กะเพรา ใบกะเพรา ข้อมูล ลักษณะ ประโยชน์ และวิธีใช้เพื่อสุขภาพ

แล้วคุณจะรู้ว่า เหตุใดผัดกะเพราจึงไม่ใช่เมนูสิ้นคิด แต่ควรเป็นเมนูสุขภาพที่ห้ามพลาดต่างหาก
เผยแพร่ครั้งแรก 11 เม.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 2 พ.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
กะเพรา ใบกะเพรา ข้อมูล ลักษณะ ประโยชน์ และวิธีใช้เพื่อสุขภาพ

กะเพรา เป็นผักที่มีจุดเด่นคือกลิ่นหอมฉุนและรสชาติเผ็ดร้อน ยิ่งเมื่อถูกความร้อน ยิ่งใีกลิ่นชวนให้น่ารับประทานยิ่งขึ้นจึงไม่แปลกที่เมนูพื้นๆ อย่าง "ผัดกระเพรา" จะครองใจคนไทยมาช้านาน หากินได้ง่ายๆ ตั้งแต่ร้านอาหารตามสั่งข้างทางไปจนถึงร้านอาหารหรู  ว่าแต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า มากกว่าความอร่อย กะเพรายังประโยชน์ต่อสุขภาพหลายๆ ด้านด้วย  

รู้จักกะเพรา

กะเพรา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ocimum tenuiflorum L. เป็นไม้ล้มลุกอายุยืน สูงประมาณ 30-80 เซนติเมตร  ลำต้นแข็งแรง มีกิ่งก้านอ่อนสีเขียวและมีขนปกคลุม ใบมีลักษณะเป็นรูปรี ปลายใบแหลม หรือมน  ขอบใบหยักแบบฟันเลื่อย  ออกดอกเป็นช่อซ้อนกันแบบช่อฉัตรที่ปลายยอด กลีบดอกมีสีชมพูแกมม่วง ผลเป็นแบบแห้งแล้วแตกออกภายในมีเมล็ดรูปไข่สีน้ำตาลดำ  กะเพรามีด้วยกัน 2 ชนิดคือ กะเพราขาวและกะเพราแดง นิยมใช้กะเพราแดงในแง่ของยาและใช้กะเพราขาวประกอบอาหาร

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

การใช้ประโยชน์ที่นิยมที่สุดคือ "ใบ" เพราะมีสรรพคุณขับลม แก้จุกเสียด แน่นท้อง ช่วยย่อยอาหาร แก้คลื่นเหียนอาเจียน   "เมล็ด"  นำไปแช่น้ำจะพองตัวขึ้น ใช้พอกตาเมื่อผง หรือฝุ่นละอองเข้าไป  และสุดท้าย "ราก" ต้มกับน้ำร้อนดื่ม แก่โรคธาตุพิการ  ในอินเดียจัดให้กะเพราเป็นยาอายุวัฒนะ และเป็นราชินีแห่งสมุนไพร  สามารถนำมารักษาโรคได้มากมาย 

คุณค่าทางโภชนาการของกะเพรา

อุดมไปด้วยคุณค่าทางสารอาหารมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิตามินเอ และเบต้าแคโรทีน  รองลงมาได้แก่  คาร์โบไฮเดรต ไขมัน  วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 ไนอะซีน  น้ำ  วิตามินซี  ธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก 

ประโยชน์ของกะเพรา

  • ช่วยขับไขมันส่วนเกินออกจากร่างกาย

มีฤทธิ์ในการลดระดับของไขมันในร่างกาย มีการทดลองใช้ใบกะเพราในกระต่ายทดลองโดยให้กระต่ายกินใบกะเพราเป็นเวลา 4 สัปดาห์ติดต่อกัน ผลปรากฎว่า ระดับไขมันโดยรวมในกระต่ายลดลงโดยเฉพาะไขมันเลว ในขณะที่ไขมันชนิดดีกลับเพิ่มขึ้น

มีฤทธิ์ในการขับไขมันและน้ำตาลที่เป็นส่วนเกินออกจากร่างกายได้จึงช่วยลดระดับของน้ำตาลในเลือดได้ดี  กะเพราจึงสามารถป้องกันโรคเบาหวานได้    ผลงานวิจัยชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นว่ากะเพราทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยในขณะที่อดอาหารและหลังมื้ออาหารลดลงในระหว่างที่เข้ารับการทดลอง ซึ่งระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยในขณะที่อดอาหารลดลงไปร้อยละ 17.6 ในขณะที่ระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากผู้ป่วยทานอาหารลดลงร้อยละ 7.3   

  • ป้องกันโรคมะเร็ง

สามารถยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งในช่องปากได้ โดยมีการนำเอาสารสกัดชนิดน้ำและชนิดผงจากใบกะเพราแบบเข้มข้นและแบบอ่อนมาทดลองกับเซลล์มะเร็งช่องปาก พบว่า สารสกัดทั้งสองนั้นมีฤทธิ์ในการทำลายเซลล์มะเร็งในช่องปากได้อย่าง นอกจากนี้ยังพบว่า สารที่สกัดจากใบกะเพราด้วยเอทิลแอลกอฮล์ มีฤทธิ์ต้านการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับ และมะเร็งผิวหนังในหนูเม้าส์ได้

  • รักษาสุขภาพในช่องปาก

งานวิจัยชิ้นหนึ่งได้มีการศึกษาประเด็นเกี่ยวกับการรักษาสุขภาพในช่องปาก โดยแบ่งผู้ทดลองให้ใช้น้ำยาบ้วนปากจากผลิตภัณฑ์ต่างๆ  ผลการทดลองพบว่า ผู้ที่บ้วนปากด้วยกะเพรามีระดับคราบพลัคและอาการเหงือกอักเสบลดลงเมื่อเทียบกับผู้ที่ใช้คลอร์เฮกซิดีน ที่สำคัญยังไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงใดๆ อีกด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

  • ใช้ประกอบเมนูอาหารได้อย่างหลากหลาย

นอกจากจะมีสรรพคุณช่วยในการรักษาโรคต่างๆ ได้เป็นอย่างดีแล้ว เรายังสามารถนำใบกะเพราไปประกอบเป็นเมนูอาหารจานเด็ดและน่าสนใจได้อีกมากมาย เช่น แกงป่า แกงเลียง แกงคั่ว แกงเขียวหวาน แกงส้มมะเขือขื่น ผัดหมู ผัดกบ ผัดปลาไหล พล่าปลาดุก และพล่ากุ้ง เป็นต้น หรือหากจะเพิ่มสีสันและความอร่อยให้กับเมนูอื่นๆ ก็ทำได้ด้วยการนำใบกะเพรามาทอดแล้วใช้โรยหน้าอาหาร เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้จานอาหารดูมีสีสันหน้าทานและให้รสชาติที่อร่อย แถมยังช่วยดับกลิ่นคาวเนื้อสัตว์ได้ในตัวอีกด้วย

คุณแม่หลังคลอดสามารถเอาใบกะเพรามาใส่ผสมลงไปในเมนูอาหารต่างๆ ได้ตามต้องการโดยเฉพาะอย่างยิ่งแกงเลียง จะช่วยให้มีน้ำนมมากพอที่จะให้ลูกน้อยดื่มกิน  

มีประโยชน์ช่วยแก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อยได้เป็นอย่างดี โดยการตำใบกะเพราผสมเข้ากับเหล้าขาว แล้วนำมาทาบริเวณที่ถูกสัตว์มีพิษกัดต่อยก็ช่วยแก้พิษได้แล้ว ทั้งนี้ไม่ควรนำส่วนผสมที่ได้มารับประทานเด็ดขาด เนื่องจากจะมีสารยูจีนอลที่ทำให้เกิดการระคายเคืองในกระเพาะอาหารได้

