กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

ประโยชน์มะละกอ ไอเดียการกินการใช้มะละกอเพื่อสุขภาพ ข้อควรระวัง

กินดิบก็ได้ กินสุกก็ดี แถมหารับประทานง่ายและมีประโยชน์ต่อร่างกาย
เผยแพร่ครั้งแรก 20 ส.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 13 พ.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
ประโยชน์มะละกอ ไอเดียการกินการใช้มะละกอเพื่อสุขภาพ ข้อควรระวัง

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • มะละกอเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์มากมาย เช่น สารไลโคปีน ธาตุฟอสฟอรัส วิตามินเอ วิตามินบี วิตามินซี
  • สรรพคุณต่อสุขภาพของมะละกอที่เด่นๆ คือ ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำน้ม แก้ผดผื่นคันตามตัว รักษาแผลพุพอง ลอาการปวด และบวม
  • มะละกอสามารถนำมาปรุงเป็นอาหาร ของหวาน หรือเครื่องดื่มได้ เช่น นมมะละกอ มะละกอผัดไข่ แกงส้มมะละกอกุ้งฝอย
  • มะละกอมีข้อควรระวังบางอย่างในการรับประทาน เช่น หญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยง เพาะจะทำให้เป็นพิษต่อทารก ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรหลีกเลี่ยงเพราะจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติ ไม่ควรรับประทานมะละกอที่ดิบ มีเปลือกนอกเขียวเกินไป
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพทั่วไป

มะละกอ เป็นผลไม้ที่เราคุ้นเคยกันดี ไม่ว่าจะเป็นมะละกอดิบตัวชูโรงในเมนูรสแซ่บอย่างส้มตำที่หากินได้ง่ายตั้งแต่ข้างถนนไปจนถึงบนห้างหรู  หรือนำเนื้อดิบมาแกงส้มก็อร่อยไม่น้อย  

มะลอกอสุกที่นิยมรับประทานเป็นของว่าง หรือล้างปากหลังมื้ออาหารเพราะช่วยให้ร่างกายรู้สึกสดชื่น  เพิ่มเส้นใยอาหารช่วยในการขับถ่ายก็ดีไม่น้อยเช่นกัน  ที่กล่าวเป็นเพียงคุณประโยชน์สั้นๆ เท่านั้น 

เพราะแท้จริงแล้วนอกจากนี้แล้วมะละกอยังมีประโยชน์ต่อร่างกายในด้านอื่นๆ อีก รวมทั้งยังมีสรรพคุณทางยา ไม่เพียงเฉพาะผลแต่ยังรวมถึงส่วนประกอบอื่นๆ ของต้นด้วย  

รู้จักมะละกอ

มะละกอ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า "Carica papaya L." เป็นไม้ล้มลุกขนาดใหญ่สูงราว 1-8 เมตร 

ลักษณะต้นมะละกอ ลำต้นสีน้ำตาลอ่อนตั้งตรง มีน้ำยางสีขาวทั่วทั้งลำต้น  ไม่แตกกิ่ง แต่มีก้านใบยาว 25-90 เซนติเมตร  มีใบเรียงสลับรอบต้นไปจนถึงยอด ใบกว้าง 25-60 เซนติเมตร ขอบใบเป็นหยักลึก ดอกเป็นช่อสีขาวนวล ผลเป็นรูปยาวรี ปลายแหลม 

เมื่อผลมะละกอยังดิบ เนื้อจะแข็ง มีสีขาวอมเขียว เมื่อสุกเนื้อจะอ่อนนุ่ม มีสีเหลืองส้ม-ส้ม-เกือบแดง รสหวาน  ภายในผลจะมีเมล็ดรูปไข่สีน้ำตาลดำ ผิวขรุขะจำนวนมาก 

มะละกอเป็นผลไม้ที่หากินได้ง่าย มีขายตามท้องตลาดทั่วไป  มะละกอมีหลายสายพันธ์ุ แต่ละพันธุ์ก็ให้สีสันของเนื้อ ลักษณะของเนื้อ และรสชาติแตกต่างกันไป ที่นิยมในประเทศไทยได้แก่ พันธุ์แขกดำ พันธุ์แขกนวล พันธุ์ฮอลแลนด์  

