ค้นหาโรค อาการ หรือวิธีการรักษา

กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
นพ. พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล แพทย์ทั่วไป
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
นพ. พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล แพทย์ทั่วไป

โรคกล้ามเนื้ออักเสบ (Polymyositis)

เผยแพร่ครั้งแรก 17 ธ.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 7 ต.ค. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 24 ต.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที

ความหมายของโรคกล้ามเนื้ออักเสบ

โรคกล้ามเนื้ออักเสบ คือ โรคที่เกิดจากการอักเสบของกล้ามเนื้อลายหลายมัด ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง ฝ่อลีบ หากมีความผิดปกติของผิวหนังร่วมด้วย จะเรียกว่า "โรคผิวหนัง และกล้ามเนื้ออักเสบ" (Dermatomyositis)

สาเหตุของโรคกล้ามเนื้ออักเสบ  

สาเหตุของโรคนี้ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด แต่อาจเกิดจากมีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน หรือจากการติดเชื้อไวรัส หรือโรคของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาว่าโรคนี้เกิดจากการกลายพันธุ์ของยีนบางยีนอีกด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ความผิดปกติที่ทำให้เกิดโรค

เมื่อกล้ามเนื้อเกิดการอักเสบ ทำให้มีเลือดไปเลี้ยงบริเวณกล้ามเนื้อไม่เพียงพอ เซลล์กล้ามเนื้อก็จะถูกทำลาย ทำให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อ กดเจ็บ และกล้ามเนื้อจะอ่อนแรง ไม่สามารถทำงานได้เหมือนเดิมนั่นเอง

ลักษณะอาการ 

โรคกล้ามเนื้ออักเสบจะเป็นๆ หายๆ ทำให้กล้ามเนื้อหดรั้งและฝ่อลีบ ซึ่งจะเห็นได้ชัดบริเวณกล้ามเนื้อส่วนต้นก่อน ได้แก่ ต้นแขนและต้นขา หากตัวโรคดำเนินไปมาก อาจทำให้เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อมัดเล็กและกล้ามเนื้อส่วนปลาย เช่น กล่องเสียง ใบหน้า คอหอย ได้ 

การอักเสบของกล้ามเนื้อนั้น ทำให้อวัยวะนั้นๆ ทำงานได้น้อยลง เช่น

  • หากมีการอักเสบของกล้ามเนื้อ และผิวหนังบริเวณใบหน้า จะมีอาการบวมรอบๆ เบ้าตา หน้าผาก คอ ไหล่ 
  • หากมีการอักเสบของกล้ามเนื้อแขน ผู้ป่วยจะหวีผมลำบาก หรือยกแขนลำบาก
  • หากมีการอักเสบของกล้ามเนื้อขา ผู้ป่วยจะเดินขึ้นบันได หรือลุกนั่งลำบาก
  • หากมีการอักเสบของคอหอย และกล่องเสียง ผู้ป่วยอาจมีอาการกลืนอาหารลำบาก หรือกลืนน้ำลายลำบาก และมีเสียงแหบ 

นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมีกล้ามเนื้ออ่อนแรงทั้งซีกซ้าย และขวา  หายใจลำบาก หัวใจเต้นผิดปกติ แขนขาลีบ อาจมีผื่นตามผิวหนัง หรือข้อนิ้วมือ มีจุดแดงๆ บริเวณขอบเล็บหรือนิ้วมือ อาจมีหนังตาบวมแดง

การวินิจฉัยโรค 

การวินิจฉัยโรคกล้ามเนื้ออักเสบสามารถทำได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • วินิจฉัยโรคจากประวัติภาวะภูมิต้านต่อเนื้อเยื่อตนเองของคุณ การทำกิจวัตรประจำวันไม่ได้ หรือทำได้ลำบาก มีผื่นตามใบหน้า คอ ไหล่ หน้าอกและบริเวณหลัง หรือการตรวจร่างกายแล้วพบกล้ามเนื้อฝ่อลีบ
  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการ แล้วพบค่าต่อไปนี้สูงขึ้น ได้แก่ 
    • โปรตีนไมโอโกลบิน (Myoglobin)
    • เซลล์เม็ดเลือดขาว (White Blood Cells: WBC)
    • การตกตะกอนของเม็ดเลือดแดง (Erythrocyte Sedimentation Rate: ESR)
    • เอนไซม์กล้ามเนื้อ (Creatinine Phosphokinase: CPK)
  • การส่งตรวจกล้ามเนื้อ (Muscle biopsy) แล้วพบการอักเสบ และการตายของใยกล้ามเนื้อ 
  • การตรวจเส้นประสาทและกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้า (Electromyography: EMG) แล้วพบความผิดปกติ

การรักษา 

โดยเบื้องต้น แพทย์จะให้ผู้ป่วยพักในระยะที่มีการอักเสบอย่างเฉียบพลัน และให้ยาสเตียรอยด์แก่ผู้ป่วยทุกราย 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

สำหรับผู้ป่วยที่ให้ยาสเตียรอยด์ (Steroid) แล้วไม่ได้ผลหรือแพ้ยา แพทย์อาจพิจารณาให้ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น เมโธเทรกเซท (Methotrexate) และ อะซาไธโอพรีน (Azathioprine ) รับประทาน บางรายอาจให้โปรตีนอิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) ทางหลอดเลือดดำ  

นอกจากนี้ยังมีการรักษาแบบอื่นๆ นอกเหนือจากการให้ยาอีก เช่น 

  • ประคบด้วยความร้อน 
  • ทำกายภาพบำบัด เพื่อป้องกันการหดรั้งของกล้ามเนื้อป้องกันข้อยึดติด 
  • การผ่าตัด เพื่อแก้ไขข้อติดแข็ง

การพยาบาล 

  • ดูแลให้ผู้ป่วยพักผ่อนให้เพียงพอ 
  • ให้ยาบรรเทาปวด 
  • หมั่นพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยทุก 2 ชั่วโมง 
  • ช่วยให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวร่างกายได้ดีขึ้น โดยใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ 

จนเมื่อผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น พ้นระยะอักเสบเฉียบพลันแล้ว ให้ปรับการดูแลผู้ป่วยดังนี้

  • กระตุ้นให้ผู้ป่วยออกกำลังกล้ามเนื้อให้แข็งแรง เพื่อช่วยตนเองในการทำกิจวัตรประจำวันได้มากขึ้น 
  • ให้รับประทานยาตามแผนการรักษาอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะยาสเตียรอยด์ เนื่องจากการลดยาเองหรือหยุดรับประทานยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน จะทำให้ผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อรังต่อ อาการจะหายช้ากว่าเดิมหรือไม่หายเลย และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เพราะร่างกายปรับตัวไม่ทันจากการหยุดยาเอง และให้สังเกตอาการข้างเคียงของยาด้วย 
  • รักษาความสะอาดของผิวหนังทั่วร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณปุ่มกระดูก 
  • ปูผ้าปูที่นอนให้ไม่มีรอยย่น 
  • ใช้เสื้อผ้าที่ไม่ระคายเคืองผิวหนัง 
  • ทำความสะอาด ปาก ฟัน ให้สะอาด 
  • ระวังการเกิดอุบัติเหตุขณะเดิน 
  • ให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่มีแคลอรีสูงทีละน้อย แต่บ่อยครั้ง และรับประทานอย่างไม่เร่งรีบ ให้สังเกตการกลืนอาหารและระวังการสำลักด้วย หากมีปัญหาเกี่ยวกับการกลืนอาหาร ต้องให้อาหารทางสายยางตามแผนการรักษา 
  • หมั่นพูดคุยกับผู้ป่วย เพื่อคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับโรค 

ที่มาของข้อมูล

Genetic and Rare Diseases Information Center, Polymyositis (https://rarediseases.info.nih.gov/diseases/7425/polymyositis#ref_1132)

John Hopskin Medicine, Polymyositis (https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/polymyositis)

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความก่อนหน้า
โรคมะเร็งกระดูก (Osteosarcoma)
โรคมะเร็งกระดูก (Osteosarcoma)
บทความต่อไป
14. ข้ออักเสบรูมาตอยด์  (Rheumatoid arthritis)
14. ข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)