โรคมะเร็งปอดเป็นหนึ่งปัญหาทางสุขภาพที่สำคัญ และเป็นหนึ่งในโรคที่คร่าชีวิตคนไทยหลายหมื่นคนทุกปี สาเหตุหลักที่เกี่ยวข้องมาจากการสูบบุหรี่ นอกจากนี้ยังสัมพันธ์กับการได้รับควันบุหรี่มือสอง หรือสารเคมีจากที่ทำงานได้อีกด้วย
บทนำ
โรคมะเร็งปอดเป็นมะเร็งชนิดที่พบได้บ่อยและมีความรุนแรงมากโรคหนึ่งในโลก ทะเบียนมะเร็งระดับประชากรในประเทศไทยพบอุบัติการณ์โรคมะเร็งปอดบ่อยเป็นอันดับ 2 ในเพศชาย และคร่าชีวิตคนไทยหลายหมื่นคนต่อปี
ตรวจมะเร็งทั่วไปวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 340 บาท ลดสูงสุด 64%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
โดยทั่วไปมักไม่มีอาการแสดงหรืออาการใด ๆ ในระยะเริ่มแรกของโรค แต่หลายคนจะพัฒนาอาการขึ้นในที่สุด ได้แก่:
- ไอต่อเนื่องไม่ทุเลา
- ไอเป็นเลือด
- อาการหอบหืดอย่างถาวร
- ความเมื่อยล้า
- สูญเสียน้ำหนักโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ปวดหรือเจ็บขณะหายใจหรือไอ
- คุณควรเข้าพบแพทย์ประจำตัวของคุณถ้าคุณมีอาการเหล่านี้แม้อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม
ประเภทของมะเร็งปอด
เซลล์มะเร็งที่เริ่มก่อตัวเกิดขึ้นในเนื้อเยื่อปอดเองจะเรียกว่า มะเร็งปอดปฐมภูมิ (Primary lung cancer) ส่วนมะเร็งที่แพร่กระจายจากเนื้อเยื่อปอดไปยังตำแหน่งอื่นในร่างกายจะเรียกว่าเป็น มะเร็งปอดทุติยภูมิ (Secondary lung cancer) โดยบทความนี้จะเน้นเกี่ยวกับมะเร็งปอดปฐมภูมิเท่านั้น
มีสองประเภทหลักของโรคมะเร็งปอดปฐมภูมิโดยจำแนกตามประเภทของเซลล์ที่เป็นมะเร็ง ได้แก่:
มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก (Non-small cell lung cancer) เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดโดยคิดเป็นกว่า 80% ของผู้ป่วย โดยสามารถเป็นได้ทั้งมะเร็งเยื่อบุผิวชนิดสความัส (Squamous cell carcinoma), มะเร็งอะดีโนคาร์ซิโนมา (Adenocarcinoma) หรือมะเร็งคาร์ซิโนมาเซลล์ขนาดใหญ่ (Large cell carcinoma)
มะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดเล็ก (Small-cell lung cancer) เป็นชนิดของโรคมะเร็งปอดที่พบได้น้อยกว่าแต่สามารถลุกลามและแพร่กระจายได้เร็วกว่ามะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก
ประเภทของโรคมะเร็งปอดที่คุณเป็นจะเป็นตัวกำหนดว่าคุณจะได้รับการรักษาด้วยวิธีใด
ตรวจมะเร็งทั่วไปวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 340 บาท ลดสูงสุด 64%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
ใครสามารถเกิดโรคมะเร็งปอดได้บ้าง
มะเร็งปอดส่วนใหญ่เกิดในผู้ป่วยวัยสูงอายุ พบได้น้อยมากในผู้ที่อายุน้อยกว่า 40 ปี และอัตราการเกิดโรคมะเร็งปอดจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามอายุที่มากขึ้น โดยทั่วไป มะเร็งปอดจะได้รับการวินิจฉัยในผู้ที่มีอายุระหว่าง 70-74 ปี
แม้ว่าคนที่ไม่เคยสูบบุหรี่เลยนั้นสามารถเป็นโรคมะเร็งปอดได้บ้าง แต่การสูบบุหรี่ก็ถือเป็นสาเหตุหลักของกว่า 85% ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดของโรคดังกล่าว เนื่องจากการสูบบุหรี่นั้นสัมพันธ์กับการสูดดมสารพิษหลายชนิดอย่างสม่ำเสมอ
การรักษาโรคมะเร็งปอด
การรักษาขึ้นอยู่กับชนิดของโรคมะเร็งที่คุณเป็น ระยะแพร่กระจายของโรค และสุขภาพทั่วไปของคุณว่าดีเพียงใด
หากโรคมะเร็งปอดได้รับการวินิจฉัยไวในช่วงระยะเริ่มต้นและเซลล์มะเร็งยังกำจัดอยู่ในพื้นที่เล็ก ๆ แนะนำให้ทำการผ่าตัดเพื่อกำจัดส่วนปอดที่เป็นโรคออก
แต่ถ้าหากการผ่าตัดไม่สามารถทำได้เนื่องจากสุขภาพโดยทั่วไปของคุณไม่แข็งแรงพอ อาจแนะนำให้ทำรังสีรักษาเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง
ถ้ามะเร็งแพร่กระจายมากเกินไปจนไม่สามารถทำการผ่าตัดหรือรักษาด้วยรังสีรักษาให้มีประสิทธิภาพได้ แพทย์มักใช้เคมีบำบัดเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งและควบคุมโรค
ตรวจมะเร็งทั่วไปวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 340 บาท ลดสูงสุด 64%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
พยากรณ์โรคมะเร็งปอด
มะเร็งปอดมักไม่ก่อให้เกิดอาการที่เห็นได้ชัดจนกว่าจะแพร่กระจายเกินส่วนของปอดไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ซึ่งหมายความว่าแนวโน้มของโรคมะเร็งปอดหากมีอาการแล้วนั้นไม่ดีเท่ากับมะเร็งชนิดอื่น ๆ
โดยรวมแล้ว ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยมะเร็งปอดมีชีวิตอยู่เป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งปีหลังจากที่ได้รับการวินิจฉัย และประมาณ 1 ใน 20 ของผู้ป่วยมะเร็งปอดมีชีวิตอยู่ต่ออีกอย่างน้อย 10 ปี
อย่างไรก็ตาม อัตราการรอดชีวิตอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับระยะแพร่กระจายของมะเร็งในช่วงเวลาที่ได้รับการวินิจฉัย การวินิจฉัยอย่างทันท่วงทีและตรวจพบไวนั้นสามารถสร้างความแตกต่างอย่างมากต่อความสำเร็จต่อการรักษา
อาการของโรคมะเร็งปอด
อาการของโรคมะเร็งปอดจะค่อย ๆ เกิดขึ้นเมื่อโรคนั้นลุกลามไปเรื่อย ๆ และโดยปกติจะไม่มีอาการแสดงหรืออาการใด ๆ ในระยะแรกของโรค
อาการหลักของโรคมะเร็งปอดมีดังต่อไปนี้ ซึ่งถ้าคุณมีอาการเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งคุณควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการตรวจประเมิน:
- อาการไอที่ไม่หายหลังจากผ่านไปสองหรือสามสัปดาห์
- อาการไออย่างยาวนาน และแย่ลงเรื่อย ๆ
- การติดเชื้อในทรวงอกอย่างถาวร
- ไอเป็นเลือด
- ปวดหรือเจ็บเมื่อหายใจหรือไอ
- หายใจหอบถี่อยู่เสมอ
- เมื่อยล้า หรือหมดแรงอยู่ตลอดเวลา
- เบื่ออาหาร
- การสูญเสียน้ำหนักที่ไม่ทราบสาเหตุ
อาการอื่น ๆ ที่พบไม่ค่อยบ่อยของโรคมะเร็งปอด ได้แก่
- การเปลี่ยนแปลงรูปร่างของนิ้วมือของคุณ เช่น นิ้วโค้งมากขึ้น หรือปลายนิ้วป่องใหญ่ขึ้นมา (Finger clubbing)
- เป็นไข้ อุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป
- กลืนลำบากหรือปวดเมื่อกลืนอาหาร
- หายใจดังเสียงวี้ด
- เสียงแหบแห้ง
- พบการบวมที่ใบหน้าหรือลำคอ
- เจ็บบริเวณหน้าอกและไหล่อย่างไม่ทุเลา
สาเหตุของโรคมะเร็งปอด
แม้ว่าผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่ก็สามารถเป็นโรคมะเร็งปอดได้ แต่การศึกษาที่ผ่านมาพบว่า กรณีส่วนใหญ่ของโรคมะเร็งปอดเกิดจากการสูบบุหรี่
การสูบบุหรี่
การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดสำหรับโรคมะเร็งปอด และเป็นสาเหตุของ 85% ของผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดทั้งหมด
ควันบุหรี่ประกอบไปด้วยสารพิษมากกว่า 60 ชนิดซึ่งสามารถนำไปสู่การเกิดมะเร็งได้ สารเหล่านี้เป็นที่รู้จักกันว่าเป็น สารก่อมะเร็ง (carcinogen)
ถ้าคุณสูบบุหรี่มากกว่า 25 มวนต่อวัน คุณมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดสูงกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ถึง 25 เท่า
ในขณะที่การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด การใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทอื่น ๆ ก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอดและโรคมะเร็งชนิดอื่น ๆ ได้เช่นกัน เช่น มะเร็งหลอดอาหาร และโรคมะเร็งในช่องปาก ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ได้แก่:
- ซิการ์
- ไปป์ยาสูบ
- มวนยาสูบ
- การเคี้ยวยาสูบ
การสูบกัญชายังสัมพันธ์กับความเสี่ยงของโรคมะเร็งปอดที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย ผู้สูบกัญชาส่วนใหญ่จะสูบกัญชาโดยผสมกัญชากับยาสูบ แม้ว่าพวกเขามักจะสูบบุหรี่ในปริมาณน้อยกว่าผู้สูบบุหรี่โดยตรง แต่ผู้สูบกัญชาเหล่านี้มักจะสูดไอเข้าไปลึกและควันจะคงค้างในปอดของพวกเขาได้นานกว่า
มีการคาดการณ์ว่าการสูบบุหรี่ผสมกัญชาชนิดหนึ่งนั้นอาจเป็นอันตรายต่อปอดเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ 20 มวนพร้อมกัน
แม้การสูบกัญชาโดยไม่ผสมยาสูบเข้าไปด้วยก็เป็นอันตรายได้ เนื่องจากตัวกัญชาเองก็ยังมีสารก่อให้เกิดโรคมะเร็งหลายตัวเช่นกัน
ควันบุหรี่มือสอง (Passive smoking)
แม้คุณจะไม่สูบบุหรี่แต่การได้รับควันบุหรี่จากคนรอบข้างเป็นประจำหรือเรียกว่า การสูบบุหรี่มือสองหรือควันบุหรี่มือสองก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอดได้
ตัวอย่างเช่น การวิจัยพบว่าผู้หญิงที่ไม่สูบบุหรี่ซึ่งใช้ชีวิตในบ้านเดียวกับสามีที่สูบบุหรี่มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้หญิงที่ไม่สูบบุหรี่ที่อาศัยกับสามีที่ไม่สูบบุหรี่ได้ถึง 25%
ธาตุกัมมันตภาพรังสีเรดอน (Radon)
เรดอนเป็นก๊าซกัมมันตภาพรังสีที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติซึ่งสลายตัวมาจากธาตุยูเรเนียมที่มีอยู่ในหินและดินทุกชนิดในปริมาณเล็กน้อยมาก โดยบางครั้งก็สามารถพบได้ในอาคาร สิ่งก่อสร้าง
ถ้าสูดดมเรดอนเข้าไป อาจทำให้ปอดของคุณเกิดความเสียหายได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณเป็นผู้สูบบุหรี่อยู่แล้ว เรดอนนั้นถือเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดประมาณ 3%
การสัมผัสมลพิษจากการทำงาน
การสัมผัสกับสารเคมีและผลิตภัณฑ์หลายชนิดใช้ในบางอาชีพและอุตสาหกรรมมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคมะเร็งปอดเล็กน้อย สารเคมีเหล่านี้ประกอบด้วย:
- สารหนู
- แร่ใยหิน
- ธาตุเบริลเลียม
- ธาตุแคดเมียม
- ควันของถ่านหินและถ่านโค้ก
- ธาตุซิลิกา
- ธาตุนิกเกิล
การวิจัยยังชี้ให้เห็นว่าการสัมผัสกับควันของน้ำมันดีเซลเป็นเวลาหลายปีอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปอดได้ถึง 50% การศึกษาหนึ่งแสดงให้เห็นว่าความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นประมาณหนึ่งในสามถ้าคุณอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีก๊าซไนโตรเจนออกไซด์สูงซึ่งก๊าซนี้ส่วนใหญ่ผลิตจากการเผาไหม้ของรถยนต์และยานพาหนะอื่น ๆ
การวินิจฉัยโรคมะเร็งปอด
ให้เข้าพบแพทย์ประจำตัวของคุณ หากคุณมีอาการของโรคมะเร็งปอด เช่น อาการหอบหรือไออย่างถาวรและไม่ทุเลาลงเมื่อเวลาผ่านไป
แพทย์ของคุณจะซักถามเกี่ยวกับสุขภาพทั่วไปของคุณและอาการที่คุณเป็นอยู่ พวกเขาอาจตรวจร่างกายคุณ และขอให้คุณหายใจเข้าไปในอุปกรณ์ที่เรียกว่า Spirometer ซึ่งวัดปริมาณอากาศที่คุณหายใจเข้าและออก
คุณอาจต้องทำการตรวจเลือดเพื่อค้นหาสาเหตุบางประการที่อาจทำให้เกิดอาการของคุณ เช่น การติดเชื้อในทรวงอก
ภาพรังสีทรวงอก (Chest x-ray)
ภาพรังสีหรือภาพเอกซเรย์ทรวงอกมักเป็นอุปกรณ์แรกที่ใช้ร่วมในการวินิจฉัยโรคมะเร็งปอด เนื้องอกในปอดส่วนใหญ่จะปรากฏบนภาพรังสีเอกซ์เป็นก้อนเนื้อสีขาวเทา
อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถวินิจฉัยอย่างแน่นอนว่าเป็นมะเร็งปอดได้จากภาพรังสีทรวงอกเพียงอย่างเดียว เนื่องจากมักไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างมะเร็งกับสภาวะความผิดปกติอื่น ๆ เช่น ฝีในปอดซึ่งเป็นการสะสมของหนองที่เกิดขึ้นในปอดได้
หากภาพรังสีทรวงอกของคุณชี้ให้เห็นว่าคุณอาจเป็นมะเร็งปอด คุณควรปรึกษาต่อยังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถทำการตรวจทดสอบเพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบว่าคุณเป็นโรคมะเร็งปอดหรือไม่ และหากเป็นจริง คุณเป็นมะเร็งปอดชนิดไหนและลุกลามแพร่กระจายไปเท่าใด
การตรวจสแกนเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
การสแกนเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) มักเป็นสิ่งที่ทำหลังจากภาพรังสีเอ็กซ์เรย์ทรวงอก การสแกนเอกซเรย์คอมพิวเตอร์จะใช้รังสีเอกซ์ในอีกรูปแบบหนึ่งและใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อสร้างภาพรายละเอียดภายในร่างกายของคุณออกมา
ก่อนที่จะทำการสแกนเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ คุณจะถูกฉีดสีเพื่อสร้างภาพให้ชัดเจนขึ้น โดยจะเป็นของเหลวที่มีสีย้อมซึ่งทำให้ส่วนของปอดปรากฏชัดขึ้นในภาพสแกน การสแกนดังกล่าวไม่ได้เจ็บปวดและใช้เวลาประมาณ 10-30 นาทีต่อครั้ง
เพทซีทีสแกน (PET-CT)
เพทซีทีสแกนซึ่งมาจากตัวย่อของภาษาอังกฤษของคำว่า Positron emission tomography-computerised tomography อาจเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ทำได้หากผลการสแกนเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แสดงให้เห็นว่าคุณยังเป็นมะเร็งในระยะเริ่มแรก
เพทซีทีสแกนสามารถแสดงตำแหน่งที่มีเซลล์มะเร็งที่กำลังเจริญเติบโต เครื่องมือนี้สามารถช่วยในการวินิจฉัยและการรักษาได้อย่างมาก
ก่อนที่จะทำการสแกน คุณจะได้รับการฉีดสารกัมมันตภาพรังสีปริมาณเล็กน้อย เจ้าหน้าที่จะให้คุณเอนตัวนอนลงบนเตียงซึ่งสามารถเลื่อนไปมาในเครื่องสแกนได้เอง การสแกนไม่เจ็บปวดและใช้เวลาประมาณ 30-60 นาทีต่อครั้ง
การส่องกล้องหลอดลมและการตรวจชิ้นเนื้อ
ถ้าการสแกนเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ชี้ให้เห็นว่าคุณอาจมีมะเร็งบริเวณกึ่งกลางอก คุณจะได้รับการส่องกล้องตรวจหลอดลม (Bronchoscopy) การตรวจดังกล่าวยังเป็นวิธีที่แพทย์สามารถตัดชิ้นเนื้อและเซลล์ตัวอย่างออกมาจากภายในปอดของคุณได้
ในระหว่างการส่องกล้องตรวจหลอดลมหลอดลม เครื่องมือชื่อว่า Brochoscope จะถูกใช้เพื่อตรวจดูปอดของคุณและตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อเล็ก ๆ ออกมา เครื่องมือดังกล่าวจะถูกสวนผ่านปากหรือจมูกของคุณลงไปในลำคอและเข้าสู่ทางเดินหายใจของปอด
ขั้นตอนอาจทำให้คุณรู้สึกอึดอัดได้ แต่คุณจะได้รับยากล่อมประสาท หรือยาคลายเครียดเล็กน้อยก่อนกระบวนการดังกล่าวเพื่อช่วยให้คุณผ่อนคลายและได้รับยาชาเฉพาะที่เพื่อทำให้อวัยวะที่เกี่ยวข้องชาและไม่เจ็บปวด กระบวนการตรวจนี้ทำได้รวดเร็วและใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที
การตรวจชิ้นเนื้อประเภทอื่น ๆ
หากคุณไม่สามารถตรวจชิ้นเนื้อได้อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น หรือคุณได้ทำการตรวจชิ้นเนื้อด้วยวิธีดังกล่าวแล้วและผลลัพธ์ออกมาไม่ชัดเจน คุณอาจได้รับการตรวจชิ้นเนื้อชนิดอื่นเสริมอีกครั้งหนึ่ง โดยอาจเป็นการผ่าตัดเล็กชนิดใดชนิดหนึ่ง เช่น การผ่าตัดเปิดทรวงอกเพื่อส่องกล้อง (Thoracoscopy) การตรวจช่องกลางทรวงอก (Mediastinoscopy) หรือการเจาะดูดชิ้นเนื้อโดยใช้เข็มที่สอดผ่านผิวหนังของคุณโดยตรง
การเจาะดูดชิ้นเนื้อผ่านผิวหนัง (Percutaneous needle biopsy)
การเจาะดูดด้วยเข็มผ่านผิวหนังนั้นเป็นการตัดตัวอย่างออกจากเนื้องอกที่น่าสงสัยเพื่อนำมาตรวจทดสอบที่ห้องทดลองเพื่อค้นหาเซลล์มะเร็ง
แพทย์ที่ทำการตรวจชิ้นเนื้อจะใช้เครื่องสแกนเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อนำพาปลายเข็มไปยังบริเวณที่มีเนื้องอกผิดปกติผ่านผิวหนัง ก่อนหน้านั้นจะทำการฉีดยาชาเฉพาะที่ใช้เพื่อทำให้บริเวณรอบ ๆ ชาและไม่เจ็บปวด จากนั้นจะสอดเข็มผ่านเข้าสู่ผิวหนังและเข้าสู่ปอด เข็มจะเป็นอุปกรณ์เพื่อตัดตัวอย่างเนื้อเยื่อมาทำการทดสอบต่อไป
การผ่าตัดเปิดทรวงอกเพื่อส่องกล้อง (Thoracoscopy)
การผ่าตัดเปิดทรวงอกเป็นขั้นตอนการผ่าตัดที่ช่วยให้แพทย์สามารถตรวจบริเวณเฉพาะที่ต้องการภายในช่องอก และสามารถเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อหรือของเหลวได้
คุณจำเป็นต้องทำการดมยาสลบภายในห้องผ่าตัดก่อนที่จะมีการผ่าตัดทรวงอก แพทย์จะทำการกรีดแผลสองถึงสามรอยบนหน้าอกเพื่อทำการสอดท่อที่เหมือนกับ Bronchoscope เข้าสู่หน้าอกของคุณ แพทย์จะใช้กล้องที่ติดอยู่ที่ท่อดังกล่าวเพื่อตรวจหน้าอกของคุณและเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อหรือของเหลว และตัวอย่างนั้นจะถูกส่งไปทดสอบทางห้องปฏิบัติการต่อไป
หลังจากการผ่าตัดเปิดทรวงอกเพื่อส่องกล้อง คุณอาจต้องพักค้างคืนนอนที่โรงพยาบาลเพื่อให้ของเหลวอื่น ๆ ในปอดของคุณจะถูกระบายออกมาจนเข้าสู่สมดุลเสียก่อน
การตรวจช่องกลางทรวงอก (Mediastinoscopy)
การตรวจช่องกลางทรวงอกเป็นขั้นตอนที่ช่วยให้แพทย์สามารถตรวจดูบริเวณระหว่างปอดของคุณ ที่จุดกึ่งกลางหน้าอกของคุณ ซึ่งมีศัพท์การแพทย์เฉพาะว่า Mediastenum
สำหรับการตรวจดังกล่าว คุณจำต้องได้รับยาสลบภายในห้องผ่าตัดเช่นกันและพักฟื้นในโรงพยาบาลสองถึงสามวัน แพทย์จะทำการกรีดรอยแผลเล็ก ๆ ที่ด้านล่างของลำคอของคุณเพื่อให้สามารถสอดท่อเล็ก ๆ บาง ๆ ลงไปในหน้าอกของคุณ
ท่อดังกล่าวจะมีกล้องติดอยู่ตรงปลายซึ่งช่วยให้แพทย์สามารถดูสภาพภายในหน้าอกของคุณ นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ในการตัดเก็บตัวอย่างเซลล์และต่อมน้ำเหลืองได้ในเวลาเดียวกัน ต่อมน้ำเหลืองจะถูกนำมาตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วยเนื่องจากมักเป็นที่แรกที่เป็นโรคมะเร็งปอดจะลุกลามไป
การจัดระยะโรคมะเร็งปอด
เมื่อการตรวจต่าง ๆ ในข้างต้นเสร็จสิ้นแล้ว การตรวจสอบถัดมาจะทำเพื่อหาว่าระยะของโรคมะเร็งของคุณอยู่ในระดับไหน และแนวทางการรักษาของคุณจะเป็นอย่างไร และหาว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะสามารถรักษามะเร็งได้อย่างหายขาด
โรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก
มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็กซึ่งเป็นชนิดของมะเร็งปอดที่พบได้มากที่สุดมักจะแพร่กระจายช้ากว่าเซลล์มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็กและตอบสนองต่อการรักษาแตกต่างกัน
ระยะของมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็กมีดังต่อไปนี้:
ระยะที่ 1
หมายถึงมะเร็งยังอยู่ภายในปอดและไม่ได้แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียง ระยะที่ 1 ยังสามารถแบ่งออกเป็นสองระยะย่อย ได้แก่:
- ระยะ 1A - เนื้องอกมีขนาดไม่ถึง 3 ซม. (1.2 นิ้ว)
- ระยะ 1B - เนื้องอกมีขนาดอยู่ในช่วง 3-5 ซม. (1.2-2 นิ้ว)
ระยะที่ 2
ระยะที่ 2 แบ่งเป็น 2 ระยะย่อย คือ 2A และ 2B
ในระยะ 2A มะเร็งปอดจะมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
- ก้อนเนื้องอกมีขนาดอยู่ในช่วง 5-7 ซ.ม.
- ก้อนเนื้องอกขนาดเล็กกว่า 5 ซ.ม. แต่เซลล์มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียงแล้ว
ในระยะ 2B มะเร็งปอดจะมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
- เนื้องอกมีขนาดใหญ่กว่า 7 ซ.ม.
- เนื้องอกมีขนาดอยู่ในช่วง 5-7 ซ.ม. แต่เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียงแล้ว
- มะเร็งไม่แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองแต่กระจายไปยังกล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อรอบ ๆ
- มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังหนึ่งในทางเดินหายใจหลัก เช่น หลอดลม
- มะเร็งทำให้ปอดยุบตัว
- พบเนื้องอกขนาดเล็กหลายก้อนภายในปอด
ระยะที่ 3
โรคมะเร็งปอดระยะที่ 3 แบ่งออกเป็น 2 ระยะย่อยคือ 3A และ 3B
ในมะเร็งปอดระยะ 3A มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณกึ่งกลางหน้าอกหรือไปยังเนื้อเยื่อโดยรอบ ซึ่งอาจเป็นเนื้อเยื่อใดเนื้อเยื่อหนึ่ง ดังต่อไปนี้:
- เยื่อบุผิวซึ่งห่อหุ้มปอดหรือเยื่อหุ้มปอด (Pleura)
- ผนังทรวงอก
- กึ่งกลางอก
- ต่อมน้ำเหลืองอื่น ๆ ที่ใกล้กับปอดที่ผิดปกติ
ในมะเร็งปอดระยะ 3B มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังอย่างน้อยตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง ดังต่อไปนี้:
- ต่อมน้ำเหลืองข้างซ้ายหรือขวาของหน้าอกที่ระดับเหนือกระดูกไหปลาร้า
- อวัยวะสำคัญของร่างกาย เช่น หลอดอาหาร หลอดลม หัวใจ หรือแพร่กระจายเข้าไปในเส้นเลือดหลักของร่างกาย
ระยะที่ 4
ในโรคมะเร็งปอดระยะที่ 4 โรคมะเร็งได้แพร่กระจายไปยังปอดทั้งสองข้างหรือไปยังส่วนอื่นของร่างกายที่ไกลมากขึ้น เช่น กระดูก ตับ หรือสมอง หรือมะเร็งได้ก่อให้เกิดเซลล์มะเร็งที่สะสมของเหลวขึ้นรอบ ๆ หัวใจหรือปอดของคุณ .
โรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก
มะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดเล็กพบได้น้อยกว่ามะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดไม่เล็ก เซลล์มะเร็งชนิดเซลล์เล็กนี้มีขนาดเล็กกว่าเมื่อตรวจส่องดูภายใต้กล้องจุลทรรศน์ โดยเล็กกว่าเซลล์ที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็กอย่างเห็นได้ชัด
มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก สามารถแบ่งออกเป็นแค่สองระยะเท่านั้น ดังนี้
- ระยะแรก - เซลล์มะเร็งไม่ได้แพร่กระจายเกินปอด
- ระยะลุกลาม - เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปไกลกว่าปอด
การรักษาโรคมะเร็งปอด
การรักษามะเร็งปอดจะดำเนินการโดยทีมผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาซึ่งจะทำงานร่วมกันเพื่อให้การรักษาที่ดีที่สุด
ทีมนี้ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญทั้งหมดที่จำเป็นในการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง ในการจัดระยะโรคมะเร็งและในการวางแผนการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ หากคุณต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมโปรดสอบถามแพทย์ประจำตัวของคุณเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว
ประเภทของการรักษาที่คุณจะได้รับสำหรับโรคมะเร็งปอดขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ :
- ชนิดของมะเร็งปอดที่คุณมี ว่าเป็นชนิดเซลล์ไม่เล็ก หรือชนิดเซลล์ขนาดเล็ก
- ขนาดและตำแหน่งของมะเร็ง
- ระยะของโรคมะเร็งของคุณว่าลุกลามเพียงใด
- สุขภาพโดยรวมของคุณ
การตัดสินใจว่าการรักษาใดที่ดีที่สุดสำหรับคุณอาจเป็นเรื่องยาก ทีมผู้ดูแลโรคมะเร็งของคุณจะให้คำแนะนำทั้งข้อดี ข้อเสีย แต่การตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่าจะเข้ารับการรักษาหรือไม่ และอย่างไรนั้นจะเป็นของคุณ
ตัวเลือกการรักษาหลัก ๆ ได้แก่ การผ่าตัด การรักษาด้วยรังสีรักษา และการรักษาด้วยเคมีบำบัด ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคมะเร็งของคุณและการลุกลามของโรค คุณอาจต้องทำการรักษาหลายอย่างร่วมกัน
แผนการรักษาของคุณ
แผนการรักษาของคุณขึ้นอยู่กับว่าคุณมีมะเร็งปอดเป็นชนิดเซลล์ไม่เล็ก หรือชนิดเซลล์ขนาดเล็ก
มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก
หากคุณเป็นโรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก ที่ก้อนมะเร็งยังจำกัดอยู่ในบริเวณปอด และคุณมีสุขภาพที่แข็งแรงเพียงพอ คุณอาจจะได้รับการผ่าตัดเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งออก ซึ่งอาจตามมาด้วยการทำเคมีบำบัดเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่อาจคงค้างอยู่ในร่างกาย
ถ้ามะเร็งยังไม่ได้แพร่กระจายไปไกลนัก แต่ด้วยสาเหตุอื่นที่คุณไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ เช่น สุขภาพโดยทั่วไปของคุณไม่แข็งแรงพอ หรือทำให้คุณมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้น แพทย์จะแนะนำให้ใช้การฉายรังสีรักษาเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง ในบางกรณีอาจทำร่วมกับเคมีบำบัด โดยเรียกว่าเป็น การฉายรังสีร่วมเคมีบำบัด (Chemoradiotherapy)
แต่หากก้อนมะเร็งแพร่กระจายไปไกลเกินไป เกินกว่าที่การผ่าตัดหรือการฉายรังสีรักษาจะทำให้เกิดประสิทธิภาพเพียงพอ แพทย์จะแนะนำให้ใช้เคมีบำบัดเพื่อประคับประคองอาการ โดยหากมะเร็งเริ่มกลับมาเป็นซ้ำอีกครั้งหลังจากได้รับเคมีบำบัดครั้งแรก ก็อาจต้องได้รับคอร์สการรักษาด้วยเคมีบำบัดซ้ำอีกครั้ง
ในบางกรณี การรักษาที่เรียกว่าชีวบำบัดหรือการให้ยาเจาะจงฆ่าเซลล์มะเร็งอาจถูกแนะนำให้เป็นทางเลือกการรักษาหนึ่งแทนที่เคมีบำบัด หรือทำหลังจากการรักษาด้วยเคมีบำบัด การรักษาด้วยชีวบำบัดเกี่ยวกับการใช้ยาที่สามารถควบคุมหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง
มะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดเล็ก
มะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดเล็กมักได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดอย่างเดียว หรือใช้ร่วมกับรังสีรักษา การรักษาดังกล่าวสามารถช่วยในการยืดอายุขัยของผู้ป่วยและบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นจากมะเร็งได้
มะเร็งปอดชนิดนี้มักไม่ทำการรักษาด้วยการผ่าตัด เนื่องจากมะเร็งมักแพร่กระจายไปยังบริเวณอื่น ๆ ของร่างกายแล้วขณะที่ได้รับการวินิจฉัย อย่างไรก็ตาม หากพบมะเร็งเร็วมาก ๆ ในระยะต้นอย่างมากก็อาจใช้การผ่าตัดในการรักษาได้ แต่ในกรณีเหล่านี้ก็อาจจำเป็นต้องได้รับเคมีบำบัดหรือการฉายรังสีรักษาหลังการผ่าตัดเพื่อลดความเสี่ยงต่อการกลับมาเป็นมะเร็งซ้ำด้วย
การผ่าตัด
มีสามประเภทของการผ่าตัดมะเร็งปอด:
- การตัดกลีบปอด (Lobectomy) - โดยปอดกลีบหนึ่งหรือมากกว่านั้นจะถูกตัดออกไป แพทย์ของคุณจะแนะนำการผ่าตัดนี้หากเป็นมะเร็งเพียงส่วนหนึ่งของปอดเท่านั้น
- การตัดปอดออกทั้งข้าง (Pneumonectomy) - โดยปอดทั้งข้างจะถูกกำจัดออกไป การผ่าตัดนี้จะใช้เมื่อมะเร็งเกิดขึ้นอยู่ตรงกลางของปอดหรือมีการแพร่กระจายไปทั่วเนื้อปอด
- การตัดรูปลิ่มหรือการผ่าตัดเพียงส่วนหนึ่ง (Wedge resection/ Segmentectomy) - โดยชิ้นส่วนเล็ก ๆ ของปอดจะถูกกำจัดออก การผ่าตัดนี้เหมาะในผู้ป่วยจำนวนน้อยมาก เนื่องจากจะใช้เฉพาะในกรณีที่แพทย์ของคุณคิดว่ามะเร็งของคุณมีขนาดเล็กมากและยังจำกัดอยู่ในเฉพาะบริเวณหนึ่งของปอดเท่านั้น ซึ่งต้องเป็นมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็กในระยะเริ่มแรกอย่างแท้จริง
ผู้ป่วยมักกังวลว่าตนเองจะหายใจไม่ออกถ้าปอดบางส่วนหรือทั้งหมดถูกตัดออกไป แต่ในความเป็นจริง เป็นไปได้ที่จะหายใจได้ตามปกติด้วยปอดเพียงข้างเดียว อย่างไรก็ตาม หากคุณมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจก่อนการผ่าตัด เช่น อาการหอบเหนื่อย หายใจถี่ มีโอกาสที่อาการเหล่านี้จะยังคงอยู่หลังจากการผ่าตัดกำจัดปอดออกบางส่วน หรือทั้งข้าง
การตรวจก่อนการผ่าตัด
ก่อนจะเข้ารับการผ่าตัด คุณจะได้รับการตรวจทดสอบเพื่อตรวจสุขภาพและการทำงานของปอดของคุณก่อน ซึ่งได้แก่:
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) - การตรวจนี้จะใช้ขั้วไฟฟ้าเพื่อตรวจสอบกิจกรรมทางไฟฟ้าของหัวใจ
- การตรวจสมรรถภาพของปอด (Spirometry) - คุณจะต้องทำการหายใจเข้าไปในเครื่องที่เรียกว่า spirometer ซึ่งวัดปริมาตรอากาศที่ปอดของคุณสามารถหายใจเข้าได้สุดและหายใจออกได้สุดว่ามีปริมาตรเท่าใด
การผ่าตัดปอดทำอย่างไร
โดยปกติ การผ่าตัดจะเริ่มด้วยการกรีดลงเป็นหน้าอกของคุณ หรือกรีดบริเวณสีข้างของคุณที่ใกล้ปอด จากนั้นค่อยตัดเอาปอดบางส่วนหรือปอดทั้งข้างที่ได้รับผลกระทบออกไป โดยทั่วไป ต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียงอาจถูกกำจัดออกไปด้วย ถ้าแพทย์คิดว่ามะเร็งอาจแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองดังกล่าวแล้ว
ในบางกรณี ทางเลือกในการผ่าตัดซึ่งเรียกว่า Video-assisted thoracoscopic surgery (VATS) อาจเหมาะสม การผ่าตัดดังกล่าวเป็นประเภทของการผ่าตัดผ่านช่องเล็ก ๆ หลายแผลที่สร้างขึ้นบริเวณหน้าอก กล้องสายใยนำแสงขนาดเล็กจะถูกแทรกเข้าไปในแผลหนึ่ง ๆ เพื่อให้ศัลยแพทย์สามารถมองเห็นภาพด้านในของทรวงอกบนจอภาพได้
ภายหลังการผ่าตัด
คุณอาจสามารถกลับบ้านได้ภายใน 5 ถึง 10 วันหลังจากการผ่าตัด อย่างไรก็ตาม อาจใช้เวลาหลายสัปดาห์ที่ปอดจะฟื้นตัวสามารถกลับมาทำงานได้อย่างเต็มที่เช่นเดิม
หลังจากการผ่าตัด คุณจะถูกกระตุ้นให้เริ่มขยับตัวโดยเร็วที่สุด แม้ว่าคุณจะต้องนอนอยู่บนเตียงอยู่ คุณควรต้องทำการเคลื่อนไหวขาเป็นประจำเพื่อช่วยในการไหลเวียนโลหิตของร่างกาย และป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันขึ้น นักกายภาพบำบัดจะทำการฝึกการหายใจของคุณเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ อีกด้วย
เมื่อคุณได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน คุณจำเป็นต้องทำการออกกำลังกายอย่างเบา ๆ เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายและความแข็งแรงโดยรวม การเดินเร็วและการว่ายน้ำถือเป็นรูปแบบของการออกกำลังที่เหมาะสมกับผู้คนส่วนใหญ่หลังจากการผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งปอด ให้ปรึกษาทีมผู้ดูแลโรคมะเร็งของคุณว่าชนิดของการออกกำลังกายใดที่ดูเหมือนจะเหมาะสมกับคุณ และวิถีชีวิตของคุณมากที่สุด
ภาวะแทรกซ้อน
เช่นเดียวกับการผ่าตัดอื่น ๆ การผ่าตัดปอดมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนเช่นเดียวกัน การคาดการณ์ว่าจะเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดขึ้นหนึ่งในห้ากรณีของการผ่าตัด ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้มักจะได้รับการรักษาโดยใช้ยาหรือการผ่าตัดเพิ่มเติมซึ่งอาจหมายความว่าคุณต้องอยู่ในโรงพยาบาลนานขึ้นกว่าเดิมบ้าง
ภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัดปอด ได้แก่:
- การอักเสบหรือการติดเชื้อของปอด หรือโรคปอดบวม
- เลือดไหลมากเกินไป
- เกิดลิ่มเลือดอุดตันที่ขาส่วนลึกซึ่งอาจเดินทางไปอุดกั้นที่ปอด (pulmonary embolism)
การฉายรังสีรักษา
รังสีรักษาเป็นวิธีการรักษาแบบหนึ่งที่ใช้รังสีในการทำลายเซลล์มะเร็ง โดยสามารถใช้ได้หลากหลายวิถีในผู้ป่วยแต่ละคนแตกต่างกัน
คอร์สการรักษาด้วยรังสีปริมาณรุนแรงที่เรียกว่า การฉายรังสีรักษามุ่งให้หายขาด (Radical radiotherapy) นั้นสามารถใช้ในการรักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็กให้หายขาดได้ ในกรณีที่ผู้ป่วยนั้นไม่แข็งแรงพอสำหรับการผ่าตัด สำหรับเนื้องอกขนาดเล็กมากกว่านั้น อาจมีการใช้รังสีรักษาแบบพิเศษซึ่งเรียกว่า การฉายรังสีร่วมพิกัด (Stereotactic radiotherapy) แทนการผ่าตัดได้เช่นกัน
นอกจากนี้ การฉายรังสีรักษายังสามารถใช้ในการควบคุมอาการและชะลอการแพร่กระจายของโรคมะเร็งได้เมื่อโรคมะเร็งดังกล่าวไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้เรียกได้ว่าเป็นการฉายรังสีรักษาประคับประคอง (Palliative radiotherapy)
การฉายรังสีรักษาชนิดที่เรียกว่า การฉายรังสีรักษากะโหลกศีรษะเพื่อป้องกัน (prophylactic cranial irradiation: PCI) บางครั้งก็ใช้ในระหว่างการรักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดเล็ก การรักษาดังกล่าวจะใช้การฉายรังสีปริมาณเล็กน้อยไปยังส่วนของสมองทั้งหมด ถือเป็นมาตรการป้องกันไม่ให้เซลล์มะเร็งลุกลามเข้าไป เพราะมีความเสี่ยงที่มะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดเล็กจะแพร่กระจายไปยังสมองของคุณได้ง่ายมากกว่าชนิดเซลล์ขนาดไม่เล็กอย่างมาก
การฉายรังสีรักษาสามวิธีหลัก มีดังต่อไปนี้:
- การฉายรังสีระยะไกลแบบธรรมดา (External radiotherapy) - เครื่องจะผลิตแท่งรังสีเพื่อยิงไปยังส่วนร่ายกายที่ได้รับผลกระทบของคุณ
- การฉายรังสีร่วมพิกัด หรือการฉายรังสีศัลยกรรม (Stereotactic radiotherapy) เป็นวิธีการรักษาด้วยการใช้แสงรังสีพลังงานสูงจำนวนมากเพื่อส่งพลังงานรังสีไปยังก้อนเนื้องอกในปริมาณที่สูงขึ้นและกระทบเนื้อเยื่อที่อยู่รอบ ๆ ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
- การรักษาด้วยการฝังแร่รังสีภายใน (Brachyradiotherapy) - การรักษาจะใส่ท่อสวนซึ่งเป็นหลอดขนาดเล็กเข้าไปในปอดของคุณ สารกัมมันตภาพรังสีชิ้นเล็ก ๆ จะถูกใส่ลงไปในท่อสวนดังกล่าวและนำไปวางที่ตำแหน่งติดกับเนื้องอกของคุณ แล้วจึงนำออกหลังจากปล่อยพลังงานไปไม่กี่นาที
สำหรับการรักษามะเร็งปอด การฉายรังสีระยะไกลแบบทั่วไปจะถูกนำมาใช้บ่อยกว่าการฝังแร่รังสีภายใน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคิดว่าการรักษาให้หายขาดนั้นเป็นไปได้ การรักษาด้วยรังสีร่วมพิกัดสามารถใช้เพียงเพื่อรักษาเนื้องอกที่มีขนาดเล็กมาก เนื่องจากมีประสิทธิภาพมากกว่าการรักษาด้วยรังสีแบบทั่วไปในกรณีดังกล่าวเท่านั้น
การรักษาด้วยการฝังแร่รังสีภายในมีแนวโน้มที่จะใช้เป็นการรักษาแบบประคับประคองเมื่อมะเร็งนั้นกำลังอุดกั้นทางเดินหายใจบางส่วนหรือทั้งหมด
คอร์สการรักษา
คอร์สการรักษาด้วยรังสีรักษาสามารถถูกวางแผนได้หลายวิธี
รังสีรักษาเพื่อให้หายขาดมักจะได้รับการฉายรังสีเป็นเวลา 5 วันต่อสัปดาห์โดยเว้นช่วงสุดสัปดาห์ไว้ การฉายรังสีรักษาแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 10-15 นาทีต่อครั้ง และโดยปกติแล้วจะต้องทำต่อเนื่องกันประมาณ 4-7 สัปดาห์
รูปแบบการฉายรังสีแบบ Continuous hyperfractionated accelerated radiotherapy (CHART) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาด้วยรังสีพลังงานสูงโดยจะได้รับการฉายรังสีรักษาต่อวันแบ่งออกเป็น 3 ครั้งต่อวันและทำเป็นเวลา 12 วันติดต่อกัน
สำหรับรังสีรักษาร่วมพิกัด หรือรังสีศัลยกรรมจะมีช่วงการรักษาน้อยกว่าเพราะจะใช้ปริมาณรังสีที่สูงขึ้นในแต่ละครั้งของการรักษาเมื่อเทียบกับแบบทั่วไปอยู่แล้ว ผู้ป่วยที่ได้รับรังสีรักษาระยะไกลแบบทั่วไปมีแนวโน้มที่จะต้องทำการรักษา 20-32 ครั้ง แต่ในขณะที่รังสีรักษาร่วมพิกัดอาจจำเป็นต้องทำการรักษาเพียง 3 ถึง 10 ครั้ง
การฉายรังสีรักษาประคับประคองมักทำการฉายรังสีประมาณ 1 ถึง 5 ครั้งเพื่อควบคุมอาการของคุณ
ผลข้างเคียงของรังสีรักษา
ผลข้างเคียงของรังสีรักษาที่หน้าอกนั้น ได้แก่:
- เจ็บหน้าอก
- เมื่อยล้า
- อาการไอที่ไม่ทุเลาลง และอาจปนเสมหะหรือเลือดออกมาด้วยซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้และไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง
- กลืนลำบาก
- ผิวหนังแสบแดง ลักษณะเหมือนผิวไหม้แดด
- ขนหน้าอกร่วง
ผลข้างเคียงควรค่อย ๆ ทุเลาลง หรือหายไปเมื่อจบคอร์สการฉายรังสีรักษา
การรักษาด้วยเคมีบำบัด
เคมีบำบัดเป็นการรักษาโดยใช้ยาฆ่ามะเร็งที่มีประสิทธิภาพเพื่อรักษาโรคมะเร็ง แพทย์สามารถใช้เคมีบำบัดในการรักษาโรคมะเร็งปอดได้หลายวิธี ตัวอย่างเช่น:
- ทำเคมีบำบัดก่อนการผ่าตัดเพื่อลดขนาดก้อนเนื้องอกซึ่งสามารถเพิ่มโอกาสการประสบความสำเร็จของการผ่าตัดได้
- ทำเคมีบำบัดหลังผ่าตัดเพื่อป้องกันโรคมะเร็งไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ
- ใช้ในการบรรเทาอาการ และชะลอการแพร่กระจายของโรคมะเร็งเมื่อการรักษาให้หายขาดนั้นเป็นไปไม่ได้
- ใช้ร่วมกับรังสีรักษา
การรักษาด้วยเคมีบำบัดมักจะได้รับเป็นรอบ ๆ รอบหนึ่งของการบำบัดคือการใช้ยาเคมีบำบัดเป็นเวลาหลายวันแล้วมีการหยุดพักบางสัปดาห์เพื่อให้ร่างกายของคุณฟื้นตัวจากผลของการรักษา
จำนวนรอบของเคมีบำบัดที่คุณจะได้รับนั้นขึ้นอยู่กับชนิดและระดับของมะเร็งปอดของคุณ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะต้องได้รับคอร์สการรักษา 4-6 รอบเป็นช่วงเวลาสามถึงหกเดือน
เคมีบำบัดสำหรับโรคมะเร็งปอดเกี่ยวข้องกับการใช้ยาหลากหลายตัวร่วมกัน ยามักจะได้รับผ่านทางการหยดลงน้ำเกลือเข้าหลอดเลือดดำ (Intravenous dripping) หรือเข้าผ่านท่อที่เชื่อมต่อกับหลอดเลือดหนึ่งเส้นที่หน้าอกของคุณโดยตรง บางคนอาจได้รับเป็นยาเม็ดหรือแคปซูลสำหรับทานแทน
ผลข้างเคียงของเคมีบำบัด
ผลข้างเคียงของเคมีบำบัดนั้นได้แก่:
ผลข้างเคียงเหล่านี้ควรดีขึ้นเมื่อการรักษาเสร็จสิ้นหรือคุณได้รับยาตัวอื่นเพื่อควบคุมอาการในระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัดได้เช่นกัน
ยาเคมีบำบัดสามารถทำให้ประสิทธิภาพระบบภูมิคุ้มกันของคุณต่ำลงทำให้คุณเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น แจ้งแพทย์หรือทีมผู้ดูแลของคุณให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้หากคุณพบอาการของการติดเชื้อ เช่น อุณหภูมิร่างกายสูงเกิน 38 องศาเซลเซียสขึ้นไปหรือคุณรู้สึกไม่สบาย
การรักษาอื่น ๆ
เช่นเดียวกับการผ่าตัด การรักษาด้วยรังสีรักษาและเคมีบำบัด ยังมีการรักษาอื่น ๆ ซึ่งบางครั้งสามารถใช้ในการรักษาโรคมะเร็งปอด เช่น
การรักษาด้วยชีวบำบัด
ยาชีวบำบัดเป็นยาตัวใหม่ ซึ่งในบางครั้ง ก็ถูกแนะนำให้ใช้เป็นทางเลือกในการรักษาแทนที่เคมีบำบัดสำหรับโรคมะเร็งชนิดเซลล์ไม่เล็กที่แพร่กระจายมากเกินไปสำหรับการรักษาด้วยการผ่าตัดหรือการฉายรังสีรักษา
ตัวอย่างของยาชีวบำบัด ได้แก่ ยา erlotinib และยา gefitinib หรืออาจเรียกเป็นสารยับยั้งปัจจัยการเจริญเติบโต (Growth factor inhibitors) เนื่องจากออกฤทธิ์ไปรบกวนการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง
การทำชีวบำบัดเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีโปรตีนจำเพาะชนิดหนึ่งในเซลล์มะเร็ง แพทย์ของคุณอาจสามารถส่งตรวจชิ้นเนื้อจากปอดของคุณในการค้นหาโปรตีนดังกล่าวเพื่อตรวจสอบว่าการรักษาเหล่านี้นั้นเหมาะกับโรคของคุณหรือไม่
การรักษาด้วยคลื่นความถี่สูง (Radiofrequency ablation)
การรักษาด้วยคลื่นความถี่สูงเป็นรูปแบบใหม่ของการรักษาที่สามารถรักษาโรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็กได้ในระยะเริ่มแรกของโรค
แพทย์ที่ทำการรักษาจะใช้เครื่องสแกนเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scanner) เพื่อนำทางเข็มไปยังบริเวณของเนื้องอก เข็มจะถูกกดลงไปในเนื้องอกและคลื่นวิทยุความถี่สูงจะถูกส่งผ่านเข็ม คลื่นเหล่านี้จะผลิตความร้อนที่ปลายเข็มซึ่งฆ่าเซลล์มะเร็งที่อยู่รอบ ๆ ได้
ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยที่สุดของการรักษาดังกล่าว คือ อาจมีฟองอากาศถูกขังอยู่ช่องระหว่างชั้นในและชั้นนอกของปอดของคุณ (pneumothorax) ภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวสามารถรักษาได้โดยการเจาะท่อปอดเพื่อระบายอากาศออกไป
การรักษาด้วยความเย็นจัด (Cryotherapy)
การรักษาด้วยความเย็นจัดเป็นการรักษาที่สามารถใช้ได้ หากก้อนมะเร็งเริ่มที่จะปิดกั้นทางเดินหายใจของคุณ หรือเรียกว่าภาวะหลอดลมอุดกั้น (Endobronchial obstruction) และอาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น:
- ปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ
- อาการไอ
- ไอเป็นเลือด
การรักษาด้วยความเย็นจัดทำในลักษณะเดียวกันกับการฝังแร่รังสีภายใน แต่แตกต่างกันแทนที่จะใช้ก้อนกัมมันตภาพรังสีจะมีการวางอุปกรณ์ที่เรียกว่า Cryoprobe อยู่ในตำแหน่งติดกับก้อนเนื้องอก เครื่องมือดังกล่าวสามารถสร้างอุณหภูมิเย็นจัดซึ่งช่วยให้ก้อนเนื้องอกหดตัวลง
การรักษามะเร็งด้วยแสงเลเซอร์ (Photodynamic therapy: PDT)
เป็นการรักษาที่สามารถใช้รักษามะเร็งปอดในระยะเริ่มแรกได้เมื่อผู้ป่วยไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัด หรือไม่ยินยอมที่จะผ่าตัด นอกจากนี้ยังสามารถใช้เพื่อกำจัดก้อนเนื้องอกที่อุดกั้นทางเดินหายใจอยู่ได้
การรักษามะเร็งด้วยแสงเลเซอร์ดังกล่าวดำเนินการเป็นสองขั้นตอน ขั้นแรก คุณจะถูกฉีดยาชนิดหนึ่งที่ทำให้เซลล์ในร่างกายของคุณมีความไวต่อแสงมากขึ้น
ขั้นต่อไป จะทำใน 24-72 ชั่วโมงต่อมาโดยใช้ท่อขนาดเล็กนำไปจ่อที่บริเวณของเนื้องอกและปล่อยแสงเลเซอร์ผ่านท่อดังกล่าว เซลล์มะเร็งที่ไวต่อแสงมากขึ้นอยู่แล้วนั้นจะถูกทำลายโดยลำแสงเลเซอร์
ผลข้างเคียงของการรักษาชนิดนี้ ได้แก่ การอักเสบของทางเดินหายใจ และการสะสมของของเหลวในปอด ผลข้างเคียงทั้งสองอย่างอาจทำให้เกิดอาการหอบเหนื่อยและอาการปวดในปอดและลำคอได้ อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้จะค่อย ๆ ทุเลาลงเนื่องจากปอดของคุณจะฟื้นตัวจากผลของการรักษาภายในระยะเวลาหนึ่ง
การใช้ชีวิตอยู่กับโรคมะเร็งปอด
ภาวะหายใจลำบากเป็นเรื่องปกติที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยมะเร็งปอดไม่ว่าจะเป็นจากอาการของโรคโดยตรง หรือเกิดจากผลข้างเคียงของการรักษา
ในหลายกรณี ภาวะหายใจลำบากอาจทำให้ทุเลาลงได้ด้วยวิธีการง่าย ๆ เช่น:
- หายใจเข้าออกอย่างช้า ๆ ผ่านทางจมูกและหายใจออกช้า ๆ ทางปากของคุณ หลังการรักษาโรคมะเร็งปอด คุณอาจถูกส่งต่อให้กับนักกายภาพบำบัดซึ่งสามารถสอนและฝึกการหายใจแบบง่าย ๆ ได้
- ทำให้กิจวัตรประจำวันของคุณง่ายขึ้น เช่น การใช้รถเข็นเมื่อคุณไปช็อปปิ้งหรือเก็บสิ่งที่คุณใช้บ่อย ๆ ไว้ที่ชั้นล่างของบ้านเพื่อให้คุณไม่จำเป็นต้องเดินขึ้นบันไดบ่อยครั้ง
- ใช้พัดลมเป่าหน้าเพื่อนำอากาศเย็นไปยังใบหน้าของคุณ
- ทานอาหารปริมาณมื้อให้เล็กลงและบ่อยครั้งขึ้น และรับประทานเป็นคำเล็ก ๆ
หากวิธีดังกล่าวไม่เพียงพอที่จะควบคุมภาวะหอบเหนื่อยของคุณ คุณอาจต้องได้รับการรักษาโดยแพทย์ประจำตัวต่อไป มียาหลายชนิดที่สามารถช่วยรักษาภาวะหายใจหอบเหนื่อยได้ การรักษาด้วยออกซิเจนที่บ้านอาจเป็นทางเลือกการรักษาในกรณีที่อาการดังกล่าวรุนแรงขึ้น
ถ้าอาการหอบของคุณเกิดจากภาวะอื่น เช่น การติดเชื้อในทรวงอก หรือเกิดการสะสมของของเหลวรอบ ๆ ปอด (Pleural effusion) การรักษาสาเหตุทางการแพทย์ดังกล่าวอาจช่วยให้คุณหายใจได้โล่งขึ้น
ความเจ็บปวด
บางคนที่เป็นโรคมะเร็งปอดมีอาการเจ็บปวด ในขณะที่บางคนอาจไม่เกิดขึ้น ประมาณหนึ่งในสามคนที่ได้รับการรักษามะเร็งมีอาการปวดบ้างในขณะที่เป็นโรค
ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นมักไม่สัมพันธ์กับความรุนแรงของโรคมะเร็ง และความเจ็บปวดมักแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล สิ่งที่ก่อให้เกิดอาการปวดจากโรคมะเร็งยังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างแน่ชัด แต่มีวิธีการรักษาหลายอย่างที่สามารถควบคุมอาการปวดได้
ผู้ที่มีโรคมะเร็งปอดระยะท้าย หรือระยะลุกลามอาจต้องการการรักษาเมื่ออาการปวดจากมะเร็งเกิดขึ้น การักษานี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลแบบประคับประคอง และมักจะทำโดยแพทย์ประจำตัว พยาบาล หรือสมาชิกคนอื่น ๆ ของทีมดูแลแบบประคับประคอง คุณสามารถรับการดูแลแบบประคับประคองที่บ้าน หรือที่โรงพยาบาลหรือในบ้านพักคนชราหรือศูนย์ดูแลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ผลกระทบทางอารมณ์และความสัมพันธ์
การเป็นโรคมะเร็งสามารถทำให้เกิดอารมณ์ได้หลากหลาย อารมณ์เหล่านี้อาจเป็นทั้งความตกใจ ความวิตกกังวล ความปลดปลง ความเศร้า และภาวะซึมเศร้า
คนแต่คนรับมือกับปัญหาร้ายแรงในรูปแบบที่ต่างกัน ยากที่จะคาดการณ์ได้ว่าการมีชีวิตอยู่กับโรคมะเร็งจะส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึกของคุณอย่างไร
พูดคุยกับเรื่องโรคมะเร็งอย่างเปิดอกและพูดเกี่ยวกับความรู้สึกของคุณรวมถึงสิ่งที่ครอบครัวและเพื่อนของคุณสามารถทำได้อย่างจริงใจสามารถช่วยให้คุณและผู้อื่นสบายใจได้ระดับหนึ่ง อย่าอายที่จะบอกคนอื่นว่าคุณต้องการเวลาให้กับตัวเองมากขึ้นเพื่อพักผ่อนหากนั่นเป็นสิ่งที่คุณต้องการ
พูดคุยกับผู้อื่น
แพทย์ประจำตัวหรือพยาบาลประจำตัวของคุณอาจสามารถให้ความมั่นใจกับคุณได้หากคุณมีข้อสงสัย หรือคุณอาจรู้สึกว่าการพูดคุยกับที่ปรึกษาที่ได้รับการฝึกอบรมหรือนักจิตวิทยานั้นเป็นประโยชน์สำหรับจิตใจของคุณ แพทย์ประจำตัวของคุณจะมีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้และสามารถส่งต่อคุณไปให้ได้
คุณอาจพบว่าการพูดคุยเกี่ยวกับประสบการณ์มะเร็งปอดของคุณกับคนอื่น ๆ ที่เป็นโรคคล้ายกันเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์และทำให้คุณรู้สึกดีขึ้น องค์กรผู้ป่วยมักมีกลุ่มท้องถิ่นที่คุณสามารถพบกับคนอื่นที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปอดเช่นเดียวกันและกำลังได้รับการรักษา
ถ้าคุณมีอาการซึมเศร้าให้แจ้งแพทย์ประจำตัวของคุณ - พวกเขาสามารถให้คำแนะนำและให้การดูแลสนับสนุนแก่คุณได้
การดูแลแบบประคับประคอง
หากคุณเกิดอาการมากมายจากโรคมะเร็งปอด แพทย์ประจำตัวและทีมดูแลสุขภาพของคุณจะให้การดูแลสนับสนุนและบรรเทาอาการปวด กระบวนการดูแลนี้เรียกว่าการดูแลแบบประคับประคอง การสนับสนุนยังมีให้สำหรับครอบครัวและเพื่อนของคุณด้วย
เมื่อโรคมะเร็งลุกลามมากขึ้น แพทย์ประจำตัวของคุณควรร่วมมือกับคุณในการจัดทำแผนการจัดการอย่างชัดเจนตามความต้องการของคุณและผู้ดูแลของคุณ รวมทั้งระบุว่าคุณต้องการไปโรงพยาบาล บ้านพักคนชรา หรือได้รับการดูแลที่บ้านเมื่อคุณป่วยหนักขึ้นเรื่อย ๆ และเริ่มไม่สามารถดูแลตนเองได้
คุณและแพทย์ของคุณจะร่วมพิจารณาว่ามีบริการอะไรบ้างในประเทศของคุณ ข้อมูลที่แนะนำทางคลินิก และสถานการณ์ส่วนบุคคลของคุณประกอบการตัดสินใจดังกล่าว
การป้องกันโรคมะเร็งปอด
หากคุณสูบบุหรี่ วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคมะเร็งปอดและโรคที่ร้ายแรงอื่น ๆ คือ การเลิกสูบบุหรี่โดยเร็วที่สุด
ไม่ว่าคุณสูบบุหรี่มานานเพียงใดคุณจะได้รับประโยชน์ไม่มากก็น้อยเมื่อเลิกสูบบุหรี่เสมอ ทุกปีที่คุณหยุดสูบบุหรี่จะช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคร้ายแรง เช่น โรคมะเร็งปอดให้ต่ำลงเรื่อย ๆ หลังจาก 10 ปีที่หยุดสูบบุหรี่โอกาสที่คุณจะเป็นมะเร็งปอดจะลดลงถึงครึ่งหนึ่งของคนที่ยังสูบบุหรี่อยู่
แพทย์ประจำตัวหรือเภสัชกรของคุณสามารถให้ความช่วยเหลือและคำแนะนำเกี่ยวกับการเลิกสูบบุหรี่ หรือส่งต่อคุณไปยังคลินิกเลิกบุหรี่ได้ หรือคุณอาจโทรสายด่วนเลิกบุหรี่ Quitline 1600 โดยตรงเพื่อรับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ในการเริ่มต้น
รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
การวิจัยที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า การรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำและมีเส้นใยสูง เช่น ผักและผลไม้สดอย่างน้อยวันละ 5 ส่วน และทานธัญพืชจำนวนมากสามารถลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอดรวมถึงโรคมะเร็งอื่น ๆ และโรคหัวใจได้อีกด้วย
การออกกำลังกาย
มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าการออกกำลังกายเป็นประจำสามารถลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอดและมะเร็งชนิดอื่น ๆ ได้
ผู้ใหญ่ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาที (2 ชั่วโมง 30 นาที) ต่อสัปดาห์ โดยออกเป็นกิจกรรมแอโรบิคระดับความหนักปานกลางอย่างสม่ำเสมอ