dimenhydrinate motion sickness scaled

ยาแก้เมารถ เมาเรือ

เชื่อว่าใครหลาย ๆ คนคงเคยมีอาการมึนหัว พะอืดพะอม คลื่นไส้ อาเจียน หรือเมารถจากการเดินทางกันทั้งนั้น ซึ่งอาการเมารถ (Motion sickness) ในทางการแพทย์นั้นเรียกว่า ภาวะป่วยจากการเคลื่อนไหว

มีคำถามเกี่ยวกับ ยาแก้เมารถ? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

ภาวะป่วยจากการเคลื่อนไหว หรืออาการเมารถ เมาเรือ ไม่ใช่อาการป่วย แต่เป็นการตอบสนองของร่างกายต่อสถานการณ์ที่ไม่ปกติ และสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการใช้ยา ยาแก้เมารถ-เมาเรือ มีให้เลือกใช้หลายชนิด แต่ที่มีการใช้กันแพร่หลาย คือ “Dimenhydrinate (ไดเมนไฮดริเนท)” 

ยา Dimenhydrinate แก้เมารถ เมาเรือ  

Dimenhydrinate เป็นยาในกลุ่มยาแก้แพ้ เรียกว่า แอนตีฮิสตามีน (Antihistamine) จะออกฤทธิ์โดยตรงที่อวัยวะควบคุมการทรงตัวในหูชั้นใน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเมารถ–เมาเรือ

ยาแก้เมารถเป็นยาสามัญประจำบ้าน จัดว่าค่อนข้างปลอดภัยในการใช้ จึงหาซื้อได้ง่าย ทั้งตามร้านขายยา และร้านสะดวกซื้อทั่วไป

รูปแบบและปริมาณการใช้ยา Dimenhydrinate

Dimenhydrinate อยู่ในรูปแบบยาเม็ดสำหรับรับประทาน ขนาดยา 50 มิลลิกรัม

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป รับประทานครั้งละ 1–2 เม็ด ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 8 เม็ดต่อวัน 
  • เด็กอายุ 6–12 ปี รับประทานครั้งละ ½ –1 เม็ด ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 3 เม็ดต่อวัน 
  • เด็กอายุ 2–6 ปี รับประทานครั้งละ ¼–½ เม็ด ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 1 ½ เม็ดต่อวัน 

วิธีรับประทานยา Dimenhydrinate

  • ควรรับประทานยาก่อนออกเดินทางอย่างน้อย 30 นาที 
  • ไม่ควรรับประทานยานี้เมื่อมีอาการแล้ว เพราะยาจะปนออกมากับอาเจียน โดยไม่ถูกดูดซึมเข้าร่างกาย
  • สามารถรับประทานซ้ำได้ทุก 4–6 ชั่วโมง แต่ห้ามเกินปริมาณสูงสุด (ตามเนื้อหาด้านบน) 

ผลข้างเคียงจากยา Dimenhydrinate

ยานี้อาจทำให้เกิดอาการง่วงซึม เมื่อรับประทานไปแล้ว ไม่ควรขับขี่ยานพาหนะใด ๆ เอง หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล 

ทางเลือกอื่น ๆ ที่ช่วยแก้อาการเมารถ เมาเรือ 

พลาสเตอร์ยา ทรานสเดิร์ม สค็อป (Transderm Scop)

พลาสเตอร์ยา ทรานสเดิร์ม สค็อป (Transderm Scop) คืออีกทางเลือกสำหรับแก้อาการเมารถ เมาเรือ เป็นพลาสเตอร์ที่บรรจุตัวยาสโคโปลามีน (Scopolamine) ใช้แปะติดกับผิวหนังหลังใบหู เพื่อให้ตัวยาดูดซึมผ่านผิวหนัง และเข้าสู่กระแสเลือดในปริมาณน้อย ๆ อย่างสม่ำเสมอ 

พลาสเตอร์นี้จะใช้งานได้ประมาณ 3 วัน และหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปในเมืองใหญ่ ๆ 

ข้อควรปฏิบัติในการใช้พลาสเตอร์ยา ทรานสเดิร์ม สค็อป (Transderm Scop)

มีคำถามเกี่ยวกับ ยาแก้เมารถ? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

  • ควรแปะพลาสเตอร์ก่อนออกเดินทาง 4 ชั่วโมง เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ไว้ก่อน
  • ติดบริเวณหลังใบหู ตรงที่ไม่มีผม หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีแผลหรือเป็นผื่น เพราะอาจเกิดการระคายเคือง หรือทำให้ยาดูดซึมมากเกินไป และต้องเช็ดบริเวณดังกล่าวให้สะอาดด้วยกระดาษเช็ดหน้า 
  • ทำความสะอาดมือทั้งก่อนและหลังปิดแผ่นยาแก้เมารถ เพื่อไม่ให้ตัวยาติดมือแล้วเข้าตา ซึ่งอาจทำให้ตาพร่ามัวอยู่พักหนึ่ง เพราะสโคโปลามีนทำให้ม่านตาขยาย
  • ถ้าจำเป็นต้องใช้เกิน 3 วัน ให้แกะพลาสเตอร์แผ่นใหม่ แล้วปิดที่หลังใบหูอีกข้างหนึ่งแทน เพราะแผ่นหนึ่งไม่ควรใช้เกิน 3 วัน 

ข้อดีของพลาสเตอร์ยาแก้เมานี้ คือ จะดูดซึมยาได้ทีละเล็กละน้อย จึงช่วยลดอาการข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น ปากแห้ง  ตามัว  ม่านตาขยายกว้าง หรือง่วงนอน แต่บางรายก็อาจพบอาการเหล่านี้ได้บ้าง

ขิง

นอกจากพลาสเตอร์ยา สมุนไพรก็ช่วยแก้เมารถ เมาเรือได้เหมือนกัน ซึ่งสมุนไพรที่ว่า ก็คือ “ขิง” นั่นเอง

วิธีรับประทานขิง เพื่อเป็นยาแก้เมารถเมาเรือ

  • ในกรณีที่เป็นรูปแบบแคปซูล ให้รับประทานครั้งละ 2 แคปซูล ก่อนเดินทาง
  • ดื่มน้ำขิง หรือรับประทานอาหารที่มีขิงเป็นส่วนผสมหลัก
  • ฝานขิงเป็นแว่น ๆ แล้วนำมาอมก่อนออกเดินทาง

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับยาแก้เมารถ เมาเรือ

Q: หญิงตั้งครรภ์กินยาแก้เมารถได้หรือไม่

A: หญิงตั้งครรภ์สามารถใช้ยา Dimenhydrinate หรือที่คุ้นเคยกันว่าเป็นยาแก้เมารถ เพื่อบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ แต่อาจมีผลข้างเคียง เช่น ง่วง มึนงง จมูกแห้ง ลำคอแห้ง ปวดศีรษะ ดังนั้น จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาแก้เมารถ 

ปกติแล้ว แพทย์จะแนะนำให้ใช้ยา Pyridoxine (Vitamin B6) เป็นทางเลือกแรกในการลดอาการคลื่นไส้ที่ไม่รุนแรงขณะตั้งครรภ์ ขนาดที่แนะนำคือ รับประทานครั้งละ 10–25 มิลลิกรัม ทุก 6–8 ชั่วโมง (ขนาดการใช้สูงสุด ไม่เกินวันละ 200 มิลลิกรัม)

Q: คุณหมอคะ พอดีให้นมลูก แล้วแล้วเผลอกินยาแก้เมารถไปโดยไม่ได้เช็กก่อน ยาจะขับออกทางร่างกายภายในกี่ชั่วโมงคะ ลูกถึงจะกินนมแม่ได้ (เมื่อคืนทานยาไปตอนสองทุ่มครึ่งค่ะ) ขอบคุณมากนะคะ

A: ไม่แนะนำให้ใช้ Dimenhydrinate ระหว่างที่ให้นมบุตรค่ะ เนื่องจากยานี้ขับออกทางน้ำนมได้ และมีรายงานว่า ยาอาจทำให้เกิดอาการอันไม่พึงประสงค์ในทารก เช่น ปวดท้อง หรือไม่สบายตัว ประมาณ 10% และมีง่วงซึม ประมาณ 1.6% ของมารดาที่ใช้ยานี้ 

ยาแก้เมารถจะค่อย ๆ ลดประสิทธิภาพลง และถูกกำจัดออกทีละครึ่งหนึ่ง ทุก 8–9 ชั่วโมง  และจะถูกกำจัดออกเกือบหมด ใช้เวลาประมาณ 25–40 ชั่วโมงหลังรับประทานยาค่ะ

แต่ยาบางชนิดก็สามารถใช้ในขณะให้นมบุตรได้ค่ะ หากเจ็บป่วยหรือมีความจำเป็นต้องใช้ยาอีกในครั้งหน้า สามารถปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรใกล้บ้านเพื่อพิจารณายาที่เหมาะสมให้ได้นะคะ


ตรวจสอบความถูกต้องโดย ทีมแพทย์ HD

มีคำถามเกี่ยวกับ ยาแก้เมารถ? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

หากคุณติดตั้ง LINE บนคอมพิวเตอร์ของคุณแล้ว ระบบจะเปิดบัญชีทางการ LINE ของ Jib AI ผู้ช่วยสุขภาพ โดยอัตโนมัติ

หากคุณยังไม่ได้ติดตั้ง LINE บนเดสก์ท็อป โปรดสแกน QR โค้ดด้วย LINE บนโทรศัพท์มือถือของคุณเพื่อเริ่มแชทกับ Jib AI ผู้ช่วยสุขภาพ