กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
นพ. พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล แพทย์ทั่วไป
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
นพ. พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล แพทย์ทั่วไป

11 วิธีกำจัดเสมหะ เคลียร์ทางเดินหายใจให้โล่งขึ้น

เสมหะเกิดจากอะไร สีของเสมหะบอกอะไรได้ และวิธีกำจัดเสมหะทำได้อย่างไร มาดูกัน
เผยแพร่ครั้งแรก 28 มี.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 29 มี.ค. 2021 ตรวจสอบความถูกต้อง 7 ต.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
11 วิธีกำจัดเสมหะ เคลียร์ทางเดินหายใจให้โล่งขึ้น

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • เสมหะช่วยการป้องกันเนื้อเยื่อบริเวณปอด คอ จมูก ไม่ให้แห้งเกินไป ช่วยดักจับแบคทีเรีย สารที่ทำให้เกิดภูมิแพ้ เช่น ฝุ่น เกสรดอกไม้ และมีเอนไซม์ภูมิต้านทานที่ช่วยถอนพิษแบคทีเรียที่ทำให้เกิดภูมิแพ้ได้
  • เมื่อคุณป่วย เสมหะจะเหนียวข้น และมีจำนวนมาก ทำให้เกิดอาการหายใจลำบาก กลืนลำบาก รวมถึงสร้างความรำคาญใจ
  • สีของเสมหะอาจช่วยบอกโรคได้ เช่น สีใส เป็นโรคภูมิแพ้ สีเขียว ขุ่น หรือเหลืองอ่อน เป็นโรคหวัดที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สีแดง หรือน้ำตาล เป็นสัญญาณบอกว่า มีเลือดอยู่ในเสมหะ
  • แนะนำวิธีกำจัดเสมหะด้วยตัวเอง เช่น ดื่มน้ำอุ่นมากๆ กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ ขับเสมหะออกมาด้วยการไอ หรือสั่งน้ำมูก รับประทานขิง หรืออาหารที่มีรสชาติเผ็ดร้อน
  • การตรวจสุขภาพ และฉีดวัคซีนเป็นประจำทุกปีจะช่วยให้คุณรู้เท่าทันโรค (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพได้ที่นี่)

เสมหะคืออะไร 

"เสมหะ" (Mucus) เป็นสิ่งเหนียวๆ คล้ายกับเจลเหลวที่อยู่ตามปอด คอ ปาก จมูก และโพรงอากาศในกะโหลกของคุณ ซึ่งถูกผลิตจากเยื่อในจมูกและโพรงอากาศในกะโหลกที่เรียกว่า "เยื่อเสมหะ" ร่างกายของคนเราจะสร้างเสมหะอยู่ตลอดเวลา 

แต่คุณอาจสังเกตเห็นหลังจากมีการติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัดธรรมดา โรคไข้หวัดใหญ่ ไซนัสอักเสบ หรือภูมิแพ้ และร่างกายของคุณอาจผลิตเสมหะมากขึ้นหากคุณสูบบุหรี่

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ยุค New Normal สุขภาพ เป็นสิ่งที่ทุกคนใส่ใจมากยิ่งขึ้น

ถ้าเริ่มมีอาการเจ็บคอ คันคอ ระคายคอ หรือมีเสมหะ เหนียวคอ มาดู 5 วิธี บรรเทาง่ายๆ ได้ผล อย่ารอให้เป็นหนัก

ความสำคัญของเสมหะ

เสมหะอาจสร้างความรำคาญให้กับคุณเมื่อคุณป่วย และหลายคนอาจเข้าใจผิดว่าเสมหะเป็นของเสียในลำคอที่ต้องกำจัดให้หมดไป แต่ความจริงแล้ว เสมหะคือ สิ่งจำเป็นที่ทำให้สุขภาพของเราแข็งแรง และเป็นสิ่งปกติที่ร่างกายจะผลิตออกมา ซึ่งมีความสำคัญดังนี้ 

  • ช่วยป้องกันเนื้อเยื่อบริเวณปอด คอ จมูกและทางเดินโพรงอากาศในกะโหลกของคุณไม่ให้แห้งเกินไป 
  • ช่วยดักจับแบคทีเรีย สารที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ เช่น ฝุ่น เกสรดอกไม้ เพื่อไม่ให้แพร่กระจายไปบริเวณอื่นๆ ของร่างกายได้ 
  • มีเอนไซม์ภูมิต้านทาน ที่จะช่วยในการถอนพิษแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้

