ในประเทศไทย การนวดมีจารึกมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เป็นศาสตร์และศิลป์ในการรักษาโรคแบบไทย เพื่อฟื้นฟูและรักษาระบบกล้ามเนื้อ กระดูก และระบบอื่นที่เกี่ยวข้อง ผู้เรียนนวดจำเป็นต้องรู้วิชากายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยาเป็นพื้นฐานที่สำคัญ จึงจะทำให้การรักษาโรคหรือบรรเทาอาการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยยิ่งขึ้น
นวดไทย-นวดน้ำมัน ต่างกันอย่างไร?
นวดไทยจะเน้นใช้นิ้วมือในการกดจุดตามแนวเส้นในร่างกาย เน้นการรักษาเป็นหลัก เพื่อบังคับเลือดและลมจากตำแหน่งหลอดเลือดแดงใหญ่ (จุดเปิดประตูลม) ส่งไปเลี้ยงอวัยวะส่วนปลายต่างๆ ส่วนนวดน้ำมันจะใช้น้ำมันหอมระเหยจากธรรมชาติเข้าไปกระตุ้นระบบต่างๆ ของร่างกาย ส่วนใหญ่จะเน้นเพื่อการผ่อนคลาย บรรเทาอาการเหนื่อยล้า ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ นิยมใช้ฝ่ามือในการนวด
นวด สปาวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 146 บาท ลดสูงสุด 77%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
น้ำมันที่ใช้นวดมีอะไรบ้าง?
ส่วนใหญ่นิยมใช้น้ำมันนวดที่สกัดจากธรรมชาติ เช่น จากพืชที่มีกลิ่นหอม ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย เช่น ลาเวนเดอร์ ผิวมะกรูด ตะไคร้ ผิวส้ม หรือกลิ่นจากยูคาลิปตัส อาจจะใช้น้ำมันมะพร้าว น้ำมันงา หรือน้ำมันมะกอกแทนได้ แต่มีราคาค่อนข้างสูง
ถ้าไม่สะดวกใช้น้ำมันจากธรรมชาติ หรือใช้แล้วมีอาการแพ้ แนะนำให้ใช้เบบี้ออยล์แทน ซึ่งหาซื้อง่าย ปลอดภัย และอ่อนโยนต่อผิวแพ้ง่าย ทั้งนี้น้ำมันต่างๆ มีคุณสมบัติที่คล้ายกัน ช่วยลดการเสียดสีบริเวณผิวหนังเวลานวด
นวดแล้วจำเป็นต้องประคบร้อนหรือไม่?
การนวดไม่จำเป็นต้องทำควบคู่กับการประคบร้อนเสมอไป แต่หากประคบด้วย ความร้อนก็จะช่วยลดอาการระบมและช่วยคลายกล้ามเนื้อได้เป็นอย่างดี โดยสามารถประคบร้อนก่อนหรือหลังนวดก็ได้
หากประคบก่อนนวด จะช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว ไม่ต้องลงน้ำหนักในการนวดมาก จึงลดการระบมได้ ส่วนการประคบหลังการนวด นอกจากจะช่วยลดอาการระบมได้แล้ว ยังช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายได้ด้วย หากไม่สามารถหาลูกประคบได้ สามารถใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบแทนได้เช่นกัน
เด็ก คนท้อง คนแก่ นวดได้หรือไม่ มีข้อจำกัดอะไรบ้าง?
การนวดในกลุ่มเด็ก คนท้อง คนแก่ มีข้อควรระวังแตกต่างกัน ดังนี้
- การนวดในเด็ก ส่วนใหญ่จะเน้นการลูบเบาๆ บริเวณมือ ลำตัว ขาและฝ่าเท้า เป็นการปลอบประโลม ช่วยกระชับสายสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกได้เป็นอย่างดี ทำให้เด็กมีพัฒนาการด้านอารมณ์และสุขภาพที่ดี ข้อระวังคือไม่ควรนวดหนักและนวดบริเวณเดิมนานจนเกิดไป เพราะอาจทำให้ผิวหนังระคายเคือง
- สตรีตั้งครรภ์ ควรรับการนวดจากผู้ที่ได้รับการฝึกอบรม การเรียนการสอนที่ได้รับมาตรฐานจากกระทรวงสาธารณสุข และควรเลือกสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองมีใบประกอบวิชาชีพที่ถูกต้อง เพื่อความปลอดภัย ทั้งนี้ไม่ควรนวดในระยะ 1-12 สัปดาห์แรกระหว่างตั้งครรรภ์ เนื่องจากเป็นระยะเวลาที่เสี่ยงต่อการแท้งบุตรมากที่สุด
- ผู้สูงอายุ นิยมนวดเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนเลือด ช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ ช่วยฟื้นฟูระบบประสาท อย่างไรก็ตาม ควรนวดแบบเบามือ และควรขยับข้อต่อต่างๆ อย่างระมัดระวัง เช่น ข้อต่อสะโพก ข้อเข่า ทั้งนี้ควรนวดทั่วทั้งตัวและสังเกตความผิดปกติภายนอกร่างกาย รอยช้ำ บาดแผลต่างๆ ไปด้วยขณะนวด
เวลานวดแล้วมีเสียงดังกร๊อบ! อันตรายหรือเปล่า?
การนวดจะทำให้เลือดและลมในร่างกายไหลเวียนสะดวกขึ้น คล้ายกับการจัดกระดูก อาจทำให้มีเสียงลั่นตามข้อต่างๆ ไม่เป็นอันตราย แต่ไม่ควรบิด ดัด สลัดข้อเอง จนทำให้เกิดเสียง (เหมือนกับการหักกระดูกนิ้วมือ) เพราะอาจทำให้ข้อหลวม เนื่องจากผิวของกระดูกเสียดสีกันเอง และหากกระดูกลั่นเองบ่อยครั้ง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
นวดหนักมีผลเสียต่อกล้ามเนื้ออย่างไร?
สิ่งแรกที่จะเห็นได้อย่างชัดเจนหลังจากนวดหนักๆ คือ เกิดอาการระบมหลังการนวด ปวดกล้ามเนื้อ ไม่อยากเคลื่อนไหว อาการระบมดังกล่าวสามารถหายเองได้ภายใน 1-2 วัน หากอาการรุนแรงอาจมีไข้ร่วมด้วยได้ นอกจากนี้อาจทำให้เส้นใยกล้ามเนื้อฉีกขาด ซึ่งร่างกายจะซ่อมแซมส่วนที่บาดเจ็บโดยการสร้างพังผืดขึ้น ทำให้เลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อไม่พอ จนกล้ามเนื้อบริเวณนั้นแข็งตึง และเกิดอาการปวดตามมา
ดังนั้นการนวดที่ดีไม่จำเป็นต้องใช้แรงนวดมาก เพียงแค่ต้องรักษาใหถูกจุด ถูกกล้ามเนื้อ จะช่วยลดอาการระบมได้
การนวดช่วยแก้ปัญหาอะไรได้บ้าง?
การนวดสามารถให้ประโยชน์แก่ระบบต่างๆ ของร่างกายได้ดังต่อไปนี้
- ช่วยให้เกิดการหลั่งสารเอนโดรฟิน ช่วยลดอาการปวดและผ่อนคลายความเครียด ทั้งของกล้ามเนื้อและของผู้ที่ถูกนวด
- ทำให้อุณหภูมิที่ผิวหนังเพิ่มขึ้น มีผลทำให้กระตุ้นการขับเหงื่อและไขมันที่เป็นของเสียออกมา นอกจากนี้ยังช่วยให้ผิวหนังชุ่มชื่นและกระชับกว่าเดิมอีกด้วย
- ช่วยให้กล้ามเนื้อไม่แข็งตึง คลายพังผืดใต้ผิวหนัง ลดการเกร็งกล้ามเนื้อ ลดความเมื่อยล้าและอาการปวดจากการทำงานหรือการออกกำลังกายหนัก ช่วยให้กล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่นดีขึ้นด้วย
- ช่วยให้หลอดเลือดขยายตัว ทำให้การไหลเวียนของเลือดในร่างกายดีขึ้น ช่วยลดการคั่งของกรดแลคติก ซึ่งเป็นของเสียที่เกิดขึ้นระหว่างการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อที่ทำให้เกิดอาการปวด ในขณะเดียวกัน เลือดก็นำสารอาหารใหม่ๆ เข้ามาเลี้ยงกล้ามเนื้อได้ดีขึ้น อีกทั้งช่วยทำให้การเผาผลาญในร่างกายดีขึ้นอีกด้วย
- การนวดทำให้ระบบประสาทถูกกระตุ้น ช่วยฟื้นฟูระบบการทำงาน โดยเฉพาะอาการของโรคอัมพฤกษ์อัมพาต
ข้อแนะนำและข้อควรระวังการนวด
แม้การนวดจะมีประโยชน์หลายด้าน แต่ก็มีข้อควรระวังเช่นกัน ดังนี้
- สตรีมีครรภ์ ไม่แนะนำให้นวดในท่านอนคว่ำ และไม่ควรนวดบริเวณท้องหรือท้องน้อย
- ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงเกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท ควรนั่งพักให้ความดันเข้าสู่สภาวะปกติก่อน แล้วจึงรับการนวด เพราะหากนวดขณะความดันสูงอาจทำให้เกิดภาวะเส้นเลือดในสมองแตกหรือภาวะอุดตันในเส้นเลือดได้
- หลังจากนวดแล้วไม่ควรทำงานหนัก ยกของหนัก หรือออกกำลังกาย ควรพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อให้ร่างกายได้พักฟื้นได้เต็มที่
- หลังนวดควรงดรับประทานอาหารแสลงที่จะทำให้อาการปวดเพิ่มมากขึ้น เช่น ข้าวเหนียว หน่อไม้ ของหมักดอง เครื่องในสัตว์ แอลกอฮอล์
- หากมีอาการระบม ควรประคบร้อนหลังจากการนวดไปแล้ว 24 ชั่วโมง และไม่ควรรับประทานยาแก้ปวดโดยไม่จำเป็น เพราะอาการจะหายไปเองภายใน 1-2 วัน
ผู้มีภาวะเหล่านี้ ไม่ควรนวด
- ผู้ที่มีโรคเกี่ยวกับหัวใจ โรคที่เกี่ยวข้องกับเลือด เช่น โรคเส้นเลือดเปราะ เลือดออกกระปริบกระปรอย หรือโรคเลือดแข็งตัวผิดปกติ โรคกระดูกพรุน โรคกระดูกเปราะ รวมไปถึงผู้ที่มีภาวะเกี่ยวกับข้อ ข้ออักเสบ ข้อเคลื่อน ผู้ที่ได้รับการผ่าตัด กระดูกแตก หัก ปริ ร้าวกระดูกที่ยังไม่ติด
- ผู้ที่มีไข้เกิน 38.5 องศาเซลเซียส หรือมีไข้พิษ ไข้อีสุกอีใส ไข้งูสวัด การนวดจะเพิ่มอุณหภูมิในร่างกาย อาจทำให้ไข้เพิ่มสูงขึ้นได้
- ผู้ที่เป็นที่มีการติดต่อทางผิวหนัง เช่น โรคผิวหนังอักเสบ โรคสะเก็ดเงิน โรคลมพิษ หรือผู้ที่มีบาดแผลเปิด และโรคติดต่อทางการหายใจ เช่น วัณโรค หากไม่มั่นใจว่าโรคประจำตัวที่เป็นอยู่สามารถนวดได้หรือไม่ ควรขอคำแนะนำจากแพทย์
บทความที่เกี่ยวข้อง
นวดไทย คลายปวดเมื่อยด้วยศาสตร์โบราณ