คุณค่าทางโภชนาการของมะละกอ

มะละกอดิบปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงาน 43 กิโลแคลอรี อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์มากมาย เช่น คาร์โบไฮเดรต น้ำตาล สารไลโคปีน ธาตุแมงกานีส ธาตุฟอสฟอรัส สารเบตาแคโรทีน โปรตีน ไขมัน วิตามินเอ  วิตามินบี1 วิตามินบี 2 วิตามินบี3 วิตามินบี9  วิตามินซี วิตามินอี  

ประโยชน์ของการรับประทานมะละกอ

  1. ช่วยบำรุงประสาท และสมองได้เป็นอย่างดี
  2. ช่วยในการย่อยอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากอุดมไปด้วยเอนไซม์ช่วยในการย่อยอาหาร
  3. ช่วยแก้ปัญหาท้องผูกได้ เนื่องจากมะละกอสุกถือเป็นยาระบายอ่อนๆ 
  4. ช่วยป้องกันโรคลักปิดลักเปิด หรือโรคเลือดออกตามไรฟัน และยังมีส่วนช่วยในการป้องกันการเกิดโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะได้
  5. อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด ซึ่งมีส่วนช่วยให้สุขภาพแข็งแรง ช่วยชะลอวัย และบำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่ง สดใส

ไอเดียการใช้มะละกอเพื่อสุขภาพ

  • เพิ่มน้ำนม สำหรับคุณแม่หลังคลอดที่ต้องการเพิ่มน้ำนมให้ลูกน้อย แนะนำให้กินมะละกอสุก เนื่องจากจะมีส่วนช่วยเพิ่มน้ำนมให้มีปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น แต่ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม 
  • แก้อาการขัดเบา  นำรากสดประมาณ 1 กำมือ กับรากแห้งอีกครึ่งกำมือ จากนั้นนำมาหั่น และต้มกับน้ำ นำมาดื่มวันละ 3 ครั้งก่อนมื้ออาหารแต่ละมื้อ จะช่วยรักษาอาการขัดเบาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • แก้อาการผดผื่นคันบนลำตัว แนะนำให้ใช้ใบ 1 ใบ น้ำมะนาวประมาณ 2 ผล และเกลือประมาณ 1 ช้อนชา นำวัตถุดิบทั้งหมดมาตำให้ละเอียด จากนั้นเอาไปทาที่บริเวณที่มีผดผื่นคัน วิธีนี้ช่วยให้อาการดังกล่าวค่อยๆ หายไป และดีขึ้นตามปกติ
  • ช่วยฆ่าเชื้อราบริเวณแผล นำยางจากมะละกอดิบมาทาบริเวณที่เป็นกลาก เกลื้อน และเท้าเปื่อย ทาวันละประมาณ 3 ครั้ง จะช่วยฆ่าเชื้อราที่อยู่บริเวณที่เป็นแผลได้เป็นอย่างดี
  • ช่วยรักษาแผลพุพอง อักเสบ นำใบแห้งมาบดให้เป็นผง ผสมน้ำกะทิ ผสมให้เข้ากันพอเหนียวแล้วนำมาทาแผลวันละ 3 ครั้ง 
  • ช่วยลดอาการปวดบวม นำใบสดมาย่างไฟ หรือลวกด้วยน้ำร้อน จากนั้นนำมาประคบบริเวณที่มีอาการปวดบวมจะช่วยลดอาการได้ดี หรือจะนำใบมะละกอสดมาตำให้พอหยาบแล้วนำมาห่อด้วยผ้าขาวบางสะอาด ทำเป็นลูกประคบก็ได้เช่นเดียวกัน
  • ช่วยให้หน้าใส นำเนื้อสุกนำมาผสมกับนมสดและน้ำผึ้ง นำมาปั่นให้เข้ากันจนละเอียด จากนั้นเอามาทาบริเวณผิวหน้าและผิวกายตามต้องการ ทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที จึงค่อยล้างออกด้วยน้ำสะอาด วิธีนี้ถือเป็นการทรีทเมนท์หน้าใสได้อย่างปลอดภัย และเห็นผลได้อย่างชัดเจน

ไอเดียการกินมะละกอเพื่อสุขภาพ

1. ส้มตำทอดซอสกุ้งเข้มข้น

เตรียมวัตถุดิบ ได้แก่ มะละกอสับ ปูอัดฉีก แป้งทอด น้ำปลา น้ำมะขาม น้ำตาลปี๊บ มะนาว กุ้งแห้งป่น กุ้งสดลวก มะเขือเทศหั่น ถั่วลิสง และพริก เมื่อเตรียมทุกอย่างเรียบร้อยแล้วให้ผสมแป้งทอดกับน้ำให้เข้ากัน

จากนั้นนำมะละกอผสมกับปูอัด นำมาชุบแป้งแล้วทอดจนเหลืองกรอบ สะเด็ดน้ำมันพักทิ้งไว้  เตรียมทำน้ำส้มตำ โดยใช้น้ำปลา น้ำมะขาม และน้ำตาลปี๊บอุ่นในกะทะและผสมน้ำเล็กน้อยละลายให้เข้ากัน 

นำส่วนผสมที่ทอดวางใส่จานพร้อมกุ้งสดลวก ราดด้วยน้ำส้มตำ ตามด้วยกุ้งแห้งป่น และพริก คลุกเคล้าให้เข้ากันพร้อมตักเสิร์ฟ

2. แกงส้มมะละกอกุ้งฝอย

เตรียมมะละกอดิบปาดชิ้นบางๆ กุ้งฝอย สายบัว พริกแกงส้ม เกลือ น้ำปลา น้ำตาล น้ำมะขามเปียก และน้ำเปล่า 

เมื่อเตรียมส่วนผสมทั้งหมดแล้วให้ตั้งหม้อบนไฟกลาง ใส่น้ำให้พอเดือด ตามด้วยใส่พริกแกงส้มแล้วคนให้ละลาย ใส่มะละกอลงไปต้มจนสุก ตามด้วยใส่กุ้งฝอยกับสายบัว ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาล และน้ำมะขามเปียก รอให้เดือดอีกครั้ง พร้อมตักเสิร์ฟ

3. แกงเนื้อมะละกอสับ

เตรียมเนื้อสไลด์บางๆ ตะไคร้ ข่า ใบมะกรูด พริกกะเหรี่ยงแดง หอมแดงไทย น้ำปลาร้า เกลือ มะละกอดิบสับ และน้ำมัน จากนั้นเตรียมพริกแกง โดยตำหอมแดง ตะไคร้ ข่า และใบมะกรูดให้ละเอียด 

หลังจากนั้นตั้งหม้อใส่น้ำมันเพียงเล็กน้อย ผัดพริกแกง และหอมแดงหั่นจนได้กลิ่นหอม ใส่เนื้อตามลงไปพร้อมคั่วจนสุก เติมน้ำพอประมาณ เมื่อน้ำแกงเดือดให้ใส่มะละกอสับตามลงไป ปรุงรสด้วยเกลือและน้ำปลาร้า รอให้สุกแล้วปิดไฟ  พร้อมตักเสิร์ฟ

4. มะละกอผัดไข่

เตรียมมะละกอดิบขูดเส้น ไข่ไก่ หรือไข่เป็ดตามต้องการ ซอสถั่วเหลือง เกลือ น้ำตาล น้ำปลา และน้ำมัน 

เมื่อเตรียมส่วนผสมทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว ให้วางกระทะใส่น้ำมันจนร้อน ใส่ไข่ลงไปผัด ตามด้วยมะละกอ ผัดเรื่อยๆ พร้อมปรุงรสด้วยน้ำปลา ซอส น้ำตาล และเกลือ ผัดจนแห้งแล้วปิดไฟ พร้อมตักเสิร์ฟ

5. ตำหอยแครงใส่มะละกอ

เตรียมหอยแครงต้มและแกะเปลือกเรียบร้อย พริกสด กระเทียมกลีบเล็ก ถั่วฝักยาว มะละกอสับเป็นเส้น มะเขือเทศ มะนาว น้ำปลา น้ำตาลปี๊บ แครอทขูดเป็นเส้น น้ำปลาร้า มะเขือเปราะ และชูรส 

เมื่อเตรียมวัตถุดิบทั้งหมดแล้วให้ใส่กระเทียม พริก น้ำปลา มะนาว น้ำตาลปี๊บ และชูรส ตำให้พอแหลก ใส่ถั่วฝักยาว มะเขือเปราะ และมะเขือเทศ ตำให้พอแตก ปรุงรสตามใจชอบ ใส่มะละกอ และแครอทลงไป พร้อมด้วยหอยแครงที่เตรียมไว้ ตำเบาๆ ให้น้ำส้มตำซึมเข้าในตัวหอย พร้อมตักเสิร์ฟ

6. นมมะละกอ

เตรียมนมสด น้ำตาล และมะละกอ จากนั้นเอาส่วนผสมทั้งหมดใส่ลงไปในเครื่องปั่น ปั่นให้เข้ากันจนละเอียด เทใส่แก้วพร้อมดื่ม  เมนูนี้จัดเป็นเครื่องดื่มง่ายๆ เหมาะสำหรับคนที่ไม่ชอบความยุ่งยาก 

นอกจากการรับประทานผักผลไม้แล้ว คุณก็สามารถไปรับวิตามินทางเส้นเลือดที่โรงพยาบาล หรือคลิกนิกได้ เพื่อบำรุงให้ร่างกายได้รับวิตามินอย่างครบถ้วน ไม่ทำให้เจ็บป่วย และยังช่วยบำรุงผิวพรรณให้ดูดีด้วย

ข้อควรระวัง

  1. ควรเลือกมะละกอที่มีคุณภาพ มีผิวสีเหลืองบางส่วน หรือเหลืองทั้งหมด และผลของมะละกอตรงบริเวณขั้วที่ติดกับลำต้นไม่ควรนิ่มเหลว
  2. ไม่ควรรับประทานมะละกอที่ดิบจนเกินไป ซึ่งผลที่ดิบเกินไปจะมีเปลือกนอกสีเขียว และมีเนื้อที่แข็งมาก
  3. ไม่ควรรับประทานในปริมาณที่มากจนเกินไป เพราะเสี่ยงต่อการทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้ เช่น ผิวเหลือง เบื่ออาหาร เซื่องซึม นอนไม่หลับ 
  4. หลีกเลี่ยงไม่ให้ผิวหนังสัมผัสกับยางมะละกอ เพราะอาจเสี่ยงทำให้เกิดปัญหาต่อผิวหนังได้
  5. สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์นั้น ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานมะละกอเพราะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า สารเคมีพาเพนที่อยู่ในมะละกออาจเป็นพิษต่อทารกน้อยในครรภ์ได้ รวมทั้งอาจทำให้เกิดภาวะพิการแต่กำเนิด
    ดังนั้นหากคุณแม่ตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อปลอดภัยทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์
  6. สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานควรระมัดระวังในการรับประทานมะละกอ เพราะอาจส่งผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดได้ ดังนั้นก่อนรับประทานมะละกอ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเช็ค และควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
  7. ผู้ที่มีอาการแพ้สารพาเพน ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานมะละกอ เนื่องจากในมะละกอจะมีสารชนิดนี้อยู่
  8. ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดไม่ควรรับประทานมะละกอ โดยเฉพาะมะละกอที่ผ่านการดอง อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงได้ ซึ่งนั่นอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในระหว่าง และหลังการผ่าตัด

    ทั้งนี้ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดควรหยุดรับประทานมะละกออย่างน้อย 2 สัปดาห์ ก่อนเข้ารับการผ่าตัด

แม้การรับประทานมะละกอจะให้ประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายมากมาย  แต่ต้องรับประทานอย่างเหมาะสม ไม่ควรรับประทานมากจนเกินไป เพราะแทนที่จะส่งผลดีต่อสุขภาพอาจกลายเป็นผลเสียต่อร่างกาย และทำให้เกิดอันตรายต่างๆ ตามมาได้ 

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพทั่วไป จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
เสงี่ยม พงษ์บุญรอด, (2522). ไม้เทศเมืองไทย สรรพคุณของยาเทศและยาไทย. กรุงเทพ: โรงพิมพ์กรุงธน.
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. องค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ต้านเชื้อรา Candida ของน้ำมันหอมระเหยจากเมล็ดมะละกอ. (http://www.medplant.mahidol.ac.th/active/shownews.asp?id=1368&strSearch=%C1%D0%C5%D0%A1%CD), 2560
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.ยางมะละกอรักษาแผลไฟไหม้.(http://www.medplant.mahidol.ac...458&strSearch=%C1%D0%C5%D0%A1%CD), 2559

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป