วัณโรค (Tuberculosis) เป็นโรคติดเชื้อทางอากาศ สาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า ไมโคแบคทีเรียมทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium tuberculosis) หรือไมโคแบคทีเรียมโบวิส (Mycobacterium bovis)
ปกติแล้วผู้ที่ติดเชื้อวัณโรคมักไม่แสดงอาการใดๆ แต่ตัวโรคจะดำเนินต่อไป โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
- การติดเชื้อระยะแรก (Primary TB Infection)
- การติดเชื้อระยะแฝง (Latent TB Infection)
- ระยะแสดงอาการหรือระยะอาการกำเริบ (Active Disease)
มีหลายล้านคนในโลกที่ติดเชื้อวัณโรคระยะแฝงโดยไม่เคยเข้าสู่ระยะกำเริบเลย
การติดเชื้อระยะแรก
เชื้อวัณโรคติดต่อได้จากการหายใจ ดังนั้นถ้าสูดอากาศในที่ที่มีเชื้อวัณโรคปะปนอยู่ก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ เพราะเหตุนี้จึงทำให้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับคนที่ติดเชื้อวัณโรคระยะกำเริบที่มักมีอาการไอ หรือจามบ่อยๆ มีโอกาสติดวัณโรคสูง
โดยทั่วไประบบภูมิคุ้มกันในร่างกายจะทำลายเชื้อแบคทีเรียทันที แต่สำหรับคนที่มีเซลล์แมคโครฟาจ (Macrophages) ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง เซลล์ดังกล่าวจะล้อมรอบเชื้อไว้ และบังคับให้เชื้ออยู่ในภาวะสงบไม่แสดงอาการใดๆ
อย่างไรก็ตาม ในประชากรบางกลุ่ม เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ กลุ่มคนที่เพิ่งติดเชื้อวัณโรคได้ไม่นาน หรือกลุ่มคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หลังจากที่ได้รับเชื้อวัณโรคไม่กี่สัปดาห์ก็อาจแสดงอาการทันที
การติดเชื้อวัณโรคระยะแฝง
เชื้อวัณโรคในระยะนี้จะอยู่ในภาวะสงบ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อระยะนี้จะไม่มีอาการใดๆ และจะไม่สามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ ซึ่งสามารถตรวจพบการติดเชื้อระยะแฝงนี้ได้ด้วยการทดสอบปฏิกิริยาทางผิวหนัง (Tuberculin Skin Test)
หรือการตรวจหาเชื้อวัณโรคในเลือดด้วยวิธีการตรวจสารอินเตอร์เฟอรอนแกมมา (Interferon-Gamma Release Assay: IGRA)
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ปัจจุบันไม่จำเป็นต้องรักษาผู้ที่ติดเชื้อวัณโรคระยะแฝงทุกราย แต่จะเลือกรักษาเฉพาะคนที่มีโอกาสเสี่ยงสูงที่เชื้อจะพัฒนาเข้าสู่วัณโรคระยะกำเริบ เช่น เช่น บุคลากรการแพทย์ ผู้ป่วยที่กำลังจะได้รับเคมีบำบัด หรือยากดภูมิคุ้มกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อวัณโรคแพร่กระจายต่อไป
ในคนปกติที่ไม่มีเชื้อเอชไอวี (HIV) มีโอกาสเพียง 10% ที่เชื้อวัณโรคระยะแฝงจะพัฒนาเป็นเชื้อวัณโรคระยะกำเริบ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีโอกาสที่เชื้อพัฒนาจะเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมหลายเท่า
วัณโรคระยะกำเริบ
ในระยะนี้ เชื้อโรคจะเพิ่มจำนวนและทำปฏิกิริยากับร่างกายจนทำให้เกิดอาการต่างๆ ขึ้น ซึ่งการติดเชื้อวัณโรคที่ปอดเป็นวัณโรคระยะกำเริบที่พบมากที่สุด โดยอาการที่พบ คือ
- หายใจติดขัด
- เจ็บหน้าอก
- ไอ อาจจะมีเสมหะร่วมด้วยก็ได้
- อ่อนเพลีย
- หนาวสั่นและเหงื่อออกตอนกลางคืน
- น้ำหนักลด
- หายใจมีเสียงหวีด
- ปวดตามตัว
- มีไข้เป็นๆ หายๆ
นอกจากวัณโรคที่ปอดแล้ว ก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อวัณโรคที่อวัยวะอื่นได้เช่นกัน เช่น ต่อมน้ำเหลือง กระดูก ข้อต่อ สมอง หรืออวัยวะภายในอื่นๆ ซึ่งอาการที่แสดงออกจะเหมือนกับอาการของวัณโรคที่ปอด และอาจจะมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ขึ้นอยู่กับว่าติดเชื้อที่อวัยวะใด
สถิติผู้ติดเชื้อวัณโรค
หลังจากปี ค.ศ. 1940 ที่มีการคิดค้นยาสเตรปโตมัยซิน (Streptomycin) และถูกนำมาใช้ในการต้านเชื้อวัณโรคอย่างแพร่หลาย ทำให้ประเทศที่พัฒนาแล้วมีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงมาก
จากการเก็บสถิติของกรมควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 2013 พบสถิติการติดเชื้อวัณโรคที่น่าสนใจดังนี้
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
- 1 ใน 3 ของประชากรโลกติดเชื้อวัณโรค
- มีประชากร 9 ล้านคนทั่วโลกป่วยจากการติดเชื้อวัณโรค
- มีประชากร 1.5 ล้านคนทั่วโลกเสียชีวิตจากการติดเชื้อวัณโรค
- การติดเชื้อวัณโรคเป็นสาเหตุที่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีเสียชีวิตมากที่สุด
การแพร่กระจายของเชื้อวัณโรค
เชื้อวัณโรคสามารถติดต่อทางการสูดหายใจเอาเชื้อในอากาศเข้าไป โดยเชื้อเหล่านี้มาจากการที่ผู้ติดเชื้อวัณโรคในระยะกำเริบ ไอ จาม หรือพูด ทำให้มีละอองฝอยเล็กๆ ที่มีเชื้อทูเบอร์คูโลซิสแฝงอยู่ลอยมาในอากาศ
โดยเชื้อนี้สามารถลอยอยู่ในอากาศได้นานหลายชั่วโมง และผู้ที่สูดอากาศส่วนนี้เข้าไปก็จะได้รับเชื้อวัณโรคนั่นเอง
วัณโรคปอด (Pulmonary Tuberculosis)
ปอดเป็นอวัยวะที่ติดเชื้อวัณโรคได้ง่ายที่สุดในร่างกายเรียกภาวะนี้ว่า “วัณโรคปอด” ถ้าติดเชื้อวัณโรคที่อวัยวะอื่นที่ไม่ใช่ปอดจะเรียกว่าการติดเชื้อวัณโรคนอกปอด (Extrapulmonary Tuberculosis)
อาการของวัณโรคที่ปอด
- ระยะแรกจะมีการไอแห้งๆ เพียงอย่างเดียว และมีอาการมากขึ้นเมื่อเนื้อปอดเป็นโรคมากขึ้น
- ระยะต่อมาเวลาไอจะมีเสมหะติดออกมาด้วย และมักมีอาการไข้ต่ำๆ โดยเฉพาะในตอนเย็นและตอนกลางคืน
- ระยะที่เป็นโรคมาก อาจมีอาการหายใจหอบ ไอแบบมีเสมหะปนเลือด หรือถึงขั้นไอเป็นลิ่มเลือดได้
- หากเชื้อลามไปติดที่เยื่อหุ้มปอดอาจมีน้ำเกิดขึ้นในช่องปอด และมีอาการเจ็บหน้าอก ซึ่งน้ำที่เกิดในช่องปอดจะทำให้เกิดอาการหอบมากยิ่งขึ้น
- อาการอื่นๆ ที่พบได้บ่อยคือ อ่อนเพลีย รู้สึกเบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง และมีเหงื่อออกมากในตอนกลางคืน
การติดเชื้อวัณโรคนอกปอด
การติดเชื้อวัณโรคนอกปอดเกิดจากการที่เชื้อแพร่ผ่านทางเส้นเลือดไปยังอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย การติดเชื้อดังกล่าวจะทำให้เกิดอาการต่างๆ มากมายขึ้นอยู่กับตำแหน่งอวัยวะที่ติดเชื้อ
อาการวัณโรคนอกปอดในอวัยวะต่างๆ
- ที่ช่องท้อง มีอาการท้องบวม ปวดท้อง
- กระเพาะปัสสาวะ มีอาการปัสสาวะบ่อย หรือปัสสาวะแสบขัด หรือมีเลือดปนกับปัสสาวะ
- กระดูก มีอาการปวดตามกระดูก
- ศีรษะ มีอาการปวดหัว คลื่นไส้อาเจียน ง่วงนอน ซึม และอาการคอแข็ง (Stiff Neck)
- ข้อ มีอาการปวด บวม และข้อติด
- ไต มีอาการปวดบริเวณสีข้าง เลือดออกปนกับปัสสาวะ และปัสสาวะบ่อยขึ้น
- ต่อมน้ำเหลือง มีอาการบวมแดงบริเวณต่อมน้ำเหลือง
- เยื่อหุ้มหัวใจ มีอาการเส้นเลือดที่คอโป่งพอง หายใจลำบาก และเจ็บแน่นหน้าอก
- อวัยวะสืบพันธุ์เพศชาย มีก้อนโตที่ถุงอัณฑะ
- อวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิง ทำให้มีบุตรยาก ปวดอุ้งเชิงกราน และเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด
- กระดูกสันหลัง ทำให้กระดูกสันหลังผิดรูป ปวดบริเวณกระดูกสันหลัง และอ่อนแรงที่ขาทั้งสองข้าง
วัณโรคระยะแพร่กระจาย (Miliary TB)
วัณโรคระยะแพร่กระจาย เป็นภาวะฉุกเฉินของการติดเชื้อวัณโรค เนื่องจากเชื้อวัณโรคจำนวนมากได้แพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆ ผ่านทางเส้นเลือด ซึ่งพบบ่อยในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง จำเป็นต้องได้รับการดูแลโดยแพทย์อย่างใกล้ชิด
อาการแสดงของวัณโรคระยะแพร่กระจายจะใกล้เคียงกับวัณโรคระยะอื่นๆ คือ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด มีไข้ตัวสั่น อ่อนแรง และหายใจลำบาก ทำให้การวินิจฉัยวัณโรคข้าวฟ่างเป็นไปได้ยากมากขึ้น หากการวินิจฉัยภาวะดังกล่าวล่าช้า เมื่อเอกซเรย์หน้าอกจะเห็นเป็นจุดเล็กๆ มากมายกระจายไปทั่วทั้งปอดแล้ว
เมื่อไรที่ควรไปพบแพทย์
หลังจากผู้ป่วยสูดดมเชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกายผ่านการหายใจ เชื้อวัณโรคมักไปฟักตัวอยู่ที่ปอดกลีบบน ซึ่งเป็นส่วนที่มีออกซิเจนมากที่สุด ซึ่งก็มีเพียง 1 ใน 10 ของผู้รับเชื้อที่จะมีโอกาสติดเชื้อ
ปกติเชื้อวัณโรคมีระยะฟักตัวอยู่ที่ 4-8 สัปดาห์ อีกทั้งในระยะเริ่มแรกจะทำให้เกิดการติดเชื้อเพียงเล็กน้อย ซึ่งแทบจะไม่มีอาการปรากฏให้เห็น
แต่หากพบว่ามีอาการไอติดต่อกันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ หรือไอมีเสมหะปนเลือด ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย และรักษาก่อนที่อาการจะลุกลามไปมากกว่าเดิม
ทั้งนี้หากคุณเป็นคนที่มีสุขภาพแข็งแรงและมีภูมิคุ้มกันโรคดี เชื้อวัณโรคจะยังไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ แต่หากร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลง เชื้อวัณโรคก็จะถูกกระตุ้นให้เกิดโรคขึ้นได้
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นวัณโรค
- บุคคลใกล้ชิดเป็นผู้ติดเชื้อวัณโรคระยะกำเริบ
- การติดเชื้อเอชไอวี
- การต้องโทษจำคุก
- การใช้สารเสพติด
- การใช้ยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน
- ผู้ป่วยที่กำลังล้างไต
- ผู้ป่วยที่เคยเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ และกำลังรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน
การตรวจวินิจฉัยวัณโรค
เมื่อผู้ป่วยมีลักษณะอาการตรงตามอาการของผู้ที่ป่วยเป็นวัณโรค เช่น ไอเรื้อรังติดต่อกันเกิน 3 สัปดาห์ มีไข้โดยไม่ทราบสาเหต และน้ำหนักตัวลด
แพทย์จะตรวจวินิจฉัยวัณโรคปอด ซึ่งการตรวจวินิจฉัยนั้นสามารถทำโดยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่
- การเอกซเรย์ปอด
การเอกซเรย์ปอดเป็นวิธีที่ช่วยให้ตรวจพบความผิดปกติของปอดที่เข้าข่ายลักษณะของวัณโรคปอดได้ เช่น พบการอักเสบของปอดบริเวณปอดกลีบบน เนื่องจากเป็นส่วนที่ได้รับออกซิเจนมากที่สุด เป็นต้น
- การย้อมสีวัณโรคจากเสมหะ การย้อมสีวัณโรคจากเสมหะ คือการเก็บเสมหะตอนตื่นนอน 3 วันติดต่อกัน และนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการ ซึ่งสามารถรู้ผลการตรวจได้ภายใน 30 นาที
มีข้อเสียคือ มีโอกาสตรวจพบเชื้อวัณโรคได้เพียงครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยเท่านั้น ดังนั้นแม้ผู้ป่วยจะเคยตรวจวัณโรคด้วยวิธีนี้ และไม่พบการติดเชื้อวัณโรคในเสมหะ ก็ยังไม่อาจยืนยันได้ว่าไม่ได้ป่วยเป็นวัณโรคปอด - การเพาะเชื้อวัณโรคจากเสมหะ การเพาะเชื้อวัณโรคจากเสมหะนั้น จะถูกนำมาใช้หลังแพทย์ตรวจไม่พบเชื้อด้วยวิธีการย้อมสีวัณโรค มีข้อดีคือ สามารถตรวจพบเชื้อได้สูงถึง 80–90% แต่มีข้อเสียคือ ใช้ระยะเวลาในการรอผลตรวจนานเกินไป (ประมาณ 2 เดือนจึงจะทราบผล)
การรักษาวัณโรค
การรักษาวัณโรคจะต้องรักษาโดยแพทย์แผนปัจจุบันเท่านั้น โดยวัณโรคเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ต้องใช้เวลานานเป็นปี หรือ 2 ปี ผู้ป่วยจึงต้องมีความอดทน และต้องปฏิบัติตัวตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ไม่ควรหยุดการรักษาด้วยแพทย์ไม่ได้สั่ง
ข้อควรปฏิบัติตัวของผู้ป่วยวัณโรคขณะทำการรักษา
- กินยาวัณโรคตามที่แพทย์แนะนำจนครบกำหนด ไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันเชื้อดื้อยา
- หากผู้ป่วยเกิดอาการผิดปกติหลังจากเริ่มรับประทานยาวัณโรค เช่น อาเจียน ปวดข้อ และมีผื่น ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพื่อปรับยาให้เหมาะสม
- ในช่วงแรกของการรักษา (โดยเฉพาะในช่วง 2 สัปดาห์แรก) ถือว่าเป็นระยะแพร่เชื้อ ผู้ป่วยควรอยู่เฉพาะในบ้านเท่านั้น โดยอยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ควรแยกห้องนอน หากมีความจำเป็นต้องออกไปข้างนอกให้สวมหน้ากากอนามัยด้วย
- ปิดปากทุกครั้งเวลาไอหรือจาม
- งดสิ่งเสพติดทุกชนิด เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่
- กินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เช่น ผัก ผลไม้ ไข่ และเนื้อสัตว์
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ผู้ใกล้ชิดควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย และเอกซเรย์ปอด โดยเฉพาะเด็กเล็ก
สาเหตุของการรักษาวัณโรคล้มเหลว
สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากผู้ป่วยที่ไม่ปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัดตามคำสั่งของแพทย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำในระยะยาว จากสถิติแล้วผู้ป่วยรายใหม่มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้มากกว่าผู้ป่วยรายเก่าที่เคยได้รับการรักษาไปแล้ว แต่รับการรักษาไม่ครบ และกลับมารักษาใหม่ เนื่องจากเชื้อดื้อยา
ผู้ป่วยวัณโรคจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลหรือไม่
ในขั้นตอนของการรักษานั้น ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล แต่ต้องรับประทานยาให้ครบตามที่แพทย์สั่ง และมาพบแพทย์ตามนัดหมายอย่างสม่ำเสมอ
การป้องกันวัณโรค
- ปกติแล้วจะมีการตรวจคัดกรองหาเชื้อวัณโรคในบุคลากรการแพทย์ทุกคน โดยตรวจตั้งแต่ก่อนรับเข้าทำงาน และตรวจติดตามต่อเนื่องทุกปี
- ที่พักอาศัยบางแห่งจะมีการตรวจหาเชื้อวัณโรค เช่น บ้านพักคนชรา สมาชิกที่จะย้ายเข้ามาใหม่ทุกรายต้องได้รับการตรวจหาเชื้อวัณโรค โดยการถ่ายภาพรังสีทรวงอก ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการตรวจหาวัณโรคระยะกำเริบ
นอกจากนี้ก็ยังมีวิธีการอื่นๆ ที่ป้องกันไม่ให้เชื้อวัณโรคแพร่กระจายได้ เช่น
- ทำให้อากาศในอาคารถ่ายเทสะดวก เพื่อลดปริมาณเชื้อโรคในอาคาร
- ติดตั้งแสงอัลตราไวโอเล็ต (Ultraviolet) ในบริเวณที่บุคคลซึ่งอาจมีเชื้อวัณโรคอยู่รวมกัน เพื่อฆ่าเชื้อวัณโรคในอากาศ
- รักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อวัณโรคในระยะแฝงให้หายขาด ก่อนที่จะกลายเป็นการติดเชื้อในระยะกำเริบ
วัคซีนป้องกันการติดเชื้อวัณโรค
ในประเทศที่พบผู้ติดเชื้อวัณโรคมากมักจะใช้วัคซีนบีซีจี (Bacille Calmette-Guerin: BCG) ซึ่งเป็นหนึ่งใน 9 วัคซีนที่เด็กทุกคนต้องได้รับอยู่แล้ว เพื่อป้องกันการติดเชื้อวัณโรคชนิดรุนแรง เช่น การติดเชื้อวัณโรคที่เยื่อหุ้มสมอง
Q&A
1. ยาวัณโรคต้องรับประทานให้ครบ 6 เดือน ถึงแม้ว่าเราจะตรวจไม่เจอเชื้อแล้วใช่ไหม
คำตอบ ถูกต้องแล้ว การรักษาวัณโรคจำเป็นต้องใช้ยาอย่างเคร่งครัด และรับประทานทุกวันอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะรู้สึกว่าอาการดีขึ้น หรือไม่มีอาการแล้วก็ตาม ห้ามเพิ่ม ลด หรือหยุดยาเองโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์ นอกจากนี้ ผู้ป่วยวัณโรคควรดูแลตัวเอง และป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นด้วย - ตอบโดย ศิรินทิพย์ ผอมน้อย (นักจิตวิทยาคลินิก)
2. คุณแม่ป่วยเป็นโรคปอด และคุณหมอที่ร.พ.พุทธชินราช บอกว่าคุณแม่เป็นวัณโรค แต่พอรับประทานยารักษาเกี่ยวกับวัณโรคแล้วมีอาการข้างเคียง ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ควรหยุดยาหรือทำอย่างไรดี
คำตอบที่ 1 เป็นผลข้างเคียงของยา ถ้าอาเจียนจนรับประทานอาหารไม่ได้เลยควรไปโรงพยาบาล ซึ่งแพทย์อาจจะพิจารณาให้นอนโรงพยาบาลและให้น้ำเกลือ - ตอบโดย วลีรักษ์ จันทร (พว.)
คำตอบที่ 2 อาจจะต้องไปตรวจที่โรงพยาบาล เนื่องจากถ้ารับประทานยาวัณโรคแล้วมีอาการคลื่นไส้อาเจียนเยอะ อาจจะมีค่าตับที่ผิดปกติได้ ในบางรายอาจจะต้องหยุดยาที่ทำให้ค่าตับขึ้น หรือเปลี่ยนสูตรยา แนะนำให้ไปตรวจ ยิ่งเร็วเท่าไรก็ยิ่งดี - ตอบโดย Nawaporn Le. (Dr.)
คำตอบที่ 3 ควรรับประทานยาให้ครบตามกำหนดเพื่อไม่ให้เกิดการดื้อยา สำหรับผลข้างเคียงนั้น ถ้ามีอาการมากแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ที่ดูแล เพื่อที่แพทย์จะได้ปรับยา หรือให้ยาแก้อาการเหล่านั้น - ตอบโดย นิชดา พงษ์ธัญญกรณ์ (พญ.)
3. กินยารักษาวัณโรคแล้วมีผื่นขึ้น ผิดปกติหรือไม่
คำตอบ อาจเป็นอาการแพ้ยาวัณโรค ควรงดยา และรีบกลับไปพบแพทย์ที่ให้การรักษาอยู่ เพื่อการวินิจฉัยที่แน่นอนอีกครั้ง - ตอบโดย Dr.Chaiwat J. (หมอเปี๊ยก) (นพ.)
4. วัณโรค ถ้าเป็นแล้วสามารถกลับมาเป็นอีกได้หรือไม่ อะไรเป็นพาหะที่สำคัญที่สุด
คำตอบ วัณโรคเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยทั่วไปสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็มีโอกาสที่ผู้ป่วยวัณโรคกลับมาเป็นซ้ำได้ด้วย ขึ้นอยู่กับสาเหตุต่างๆ เช่น สภาพความแข็งแรงของผู้ป่วย สภาพแวดล้อม ดังนั้น แม้รักษาหายขาดแล้ว แพทย์ก็จะนัดมาติดตามเป็นระยะๆ
ถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษา และได้รับยาตั้งแต่ 2 สัปดาห์ไปแล้ว โอกาสแพร่เชื้อจะน้อยมาก แน่นอนว่าการติดเชื้อวัณโรคขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของแต่ละบุคคลด้วย เพราะถ้าร่างกายแข็งแรง และเคยได้รับวัคซีนบีซีจีมาก่อน ร่างกายก็จะสามารถกำจัด และจัดการกับเชื้อวัณโรคได้ - ตอบโดย Dr.Chaiwat J. (หมอเปี๊ยก) (นพ.)
5. คนป่วยเป็นวัณโรคบางรายที่มีอาการปวดตามข้อ และมีอาการบวมร่วมด้วย สาเหตุมาจากอะไร
คำตอบ การปวดข้อที่พบอาจเกิดจากยารักษาวัณโรคบางตัว - ตอบโดย สุเทพ สุขนพกิจ (นพ.)
6. ถ้าเราต้องอยู่ร่วมกับผู้ป่วยวัณโรคปอด และผู้ป่วยไม่ได้ปิดปากตลอดเวลา อยากทราบว่าอัตราเสี่ยงที่จะติดโรคนี้มีมากไหม และการติดเชื้อขึ้นอยู่กับสภาวะร่างกายเราหรือไม่
คำตอบ ถือว่าเสี่ยงมาก ทั้งนี้การได้รับเชื้ออาจจะยังไม่ป่วยในทันที แต่ถ้าหากร่างกายอ่อนแอก็จะมีโอกาสป่วยเป็นโรคมากขึ้น - ตอบโดย สุเทพ สุขนพกิจ (นพ.)
7. ถ้าหมอบอกว่ากำลังใกล้จะเป็นวัณโรคระยะ 3 แล้ว แสดงว่าอันตรายมากไหม รักษาหายได้อยู่หรือไม่
คำตอบ ระยะแสดงอาการ หรือระยะอาการกำเริบ หมายความว่าเป็นระยะที่แสดงอาการออกมา และสามารถแพร่เชื้อได้ อย่างไรก็ตาม วัณโรคเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ถ้ารับประทานยาปฏิชีวนะครบตามระยะเวลาที่แพทย์สั่ง แต่ถ้าไม่รักษาก็อันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน - ตอบโดย นิชดา พงษ์ธัญญกรณ์ (พญ.)
8. ยาวัณโรคมีผลต่อเด็กในครรภ์กี่เปอร์เซ็นต์
คำตอบ การใช้ยาวัณโรคในหญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร สามารถให้การรักษาเหมือนคนทั่วไป ยกเว้นยาสเตรปโตมัยซิน (Streptomycin) ซึ่งทำให้เกิดพิษต่อหูของเด็กในครรภ์ได้ จึงห้ามให้ในหญิงตั้งครรภ์ ส่วนหญิงให้นมบุตรสามารถให้นมบุตร และอยู่ร่วมกันกับบุตรได้ แต่มารดาควรใช้ผ้าปิดปากเวลาไอ หรือจาม เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อวัณโรค - ตอบโดย Nawaporn Le. (Dr.)
เป็นไข้หวัดใหญ่ชนิดเดียวกันในช่วงๆเวลาใกล้กันได้หรือไม่คะ