ค้นหาโรค อาการ หรือวิธีการรักษา

ภาวะเอ็นบริเวณข้อมืออักเสบ หรือ เดอโกแวง (De Quervain)

เผยแพร่ครั้งแรก 17 ธ.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 19 พ.ค. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที

ความหมาย เป็นการอักเสบและเกิดการตีบแคบของเอ็นหุ้มข้อที่ทำหน้าที่เหยียดข้อมือ (Wrist extensors) ซึ่งอยู่บริเวณตำแหน่งปุ่มกระดูกเรเดียล (Radial styloid) ของข้อมือ พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายประมาณ 6 เท่า อายุประมาณ 40-50 ปี มีหลายชื่อ คือ Washerwoman’s sprain; Radial styloid tenosynovitis; De Quervain’s tenosynovitis

สาเหตุของเอ็นบริเวณข้อมืออักเสบ

เกิดจากการใช้มือและข้อมือข้างที่เป็นมากหรือเกินกำลังบ่อยๆ โดยเฉพาะในท่านิ้วหัวแม่มือกางออก (Abduction หรือ Extensor) ร่วมกับมีการเคลื่อนของข้อมือไปทางด้านหัวแม่มือ (Ulnar หรือ Radial) เช่น ซักผ้า บิดผ้า ขัดถูก เป็นต้น นอกจากนี้อาจพบโรคนี้ในหญิงตั้งครรภ์หรือหลังคลอดที่ต้องใช้ข้อมือมากๆ เช่น อุ้มเด็ก ถือของ เป็นต้น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจกระดูกวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 534 บาท ลดสูงสุด 61%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

พยาธิสรีรภาพของเอ็นบริเวณข้อมืออักเสบ

ข้อมือที่ใช้งานมาก ทำให้เอ็นหุ้มข้ออักเสบและหนาตัวขึ้น ทำหน้าที่ในการเหยียดหรือขยับมือเสียไป เมื่อขยับมือ หัวแม่มือ กางหรือกระดกหัวแม่มือ จะมีอาการปวด

อาการของเอ็นบริเวณข้อมืออักเสบ

ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบริเวณข้อมือมากโดยเฉพาะด้านนิ้วหัวแม่มือ (Radial) บริเวณตำแหน่งปุ่มกระดูกเรเดียล (Radial styloid) ของข้อมือเมื่อกางนิ้วหัวแม่มือออกเต็มที่ จะมีอาการคล้ายมีดบาด ร้าวไปตามทิศทางของเอ็นที่อักเสบ บางครั้งอาจมีอาการบวมและเจ็บเมื่อกดบริเวณข้อมือ

การวินิจฉัยโรคเอ็นบริเวณข้อมืออักเสบ

ผู้ป่วยมีประวัติการใช้มือและข้อมือมาก ตรวจร่างกายจะพบการกดเจ็บบริเวณเหนือจากปลายกระดูกเรเดียลประมาณ 1-2 เซนติเมตร ผู้ป่วยจะปวดอย่างมาก หากผู้ป่วยกางและเหยียดนิ้วหัวแม่มือเต็มที่จะทำให้มีอาการเจ็บที่ข้อมือมากขึ้น ทำ Finkelstein’s test ซึ่งทดสอบโดยให้ผู้ป่วยกำนิ้วหัวแม่มือไว้ในอุ้งมือแล้วบิดข้อมือออกไปทางด้านนิ้วก้อยจะทำให้เส้นเอ็นตึงมากขึ้นส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดอย่างมากตามแนวเอ็น คลำข้อมือด้านนิ้วหัวแม่มือ (Radial) แล้วให้ผู้ป่วยเคลื่อนข้อมือจะรู้สึกมีแรงเสียดสีอยู่ภายในข้อมือ ทำMuckart test โดยให้ผู้ป่วยวางนิ้วหัวแม่มือชิดกับนิ้วชี้ แล้วบิดข้อมือไปทางด้านนิ้วก้อย ซึ่งให้ผลบวกเมื่อผู้ป่วยมีอาการปวดมากตรงบริเวณปุ่มกระดูกเรเดียล

การรักษาเอ็นบริเวณข้อมืออักเสบ

มี 2 วิธี คือ รักษาด้วยการผ่าตัดและรักษาโดยใช้ยา ซึ่งในระยะแรกอาจรักษาด้วยการรับประทานยาแก้ปวดที่ไม่มีสเตียรอยด์ หากอาการไม่ทุเลาลงแพทย์อาจพิจารณาฉีดยาสเตียรอยด์เข้าไปในบริเวณที่มีอาการ (Local steroid injection) พักการใช้งานนิ้วหัวแม่มือและข้อมือข้างนั้น โดยให้อยู่นิ่งๆ อาจดาม (Splint) หรือแขวนแขน (Sling) ข้างนั้นไว้จะช่วยลดอาการปวดได้ ทำกายภาพบำบัดโดยใช้ความร้อนหรือน้ำ (Hydrotherapy) จะช่วยลดอาการปวดลงได้ หากรักษาด้วยยาไม่ได้ผลอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด โดยตัด Annula ligament ที่หุ้มเอ็นกล้ามเนื้อออก ใช้ยาชาเฉพาะที่ร่วมกับการรัดด้วย Tourniquet เพื่อไม่ให้มีเลือดมาเลี้ยงบริเวณแผลผ่าตัด เลาะเอ็นที่หุ้มนี้ออกจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนนิ้วหัวแม่มือได้สะดวก

การพยาบาลเอ็นบริเวณข้อมืออักเสบ

ให้ความรู้และแนะนำการปฏิบัติตัวเมื่อผู้ป่วยต้องอยู่ในระยะการใช้งาน โดยให้อวัยวะส่วนนั้นอยู่นิ่งๆ และให้ออกกำลังกายกล้ามเนื้อเพื่อเพิ่มความแข็งแรงและป้องกันการเกิดข้อยึดติด รวมทั้งให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวเมื่อต้องรับประทานยาแก้ปวด NSAIDs ในกรณีที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดพยาบาลจะมีส่วนในการให้การดูแลทั้งก่อนและหลังการผ่าตัด โดยหลังผ่าตัดให้ยกแขนที่ผ่าตัดให้สูงกว่าระดับหัวใจขณะนั่ง ยืน เดิน หรือวางแขนบนหมอนสูงขณะนอนพักเพื่อลดปวดและบวม สังเกตเลือดออก อาการชา อาการอ่อนแรงของนิ้วมือและข้อมือ ดูว่าผ้าพันแผลที่ผ่าตัดแน่นเกินไปหรือไม่ ดูแลไม่ให้แผลผ่าตัดถูกน้ำ บรรเทาอาการปวดแผลผ่าตัด ป้องกันกล้ามเนื้อลีบ อ่อนแรงและข้อติด เช่น เคลื่อนไหวข้อนิ้วมือเบาๆ ในระหว่างดามข้อมือไว้คือประมาณ 14 ถึง 21 วันหลังผ่าตัด และออกกำลังกล้ามเนื้อที่ใช้งอข้อมือเมื่อถอดเครื่องดามที่ข้อมือออกแล้ว โดยเหยียดแขนตึง คว่ำมือลง งอข้อมือ ใช้มืออีกข้างหนึ่งค่อยๆ กดมือข้างที่เป็นให้งอมากขึ้นเท่าที่จะทนได้ ทำค้างไว้นับ 1-5 ในใจแล้วคลายออก ทำการยึด วันละ 2-3 ครั้งๆ ละ 5-6 รอบ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะกลับมาทำกิจกรรมต่างๆ ได้ประมาณ 6 สัปดาห์หลังผ่าตัด

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความก่อนหน้า
ภาวะการกดรัดเส้นประสาทมีเดียน
ภาวะการกดรัดเส้นประสาทมีเดียน
บทความต่อไป
ข้อเคลื่อนหรือข้อหลุด (Dislocation)
ข้อเคลื่อนหรือข้อหลุด (Dislocation)