กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

หูอื้อ เกิดจากอะไร? ทำยังไงให้หาย?

หูอื้อเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ละสาเหตุมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน
เผยแพร่ครั้งแรก 22 มิ.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 29 มี.ค. 2021 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
หูอื้อ เกิดจากอะไร? ทำยังไงให้หาย?

หูอื้อ (Tinnitus) เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อการได้ยินเสียงลดลง หรือได้ยินไม่ชัดเจน ผู้ป่วยจะรู้สึกเหมือนมีอะไรมาอุดหู แต่กลับได้ยินเสียงรบกวนดังขึ้นภายในหู โดยอาจจะเป็นเสียงวี้ดๆ ตุบๆ หรือเสียงอื้ออึงเหมือนเสียงลมก็ได้ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้พร้อมกันทั้ง 2 ข้าง หรือเป็นทีละข้างก็ได้

อาการหูอื้อส่วนใหญ่ไม่อันตราย แต่มักจะสร้างความรำคาญ และความลำบากในการได้ยิน แต่ถ้าหากเป็นติดต่อกันเป็นระยะเวลานานหนึ่งเดือนขึ้นไป และสาเหตุเกิดจากความผิดปกติในหูชั้นกลาง และหูชั้นใน ก็อาจรุนแรงจนถึงขั้นสูญเสียการได้ยินได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจ รักษา หู คอ จมูก วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 854 บาท ลดสูงสุด 54%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

หูอื้อสามารถแบ่งได้ 2 ประเภทคือ ผู้ป่วยได้ยินเสียงในหูเพียงคนเดียว (Subjective tinnitus) และแพทย์สามารถได้ยินเสียงในหูด้วยเครื่องช่วยฟัง (Objective tinnitus)   

สาเหตุของหูอื้อ

หูอื้อเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณหูชั้นนอก ชั้นกลาง และชั้นใน ดังนี้

หูชั้นนอก

อาการหูอื้อที่เกิดจากหูชั้นนอก มักมีสาเหตุจากการมีขี้หูมากเกินไป เมื่อแคะหูด้วยก้านพันสำลี หรือทำกิจกรรมที่มีแรงดันบ่อยๆ เช่น ว่ายน้ำ ดำน้ำ ก็จะทำให้ขี้หูเหล่านี้ถูกดันเข้าไปจนเกิดภาวะขี้หูอุดตัน ซึ่งทำให้เกิดอาการหูอื้อนั่นเอง

หูชั้นกลาง

หูอื้อจากหูชั้นกลาง มักเกิดจากการทำงานในหูชั้นกลางผิดปกติ เช่น

  • มีน้ำขังอยู่ในหูชั้นกลาง หากเป็นนานเข้าจะทำให้เกิดโรคหูน้ำหนวกได้
  • ระบบความดันในหูผิดปกติ จากการขึ้นที่สูง ดำน้ำ หรือนั่งเครื่องบิน เป็นต้น
  • อาการหูอื้อจากโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน มักมีอาการร่วมกับมีเสียงความถี่ต่ำในหู เช่น เสียงหึ่งๆ บางรายอาจมีอาการเวียนศีรษะ และบ้านหมุนร่วมด้วย
  • มีหินปูนเกาะฐานกระดูกโกลน หรือเอ็นยึดกระดูกโกลนในหูชั้นกลางจนหดเกร็ง
  • มีความดันโลหิตสูง ทำให้การสูบฉีดเลือดแรงขึ้นจนเกิดเสียงรบกวนในหูได้
  • เป็นอาการจากโรคหวัด เนื่องจากท่อยูสเตเชียน (Eustachian) เกิดการติดเชื้อจนลามมาถึงหูชั้นกลาง และอาจทำให้เยื่อแก้วหูอักเสบได้

หูชั้นใน

  • เกิดความเสื่อมของหูชั้นในตามช่วงอายุที่มากขึ้น และทำให้เริ่มสูญเสียการได้ยิน อาการที่พบคือ ได้ยินเสียงความถี่สูงดังอยู่ในหู เช่น เสียงวี้ดๆ
  • มีเนื้อร้ายหรือเนื้องอกในช่องหู จนทำให้ได้ยินเสียงตุบๆ ในหู คล้ายเสียงเต้นของชีพจร
  • เส้นประสาทหูเสื่อมจากการได้ยินเสียงดังมากๆ เช่น เสียงระเบิด เสียงในคอนเสิร์ต จนทำให้สูญเสียการได้ยินชั่วขณะ หรือที่เรียกกันว่าอาการหูดับ

สาเหตุอื่นๆ

  • มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในหู เช่น แมลงเข้าหู จนทำให้การได้ยินไม่ชัดเจน และมีอาการปวดหู
  • การดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่
  • การใช้ยาบางชนิดในปริมาณมาก เช่น ยาแอสไพริน (Aspirin) ยาแก้แพ้ ยาขับปัสสาวะ ยาต้านเชื้อมาลาเรีย ยาปฏิชีวนะบางตัว ซึ่งอาจทำให้การได้ยินลดลง และมีอาการหูอื้อได้
  • การถูกสแกนสมองด้วยเครื่องสแกนสมอง หรือเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging: MRI)
  • การฉายรังสีเพื่อรักษาโรคมะเร็ง
  • การติดเชื้อโรคบางชนิดที่เข้าไปทำลายประสาทของหู

เมื่อไรที่ควรไปพบแพทย์

ปกติแล้วหูอื้อมักจะมีอาการ 1-2 ชั่วโมงหรือ 1-2 วัน แต่ถ้ามีอาการหูอื้อเป็นระยะเวลานานกว่า 1 เดือนขึ้นไป หรือมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะรุนแรง อาการบ้านหมุน ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

การรักษาอาการหูอื้อ

ในการรักษาเบื้องต้น แพทย์จะตรวจหาสาเหตุของอาการหูอื้อ หลังจากนั้นจะใช้วิธีการรักษาตามสาเหตุที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม เช่น

  • หากเกิดจากภาวะขี้หูอุดตัน สามารถรักษาให้หายขาด โดยการไปพบแพทย์เพื่อดูดขี้หูออก ไม่ควรแคะหูด้วยตนเองเพราจะยิ่งทำให้ขี้หูดันลึกเข้าไปอีก หรืออาจทำให้เกิดบาดแผลและการติดเชื้อได้
  • หากสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อในหู แพทย์อาจให้รับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดเชื้อ หรือหากเกิดจากโรคหวัดก็ต้องรักษาเชื้อหวัดให้หายด้วยเช่นกัน
  • หากเกิดจากมีสิ่งแปลกปลอมเข้าหู แพทย์จะใช้เครื่องมือนำสิ่งแปลกปลอมออกมา
  • หากเกิดจากน้ำขังในหู ต้องพยายามนำน้ำออกมา โดยการเอียงหูลงต่ำ และกระโดด หรือเคาะศีรษะเบาๆ เพื่อให้น้ำไหลออกมา
  • หากน้ำขังในหูเป็นจำนวนมากในระยะเวลานาน แพทย์จะเจาะแก้วหู และสอดท่อ เพื่อให้น้ำไหลออกมา บางรายอาจค้างท่อเล็กๆ ไว้ แต่วิธีรักษาดังกล่าวจะทำให้ไม่สามารถว่ายน้ำ หรือดำน้ำได้ นอกจากนี้อาจรักษาด้วยการใส่บอลลูนเพื่อขยายท่อที่ตีบ ซึ่งวิธีนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
  • บางสาเหตุอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด เช่น มีหินปูนเกาะที่กระดูกโกลนในหู หรือมีเนื้องอกในหู เป็นต้น
  • หากเกิดหูอื้อเรื้อรัง แพทย์อาจใช้อุปกรณ์ช่วยบำบัด เช่น อุปกรณ์กลบเสียงที่ใช้สร้างเสียงสีขาว (White noise) เพื่อกลบเสียงรบกวนในหู หรือถ้ามีอาการหูตึงอาจสวมเครื่องช่วยฟัง

การดูแลรักษาหูเพื่อป้องกันอาการหูอื้อ

  • ไม่แนะนำให้แคะหู หรือปั่นหูด้วยตัวเอง เพราะอาจทำให้ขี้หูดันลึกเข้าไปข้างใน หรืออาจทำให้แก้วหูทะลุได้ โดยปกติแล้วร่างกายจะดันขี้หูออกมาเอง ให้เช็ดออกด้วยผ้าชุบน้ำเบาๆ บริเวณหูชั้นนอกก็พอ แต่ถ้าขี้หูเยอะผิดปกติควรไปพบแพทย์เพื่อดูดขี้หูออก
  • หากแมลงเข้าหู ให้ใช้น้ำมันมะกอก หรือน้ำมันพืช หยอดเข้าไปในหูให้แมลงตาย และรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการเอาออกทันที
  • การสั่งน้ำมูก ควรสั่งเบาๆ และไม่ควรบีบแน่นจนเกินไป หรือใช้น้ำเกลือล้างจมูกแทน
  • หากอยู่ในที่ที่เสี่ยงดัง หรือต้องทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการกระแทกที่หู เช่น ว่ายน้ำ เล่นเจ็ทสกี ให้ใส่ที่อุดรูหู (Ear plug) เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับหูได้

5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)