การรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว

แนวทางการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว สามารถทำได้ 3 วิธีคือ การใช้ยา การผ่าตัด และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต
เผยแพร่ครั้งแรก 17 ส.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 7 นาที
การรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ภาวะหัวใจล้มเหลวเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น โครงสร้างหัวใจผิดปกติ หัวใจทำงานผิดปกติ โรคเกี่ยวกับหัวใจ การติดเชื้อ การได้รับยาบางชนิด 
  • ภาวะหัวใจล้มเหลวแบ่งได้เป็นภาวะเฉียบพลันและภาวะเรื้อรัง ทั้งสองภาวะจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีเพื่อลดโอกาสการเสียชีวิต
  • การรักษาภาวะนี้ได้แก่ การรักษาโรคร่วม (ถ้ามี) การใช้ยาเพื่อช่วยการทำงานของหัวใจและปรับสมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย การผ่าตัด และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต 
  • การงดของมัน ของทอด อาหารแปรรูป อาหารรสจัด การออกกำลังกาย การพักผ่อนให้เพียงพอ การเลิกบุหรี่และสารเสพติด เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตง่ายๆ ที่คุณทำได้ 
  • ภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นภัยเงียบที่อาจมาเยือนโดยคุณไม่รู้ตัว การดูแลสุขภาพและตรวจสุขภาพเป็นประจำจึงเป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพและหัวใจได้ที่นี่)

ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart failure) เป็นภาวะที่หัวใจทำงานผิดปกติ เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจ หรือการทำงานของหัวใจ โรคเกี่ยวกับหัวใจ โรคเกี่ยวกับหลอดเลือด การติดเชื้อ การได้รับยาที่มีฤทธิ์เป็นพิษต่อหัวใจ หรือยาที่กดการทำงานของหัวใจ

สาเหตุเหล่านี้ส่งผลให้หัวใจไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ตามปกติ การรับเลือดจากส่วนต่างๆ ของร่างกายแล้วนำกลับไปฟอกที่ปอด

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจหัวใจและหลอดเลือดวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 294 บาท ลดสูงสุด80%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ชนิดของหัวใจล้มเหลวเมื่อแบ่งจากระยะเวลาการเกิดโรค

  1. ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน (Acute heart failure) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นใหม่อย่างรวดเร็ว หรือ มีภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรังที่รักษาไม่ต่อเนื่อง อาการจึงแย่ลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมักพบในผู้ที่เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันเป็นภาวะฉุกเฉินต้องให้การรักษาทันทีเพื่อช่วยการไหลเวียนโลหิตและการหายใจ
  2. ภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง (Chronic heart failure) มีภาวะหัวใจล้มเหลวอย่างคงที่เป็นเวลานาน ภาวะนี้พบได้บ่อย เฉลี่ย 1% ของประชากร และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ไม่เพียงเท่านั้นยังเป็นภาวะที่มีอัตราเสียชีวิตสูง เฉลี่ย 10% ต่อปี

เป้าหมายของการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน

เป้าหมายคือ ความพยายามในการรักษาชีวิตไว้ให้ได้ด้วยการแก้ไขภาวะฉุกเฉิน ทำให้เพิ่มการไหลเวียนเลือดและช่วยการหายใจ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน ความดันโลหิตสูงรุนแรง ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด 

อย่างไรก็ตาม อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามระยะเวลาที่ป่วย หากรักษาต่อเนื่องได้ไม่ดีพอ หรือไม่เหมาะสม เช่น ขณะนอนโรงพยาบาลมีอัตราเสียชีวิต 4% หลังป่วยได้ 30 วัน มีอัตราเสียชีวิต 10% และหลังป่วยได้ 1 ปี จะมีอัตราเสียชีวิตสูงถึง 30%

ดังนั้นการรอดชีวิตจากการรักษาแบบฉุกเฉินในครั้งแรกนั้นจึงไม่อาจยืนยันว่า ผู้ป่วยจะสามารถมีชีวิตได้ปกติและยืนยาวต่อไป แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและเหมาะสม 

เป้าหมายของการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง 

เป้าหมายคือ การหาสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ควบคุมโรคให้ดีขึ้น และชะลอการดำเนินของโรค ชะลอความเสื่อมของกล้ามเนื้อหัวใจ เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น 

อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรังภายใน 1 ปีแรก แม้จะมีเพียง 24% ซึ่งถือว่าน้อยกว่าผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน แต่ภายใน 5 ปี อัตราการเสียชีวิตจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 50% นั่นหมายความว่า ภายใน 5 ปี โอกาสที่ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวจะเสียชีวิต หรือมีชีวิตอยู่ต่อไปมีค่าเท่ากัน

ด้วยเหตุนี้การรักษาอย่างต่อเนื่องและเหมาะสมจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ในที่นี้จะเน้นไปที่การรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจหัวใจและหลอดเลือดวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 294 บาท ลดสูงสุด80%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

แนวทางการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว

การรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ 

  1. การตรวจวินิจฉัย ได้แก่ การซักประวัติ ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจร่างกายอย่างละเอียด ตรวจทดสอบ BNP หรือ NT pro BNP (Brain  Natriuretic Peptide) ซึ่งเป็นโปรตีนที่บ่งชี้สภาพการทำงานของหัวใจ รวมทั้งการตรวจคลื่นสะท้อนความถี่สูงหัวใจ (Echo) เพื่อดูการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ รวมทั้งการทำงานของหัวใจห้องล่างซ้าย
  2. การรักษาตามชนิดของภาวะหัวใจล้มเหลว การรักษาที่นิยมได้แก่ การใช้ยา การผ่าตัด และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต
  3. การรักษาโรคร่วม ได้แก่ การรักษาโรคร่วมอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก

การใช้ยารักษาภาวะหัวใจล้มเหลว

หลังจากได้รับการวินิจฉัยว่า มีภาวะหัวใจล้มเหลวชนิดใดแล้ว แพทย์อาจจ่ายยาตามความเหมาะสมเพื่อเน้นการควบคุมปริมาณน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย เพิ่มความสามารถในการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ลดภาระการทำงานของหัวใจไม่ให้หนักจนเกินไป รวมทั้งรักษาโรคร่วมที่ผู้ป่วยมีด้วย ทั้งนี้ทำให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้ตามปกติ

กลุ่มยาสำคัญที่เลือกใช้ได้แก่ 

ยากลุ่มเอซ อินฮิบิเตอร์ (ACE inhibitors) 

ออกฤทธิ์โดยการคลายและขยายหลอดเลือดเพื่อช่วยให้การไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้มากขึ้น หัวใจห้องล่างซ้ายสามารถสูบฉีดเลือดได้ดีขึ้น และยังช่วยลดภาระที่หัวใจต้องแบกรับลง อย่างไรก็ตาม 

มีข้อควรระวังในการใช้ยานี้ เช่น ภาวะความดันโลหิตต่ำ ภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง ภาวะไตวาย อาการไอแห้ง   

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้: แคพโทพิล (Captopril) อินาลาพิล (Enalapril) ลิซิโนพิล (Lisinopril) รามิพิล (Ramipril)                   

ยากลุ่มแองจิโอเทนซิน รีเซปเตอร์ บล็อกเกอร์ (Angiotensin receptor blockers: ARBs) 

ออกฤทธิ์คล้ายกับยากลุ่ม ACE inhibitors แต่ยากลุ่ม ARBS ไม่ทำให้เกิดอาการไอ จึงจัดเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง หากผู้ป่วยไม่สามารถใช้ยากลุ่มACE inhibitorsได้ หรือไม่สามารถทนผลข้างเคียงจากยากลุ่มนี้ได้  

ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้: แคนเดอซาทาน (Candesartan) วัลซาทาน (Valsartan)                                                                    

ยากลุ่มเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta - blocker) 

ออกฤทธิ์โดยลดการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติจึงทำให้ลดอัตราการเต้นของหัวใจลงจึงช่วยลดการบาดเจ็บของหัวใจที่เกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลวซิสโตลิค (Systolic heart failure) ได้

มีข้อควรระวังในการใช้ยานี้ เช่น ภาวะความดันโลหิตต่ำ โรคหอบหืด ภาวะหัวใจเต้นช้า                                      

ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น ไบโซโพรลอล (Bisoprolol) คาร์เวดิลอล (Carvedilol) เมโทโพรลอล (Metoprolol)                         

ยากลุ่มอัลโดสเตอโรน บล็อกเกอร์ (Aldosterone blockers) 

ออกฤทธิ์โดยการขัดขวางการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนอัลโดสเตอโรน (Aldosterone) ซึ่งทำหน้าที่ดูดน้ำและโซเดียมไว้ในเส้นเลือด หากมีน้ำและโซเดียมมากเกินไปจะมีส่วนทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้                                                                                                                                                                      

ยาขับปัสสาวะ (Diuretics) 

ออกฤทธิ์เพิ่มปริมาณของน้ำและเกลือที่ร่างกายขับออกผ่านทางปัสสาวะ เพื่อให้มีน้ำอยู่ในเลือดน้อยลง ดังนั้นน้ำที่อยู่ในปอดและขาจะถูกดึงกลับไปในเลือด ซึ่งช่วยบรรเทาอาการหายใจติดขัดและบวมน้ำลงได้ 

ยาในกลุ่มนี้มีสองชนิดคือ บูเมทาไนด์ (Bumetanide) และ ฟูโรเซไมด์ (Furosemide) มีข้อควรระวังในการใช้ยานี้ เช่น ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ภาวะไตวาย                                                       

นอกจากนี้อาจมีการใช้ยาบางชนิดโดยแพทย์เฉพาะทาง ได้แก่

  • แองจิโอเทนซิน (Angiotensin)/ Neprilysin inhibitors เป็นยาที่ใช้รักษาภาวะหัวใจล้มเหลวที่ถูกคิดขึ้นมาใหม่ โดยเป็นการรวมกันของ Valsartan  กับ ซาคูบิทริล (Sacubitril) อาจนำมาใช้กับผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวที่มีความรุนแรง หรือผู้ที่มีอาการต่อเนื่องแม้จะรับการรักษาด้วยยาข้างต้นไปแล้ว 
  • อิวาบราดีน (Ivabradine)  เป็นยาที่ใช้เพื่อลดจำนวนครั้งของการเต้นหัวใจ/นาทีลง จะจำเป็นก็ต่อเมื่อผู้ป่วยมีอัตราการเต้นของหัวใจเร็วเกินแม้จะได้รับการรักษาด้วยยากลุ่ม Beta Blocker หรือ ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ยากลุ่ม Beta Blocker ได้
  • ไดโกซิน (Digoxin)  สามารถนำมาใช้เพื่อลดอัตราการเต้นของหัวใจ และบรรเทาอาการจากภาวะหัวใจล้มเหลวได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ป่วยที่มีโพแทสเซียมในเลือดสูงควรเพิ่มความระมัดระวังเพราะมีโอกาสเป็นพิษจากยาสูง 

การผ่าตัดรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว

เป็นวิธีที่ไม่นิยมใช้ในการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว เว้นแต่ภาวะหัวใจล้มเหลวของผู้ป่วยไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยยา หรือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ หรือเมื่อแพทย์คิดว่า สาเหตุของภาวะหัวใจล้มเหลวสามารถแก้ไขได้ด้วยการผ่าตัด เช่น พบปัญหาที่เกิดจากลิ้นหัวใจผิดปกติ หรือเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจอุดตัน  

1. การขยายหลอดเลือดหัวใจ (Angioplasty)

การขยายหลอดเลือดหัวใจเป็นการเปิดเส้นเลือดที่อุดตันอยู่ โดยการใส่ขดลวด (Stent) ที่มีอุปกรณ์ขนาดเล็กคล้ายบอลลูนแทงผ่านเส้นเลือดดำแล้วกางออกเมื่อถึงเส้นเลือดแดงที่อุดตัน การผ่าตัดนี้จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เส้นเลือดแดงเสียหายได้เล็กน้อย แต่ส่วนใหญ่จะทำให้อาการดีขึ้น

2. การผ่าตัดบายพาสเส้นเลือดหัวใจ (Coronary artery bypass)

การผ่าตัดบายพาสเส้นเลือดหัวใจเป็นการทำเส้นเลือดแดงใหม่ข้ามจุดที่อุดตัน โดยศัลยแพทย์จะนำเอาเส้นเลือดแดงที่มีสภาพดีจากส่วนอื่นของร่างกาย เช่น ขา หรือผนังทรวงอก ต่อเข้ากับเส้นเลือดหัวใจข้ามจุดที่อุดตัน ทำให้เลือดไหลผ่านจุดที่อุดตันได้

3. การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ (Heart transplantation)

เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวรุนแรงที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยยา หรือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจอาจเป็นทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่

ศัลยแพทย์จะเชื่อมต่อร่างกายของผู้ป่วยเข้ากับเครื่องปอด-หัวใจเทียม (Heart-lung machine) ซึ่งจะทำหน้าที่แทนปอดและหัวใจในขณะที่ศัลยแพทย์ผ่าตัดเอาหัวใจที่เป็นโรคนี้ออก และนำหัวใจจากผู้บริจาคที่เสียชีวิตแล้วมาเปลี่ยนแทน หลังจากนั้นจะเชื่อมต่อเส้นเลือดใหญ่เข้ากับหัวใจใหม่เพื่อให้หัวใจทำงานได้ด้วยตัวเอง

4. การผ่าตัดปรับขนาดหัวใจห้องล่างซ้าย (Left ventricular restoration)

การผ่าตัดปรับขนาดหัวใจห้องล่างซ้ายเป็นการผ่าตัดเปลี่ยนรูปร่างของหัวใจห้องล่างซ้ายที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ เพื่อทำให้หัวใจบีบตัวได้ดีขึ้น

5. การผ่าตัดใส่อุปกรณ์ไฟฟ้าหัวใจ

มีอุปกรณ์ไฟฟ้าหัวใจหลายชนิดที่สามารถช่วยให้หัวใจของผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวทำงานได้ดีขึ้น เช่น ช่วยแก้ไขการบีบตัวของหัวใจที่ไม่เหมาะสม แก้ไขภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดรุนแรง 

  • เครื่องไบเวนทริคูลาร์เพซซิง (Biventricular pacing) หรือคาร์ดิเอครีซินโครไนเซชัน (Cardiac resynchronization) เป็นเครื่องกระตุกหัวใจที่สร้างจังหวะการเต้นของหัวใจ โดยทำให้หัวใจห้องล่างซ้าย (Left ventricle) ทั้งสองด้านบีบตัวพร้อมกัน
  • เครื่องอิมแพลนเทเบิล คาร์ดิโอเวิร์ตเตอร์ ดีฟิบบริลเลเตอร์ (Implantble Cardioverter Defibrillator: ICD) ทำหน้าที่คล้ายกับเครื่องสร้างจังหวะการเต้นของหัวใจ แต่เครื่องจะเริ่มทำงานเมื่อตรวจจับได้ว่า หัวใจเต้นเร็วเกินไป โดยการส่งกระแสไฟฟ้าเพื่อให้จังหวะการเต้นของหัวใจช้าลง
  • เครื่องเวนทริคูลาร์แอซซิส (Ventricular Assist Device: VAD) ทำหน้าที่บีบตัวแทนหัวใจห้องล่าง อาจทำหน้าที่แทนหัวใจเพียงห้องเดียว หรือแทนหัวใจทั้งสองห้องก็ได้

การปรับพฤติกรรมเพื่อรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้ สามารถบรรเทาอาการจากภาวะหัวใจล้มเหลวได้

  • เลิกสูบบุหรี่
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • รักษาน้ำหนักตัวไม่ให้มาก หรือน้อยเกินไป
  • ออกกำลังกายที่ไม่หนักมากและเหมาะสมกับสภาพร่างกาย
  • รับประทานอาหารที่ดีต่อหัวใจและสุขภาพ คือ มีไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานซ์ (Trans fat) และคอเลสเตอรอลน้อย
  • ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม หากป่วยเป็นโรคเบาหวาน
  • ควบคุมความดันโลหิตไม่ให้สูงเกินไป
  • จำกัดปริมาณเกลือในอาหาร
  • จำกัดปริมาณน้ำ
  • สังเกตขา ข้อเท้า และเท้าทุกวันว่า มีอาการบวมหรือไม่
  • รับวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ให้ครบตามกำหนด 
  • ลดความเครียด
  • พักผ่อนให้เพียงพอ

นอกจากกระบวนการรักษาเหล่านี้แล้ว สิ่งที่ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวควรทำคือ การเฝ้าระวังอาการด้วยตนเอง เช่น ติดตามการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัว (เพิ่มขึ้น หรือลดลงอย่างรวดเร็ว) ลักษณะการหายใจ (หายใจหอบ เหนื่อย) การนอนหลับ (ตื่นขึ้นกลางดึกพร้อมอาการหอบ เหนื่อย) การนอน (นอนราบไม่ได้เพราะมีอาการหอบเหนื่อย) อาการบวมน้ำกดแล้วบุ๋มลงไป ไอแห้ง 

อาการเหล่านี้อาจบ่งบอกถึงความรุนแรงของภาวะหัวใจล้มเหลวก็เป็นได้ ผลการตอบสนองต่อการรักษา หรือภาวะแทรกซ้อนก็เป็นได้ ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพหัวใจและสมรรถภาพหัวใจ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


51 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure)
ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure)

ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure)

อ่านเพิ่ม