ความหมาย เป็นโรคข้ออักเสบชนิดหนึ่ง เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Gouty arthritis เป็นโรคเกี่ยวกับการเผาผลาญยูเรตซึ่งเป็นสาเหตุให้ปวดบริเวณข้อ มักพบอาการปวดข้อเท้าโดยเฉพาะนิ้วหัวแม่เท้า เข่า และช่วงกลางเท้า มักพบในชายอายุมากกว่า 30 ปี และหญิงวัยหมดประจำเดือน ผู้ที่ได้รับยาขับปัสสาวะ และในผู้สูงอายุ
สาเหตุ เกิดจากการมีผลึกสะสมแร่ธาตุขนาดเล็กหรือยูเรตสะสมอยู่ในข้อ ทำให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรง ผลึกดังกล่าวประกอบด้วยกรดยูริก ซึ่งตามปกติเป็นของเสียที่ขับถ่ายออกทางปัสสาวะ อาจมีโรคเกาต์ที่เป็นภายหลังโรคอื่นๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคไต เป็นต้น อาจเกิดจากยาที่ใช้รักษา เช่น Hydrochlorothiazide, Pyrazinamide เป็นต้น ซึ่งยาเหล่านี้จะลดการขับยูเรตออก
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
พยาธิสรีรภาพ เมื่อกรดยูริกในกระแสเลือดตกผลึกเป็นยูเรตซึ่งสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อเกี่ยวพันทั่วร่างกาย การสะสมเหล่านี้ เรียกว่า Tophi ผลึกนี้จะทำให้เกิดการอักเสบเมื่อมีนิวโทรฟิลเข้าไปย่อยผลึก เนื้อเยื่อจะถูกทำลายเมื่อนิวโทรฟิลปล่อยไลโซโซมออกมา ไลโซโซมไม่เพียงแต่ทำให้เนื้อเยื่อฉีกขาดยังทำให้เกิดการอักเสบด้วย ระดับของยูเรตในซีรัมที่เพิ่มขึ้น แต่ยูเรตก็ไม่กลายเป็นผลึกหรือทำให้มีอาการ ขณะที่โรคดำเนินไปเรื่อยๆ อาจจะเป็นสาเหตุของความดันเลือดสูงหรือเป็นนิ่วในไต อาจมีอาการขึ้นทันทีทันใดกับข้อบางข้อ เริ่มด้วยมีอาการปวดตามแขนขา ข้อจะร้อน นุ่ม อักเสบ แดงหรือเขียว จะเริ่มที่นิ้วหัวแม่เท้า ตามด้วยข้อเท้า ส้นเท้า ข้อเข่า หรือข้อมือและมีไข้ต่ำๆ อาการที่รุนแรงอาจเป็นวันหรือเป็นสัปดาห์ ช่วงเวลาที่เป็นอาจเว้นช่วง 6 เดือนถึง 2 ปี ซึ่งจะพบอาการในผู้ที่ไม่ได้รับการรักษา อาจปวดหลายข้อโดยเฉพาะที่เท้าและขา ซึ่งอาจมีไข้ร่วมด้วย
อาการ ระยะที่ไม่มีอาการ ผู้ป่วยจะเริ่มด้วยมีกรดยูริกในเลือดสูง ต่อมาเป็นระยะที่มีข้ออักเสบเฉียบพลัน โดยเริ่มมีการอักเสบจากข้อใดข้อหนึ่ง ตำแหน่งที่พบบ่อยที่สุด คือ ข้อเท้า รองลงมา คือ ข้อโคนหัวแม่เท้าและข้อเข่า ขณะมีอาการอักเสบจะมีข้อบวม แดง ร้อน และเจ็บปวด อาการปวดจะมีลักษณะปวดมากจนเดินไม่ได้อาจมีไข้ร่วมด้วย อาการดังกล่าวมักเกิดอย่างกะทันหัน และอาการปวดจะทุเลาเองอาจเป็นวันหรือสัปดาห์ แต่ถ้ารักษาจะหายเร็วขึ้น หากไม่ได้รับการรักษาจะเป็น
บ่อย และนานเข้าจะมีการทำลายของข้อ ไตหรืออวัยวะภายในอื่นๆ ด้วย อาการปวดอาจมีปัจจัยเสริมที่กระตุ้น เช่น ได้รับการกระทบกระแทกบริเวณข้อ ดื่มสารที่มีแอลกอฮอล์ มีการติดเชื้อในร่างกาย มีการรับประทานอาหารที่มีพิวรีน (Purine) สูง อุณหภูมิเปลี่ยนแปลง และรับประทานยาขับปัสสาวะ
การวินิจฉัยโรค จากอาการทั่วไปและการตรวจข้อที่เป็นการวินิจฉัยโรคที่แน่นอน คือ การตรวจน้ำในข้อด้วยกล้องจุลทรรศน์และเลนส์โพลารอยด์ ขณะมีอาการเฉียบพลันสามารถมองเห็นผลึกของกรดยูริก หรือเรียก่า ผลึกยูเรตที่อยู่ในน้ำภายในข้อ ล้อมรอบด้วยเซลล์เม็ดเลือดขาวจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
การรักษา การรักษาโรคเกาต์ชนิดเฉียบพลัน รักษาโดยให้ข้ออยู่นิ่งๆ เพื่อป้องกันการอักเสบและป้องกันอาการปวดข้อ ใช้วิธีประคบร้อนหรือเย็น ให้ดื่มน้ำมากๆ วันละ 3,000 มิลลิลิตร หากไม่มีข้อห้ามเพื่อป้องกันการเกิดนิ่วในไต ให้ยาโคลซิซีน (Colchicine) รับประทานหรือฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ ทุก 1 ชั่วโมงเป็นเวลา 8 ชั่วโมงเพื่อยับยั้งการรับประทานและย่อยผลึกกรดยูริกโดยนิวโทรฟิล ขณะมีอาการให้ยา NSAID เพื่อลดอาการปวดและการอักเสบ ส่วนการรักษาเกาต์ชนิดเรื้อรังมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดระดับกรดยูริกลง รวมทั้งให้ยา Allopurinol (Zyloric) เพื่อควบคุมระดับกรดยูริก ให้ Probenecid (Benacid) เพื่อส่งเสริมการขับกรดยูริก ควบคุมอาหาร หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา อาหารที่มีพิวรีนมาก เช่น หอยเชลล์ ตับ ไต เป็นต้น
การพยาบาล ดูแลให้พักผ่อน ให้ยาแก้ปวด ประคบด้วยความร้อนและเย็นบริเวณข้อที่อักเสบ ให้ยาแก้อักเสบและยาอื่นๆ ตามแผนการรักษา การให้ยาโคลซิซีนระวังผลข้างเคียงในทางเดินอาหาร ให้ดื่มน้ำมากๆ เพื่อป้องกันนิ่วในไต บันทึกน้ำเข้า-ออกอย่างเคร่งครัด บันทึกระดับของกรดยูริกในซีรัม แนะนำให้หลีกเลี่ยงอาหารที่มีพิวรีนสูง เช่น ตับ ไต ดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะเบียร์และไวน์ เป็นต้น ให้รับประทานยาและบอกผลข้างเคียงให้ผู้ป่วยทราบ เช่น มึนงง คลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะบ่อย ผิวหนังอักเสบ เป็นต้น บอกผู้ป่วยว่าต้องรับประทานยาโคลซิซีนเป็นเวลานาน โดยเฉพาะ 3 - 6 เดือนแรก