ประโยชน์ของข่า คุณค่าที่มาพร้อมกับความเผ็ดร้อน

ข่า นอกจากจะเพิ่มความจัดจ้านและกลิ่นหอมให้อาหารได้ดีแล้ว เรื่องคุณประโยชน์ต่อสุขภาพก็ไม่เป็นรองใครเหมือนกัน
เผยแพร่ครั้งแรก 16 มิ.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 21 มี.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
ประโยชน์ของข่า คุณค่าที่มาพร้อมกับความเผ็ดร้อน

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ข่าเป็นสมุนไพรรสชาติเผ็ดร้อน สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู อีกทั้งยังมีคุณค่าทางโภชนาการมากมาย ช่วยบำรุงสุขภาพ และมีสรรพคุณในทางยา
  • สรรพคุณในทางยาของข่า เช่น ช่วยในการย่อยอาหาร ลดการบีบตัวของลำไส้ ช่วยขับลมได้ดี รักษาลมพิษ กลากเกลื้อน โรคน้ำกัดเท้า แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย รักษาอาการปวดเมื่อย
  • ข่าเป็นสมุนไพรที่มีรสชาติเผ็ดร้อนจึงเหมาะสำหรับแก้อาการหวัดในช่วงหน้าหนาว ที่สำคัญยังช่วยบรรเทาอาการหอบหืดได้ดี ในสมัยโบราณนิยมนำข่ามาต้มรับประทานเพื่อบรรเทาอาการหวัด คัดจมูก
  • นอกจากคุณประโยชน์ในการบำรุงรักษาสุขภาพแล้ว ข่ายังมีคุณสมบัติช่วยไล่ยุงและแมลงได้ด้วย ด้วยการทุบเหง้าให้แหลก หรือจนกระทั่งน้ำมันในข่าซึมออกมา จากนั้นนำไปวางในที่ที่ต้องการ จะช่วยไล่ยุงและแมลงไม่ให้มากวนใจ
  • แม้ข่าจะมีประโยชน์มากมาย แต่ควรบริโภคอย่างพอดีและบริโภคอาหารอื่นๆ ให้หลากหลาย ร่วมกับการออกกำลังกาย การพักผ่อนให้เพียงพอ และการตรวจสุขภาพเป็นประจำ (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพได้ที่นี่)

ข่าเป็นสมุนไพรรสชาติเผ็ดร้อน สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู ช่วยเพิ่มรสชาติของอาหารให้จัดจ้าน หอมอร่อยยิ่งขึ้น นอกจากนี้ข่ายังขึ้นชื่อในเรื่องของการรักษาโรคและมากไปด้วยคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ 

รู้จักข่า

ข่าจัดเป็นพืชล้มลุก มีเหง้าใต้ดิน ลักษณะเหง้าจะมีข้อ หรือปล้องอย่างเห็นได้ชัด ใบของต้นข่าเป็นใบเดี่ยว เรียวใหญ่ ปลายแหลม ข่าเป็นพืชที่ปลูกง่าย ดูแลง่าย และมีอายุยืนยาว แถมยังขุดมาใช้ประโยชน์ได้ตลอดปีอีกด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

เหง้าข่า หรือส่วนที่เรานำมารับประทานกันนั้นมีรสเผ็ดปร่า และมีน้ำมันหอมระเหย ให้กลิ่นหอมฉุน จึงนิยมนำข่ามาใช้ประกอบอาหารหลายเมนู ไม่ว่าจะเป็นต้มยำ ต้มแซ่บ น้ำพริก รวมทั้งเครื่องแกงต่างๆ เพื่อเพิ่มรสชาติเผ็ดร้อนและความหอม 

นอกจากนี้คนไทยยังนิยมนำหน่อและดอกของข่ามาทำเป็นผักแกล้มน้ำพริกอีกด้วย ส่วนด้านคุณประโยชน์ในการรักษาโรคนั้น ข่าก็มีมากไม่แพ้สมุนไพรอื่นๆ เพราะมักนำมาใช้เป็นยารักษาอาการเจ็บป่วยในแทบทุกระบบของร่างกาย

คุณค่าทางโภชนาการของข่า

ข่า 100 กรัม ให้ให้พลังงาน 20 กิโลแคลอรี่และให้คุณค่าทางโภชนาการดังนี้ ได้แก่ ฟอสฟอรัส แคลเซียม ธาตุเหล็ก วิตามินบี วิตามินซี และกากใยอาหาร 

ประโยชน์ของข่า

1. ดีต่อระบบทางเดินอาหาร

ข่ามีซิเนออล (Cineole) การบูร และยูจีนอล (Eugenol) ที่มีฤทธิ์ช่วยลดการบีบตัวของลำไส้ ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากเหง้าข่าก็ช่วยขับลมได้ดี นอกจากนี้สารบางชนิดในข่ายังช่วยยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร รวมถึงยับยั้งเชื้อจุลชีพซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอุจจาระร่วงได้

2. ช่วยในการย่อยอาหาร

สารยูจีนอลจากเหง้าข่ามีฤทธิ์ขับน้ำดีจึงช่วยบรรเทาอาการอาหารไม่ย่อย ลดอาการแน่นจุกเสียด ท้องอืดท้องเฟ้อ มีแก๊สในกระเพาะอาหารมากเกินไป กระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้ใช้เหง้าข่าสด 5 กรัม หรือเหง้าแห้ง 2 กรัม ไปต้มกับน้ำจนเดือด แล้วนำน้ำที่ได้มาดื่ม 

อีกวิธีคือ ใช้เหง้าแก่สดๆ ความยาวประมาณ 1 นิ้ว ตำให้ละเอียด แล้วเติมน้ำปูนใส 2 แก้ว นำมาดื่มครั้งละครึ่งแก้วหลังอาหาร วันละ 3 เวลา วิธีนี้ยังช่วยขับลมในลำไส้ แก้อาการปวดบิด ปวดมวนท้อง และท้องเดินได้อีกด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

3. รักษาโรคกลาก เกลื้อน

จากการวิจัยพบว่า สารสกัดจากข่าสามารถรักษาโรคกลากได้อย่างมีประสิทธิภาพ เทียบเท่ากับการใช้ยารักษากลากอย่างโทลนาฟเตท (Tolnaftate) โดยนำสารสกัดข่าด้วยน้ำกลั่น เมทานอล ไดคลอโรมีเทน เฮกเซน หรือแอลกอฮอล์มาใช้ พบว่า สามารถฆ่าเชื้อราสาเหตุของโรคกลากเกลื้อนได้ 

การรักษากลากเกลื้อน ให้นำเหง้าข่าแก่มาตำให้ละเอียด เติมเหล้าขาวลงไปผสมให้เข้ากันดี แล้วนำมาทาให้ทั่วบริเวณที่เป็นกลากเกลื้อน

4. แก้ลมพิษ

ให้นำเหง้าแก่สด 1 แง่ง ตำให้ละเอียด แล้วนำเหล้าขาวมาผสมให้พอแฉะ ผสมกันทิ้งไว้ 1-2 คืน แล้วนำส่วนผสมที่ได้ (ทั้งเนื้อและน้ำ) มาทาบริเวณที่เป็นลมพิษ ทาบ่อยๆ ทุกเช้าเย็น จนกว่าอาการจะดีขึ้น และพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดลมพิษไปพร้อมๆ กัน

5. แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย

ข่ามีสรรพคุณในการช่วยรักษาโรคผิวหนังได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นโรคกลากเกลื้อน ผื่นคัน หรือลมพิษ รวมถึงการลดอาการปวดบวมจากแมลงกัดต่อย 

วิธีใช้ ให้นำเหง้ามาฝนกับน้ำมะนาว แล้วทาบริเวณที่ถูกกัดต่อย แต่หากรู้สึกแสบร้อนให้หยุดใช้ทันที แล้วรีบล้างออกด้วยน้ำสะอาด เพราะนั่นอาจเป็นอาการแพ้ข่า หากยังใช้ต่อไปจะทำให้เกิดผื่นแพ้ หรืออาการอื่นๆ ตามมาได้

