ความหมายภาวะการกดรัดเส้นประสาทมีเดียน
การกดรัดเส้นประสาทมีเดียนส่วนที่อยู่ใต้เส้นเอ็นที่กระดูกข้อมือ (Carpal ligament) บริเวณด้านล่างฝ่ามือ ทำให้เกิดอาการปวดมือและทำให้แขนข้างนั้นอ่อนแรง บางรายอาจเกิดกล้ามเนื้อแขนลีบได้
สาเหตุภาวะการกดรัดเส้นประสาทมีเดียน
มีสาเหตุจากการบาดเจ็บหรือใช้ข้อมือและมือข้างนั้นมากเกินไป เช่น การใช้มือสับอาหารและสิ่งของ ใช้แรงงานแบกหาม ช่างแต่งผม นักเปียโน นักไวโอลิน การทำงานบ้าน กวาดบ้าน ซักผ้า รีดผ้า ยกของหนัก การใช้เมาส์ท่าเดิมนานๆ ในผู้ที่ทำงานคอมพิวเตอร์ อาจเกิดโรคข้ออักเสบ โรครูมาตอยด์ และเป็นโรคเบาหวานร่วมกับมีเส้นประสาทเสื่อมสมรรถภาพ อาจพบในหญิงวัยหมดประจำเดือนหญิงในระยะตั้งครรภ์ โรคที่มีการทำงานของต่อมไทรอยด์บกพร่อง และโรคที่มีการหลั่งฮอร์โมนเจริญเติบโตมากผิดปกติ โรคเหล่านี้จะมีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
พยาธิสรีรภาพ ภาวะการกดรัดเส้นประสาทมีเดียน
การงอและเหยียดข้อมือ การใช้งานในท่ากำมือบ่อยๆ หรือมีแรงกระทำซ้ำๆ จะทำให้เอ็นกระดูกและเอ็นกล้ามเนื้อภายในช่องคาร์ปอลมีการอักเสบ เกิดการตีบแคบของช่องคาร์ปอล ส่งผลให้มีการกดรัดเส้นประสาทมีเดียนที่ลอดผ่านช่องนี้ ทำให้มีอาการปวดหรือชาตามมา ในรายที่เป็นมานานจะมีอาการชาตลอดเวลาร่วมกับมีกล้ามเนื้อบริเวณฐานนิ้วหัวแม่มือลีบและอ่อนแรงลง
อาการภาวะการกดรัดเส้นประสาทมีเดียน
มีอาการปวดหรือชาฝ่ามือบริเวณหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางทางด้านนอกซึ่งเลี้ยงด้วยเส้นประสาทมีเดียน มีอาการปวดมากในเวลากลางคืน จะรู้สึกเหมือนถูกเข็มทิ่มตำไปตามแนวเส้นประสาทมีเดียน บางรายอาจปวดที่ข้อมือหรือปลายแขนหรืออาจปวดที่ข้อมือร้าวมาที่ฝ่ามือหรือขึ้นไปที่ท้องแขนได้และตอนกลางคืนบางครั้งปวดมากจนต้องตื่นขึ้นมาสะบัดข้อมือจะช่วยให้อาการทุเลาลง และมีอาการแขนอ่อนแรง เอ็นหุ้มข้อบริเวณข้อมืออักเสบ หัวแม่มืออยู่ในท่ากางออกหรือเหยียดออก
การวินิจฉัยโรค ภาวะการกดรัดเส้นประสาทมีเดียน
จากการซักประวัติจะพบว่าผู้ป่วยใช้ข้อมือข้างนั้นทำงานมากเกินไป ตรวจร่างกายโดยใช้การทดสอบ Phalen’s test ซึ่งทดสอบโดยให้ผู้ป่วยงอข้อมือ 90 องศา ให้หลังมือชนกันประมาณ 1 นาที ผู้ป่วยจะรู้สึกชาไปตามฝ่ามือและปลายนิ้วมือ
ที่เลี้ยงด้วยเส้นประสาทมีเดียนโดยเฉพาะที่นิ้วชี้และนิ้วกลาง ต่อมาจะชาที่นิ้วหัวแม่มือและครึ่งซีกของนิ้วนางทางด้านนอก การทดสอบวิธีนี้สามารถช่วยในการวินิจฉัยโรคได้ถึงร้อยละ 85 และโดยใช้การทดสอบ Tinel’s sign ซึ่งทดสอบโดยให้ผู้ป่วยหงายมือและใช้ปลายนิ้วมือเคาะบริเวณข้อมือตรงตำแหน่งที่เส้นประสาทมีเดียนผ่าน ผู้ป่วยจะรู้สึกเสียวไปตามแนวของเส้นประสาทนั้นๆ มีอาการคล้ายกับไฟช็อต ตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electromyogram; EMG) ซึ่งจะทำให้ทราบว่ามีปัญหาเกี่ยวกับเส้นประสาทมีเดียนก่อนที่จะมีกล้ามเนื้อลีบ และสามารถวินิจฉัยแยกโรคจากโรคอื่นๆ ทางกระดูกและเส้นประสาทได้
การรักษาภาวะการกดรัดเส้นประสาทมีเดียน
รักษาด้วยการให้พักการใช้งานด้วยการดามข้อมือด้วยเครื่องพยุงข้อมือ (Splinting) นาน 3-4 สัปดาห์ การฉีดยาสเตียรอยด์ เช่น Triamcinolone เป็นต้น เข้าช่องคาร์ปอล และการรับประทานยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์(NSAIDs) ยาขับปัสสาวะ (Diuretics) เพื่อลดบวม และให้วิตามินบี 6 เพื่อช่วยให้การทำงานของเส้นประสาทดีขึ้น หากไม่ดีขึ้นจะรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อคลายเอ็นส่วนที่กดรัดเส้นประสาทมีเดียนจะช่วยลดอาการปวดและอาการชาได้ทันที
การพยาบาลภาวะการกดรัดเส้นประสาทมีเดียน
ให้ความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตัว เช่น บรรเทาอาการปวดโดยลดการทำงานด้วยมือหรือลดการใช้นิ้วมือ แนะนำการรับประทานยาแก้ปวด ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์(NSAIDs) สังเกตอาการข้างเคียงของยา คลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวก่อนและหลังผ่าตัด หรือการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดตามมา เช่น กล้ามเนื้อลีบ อ่อนแรงและข้อติด เป็นต้น