กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

L-carnitine (แอล-คาร์นิทีน)

เผยแพร่ครั้งแรก 27 ม.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 4 มี.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 12 นาที

แอลคาร์นิทีน (L-carnitine) คือกรดอะมิโนที่ร่างกายผลิตขึ้นเองตามธรรมชาติ ส่วนผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (หรือที่เรียกว่าอาหารเสริม) แอลคาร์นิทีนนั้นใช้เพื่อเพิ่มระดับของแอลคาร์นิทีนสำหรับผู้ที่มีระดับกรดอะมิโนในร่างกายต่ำเนื่องจากความผิดปกติทางพันธุกรรม รวมถึงผู้ที่กำลังใช้ยาบางประเภท เช่น กรดวาลโปรอิก (Valproic) สำหรับอาการชัก หรือผู้กำลังเข้ารับการรักษาทางการแพทย์ เช่น การฟอกไต เป็นต้น

อาหารเสริมแอลคาร์นิทีนยังมีไว้เพื่อชดเชยสารอาหารที่คนบางกลุ่มไม่ได้รับ อย่างผู้รับประทานอาหารแบบมังสวิรัติ ผู้ที่กำลังอยู่ในโปรแกรมลดน้ำหนัก และทารกที่คลอดก่อนกำหนดหรือมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

แอลคาร์นิทีนใช้รักษาภาวะหัวใจและหลอดเลือด รวมไปถึงบรรเทาอาการเจ็บหน้าอกที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ ภาวะหัวใจล้มเหลว (Congestive heart failure (CHF)) ภาวะแทรกซ้อนที่หัวใจของโรคคอตีบ (Diphtheria) หัวใจวาย เจ็บขาเนื่องจากปัญหาการไหลเวียนโลหิตไม่ดี เจ็บปวดปลายประสาท (Intermittent claudication) และระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง

บางคนใช้แอลคาร์นิทีนสำหรับภาวะกล้ามเนื้อผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยารักษาการติดเชื้อ HIV/AIDS ภาวะมีบุตรยากของผู้ชาย ภาวะสมองพัฒนาผิดปกติ (Rett syndrome) อะนอเร็กเซีย (Anorexia) กลุ่มอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง (Chronic fatigue syndrome) โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) เบาหวาน (Diabetes) ภาวะไทรอยด์ทำงานมากกว่าปกติ (Overactive thyroidโรคสมาธิสั้น (Attention deficit-hyperactivity disorder (ADHD)) แผลที่ขา โรคลายม์ (Lyme disease) และเพื่อเพิ่มศักยภาพและความทนทานต่อการออกกำลังกาย

ร่างกายสามารถเปลี่ยนแอลคาร์นิทีนให้เป็นกรดอะมิโนชนิดที่เรียกว่า อะเซติล แอล-คาร์นิทีน (Acetyl-L-carnitine) และโพรพิโอนิล แอล-คาร์นิทีน (Propionyl-L-carnitine) ได้ แต่ไม่มีข้อมูลว่าคุณประโยชน์ของแอลคาร์นิทีนที่ต่างกันนั้นจะเปลี่ยนไปหรือไม่ ดังนั้น ไม่ควรใช้คาร์นิทีน (Carnitine) ต่างรูปแบบมาทดแทนกันและกันจนกว่าจะมีข้อมูลมากขึ้น

ประโยชน์ของแอลคาร์นิทีน

แอลคาร์นิทีนช่วยให้ร่างกายผลิตพลังงาน และเป็นสารอาหารสำคัญต่อการทำงานของหัวใจและสมอง การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ และกระบวนการอื่นๆ ภายในร่างกายมนุษย์

ภาวะที่ใช้แอลคาร์นิทีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • โรคไตร้ายแรง งานวิจัยส่วนมากกล่าวว่าการรับประทานหรือฉีดแอลคาร์นิทีนเข้าเส้นเลือดสามารถเพิ่มจำนวนเซลล์เม็ดเลือดแดงขณะฟอกไตได้จริง โดยมีรายงานว่าควรจะใช้แอลคาร์นิทีนระหว่างการรักษาเพื่อป้องกันภาวะขาดแอลคาร์นิทีนในผู้ป่วยโรคไตร้ายแรง
  • ภาวะขาดแอลคาร์นิทีน (L-carnitine deficiency) มีการยืนยันว่าควรใช้แอลคาร์นิทีนในการรักษาภาวะขาดแอลคาร์นิทีนที่เกิดจากโรคทางพันธุกรรม

ภาวะที่อาจใช้แอลคาร์นิทีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • เจ็บหน้าอก (Angina) การรับประทานหรือฉีดเข้าเส้นเลือดอาหารเสริมชนิดนี้อาจช่วยเพิ่มความทนทานในการออกกำลังกายของผู้ที่มีปัญหาเจ็บหน้าอกจากโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งมักมีอาการนี้เมื่อออกกำลังกายและดีขึ้นเมื่อได้พัก โดยการรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้ร่วมกับการรักษาเดิมที่มีการปรึกษาแพทย์อยู่แล้ว ยังช่วยลดอาการเจ็บและเพิ่มความสามารถในการออกกำลังกายของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ Cardiac syndrome X ที่จะมีอาการเจ็บหน้าอกที่ไม่ได้เกิดจากหลอดเลือดแดงอุดตัน
  • หัวใจล้มเหลว การรับประทานหรือฉีดเข้าเส้นเลือดบรรเทาอาการและเพิ่มความสามารถในการออกกำลังกายของผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวได้ โดยการรับประทานผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วยแอลคาร์นิทีนและโคเอนไซม์คิวเท็น (Coenzyme Q10) ยังอาจช่วยบรรเทาอาการต่างๆ ของภาวะหัวใจล้มเหลวได้ด้วย
  • โรคไตร้ายแรง ผู้ที่เป็นโรคไตร้ายแรงระยะสุดท้ายที่ต้องเข้ารับการฟอกไตอย่างต่อเนื่องอาจมีระดับแอลคาร์นิทีนในร่างกายต่ำ ข้อมูลระบุว่าการฉีดแอลคาร์นิทีนเข้าเส้นเลือดของผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถรักษาและป้องกันภาวะขาดแอลคาร์นิทีนได้ แต่ยังคงมีหลักฐานปนเปกันอยู่เกี่ยวกับผลกระทบของการใช้แอลคาร์นิทีนในการรักษาภาวะผิดปกติที่เกิดจากภาวะขาดแอลคาร์นิทีน การรับประทานแอลคาร์นิทีนหรือฉีดทางเส้นเลือดอาจช่วยบรรเทาโรคโลหิตจางและลดการอักเสบของผู้ป่วยโรคไต แต่แอลคาร์นิทีนอาจไม่ได้ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต อาการกล้ามเนื้อบีบรัด ความดันโลหิตต่ำ ไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของกระบวนการหายใจ หรือศักยภาพการออกกำลังกายแต่อย่างใด
  • ระดับฮอร์โมนไทรอยด์สูง (Hyperthyroidism) การรับประทานแอลคาร์นิทีนอาจช่วยบรรเทาอาการต่างๆ อย่างหัวใจเต้นเร็วแรง ตื่นเต้น และอ่อนแรงของผู้ป่วยที่ระดับฮอร์โมนไทรอยด์สูงได้
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน (Myocarditis) การรับประทานแอลคาร์นิทีนอาจลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากภาวะนี้ได้
  • ป้องกันผลข้างเคียงจากการใช้กรดวาลโปรอิก (Valproic acid (VPA) (Depacon, Depakene, Depakote)) ในการรักษาอาการชัก การฉีดแอลคาร์นิทีนเข้าเส้นเลือดช่วยป้องกันภาวะตับเป็นพิษชนิดรุนแรงในผู้ที่รับประทานหรือบริโภคกรดวาลโปรอิกมากเกินไปได้

ภาวะที่ยังคงขาดหลักฐานและยังไม่มีข้อสรุปว่าใช้แอลคาร์นิทีนรักษาได้หรือไม่

  • สิว มีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการทาครีมที่ประกอบด้วยแอลคาร์นิทีนที่บริเวณใบหน้า 2 ครั้งต่อวัน นาน 8 สัปดาห์ สามารถลดสิวและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ที่มีสิวได้ 
  • อาการเหนื่อยล้าจากอายุ งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้ทุกวันนาน 30 วันจะลดความเหนื่อยล้าทางร่างกายและจิตใจ เพิ่มมวลกล้ามเนื้อ และลดมวลไขมันของผู้สูงอายุได้ 
  • ผมร่วง (Androgenic alopecia) งานวิจัยพบว่าการรับประทานสารละลายแอลคาร์นิทีน 2 ครั้งต่อวันนาน 6 เดือนสามารถเพิ่มผมบนหนังศีรษะของชายและหญิงที่มีอาการผมร่วง
  • ความเป็นพิษจากการใช้ยาวัณโรค ยาบางชนิดที่ใช้รักษาวัณโรค (Tuberculosis) มีผลต่อตับ งานวิจัยพบว่าการรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้ร่วมกับยาเหล่านี้นาน 4 สัปดาห์สามารถลดความเสี่ยงที่ตับจะเสียหายได้
  • ศักยภาพของนักกีฬา การออกกำลังกายอย่างหนักหน่วงเกี่ยวพันกับการลดลงของระดับแอลคาร์นิทีนในเลือด อย่างไรก็ตาม งานวิจัยในเรื่องประโยชน์ของแอลคาร์นิทีนในการเพิ่มศักยภาพการออกกำลังกายนั้นยังคงมีอยู่แม้จะไม่สอดคล้องกันและกัน บ้างก็พบว่าแอลคาร์นิทีนจะเพิ่มประสิทธิภาพและความทนทานของนักกีฬาขึ้น แต่บ้างก็ไม่พบว่าแอลคาร์นิทีนส่งผลทางบวกในประเด็นนี้
  • โรคสมาธิสั้น (Attention deficit-hyperactivity disorder (ADHD)) งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้ไม่ได้ช่วยลดอาการจากโรคสมาธิสั้นในเด็กได้
  • โรคออทิสซึ่ม (Autism) งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้ทุกวันนาน 3 เดือนจะลดความรุนแรงของภาวะออทิสติกในเด็กได้บ้าง
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia) งานวิจัยพบว่าอาหารเสริมชนิดนี้อาจลดการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติได้
  • ภาวะเลือดผิดปกติที่เรียกว่าเบต้าธาลัสซีเมีย (Beta-thalassemia) งานวิจัยพบว่าอาหารเสริมชนิดนี้อาจช่วยลดอาการของภาวะเลือดผิดปกติที่เรียกว่าเบต้าธาลัสซีเมียได้
  • ภาวะผอมหนังหุ้มกระดูก (Cachexia) งานวิจัยพบว่าการรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้สามารถเพิ่มดัชนีมวลกาย (Body mass index (BMI)) และเพิ่มมวลน้ำหนักร่างกายที่ไม่ใช่ไขมัน (Lean body mass) ของผู้ป่วยมะเร็งและผู้ประสบภาวะผอมหนังหุ้มกระดูกได้ อีกทั้งการรับประทานแอลคาร์นิทีนร่วมกับสารต้านอนุมูลอิสระและยาทางการแพทย์บางชนิดที่ใช้เพิ่มความอยากอาหารยังช่วยเพิ่มมวลน้ำหนักกายที่ไม่มีไขมันได้ดีกว่าการใช้ยาจากแพทย์เพียงอย่างเดียว
  • อาการเหนื่อยล้าที่เกี่ยวข้องกับมะเร็ง ผู้ป่วยมะเร็งบางคนจะมีระดับแอลคาร์นิทีนในร่างกายต่ำ ซึ่งจะสูญเสียพลังงานและเหนื่อยล้าง่ายขึ้น งานวิจัยบางชิ้นกล่าวว่าการรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้อาจช่วยลดความเหนื่อยล้าของผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามได้ อย่างไรก็ตาม มีรายงานอื่นกล่าวว่าการรับประทานไม่ได้ส่งผลดีใดๆ 
  • ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง (Cardiomyopathy) งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าอาหารเสริมชนิดนี้จะเพิ่มการทำงานของหัวใจของผู้ใหญ่และเด็กที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงได้
  • โรคแพ้กลูเตน (Coeliac disease) ผู้ป่วยโรคแพ้กลูเตนบางรายจะมีระดับแอลคาร์นิทีนต่ำ ซึ่งทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้าได้ งานวิจัยบางชิ้นกล่าวว่าการรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้จะช่วยลดอาการเหนื่อยล้าจากโรคแพ้กลูเตน อย่างไรก็ตาม แอลคาร์นิทีนก็ไม่อาจลดภาวะซึมเศร้าหรือเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้แพ้กลูเตนได้
  • กลุ่มอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้นาน 2 เดือนสามารถลดความเหนื่อยล้าได้
  • โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic obstructive pulmonary disease (COPD)) งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าแอลคาร์นิทีนสามารถเพิ่มความสามารถในการออกกำลังกายของผู้ป่วยโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังได้ 
  • การทำงานทางจิตใจ (Mental function) งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้ไม่ได้ช่วยฟื้นฟูจิตใจหรือความทรงจำของคนหนุ่มสาวที่มีสุขภาพดีได้แต่อย่างใด
  • โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease) งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้ก่อนออกกำลังกายไม่ได้เพิ่มความทนทานของผู้ป่วยที่หลอดเลือดแดงอุดตันได้
  • เบาหวาน (Diabetes) แม้ว่างานวิจัยบางชิ้นจะแสดงให้เห็นว่าอาหารเสริมชนิดนี้อาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานได้ แต่งานวิจัยส่วนมากกลับแย้งว่าอาหารเสริมชนิดนี้ไม่ได้มีสรรพคุณนี้ แม้จะทำได้เพียงช่วยให้การควบคุมน้ำตาลในเลือดดีขึ้นและลดน้ำหนักร่างกายของผู้ป่วยเบาหวานได้เมื่อรับประทานร่วมกับยาสำหรับลดน้ำหนัก และยังคงมีหลักฐานปนเปกันอยู่เกี่ยวกับผลกระทบของการใช้แอลคาร์นิทีนกับระดับคอเลสเตอรอลของผู้ป่วยเบาหวาน งานวิจัยบางชิ้นกล่าวว่าแอลคาร์นิทีนสามารถลดระดับคอเลสเตอรอลได้ แม้งานวิจัยอื่นๆ จะไม่พบประโยชน์เช่นนี้ก็ตาม
  • ตาแห้ง งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการใช้ยาหยอดตาที่ประกอบด้วยแอลคาร์นิทีนช่วยลดอาการตาแห้งของผู้ป่วยที่ใช้ยาหยอดตาที่ประกอบด้วยยาเบนซาลโคเนียมคลอไรด์ (Benzalkonium chloride) สำหรับต้อหิน (Glaucoma) ได้เกือบครึ่ง
  • อาการเหนื่อยล้า งานวิจัยพบว่าการรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้ทุกวันนาน 8 วันไม่อาจช่วยลดความเหนื่อยล้าของผู้ที่มีสุขภาพดีได้
  • การทำงานของสมองถดถอยเนื่องจากโรคตับ งานวิจัยพบว่าการรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้ทุกวันนาน 60-90 วันจะช่วยลดระดับแอมโมเนียและเพิ่มการทำงานของสมองในผู้ป่วยที่มีปัญหาสมองทำงานน้อยลงเนื่องจากโรคตับรุนแรงได้
  • อาการเหนื่อยล้าเนื่องจากโรคตับอักเสบ (Hepatitis) งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้ทุกวันจะช่วยลดความเหนื่อยล้าของผู้ป่วยโรคตับอักเสบซีที่กำลังเข้ารับการรักษาได้
  • โรคตับอักเสบบี (Hepatitis Bงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการรับประทานวิตามินรวมที่ประกอบด้วยแอลคาร์นิทีน (Godex, Celltrion Pharm) ร่วมกับยาเอนเทคคาเวียร์ (Entecavir) ทุกวันนาน 12 เดือนจะช่วยเพิ่มการทำงานของตับในผู้ป่วยโรคตับอักเสบบี แต่ไม่อาจส่งผลต่อปริมาณไวรัสตับอักเสบบีในเลือด
  • โรคตับอักเสบซี (Hepatitis Cการรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้ร่วมกับยาอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา (Interferon-alpha) และยาไรบาไวริน (Ribavirin)  อาจช่วยเพิ่มการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วยโรคตับอักเสบซีได้
  • ไขมันในเลือดสูง ไลโปโปรตีนเอ (Lipoprotein(a)) เป็นกลุ่มโปรตีนในเลือดที่สัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้สามารถลดระดับไลโปโปรตีนเอในผู้ที่มีระดับโปรตีนชนิดนี้สูงได้ แต่ไม่อาจลดระดับคอเลสเตอรอลความหนาแน่นต่ำ (Low-density lipoprotein (LDL)) หรือไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งคือไขมันเลว และไม่ได้ช่วยเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลความหนาแน่นสูง (High-density lipoprotein (HDL)) หรือเรียกว่าไขมันดีได้แต่อย่างใด
  • ไตรกลีเซอไรด์สูง งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าอาหารเสริมชนิดนี้ไม่ได้ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในผู้ที่มีปัญหาไตรกลีเซอไรด์สูงได้
  • น้ำหนักแรกเกิดต่ำ งานวิจัยบางชิ้นแสดงให้เห็นว่าการให้ทารกที่คลอดก่อนกำหนดรับประทานหรือรับผ่านทางเส้นเลือดสามารถเพิ่มน้ำหนักได้ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยอื่นกลับพบว่าไม่ได้ช่วยเพิ่มน้ำหนักของทารกกลุ่มนี้แต่อย่างใด
  • โรคอ้วนลงพุง (Metabolic syndrome) งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการฉีดแอลคาร์นิทีนเข้าเส้นเลือดนาน 7 วันจะเพิ่มอัตราการลดน้ำหนักและลดรอบเอวของผู้ป่วยโรคอ้วนลงพุงได้ แต่ไม่อาจส่งผลต่อความดันโลหิตในคนกลุ่มนี้
  • ปวดศีรษะไมเกรน งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้ทุกวันร่วมกับแมกนีเซียมออกไซด์และไม่ได้รับประทานร่วมกับแมกนีเซียมออกไซด์ นาน 12 สัปดาห์ ทั้งสองกรณีไม่อาจลดอาการไมเกรนได้
  • อาการเหนื่อยล้าที่เกี่ยวข้องกับโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis) ผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งบางรายจะมีระดับแอลคาร์นิทีนต่ำ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้า งานวิจัยพบว่าการรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้ทุกวันสามารถลดความเหนื่อยล้าที่อาจเกิดกับผู้ป่วยโรคนี้ได้บ้าง
  • หัวใจวาย ขณะนี้ยังคงมีหลักฐานเกี่ยวกับผลกระทบจากการใช้แอลคาร์นิทีนหลังภาวะหัวใจวายที่ไม่สอดคล้องกันอยู่ บ้างก็พบว่าการรับประทานแอลคาร์นิทีนหลังหัวใจวายนั้นอาจเพิ่มการทำงานของหัวใจและลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตลง อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากงานวิจัยอื่นไม่พบประโยชน์เช่นนี้
  • โรคลมหลับ (Narcolepsy) งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการรับประทานอาหารเสริมชนิดนี้ในตอนเช้าและตอนเย็นนาน 8 สัปดาห์จะช่วยลดความง่วงระหว่างวันของผู้ป่วยโรคลมหลับได้ แต่ไม่อาจส่งผลต่อจำนวนครั้งของการนอนกลางวัน คุณภาพชีวิต หรือการนอนหลับได้
  • ปัญหาการหายใจขณะหลับของทารก งานวิจัยพบว่าการให้แอลคาร์นิทีนผ่านการให้สารอาหารทางเส้นเลือดไม่อาจลดปัญหาการหายใจขณะหลับของทารกได้
  • ภาวะไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ (Nonalcoholic steatohepatitis (NASH)) งานวิจัยบางชิ้นแสดงให้เห็นว่าอาหารเสริมชนิดนี้เพิ่มการทำงานของตับในผู้ป่วยโรคตับประเภทนี้ได้
  • หลอดเลือดอุดตันที่ไม่ได้เกิดกับหัวใจหรือสมอง งานวิจัยบางชิ้นกล่าวว่าอาหารเสริมชนิดนี้อาจช่วยผู้ที่มีปัญหาหลอดเลือดแดงอุดตันที่ไม่เกิดกับหัวใจหรือสมองให้สามารถเดินได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามงานวิจัยอื่นแย้งว่าแอลคาร์นิทีนไม่ได้มีประโยชน์เช่นนี้
  • ภาวะทางพันธุกรรมหายากที่ส่งผลต่อระบบประสาท (Rett syndrome) การรับประทานแอลคาร์นิทีนอาจช่วยให้เด็กผู้หญิงโรคเร็ตท์มีความเป็นอยู่และการเคลื่อนไหวที่ดีขึ้น
  • ลดน้ำหนัก งานวิจัยบางชิ้นพบว่าแอลคาร์นิทีนสามารถเพิ่มปริมาณการลดน้ำหนักในผู้ใหญ่และผู้ป่วยเบาหวานได้ดีเมื่อใช้ร่วมกับยาลดน้ำหนักอย่างออริสแตท (Orlistat) หรือยาไซบูทรามีน (Sibutramine) แต่แอลคาร์นิทีนไม่อาจช่วยลดน้ำหนักในผู้ที่ไม่ได้เป็นเบาหวานได้ รวมถึงผู้ที่ลดน้ำหนักที่ไม่ได้ออกกำลังกายร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาหนึ่งในผู้ป่วยที่เป็นโรคอ้วนและผู้สูงอายุพบว่าการรับประทานแอลคาร์นิทีนสามารถลดน้ำหนักได้ 1.3 กิโลกรัม

ผลข้างเคียงและความปลอดภัยของแอลคาร์นิทีน

แอลคาร์นิทีนค่อนข้างปลอดภัยเมื่อรับประทานหรือฉีดเข้าร่างกายเป็นเวลานาน 12 วัน ด้วยการควบคุมดูแลจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ผลข้างเคียงอาจมีบ้าง อย่างอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง แสบร้อนกลางอก ท้องร่วง และชักเกร็ง อีกทั้งยังทำให้ปัสสาวะ เหงื่อ และลมหายใจมีกลิ่นคาว นอกจากนี้ ควรเลี่ยงการใช้แอลคาร์นิทีนและดีแอลคาร์นิทีน (DL-carnitine) ซึ่งเป็นคาร์นิทีนรูปแบบอื่นที่อาจเข้ายับยั้งผลของแอลคาร์นิทีนและอาจเกิดอาการคล้ายกับภาวะขาดแอลคาร์นิทีนได้

คำเตือนและข้อควรระวังในการใช้แอลคาร์นิทีน

สตรีมีครรภ์และแม่ที่ต้องให้นมบุตร ณ ขณะนี้ยังคงขาดแคลนข้อมูลที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับความปลอดภัยจากการใช้แอลคาร์นิทีนในกลุ่มผู้มีครรภ์ ดังนั้นคนในกลุ่มดังกล่าวควรเลี่ยงใช้แอลคาร์นิทีนเพื่อความปลอดภัย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

การรับประทานแอลคาร์นิทีนในขณะที่ต้องให้นมบุตรนั้นจัดว่าอาจจะปลอดภัยหากบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม โดยปริมาณแอลคาร์นิทีนที่น้อยนั้นสามารถใช้ผสมในน้ำนมสำหรับทารกได้โดยที่ยังไม่มีข้อมูลเรื่องผลข้างเคียง ส่วนผลกระทบจากการใช้แอลคาร์นิทีนในปริมาณมากกับกลุ่มผู้ที่ต้องให้นมบุตรก็ยังไม่มีข้อมูลใด ๆ

เด็ก แอลคาร์นิทีนจัดว่าอาจจะปลอดภัยเมื่อบริโภคหรือฉีดเข้าเส้นเลือดในปริมาณที่เหมาะสมในระยะเวลาสั้นๆ โดยสามารถใช้ได้นานถึง 6 เดือน

ไตล้มเหลว การฉีดดีแอลคาร์นิทีนเข้าร่างกายหลังการฟอกไตถูกรายงานว่าทำให้ผู้ป่วยโรคไตประสบกับอาการอย่างกล้ามเนื้ออ่อนแรงและตาหย่อน แต่สำหรับแอลคาร์นิทีนนั้นกลับไม่พบว่าส่งผลเสียเช่นนี้

ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกิน (Hypothyroidism) การใช้แอลคาร์นิทีนอาจทำให้อาการของภาวะนี้ทรุดลงได้

อาการชักเกร็ง การใช้แอลคาร์นิทีนอาจทำให้อาการชักของผู้ที่เคยประสบกับอาการชักมีอาการเกิดบ่อยขึ้น ดังนั้นจึงไม่ควรใช้แอลคาร์นิทีนหากคุณเคยมีอาการดังกล่าว

การใช้แอลคาร์นิทีนร่วมกับยาชนิดอื่น

ใช้แอลคาร์นิทีนร่วมกับยาเหล่านี้ด้วยความระมัดระวัง

  • ฮอร์โมนไทรอยด์กับแอลคาร์นิทีน
    แอลคาร์นิทีนอาจลดประสิทธิภาพการทำงานของฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายลง
  • อะซีโนคูมารอล (Acenocoumarol (Sintrom)) กับแอลคาร์นิทีน
    อะซีโนคูมารอลใช้เพื่อลดการเกิดลิ่มเลือด ส่วนแอลคาร์นิทีนอาจทำให้ผลจากยานี้เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเมื่อต้องใช้ยาทั้งสองร่วมกันอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนปริมาณยาอะซีโนคูมารอลที่ใช้ลงด้วยตามความจำเป็น 
  • วาฟาริน (Warfarin (Coumadin)) กับแอลคาร์นิทีน
    ยาวาฟารินใช้เพื่อลดการเกิดลิ่มเลือด ส่วนแอลคาร์นิทีนอาจทำให้ผลจากยานี้เพิ่มมากขึ้นจนอาจทำให้เกิดการฟกช้ำและเลือดออกง่าย ดังนั้นเมื่อต้องใช้ยาทั้งสองร่วมกันอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนปริมาณยาวาฟารินตามความจำเป็น 

ปริมาณการใช้แอลคาร์นิทีน

รับประทาน

  • สำหรับภาวะขาดแอลคาร์นิทีน (L-carnitine deficiencies) 900 มิลลิกรัม 2-3 ครั้ง/วัน ทั้งในรูปแบบยาเม็ดหรือยาน้ำ
  • สำหรับอาการเจ็บหน้าอก (Anginaแอลคาร์นิทีน 900 มิลลิกรัม ถึง 2 กรัม โดยแบ่งเป็น 1-2 โดสต่อวันนาน 2 สัปดาห์ถึง 6 เดือน
  • สำหรับภาวะหัวใจล้มเหลว แอลคาร์นิทีน 1.5-3.0 กรัมโดยแบ่งเป็น 1-2 โดสต่อวันนานประมาณ 34 เดือน สำหรับกาใช้ผลิตภัณฑ์คาร์นิคิวเจล (Carni Q-Gel, Tishcon Corporation) ที่ประกอบด้วยคาร์นิทีน 2,250 มิลลิกรัม และโคเอนไซม์คิวเท็น 270 มิลลิกรัม ให้รับประทานทุกวันนาน 12 สัปดาห์
  • สำหรับผู้ป่วยโรคไตร้ายแรงที่ต้องเข้ารับการฟอกไต แอลคาร์นิทีน 0.64-3 กรัม หรือ 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ทุกวันนาน 3-52 สัปดาห์ แต่การรับประทานแอลคาร์นิทีนก็ไม่ใช่วิธีรักษาภาวะขาดแอลคาร์นิทีนในผู้ป่วยโรคไตร้ายแรงแต่อย่างใด
  • สำหรับระดับฮอร์โมนไทรอยด์สูง (Hyperthyroidismแอลคาร์นิทีน 2-4 กรัมทุกวันนาน 2-4 เดือน
  • สำหรับภาวะมีบุตรยากของผู้ชาย แอลคาร์นิทีน 2-3 กรัมโดยแบ่งเป็นสายโดสต่อวันทั้งเดี่ยว ๆ หรือร่วมกับวิตามินอี นาน 2-24 สัปดาห์ อีกทั้งแอลคาร์นิทีน 2 กรัมร่วมกับอะเซติล แอล-คาร์นิทีน 1 กรัม ทั้งแบบเดี่ยวหรือร่วมกับยาเหน็บซินโนซิแคม (Cinnoxicam) 300 มิลลิกรัม ทุก ๆ 4 วันนาน 3-6 เดือน
  • สำหรับการอักเสบของหัวใจ (Myocarditisดีคาร์นิทีนและแอลคาร์นิทีน 100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ทุกวันนาน 4 วัน
  • สำหรับป้องกันผลข้างเคียงที่เกิดจากกรดวาลโปอิก 50-100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยแบ่งเป็น 3 หรือ 4 โดสต่อวัน มากสุดที่ 3 กรัมต่อวัน

ฉีดเข้าเส้นเลือด

  • สำหรับภาวะขาดแอลคาร์นิทีน (L-carnitine deficiencies) แอลคาร์นิทีน 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ทั้งแบบฉีดอย่างช้าๆ หรือฉีดตามหลังการใช้แอลคาร์นิทีน 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ที่แบ่งโดสเป็นทุกๆ 3-4 ชั่วโมงภายใน 24 ชั่วโมงถัดไป ในวันต่อมาให้คงปริมาณการใช้ยาตามปกติในขอบเขตที่ 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม สำหรับผู้ป่วยภาวะขาดแอลคาร์นิทีนที่เกิดจากการฟอกไตให้ใช้แอลคาร์นิทีนที่ 10-20 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยปรับตามระดับแอลคาร์นิทีนในเลือด
  • สำหรับอาการเจ็บหน้าอก (Anginaแอลคาร์นิทีนใน 5 % เดกซ์โทรส 500 มิลลิลิตร ที่ 3 กรัม 1 ครั้งต่อวันนาน 14 วัน อีกทั้งให้ใช้ดีและแอลคาร์นิทีนก่อนออกกำลังกาย 30 นาทีที่ 40 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
  • สำหรับภาวะหัวใจล้มเหลว แอลคาร์นิทีน 5 กรัมทางเส้นเลือดนาน 7 วันร่วมกับการรักษาตามปกติ
  • สำหรับโรคไตร้ายแรงที่ต้องเข้ารับการฟอกไต แอลคาร์นิทีน 10-20 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ด้วยการฉีดเข้าร่างกายอย่างช้า สำหรับรักษาภาวะผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับระดับคาร์นิทีนในร่างกายต่ำในผู้ที่ต้องเข้ารับการฟอกไตคือแอลคาร์นิทีน 1.8 กรัมทุกสัปดาห์ถึง 3 กรัมต่อวันหรือ 30-120 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน ด้วยการฉีดเข้าร่างกายนาน 2-12 สัปดาห์ ปริมาณที่ใช้มักจะเป็นจำนวน 3 ครั้งต่อสัปดาห์หลังการฟอกไตแต่ละครั้ง อีกทั้งแอลคาร์นิทีนอีก 1 กรัมด้วยการฉีดเข้าร่างกาย 3 ครั้งต่อสัปดาห์หลังการฟอกไตแต่ละครั้งร่วมกับโคเอนไซม์คิวเท็น 100 มิลลิกรัม ด้วยวิธีรับประทานทุกวันนาน 3 เดือน
  • สำหรับป้องกันผลข้างเคียงที่เกิดจากกรดวาลโปอิก 150-500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน นานถึง 3 กรัมต่อวัน


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Rudy Mawer, L-Carnitine: Benefits, Side Effects, Sources and Dosage (https://www.healthline.com/nutrition/l-carnitine), 6 November 2018.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน ผู้อ่านไม่ควรเลือกใช้ยาเองจากการอ่านบทความ ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง เพราะแต่ละท่านอาจมีสาเหตุของโรค โรคประจำตัว และประวัติการรักษาที่ต่างกัน ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)