6. รักษาโรคน้ำกัดเท้า

ใช้เหง้าแก่สดขนาดเท่าหัวแม่มือ ตำให้ละเอียด ผสมกับเหล้าโรงพอท่วม หมักทิ้งไว้ประมาณ 2 วัน จากนั้นนำสำลีมาชุบ แล้วทาบริเวณที่เป็นน้ำกัดเท้าวันละ 3 ครั้ง จะช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

7. บรรเทาอาการปวดบวม เคล็ดขัดยอก

นำข่ามาตำให้ละเอียด พอกบริเวณที่มีอาการ นอกจากนี้ยังสามารถนำมารับประทาน หรือประคบ เพื่อช่วยแก้อาการปวดต่างๆ ทั้งยังช่วยลดอาการอักเสบได้เป็นอย่างดี

8. รักษาอาการปวดเมื่อย 

นำต้นข่าแก่มาตำผสมกับน้ำมันมะพร้าวให้เข้ากันดี แล้วนำไปทา หรือนวดบริเวณที่ปวดวันละ 1 ครั้ง จะช่วยให้อาการปวดเมื่อยค่อยๆ ทุเลาลงได้

9. บรรเทาอาการในระบบทางเดินหายใจ

ข่าเป็นสมุนไพรที่มีรสชาติเผ็ดร้อนจึงเหมาะสำหรับแก้อาการหวัดในช่วงหน้าหนาว ที่สำคัญยังช่วยบรรเทาอาการหอบหืดได้ดี ในสมัยโบราณนิยมนำข่ามาต้มรับประทานเพื่อบรรเทาอาการหวัด คัดจมูก 

อีกวิธีคือ นำข่ามาฝนผสมกับน้ำผึ้งแท้ น้ำมะนาวสด และเติมเกลือลงไปเพียงเล็กน้อย จากนั้นนำมารับประทานจะช่วยขับเสมหะ ขยายหลอดลม ช่วยให้หายใจได้สะดวกยิ่งขึ้น

10. รักษาอาการคลื่นไส้จากการเมารถ

ใช้เหง้าข่าสด ยาวประมาณ 30 เซนติเมตรขึ้นไป นำมาทุบ หรือตำจนละเอียด เติมน้ำปูนใสลงไปประมาณ 1 ครึ่งแก้ว และดื่มครั้งละ 1 แก้วหลังอาหารเช้า กลางวัน เย็น จนกว่าจะหาย

11. ขับน้ำคาวปลา

ข่ามีสรรพคุณในการขับน้ำคาวปลาหลังคลอดลูกรวมถึงการขับเลือดและรกที่ตกค้างอยู่ภายใน เพียงนำเหง้าสดมาตำให้ละเอียด แล้วผสมกับมะขามและเกลือเพื่อรับประทาน

นอกจากคุณประโยชน์ในการบำรุงรักษาสุขภาพแล้ว ข่ายังมีคุณสมบัติช่วยไล่ยุงและแมลงได้ด้วย ด้วยการทุบเหง้าให้แหลก หรือจนกระทั่งน้ำมันในข่าซึมออกมา จากนั้นนำไปวางในที่ที่ต้องการ จะช่วยไล่ยุงและแมลงไม่ให้มากวนใจ 

เมนูข่าเพื่อสุขภาพ

เมื่อพูดถึงอาหารที่มี "ข่า" เป็นส่วนประกอบ เมนูแรกๆ ที่หลายคนมักนึกถึงก็คือ "ต้มข่าไก่"  แต่ที่จริงแล้วยังมีเมนูเพื่อสุขภาพซึ่งใช้ช่าเป็นส่วนประกอบอีกหลายเมนู เช่นเมนูต่อไปนี้

ต้มยำปลา 

เมนูที่จะขาดส่วนประกอบอย่างข่าไม่ได้เลยก็คือ เมนูต้มยำ เพราะข่าจะเพิ่มกลิ่นหอมและรสชาติจัดจ้านให้ต้มยำนั่นเอง 

ขั้นตอนการทำเริ่มจากโขลกพริก กระเทียม และเครื่องต้มยำหยาบๆ เตรียมไว้ ต้มน้ำให้เดือดแล้วใส่พริก กระเทียม และเครื่องต้มยำลงไปก่อน หลังจากนั้นใส่ปลา หรือเนื้อสัตว์อื่นๆ ตามไป รอจนเนื้อปลาสุก ค่อยปรุงรสตามใจชอบ โรยด้วยผักชีซอย พร้อมรับประทาน

มาม่าต้มยำแห้ง

เมนูนี้ประกอบด้วยมาม่า เครื่องต้มยำ (ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด) ผักชีฝรั่ง เครื่องปรุงรสต่าง ๆ เช่น พริก มะนาว น้ำปลา และเนื้อสัตว์ตามต้องการ ส่วนวิธีทำเริ่มจากการต้มเส้นมาม่าให้นิ่ม แล้วสะเด็ดน้ำรอไว้ ตั้งกระทะ ใส่น้ำมัน แล้วใส่เนื้อสัตว์ลงไปผัดให้พอสุก 

ใส่เส้นมาม่าตามลงไป เติมเครื่องต้มยำและเครื่องปรุงต่างๆ ชิมรสให้ออกเปรี้ยวนำ เผ็ดตาม เรียบร้อยแล้วตักใส่จาน โรยด้วยผักชีฝรั่งและไข่ออนเซ็นสักลูก ก็ได้เมนูสุดฟินแล้ว

กุ้งอบวุ้นเส้นต้มยำ

กุ้งอบวุ้นเส้นธรรมดาที่มีรสชาติออกเค็มๆ อาจจะทำให้หลายคนรู้สึกเบื่อ ลองเปลี่ยนเป็นกุ้งอบวุ้นเส้นต้มยำกันดูบ้าง ด้วยการใส่เครื่องต้มยำลงไปในซอส แล้วเติมพริกเผาลงไปสักหน่อย ชิมให้รสชาติจัดจ้านกว่าปกติสักนิด เพื่อเวลาที่นำวุ้นเส้นมาอบ จะได้เข้าเนื้อและเข้มข้นยิ่งขึ้น 

หอยแมลงภู่อบหม้อดินต้มยำ

วิธีทำเหมือนการทำหอยแมลงภู่อบหม้อดินตามปกติ เพียงแต่ระหว่างที่ตั้งน้ำเดือดสำหรับนึ่งหอยนั้น ให้ใส่เครื่องต้มยำลงไป เมื่อนำหอยมานึ่งแล้วก็ให้นำเครื่องต้มยำมาโรยบนหอยอีกครั้งเพื่อให้กลิ่นหอมซึมเข้าไปในตัวหอยมากขึ้น 

ก่อนจัดใส่จาน ให้เขย่าหอยกับเครื่องต้มยำอีกครั้งให้เข้ากันดี รับประทานคู่กับน้ำจิ้มซีฟู้ด

ข่ามีโทษหรือไม่?

การรับประทานข่าในอาหารทั่วไปนั้นปลอดภัยต่อสุขภาพ ส่วนการนำมาใช้เพื่อบำรุง หรือรักษาโรคก็สามารถใช้ได้ แต่ควรคำนึงถึงความเหมาะสมในการใช้ด้วย โดยควรใช้ในปริมาณที่พอดีและไม่ควรใช้ต่อเนื่องนานเกินไปเพราะอาจทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพร่างกายได้ 

ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือกำลังใช้ยารักษาโรคชนิดใดอยู่ก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ข่า อาหารเสริม และสมุนไพรอื่นๆ ทุกครั้ง

ข่ายังมีสรรพคุณดีๆ อีกมากมาย ทำให้ถูกนำไปแปรรูปเป็นแชมพู ครีมนวด สเปรย์ ลูกประคบ และผลิตภัณฑ์บำรุงสุขภาพหลากหลายอย่าง ใครที่สนใจก็สามารถลองหาซื้อมาทดสอบผลลัพธ์ด้วยตนเองดูได้ หรือจะลองบำรุงสุขภาพด้วยเมนูข่าที่กล่าวไปข้างต้นก็ดีไม่น้อย

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Haginiwa J, Harada M, Morishita I, Properties of essential oil components of aromatics and their pharmacological effect on mouse intestine. Pharmacological studies on crud drugs. VII. Yakugaku Zasshi 1963; 83: 624.
Evans BK, James KC, Luscombe DK, Quantitative structure-activity relationships and carminative activity. J Pharm Sci 1978; 6: 227.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป