ทุกข้อมูลเกี่ยวกับ “ยาฆ่าเชื้อ” รวมครบทั้งเชื้อแบคทีเรีย รา ไวรัส

รวมทุกเรื่องควรรู้เกี่ยวกับยาฆ่าเชื้ออย่างละเอียด ยาฆ่าเชื้อในความหมายของคนทั่วไป คำแนะนำตัวยา การใช้ยาให้เหมาะกับโรค รวมถึงสิ่งที่หลายคนสับสนเกียวกับเชื้อแบคทีเรีย รา ไวรัส
เผยแพร่ครั้งแรก 24 เม.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 2 พ.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 13 นาที
ทุกข้อมูลเกี่ยวกับ “ยาฆ่าเชื้อ” รวมครบทั้งเชื้อแบคทีเรีย รา ไวรัส

เมื่อพูดถึงคำว่า “ยาฆ่าเชื้อ” โดยทั่วไปแล้วมักจะหมายถึงยาต้านเชื้อแบคทีเรีย หรือ “ยาปฏิชีวนะ” ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย (Antibiotic drug) โดยตัวยาอาจออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อแบคทีเรีย (Bacteriostatic) ทำให้แบคทีเรียอ่อนแรง ไม่สามารถขยายพันธุ์และเจริญเติบโตได้ จนระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสามารถกำจัดเชื้อออกไปจากร่างกายได้ หรือออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (Bactericidal) อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างก็ได้

ยาปฏิชีวนะมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากสามารถใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบว่าเกิดปัญหาการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด เนื่องจากการใช้ยาเกินจำเป็น และใช้อย่างไม่เหมาะสม เช่นนำไปรักษาโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้ออย่างอื่นนอกเหนือจากแบคทีเรีย เช่น รา ไวรัส ทำให้ยาที่เคยออกฤทธิ์ดีในการทำลายหรือยับยั้งเชื้อนั้นๆ ใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ในบทความนี้จึงจะกล่าวถึงทั้ง ยาปฏิชีวนะ หรือ “ยาฆ่าเชื้อ” ซึ่งทำหน้าที่ยับยั้งหรือฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ในความหมายที่คนทั่วไปเข้าใจ รวมถึงให้รายละเอียดเกี่ยวกับยาฆ่าเชื้อไวรัส และยาฆ่าเชื้อราด้วย

ยาฆ่าเชื้อ มีอะไรบ้าง?

ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย (Antibiotic Drug)

ยาต้านเชื้อแบคทีเรียสามารถแบ่งตามการออกฤทธิ์ต่อเชื้อแบคทีเรียได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

  1. ยาที่ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (Bactericidal)
    ยาที่ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียยังแบ่งย่อยลงไปได้อีก ตามการออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ดังนี้
    1. การสร้างผนังเซลล์ของเชื้อแบคทีเรีย
      ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ขัดขวางการสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรีย ซึ่งแบคทีเรียเกือบทุกชนิด (ยกเว้นไมโคพลาสมา (Mycoplasma)) จะมีผนังหุ้มรอบเซลล์ เพื่อให้เซลล์แข็งแรงและคงรูปร่างอยู่ได้ ฤทธิ์ของยาจะทำให้เซลล์แตกและตายทันที
      กลุ่มนี้เป็นยาที่ออกฤทธิ์กว้าง สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด แต่มักจะมีผลทำลายเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกมากกว่าแกรมลบ เนื่องจากผนังเซลล์ของแบคทีเรียแกรมบวกมีความซับซ้อนน้อยกว่าแกรมลบ ยาจึงเข้าไปในผนังเซลล์แบคทีเรียแกรมบวกได้ง่ายกว่า
      ยากลุ่มนี้มีความปลอดภัยต่อคนมากที่สุด เพราะไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกายของคน เนื่องจากเซลล์ของคนไม่มีผนังเซลล์
      ตัวอย่างยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ของเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่
      • กลุ่มยาเพนนิซิลลิน (Penicillins) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งตามโครงสร้างว่า กลุ่มเบต้าแลคแตม (β-lactam) ได้แก่
        • แอมพิซิลลิน (Ampicillin) เช่น Unasyn®, Amicilin®, Ampac®, Ampi Frx®, Ampicin®, Ampillin®, Ampihof® ยาแอมพิซิลลิน สามารถใช้รักษาโรคติดเชื้อในทางเดินหายใจ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ การติดเชื้อในกระแสเลือด การติดเชื้อที่หัวใจ การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ รวมถึงโรคติดเชื้อที่ทางเดินอาหารอีกด้วย
        • อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) เช่น Amoxil® ยานี้ดูดซึมทางลำไส้ได้ดีกว่า และใช้ในขนาดเพียงครึ่งหนึ่งของยาแอมพิซิลลิน รวมทั้งรับประทานยาหลังอาหารได้ ในปัจจุบันจึงนิยมใช้ยานี้แทนยาแอมพิซิลลิน

          อะม็อกซีซิลลินเป็นยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้อย่างกว้าง ไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดแกรมบวก (Gram-positive bacteria) ที่มักเป็นสาเหตุของการติดเชื้อของอวัยวะที่อยู่นอกช่องท้อง (เช่น ทางเดินหายใจ ตา หู และผิวหนัง) และเชื้อแบคทีเรียชนิดแกรมลบ (Gram-negative bacteria) ที่มักเป็นสาเหตุของการติดเชื้อของอวัยวะที่อยู่ในช่องท้อง (เช่น ทางเดินอาหาร ทางเดินปัสสาวะ และอวัยวะสืบพันธุ์)
          อะม็อกซีซิลลินเป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย และมักมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการใช้ยามากพอสมควร เช่น หลายครั้งผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้หวัดมักจะถามหายาอะม็อกซีซิลลินเพื่อรับประทานแก้เจ็บคอ ทั้งที่ความจริงโรคไข้หวัดนั้นเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส
        • อะม็อกซีซิลลินและคลาวาลูนิก แอซิด (Amoxicillin+Clavalunic acid) เช่น Augmentin®, AMK®, Cavumox®, Fleming®, Amoksiklav®  ในทางคลินิก หากใช้ยาคลาวาลูนิก แอซิด เป็นยาเดี่ยว จะไม่สามารถแสดงฤทธิ์ยาปฏิชีวนะได้เต็มที่ จึงต้องใช้ยาคลาวูลาเนทร่วมกับกลุ่มยาเพนิซิลลิน ทำให้ช่วยต่อต้านแบคทีเรียที่เคยดื้อต่อยากลุ่มเพนิซิลลินได้เป็นอย่างดี
        • ไดคล็อกซาซิลลิน (Dicloxacillin) ยานี้สามารถใช้รักษาการติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียได้หลายรูปแบบ ที่เกิดจากการติดเชื้อสตาฟิโลคอกคัส (Staphylococcus) เช่น ผิวหนังอักเสบติดเชื้อที่มีตุ่มหนอง เป็นต้น
      • กลุ่มเซฟาโลสปอริน (Cephalosporins) มีลักษณะโครงสร้างเป็นกลุ่มเบต้าแลคแตม (β-lactam) สามารถแบ่งย่อยได้เป็น 4 รุ่น (Generations) ตามประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกและลบ ได้แก่
        • เซฟาโลสปอริน รุ่นที่ 1 ออกฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียแกรมบวกได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบคทีเรียที่สร้างเอนไซม์เพนิซิลิลเนส แบคทีเรีย staphylococci และ streptococci ชนิดที่ไม่ดื้อต่อยาเมททิซิลิน และยังออกฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียแกรมลบได้บางชนิด เช่น Proteus mirabilis, Escherichia coli บางชนิด และ Klebsiella pneumoniae แต่ไม่มีฤทธิ์ต้านเชื้อ Bacteroides fragilis, Pseudomonas, Acinetobacter, Enterobacter ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น Cefalexin (cephalexin; Keflex®), Cefazolin (Ancef®, Kefzol®), Cefadroxil (Duricef®), Cefapirin (cephapirin; Cefadryl®) เป็นต้น
        • เซฟาโลสปอริน รุ่นที่ 2 ออกฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียแกรมบวกได้น้อยลง แต่ออกฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียแกรมลบได้มากขึ้นกว่ารุ่นที่ 1 เช่น Haemophilus influenzae, Enterobacter aerogenes และ Neisseria บางชนิด ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น Cefaclor (Ceclor®, Distaclor®, Keflor®, Raniclor®), Cefuroxime (Zefu®, Zinnat®, Zinacef®, Ceftin®), Cefoxitin, Cefoxitin (Mefoxin®) เป็นต้น
        • เซฟาโลสปอริน รุ่นที่ 3 ยาส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ออกฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียแกรมบวกได้น้อยลงกว่ารุ่นที่ 1 และ 2 โดยเฉพาะอย่างยิ่งฤทธิ์ต่อเชื้อแบคทีเรีย staphylococci และ streptococci แต่ออกฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียแกรมลบได้มากขึ้นกว่ารุ่นที่ 1 และ 2 โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล และยายังสามารถเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลางเพื่อรักษาอาการติดเชื้อในบริเวณนั้นได้ เช่น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (meningitis) ที่มีเชื้อมาจาก pneumococci, meningococci, H. influenzae และ E. coli ชนิดที่ไม่ดื้อยา, Klebsiella และ N. gonorrhoeae ชนิดที่ดื้อต่อยาเพนิซิลลิน ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น Ceftriaxone (Rocephin®) ใช้เป็นยาหลักในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคหนองใน (gonorrhea), Cefdinir (Omnicef®, Zinir®, Kefnir®), Cefixime (Fixx®, Zifi®, Suprax®), Cefodizime, Cefotaxime (Claforan®), และ Cefoperazone (Cefobid®) เป็นต้น
        • เซฟาโลสปอริน รุ่นที่ 4 ออกฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียแกรมบวกได้เช่นเดียวกับเซฟาโลสปอริน รุ่นที่ 1 โดยเซฟาโลสปอริน รุ่นที่ 4 มีข้อดีที่ตัวมันมีทั้งประจุบวกและลบ จึงสามารถเข้าสู่เชื้อแกรมลบได้ดีมากขึ้น สามารถต้านต่อเอนไซม์เบต้าเล็คตาเมสของเชื้อที่สร้างขึ้นมาทำลายตัวยาได้ดีกว่าเซฟาโลสปอริน รุ่นที่ 3 นอกจากนี้ ตัวยาสามารเข้าสู่เส้นเลือดในสมองเพื่อรักษาโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) ได้ดี ซึ่งยาทั่วไปไม่สามารถซึมผ่านได้ง่าย และยังออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อ Pseudomonas aeruginosa ชื่อยาในรุ่นนี้อาจไม่ค่อยคุ้นหูนัก เนื่องจากแพทย์มักใช้เฉพาะกรณีที่มีการติดเชื้อจำเพาะบางชนิดในโรงพยาบาล ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น Cefclidine, Cefepime (Maxipime), Cefluprenam, Cefozopran, Cefpirome (Cefrom), Cefquinome เป็นต้น
        • เซฟาโลสปอริน รุ่นที่ 5 ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น Ceftobiprole ออกฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียกลุ่ม pseudomonal, Ceftaroline ออกฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรีย Staphylococcus aureus ที่ดื้อต่อยาเมททิซิลิน (MRSA) และ Ceftolozane ออกฤทธิ์รักษาอาการติดเชื้อในช่องท้องและกระเพาะปัสสาวะที่ซับซ้อนและรักษาได้ยาก  Ceftolozane มักใช้ร่วมกับยา Tazobactam ซึ่งเป็นตัวยับยั้งเอนไซม์เบต้าแลคตาเมสจึงช่วยให้ยาออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อได้กว้างขึ้น
      • กลุ่มยาอื่นๆ เช่น บาซิทราซิน (Bacitracin) และแวนโคมัยซิน (Vancomycin) เป็นต้น
    2. กลุ่มยาที่ออกฤทธิ์รบกวนเยื่อหุ้มเซลล์ของแบคทีเรีย
      ยาปฏิชีวนะบางชนิดมีผลเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของเยื่อหุ้มเซลล์ ทำให้การแลกเปลี่ยนสารต่างๆ ที่อยู่ในเซลล์และอยู่นอกเซลล์ของแบคทีเรียผิดปกติ เชื้อแบคทีเรียจึงตายในที่สุด ยาที่ออกฤทธิ์ผ่านกลไกนี้จัดว่าเป็นพิษต่อเซลล์ของคนมากกว่ายาในกลุ่มอื่น เนื่องจากเซลล์ของคนก็มีเยื่อหุ้มเซลล์เช่นกัน ยาจึงมีผลต่อการทำงานของเยื่อหุ้มเซลล์ของคนด้วย แต่ไม่มีผลมากเท่าเยื่อหุ้มเซลล์ของแบคทีเรีย

      ตัวอย่างยาที่ออกฤทธิ์รบกวนเยื่อหุ้มเซลล์ของเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ โพลิมิกซิน บี (Polymyxin B) โคลิสติน (Colistin) หรือ โพลิมิกซิน อี (Polymyxin E) แอมโฟเทอริซิน บี (Amphotericin B) กรามิซิดิน (Gramicidin) เป็นต้น
  2. ยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อแบคทีเรีย (Bacteriostatic)
    ยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อแบคทีเรียสามารถแบ่งย่อยออกตามการออกฤทธิ์ ดังนี้
    1. กลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ทำให้การสร้างโปรตีนของเชื้อแบคทีเรียผิดปกติ
      ยาฆ่าเชื้อมีกลไกทำให้แบคทีเรียไม่สามารถสร้างโปรตีนได้ จึงมีผลให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโตและหยุดการแบ่งตัว แต่เชื้อแบคทีเรียจะยังไม่ตายในทันที ถ้าผู้ป่วยที่ใช้ยากลุ่มนี้มีภูมิคุ้มกันแข็งแรง ก็จะสามารถกำจัดเชื้อออกไปจากร่างกายได้เอง หรืออาจต้องใช้ยาต่อเนื่องระยะหนึ่งจึงจะสามารถกำจัดเชื้อได้ ยายับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มย่อย ตามตำแหน่งที่ยาไปมีผลต่อการทำงานของไรโบโซม ดังนี้
      • ออกฤทธิ์ที่ไรโบโซมส่วนที่เป็น 30s ได้แก่ กลุ่มยาเตตร้าซัยคลิน (Tetracyline) เช่น Tetracyline, Oxytetracycline, Chlortetracycline, Doxycycline และ Minocycline เป็นต้น
      • ออกฤทธิ์ที่ไรโบโซมส่วนที่เป็น 50s ได้แก่
        • กลุ่มคลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol) เช่น Chloramphenicol และ Thiamphenicol
        • กลุ่มมาโครไลด์ (Macrolide) เช่น Roxithromycin, Erythromycin, Clarithromycin, และ Azithromycin
        • ยาอื่นๆ ได้แก่ คลินดามัยซิน (Clindamycin) และลินโคมัยซิน (Lincomycin)
    2. การสร้างกรดนิวคลิอิก (Nucleic acid)
      กรดนิวคลิอิกเป็นส่วนประกอบของสารพันธุกรรมดีเอ็นเอ ซึ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโตและการแบ่งตัวของแบคทีเรีย เมื่อแบคทีเรียไม่สามารถสร้างดีเอ็นเอได้ จึงไม่สามารถเจริญเติบโตและแบ่งตัวได้ กลไกแบบนี้มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย แต่ไม่ได้มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่
    3. กลุ่มยาที่ออกฤทธิ์รบกวนกระบวนการเมตาบอลิซึมของเซลล์
      กระบวนการเมตาบิลึซึม คือกระบวนการสร้างและสลายสารต่างๆ ในเซลล์ ซึ่งเป็นกระบวนที่เกิดอยู่ตลอดเวลา ถ้ากระบวนการเหล่านี้ถูกขัดขวาง จะมีผลทำให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ ตัวอย่างยา ได้แก่
      • ยากลุ่มซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamide) เช่น Sulfamethoxazole, Sulfadiazine, Sulfadimethoxine และ Cotrimoxazole (สูตรผสมระหว่าง Sulfamethoxazole และ Trimethoprim) เป็นต้น
      • ยาอื่นๆ เช่น ไตรเมโธพริม (Trimethoprim) และไอโสนัยอะซิด (Isonizaid) ซึ่งนิยมใช้เป็นยารักษาวัณโรค

แม้คนทั่วไปจะรู้จักคำว่า “ยาฆ่าเชื้อ” ในความหมายของยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ดังที่ได้อธิบายรายละเอียดไปข้างต้น แต่ความจริงแล้ว “เชื้อ” ชนิดอื่นนอกเหนือจากแบคทีเรียก็ยังมีอีก เช่น ไวรัส รา ทั้งสองต้องใช้ยาต้านโดยเฉพาะ จึงจะกำจัดหรือยับยั้งเชื้อได้ผล

ยาต้านเชื้อไวรัส (Antiviral drugs)

เป็นยาที่ใช้รักษาอาการต่างๆ ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ยาต้านไวรัสมีหลายชนิด ออกฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสชนิดที่แตกต่างกัน โดยสามารถแบ่งตามวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ดังนี้

  1. ยารักษาโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus (HIV))
    ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีวิธีรักษาเชื้อเอชไอวีให้หายขาดได้ ยาที่ใช้บำบัดรักษาในปัจจุบันจะช่วยควบคุมเชื้อไวรัสไม่ให้เพิ่มจำนวนและลดลง ซึ่งจะทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

    ยาต้านเชื้อเอชไอวีเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า แอนตี้เรโทรไวรัล (Antiretrovirals (ARV)) ยาต้านไวรัสไม่สามารถทำลายเชื้อเอชไอวีให้หมดไป แต่จะช่วยชะลอการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสเอชไอวีในร่างกายผู้ป่วย และช่วยยับยั้งไม่ให้เซลล์ของไวรัสมีการแบ่งตัวขยายตัวแล้วแพร่กระจายลุกลามไปสร้างความเสียหายแก่เซลล์เนื้อเยื่ออวัยวะบริเวณอื่นๆ ต่อไปได้ ตัวอย่างยาในกลุ่มยาต้านรีโทรไวรัส ได้แก่
    • Non-nucleoside Reverse Transcriptase Inhibitors (NNRTIs) เช่น ยาเอฟฟาไวเรนซ์ (Efavirenz; EFV; Sustiva®) เนวิราปีน (Nevirapine; NVP; Viramune®)
    • Nucleotide Reverse Transcriptase Inhibitors (NRTIs) เช่น ยาอะบาคาเวียร์ (Abacavir; Ziagen®) ยาที่นิยมใช้ร่วมกัน ได้แก่ ทีโนโฟเวียร์ (Tenofovir disoproxil fumarate; TDF; Viread®) กับเอ็มตริไซตาบีน (Emtricitabine; FTC; Emtriva®) และลามิวูดีน (Lamivudine; 3TC; Epivir®) กับซิโดวูดีน (Zidovudine; AZT; Retrovir®)
    • Protease Inhibitors (PIs) ยายับยั้งเอนไซม์โปรตีเอส เช่น ยาอะทาซานาเวียร์ (Atazanavir; ATV; Reyataz®), ริโทรนาเวียร์ (Ritonavir; RTV; Norvir®), โลปินาเวียร์+ริโทรนาเวียร์ (Lopinavir+ritonavir; LPV/r; Kaletra®) และอินดินาเวียร์ (Indinavir;IDV; Crixivan®)
    • Entry/Fusion Inhibitors ยายับยั้งไม่ให้ไวรัสรวมตัวหรือเคลื่อนที่เข้าสู่เซลล์เม็ดเลือดขาว (CD4) ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาว เช่น เอนฟูเวอไทด์ (Enfuvirtide; ENF; Fuzeon®)
    • CCR5 Antagonist เช่น มาราไวรอก (Maraviroc; MVC; Selzentry®)
    • Integrase Inhibitors ยายับยั้งกระบวนการทำงานของเอนไซม์อินทีเกรส เช่น ราลทีกราเวียร์ (Raltegravir; RAL; Isentress) เอลวิทีกราเวียร์ (Elvitegravir; EVG; Vitekta) โดลูทีกราเวียร์ (Dolutegravir; DTG; Tivicay) เป็นต้น
  2. ยารักษาอาการติดเชื้อเฮอร์ปีส์ซิมเพล็กซ์ไวรัส (Herpes simplex virus) และเชื้อวาริเซลลาซอสเตอร์ไวรัส (Varicella-zoster virus)
    Herpes simplex virus เป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเริม อาการของโรคจะมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำใส พบได้บ่อยตามริมฝีปากและอวัยวะเพศ หากตุ่มน้ำใสแตกออกจะมีอาการปวดแสบปวดร้อนบริเวณนั้นๆ และเชื้อวาริเซลลาซอสเตอร์ไวรัส (Varicella-zoster virus) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคงูสวัด อาการของโรคมีลักษณะเป็นตุ่มแดงเจริญตามแนวเส้นประสาท ผู้ป่วยจะมีอาการปวดร้อนบริเวณรอยโรค ยาที่มีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อในกลุ่มดังกล่าว ได้แก่ ยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) วาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) แฟมไซโคลเวียร์ (Famciclovir) เพนไซโคลเวียร์ (Penciclovir) ไวดาราบีน (Vidarabine) และไตรฟลูริดีน (Trifluridine) เป็นต้น
  3. ยารักษาอาการติดเชื้ออินฟลูเอนซาไวรัส (Influenza Virus)
    เชื้อ Influenza Virus เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งแต่ละปีเชื้อ Influenza Virus ที่แพร่ระบาดจะเป็นสายพันธุ์ที่แตกต่างกันไป โดยสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้จากกระทรวงสาธารณสุข การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ Influenza Virus สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ โดยแนะนำให้ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปี เด็ก และบุคลากรทางการแพทย์ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ป้องกันทุกปี เนื่องจากบุคคลกลุ่มดังกล่าวมีความเสี่ยงในการติดเชื้อสูง อาการเป็นจะค่อนข้างรุนแรง และรักษาให้หายได้ยาก อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสดังกล่าวแล้วสามารถรักษาให้อาการบรรเทาได้โดยใช้ยา เช่น ยาโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) อะแมนทาดีน (Amantadine) ไรแมนทาดีน (Rimantadine) และซานามิเวียร์ (Zanamivir)
  4. ยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบ (Viral hepatitis) และโรคหูดหงอนไก่ (Condyloma acuminatam, Genital warts)
    โรคไวรัสตับอักเสบเป็นโรคที่ตับมีอาการอักเสบและติดเชื้อ ไวรัสตับอักเสบมีหลายสายพันธุ์  ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบเอ บี ซี ดี และอี ซึ่งไวรัสตับอักเสบดี และอี พบได้น้อยมากในปัจจุบัน โรคไวรัสตับอักเสบเป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคตับแข็งและมะเร็งตับ แต่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกัน สำหรับยาที่ใช้รักษาโรคไวรัสตับอักเสบและโรคหูดหงอนไก่ เช่น ไรบาไวริน (Ribavirin) เอ็มตริไซตาบีน (Emtricitabine) อะดีโฟเวียร์ (Adefovir) เอ็นทีคาเวียร์ (Entecavir) ลามิวูดีน (Lamivudine) เทลบิวูดีน (Telbivudine) ทีโนโฟเวียร์ (Tenofovir) และอินเตอร์เฟรอน (Interferon (IFN)) เป็นต้น
  5. ยารักษาอาการติดเชื้อไซโตเมกะโลไวรัสหรือซีเอ็มวี (Cytomegalovirus (CMV))
    เชื้อไซโตเมกะโลไวรัส เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อซีเอมวี เมื่อรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้วเชื้อจะอาศัยอยู่ในร่างกายไปตลอดชีวิต ในคนปกติที่มีสุขภาพแข็งแรงการติดเชื้อมักไม่ทำให้เกิดอาการหรือมีอาการที่ไม่รุนแรง แต่ในผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่องจะทำให้เกิดพยาธิสภาพในหลายอวัยวะและมีอาการที่รุนแรง สำหรับเด็กที่อยู่ในครรภ์มารดามีโอกาสที่จะติดเชื้อผ่านทางรกและทำให้เกิดความพิการแต่กำเนิด การรักษาสามารถทำได้เพียงการรักษาประคับประคองตามอาการ และให้ยาต้านไวรัสเพื่อฆ่าเชื้อไวรัสให้เหลือน้อยที่สุดจนไม่เกิดอาการของโรค ยาที่ใช้ต้านไวรัส ได้แก่ ยาแกนไซโคลเวียร์ (Ganciclovir) วาลแกนไซโคลเวียร์ (Valganciclovir) ไซโดโฟเวียร์ (Cidofovir) ฟอสคาร์เนท (Foscarnet) และโฟมิเวียร์เซน (Fomivirsen) เป็นต้น

คำเตือนและข้อควรระวังในการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างปลอดภัย

  • ควรแจ้งแพทย์และเภสัชกรทุกครั้งถึงโรคประจำตัว ประวัติการใช้ยาในปัจจุบัน และประวัติการแพ้ยา เพื่อหลีกเลี่ยงการแพ้ยาซ้ำและยาตีกัน เนื่องจากยาปฏิชีวนะบางตัวอาจขัดขวางการออกฤทธิ์ของยาชนิดอื่นหรือเสริมฤทธิ์ยาชนิดอื่นให้รุนแรงขึ้นได้
  • การใช้ยาปฏิชีวนะบางกลุ่มพร้อมกับยาเม็ดคุมกำเนิดอาจจะทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดลดลงได้
  • การใช้ยาปฏิชีวนะอาจมีผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกับยาชนิดอื่น ๆ โดยส่วนใหญ่จะเกิดอาการในระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด ท้องเสีย ปวดท้อง เบื่ออาหาร วิงเวียนศีรษะ เป็นต้น
  • หากใช้ยาและมีอาการหายใจไม่สะดวก ลำคอตีบตัน ผื่นขึ้นตามตัว เนื้อเยื่ออ่อนต่างๆ บวม เช่น บริเวณตาและปาก ควรหยุดยาและพบแพทย์ทันที เนื่องจากผู้ใช้อาจเกิดอาการแพ้ยาปฏิชีวนะชนิดนั้น ๆ
  • ผู้ที่มีภาวะโรคตับและไต ควรระมัดระวังการใช้ยาฆ่าเชื้อ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา เนื่องจากยาอาจทำให้โรคตับและไตที่เป็นอยู่ทรุดหนักลง
  • ไม่ควรซื้อยาต้านจุลชีพหรือยาฆ่าเชื้อใช้เอง เนื่องจากเชื้อจุลชีพมีหลายชนิด ทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อรา จึงจำเป็นต้องให้แพทย์วินิจฉัยโรคก่อนจ่ายยาทุกครั้งเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการรักษาสูงสุด ซึ่งยาจะต้องออกฤทธิ์จำเพาะต่อเชื้อนั้นๆ และป้องกันปัญหาเชื้อดื้อยาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจนกลายเป็นปัญหาใหญ่
  • ควรรับประทานยาที่แพทย์หรือเภสัชกรจ่ายจนครบจำนวนแม้ว่าอาการจะเริ่มดีขึ้นแล้วก็ตาม  เพื่อให้ได้ผลในการรักษาและป้องกันการเกิดเชื้อดื้อยา การทานยาปฏิชีวนะให้หมดและครบตามกำหนดเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมากเพื่อที่จะได้กำจัดเชื้อไปให้หมดสิ้นจากร่างกาย หากคุณทานยาไม่ครบจำนวน หรือลืมทานบ่อยๆ การติดเชื้อนั้นก็อาจจะคงเหลืออยู่และทำให้อาการต่าง ๆ ที่เริ่มดีขึ้นกลับมาเป็นใหม่ได้อีกครั้ง และหากมีการติดเชื้อเกิดขึ้นใหม่ การรักษาก็จะยากและลำบากมากขึ้นเนื่องจากเชื้อจะมีอาการดื้อยานั้นๆ แล้วนั่นเอง
  • เนื่องจากการแพ้ยาในกลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillins) และยาซัลฟา (ซัลโฟนาไมด์; Sulfonamide)  สามารถพบได้บ่อย ผู้ป่วยที่แพ้ยากลุ่มดังกล่าวจึงควรระมัดระวังเวลาใช้ยาต้านจุลชีพ เพราะส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่มีอาการแพ้ยาดังกล่าวมักจะแพ้ยาทุกตัวในกลุ่ม ไม่ใช่แค่แพ้ยาตัวใดตัวหนึ่งในกลุ่ม
  • ห้ามใช้ยาไซโดโฟเวียร์ (Cidofovir) ในผู้ป่วยที่แพ้ยาโพรเบเนซิด (Probenecid) หรือยาอื่นๆ ที่มีส่วนประกอบของยาซัลฟา
  • การใช้ยาปฏิชีวนะบางประเภท เช่น Amoxycillin, Augmentin® (amoxicillin+clavulanate) และ Clindamycin อาจทำให้เกิดท้องเสียได้ เนื่องจากยาปฏิชีวนะจะทำลายแบคทีเรียที่เป็นจุลชีพเฉพาะถิ่นในลำไส้ จนอาจก่อให้เกิดภาวะเสียสมดุลของจุลชีพในลำไส้ อาการถ่ายเหลวที่เกิดขึ้นอาจเป็นแค่อาการเพียงเล็กน้อย และจะหายไปหลังจากหยุดยาปฏิชีวนะไม่นาน แต่ก็มีบางครั้งที่ยาปฏิชีวนะทำลายเชื้อแบคทีเรียไปมาก จนกระทั่งทำให้แบคทีเรียสายพันธุ์ที่ก่อโรคบางชนิดแบ่งตัวแพร่กระจายโดยร่างกายไม่สามารถควบคุมได้และเกิดอาการข้างเคียงรุนแรงได้ หากเกิดอาการรุนแรงควรปรึกษาแพทย์
  • ยากลุ่ม Fluoroquinolones และ Tetracyclines จะไม่สามารถออกฤทธิ์ได้ถ้ารับประทานพร้อมกับแคลเซียม ยาลดกรด นม หรืออาหาร/ยาที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบ เนื่องจากยาจะไปจับกับสารต่างๆ ข้างต้นและไม่ออกฤทธิ์ หากต้องการรับประทานให้ทานยาปฏิชีวนะก่อนหรือหลังที่จะรับประทานผลิตภัณฑ์ดังกล่าวข้างต้นอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
  • ยาปฏิชีวนะที่สามารถนำมาใช้กับหญิงตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัย ได้แก่ ยากลุ่มเพนิซิลลิน กลุ่มเซฟาโลสปอริน และยาอิริโธรมัยซิน อย่างไรก็ตาม หญิงตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงผลดีและผลเสียของยาก่อนใช้ยาเสมอ
  • รับประทานยาตามฉลากยาหรือคำแนะนำของแพทย์ให้ครบถ้วนและถูกต้อง เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ได้เต็มประสิทธิภาพ เช่น ยาบางชนิดควรรับประทานตอนท้องว่าง หรือไม่ควรรับประทานยาหากดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้ร่างกายดูดซึมยาได้ไม่เต็มที่
  • ห้ามใช้ยาอินเตอร์เฟอรอน (Interferon; IFN) ในผู้ป่วยที่เป็นโรคตับอักเสบที่เกิดจากโรคออโตอิมูน (Auto-immune hepatitis) ผู้ป่วยโรคตับระยะสุดท้าย ผู้ป่วยที่ระดับเม็ดเลือดขาวและระดับเกล็ดเลือดต่ำ ผู้ป่วยโรคหัวใจ นอกจากนั้นควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ การทำงานกับเครื่องจักร และหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เนื่องจากยานี้อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆ ได้ เช่น ปวดหัว มึนงง  ง่วงซึม รวมถึงมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง เช่น ทำให้ซึมเศร้า สับสน โรคจิต ชัก เป็นต้น
  • ไม่ควรใช้ยาแกนไซโคลเวียร์และยาวาลแกนไซโคลเวียร์ในหญิงตั้งครรภ์เพราะยาทั้งสองชนิดเป็นพิษต่อทารกในครรภ์ (Teratogenicity)
  • ไม่ควรใช้ยาอะแมนทาดีน (Amantadine) โอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) และซานามิเวียร์ (Zanamivir) ระหว่างตั้งครรภ์ แพทย์จะพิจารณาการใช้เมื่อแม่อาจมีอันตรายถึงชีวิตเท่านั้น ดังนั้น การใช้ยาดังกล่าวจึงต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ทุกครั้ง
  • ยาอะแมนทาดีน (Amantadine) และไรแมนทาดีน (Rimantadine) มีผลข้างเคียงต่อระบบประสาทส่วนกลางเช่น ซึมเศร้า กังวล มึนงง เห็นภาพหลอน ประสาทหลอน นอนไม่หลับ เป็นต้น และมีผลต่อระบบทางเดินอาหารเช่น เบื่ออาหาร ท้องผูกหรือท้องเสีย และคลื่นไส้ เป็นต้น
  • ยาไรบาไวริน (Ribavirin) อาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง เนื่องจากยามีฤทธิ์กดการทำงานของไขกระดูก อาจทำให้เม็ดเลือดแดงแตก (Hemolytic anemia) เม็ดเลือดขาวต่ำ หรือมีอาการเหมือนเป็นไข้หวัดใหญ่ (Flu-like symptoms) ได้

6 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)