กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

รวมความรู้ที่จำเป็นเกี่ยวกับแผลร้อนใน

สาเหตุของแผลร้อนใน ป้องกันและรักษาได้อย่างไร ดูแลตนเองอย่างไรได้บ้าง?
เผยแพร่ครั้งแรก 8 เม.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 9 ธ.ค. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 29 ส.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที
รวมความรู้ที่จำเป็นเกี่ยวกับแผลร้อนใน

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • แผลร้อนใน เป็นแผลขนาดเล็ก มีความตื้น มีสีเหลือง หรือขาวล้อมรอบไปด้วยสีแดง พบได้ในเนื่อเยื่ออ่อนภายในช่องปาก เหงือก ด้านในริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม ใต้ลิ้น ปลายลิ้น หรือโคนลิ้น
  • ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดแน่ชัด แต่มีหลายปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดได้ เช่น ความเครียด พักผ่อนไม่พอ ได้รับบาดเจ็บในช่องปาก รับประทานอาหารร้อนจัด รสจัด มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือมีประจำเดือน
  • อาการของแผลร้อนใน คือ เจ็บบริเวณที่เกิดแผล ทำให้กลืนอาหาร หรือพูดได้ลำบากขึ้น
  • การรักษาแผลร้อนในควรบ้วนปากด้วยน้ำเกลือวันละ 2-3 ครั้ง รับประทานยาแก้ปวดได้ หรือใช้ยาป้ายจนกว่าแผลจะหาย
  • วิธีการป้องกันคือ ดูแลสุขอนามัยภายในช่องปาก แปรงฟันเป็นประจำ รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด และออกกำลังกายเป็นประจำ (ปรึกษาแพทย์ปัญหาแผลในปากได้ที่นี่)

"โรคร้อนใน" มักเกิดขึ้นในช่องปากโดยไม่ทันได้ตั้งตัว นอกจากจะทำให้มีอาการเจ็บปวดแล้วยังทำให้ไม่สามารถรับประทานอาหารและเครื่องดื่มได้ตามปกติด้วย 

โดยทั่วไปโรคร้อนในสามารถหายได้เองตามธรรมชาติ แต่หากมีอาการที่รุนแรงมากๆ ก็ควรดูแลตนเองให้ดี แต่จะดีไปกว่านั้นหากเราสามารถรู้เท่าทันวิธีป้องกันโรคร้อนในได้ 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ร้อนในคืออะไร?

โรคร้อนใน หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อว่า "แผลร้อนใน (Aphthous Ulcers)" หรือเรียกสั้นๆได้อีกว่า "ร้อนใน" คือ แผลที่มีขนาดเล็ก และมีความตื้น สีของแผลจะมีสีเหลือง หรือขาวและล้อมรอบไปด้วยสีแดง แผลร้อนในจะเกิดที่บริเวณเนื้อเยื่ออ่อนภายในช่องปาก หรือเหงือก 

แต่ผู้ป่วยบางรายก็อาจพบแผลร้อนในได้ในบริเวณด้านในริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม ใต้ลิ้น ปลายลิ้น หรือโคนลิ้น ส่งผลให้มีอาการเจ็บเมื่อมีการขยับปาก ไม่ว่าจะเป็นในช่วงรับประทานอาหาร หรือกำลังพูดคุยอยู่ก็ตาม

ปกติแล้ว อาการปวดแผลร้อนในจะหายได้เองโดยไม่ต้องรับการรักษาใดๆ ภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยุ่กับการดูแลของผู้ป่วยด้วยเช่นกัน เช่น การทายา การบ้วนน้ำเกลือ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารบางชนิด 

ในส่วนของแผลร้อนในที่มีขนาดใหญ่ หากสังเกตดูแล้วไม่มีทีท่าว่าจะหายได้ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ เพื่อหาวิธีการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

สาเหตุของแผลร้อนใน

สำหรับสาเหตุของแผลร้อนในนั้นยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคนี้อย่างแน่ชัด แต่อาจเกิดจากปัจจัยหลายๆ อย่างร่วมกัน รวมทั้งอาจมีความสัมพันธ์กับปฏิกิริยาภูมิต้านทานของร่างกายด้วย 

แต่โดยเฉลี่ยแล้วพบว่า ผู้ป่วยที่เป็นแผลร้อนในบ่อยประมาณ 30-40% มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วย ดังนั้นจึงทำให้เชื่อได้ว่า แผลร้อนในสามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็เกิดอาการขึ้นมาเองได้โดยที่ไม่มีสิ่งใดเป็นตัวกระตุ้น ในขณะที่มีผู้ป่วยเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เกิดแผลร้อนในจากสิ่งกระตุ้นจนทำให้มีอาการกำเริบขึ้นมา

สิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดแผลร้อนใน 

  1. ความเครียด ความกังวล และความเหนื่อยล้า รวมทั้งการมีอารมณ์โมโหฉุนเฉียว ไม่ว่าจะเกิดจากการทำงาน เรื่องส่วนตัว หรือความเครียดจากการอ่านหนังสือสอบ ล้วนกระตุ้นให้เกิดแผลร้อนในได้ เนื่องจากการศึกษาพบว่า การเกิดแผลร้อนในนั้นมีความสัมพันธ์กับอาชีพของผู้ป่วย รวมทั้งความวิตกกังวลด้วยเช่นกัน
  2. ผู้ป่วยพักผ่อนไม่เพียงพอ นอนดึก และนอนน้อย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุต้นๆ ที่กระตุ้นให้เกิดแผลร้อนในได้
  3. ผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บภายในช่องปาก ไม่ว่าจะเป็นที่เยื่อบุปาก หรือกัดลิ้นขณะเคี้ยวอาหาร แม้แต่ถูกแปรงสีฟันกระแทก หรือมีของแข็งกระทบในช่องปาก
  4. ใช้ยาบางชนิดที่ส่งผลทำให้เกิดแผลร้อนใน เช่น ยาแอสไพริน (Aspirin) ยาต้านการอักเสบซึ่งไม่ใช่เสตียรอยด์ ยาอะเลนโดรเนต (Alendronate) ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาโรคกระดูกพรุน
  5. รับประทานอาหารที่มีฤทธิ์ร้อน เช่น ของมัน ของทอด เหล้า เบียร์ เนื้อติดมัน 
  6. รับประทานอาหารรสจัด ไม่ว่าจะเป็นเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัด หรือหวานจัด ล้วนกระตุ้นให้เกิดแผลร้อนในได้
  7. แพ้อาหารบางชนิด เช่น เนยแข็ง นมวัว ช็อกโกแลต กาแฟ โค้ก ของเผ็ด แป้งข้าวสาลี ผลไม้จำพวกส้ม
  8. ผู้ป่วยมีอาการแพ้สารบางชนิดที่อยู่ในยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปาก เช่น ยาสีฟันที่มีสารเจือปนอย่างโซเดียม ลอริล ซัลเฟต (Sodium lauryl sulfate) หรือโซเดียม ลอริล ซาโครซิเนต (Sodium lauryl sarcosinate)
  9. ผู้ป่วยมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ เป็นโรคเอดส์
  10. เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น เชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter pylori)
  11. เกิดจากการติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น โรคเริม
  12. ผู้ป่วยมีภาวะขาดวิตามินและเกลือแร่บางชนิด โดยเฉพาะธาตุเหล็ก สังกะสี กรดโฟลิก (Folic acid) และวิตามินบี 12
  13. การมีประจำเดือน เป็นสิ่งกระตุ้นทำให้เกิดแผลร้อนในได้ โดยเฉพาะในช่วงใกล้ หรือช่วงกำลังมีประจำเดือนอยู่ เนื่องจากแผลร้อนในอาจสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในผู้ป่วยผู้หญิง
  14. เกิดจากการเลิกบุหรี่ เนื่องจากแผลร้อนในเกิดขึ้นได้น้อยมากในกลุ่มผู้สูบบุหรี่นั่นเอง

อาการของแผลร้อนใน

มีแผลเปื่อยและมีอาการเจ็บเกิดขึ้นในช่องปาก เป็นแผลที่เป็นๆ หายๆ อยู่บ่อยครั้ง แต่แผลชนิดนี้จะขึ้นก็ต่อเมื่อมีสิ่งมากระตุ้นตามที่กล่าวมาข้างต้น

อาการเริ่มจาก 

  • ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกเจ็บบริเวณตำแหน่งที่จะเกิดแผลร้อนใน 
  • มีรอยแดงที่มีลักษณะกลม หรือเป็นวงรี อาการเหล่านี้จะแสดงออกก่อนที่จะมีแผลเปื่อยประมาณ 2-3 วัน 
  • หลังจากนั้นแผลเปื่อยก็จะปรากฏขึ้นตรงบริเวณที่เป็นรอยแดงก่อนหน้า

ขนาดของแผลร้อนในจะมีตั้งแต่ไม่กี่มิลลิเมตรไปจนถึงหลายเซนติเมตร นอกจากนี้แผลร้อนในที่เกิดขึ้นจะมีทั้งแผลเดียวและหลายแผล ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายในขณะนั้นและปัจจัยการเกิดแผลของผู้ป่วยแต่ละราย

ผลกระทบจากแผลร้อนใน

สำหรับอาการเจ็บแผลร้อนในจะเป็นมากในช่วง 2-3 วันแรก ในช่วงนี้ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกเจ็บ ปวด และแสบที่บริเวณแผลมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลารับประทานอาหารรสเผ็ดและเปรี้ยวจัด หากมีแผลที่มีขนาดใหญ่ก็อาจจะทำให้มีความรู้สึกเจ็บมากจนไม่สามารถกลืน หรือพูดได้อย่างสะดวกเหมือนปกติ 

เมื่อแผลเริ่มมีอาการดีขึ้น ขนาดของแผลก็จะมีขนาดเล็กลง ตามปกติแล้วผู้ป่วยจะไม่เป็นไข้ ไม่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ต่อมน้ำเหลืองโต รวมทั้งไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ ร่วมอยู่ด้วย แต่หากผู้ป่วยมีอาการดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

การรักษาแผลร้อนใน

การรักษาแผลร้อนในมีอหลายวิธีด้วยกันขึ้นอยู่กับความรุนแรงของแผล หากไม่รุนแรงมากก็อาจเป็นแค่การจิบน้ำ บ้วนน้ำเกลือ หรือป้ายยาที่แผลวันละ 3-4 ครั้ง แต่หากผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดมาก หรือไม่สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติก็อาจต้องพึ่งวิธีการรักษาอื่นเพิ่มเติม วิธีรักษาแผลร้อนในมีดังต่อไปนี้

  1. บ้วนปากด้วยน้ำเกลือประมาณวันละ 2-3 ครั้ง น้ำเกลือจะช่วยรักษาแผลร้อนในได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยทำให้ปากสะอาด และช่วยให้แบคทีเรียลดลง ผู้ป่วยสามารถทำน้ำเกลือที่บ้วนปากเองได้โดยการผสมเกลือ 1 ช้อนชา ในน้ำ 1 แก้ว 
  2. รับประทานยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เพื่อบรรเทาอาการปวด หากมีอาการปวดแผลร้อนในมากจนทนไม่ไหวสามารถรับประทานยาดังกล่าวได้ 
  3. ใช้ยาป้ายแผลวันละ 3-4 ครั้งต่อวัน จนกว่าแผลจะหาย ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องการให้แผลหายเร็ว หรืออาจมีอาการเจ็บปวด
  4. ใช้ยาปฏิชีวนะช่วยในการรักษา หากผู้ป่วยเกิดความสงสัยว่า แผลอาจเกิดการติดเชื้อ แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะใช้ยา
  5. ให้อาหารและน้ำทางหลอดเลือดดำ หากผู้ป่วยมีอาการเจ็บแผลร้อนในมากจนไม่สามารถรับประทานอาหารและดื่มน้ำได้ตามปกติ แต่ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

วิธีป้องกันการเกิดแผลร้อนใน

  • หมั่นดูแลสุขอนามัยภายในช่องปาก
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ทำให้เกิดการระคายเคืองในช่องปาก อาหารที่มีรสจัด เค็มจัด หรือผลไม้ที่มีกรดในปริมาณมาก
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่แพ้
  • แปรงฟันหลังรับประทานอาหารแต่ละมื้อเป็นประจำ หรือใช้ไหมขัดฟันวันละครั้งก็จะสามารถช่วยทำให้ช่องปากสะอาด และไม่มีเศษอาหารหลงเหลือที่อาจไปกระตุ้นทำให้เกิดแผลร้อนในได้ 
  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของโซเดียม ลอริล ซัลเฟต อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงการเคี้ยวหมากฝรั่งด้วย
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • หลีกเลี่ยงความเครียด หรือรู้จักวิธีผ่อนคลายความเครียดอย่างเหมาะสม
  • รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ ผักผลไม้ และธัญพืช เพื่อป้องกันการขาดวิตามินและแร่ธาตุในร่างกาย 

การดูแลตนเองเมื่อเป็นแผลร้อนใน

  • หมั่นดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ เฉลี่ยวันละประมาณ 8-10 แก้ว
  • รับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ในทุกมื้อ และควรเน้นอาหารประเภทโฮลเกรน (Whole Grains) นม ถั่ว ไข่ ตับ เนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน ปลา และอาหารทะเล เพื่อให้แน่ใจว่ าร่างกายจะได้รับวิตามินบี ธาตุเหล็ก สังกะสี และกรดโฟลิกเพียงพอ
  • เลือกรับประทานอาหารประเภทนึ่ง เนื่องจากอาหารประเภทนี้ถือเป็นวิธีง่ายๆ ที่ช่วยให้คุณสามารถรักษาระดับของโฟเลต (Folate) หรือกรดโฟลิกไว้ได้
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ทำให้เกิดการระคายแผล เช่น อาหารทอด อาหารเผ็ด อาหารรสเปรี้ยวจัด เครื่องดื่มร้อนๆ และผลไม้ที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น ส้ม และมะนาว
  • รับประทานอาหารอ่อนๆ หรืออาหารที่มีรสจืด หรือรสเย็น เพื่อช่วยลดการระคายเคืองในช่องปาก และช่วยลดอาการเจ็บแผลในช่องปาก เช่น ผักกาดขาว แตงกวา ตำลึง ฟักเขียว ถั่วเขียว เก๊กฮวย อ้อย และใบบัวบก เป็นต้น
  • หมั่นออกกำลังกาย เพื่อช่วยให้ร่างกายสามารถผ่อนคลายความเครียดได้ และควรพักผ่อนให้เพียงพอ
  • หลีกเลี่ยงการตากแดดจัด เพราะการตากแดดจะทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น
  • แปรงฟันทุกครั้งหลังรับประทานอาหารไปแล้วอย่างน้อย 30 นาที และควรใช้ไหมขัดฟันวันละ 1 ครั้งก่อนแปรงฟันก่อนเข้านอนทุกครั้ง

จากข้อมูลข้างต้นแผลร้อนในเกิดได้จากหลายสาเหตุและหลายปัจจัย ส่วนมากมักเกิดมาจากการดูแลสุขภาพช่องปากที่ไม่ดีพอ การขาดสารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุบางอย่าง รวมถึงการพักผ่อนไม่เพียงพอจนนำไปสู่การเกิดแผลร้อนในได้ 

ดังนั้นการดูแลตนเองและศึกษาวิธีป้องกันไว้เพื่อปรับวิถีชีวิตของตนเองย่อมช่วยลดโอกาสในการเกิดแผลร้อนในในครั้งต่อไปลงได้แน่นอน 

อีกสิ่งสำคัญก็คือการหมั่นไปตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากสาเหตุของการเกิดแผลร้อนในบางกรณีมาจากโรคแทรกซ้อนบางชนิด หากเรารู้เท่าทันโรคดังกล่าวและรักษาให้หาย หรือสามารถควบคุมอาการได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ความเสี่ยงต่อการเกิดแผลร้อนในก็ย่อมน้อยลงไปด้วยเช่นกัน

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพฟัน เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจเหล่านี้ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป