ความหมายของโรคกระดูกอักเสบติดเชื้อ
โรคกระดูกอักเสบติดเชื้อ เป็นการอักเสบและติดเชื้อที่บริเวณกระดูก ไขกระดูก (Bone marrow) และกล้ามเนื้อที่อยู่โดยรอบ
สาเหตุของโรคกระดูกอักเสบติดเชื้อ
ส่วนใหญ่ 70-80% ของผู้ป่วยโรคนี้ เกิดจากเชื้อสแตฟฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบและเชื้ออาจเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง เช่น
ตรวจกระดูกวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 534 บาท ลดสูงสุด 61%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
- เข้าทางเนื้อเยื่อ
- ทางแผลกดทับ
- ทางหลอดเลือด
- ทางแผลผ่าตัด
- เข้าทางกระดูกโดยตรง
- จากการผ่าตัดโดยมีการปนเปื้อนเชื้อ
- มีกระดูกหักแบบเปิด
- บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ เช่น แผลถูกปืนยิง เป็นต้น
- จากกระแสเลือดโดยการติดเชื้อที่ทอนซิล (Tonsils)
- เป็นฝี
- ทางเดินหายใจส่วนบน ได้แก่ จมูก คอหอย
- การติดเชื้อที่อาจเกิดจากการรับประทานอาหารไม่เพียงพอ
สำหรับกลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อจนทำให้เกิดโรคกระดูกอักเสบติดเชื้อ ได้แก่
- ผู้สูงอายุ
- คนอ้วน
- ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ
- ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) โรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus: DM)
- ผู้ป่วยที่ใช้ยาสเตียรอยด์ (Steroids) หรือใช้ยากดภูมิต้านทานเป็นเวลานาน
- ผู้ป่วยที่ผ่าตัดแล้วมีแผลติดเชื้อภายใน 30 วัน
พยาธิสรีรภาพ
กลไกการเกิดโรค หรือ พยาธิสรีรภาพของโรคกระดูกอักเสบติดเชื้อ จะเริ่มจากเมื่อเชื้อโรคเข้าไปที่กระดูก จะเกิดการอักเสบเฉียบพลันจนมีอาการตามมา เช่น
- มีอาการปวด
- บวมแดง
- ร้อนบริเวณที่มีการอักเสบ
- ข้อจะเคลื่อนไหวไม่ได้ตามปกติ
- หากมีการเคลื่อนไหวจะมีอาการเจ็บปวดมาก
และผลจากการอักเสบอย่างสุดท้ายคือ จะมีหนองและมีแรงดันภายในกระดูก จนกระทั่งหนองถูกดันออกมาที่ผิวกระดูกซึ่งอยู่ใต้เยื่อหุ้มกระดูก (Subperiosteum abscess) ทำให้กระดูกแยกตัวออกจากเยื่อหุ้มกระดูก และทำให้กระดูกขาดเลือดมาเลี้ยงและตายซึ่งเรียกว่า "ซีเควสตรัม" (Sequestrum) จากนั้นร่างกายจะพยายามซ่อมแซมกระดูกใหม่ เรียกว่า "อินโวลูครัม" (Involucrum) ล้อมรอบกระดูกที่ตายแล้ว ซึ่งจะพบในระยะที่กระดูกอักเสบและเข้าสู่ระยะเรื้อรัง
การที่ร่างกายสร้างกระดูกใหม่ กระดูกที่ตายแล้วจะเป็นอุปสรรคและกีดกั้นยาปฏิชีวนะที่จะช่วยรักษา ฉะนั้นการรักษาจึงจะใช้เวลานาน เนื่องจากกระดูกตายที่ติดเชื้ออยู่จะทำให้เกิดการอักเสบเป็นหนองซ้ำแล้วซ้ำอีก จนเมื่อเข้าสู่ระยะอักเสบเรื้อรัง ร่ายกายจะขับกระดูกตายและหนองออกมาทางช่องทางที่เชื่อมระหว่างกระดูกที่ตายกับผิวหนัง ซึ่งกระดูกที่อักเสบติดเชื้อจะทำให้กระดูกอ่อนแอไม่สามารถรับแรงได้ตามปกติ ส่งผลทำให้กระดูกหักง่าย
อาการของผู้ป่วยโรคกระดูกอักเสบติดเชื้อ
- มีไข้สูง
- มีอาการปวด
- ผิวหนังบวม แดง ร้อน
- ขยับเคลื่อนไหวไม่ได้
- เมื่อเข้าสู่ระยะเรื้อรังจะมีกระดูกตาย
การวินิจฉัยโรค
แพทย์จะทำการซักประวัติผู้ป่วยว่ามีประวัติเกี่ยวกับการได้รับบาดเจ็บ การผ่าตัด และการมีแหล่งของเชื้อในร่างกายหรือไม่ เช่น ฝี ฟันผุ ทอนซิลอักเสบ เป็นต้น
การรักษา
ในการรักษาโรคนี้ จะต้องให้กระดูกที่อักเสบได้พัก และมีการจ่ายยาหรือสารอาหารเพื่อรักษากระดูกโดย
ตรวจกระดูกวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 534 บาท ลดสูงสุด 61%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
- ให้ยาปฏิชีวนะ
- ให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ
- ให้เลือดหากมีอาการซีดมาก
- ให้อาหารที่มีแคลอรีสูง รวมทั้งโปรตีนและวิตามินสูง
นอกจากนี้ ยังต้องมีการผ่าตัดเอาหนองใต้เยื่อหุ้มกระดูกออกด้วยหากกระดูกอักเสบเรื้อรัง หรือจะเป็นการรักษาโดยตัดกระดูกที่ตายออก การลดช่องว่างโดยการใส่หรือปลูกถ่ายกระดูก (Bone graft) และให้ยาปฏิชีวนะเฉพาะที่ หรืออาจต้องตัดแขนและขา (Amputation) หากจำเป็นจริงๆ
การพยาบาลดูแลผู้ป่วย
ให้ดูแลในส่วนกระดูกที่มีการอักเสบติดเชื้อเพื่อให้กระดูกได้พัก อาจเป็นการใส่เฝือก หรือการใส่เครื่องดึงถ่วงน้ำหนักให้ติดกับผิวหนัง (Skin traction) การให้ยาปฏิชีวนะตามแผนการรักษา ให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ดื่มน้ำมากๆ และติดตามผลเลือด เช่น อัตราการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดงใน 1 ชั่วโมง (Erythrocyte Sedimentation Rate: ESR) และเซลล์เม็ดเลือดขาว (White Blood Cell: WBC) เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการพยาบาลผู้ป่วยส่วนอื่นๆ ที่สำคัญอีก เช่น
- การถ่ายภาพรังสีบริเวณกระดูกที่อักเสบ
- ทำแผลผ่าตัด
- การระบายหนองออก
- ดูแลให้ผู้ป่วยพักผ่อนให้เพียงพอ
- ให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่มีโปรตีน วิตามิน และแคลอรีสูง
- ลดอาการปวดโดยการประคองอวัยวะส่วนที่อักเสบอย่างระมัดระวัง
- ประคบเย็น
- ให้ยาแก้ปวด
- ฟื้นฟูสภาพโดยการออกกำลังกล้ามเนื้อและข้อบ่อยๆ
- ลดความวิตกกังวลของผู้ป่วย โดยให้ความรู้และการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง