเหล่านี้นำมาก่อน เนื่องจากมีไซนัสอักเสบจากโรคระบบทางเดินหายใจ แต่ในบางรายที่เป็นไซนัสอักเสบโดยตรง อาจมีอาการในวันที่ 2-3 ไปแล้วก็ได้

    หากมีโรคภูมิแพ้อยู่แล้วด้วยจะมีอาการรุนแรงมากขึ้น หรืออาจมีการอักเสบติดเชื้อหนอง จนทำให้มีน้ำมูกข้น น้ำมูกเป็นสีเขียว หรือสีเหลือง เสียงผู้ป่วยมักฟังดูตื้อๆ 

  4. อาการทางคอ เช่น เจ็บคอ มีเสมหะในลำคอ คอแห้ง ระคายคอ เป็นต้น

  5. ไอ เนื่องจากเสมหะที่ไหลลงคอไปรบกวน ทำให้มีอาการไอ หรือบางครั้งก็มีโรคหลอดลมอักเสบแทรกซ้อนขึ้นได้

  6. อาการทางหู อาจมีอาการหูอื้อ ปวดหู เนื่องจากท่อระบายอากาศของหูชั้นกลางถูกอุดตันโดยเสมหะหรือการบวม บางครั้งมีเนื้องอกอยู่ด้านหลังจมูกร่วมด้วย นอกจากนี้อาจมีเชื้อโรคเข้าสู่หูชั้นกลางจนทำให้เกิดการอักเสบขึ้น

การตรวจไซนัสอักเสบเฉียบพลัน

  1. การตรวจด้านหน้าของจมูก แพทย์จะใช้ไฟส่องเข้าไปในจมูกซึ่งถ่างด้วยเครื่องถ่างจมูก เพื่อดูว่ามีการบวม หนอง เนื้องอก หรือความผิดปกติอื่น ๆ หรือไม่

  2. การตรวจด้านหลังของจมูก เป็นการใช้ไม้กดลิ้น และถือกระจกเล็ก ๆ พร้อมใช้ไฟส่องดูในคอด้านหลังช่องปาก

  3. การตรวจหาที่เจ็บบริเวณหน้าและไซนัส

  4. การตรวจด้วยการเอกซเรย์ เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงภายในไซนัส

การรักษาไซนัสอักเสบเฉียบพลัน

ส่วนมากเป็นการรักษาด้วยการรับประทานยา โดยยาที่ใช้ส่วนใหญ่ คือยาปฏิชีวนะและยาที่รักษาตามอาการ ไม่นิยมให้ยาหยอดจมูก ผู้ป่วยที่ปฏิบัติตนตามที่แพทย์แนะนำและรับประทานยาสม่ำเสมอ มักหายดีได้ง่าย 

บรรเทาอาการไซนัสอักเสบเฉียบพลันด้วยตัวเอง

  1. พักผ่อนให้เพียงพอ โดยเฉพาะการนอน ควรนอนหลับพักผ่อนให้เต็มที่

  2. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และถูกสุขลักษณะ ในปริมาณที่ไม่มากหรือไม่น้อยเกินไป

  3. ดื่มน้ำตามสมควร โดยปกติ ผู้ใหญ่ควรดื่มประมาณวันละ 8-10 แก้ว หากอากาศเย็น ควรดื่มน้ำอุ่น

  4. รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ

  5. สามารถทำงานที่ไม่ได้ออกกำลังมากและไม่เครียดมากได้ ไม่ถึงกับต้องหยุดทำงาน นอกจากในรายที่อาการรุนแรงมาก

  6. ใช้น้ำร้อนประคบบริเวณที่ปวด อาจช่วยลดอาการปวดลงได้บ้าง และควรรับประทานยาตามแพทย์สั่ง

  7. หลีกเลี่ยงการปะทะอากาศเย็นจัดหรืออากาศที่เปลี่ยนแปลงเร็ว

ไซนัสอักเสบชนิดเรื้อรัง

ไซนัสอักเสบชนิดนี้มักเป็นติดต่อนานเป็นเดือน เป็นปี หรือหลาย ๆ ปี บางรายอาจมีอาการชนิดเฉียบพลันเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ได้ อย่างไรก็ตาม โรคไซนัสอักเสบมักไม่มีอันตรายที่รุนแรง นอกจากผู้ป่วยที่ร่างกายอ่อนแอมาก ๆ หรือมีโรคประจำตัวที่ร้ายแรงอยู่แล้วเท่านั้น 

อาการของไซนัสอักเสบเรื้อรัง

ผู้ป่วยอาจมีอาการเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง บางอย่าง หรือทุกอย่างดังต่อไปนี้ก็ได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจ รักษา หู คอ จมูก วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 854 บาท ลดสูงสุด 54%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

  1. อาการทางจมูก ได้แก่ คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม เสียงพูดฟังดูตื้อๆ ส่วนลักษณะน้ำมูกอาจมีทั้งใสหรือขุ่น เป็นสีขาว สีเขียว หรือสีเหลืองก็ได้ บางรายลมหายใจมีกลิ่นเหม็นร่วมด้วย

    นอกจากนี้การรับรู้กลิ่นอาจผิดปกติ เช่น จมูกไม่ค่อยได้กลิ่นหรือได้กลิ่นมากเกินไป โดยอาการน้ำมูกข้นนานเป็นเดือนในเด็กนั้น ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากไซนัสอักเสบ

  2. แน่นหรือไม่สบายบริเวณหน้า หรือบริเวณที่มีไซนัสอักเสบ

  3. อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย โดยเฉพาะในระยะที่ยังไม่เรื้อรังมาก โดยอาจมีอาการประมาณ 3 สัปดาห์ ถึง 3 เดือน

  4. ไอ อาจมีเสมหะร่วมด้วย หรือไม่มีก็ได้

  5. อาการทางหู เช่น แน่นหู หูอื้อ ปวดหู หรือมีเสียงรบกวนในหู

  6. อาการปวดศีรษะ อาจพบได้ในบางราย มักปวดในระยะหลังตื่นนอนตอนเช้า และจะหายไปตอนบ่ายๆ

  7. มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ ฟันผุ เป็นไซนัสอักเสบชนิดเฉียบพลันมาก่อน หรือมีเนื้องอกในจมูก

การตรวจไซนัสอักเสบเรื้อรัง

การตรวจวินิจฉัยโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังทำได้เช่นเดียวกับในรายที่เป็นแบบเฉียบพลัน คือตรวจด้านหน้าและด้านหลังของจมูก ตรวจบริเวณที่มีอาการปวด และตรวจเอกซเรย์

การรักษาไซนัสอักเสบเรื้อรัง

โรคไซนัสอักเสบชนิดเรื้อรังรักษาได้หลายวิธี ดังนี้

  • การใช้ยา ส่วนใหญ่เป็นยารับประทานเช่นเดียวกับการรักษาไซนัสอักเสบชนิดเฉียบพลัน และมักเป็นยาปฏิชีวนะและยาที่รักษาตามอาการ

  • การล้างไซนัส ในกรณีที่เป็นนานเกิน 3 สัปดาห์ขึ้นไป และการรักษาด้วยยาไม่ได้ผล มีวิธีล้าง 2 วิธีคือ

    • ใช้เครื่องดูดเสมหะ มักใช้ในเด็ก โดยให้เด็กนอนแหงนหน้ามากๆ และหายใจทางปาก จากนั้นใส่น้ำยาที่ใช้ล้างโพรงจมูก (น้ำเกลือผสมยาลดการบวมของเยื่อจมูกและไซนัส) อาจให้พูดคำว่า “เค...เค” เพื่อให้การดูดได้ผลดียิ่งขึ้น

    • การล้างโดยตรงในไซนัส โดยอาจใช้การเจาะผนังไซนัสผ่านทางจมูก หรือผ่านรูเปิดธรรมชาติของไซนัส วิธีนี้สะดวกกับไซนัสบริเวณแก้ม สำหรับไซนัสที่หัวคิ้วและหลังจมูกนั้น ควรทำโดยผู้เชี่ยวชาญ ส่วนไซนัสที่ซอกตาไม่อาจด้วยล้างวิธีนี้ได้
  • การผ่าตัด แพทย์จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าเมื่อไหร่ควรรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งอาจใช้วิธีนี้เมื่อผู้ป่วยได้ผ่านการรักษาชั้นที่ 1 และ 2 มาแล้ว หรืออาจเป็นมานาน และแพทย์ตรวจพบว่าไม่อาจรักษาให้หายได้ด้วยวิธีข้างต้น จึงจะมีการผ่าตัดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

    • แก้ไขสิ่งกีดขวางในจมูกที่ทำให้การถ่ายเทของอากาศบริเวณระหว่างจมูกและไซนัสไม่ดี เช่น เนื้องอกในจมูก แผ่นกั้นช่องจมูกคด และอื่นๆ

    • นำเนื้อเยื่อที่เป็นโรคจนไม่อาจหายเป็นปกติได้ออกจากไซนัสให้หมด

    • ถ่ายเทอากาศและหนองในไซนัสให้ดี ไม่มีการอุดตันของไซนัส

ปัญหาของผู้ที่เป็นไซนัสอักเสบเรื้อรัง

ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักหายจากอาการไซนัส หลังการผ่าตัด แต่บางครั้งก็พบว่าผู้ป่วยยังไม่หายจากอาการที่เคยเป็น เช่น อาจมีน้ำมูกหรือเสมหะลงคออยู่เรื่อยๆ จาม และคัดจมูก เป็นต้น ซึ่งอาจเกิดได้จากสาเหตุหลายอย่าง เช่น

  1. ไม่ได้ผ่าตัดหมดทุกไซนัส ไซนัสมีอยู่ทั้งหมด 4 คู่ แต่แพทย์มักผ่าตัดคู่ที่เป็นมากที่สุดก่อนเสมอ หากยังมีปัญหาอยู่ก็ต้องปรึกษาแพทย์ต่อไป และอาจต้องผ่าตัดไซนัสอื่นเพิ่มเติม

  2. ผู้ป่วยมีโรคภูมิแพ้เป็นประจำอยู่แล้ว เพราะแม้ว่าจะรักษาโรคไซนัสอักเสบจากการติดเชื้อจนหายดีแล้ว แต่โรคภูมิแพ้ก็จะยังคงทำให้มีอาการคล้ายๆ กันได้ จึงจำเป็นต้องรักษาโรคภูมิแพ้ต่อไป

    ซึ่งแม้โรคภูมิแพ้นั้นจะไม่อาจรักษาให้หายขาด แต่ก็มีวิธีช่วยให้อาการเบาบางลงได้ เช่น หลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ รับประทานยาแก้แพ้ ฉีดวัคซีนเพื่อลดความไวของโรคภูมิแพ้ เป็นต้น

  3. อาจมีการเกิดซ้ำของโรคหลังการผ่าตัด เพราะเนื้อเยื่อภายในจมูกและไซนัสในระยะหลังผ่าตัดใหม่ ๆ ยังมีความอ่อนแออยู่

  4. มีโรคประจำตัวอย่างอื่น เช่น เบาหวาน วัณโรค โรคของต่อมไทรอยด์ เป็นต้น

การป้องกันโรคไซนัสอักเสบ 

  1. เมื่อมีความผิดปกติในจมูกควรปรึกษาแพทย์เพื่อแก้ไข และควรงดการว่ายน้ำ ดำน้ำ เมื่อเป็นหวัดหรือเป็นโรคภูมิแพ้ที่เกี่ยวกับจมูก

  2. รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ โดยเฉพาะในฤดูหนาว

  3. ดื่มน้ำสะอาดให้พอเพียงในแต่ละวัน

  4. หลีกเลี่ยงจากฝุ่นละอองและสารเคมีต่างๆ ในอากาศ เช่น ยาฆ่าแมลง ควันบุหรี่ ทินเนอร์ผสมสี เป็นต้น

  5. เมื่อเป็นหวัดอย่าปล่อยไว้นานเกิน 1 สัปดาห์ ควรรีบปรึกษาแพทย์

  6. ในกรณีที่มีฟันผุ โดยเฉพาะฟันบน ให้พึงระวังว่ามีโอกาสที่เชื้อเข้าจะสู่ไซนัสได้

  7. รักษาสุขภาพช่องปากและฟันให้ดีอยู่เสมอ

  8. ออกกำลังกายพอสมควรอย่างสม่ำเสมอ

  9. รับประทานอาหารที่มีคุณประโยชน์ครบถ้วน ในปริมาณที่ไม่มาก หรือไม่น้อยเกินไป

  10. ผู้มีโรคประจำตัวควรได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง

ไซนัสอักเสบกี่วันหาย?

ในผู้ที่เป็นไซนัสอักเสบชนิดเฉียบพลัน แพทย์อาจให้ยาต้านจุลชีพเพื่อรักษานาน 10-21 วัน หรือขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย

แต่ในผู้ที่เป็นไซนัสอักเสบเรื้อรัง อาจใช้เวลา 3-6 สัปดาห์กว่าอาการจะดีขึ้นหรือเป็นปกติ 

ไซนัสอักเสบต้องผ่าตัดไหม?

โดยปกติ ไซนัสจะสามารถรักษาได้ด้วยยา ร่วมกับการล้างจมูก การดูแลสุขภาพอย่างดี หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดไซนัสอักเสบ แต่หากมีเหตุผลอันสมควรที่จะต้องผ่าตัด แพทย์อาจพิจารณาจากปัจจัย ดังนี้

  • รักษาด้วยวิธีอื่นๆ ตามเหมาะสมแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นภายในเวลาที่กล่าวไปข้างต้น

  • มีริดสีดวงจมูกร่วมกับการเป็นไซนัส


  • รูไซนัสอุดตันจากความผิดปกติทางร่างกาย

  • เป็นไซนัสแบบรุนแรง มีไข้ขั้นสูง รวมถึงภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ 

ไซนัสอักเสบเป็นโรคที่ไม่รุนแรง สามารถป้องกันและรักษาให้หายได้ แต่ผู้ป่วยเองก็ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ดูแลสุขภาพ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อห่างไกลจากโรคไซนัสอักเสบ


30 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
18 Symptoms of Sinus Infection (Sinusitis), Causes, Treatment & Complications. MedicineNet. (https://www.medicinenet.com/sinusitis/article.htm)
Sinusitis: Symptoms, causes, and treatment. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/149941)
Sinusitis (sinus infection). NHS (National Health Service). (https://www.nhs.uk/conditions/sinusitis-sinus-infection/)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
ไซนัสอักเสบ สาเหตุ อาการ วิธีรักษาป้องกันและการดูแลตนเองเมื่อเป็นโรค
ไซนัสอักเสบ สาเหตุ อาการ วิธีรักษาป้องกันและการดูแลตนเองเมื่อเป็นโรค

ไซนัสอักเสบ หนึ่งในโรคที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน มาทำความรู้จักสาเหตุ อาการ วิธีรักษาและป้องกันโรคนี้กันเถอะ

อ่านเพิ่ม