ไอเดียการกินกะเพราเพื่อสุขภาพ

นอกจากเมนูอาหารดังที่นำเสนอไปดังกล่าวก็ยังมีเมนูอื่นๆ ที่ใช้กะเพราเป็นส่วนประกอบเพื่อเพิ่มความหอมฉุนและความเผ็ดร้อน โดยเฉพาะเมนูแกงเผ็ดและเมนูต้มยำบางเมนู

  • ไข่เจียวใบกะเพรา     

ตอกไข่ ตีให้เข้ากัน เหยาะน้ำปลา และซีอิ๊วอย่างละเล็กน้อย แล้วเด็ดใบกะเพราใส่ลงไปพอประมาณ ตีให้เข้ากันแล้วทอด  ในกระทะที่ใส่น้ำมันร้อน ๆ จะได้ไข่เจียวที่ทั้งหอมและมีรสชาติอมเผ็ดนิดๆ 

  • ใบกะเพราทอดกรอบ    

เด็ดใบกะเพรา แล้วลงไปทอดในน้ำมันเดือด ๆ จะได้ใบกะเพราทอดกรอบที่มีรสชาติทั้งกรอบทั้งมัน  รับประทานคู่กับทอดมันก็อร่อย หรือจะเอามาโรยบนอาหารทอดชนิดต่าง ๆ ก็รับประทานเพลินไม่แพ้กัน และที่ต้องลองคือ ยำใบกะเพราะทอด   มีวิธีทำง่ายๆ คือ  ทอดใบกะเพราแล้วนำมาคลุกเคล้ากับน้ำยำรสชาติเข้มข้น โรยด้วยไข่ต้ม กุ้งสับ หรือหมูสับ 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

  • ผัดฉ่าปลาหมึก   

เป็นเมนูเผ็ดร้อน ที่เหมาะสำหรับนำมารับประทานกับข้าวสวยร้อนๆ  หรือจะทำเป็นกับแกล้มก็ดีไม่น้อย วิธีทำก็แค่ตำกระเทียมกับพริกขี้หนูให้เข้ากัน  ตั้งกะทะใส่น้ำมันไว้ให้เดือด ใส่ปลาหมึกลงไปผัดให้สุก ปรุงรสตามชอบด้วยด้วยน้ำปลา น้ำตาล น้ำมันหอย และน้ำซุป จากนั้นให้ใส่ใบมะกรูด กระชาย พริกชี้ฟ้า พริกไทยสด ผัดให้เข้ากันอีกครั้ง แล้วใส่ใบกะเพรา เป็นอันเรียบร้อย

  • ข้าวต้มทะเลใส่ใบกะเพรา   

เปลี่ยนข้าวต้มจืด ๆ เป็นข้าวต้มที่กระตุ้นเลือดลมและเรียกเหงื่อสุดแสนอร่อยแค่เติมใบกะเพราลงไป  วิธีทำคือ ทำข้าวต้มตามปกติ แล้วใส่ใบกะเพราปิดท้าย แล้วยกเสิร์ฟทันที กลิ่นหอมของใบกะเพราจะช่วยกระตุ้นให้เกิดความอยากอาหารมากยิ่งขึ้น ในผู้ที่เป็นหวัด หรือมีอาการคัดจมูก ถ้าได้ทานเมนูนี้เข้าไปจะช่วยให้หายใจสะดวกมากยิ่งขึ้น

  • น้ำกะเพรา    

เป็นเมนูเพื่อสุขภาพอย่างแท้จริงเพราะได้ทั้งรสชาติอร่อยและยังช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกายได้อีกด้วย  เพียงแค่นำใบกะเพราไปต้มในน้ำให้เดือด เติมน้ำตาลอ้อย หรือน้ำตาลมะพร้าวลงไปให้หวานเล็กน้อย เมนูนี้เพียงแค่ได้กลิ่นก็จมูกโล่งไปถึงคอ

ไอเดียการใช้กะเพราเพื่อสุขภาพ 

  • แก้อาการคลื่นไส้ อาเจียน จุกเสียดแน่นท้อง 

นำใบกระเพราไปตากแดดไว้ให้แห้ง แล้วใช้ใบแห้งประมาณ  4 กรัม นำมาชงกับน้ำร้อนดื่มวันละ 1-2 ครั้ง

  • ช่วยรักษาอาการปวดมวนในท้อง 

นำใบกะเพราสดมาคั้นเอาแต่เฉพาะน้ำให้ได้ 1 แก้วเป๊ก หรือ 1 ถ้วยตะไล แล้วดื่มทันที อาการปวดท้องจะค่อย ๆ ดีขึ้นภายใน 10-15 นาที

  • รักษาโรคผิวหนังและอาการลมพิษ 

ใช้ใบกะเพราสด 1 กำมือ ตำให้แหลกแล้วเอามาผสมกับเหล้าขาว จากนั้นนำมาทา หรือเอาใส่ขวดสเปรย์พ่นไปที่ผิวหนังที่มีอาการ ทำวันละ 2 ครั้ง สูตรนี้สามารถใช้รักษาพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อยได้เช่นกัน

  • ใช้เป็นยารักษาโรคหูด 

นำใบกะเพราชนิดสีแดงสดมาขยี้จากนั้นนำไปทาบริเวณที่เป็นหูด ทาทุกเช้าและเย็น ทำจนกว่าหัวหูดจะหลุดออกมา ทั้งนี้ควรระมัดระวังอย่าให้เข้าตา หรือไปถูกบริเวณที่ไม่ได้เป็นหูด เพราะน้ำยางกะเพราะที่ใช้กัดหูดมีความเป็นพิษมาก อาจทำให้ผิวหนังในส่วนที่ดีเกิดการระคายเคือง หรือร้ายไปกว่านั้นอาจเน่าเปื่อยได้ ซึ่งรักษาให้หายได้ยากอีกด้วย

  • ใช้ในการไล่ยุง 

บอกลาปัญหายุงมากวนใจได้เลย เพียงนำใบกะเพราและกิ่งมาขยี้จนน้ำมันหอมระเหยออกมาแล้วนำมาวางไว้ใกล้ตัว แค่นี้ก็ช่วยไล่ยุงและแมลงต่างๆ ได้แล้ว 

ข้อควรระวังของกะเพรา

  • เป็นพืชที่มีรสเผ็ดร้อน หากรับประทานมากเกินไปก็อาจทำให้เกิดอาการร้อนในได้
  • เลือกใช้แบบปลอดสารพิษ หรือหากปลูกเองได้จะดีที่สุด
  • หากใช้เพื่อการรักษาควรเลือกใช้ในปริมาณที่เหมาะสม และไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกินไป 

รู้อย่างนี้แล้ว ใครที่ชอบสั่งผัดกะเพราแล้วเขี่ยใบออกไปไว้ข้างๆ จาน ไม่ยอมรับประทานอาจต้องพิจารณากันใหม่  พยายามลองรับประทานบ่อยๆ แล้วคุณจะรู้ว่า กะเพรามีรสชาติอร่อย ไม่ขมอย่างที่เข้าใจ แถมยังได้สรรพคุณทางยาอีกด้วย


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
เอกชัย คุ้มพันธ์ พรทิพย์ ฐิตะพานิชย์ วิภาวี วิสาวะโท ดรุณี บุรีภักดี ลอว์สัน. การศึกษาคุณสมบัติต้านการก่อกลายพันธุ์พร้อมกับคุณสมบัติต้านการเจริญของเซลล์มะเร็งตับของสารสกัดจากใบกะเพราในหนูแรท Sprague-Dawley ที่ได้รับการปลูกถ่ายเซลล์มะเร็งตับสายพันธุ์ AS-30D. การประชุมวิชาการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 13, 15-16 พฤษภาคม, กรุงเทพ, 2544
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก. ตำราอ้างอิงยาสมุนไพรไทย เล่ม 2. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพ. อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิซซิ่ง จำกัด (มหาชน). 2558. หน้า44-48

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป