โรคกลาก สาเหตุ อาการ การรักษา และการป้องกัน

กลาก โรคติดต่อทางผิวหนังที่พบได้ทุกเพศทุกวัย แต่สามารถรักษาและป้องกันได้ ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด
เผยแพร่ครั้งแรก 11 ก.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 18 เม.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
โรคกลาก สาเหตุ อาการ การรักษา และการป้องกัน

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • โรคกลาก เป็นโรคติดเชื้อราบนผิวหนัง เกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย เช่น หนังศีรษะ ใบหน้า มือ เล็บ ขาหนีบ หรือเท้า โดยมีลักษณะเป็นวงขอบสีแดง ขุยขาวๆ และอาจมีผื่นแดงอักเสบร่วมด้วย
  • โรคกลาก เกิดจากการติดเชื้อรากลุ่มเดอร์มาโทไฟท์ (Dermatophytes) สามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัส หรือใช้สิ่งของที่อับชื้นร่วมกัน
  • หากเกิดที่ผิวหนัง สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาทาต้านเชื้อรา เช่น คีโตโคนาโซล หรือโคลไตรมาโซน แต่หากเกิดบริเวณหนังศีรษะอาจใช้แชมพูขจัดเชื้อราร่วมกับรับประทานยาต้านเชื้อรา
  • โรคกลากสามารถป้องกันได้ด้วยการรักษาสุขอนามัย เช่น หมั่นล้างมือเป็นประจำ อาบน้ำทุกวัน หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าอับชื้น หรือไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น
  • เมื่อเป็นโรคกลาก ควรรีบรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะอาจเรื้อรัง และลุกลามไปทั่วร่างกาย อีกทั้งยังอาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน หรือทำให้เกิดการอักเสบที่ผิวหนังชั้นในได้ (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพได้ที่นี่)

กลาก หรือขี้กลาก เป็นโรคติดเชื้อราบนผิวหนังชนิดหนึ่งมักเกิดขึ้นตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นบริเวณหนังศีรษะ ใบหน้า มือ เล็บ ขาหนีบ หรือเท้า อีกทั้งยังสามารถพบได้ทุกเพศทุกวัยโดยเฉพาะวัยเด็ก 

โรคกลากจะปรากฏเป็นวงขอบสีแดง มีขุยขาวๆ และอาจจะมีผื่นแดงอักเสบร่วมด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

สาเหตุของโรคกลาก

โรคกลากเกิดจากเชื้อราในกลุ่มเดอร์มาโทไฟท์ (Dermatophytes) ซึ่งมีอยู่หลายชนิด เชื้อรากลุ่มนี้จะอาศัยอยู่บนผิวหนังระดับเนื้อเยื่อชนิดโปรตีนที่เรียกว่า “เคราติน” ของเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว แต่เชื้อรานี้ไม่สามารถเข้าสู่ร่างกาย หรือเยื่อบุผิวหนัง อย่างเช่น จมูก หรือปากได้ 

เชื้อราในกลุ่มเดอร์มาโทไฟท์นั้น มีลักษณะเป็นสปอร์ขนาดเล็ก อาศัยอยู่ตามผิวหนังของมนุษย์ สิ่งของ หรือพื้นดินได้ยาวนานหลายเดือน อีกทั้งยังเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศร้อนชื้น ทำให้โรคกลากสามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัส รวมถึงการใช้สิ่งของที่อับชื้นร่วมกันได้

อย่างไรก็ดี พบว่า การติดเชื้อจากมนุษย์สู่มนุษย์มักรุนแรงน้อยกว่าการติดเชื้อจากแหล่งอื่นๆ

อาการของโรคกลาก

  1. โรคกลากที่หนังศีรษะ บริเวณหนังศีรษะจะตกสะเก็ดเป็นจุดๆ รู้สึกเจ็บเมื่อสัมผัสไปโดน คันหนังศีรษะ ผมร่วงเป็นหย่อมๆ บางรายอาจมีตุ่มหนองเล็กๆ หรือพุพองจนเป็นแผลขนาดใหญ่ เป็นไข้ และมีภาวะต่อมน้ำเหลืองโต

  2. โรคกลากที่ผิวหนัง มีอาการคัน แดง และรู้สึกระคายเคืองรอบวงกลาก ซึ่งปรากฏเป็นขอบชัดเจนและมีสีแดงกว่าผิวหนังปกติ บางรายที่มีอาการรุนแรงจะเป็นวงใหญ่และนูน หรือมีตุ่มหนองและตุ่มพองเกิดขึ้น

  3. โรคกลากที่เล็บ กลากทำให้เล็บมีสีขาวขุ่น ทึบ หนา และเปราะหักง่าย ถ้าขึ้นที่นิ้วเท้าจะเป็นสีเหลือง ทำให้รู้สึกเจ็บและระคายเคืองที่บริเวณผิวหนังโดยรอบ

  4. โรคกลากที่ขาหนีบ กลากที่ขาหนีบ หรือที่เรียกกันว่า “โรคสังคัง” มีสีน้ำตาลแดง ผิวหนังจะตกสะเก็ดเป็นแผ่น และอาจจะมีตุ่มหนองและตุ่มพอง ทำให้มีอาการคัน และรู้สึกระคายเคือง

  5. โรคกลากที่เท้า หรือที่เรียกกันว่า “ฮ่องกงฟุต" หรือ "น้ำกัดเท้า" จะมีอาการผิวหนังแห้ง คัน และเป็นผื่นแดงโดยเฉพาะบริเวณง่ามนิ้ว อีกทั้งยังทำให้เกิดตุ่มหนอง และตุ่มพองจนส่งผลให้รู้สึกเจ็บได้

การรักษาโรคกลาก

เมื่อแพทย์วินิจฉัยและลงความเห็นแล้วว่า เป็นโรคกลาก แพทย์จะสั่งจ่ายยารักษาตามความรุนแรงของอาการ

ยาที่นิยมนำมาใช้ยารักษาการติดเชื้อรา เช่น คีโตโคนาโซล โคลไตรมาโซล ไมโคนาโซล หรือยาอื่นๆ ที่มีส่วนประกอบของตัวยาดังกล่าว ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปที่มีเภสัชกรให้คำแนะนำ 

สำหรับการทายาจะต้องทายาให้เลยขอบรอยโรคออกไป และทำอย่างต่อเนื่อง 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

เมื่อกลากหายไป ไม่ควรหยุดใช้ยาทันที แต่ให้ทายาต่ออีกประมาณ 1-2 สัปดาห์ (ส่วนมากจะใช้เวลาในการรักษาประมาณ 2 – 4 สัปดาห์) เพื่อให้มั่นใจได้ว่า สามารถฆ่าเชื้อราที่ก่อให้เกิดโรคกลากได้หมดจริงๆ รวมถึงลดความเสี่ยงที่จะกลับไปติดเชื้อซ้ำอีกครั้ง 

การรักษากลากที่หนังศีรษะ การใช้ยาทาเฉพาะที่ การใช้แชมพู หรือครีมขจัดเชื้อรา เพียงอย่างเดียวอาจได้ผลไม่ดีนัก แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาต้านเชื้อราไปพร้อมๆ กัน

การรักษากลากที่เล็บ ต้องรับประทานยาต้านเชื้อรา และใช้ยาทาด้วย ระยะเวลาในการรับประทานยาขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เป็นว่า เป็นที่เล็บมือ หรือเล็บเท้า ส่วนวิธีการรับประทานยาขึ้นอยู่กับชนิดของยาที่แพทย์สั่งจ่าย 

โดยผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนสุขอนามัย ด้วยการรักษาความสะอาดทั้งร่างกาย และสิ่งของเครื่องใช้ พยายามเช็ดผิวให้แห้ง และหลีกเลี่ยงความอับชื้น

ทั้งนี้โรคกลากหากไม่ได้รับการรักษาอาจเรื้อรังและลุกลามจนเป็นที่น่ารังเกียจ ทำให้เสียความมั่นใจ และเสียบุคลิกภาพได้ นอกจากนี้ยังอาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน หรือเชื้อราลุกลามลึกลงไปทำให้เกิดการอักเสบที่ผิวหนังชั้นในได้ 

การป้องกันโรคกลาก

  • หากมีสมาชิกในบ้าน หรือสัตว์เลี้ยง เป็นโรคกลากควรรักษาให้หาย  
  • การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อราในสัตว์เลี้ยง
  • ตัดเล็บมือ เล็บเท้าให้สั้น 
  • อย่าใช้มือขยี้ตา
  • หมั่นล้างมือเป็นประจำเพื่อลดการแพร่กระจาย หรือไปสัมผัสเชื้อโดยบังเอิญ
  • ทำความสะอาดร่างกายทุกวัน โดยเฉพาะบริเวณข้อพับ ส่วนที่เสี่ยงต่อการอับชื้นต่างๆ สระผมบ่อยๆ แล้วเช็ดร่างกายกับศีรษะให้แห้งทุกครั้ง
  • พยายามหลีกเลี่ยงเสื้อผ้าและบริเวณที่อับชื้น โดยเฉพาะหากใช้บริการห้องน้ำสาธารณะจำเป็นต้องสวมรองเท้าทุกครั้ง
  • ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
  • พื้นที่ส่วนรวมควรต้องทำความสะอาดอยู่เสมอ เช่น โรงเรียน ฟิตเนต และสระว่ายน้ำ เป็นต้น

โรคกลากอาจจะดูเหมือนไม่เป็นโรคร้ายแรง แต่เมื่อเป็นโรคกลากขึ้นมาแล้วก็ยากต่อการรักษาให้หายได้ในเวลาอันสั้น ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือ การป้องกันตนเองไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ จะดีที่สุด

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจเหล่านี้ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Bolognia, Jean L.; Jorizzo, Joseph L.; Schaffer, Julie V. (2012). Dermatology (3 ed.). Elsevier Health Sciences. p. 1255. ISBN 978-0702051821. Archived from the original on 2016-09-15.
"Symptoms of Ringworm Infections". CDC. December 6, 2015. Archived from the original on 20 January 2016. Retrieved 5 September 2016.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป