กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

โภชนาการสำหรับหญิงตั้งครรภ์

เผยแพร่ครั้งแรก 19 พ.ย. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 22 นาที
โภชนาการสำหรับหญิงตั้งครรภ์

การตั้งครรภ์เป็นกระบวนการที่ซับซ้อน  ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงทางกายวิภาค  ชีวเคมีและสรีรวิทยาหลายอย่างรวมทั้งมีการสร้างเนื้อเยื่อต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น  การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ทำงานหนักขึ้น  เช่น  ระบบทางเดินอาหารมีการเพิ่มความสามารถในการดูดซึม  ระบบหมุนเวียนโลหิต  ระบบขับถ่าย  หัวใจทำงานหนักเพิ่มขึ้น  รวมทั้งระบบต่อมไร้ท่อมีการผลิตฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น  เป็นต้น

ดังนั้นลักษณะของอาหารที่ควรได้รับจะแตกต่างจากภาวะปกติที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ โภชนาการของหญิงก่อนตั้งครรภ์  ขณะตั้งครรภ์และหลังคลอดมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของทารก  เนื่องจากเป็นระยะเวลาที่ทารกเจริญเติบโตรวดเร็วที่สุด  ทั้งร่างกายและสมอง  โดยอาศัยสารอาหารผ่านทางสายรกของแม่  เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต และภาวะความผิดปกติของทารกได้ 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ฝากครรภ์ คลอดบุตรวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 79 บาท ลดสูงสุด 65%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

การดูแลสุขภาพและโภชนาการก่อนตั้งครรภ์

หญิงที่มีภาวะโภชนาการที่ดีก่อนการตั้งครรภ์  จะมีโรคภัยไข้เจ็บหรือภาวะแทรกซ้อนระหว่างมีครรภ์  และคลอดบุตรก่อนกำหนดน้อยกว่ามารดาที่มีภาวะโภชนาการที่ไม่ดีก่อนตั้งครรภ์  และลดอันตรายจากภาวะสุขภาพที่ไม่ดีที่อาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์และทารกแรกคลอดได้ เนื่องจากมีภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อได้ดีจึงไม่ค่อยพบการเจ็บป่วย  ไม่ค่อยแพ้ท้องมากนัก  และทารกที่คลอดจะมีสุขภาพแข็งแรง  น้ำหนักแรกเกิดปกติ

สุขภาพของคุณแม่สามารถประเมินได้คร่าวๆจากค่าดัชนีมวลกาย (body mass index; BMI) โดยนำน้ำหนักตัว (หน่วยเป็นกิโลกรัม)  หารด้วยส่วนสูงยกกำลังสอง  (หน่วยเป็นเมตร)  เพื่อหาว่ามีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ใด จากการศึกษาพบว่า

  • ผู้หญิงที่สามารถให้กำเนิดทารกที่มีสุขภาพแข็งแรงน้ำหนักแรกคลอดปกติค่าดัชนีมวลกายไม่ควรเกิน  23  (kg/m2) 
  • ผู้หญิงที่ค่าดัชนีมวลกายน้อยกว่า  19 (kg/m2)  จะส่งผลให้ทารกแรกเกิดมีน้ำหนักตัวน้อย (น้อยกว่า  2,500  กรัม)  ถึง  5  เท่า โดยเมื่อเริ่มตั้งครรภ์มักเป็นโรคครรภ์เป็นพิษ  (toxemia)  และเพิ่มภาวะเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด นอกจากนี้ภาวะโภชนาการที่น้อยกว่าปกติมีโอกาสที่จะมีบุตรยาก  ประจำเดือนมาไม่ปกติหรือขาดประจำเดือน  หรือทารกมีภาวะโลหิตจาง 
  • ผู้หญิงที่มีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า  25 (kg/m2)  ควรมีการลดน้ำหนักอย่างน้อย  3-4  เดือนก่อนวางแผนการตั้งครรภ์  เนื่องจากการลดน้ำหนักในระยะที่มีการปฏิสนธิทำให้ขาดสารอาหารและพลังงาน  ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ได้

ซึ่งมีงานวิจัยของไพรัตน์ (2541)  ที่พบว่า  ส่วนสูงของหญิงตั้งครรภ์  น้ำหนักของหญิงก่อนตั้งครรภ์  น้ำหนักตัวของหญิงก่อนคลอด  และน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นขณะตั้งครรภ์มีความสัมพันธ์กับน้ำหนักตัวของทารกแรกเกิด  โดยหญิงตั้งครรภ์ที่สูงน้อยกว่า  150  เซนติเมตร  น้ำหนักก่อนตั้งครรภ์น้อยกว่า  45  กิโลกรัม  น้ำหนักก่อนคลอดน้อยกว่า  55  กิโลกรัม  และน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์น้อยกว่า  12  กิโลกรัม  มีแนวโน้มในการกำเนิดทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อยกว่า  2,500  กรัม  ดังนั้นน้ำหนักตัวของหญิงตั้งครรภ์ที่เพิ่มขึ้นได้ตามมาตรฐานตลอดการตั้งครรภ์  จะสะท้อนถึงการได้รับอาหารที่เพียงพอของหญิงตั้งครรภ์

การดูแลสุขภาพและโภชนาการระหว่างตั้งครรภ์

ส่วนในระหว่างตั้งครรภ์  ควรดูแลเอาใจใส่ในเรื่องอาหารและโภชนาการ  ให้ได้รับอาหารที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายหญิงตั้งครรภ์  ทารกที่เกิดจากหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะโภชนาการไม่ดีจะมีโอกาสป่วยมากกว่าหญิงตั้งครรภ์ได้รับสารอาหารน้อยหรือมากเกินไป  อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการทำงานของเนื้อเยื่อต่าง ๆ ได้  เช่น 

  • หญิงตั้งครรภ์ได้รับพลังงานน้อยในช่วง  3  เดือนก่อนคลอดการพัฒนาตับอ่อนของทารกในครรภ์จะถูกยับยั้งทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานในระยะต่อมาได้
  • หญิงตั้งครรภ์ที่น้ำหนักตัวขึ้นน้อยมักส่งผลให้คลอดบุตรที่มีน้ำหนักตัวน้อย  หรือเกิดภาวะ Low Birth Weight; LBW  คือ  ทารกแรกเกิดที่คลอดออกมาแล้วมีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่า  2,500  กรัม และยังมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการคลอด  ความผิดปกติด้านร่างกาย  การเจ็บป่วยและตายในช่วงแรกของชีวิตได้มากกว่าเด็กแรกเกิดที่มีน้ำหนักปกติ
  • เด็กทารกแรกคลอดที่เกิดจากหญิงตั้งครรภ์ที่ขาดอาหารในระยะกลางและระยะหลังของการตั้งครรภ์  จะมีความสูงน้อยและผอมกว่าเด็กที่มารดาไม่ขาดอาหาร  และมีอุบัติการณ์ของความดันโลหิตสูง  โรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบหายใจ  ไขมันในเลือดผิดปกติ  และโรคหลอดเลือดหัวใจสูงขึ้นในวัยผู้ใหญ่  ซึ่งส่งผลทำให้ร่างกายสลายโปรตีน  และแคลเซียมมากกว่าปกติ 

โดยเฉพาะช่วง  3  เดือนก่อนคลอด  เป็นช่วงที่ทารกในครรภ์มีอัตราความเจริญเติบโตรวดเร็วที่สุดทั้งร่างกายและสมอง  ถือว่าเป็นช่วงสำคัญอย่างยิ่งของทารกในครรภ์  ถ้าทารกในครรภ์ขาดสารอาหารในระยะนี้  จะทำให้ทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโตช้าลงทั้งทางร่างกายและสมอง  มีผลทำให้น้ำหนักแรกคลอดน้อยและส่วนสูงน้อยกว่าเกณฑ์  ทำให้สมองมีจำนวนเซลล์สมองน้อยกว่าที่ควรเป็นและขนาดของสมองเล็กส่งผลต่อระดับสติปัญญาของทารก

อายุของมารดาเมื่อตั้งครรภ์ส่งผลต่อทารกในครรภ์

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ฝากครรภ์ คลอดบุตรวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 79 บาท ลดสูงสุด 65%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ระยะที่เหมาะสมของการตั้งครรภ์  คือ  ช่วงอายุระหว่าง  25-35  ปี 

การตั้งครรภ์เมื่ออายุน้อยหรือช่วงวัยรุ่นอายุ  15-19  ปี  (teenage pregnancy)

ซึ่งเป็นช่วงอายุที่ยังไม่พร้อมในการตั้งครรภ์ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ  มักพบความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซีดในหญิงตั้งครรภ์และทารกมีการเจริญเติบโตช้าในครรภ์คลอดก่อนกำหนด  และมีอัตราการเสียชีวิตของทารกสูง  เนื่องจากในหญิงวัยรุ่นยังมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการของร่างกายไม่สมบูรณ์ทำให้มีการใช้พลังงานสูง  เมื่อมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นจึงมีความต้องการพลังงานมากกว่าการตั้งครรภ์ของหญิงปกติ (Wildschut, 2006)  นอกจากนี้วัยรุ่นยังต้องปรับตนเองรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ รวมทั้งวัยรุ่นมีพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ดี  เช่น  กินตามแฟชั่นกลัวอ้วน  กลัวสังคมไม่ยอมรับจึงมักจะอดอาหารหรืองดอาหารบางมื้อ  ทำให้มีความเสี่ยงต่อการขาดสารอาหารได้มากและส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้ (รวีโรจน์, 2542)

การตั้งครรภ์เมื่ออายุมากกว่า 35  ปี  (elderly pregnancy) 

มักพบการเสียชีวิต  และการเกิดความพิการของทารกในอัตราที่สูงขึ้น  เนื่องจากร่างกายไม่สามารถสร้างเนื้อเยื่อให้ตนเองและทารกได้  โรคประจำตัวเรื้อรัง  เช่น  โรคความดันโลหิตสูง  เบาหวาน  เป็นต้น  รวมทั้งอัตราความเสี่ยงต่อการที่ทารกจะมีความผิดปกติทางระบบพันธุกรรมเพิ่มขึ้น  โดยเฉพาะกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม (Down’s syndrome) ทำให้ทารกที่เกิดมามีอาการปัญญาอ่อน  ซึ่งเกิดจากแม่ที่มีอายุมาก  การสร้างเซลล์สืบพันธ์หรือมีไข่ที่โครโมโซมขาดหรือเกิน  ซึ่งเกิดจากการไม่แยกกันของโครโมโซมระหว่างที่เซลล์แบ่งตัวสร้างไข่  โดยเฉพาะในมารดาที่อายุมากกว่า  40  ปีมักพบอาการกลุ่มดาวน์ซินโดรมในทารกสูงถึงร้อยละ  4.9  (อุ่นใน, 2549)  ดังนั้นถ้าต้องการตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์อย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้จากผลการรายงานขององค์การอนามัยโลก  ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตทั่วโลกประมาณ  56  ล้านคน  มีสาเหตุจากโรคเรื้อรังไม่ติดต่อถึงร้อยละ  66  และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ  73  ในปี  ค.ศ. 2020 ได้แก่ 

ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังเหล่านี้เริ่มตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์  และมีผลต่อเนื่องถึงวัยผุ้ใหญ่

  • เด็กทารกที่มีน้ำหนักตัวน้อยหรือขนาดตัวเล็กเมื่อแรกเกิด  ทั้งที่มีสาเหตุจากการเจริญเติบโตผิดปกติในครรภ์  หรือเกิดก่อนกำหนด  เสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังและปัญหาสุขภาพเมื่อเป็นผู้ใหญ่ 
  • เด็กที่มีน้ำหนักตัวมาก  เมื่อแรกเกิดเสี่ยงต่อโรคอ้วนและ  metabolic syndrome  ในวัยผู้ใหญ่เช่นกัน

จะเห็นได้ว่าการเตรียมตัวทางด้านโภชนาการก่อนการตั้งครรภ์  ระหว่างตั้งครรภ์  รวมทั้งอายุของหญิงตั้งครรภ์จึงมีความสำคัญที่มีผลกระทบการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ได้  และจะส่งผลต่อพัฒนาการในแต่ละช่วงวัยจนตลอดอายุขัย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ฝากครรภ์ คลอดบุตรวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 79 บาท ลดสูงสุด 65%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ปริมาณพลังงานและสารอาหารที่หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับ

หญิงตั้งครรภ์ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา  เพื่อรับการตั้งครรภ์  และทารกในครรภ์ยังมีการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว  จึงทำให้หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับสารอาหารและพลังงานเพิ่มมากขึ้น  ทั้งปริมาณและคุณภาพ  ดังนี้

ความต้องการพลังงานของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์

หญิงตั้งครรภ์จำเป็นต้องมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น  เพราะการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกในครรภ์ขึ้นกับน้ำหนักของมารดาที่เพิ่มขึ้น  เพื่อนำไปใช้สำหรับการเจริญเติบโตของทารกและเนื้อเยื่อต่าง ๆ  ของแม่  ทำให้หญิงตั้งครรภ์มีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นตลอดการตั้งครรภ์  ซึ่งการเพิ่มน้ำหนักของหญิงตั้งครรภ์ขึ้นอยู่กับระยะของการตั้งครรภ์  โดยน้ำหนักตัวเฉลี่ยของหญิงตั้งครรภ์ที่มีน้ำหนักตัวปกติจะเพิ่มขึ้นประมาณ  11.5-16  กิโลกรัม  ตลอดระยะเวลาตั้งครรภ์

  • ในไตรมาสแรก  (1-3  เดือน)  หญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมาก  เนื่องจากยังมีอาการคลื่นไส้อาเจียน  ในหญิงที่มีสุขภาพดีอาจมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นน้อยกว่า  2  กิโลกรัมก็เพียงพอ  ซึ่งได้จากการรับประทานอาหารที่ให้พลังงานเพิ่มขึ้นวันละ  150-200  แคลอรี 
  • ในไตรมาสที่  2  (4-6  เดือน)  และไตรมาสที่  3  (7-9  เดือน)  การเพิ่มของน้ำหนักมารดามีความสำคัญ  เนื่องจากทารกในครรภ์เติบโตรวดเร็วมากในระยะนี้  ทำให้อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายต้องทำงานเพิ่มขึ้น  จึงควรต้องเพิ่มพลังงานขึ้นเป็นวันละ  300  แคลอรี เพื่อให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น  1.4-1.8  กิโลกรัมในแต่ละเดือนจนถึงคลอด 

การเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวหญิงตั้งครรภ์แต่ละคนจะไม่เท่ากัน  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวก่อนตั้งครรภ์ว่าอยู่ในเกณฑ์ใด  ซึ่งสามารถคำนวณได้จากค่าดัชนีมวลกาย (body mass index; BMI)  เพื่อหาว่ามีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ใด  ถ้าหญิงตั้งครรภ์มีน้ำหนักตัวน้อย  ระหว่างตั้งครรภ์ควรเพิ่มน้ำหนักให้มากขึ้นกว่าปกติ  หรือถ้ามีน้ำหนักตัวก่อนตั้งครรภ์มาก  ควรเพิ่มน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไป 

น้ำหนักตัวก่อนตั้งครรภ์และน้ำหนักตัวที่ควรเพิ่มขึ้นเมื่อถึงวันครบกำหนดคลอด

น้ำหนักตัวก่อนตั้งครรภ์

น้ำหนักตัวที่ควรเพิ่มขึ้น (กิโลกรัม)

น้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ (BMI < 19.8)

น้ำหนักตัวปกติ (BMI =  19.8-25.9)

น้ำหนักตัวมากกว่าปกติ (BMI =  26-29)

ภาวะอ้วน (BMI > 29)

กรณีตั้งครรภ์แฝด

12.5-18

11.5-16

7-11.5

7  หรือมากกว่า

16-20

ที่มา:  Wardlaw and Smith, 2011

น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นของหญิงตั้งครรภ์  กรณีตั้งครรภ์ทารกคนเดียว

ส่วนประกอบต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น

น้ำหนัก (กิโลกรัม)

ทารก

เต้านมที่โตขึ้น

มดลูกที่โตขึ้น

รก

น้ำคร่ำ

ปริมาณเลือดที่เพิ่มขึ้น

ปริมาณของเหลวที่เพิ่มขึ้น

ไขมันสะสมตามร่างกาย

3-3.5

0.5-1.4

1

0.5-1

1

1.4-1.8

1-1.4

2.7-3.5

ที่มา : สมเกียรติ, 2551

อาหารที่ให้พลังงานที่หญิงตั้งครรภ์ได้รับควรมาจาก  คาร์โบไฮเดรตจากข้าว  แป้ง  ธัญพืช  เผือก  มัน  โปรตีนจากเนื้อสัตว์  ปลา  ถั่วต่าง ๆ  ไขมันจากพืชและสัตว์  สำหรับวิตามินและเกลือแร่ได้จากการกินผักและผลไม้รวม  ซึ่งการใช้พลังงานของร่างกายสำหรับหญิงตั้งครรภ์  ควรใช้พลังงานจากการเผาผลาญกรดไขมันและกลูโคส  สำหรับโปรตีนไม่ควรนำมาเป็นแหล่งพลังงาน  แต่ควรใช้เพื่อการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ  เอนไซม์  และฮอร์โมน  เป็นต้น 

ความต้องการโปรตีนของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์

ร่างกายของหญิงตั้งครรภ์มีความต้องการโปรตีนเพิ่มมากขึ้น  เพื่อช่วยในการสร้างเนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ของทั้งมารดาและทารก  ความต้องการโปรตีนจะสูงสุดในระยะไตรมาสสุดท้ายหรือ 3  เดือนก่อนคลอด  เซลล์สมองของทารกจะมีการแบ่งตัวและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว  ถ้ามารดาได้รับโปรตีนและแคลอรีไม่เพียงพอจะทำให้มีจำนวนเซลล์สมองน้อยและขนาดเล็ก  ซึ่งมีผลต่อสติปัญญาและการเรียนรู้ของเด็กในอนาคต

คณะกรรมการจัดทำข้อกำหนดสารอาหารที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย  ได้แนะนำให้หญิงตั้งครรภ์  กินอาหารโปรตีนเพิ่มขึ้นจากภาวะปกติ  25  กรัม  เนื่องจากโปรตีนประมาณ  1.5  กรัม  ต่อน้ำหนักตัว  1  กิโลกรัม  และประมาณ  2  ใน  3  ของโปรตีนที่ได้รับควรเป็นโปรตีนจากสัตว์  เช่น  เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น  ไข่  นม  และผลิตภัณฑ์จากนม  รวมทั้งถั่วเมล็ดแห้งต่าง ๆ ให้เพิ่มมากขึ้น

ความต้องการเกลือแร่

หญิงตั้งครรภ์มีความต้องการเกลือแร่ต่าง ๆ  เพิ่มมากขึ้นจากภาวะปกติ  เนื่องจากทารกในครรภ์ต้องนำเกลือแร่ต่าง ๆ ไปใช้ในการสร้างโครงสร้างหลักของร่างกาย  เช่น  กระดูกและฟัน  เป็นต้น  เกลือแร่ที่สำคัญที่หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับมากกว่าปกติ  ได้แก่  แคลเซียม  ฟอสฟอรัส  แมกนีเซียม  เหล็ก  ไอโอดีน  และสังกะสี  เป็นต้น

  1. แคลเซียม  
  •  แคลเซียมเป็นเกลือแร่ที่คุณแม่จำเป็นจำเป็นต้องใช้ในการสร้างกระดูกและฟัน  การควบคุมการเต้นของหัวใจ  การแข็งตัวของเลือด  การหดตัวของกล้ามเนื้อ  และการรับส่งของกระแสประสาท  นอกจากนี้ยังพบว่าแคลเซียมช่วยป้องกันความดันโลหิตสูง  ช่วยในการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกในครรภ์
  • หญิงตั้งครรภ์มีต้องการแคลเซียมมากกว่าหญิงปกติ  1  เท่าตัว
  • ปริมาณแคลเซียมจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุครรภ์ที่เพิ่มมากขึ้น โดยการดูดซึมในลำไส้เพิ่มขึ้นเป็น  2  เท่าในช่วงการตั้งครรภ์ระยะแรกและสะสมไว้ในกระดูกแม่  พอถึงช่วงไตรมาสสุดท้ายทารกจะมีการสร้างกระดูกมากขึ้น  โดยดึงแคลเซียมจากเลือดของมารดามาใช้ประมาณวันละ  300  มิลลิกรัม 
  • ความต้องการแคลเซียมสัมพันธ์กับฟอสฟอรัส  โดยจำเป็นต้องมีสัดส่วนของแคลเซียมต่อฟอสฟอรัสเท่ากับ  1 : 1  เสมอ  ร่างกายจึงจะดูดซึมแคลเซียมได้ 
  • หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า  19  ปี  ควรได้รับแคลเซียม  800  มิลลิกรัมต่อวัน 
  • อาหารที่มีแคลเซียม  ได้แก่  น้ำนม  เนย  ปลาเล็กปลาน้อย  กุ้งแห้ง  และผักใบเขียวต่าง ๆ เช่น  ผักคะน้า  ผักกวางตุ้ง  ผักโขม  ผักกาด  และกะหล่ำปลี  เป็นต้น
  1. ฟอสฟอรัส  
  • ฟอสฟอรัสช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง  และช่วยสร้างเซลล์อื่น ๆ เนื่องจากฟอสฟอรัสเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของกรดนิวคลีอิก  ที่มีความสำคัญต่อการถ่ายทอดพันธุกรรมและควบคุมกระบวนการเมแทบอลิซึมของเซลล์ 
  • หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า  19  ปี  ควรได้รับฟอสฟอรัส  700  มิลลิกรัมต่อวัน 
  • อาหารที่มีฟอสฟอรัสมาก  ได้แก่  ปลา  นม  ไข่  เนย  และผักใบเขียวชนิดต่าง ๆ
  1. เหล็ก 
  • เหล็กเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นมากสำหรับภาวะตั้งครรภ์  เพื่อช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง  และเป็นองค์ประกอบของฮีโมโกลบินที่ทำหน้าที่ขนส่งออกซิเจน 
  • การได้รับเหล็กในปริมาณไม่เพียงพอทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง  ส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อนในระหว่างตั้งครรภ์และในระหว่างคลอดได้ง่าย  เนื่องจากมารดาที่เป็นโรคโลหิตจางจะทนต่อการสูญเสียเลือดในระหว่างการคลอดได้น้อย  ทำให้เป็นอันตรายแก่มารดาและทารกได้  รวมทั้งเกิดความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อหลังคลอดได้ 
  • คณะกรรมการจัดทำข้อกำหนดสารอาหารที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย  พ.ศ. 2546  แนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับยาเม็ดธาตุเหล็กเสริมวันละ  60  มิลลิกรัมเสริมจากการได้รับธาตุเหล็กจากอาหาร เนื่องจากระยะตั้งครรภ์จะมีการถ่ายเทเหล็กจากมารดาไปสู่ทารกโดยเฉพาะในไตรมาสที่  3  ประมาณวันละ  3-4  มิลลิกรัม  และหญิงตั้งครรภ์จะสูญเสียเหล็กในระหว่างคลอดประมาณ  150  มิลลิกรัม
  • อาหารที่มีธาตุเหล็กมาก  เช่น  เครื่องในสัตว์ต่าง ๆ โดยเฉพาะตับ  ไต  ม้าม  ไข่แดง ผักใบเขียวต่างๆ ซึ่งควรรับประทานอาหารร่วมกับวิตามินซีและโปรตีนเพื่อช่วยให้ร่างการดูดซึมธาตุเหล็กได้ดียิ่งขึ้น
  1. ไอโอดีน 
  • ไอโอดีนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการสร้างฮอร์โมนไทรอกซินจากต่อมไทรอยด์  ซึ่งมีความสำคัญต่อการควบคุมการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตเพื่อใช้เป็นพลังงาน ในระยะตั้งครรภ์ที่ร่างกายต้องการพลังงานมากกว่าปกติ  ร่างกายจึงต้องการไอโอดีนเพิ่มมากขึ้น 
  • ฮอร์โมนไทรอกซินจึงมีความเกี่ยวข้องในการควบคุมการเจริญเติบโตของร่างกายและเซลล์สมอง  หากขาดฮอร์โมนนี้ในช่วงตั้งครรภ์อาจทำให้แท้งหรือเสียชีวิตในระหว่างคลอด  แต่ถ้ารอดชีวิตและเติบโตได้การพัฒนาทางสมองของเด็กลดลง  การพัฒนาการทางด้านร่างกายช้า  ถ้าขาดรุนแรงพัฒนาการด้านประสาทจะบกพร่องทารกที่คลอดมาจะมีลักษณะเป็นเด็กปัญญาอ่อน  หรือที่เรียกว่า “โรคเอ๋อ” 
  • หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับไอโอดีนเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกวันละ  50  ไมโครกรัม  หรือควรได้รับวันละ  200  ไมโครกรัม
  • อาหารที่มีสารอาหารไอโอดีนสูง  ได้แก่  อาหารทะเล  เช่น  ปลา  ปู  กุ้ง  และหอยทะเล  นอกจากนี้อาจได้จากการกินเกลือผสมไอโอดีน  หรือที่เรียกว่า  เกลืออนามัย  หรือผลิตภัณฑ์ที่เสริมเกลือไอโอดีน  เป็นต้น
  1. สังกะสี  
  • สังกะสีมีความสำคัญต่อการทำงานของเอนไซม์โปรตีน  และการแสดงออกของหน่วยพันธุกรรมในทุกระบบของสิ่งมีชีวิต  นอกจากนี้สังกะสียังมีความสำคัญต่อกระบวนการเมแทบอลิซึมของกรดนิวคลีนิก  และโปรตีน  ช่วยในการเจริญเติบโต  และช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น  ทำให้ร่างกายนำวิตามินเอที่สะสมในตับมาใช้ให้ภูมิคุ้มกันโรค  และยังทำให้อวัยวะเพศและกระดูมีการพัฒนาตามปกติ 
  • ภาวะขาดสังกะสีก่อให้เกิดความผิดปกติของการเจริญเติบโต  ระบบภูมิคุ้มกันการทำงานของอวัยวะสืบพันธุ์  และระบบประสาทที่ควบคุมพฤติกรรมต่าง ๆ ทำงานผิดปกติ
  • หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับสังกะสีเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกวันละ  2  มิลลิกรัม  หรือควรได้รับวันละ  9  มิลลิกรัม
  • อาหารที่มีสารอาหารสังกะสีสูง  ได้แก่  หอยนางรม  จมูก  ข้าว  ปู  กุ้ง  เนื้อสัตว์  ตับ  เห็ด  อาหารที่มีโปรตีนสูงมักมีสังกะสีเป็นส่วนประกอบ
  1. แมกนีเซียม  
  • แมกนีเซียมมีบทบาทสำคัญต่อร่างกายโดยเป็นโคแฟกเตอร์ของเอนไซม์จำนวนมาก  มีบทบาทในการควบคุมอุณหภูมิ  การยืดหดของกล้ามเนื้อ  การสังเคราะห์โปรตีน 
  • ถ้าปริมาณแมกนีเซียมในเลือดน้อยจะมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงของการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น  โรคหัวใจและหลอดเลือด  โรคความดันโลหิตสูง  และโรคกระดูกพรุน  เป็นต้น
  • หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับแมกนีเซียม  เพิ่มขึ้นจากเดิมอีกวันละ  30  มิลลิกรัม  หรือควรได้รับวันละ  280  มิลลิกรัม 
  • อาหารที่มีสารอาหารแมกนีเซียมสูง  ได้แก่  ผักใบเขียว  ผลไม้  ธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้ง นม  เป็นต้น

ความต้องการเกลือแร่ของหญิงตั้งครรภ์เปรียบเทียบกับหญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์

ชนิดของเกลือแร่

ความต้องการต่อวัน

หญิงตั้งครรภ์

หญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์

แคลเซียม (มิลลิกรัม)

ฟอสฟอรัส  (มิลลิกรัม)

แมกนีเซียม  (มิลลิกรัม)

เหล็ก  (มิลลิกรัม)

สังกะสี  (มิลลิกรัม)

ไอโอดีน  (ไมโครกรัม)

800

700

280

ยาเสริม  60  มิลลิกรัม

9

200

800

700

250

24.7

7

150

ที่มา  :  สำนักโภชนาการ, 2550

ความต้องการวิตามิน

วิตามินเป็นสารอาหารที่ช่วยในการเผาผลาญอาหารของร่างกาย  ในวันหนึ่ง ๆ ร่างกายต้องการปริมาณเล็กน้อย  แต่การขาดอาจส่งผลให้เกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับวิตามิน  และส่งผลต่อทารกที่อยู่ในครรภ์ได้โดยตรง  วิตามินที่สำคัญที่หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับ  ได้แก่

  1. วิตามินเอ 
  • เป็นวิตามินที่ช่วยในการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์  ช่วยในการสร้างกระดูกและฟัน  ส่งเสริมสุขภาพของผิวหนังและพัฒนาการของเซลล์เยื่อบุผิว  ช่วยบำรุงสุขภาพของตาและการมองเห็นของหญิงตั้งครรภ์  บำรุงผิวหนังและเพิ่มความต้านทานโรค  รวมทั้งการเพิ่มภูมิต้านทานซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการเกิดมะเร็งด้วย
  • แนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ได้รับวิตามินเอ  เพิ่มขึ้นจากเดิมอีกวันละ  200  ไมโครกรัม  หรือควรได้รับวันละ  800  ไมโครกรัม
  • อาหารที่เป็นแหล่งของวิตามินเอ  ได้แก่  ไข่แดง  ตับ  และผักที่มีสารแคโรทีน  ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นวิตามินเอได้  ประกอบด้วย  ผักใบเขียว  และผลไม้ที่มีสีเหลืองเข้ม  เช่น  ผักตำลึง  ผักคะน้า  ผักหวาน  แครอท  ฟักทอง  มะละกอสุก  เป็นต้น
  1. วิตามินดี 
  • หญิงตั้งครรภ์ต้องการวิตามินดีเพิ่มมากขึ้นเพื่อช่วยในการสร้างกระดูกของทารกในครรภ์ วิตามินดีมีความสำคัญต่อการควบคุมเมแทบอลิซึมของแคลเซียมและกระดูก  ช่วยให้การดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัสที่ทางเดินอาหาร  และการทำงานของเซลล์กระดูกเป็นปกติ  ซึ่งเป็นผลให้ระดับแคลเซียมและฟอสฟอรัสในเลือด  ปริมาณมวลกระดูก  รวมทั้งโครงสร้างและความแข็งแรงของกระดูกอยู่ในเกณฑ์ปกติ 
  • หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับวิตามินดีวันละ  5  ไมโครกรัม ซึ่งคนไทยที่มีสุขภาพแข็งแรงดีซึ่งได้รับแสงแดดอย่างเพียงพอ ผิวหนังสามารถสังเคราะห์วิตามินดีสะสมในร่างกายในปริมาณที่เพียงพอตลอดปี
  • อาหารที่เป็นแหล่งของวิตามินดี  ได้แก่  น้ำมันตับปลา เนื้อปลาที่มีไขมัน ตับ นม และไข่แดง  เป็นต้น
  1. วิตามินอี  หรือโทโคเฟอรอล (tocopherol) 
  • วิตามินอีเป็นวิตามินที่ละลายในไขมันชนิดที่สำคัญที่สุดสำหรับมนุษย์และสัตว์ ความสำคัญต่อการผลิตพลังงานในร่างกาย  โดยเฉพาะกล้ามเนื้อหัวใจ  ช่วยให้กล้ามเนื้อและประสาทที่เกี่ยวข้องทำงานได้ในภาวะที่มีออกซิเจนน้อย  เพิ่มความทนทานและช่วยให้หลอดเลือดขยายตัว ทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจได้สะดวกขึ้น 
  • วิตามินอีพบได้ในผนังเซลล์ทุกชนิดและในหยดไขมัน  มีบทบาทในการต่อต้านการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันที่เกิดขึ้นกับสารต่าง ๆ ที่อยู่ในร่างกาย  เช่น  บนผนังเซลล์เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกทำลาย 
  • หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับวิตามินอีวันละ 15 ไมโครกรัม 
  • อาหารที่เป็นแหล่งของวิตามินอี ได้แก่ น้ำมันพืชต่าง ๆ เมล็ดพืชต่าง ๆ เช่น เมล็ดดอกทานตะวัน เมล็ดแตงโม  อัลมอนด์ ถั่วเหลือง รวมทั้งจมูกข้าวสาลี ตลอดจนตับ หัวใจ และไข่แดง
  1. วิตามินบีหนึ่ง
  • วิตามินบี 1 เป็นส่วนประกอบของโคเอนไซม์  ที่ใช้ในกระบวนการย่อยคาร์โบไฮเดรต  ถ้ามีวิตามินบี 1 ไม่เพียงพอคาร์โบไฮเดรตจะไม่ถูกย่อย  ดังนั้นถ้าใช้พลังงานมากหรือกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตมาก  ควรได้รับวิตามินบีหนึ่งเพิ่มขึ้นด้วย 
  • การขาดวิตามินบี 1 ส่งผลให้เกิดโรคเหน็บชา  ซึ่งอาจพบในหญิงตั้งครรภ์ที่เกิดการแพ้ท้องมากจนไม่สามารถบริโภคอาหารได้  ประกอบกับต้องใช้พลังงานมาก  ทำให้เกิดอาการชาตามปลายมือปลายเท้า  ถ้าไม่รักษาอาจเกิดการแท้งบุตรได้
  • หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับวิตามินบีหนึ่ง  เพิ่มขึ้นจากเดิมอีกวันละ  0.4  มิลลิกรัม  หรือควรได้รับวันละ  1.4  มิลลิกรัม
  • อาหารที่เป็นแหล่งของวิตามินบีหนึ่ง  ได้แก่  จมูกข้าว  ยีสต์  พืชตระกูลถั่ว  เนื้อหมู  ไข่  และเครื่องในสัตว์โดยเฉพาะตับ  เป็นต้น
  1. วิตามินบีสอง
  • วิตามินบี 2 เป็นส่วนประกอบของโคเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเผาผลาญสารอาหารคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน ช่วยบำรุงผิวหนัง ช่วยป้องกันโรคไมเกรน ช่วยขจัดอนุมูลอิสระ
  • การขาดวิตามินบี 2 มีผลทำให้ผิวหนังแตกเป็นขุย และแดงอักเสบ บำรุงนัยน์ตา ลดอาการตาไม่กล้าสู้แสง ช่วยป้องกันโรคปากนกกระจอก หรือรอยแผลแตกที่มุมปาก นอกจากนี้การขาดวิตามินบี 2 จะเกี่ยวข้องกับโรคขาดโปรตีนและพลังงาน
  • หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับวิตามินบีสอง เพิ่มขึ้นจากเดิมอีกวันละ 0.3 มิลลิกรัม หรือควรได้รับวันละ 1.4 มิลลิกรัม
  • อาหารที่เป็นแหล่งของวิตามินบีสอง ได้แก่ ตับ และผักใบเขียว
  1. โฟเลต
  • โฟเลตเป็นสารอาหารที่จัดอยู่ในกลุ่มวิตามินบีชนิดหนึ่ง ทำหน้าที่เป็นโคเอนไซม์ในปฏิกิริยาที่เกี่ยวข้องกับกรดนิวคลีอิกและกรดแอมิโน
  • โฟเลตเป็นวิตามินที่มีความสำคัญมากต่อหญิงตั้งครรภ์เนื่องจากทารกในครรภ์อย่างรวดเร็วทั้งร่างกายและสมอง โฟเลตช่วยในการสร้างและพัฒนาเม็ดเลือดแดง ช่วยการสังเคราะห์สารพันธุกรรม หรือดีเอ็นเอจำเป็นสำหรับการแบ่งเซลล์และการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อต่าง ๆ และช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดภาวะหลอดประสาทของทารกในครรภ์เปิด หรือ neural defects : NTDs
  • หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับโฟเลต เพิ่มขึ้นจากเดิมอีกวันละ 200 ไมโครกรัม หรือควรได้รับวันละ 600 ไมโครกรัม เมื่อร่างกายได้รับโฟเลตไม่เพียงพอจะทำให้เกิดอาการโลหิตจาง
  • อาหารที่เป็นแหล่งของโฟเลต ได้แก่ ตับ ผักใบเขียว ผลไม้สด ถั่วเมล็ดแห้ง เมล็ดดอกทานตะวัน และจมูกข้าว เป็นต้น
  1. วิตามินบีสิบสอง 
  • วิตามินบี 12 จำเป็นสำหรับการทำงานของเซลล์ในไขกระดูก ระบบประสาทและระบบทางเดินอาหาร ทำให้เม็ดเลือดแดงมีอายุตามปกติ ใช้รักษาระบบเลือดผิดปกติ และอาการทางประสาทของคนไข้ที่เป็นโรคโลหิตจางเป็นพิษชนิดเพอร์นิเซียส (pernicious anemia)
  • วิตามินบี 12 ทำงานร่วมกับโฟเลต เหล็ก ในการผลิตเม็ดเลือดแดงที่สมบูรณ์
  • หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับวิตามินบี 12 เพิ่มขึ้นจากเดิมอีกวันละ 0.2 ไมโครกรัม หรือควรได้รับวันละ 2.6 ไมโครกรัม
  • อาหารที่เป็นแหล่งของวิตามินบีสิบสอง ได้แก่ ตับ ไต หัวใจ เนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เป็นต้น
  1. วิตามินซี
  • วิตามินซีมีความสำคัญต่อการสังเคราะห์คอลลาเจน คาร์นิทีน สารเหนี่ยวนำกระแสประสาท (neurotransmitter) และเมแทบอลิซึมของกรดแอมิโนและคาร์โบไฮเดรต เพิ่มภูมิต้านทานและช่วยในการดูดซึมเหล็ก ยับยั้งการสร้างสารก่อมะเร็งไนโตรซามีน (nitrosamine) มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ลดการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันของลิพิด (lipid peroxidation)
  • ถ้ามีการขาดวิตามินซีอย่างรุนแรงจะเกิดโรคลักปิดลักเปิด (scurvy) และมีผลต่อการสร้างกระดูกและฟันของทารกในครรภ์
  • หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับวิตามินซี เพิ่มขึ้นจากเดิมอีกวันละ 10 มิลลิกรัม หรือควรได้รับวันละ 85 มิลลิกรัม
  • วิตามินซีพบมากในผลไม้ เช่น เชอรี่ ฝรั่ง ส้ม มะนาว และผัก เช่น คะน้า สะเดา ผักหวาน เป็นต้น

ความต้องการวิตามินของหญิงตั้งครรภ์เปรียบเทียบกับหญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์

ชนิดของวิตามิน

ความต้องการต่อวัน

หญิงตั้งครรภ์

หญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์

วิตามินเอ (ไมโครกรัม)

800

600

วิตามินดี (ไมโครกรัม)

5

5

วิตามินอี (มิลลิกรัม)

15

15

วิตามินเค (ไมโครกรัม)

90

90

วิตามินบีหนึ่ง (มิลลิกรัม)

1.4

1.1

วิตามินบีสอง (มิลลิกรัม)

1.4

1.1

ไนอะซีน (มิลลิกรัม)

18

14

วิตามินบีหก (มิลลิกรัม)

1.9

1.3

โฟเลต (ไมโครกรัม)

600

400

วิตามินบีสิบสอง (ไมโครกรัม)

2.6

2.4

วิตามินซี (มิลลิกรัม)

85

75

ที่มา : สำนักโภชนาการ, 2550

การส่งเสริมภาวะโภชนาการสำหรับหญิงตั้งครรภ์

ยังคงมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการรับประทานอาหารขณะตั้งครรภ์ เช่น ควรรับประมานอาหารเป็น 2 เท่าเผื่อทารกในครรภ์ด้วย ซึ่งความเป็นจริงร่างกายต้องการเพิ่มเพียงวันละ 300 แคลอรี ในไตรมาสที่ 2 และ 3 ของการตั้งครรภ์ หรือมีการคิดว่าไม่อยากให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นมากเพื่อลูกจะได้ตัวเล็ก คลอดได้ง่าย ซึ่งอาจมีผลทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการคลอดลูกก่อนกำหนด ปัญหาเกี่ยวกับปอดและหัวใจ ดังนั้นเพื่อให้ได้พลังงานเพิ่มตามที่ต้องการ อาจทำได้โดยการเพิ่มปริมาณอาหารหรือลดการทำกิจกรรม เป็นต้น

ข้อควรปฏิบัติสำหรับหญิงตั้งครรภ์

  1. กินอาหารให้ครบ 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มข้าวและธัญพืช กลุ่มผัก กลุ่มผลไม้ กลุ่มเนื้อสัตว์ และกลุ่มนม ในปริมาณที่เหมาะสมและควรกินให้หลากหลาย ตามที่แนะนำให้บริโภคใน 1 วัน โดยคำนึงถึงน้ำหนักตัวของแต่ละบุคคล ดังแสดงในตารางที่ 2.5 เพื่อให้ได้พลังงานและสารอาหารเพียงพอตามที่ร่างกายต้องการ ซึ่งจะส่งผลให้ทารกในครรภ์เจริญเติบโตดี

ปริมาณอาหารที่แนะนำให้บริโภคใน 1 วัน สำหรับหญิงตั้งครรภ์

กลุ่มหญิงตั้งครรภ์

สัดส่วนอาหารแต่ละหมู่ (ต่อวัน)

หมายเหตุ

ไขมัน/น้ำตาล/

เกลือ

ข้าว – แป้ง

ผัก

ผลไม้

เนื้อสัตว์

ต่าง ๆ

น้ำหนักตัว

ตามเกณฑ์

ปริมาณน้อย

เท่าที่จำเป็น

8-12

ทัพพี

6 ทัพพี

6 ส่วน

12 ช้อนกินข้าว

นม 2-3 แก้ว

ไข่ 1-2 ฟอง

น้ำหนักตัว

น้อยกว่าเกณฑ์

ปริมาณน้อย

เท่าที่จำเป็น

12 ทัพพี

6 ทัพพี

6 ส่วน

12 ช้อนกินข้าว

นม 3 แก้ว

ไข่ 1-2 ฟอง

นำหนักตัว

มากกว่าเกณฑ์

ปริมาณน้อย

เท่าที่จำเป็น

9 ทัพพี

6 ทัพพี

6 ส่วน

หลีกเลี่ยงผลไม้รสหวาน

12 ช้อนกินข้าว

ควรดื่มนมจืด 2 แก้ว

ไข่ 1-2 ฟอง

หลีกเลี่ยงอาหารประเภททอด ผัด หรือใส่กะทิ

ที่มา : สมเกียรติ, 2551       

  1. กินอาหารระหว่างมื้อ ได้แก่ อาหารว่างเช้าและบ่าย เนื่องจากหญิงตั้งครรภ์มีความต้องการพลังงานและสารอาหารเพิ่มขึ้น การบริโภคอาหาร 3 มื้อหลัก อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยเลือกอาหารว่างที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น นมจืด ผลไม้ ขนมไทยที่มีรสหวานเล็กน้อย เช่น เต้าส่วน กล้วยบวชชี ฟักทองแกงบวด เป็นต้น
  2. ควรกินอาหารที่เป็นแหล่งธาตุเหล็ก สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เช่น ตับ เลือด เนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อแดง และควรกินอาหารที่มีวิตามินซีสูงร่วมด้วย เช่น ฝรั่ง มะขามป้อม มะปรางสุก มะละกอสุก ส้ม เป็นต้น เพื่อช่วยในการดูดซึมเหล็ก
  3. กินอาหารที่เป็นแหล่งแคลเซียมทุกวัน เช่น นม โยเกิร์ต เนยแข็ง ปลาเล็กปลาน้อย ปลากระป๋อง สัตว์ตัวเล็กที่กินทั้งตัวและกระดูก ทั้งนี้นมเป็นแหล่งแคลเซียมที่ดีที่สุด เนื่องจากมีปริมาณแคลเซียมสูงและดูดซึมได้ดี หากดื่มนมแล้วมีอาการท้องอืด แน่นท้อง มีแก๊สในกระเพาะ หรือท้องเสีย อาจแก้โดยการดื่มทีละน้อยและค่อย ๆ เพิ่มปริมาณ ไม่ดื่มนมในขณะท้องว่าง เป็นต้น
  4. กินยาเม็ดเสริมธาตุเหล็ก (60 มิลลิกรัม) และโฟเลต (400 มิลลิกรัม) ทุกวัน วันละ 1 เม็ด เพื่อป้องกันการขาดธาตุเหล็กและโฟเลต โดยไม่ควรกินยาพร้อมกับเครื่องดื่มประเภท นม ชา กาแฟ น้ำอัดลม เพราะมีสารขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็ก หากหญิงตั้งครรภ์ขาดธาตุเหล็กจะทำให้เกิดภาวะโลหิตจางทั้งแม่และลูก มีผลต่อการแท้ง การคลอด ภาวะตกเลือดของแม่ในขณะตั้งครรภ์ ส่วนการขาดโฟเลตโดยเฉพาะช่วงเดือนแรกของการตั้งครรภ์ จะผลต่อความผิดปกติของการพัฒนาสมองและระบบประสาท ทารกจะเป็นโรคหลอดประสาทเปิด (neural tube defect) มีโอกาสเสียชีวิตในครรภ์หรือหลังคลอดไม่นาน
  5. ใช้เกลือหรือน้ำปลาเสริมไอโอดีนในการปรุงอาหารทุกครั้ง เพื่อป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน ที่ส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองและระบบประสาทของทารก มีผลให้ทารกมีสติปัญญาน้อย หูหนวก เป็นใบ้ หรือที่เรียกว่า เอ๋อ แต่ทั้งนี้ไม่ควรใช้เกลือเสริมไอโอดีนเกินวันละ 1 ช้อนชา
  6. นอนหลับให้เพียงพอ โดยหญิงตั้งครรภ์ควรนอนหลับพักผ่อนวันละ 8 ชั่วโมง
  7. ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น การเดิน และบริหารร่างกาย เพื่อลดอาการแทรกซ้อนในขณะตั้งครรภ์ และเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (กองโภชนาการ, 2552)

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับหญิงตั้งครรภ์

  1. อาหารที่ไม่ปลอดภัย คือ อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา หรือเชื้อพยาธิ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือชีวิตของหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ นอกจากนี้อาหารปนเปื้อนสารเคมีต่าง ๆ ก็ควรต้องหลีกเลี่ยง ตลอดจน อาหารหมักดอง อาหารรสจัด อาหารที่ใส่ผงชูรส ใส่สี ใส่สารกันบูด รวมถึงอาหารที่เคยกินแล้วแพ้ด้วย
  2. แอลกอฮอล์ ที่มีอยู่ในเครื่องดื่มต่าง ๆ จะขัดขวางการดูดซึมวิตามินบีชนิดต่าง ๆ รวมทั้งแคลเซียม เหล็ก สังกะสี และแมกนีเซียมของทารก ดังนั้นถ้าหญิงตั้งครรภ์ดื่มในปริมาณที่มากขณะตั้งครรภ์ จะส่งผลให้ทารกในครรภ์เกิดความผิดปกติทั้งทางร่างกายและสติปัญญา
  3. 3) บุหรี่ หญิงที่สูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์ อาจทำให้เกิดการแท้ง ทารกมีน้ำหนักตัวน้อย คลอดก่อนกำหนด และเด็กมีความผิดปกติหลายอย่าง เนื่องจากควันบุหรี่จะทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตของรกลดลง ทำให้ทารกในครรภ์ได้รับออกซิเจนหรือสารอาหารผ่านทางรกได้น้อยลง ทารกคลอดออกมาจึงมีขนาดเล็กผิดปกติ และสมองจะมีขนาดเล็กตามไปด้วย
  4. คาเฟอีน นอกจากจะมีในกาแฟแล้ว ยังมีในชา โคล่า โกโก้ ช็อกโกแลต รวมทั้งเครื่องดื่มชูกำลังต่าง ๆ คาเฟอีนมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ และขัดขวางการดูดซึมแคลเซียม แมกนีเซียม สังกะสี และเหล็ก การได้รับคาเฟอีนในปริมาณที่มากในขณะตั้งครรภ์ จะมีความสัมพันธ์กับน้ำหนักตัวน้อยของทารกแรกเกิดและการแท้ง
  5. ยา การกินยาในระหว่างการตั้งครรภ์เป็นเรื่องสำคัญมาก ยาบางชนิดไปกระทบกระเทือนต่อการแบ่งเซลล์ ทำให้อวัยวะนั้นมีความผิดปกติหรือหยุดการเจริญเติบโต ซึ่งผิดปกติมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระยะของการตั้งครรภ์และปริมาณของสารที่ได้รับ อาจมีผลถึงขั้นทำให้เกิดภาวะแท้ง พิการแต่กำเนิด หรือเกิดมะเร็งในภายหลัง เป็นต้น

โภชนาการสำหรับหญิงให้นมบุตร

หลังจากที่ทารกคลอดออกมาจากครรภ์มารดาแล้ว มารดายังต้องได้รับสารอาหารที่เพียงพอและเป็นประโยชน์ต่อไป เพราะทารกยังต้องกินนมมารดาอยู่ โดยเฉพาะใน 5 เดือนหลังคลอด ทารกต้องได้นมมารดาเป็นหลัก

ความสำคัญของโภชนาการสำหรับหญิงให้นมบุตร

กระบวนการสร้างน้ำนมจำเป็นต้องใช้สารอาหารที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำนมที่เพียงพอแก่ทารก โดยเฉพาะใน 6 เดือนหลังคลอด ทารกต้องได้นมมารดาเป็นหลัก ถ้ามารดามีภาวะโภชนาการที่ไม่ดีส่งผลให้มีสุขภาพทรุดโทรมและปริมาณน้ำนมน้อย ไม่เพียงพอทั้งปริมาณและคุณภาพของน้ำนม  ทำให้เกิดการขาดสารอาหารบางชนิด เช่น วิตามินบีหนึ่ง วิตามินซี วิตามินเอ เป็นต้น นอกจากนี้ยังใช้ในการเสริมสร้างซ่อมแซมเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของมารดาให้สมบูรณ์ เนื่องจากการสูญเสียเลือดระหว่างาการคลอด จึงจำเป็นต้องได้รับสารอาหารที่เพิ่มขึ้นจากปกติ ดังนั้นโภชนาการสำหรับหญิงให้นมบุตรจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก

ปริมาณพลังงานและสารอาหารที่ควรได้รับของหญิงให้นมบุตร

  1. ความต้องการพลังงาน   

หญิงให้นมบุตรต้องการพลังงานสูงกว่าในระยะตั้งครรภ์มาก เพราะน้ำนมที่ผลิตเลี้ยงทารกนั้นประกอบด้วยพลังงานและสารอาหารหลายชนิด ร่างกายของมารดาจึงต้องใช้สารอาหารเหล่านั้นสูงกว่าปกติ เพื่อสร้างน้ำนมซึ่งหญิงให้นมบุตรจะมีปริมาณของน้ำนมที่ผลิตขึ้นแตกต่างกันในแต่ละคน

โดยเฉลี่ยใน 3 เดือนแรกของการให้นมบุตรจะมีปริมาณน้ำนมประมาณ 680-820 มิลลิลิตรต่อวัน ซึ่งต้องใช้พลังงานในการผลิตน้ำนม 570-690 แคลอรีต่อวัน แต่เนื่องจากในระยะตั้งครรภ์ร่างกายมีการสะสมพลังงานในรูปไขมันบ้างแล้ว ดังนั้นหญิงให้นมบุตรจึงควรได้รับพลังงานเพิ่มขึ้นประมาณวันละ 500 กิโลแคลอรี สำหรับมารดาที่ทำงานเบา หรือ 1,000 กิโลแคลอรีสำหรับมารดาที่ทำงานหนัก

  1. ความต้องการโปรตีน

หญิงให้นมบุตรจำเป็นต้องได้รับโปรตีนที่เพียงพอ เพื่อใช้ในการสร้างน้ำนมและซ่อมแซมเซลล์ต่าง ๆ ที่สูญเสียในระหว่างการคลอด หากในระยะนี้ได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ ร่างกายจะสลายโปรตีนในเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของแม่ เพื่อใช้ในการสร้างน้ำนมให้ทารก ทำให้ร่างกายแม่ทรุดโทรมลง

ปริมาณโปรตีนที่ควรได้รับสำหรับหญิงให้นมบุตร ควรเพิ่มจากปกติวันละ 25 กรัม และควรเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพสมบูรณ์ (complete Protein) ในหญิงให้นมบุตรที่ขาดโปรตีนมากจะทำให้เกิดการบวม โลหิตจาง ภูมิต้านทานโรคน้อย และปริมาณน้ำนมน้อยไม่พอสำหรับเลี้ยงทารก

  1. ความต้องการวิตามินและเกลือแร่

หญิงให้นมบุตรควรได้รับวิตามินและเกลือแร่เพิ่มมากขึ้น เพื่อใช้ในการเสริมสร้างร่างกายของแม่และเป็นส่วนประกอบในน้ำนม โดยคณะกรรมการการจัดทำข้อกำหนดสารอาหารที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ.2546 ได้แนะนำให้หญิงให้นมบุตรควรได้รับวิตามินและเกลือแร่เพิ่มขึ้น ดังแสดงในตารางที่ 2.6 โดยเฉพาะแคลเซียม เพื่อใช้ในการสร้างน้ำนมสำหรับทารกในน้ำนมแม่ 100 มิลลิลิตร มีแคลเซียม 30 มิลลิกรัม ดังนั้นใน 1 วัน หญิงให้นมบุตรจึงต้องการใช้แคลเซียมประมาณวันละ 250-300 มิลลิกรัม เนื่องจากแคลเซียมดูดซึมได้ไม่หมด ดังนั้นจึงควรได้รับแคลเซียม 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน เพื่อให้แน่ใจว่าได้รับแคลเซียมเพียงพอ

  1. ความต้องการน้ำ

หญิงให้นมบุตรมีความต้องการน้ำใกล้เคียงกับปริมาณของน้ำนมที่หลั่งออกมาให้ทารก โดยปริมาณน้ำในน้ำนมมีค่าเฉลี่ยร้อยละ 87 และน้ำนมที่หลั่งออกมามีปริมาณเฉลี่ยวันละ 750 มิลลิลิตรในระยะ 6 เดือนแรก ดังนั้นปริมาณน้ำที่ควรได้รับเพิ่มขึ้นจากคนปกติ คือ เพิ่ม 500 มิลลิลิตรต่อวัน ซึ่งจะช่วยให้การหลั่งน้ำนมดีขึ้น

การจัดอาหารสำหรับหญิงให้นมบุตร

อาหารที่หญิงให้นมบุตรควรได้รับต้องเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย และจัดอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยพยายามจัดอาหารให้หลากหลายเพื่อให้ได้รับสารอาหารครบถ้วนดังแสดงในตาราง

ปริมาณและแหล่งอาหารที่ให้วิตามินและเกลือแร่ที่หญิงให้นมบุตรควรได้รับ

สารอาหาร

ปริมาณที่ควรได้รับ

แหล่งอาหาร

วิตามินเอ (ไมโครกรัม)

  + 375

ไข่แดง ตับ นม ผักใบเขียว ผลไม้สีเหลือง ส้ม

วิตามินซี (มิลลิกรัม)

  + 35

ส้มมะนาว ฝรั่ง สตรอเบอรี มะเขือเทศ ผักใบเขียว

วิตามินอี (มิลลิกรัม)

  + 4

น้ำมันพืช และผลิตภัณฑ์จากน้ำมันพืชชนิดต่าง ๆ

ไทอะมิน (มิลลิกรัม)

      + 0.3

เนื้อหมู ข้าวซ้อมมือ ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ถั่วดำ และงา

ไรโบฟลาวิน (มิลลิกรัม)

          + 0.5

เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ ไข่ นม

ไนอะซิน (มิลลิกรัม)

          + 3

เนื้อสัตว์ และเครื่องในสัตว์ต่าง ๆ รำข้าว ยีสต์

วิตามินบีหก (มิลลิกรัม)

          + 0.7

เนื้อสัตว์ กล้วย ถั่วเมล็ดแห้ง ไข่แดง

โฟแลต (ไมโครกรัม)

          + 100

ผักโขม ใบกุยช่าย มะเขือเทศ หน่อไม้ฝรั่ง

วิตามินบีสิบสอง (ไมโครกรัม)

          + 0.4

เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ สาหร่าย ผลิตภัณฑ์ถั่วหมัก

กรดแพนโททีนิก (มิลลิกรัม)

          + 2

ตับ  เนื้อสัตว์ ไข่ นมผง

ไบโอติน (ไมโครกรัม)

          + 5

ไข่แดง ตับ เครื่องในสัตว์ ถั่วเมล็ดแห้ง

โคลีน (มิลลิกรัม)

          + 125

เนื้อสัตว์ ไข่แดง ถั่วเมล็ดแห้ง

ไอโอดีน (ไมโครกรัม)

          + 50

สัตว์และพืชจากทะเล

สังกะสี (มิลลิกรัม)

          + 1

หอยนางรม กุ้ง ปลา ไข่ นมและผลิตภัณฑ์

ซีลีเนียม (ไมโครกรัม)

          + 15

อาหารทะเล เนื้อสัตว์ ไข่ ธัญพืช

โครเมียม (ไมโครกรัม)

          + 20

ผัก ผลไม้ ธัญพืชที่ไม่ขัดสี

แมงกานีส (มิลลิกรัม)

          + 0.8

เนื้อสัตว์ นม ถั่วเมล็ดแห้ง

โมลิบดีนัม (ไมโครกรัม)

          + 5

นมและผลิตภัณฑ์

ที่มา : ดัดแปลงจากโภชนาการ, 2550 และพัทธนันท์, 2555

ประเภทอาหารและปริมาณอาหารที่หญิงให้นมบุตรควรได้รับใน 1 วัน

หมวดอาหาร

ปริมาณอาหาร

ข้อเสนอแนะ

เนื้อสัตว์ต่าง ๆ และเครื่องในสุก

 200-240 กรัม

ควรได้รับเพียงพอทุกวัน แต่ไม่ควรติดผนัง ควรเป็นอาหารทะเลอย่างน้อย 2 ครั้ง/สัปดาห์ และกินปลาหรือสัตว์เล็กที่กินได้ทั้งกระดูก 1-2 ครั้ง/สัปดาห์

ไข่

1-2 ฟอง

ควรรับประทานทุกวัน นอกจากจะได้โปรตีนแล้ว ยังมีธาตุเหล็กและวิตามินเอสูง

นม

2 แก้วหรือมากกว่า

มีโปรตีนสูงและแคลเซียมที่ร่างกายสามารถดูดซึมได้ดี ถ้าไม่สามารถดื่มนมได้ อาจดื่มนมถั่วเหลืองแทน แต่ควรรับประทานไข่ เนื้อสัตว์เพิ่มมากขึ้น

ข้าวสุก

6-7 ถ้วยตวง

ควรเลือกข้าวซ้อมมือจะทำให้ได้วิตามินบี 1 และกากใยเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยป้องกันอาการเหน็บชาและลดอาการท้องผูกได้

ถั่วเมล็ดแห้งต้มสุก

¾ -1 ถ้วยตวง

ควรรับประทานสลับกับเนื้อสัตว์ และรับประทานเป็นประจำ

ผักสีเขียว

2-3 ถ้วยตวง

ควรเลือกรับประทานทุกวัน เพราะเป็นแหล่งอาหารที่ให้วิตามินเกลือแร่ และกากใยที่ดี เพื่อช่วยระบบขัยถ่าย

ผักสีเหลือง

1 ถ้วยตวง

ประมาณ 2 ครั้ง/สัปดาห์

ผลไม้

5-6 ผล

ควรรับประทานหลังอาหารทุกมื้อให้หลากหลายตามฤดูกาล

น้ำมันพืช

3 ¾ ช้อนโต๊ะ

ควรเลือกน้ำมันที่ได้จากพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง เพราะไม่มีคอลเสเตอรอลและยังมีกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย

ที่มา : ดัดแปลงจากพัทธนันท์, 2555 และฝ่ายโภชนาการ โรงพยาบาลศิริราช, 2556

 


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
13 Foods to Eat When You're Pregnant. Healthline. (https://www.healthline.com/nutrition/13-foods-to-eat-when-pregnant)
Pregnancy diet: What to eat and what to avoid. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/246404)
Nutrition and pregnancy. World Health Organization. (https://www.who.int/nutrition/publications/pregnant/en/)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
ทารกมีอัตราการเต้นของหัวใจช้า อันตรายหรือไม่
ทารกมีอัตราการเต้นของหัวใจช้า อันตรายหรือไม่

เรื่องง่ายๆ ที่คุณแม่ทุกคนต้องใส่ใจเพราะอัตราการเต้นของหัวใจสัมพันธ์กับความปลอดภัยของลูกน้อย

อ่านเพิ่ม
อะไรคือสัญญาณการฉีกขาดในภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก?
อะไรคือสัญญาณการฉีกขาดในภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก?

เรียนรู้สัญญาณการตั้งครรภ์นอกมดลูกก่อนที่มันจะฉีกขาด

อ่านเพิ่ม
ทำความเข้าใจกับภาวะตั้งครรภ์ที่ไข่ที่ปฏิสนธิไม่ฝังตัว (Chemical Pregnancy) ใช่หรือไม่ใช่?
ทำความเข้าใจกับภาวะตั้งครรภ์ที่ไข่ที่ปฏิสนธิไม่ฝังตัว (Chemical Pregnancy) ใช่หรือไม่ใช่?

การตั้งครรภ์ที่เร็วเกินไปที่จะยืนยันด้วยวิธีการทางชีวเคมี

อ่านเพิ่ม