โรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency anemia) เป็นโรคโลหิตจางชนิดทั่วๆไป ที่มีสาเหตุเนื่องจากเลือดมีปริมาณเซลล์เม็ดเลือดแดงที่แข็งแรงไม่เพียงพอ
เมื่อร่างกายมีธาตุเหล็กไม่เพียงพอ ร่างกายจะไม่สามารถผลิตฮีโมโกลบิน (hemoglobin) ได้อย่างเพียงพอด้วย ฮีโมโกลบินเป็นสารในเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ช่วยเซลล์เม็ดเลือดลำเลียงออกซิเจนไปยังเนื้อเยื่อต่างๆในร่างกายและกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์
ทั้งนี้การที่มีเซลล์เม็ดเลือดแดงไม่เพียงพออาจทำให้มีอาการเหนื่อยล้า หายใจหอบนั่นเอง
โรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กมักจะเกิดขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป เนื่องจากร่างกายจะดึงเอาธาตุเหล็กที่มีอยู่ออกมาใช้ จนธาตุเหล็กหมดในที่สุด
ผู้ป่วยที่มีอาการภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กอย่างรุนแรงอาจต้องเข้ารับเลือด (blood transfusion) หรือการฉีดธาตุเหล็กเข้าเส้นเลือดดำ (IV)
สาเหตุของภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก
- เกิดจากการรับประทานอาหารกลุ่มที่มีธาตุเหล็กมากไม่เพียงพอ ได้แก่ เนื้อไก่ เนื้อปลา ถั่วต่างๆ เต้าหู้ ผลไม้อบแห้ง ผักใบเขียวเข้ม เช่น ผักขมและผักชาร์ด (chard) ขนมปังธัญพืช
- ร่างกายไม่สามารถดูดซึมธาตุเหล็กได้ บางครั้งเรารับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กในปริมาณที่เหมาะสมแล้ว แต่นั่นอาจยังไม่พอถ้าร่างกายเราไม่สามารถดูดซึมธาตุเหล็กได้อย่างเหมาะสม
- ผู้ที่เคยผ่าตัดลำไส้ เช่น กระเพาะอาหาร หรือผู้ที่เป็นโรค Crohn's disease หรือโรคแพ้กลูเตน (Coeliac Disease)
- การรับประทานทานยาเพื่อลดกรดในกระเพาะอาหารอาจส่งผลให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กน้อยได้
- การเสียเลือด เมื่อไหร่ก็ตามที่เสียเลือด คุณก็จะเสียธาตุเหล็กไปด้วย ยิ่งเสียเลือดมาก ก็ยิ่งเสียธาตุเหล็กมาก คุณจะมีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กหากร่างกายคุณมีธาตุเหล็กไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้ทดแทนธาตุเหล็กที่เสียไปพร้อมกับการเสียเลือดนั่นเอง
การเสียเลือดที่ทำให้เสียธาตุเหล็กด้วย
- เป็นประจำเดือนอย่างหนัก
- เนื้องอกที่มีเลือดออก (ที่ไม่ใช่มะเร็ง)ในมดลูก
- การคลอดบุตร
- เลือดออกภายในซึ่งเกิดจากฝีหนอง ติ่งเนื้อที่ลำไส้ใหญ่ มะเร็งลำไส้ใหญ่ เลือดออกในทางเดินปัสสาวะ การใช้ยาแก้ปวด หรืออื่นๆ
- การบาดเจ็บ หรือการผ่าตัด
- การเจาะเลือดซ้ำๆ
อาการของภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก
หากภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กอยู่ในระดับอ่อนๆ ไปจนถึงปานกลาง โรคอาจจะไม่แสดงอาการ หรือสัญญาณใดๆเลย แต่ถ้าภาวะนี้เริ่มเป็นหนักขึ้น อาจมีอาการดังต่อไปนี้
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
- ปวดศีรษะ
- วิงเวียนศีรษะ หรือหน้ามืดจะเป็นลมจนแทบยืนไม่อยู่
- มีอาการแห้งแตกรอบๆปาก
- ลิ้นบวม หรือมีอาการปวด
- หัวใจเต้นเร็ว
- หายใจถี่
- เจ็บหน้าอก
- ร่างกายอ่อนแอ
- เมื่อยล้า
- มีผิวซีด
- ติดเชื้อบ่อยครั้ง
- มือเท้าเย็น
- เล็บเปราะ หักง่าย
- ไม่อยากอาหาร
- เป็นโรคขาอยู่ไม่สุข
- ม้ามโต
- อยากกินสิ่งที่กินไม่ได้ เช่น น้ำแข็ง ฝุ่น/โคลน สี หรือแป้ง
อาหารที่ช่วยรักษาภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก
หากคุณมีภาวะโลหิตจางอ่อนๆ แพทย์จะแนะนำให้รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็กดังต่อไปนี้
- เนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อวัวและตับ
- สัตว์ปีก โดยเฉพาะตับไก่จะเป็นแหล่งรวมธาตุเหล็กเลยทีเดียว
- ปลาและหอย โดยเฉพาะหอยนางรม
- ผักใบเขียว เช่น ผักคะน้า ผักขม บร็อกโคลี่
- ถั่วต่างๆ (ทั้งถั่วแห้งและถั่วสด)
- ขนมปังที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก พาสต้า และซีเรียล
ธาตุเหล็กที่ได้จากผักจะถูกดูดซึมได้น้อยกว่าธาตุเหล็กที่ได้จากเนื้อสัตว์ สัตว์ปีก และอาหารทะเล
การรักษาภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก
การรักษาโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กต้องอาศัยเวลา หากผู้ป่วยรักษาด้วยวิธีบางวิธีไม่สำเร็จ แพทย์อาจแนะนำให้รักษาด้วยวิธีอื่นๆ เช่น
- รับประทานอาหารเสริมธาตุเหล็ก เป็นยาที่ขายตามร้านขายยา อยู่ในรูปแบบของยาเม็ดหรือยาน้ำ (ในกรณีที่ต้องใช้ในเด็ก หรือทารก) แพทย์จะให้คำแนะนำเป็นพิเศษเกี่ยวกับการใช้อาหารเสริมสารอาหารนี้ เพื่อให้แน่ใจว่า ร่างกายคุณสามารถดูดซึมธาตุเหล็กได้อย่างเหมาะสม ซึ่งอาจต้องรับประทานเมื่อท้องว่าง หรือรับประทานพร้อมกับวิตามินซี นอกจากนี้แพทย์ยังอาจแนะนำให้คุณหลีกเลี่ยงยาแก้ท้องเฟ้อ
- การใช้ยารักษา เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด เพื่อลดประจำเดือน ยาปฏิชีวนะ หรือยาอื่นๆเพื่อรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร (peptic ulcers)
- การผ่าตัดเพื่อตัดติ่งเนื้อ หรือเนื้องอกที่มีเลือดออก
- ถ้ามีอาการรุนแรงคุณต้องได้รับธาตุเหล็กทางหลอดเลือดดำ (ด้วยวิธี IV หรือการฉีดเข้าเส้นเลือดดำ) หรือต้องได้รับการเข้าเลือด (Blood Transfusion)
หมั่นรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ เน้นไม่ติดมัน ตับ ผักใบเขียว ผลไม้ ถั่ว และธัญพืชต่างๆ รวมทั้งพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง มีธาตุเหล็กมากเพียงพอ หากสงสัยว่า อาจมีอาการซีด หรือโลหิตจาง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพ จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกการอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android
คุณแม่เป็นพารัสซิเมียต้องให้เลือดตลอด ควรทำอย่างไรคะ