ค้นหาโรค อาการ หรือวิธีการรักษา

โรคระบบกล้ามเนื้อและกระดูก (Musculoskeletal Disorders)

เผยแพร่ครั้งแรก 10 ม.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 19 พ.ค. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที

ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก

กล้ามเนื้อ เป็นเนื้อเยื่อที่จัดเรียงกันเป็นเส้นใย จึงยืดหดได้ ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทั้งการเคลื่อนไหวของร่างกายและอวัยวะภายในร่างกาย กล้ามเนื้อมี 2 ชนิด คือ กล้ามเนื้อลายซึ่งทำงานตามคำสั่งของสมองควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย และกล้ามเนื้อเรียบซึ่งทำงานโดยอิสระ ควบคุมการเคลื่อนไหวของอวัยวะภายใน เช่น การเคลื่อนไหวของลำไส้ในการขับกากอาหาร เป็นต้น

การทำงานของกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อเปรียบได้กับเครื่องยนต์ของร่างกาย มีหน้าที่เปลี่ยนพลังงานเคมีให้เป็นกำลังงาน กล้ามเนื้อแต่ละมัดจะมีเอ็นยึดกับกระดูกชิ้นต่างๆ ขณะที่กล้ามเนื้อหดตัวจะดึงกระดูกที่ยึดติดอยู่นั้นทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวได้ ในการเคลื่อนไหวแต่ละส่วนของร่างกายนั้นกล้ามเนื้อจะทำงานร่วมกันเป็นคู่ๆ ในแนวตรงกันข้าม คือ กล้ามเนื้อด้านหนึ่งหดตัวอีกด้านหนึ่งจะคลายตัว ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจกระดูกวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 534 บาท ลดสูงสุด 61%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

กล้ามเนื้อลาย 

เป็นกล้ามเนื้อที่ทำงานตามคำสั่งของสมองในการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกาย กล้ามเนื้อเหล่านี้อาจยึดติดกับกระดูกโดยตรงหรือผ่านเส้นเอ็น เมื่อกล้ามเนื้อหดตัวตามแรงกระตุ้นก็จะงอหรือเหยียดข้อต่อต่างๆ ได้ ส่วนกล้ามเนื้อที่ทำงานอิสระเป็นกล้ามเนื้อที่ไม่ได้ทำงานตามคำสั่งของสมอง คือ ไม่ได้หดตัวหรือคลายตัวตามที่เราต้องการ หากทำงานโดยอิสระทั้งกล้ามเนื้อหัวใจและกล้ามเนื้อเรียบจะทำงานอยู่ตลอดเวลา เพื่อการหายใจ การย่อยอาหาร การไหลเวียนของโลหิตและการเต้นของหัวใจ

การออกกำลังกายบ่อยๆ หรือยิ่งทำงานมากจะช่วยทำให้เส้นใยเหล่านี้ขยายขึ้น กล้ามเนื้อจะยิ่งเจริญเติบโต การออกกำลังกายอย่างหนักจะทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อมากขึ้น และกล้ามเนื้อขยายขนาดเพิ่มขึ้น ทำให้สามารถทำงานได้มากขึ้น ยิ่งทำงานมากกล้ามเนื้อยิ่งแข็งแรง แต่ถ้ากล้ามเนื้อไม่ได้ใช้งานหรือมีอายุมากขึ้นจะทำให้เส้นใยหดตัวหรือฝ่อลง กล้ามเนื้อจะค่อยๆ เล็กลงและลีบไปในที่สุด

โครงกระดูก 

เป็นโครงสร้างที่สำคัญในการกำหนดรูปร่างลักษณะของมนุษย์ รวมทั้งให้ความแข็งแรงและป้องกันอันตรายให้กับร่างกาย โครงกระดูก ประกอบด้วยกระดูกต่างๆ จำนวน 206 ชิ้น ร่วมกับกระดูกอ่อนซึ่งเป็นส่วนที่แข็งแรงแต่ยืดหยุ่นได้ จึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของกระดูกชิ้นที่ต้องการทั้งความแข็งแรงและความยืดหยุ่น กระดูกแขนขาเป็นกระดูกชิ้นยาวทำหน้าที่เหมือนคานงัดให้กับกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดการเคลื่อนไหว กระดูกบางชิ้นมีหน้าที่ป้องกันอวัยวะภายในร่างกาย บางชิ้นมีไขกระดูกซึ่งมีหน้าที่สร้างเม็ดเลือด กระดูกเป็นอวัยวะที่มีชีวิตและการเปลี่ยนแปลง เมื่อเซลล์เก่าตายไปจะมีการสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาแทนที่ตลอดเวลา การรับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรตีน แคลเซียม และวิตามินดี จะช่วยทำให้กระดูกแข็งแรง

อาการของโรคกระดูก โรคของกระดูกที่พบได้ทั่วไป เช่น กระดูกหักเนื่องจากการบาดเจ็บไขข้อเสื่อมเนื่องจากการบาดเจ็บหรือการใช้งานมาก กระดูกอับเสบ เนื้องอกในกระดูก เป็นต้น อาการของโรคกระดูก ได้แก่ อาการปวดบวม แดง ร้อน รอบๆ บริเวณนั้นๆ ปวดหลัง ปวดคอ หรือคอแข็ง ปวดแขน ปวดขา ปวดข้อหรือข้อบวม และปวดเข่า การรับประทานอาหารให้ครบทุกมื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรตีน แคลเซียม และวิตามินดี จะช่วยทำให้กระดูกแข็งแรง

โครงสร้างของกระดูก กระดูก ประกอบด้วย ส่วนที่ให้ความแข็งแรง น้ำหนักเบา และยืดหยุ่นได้ เนื้อกระดูก ประกอบด้วย โปรตีนชนิดแข็ง มีแคลเซียม และแมกนีเซียมจับอยู่ กระดูกแข็งชั้นนอกมีทั้งหลอดเลือดและน้ำเหลือง ส่วนกระดูกชั้นในเป็นรูพรุนเพื่อจะได้มีน้ำหนักเบา สำหรับกระดูกท่อนยาวตรงกลางมีไขกระดูก ซึ่งเป็นไขมัน มีหน้าที่ในการสร้างเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาว

ข้อต่อ กระดูกแต่ละชิ้นยึดต่อกันด้วยข้อต่อ ซึ่งมีหลายลักษณะ ข้อบางอย่างจะยึดกระดูกติดแน่นไม่มีการเคลื่อนไหว เช่น ข้อต่อระหว่างกะโหลกศีรษะ เป็นต้น บางข้อเคลื่อนไหวได้เล็กน้อย เพราะมีกระดูกอ่อนเชื่อมอยู่ เช่น กระดูกสันหลัง เป็นต้น บางข้อจะมีถุงน้ำหล่อเลี้ยงในข้อ ทำให้เคลื่อนไหวได้มากและเกือบทุกทิศทาง เช่น ข้อไหล่ เป็นต้น

ลักษณะของข้อมีหลายรูปแบบ ได้แก่ ข้อแบบเบ้า เช่น ข้อสะโพก ข้อไหล่ เป็นต้น มีลักษณะเหมือนลูกบอลกลมๆ อยู่ในเบ้า ทำให้เคลื่อนไหวได้เกือบจะทุกทิศทาง ข้อแบบแอ่ง เช่น ข้อที่โคนนิ้วหัวแม่มือ สามารถเคลื่อนไหวในทิศทางหน้า หลัง และข้างๆ ได้ จึงทำให้มือของคนเราสามารถหยิบจับสิ่งของได้ไม่ว่าใหญ่หรือเล้ก หากไม่มีข้อชนิดนี้มือคนก็จะเหมือนมือหุ่นยนต์ ข้อแบบบานพับ เช่น ข้อนิ้วมือ นิ้วเท้า ข้อศอก เข่า เป็นต้น ข้อชนิดนี้เคลื่อนไหวได้ทางเดียวเหมือนบานพับ ระหว่างกระดูกทั้ง 2 ชิ้นจะมีเอ็นหนาและแข็งแรง ยึดกระดูกทั้ง 2 ชิ้นไว้ด้วยกัน ข้อแบบเลื่อน เช่น กระดูกข้อมือ เคลื่อนไหวได้เช่นเดียวกับข้อแบบแอ่งแต่น้อยกว่า เมื่ออายุมากขึ้นการเคลื่อนไหวของข้อจะถูกจำกัดให้เคลื่อนได้น้อยลงและยากขึ้น

อาการโรคของข้อจะมีอาการปวด บวม  ข้อแข็ง เคลื่อนไหวลำบาก ไขข้ออักเสบเนื่องจากการใช้งาน มักจะเป็นที่กระดูกต้นคอ ข้อมือ ข้อสะโพก และข้อเข่า รูมาตอยด์ เป็นโรคที่เกิดกับเนื้อเยื่ออ่อนรอบๆ ข้อ มีผลทำให้ข้อแข็งและรูปร่างผิดไป ปวดคอหรือคอแข็ง ปวดข้อหรือข้อบวม และปวดเข่า

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความก่อนหน้า
ภาวะปลอกหุ้มเอ็นและกล้ามเนื้อที่ใช้ในการงอนิ้วมืออักเสบหรือโรคนิ้วล็อก  (Trigger finger; Stenosing flexor tenosynovitis)
ภาวะปลอกหุ้มเอ็นและกล้ามเนื้อที่ใช้ในการงอนิ้วมืออักเสบหรือโรคนิ้วล็อก (Trigger finger; Stenosing flexor tenosynovitis)
บทความต่อไป
โรคข้อรูมาทอยด์
โรคข้อรูมาทอยด์