สาเหตุที่ทำให้เกิดเสมหะมากในขณะล้มป่วย

โดยปกติแล้ว ร่างกายมักจะผลิตเสมหะมากถึง 1.5 ลิตรต่อวันแม้ในขณะที่คุณไม่ได้ป่วย และเมื่อคุณป่วยร่วมกับมีอาการแพ้เกิดขึ้นด้วย คุณจะสังเกตถึงความเหนียวข้นของเสมหะที่มากกว่าปกติ

สำหรับสาเหตุที่ทำให้เสมหะของคุณเหนียวข้นกว่าปกติในเวลาที่ป่วยนั้น เกิดมาจากเชื้อแบคทีเรีย หรือสารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ไปสัมผัสกับเยื่อเมือกที่ผลิตเสมหะ ซึ่งเสมหะจะมีสารที่ชื่อว่า "ฮิสทามีน (Histamine)"

ซึ่งสารฮิสทามีนตัวนี้เมื่อไปสัมผัสกับเชื้อแบคทีเรียแล้ว ก็จะส่งผลให้เยื่อในทางเดินหายใจของคุณบวมและผลิตเสมหะออกมามากขึ้น 

ผลกระทบจากการมีเสมหะที่เหนียวข้นในปริมาณมาก จะทำให้คุณรู้สึกหายใจลำบากและกลืนอาหารลำบากขึ้น เพราะเสมหะจะไม่ไหลลงคอง่ายๆ และมักจะติดในคอและปอด อีกทั้งคุณอาจมีปัญหาน้ำมูกไหลลงคอ จาม เจ็บคอ คันจมูก และคัดจมูกได้

นอกจากนี้ การมีเสมหะยังเป็นสัญญาณบอกว่าเยื่อเมือกของคุณนั้นแห้งเกินไป หรืออาจเป็นผลจากสาเหตุดังนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ยุค New Normal สุขภาพ เป็นสิ่งที่ทุกคนใส่ใจมากยิ่งขึ้น

ถ้าเริ่มมีอาการเจ็บคอ คันคอ ระคายคอ หรือมีเสมหะ เหนียวคอ มาดู 5 วิธี บรรเทาง่ายๆ ได้ผล อย่ารอให้เป็นหนัก

  1. สภาพแวดล้อมภายในมีความแห้ง (ซึ่งเกิดจากความร้อนหรือเครื่องปรับอากาศ)
  2. ดื่มน้ำเปล่าหรือของเหลวอื่นๆ ไม่เพียงพอ
  3. ดื่มเครื่องดื่มบางประเภท เช่น กาแฟ ชา หรือแอลกอฮอล์ ซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียน้ำในร่างกาย
  4. การรับประทานยาบางประเภท
  5. สูบบุหรี่

สีของเสมหะ

หากคุณคิดว่าตนเองเป็นภูมิแพ้ หวัด หรือการติดเชื้อทางเดินหายใจ แพทย์อาจใช้วิธีประเมินปริมาณ ความเหนียวข้น และสีของเสมหะของคุณในการทำการวินิจฉัยโรค

  • เสมหะสีใส: เป็นสีของเสมหะเมื่อคุณมีอาการของโรคภูมิแพ้  
  • เสมหะสีเขียว มีความขุ่น หรือมีสีเหลืองอ่อน: คุณอาจป่วยด้วยโรคหวัด ซึ่งโรคนี้จะทำให้ร่างกายผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น และส่งเข้าไปในโพรงจมูกเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรค โดยเซลล์เม็ดเลือดขาวจะมีสารที่ชื่อว่า "นิวโทรฟิล" (Neutrophils) ซึ่งสามารถทำให้เสมหะของคุณเปลี่ยนเป็นสีเหลือง หรือเขียวได้ 
  • เสมหะสีแดง หรือน้ำตาล: เสมหะประเภทนี้มักเป็นสัญญาณบอกว่ามีเลือดอยู่ในเสมหะของคุณ โดยทั่วไปแล้ว การมีเลือดอยู่ในเสมหะมักเป็นผลมาจากความระคายเคือง และเนื้อเยื่อในทางเดินหายใจแห้ง ซึ่งเกิดมาจากการถู เช็ด หรือสั่งน้ำมูกมากเกินไป การมีเลือดเล็กน้อยปะปนอยู่ในเสมหะไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวล แต่หากคุณมีเลือดออกมากจนผิดปกติและอย่างต่อเนื่อง คุณควรรีบปรึกษาแพทย์ประจำตัวของคุณ เพราะนี่อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อที่รุนแรง เช่น หลอดลมอักเสบ

11 วิธีกำจัดเสมหะ ให้ทางเดินหายใจโล่งยิ่งขึ้น

การเผชิญอากาศร้อนและเย็นสลับกันบ่อยๆ สามารถทำให้คุณเกิดอาการไอและมีเสมหะได้ หรือคุณอาจป่วยเป็นโรคหวัด ซึ่งเสมหะในลำคอบางครั้งก็สามารถสร้างความรำคาญ ทำให้หายใจไม่สะดวก 

อีกทั้งยังทำให้นอนหลับได้ยาก และยังทำให้คนรอบตัวไม่อยากเข้าใกล้คุณ เพราะเสมหะอาจทำให้น้ำเสียงของคุณเปลี่ยนไป และบ่งบอกถึงอาการป่วยติดเชื้อ ซึ่งการกำจัดเสมหะให้คุณหายใจได้โล่งขึ้นมีทางออกได้หลายวิธี โดยคุณอาจลองวิธีดังต่อไปนี้

1. พยายามขับน้ำมูกและเสมหะออกมา

ถึงแม้ว่าวิธีนี้อาจจะส่งเสียงดัง หรือฟังเสียงแล้วดูไม่น่าเข้าใกล้ไปหน่อย แต่การขับเสมหะออกมาเป็นวิธีการกำจัดเสมหะที่ดีที่สุด และอีกสิ่งที่ไม่ควรทำคือ อย่ากลืนเสมหะลงคอ เพราะอาจเป็นการนำเชื้อกลับเข้าสู่ระบบในร่างกายอีกครั้ง

นอกจากนี้ การกักเสมหะไว้ยามระคายคอ คัดจมูก หรือน้ำมูกไหลจะทำให้คุณรู้สึกอัดอัดได้ คุณควรพกกระดาษทิชชู่สักกล่องไว้ใกล้ๆ มือ เพื่อไว้ใช้เวลาขับน้ำมูกหรือเสมหะออกมา

2. ไอให้เสมหะออกมา

วิธีนี้เหมาะกับผู้ที่มีเสมหะอยู่ในลำคอเท่านั้น เพราะถ้ามีเสมหะค้างอยู่ในปอด คุณจะกระแอมไอไม่ได้ สำหรับวิธีไอให้เสมหะออกมาคือ 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจ รักษา หู คอ จมูก วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 854 บาท ลดสูงสุด 54%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

  • สูดลมหายใจเข้าทางจมูกให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะให้ลมหายใจเข้าไปอยู่หลังเสมหะ โดยสังเกตจากทรวงอกที่ต้องขยายโดยไหล่ไม่ยก คอไม่ยืด แล้วกลั้นลมหายใจไว้สักครู่ 
  • จากนั้นไอให้แรงพอควร ซึ่งลมที่อยู่หลังเสมหะจะกระแทกกับเสมหะให้ขึ้นมาตามหลอดลม เมื่อเสมหะออกมาที่ปากแล้วให้ไปบ้วนทิ้งในที่ที่เหมาะสม

3. ดื่มน้ำให้มากขึ้น

เป็นอีกวิธีกำจัดเสมหะที่ทำได้ง่าย และมักจะเป็นตัวเลือกแรกๆ สำหรับวิธีแก้ปัญหาเรื่องเสมหะในหมู่ผู้ป่วยเป็นโรคหวัด เพราะการดื่มน้ำสะอาดในอุณหภูมิห้อง หรือดื่มน้ำอุ่นทุกชั่วโมงจะช่วยละลายเสมหะให้คลายความเหนียว และช่วยให้ร่างกายขับเสมหะออกมา พร้อมทั้งยังช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายไปด้วย

4. หาเครื่องดื่มอุ่นๆ มาดื่ม

นอกจากการดื่มน้ำในอุณหภูมิห้องหรือน้ำอุ่นแล้ว การดื่มน้ำขิงหรือน้ำซุปอุ่นๆ ก็ช่วยกำจัดเสมหะได้เช่นกัน เพราะอุณหภูมิน้ำที่สูงกว่าปกติจะช่วยละลายเสมหะในลำคอได้ดี

5. รับประทานอาหารรสชาติเผ็ดร้อน

หากคุณสามารถรับประทานอาหารรสเผ็ดได้ ให้ลองรับประทานอาหารรสชาติจัดจ้านดู เช่น แกงป่า ต้มยำ แกงเลียง ยำรสแซ่บ ส้มตำ หรือน้ำพริก เพราะสมุนไพรที่เป็นส่วนประกอบของอาหารเหล่านี้จะช่วยขับเสมหะ และช่วยเปิดทางให้ระบบหายใจคล่องตัวมากขึ้นได้ เช่น มะนาว มะแว้ง มะขามป้อม กระเทียม กระเจี๊ยบ สับปะรด และดีปลี แต่หากใครรับประทานอาหารรสเผ็ดไม่เก่ง ให้เปลี่ยนเป็นรับประทานแกงจืดร้อนๆ แทน

6. ใช้ไอน้ำช่วย 

การใช้ไอน้ำจะช่วยทำให้น้ำมูกและเสมหะในช่วงอก จมูก และคอแตกตัวออก ซึ่งจะทำให้เสมหะถูกขับออกจากร่างกายได้ง่ายขึ้น สำหรับวิธีทำคือ ต้มน้ำ 1 หม้อ ผสมกับน้ำมันยูคาลิปตัส 2-3 หยด จากนั้นก้มหน้าลงไปเหนือชามน้ำร้อน สูดหายใจเข้าเอาไอน้ำเข้าไปหลายๆ นาที นอกจากนี้ คุณยังสามารถใช้การอาบน้ำร้อนเพื่อช่วยให้น้ำมูกและเสมหะแตกตัวได้อีกด้วย

7. กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ

วิธีการคือ ใช้เกลือ 1/4 ช้อนชากับน้ำอุ่น 1 แก้วใหญ่ผสมกันแล้วนำมากลั้วคอ ให้เงยหน้าขึ้นระหว่างที่กลั้วคอด้วย เกลือจะช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการอักเสบในลำคอ อีกทั้งน้ำอุ่นจะช่วยละลายเสมหะไปในตัวได้

8. ใช้ยูคาลิปตัสทา

การใช้สารจากยูคาลิปตัสในการลดการสร้างเสมหะนั้นมีมานานแล้ว โดยสามารถใช้ในรูปขี้ผึ้งหรือน้ำมันหอยระเหยก็ได้ เพียงทาที่บริเวณหน้าอกไอระเหยจะทำให้หายใจสดชื่น และเสมหะน้อยลง 

9. กลั้วคอด้วยน้ำยาบ้วนปาก

ใช้เกลือ 1 ช้อนโต๊ะกับน้ำอุ่น 1 ถ้วยผสมน้ำยาบ้วนปาก แล้วกลั้วคอไว้ 30 วินาที จากนั้นทำซ้ำอีกหลายๆ ครั้งต่อวัน วิธีนี้จะช่วยขจัดเสมหะที่ติดอยู่ในผนังของลำคอ และที่ทางเดินหายใจได้

10. หายใจเข้าออกลึกๆ

การหายใจเข้าและออกลึกๆ ติดต่อกัน 5-7 ครั้ง จะช่วยให้ถุงลมขยายใหญ่ขึ้นและฟีบลงสลับกัน โดยไม่กระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับแก๊สออกซิเจนและแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ อีกทั้งยังช่วยให้ถุงลมที่มีเสมหะเกาะอยู่เคลื่อนตัว ทำให้เสมหะหลุดออกจากถุงลมและระบายสู่หลอดลมใหญ่ได้ง่าย

11. รับประทานขิง

เนื่องจากขิงใช้ในการรักษาโรคหวัดและไซนัสมานานหลายศตวรรษ เพราะมีคุณสมบัติตามธรรมชาติในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนี้ คุณสมบัติอีกอย่างที่เป็นที่รู้จักกันดีของขิงก็คือ ทำให้น้ำมูกที่เหนียวแตกตัวได้ โดยคุณอาจรับประทานขิงดิบ หรือขิงเชื่อมที่รสชาติไม่แรงมาก หรือจะขูดขิงสดลงในน้ำต้มเดือดแล้วทำเป็นชาสำหรับดื่มก็ได้ 

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจเหล่านี้ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Catarrh (https://www.nhs.uk/conditions/catarrh/), 16 November 2018
Center of Disease Control and Prevention, Water & Nutrition (https://www.cdc.gov/healthywater/drinking/nutrition/index.html), 5 October 2016

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป