เมารถ เมาเรือ อาการที่หลายคนคงเคยเป็น แต่ถ้าเลือกได้คงไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะอาจทำให้การเดินทางครั้งนั้นหมดสนุกลงได้ แต่เคยสงสัยกันไหมว่า นั่งรถคันเดียวกัน ตำแหน่งใกล้เคียงกันแท้ๆ ทำไมบางคนจึงมีอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อยากอาเจียน แต่อีกคนกลับไม่มีอาการใดๆ เลยสักอย่าง อาการเมารถ เมาเรือ เกิดจากอะไร หากมีอาการขึ้นแล้วจะบรรเทาอาการนั้นได้อย่างไร หาคำตอบได้ข้างล่างนี้
อาการเมารถ เมาเรือ เกิดจากอะไร?
อาการเมารถ เมาเรือ หรืออาการวิงเวียนเวลาโดยสารพาหนะใดๆ จัดอยู่ในกลุ่มอาการที่เรียกว่า “Motion Sickness” เกิดได้ทั่วไปกับคนทุกเพศทุกวัย สาเหตุของมันเกิดจากประสาทส่วนที่ควบคุมการทรงตัวซึ่งอยู่บริเวณหูชั้นใน ทำงานไม่สมดุลกับข้อมูลจากประสาทตา ซึ่งความไม่สมดุลนี้เป็นผลมาจากการได้รับแรงกระตุ้นมากเกินไป
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
แรงกระตุ้นอาจเกิดจากสิ่งเหล่านี้
- การเคลื่อนไหวแบบร่างกายอยู่กับที่ แต่สิ่งเวดล้อมมีการเคลื่อนที่ เช่น นั่งรถแล้วมีการเหวี่ยงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเวลานั่งเบาะหลัง เพราะจะมีเหวี่ยงมากกว่าด้านหน้า
- การดูภาพเคลื่อนไหวเร็วๆ เช่น นั่งรถยนต์ด้านหลังและมองเห็นแต่สิ่งแวดล้อมด้านข้างที่เคลื่อนผ่านตาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง
แรงกระตุ้นที่ผิดปกติเหล่านี้จะไปกระตุ้นประสาทส่วนที่ควบคุมการทรงตัว หากประสาทส่วนนี้ทำงานปกติ อาจจะไม่มีอาการใดๆ ปรากฏ แต่ในผู้ที่ประสาทส่วนที่ควบคุมการทรงตัวทำงานไวผิดปกติ ก็จะทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อยากอาเจียน หากเป็นมากอาจมีอาการหน้ามืด ตัวเย็นคล้ายจะเป็นลม ยิ่งถ้าบริเวณนั้นอากาศไม่บริสุทธิ์ หรืออากาศถ่ายเทไม่สะดวก เช่น อากาศร้อนอบอ้าว มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ มีกลิ่นควันรถยนต์ มีกลิ่นบุหรี่ ก็จะยิ่งเป็นการกระตุ้นให้เกิดอาการเมารถ เมาเรือได้ง่ายและเร็วยิ่งขึ้นอีก
เมื่อมีอาการเมารถ เมาเรือ จะบรรเทาอาการได้อย่างไร?
อาการเมารถ เป็นอาการที่ไม่ร้ายแรงและสามารถบรรเทาได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง วิธีที่ดีที่สุดคือการลงจากรถเพื่อขจัดแรงกระตุ้น แต่หากทำไม่ได้ แนะนำให้ปฏิบัติตัวดังนี้
- หากตำแหน่งที่นั่งอยู่เป็นบริเวณด้านหลัง ถ้าเป็นไปได้แนะนำให้ย้ายที่นั่งมานั่งด้านหน้า
- พยายามสูดหายใจเข้าลึกๆ ยาวๆ หรือเปิดกระจกให้ลมปะทะหน้า หากมีผ้าเย็นแนะนำให้นำมาประคบบริเวณใบหน้า ข้อพับต่างๆ จะช่วยให้ร่างกายรู้สึกสดชื่น บรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะลงได้
- พยายามตั้งศีรษะให้ตรงและนิ่งที่สุด เพราะหากเกิดการเคลื่อนไหวมาก จะยิ่งทำให้เกิดอาการมากขึ้น
- ดมยาดมสมุนไพร รับประทานผลไม้รสเปรี้ยว เช่น เปลือกส้ม เปลือกมะนาว มะม่วงเปรี้ยว มะดัน มะขาม หรือเคี้ยวหมากฝรั่งสูตรเย็น ก็สามารถช่วยเรียกความสดชื่นได้
- ขิง นับว่ามีสรรพคุณในการช่วยบรรเทาอาการเมารถ เมาเรือได้ ดังนั้นหากมีอาการให้ลองดื่มน้ำขิงหรืออมลูกอมขิง
- นอนพัก หากลองทุกวิธีแล้วไม่ได้ผล แนะนำให้หลับตาและนอนพัก เพื่อปิดรับสัญญาณภาพ จะช่วยบรรเทาอาการได้
อาการเมารถป้องกันได้อย่างไร?
หากไม่อยากนั่งรถแล้วมีอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ จนต้องหาสารพัดวิธีมาแก้อาการ แนะนำให้ป้องกันแต่เนิ่นๆ ดังนี้
- พักผ่อนให้เพียงพอก่อนออกเดินทาง
- รับประทานอาหารให้พอดี ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เพราะจะทำให้รู้สึกเลี่ยน พะอืดพะอม กระตุ้นให้อยากอาเจียนได้ง่ายขึ้น แนะนำให้รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย รสไม่จัด เพราะหากเกิดการอาเจียนจะได้ไม่รู้สึกระคายคอ
- ห้ามอดอาหาร เพราะถ้าท้องว่างจะยิ่งทำให้เกิดอาการเมารถเร็วยิ่งขึ้น
- งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่
- สวมเสื้อผ้าสบายๆ ไม่รัดแน่น
- หากนั่งรถยนต์ พยายามนั่งด้านหน้า ในตำแหน่งที่มองเห็นทางข้างหน้าชัดเจน หรือนั่งในตำแหน่งที่อากาศถ่ายเทสะดวก โดยนั่งหลังตรง ตัวตรง มองตรง
- ห้ามอ่านหนังสือ เล่นเกม ใช้โทรศัพท์หรือดูโทรทัศน์ขณะโดยสารรถ
- รับประทานยาแก้เมารถล่วงหน้า 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมงก่อนออกเดินทาง
ยาแก้เมารถ เมาเรือ คืออะไร ควรรับประทานอย่างไร?
หลายคนคงคุ้นเคยกับการรับประทานยาแก้เมารถ เมาเรือ มาบ้าง ยานี้มีชื่อว่า ไดเมนไฮดริเนต (Dimenhydrinate) จัดอยู่ในกลุ่มยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) หรือที่เรียกว่ากลุ่มยาแก้แพ้ ออกฤทธิ์โดยตรงที่อวัยวะควบคุมการทรงตัวบริเวณหูชั้นใน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเมารถ เมาเรือ
นอกจากนี้ยาไดเมนไฮดริเนตยังนำมาใช้รักษาอาการคลื่นไส้ อาเจียน จากการแพ้ท้อง หรืออาการบ้านหมุนได้ด้วย โดยผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยที่สุดคือ อาการง่วงนอน มึนงง ดังนั้นหากรับประทานยาชนิดนี้แล้วห้ามขับขี่พาหนะใดๆ หรือใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ หรือเครื่องจักร ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายโดยเด็ดขาด
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
โดยทั่วไปยาแก้เมารถ เมาเรือ จะรับประทานเป็นเม็ด ขนาด 50 มิลลิกรัม
- ผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 1 เม็ด (50 มิลลิกรัม) ก่อนโดยสารพาหนะประมาณ 30 นาที รับประทานซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 400 มิลลิกรัมต่อวัน
- เด็กอายุ 6-12 ปี ให้รับประทานครั้งละ ½ เม็ด (25 มิลลิกรัม) ก่อนโดยสารพาหนะประมาณ 30 นาที รับประทานซ้ำได้ทุก 6-8 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 150 มิลลิกรัมต่อวัน
- เด็กอายุ 2-6 ปี ให้รับประทานครั้งละ ¼ เม็ด (12.5 มิลลิกรัม) ก่อนโดยสารพาหนะประมาณ 30 นาที รับประทานซ้ำได้ทุก 6-8 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 75 มิลลิกรัมต่อวัน
- เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ไม่ควรรับประทาน
- ผู้หญิงที่อยู่ในระยะให้น้ำนมบุตรไม่ควรรับประทาน
ยาแก้เมารถ เมาเรือ นับเป็นยาสามัญที่หาซื้อได้ทั่วไปตามร้านขายยาและร้านสะดวกซื้อ แม้จะไม่ใช้ยาอันตรายแต่ก็ควรอ่านฉลากยาโดยละเอียดและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากมีโรคประจำตัวใดๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยานี้
นอกจากยารับประทานแล้ว ยาแก้เมารถ เมาเรือ ยังมีแบบชนิดพลาสเตอร์ปิดลงบนผิวหนัง รู้จักกันในชื่อ ทรานสเดิร์ม สค็อป (Transderm scop) ลักษณะเป็นพลาสเตอร์บรรจุตัวยาสโคโปลามีน (Scopolamine) วิธีใช้คือ
- แปะพลาสเตอร์ที่หลังใบหูก่อนออกเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ได้เต็มที่ เพราะยาจะค่อยๆ ซึมเข้าสู่ร่างกายผ่านผิวหนังทีละน้อยๆ มีอายุการใช้งานนานถึง 3 วัน แต่หากต้องการใช้ยาสโคโปสามีนนานกว่า 3 วัน ควรดึงแผ่นเดิมทิ้ง และแปะแผ่นใหม่ที่ผิวหนังบริเวณอื่น
- ควรเลือกบริเวณหลังใบหูที่ไม่มีผม และเช็ดทำความสะอาดผิวหนังก่อนแปะพลาสเตอร์ หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีผื่นหรือแผล เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคือง หรือยาอาจถูกดูดซึมมากเกินไปได้
- ทำความสะอาดมือทั้งก่อนและหลังปิดพลาสเตอร์ เพื่อไม่ให้ตัวยาติดมือแล้วเข้าตา ซึ่งอาจทำให้ตาพร่ามัวได้ เนื่องจากสโคโปลามีนมีฤทธิ์ขยายม่านตาด้วย
อาการข้างเคียงที่อาจพบได้คือ ปากแห้ง ตามัว ม่านตาขยายกว้าง ง่วงนอน ซึม มึนงง แต่จะหายได้เองในภายหลัง
อาการเมารถ เมาเรือ แม้ไม่ใช่อาการที่ร้ายแรง แต่ก็นับเป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่สร้างความกังวลใจให้ใครหลายคน จนไม่อยากออกเดินทางเลยก็ได้ การเรียนรู้ลักษณะอาการ วิธีบรรเทาอาการในเบื้องต้น รวมไปถึงการป้องกันอย่างเหมาะสม ถือเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้คุณรู้สึกสนุกและมีความสุขกับการเดินทางมากยิ่งขึ้น เพราะจะช่วยลดโอกาสเสี่ยงของการเกิดอาการเมารถลงไปได้