กองบรรณาธิการ HonestDocs
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HonestDocs

หูดหงอนไก่ (Genital Warts)

เผยแพร่ครั้งแรก 1 มี.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 9 นาที

หูดหงอนไก่ หรือชื่อทางการแพทย์เรียกว่า Condyloma acuminata เป็นก้อนลักษณะนิ่ม ชื้น สีชมพู หรือสีเดียวกับผิวหนัง ซึ่งเกิดขึ้นได้ในหลายลักษณะ ทั้งแบบนูน เรียบ หรือรูปร่างเหมือนดอกกะหล่ำ (หากโตรวมกันเป็นกลุ่ม) หูดเหล่านี้อาจเกิดขึ้นทั่วบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนัก 

อาการของหูดหงอนไก่

ในผู้หญิงหูดหงอนไก่สามารถเกิดได้ทั้งภายในหรือภายนอกช่องคลอดและทวารหนัก บริเวณโดยรอบ และอาจเกิดที่ปากมดลูก ส่วนในผู้ชายอาจพบได้ที่ภายนอกหรือภายในทวารหนัก 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจ STD วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 97 บาท ลดสูงสุด 76%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

เช่นเดียวกับบริเวณองคชาตและอัณฑะ ภายในท่อปัสสาวะหรือบริเวณโดยรอบ อีกทั้งพบได้ในปาก คอหอย บริเวณลิ้น และริมฝีปาก ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย

โดยทั่วไปแล้ว ตุ่มเล็กๆ นี้จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพด้านอื่นๆ แต่บางครั้งก็อาจทำให้เกิดอาการเจ็บปวดและคันได้

ในกรณีที่พบได้น้อยมาก หูดหงอนไก่อาจก่อให้เกิดอาการดังต่อไปนี้

  • อาการปัสสาวะที่ผิดปกติในผู้ชาย (หากมีหูดหงอนไก่เกิดขึ้นในท่อปัสสาวะ)

  • เลือดออกในท่อปัสสาวะ เลือดออกทางช่องคลอดหรือทางทวารหนัก

  • มีสารคัดหลั่งจากช่องคลอดเพิ่มขึ้น

สาเหตุของการเกิดหูดหงอนไก่

หูดหงอนไก่เกิดจากการติดเชื้อ Human papillomavirus (HPV) ซึ่งเป็นการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อย เชื้อไวรัสชนิดนี้ไม่ใช่ไวรัสสายพันธุ์เดียว แต่เป็นกลุ่มของไวรัสที่มีมากกว่า 150 สายพันธุ์ 

ซึ่งชื่อของแต่ละสายพันธุ์จะระบุเป็นตัวเลข โดย 90% ของหูดหงอนไก่เกิดจากเชื้อ HPV สายพันธ์ุ 6 และ 11 ส่วนที่เหลือเกิดจากสายพันธุ์อื่นๆ

คุณสามารถเป็นหูดหงอนไก่ได้หากมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อชนิดนี้ แม้ว่าบุคคลนั้นจะไม่ได้มีหูดให้เห็นหรือแสดงอาการอื่นๆ ของการติดเชื้อก็ตาม

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

แม้ว่าหูดที่เกิดภายในทวารหนักนั้นจะมักพบในผู้ที่เป็นฝ่ายรับในการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก แต่ก็สามารถเกิดในชายหรือหญิงที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักได้เช่นกัน

ใครบ้างที่เสี่ยงเกิดหูดหงอนไก่?

ปัจจัยต่อไปนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HPV และนำไปสู่การเกิดหูดหงอนไก่ได้มากขึ้น

  • มีความเครียดหรือมีการติดเชื้อไวรัสอื่นๆ เช่น ไวรัสโรคเริม (Herpes)

  • มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอจากการใช้ยาหรือเป็นโรคอื่นๆ เช่น เบาหวาน โรคติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคเอดส์

  • มีพฤติกกรรมสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์

  • เริ่มมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย หรือมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกันกับคู่นอนหลายคน

  • เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โรคอื่น

  • ทารกที่แม่ติดเชื้อ HPV ขณะคลอด

ภาวะแทรกซ้อนของโรคหูดหงอนไก่

การติดเชื้อ HPV เป็นเวลานานเป็นหนึ่งนปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ โดยข้อมูลจากหน่วยงานป้องกันโรคติดต่อในสหรัฐอเมริกา (CDC) พบว่าการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งชนิดต่างๆ ในอัตราส่วนดังต่อไปนี้

  • 91% ของมะเร็งทวารหนัก

  • 75% ของมะเร็งช่องคลอด

  • 72% ของมะเร็งในคอหอย (รวมถึงบริเวณฐานของลิ้นและต่อมทอนซิล)

  • 69% ของมะเร็งบริเวณแคมใหญ่

  • 63% ของมะเร็งองคชาต

อย่างไรก็ตามความเกี่ยวข้องดังกล่าวนี้ไม่ได้หมายความว่า HPV ทำให้เกิดมะเร็งเหล่านี้ โดย CDC กล่าวว่ามะเร็งเหล่านี้ส่วนใหญ่มีความเกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ 

ที่สำคัญก็คือชนิดสายพันธ์ุของเชื้อ HPV ที่ทำให้เกิดหูดหงอนไก่นั้นแตกต่างจากชนิดที่ทำให้เกิดมะเร็ง แต่ถึงอย่างนั้นหากคุณมีหูดหงอนไก่ คุณก็ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งดังข้างต้นเพื่อป้องกันเอาไว้ เนื่องจากคุณก็อาจจะมีการติดเชื้อ HPV ชนิดที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ เช่น สายพันธุ์ 16 และ 18

การรักษาหูดหงอนไก่

วิธีการรักษาหูดหงอนไก่คือการใช้ยา และการผ่าตัด ซึ่งจะเลือกใช้วิธีใดก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ บางครั้งหูดหงอนไก่ที่เห็นชัดเจนสามารถหายเองได้ หากร่างกายประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับเชื้อไวรัส HPV แต่อาจยังเหลือรอยโรคอยู่บ้าง 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจ STD วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 97 บาท ลดสูงสุด 76%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

หรือบางรายก็มีขนาดของหูดใหญ่ขึ้น หรือตัวหูดเพิ่มจำนวนขึ้น หากคุณเป็นหูดหงอนไก่และรู้สึกไม่สบายตัว หรือต้องการให้รอยโรคนั้นจางหายไป คุณอาจต้องรักษากับแพทย์ผิวหนังด้วย  

การใช้ยารักษาหูดหงอนไก่

มียาทาหลายชนิดที่สามารถช่วยคุณให้หายจากหูดหงอนไก่ได้ ยาบางชนิดสามารถนำกลับไปทาที่บ้านได้

  • Condylox (Podophyllin และ Podofilox) เป็นยาที่สังเคราะห์มาจากพืช มีฤทธิ์ช่วยต่อต้านการแบ่งตัวของเซลล์เนื้อเยื่อหูดหงอนไก่ ซึ่งจะช่วยหยุดการเจริญเติบโตของหูด และทำให้หูดหลุดออกมาในที่สุด โดยแพทย์จะเป็นผู้ป้ายยา Podophyllin บนหูดหงอนไก่ เพื่อให้มั่นใจว่ายาตัวนี้ถูกใช้อย่างถูกต้องและไม่ซึมเข้าสู่ผิวหนัง ส่วนยา Podofilox นั้นก็มีสารประกอบเหมือนกับ Podophyllin แต่จะมีความปลอดภัยและสามารถใช้ทาเองที่บ้านได้

  • Imiquimod (Aldara, Zyclara) เป็นยาช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันเพื่อให้ร่างกายของคุณมีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับหูดหงอนไก่ (รวมถึงโรคผิวหนังชนิดอื่นๆ) ยาตัวนี้สามารถใช้ทาเองที่บ้านอย่างปลอดภัย แต่อาจใช้เวลานานหลายสัปดาห์กว่าอาการของโรคจะดีขึ้น และอาจมีผลข้างเคียงเป็นรอยแดง และอาการระคายเคืองบริเวณผิวหนังที่ทายา

  • Veregen (sinecatechins) เป็นสารสกัดจากชาเขียวที่ใช้ในการรักษาหูดหงอนไก่ด้วยตนเองที่บ้าน แต่การศึกษาทางคลินิกยังไม่สามารถยืนยันถึงประสิทธิภาพหรือความปลอดภัยของขี้ผึ้งตัวนี้ เมื่อเทียบกับยาทาหูดหงอนไก่ตัวอื่นๆ ตามรายงานของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ยา Veregen สามารถก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางผิวหนังมากมายและไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือผู้ป่วยโรคเอดส์ 

  • กรดไตรคลอโรอะเซติก (Trichloroacetic acid) และกรดไบคลอโรอะเซติก (Bichloroacetic acid) มีฤทธิ์ทางปฏิกิริยาเคมีโดยการทำลายโปรตีนภายในตัวหูด ยาเหล่านี้อาจส่งผลให้เนื้อเยื่อที่ดีถูกทำลายได้ จึงควรใช้โดยแพทย์เท่านั้น

การผ่าตัดและการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ

นอกจากการใช้ยาแล้ว ยังมีวิธีการผ่าตัดหลายประเภทซึ่งสามารถนำหูดหงอนไก่ออกได้ เช่น 

  • การบำบัดด้วยความเย็นจัด (Cryotherapy) ซึ่งจะมีการใช้ไนโตรเจนเหลวแช่แข็งหูดหงอนไก่เพื่อทำลายเนื้อเยื่อในตัวหูด วิธีนี้อาจก่อให้เกิดแผลพุพองและมีอาการเจ็บปวดเกิดขึ้นชั่วคราวในบริเวณที่ทำ จนกว่าผิวหนังจะฟื้นตัว

  • การใช้เครื่องจี้ไฟฟ้า (Electrosurgery หรือ electrocautery) เป็นการใช้กระแสไฟฟ้าช่วยเผาทำลายหูด บางครั้งแพทย์อาจจะใช้วิธีนี้ร่วมกับการตัดหูด เพื่อทำลายหูดที่มีขนาดใหญ่

    โดยจะตัดเอาหูดส่วนมากออกก่อน จากนั้นจะเผาทำลายหูดส่วนที่เหลือโดยการจี้ด้วยกระแสไฟฟ้า แพทย์ประจำตัวของคุณอาจเลือกใช้วิธีผ่าตัดโดยการเผาหูดด้วยแสงเลเซอร์ ถ้าการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ นั้นยากเกินไป

  • การผ่าตัดหูดออกด้วยอุปกรณ์การผ่าตัด ใช้ในบางกรณีที่หูดหงอนไก่สามารถตัดออกได้ โดยหลังจากให้ยาชารอบๆ บริเวณที่เกิดหูด แพทย์จะผ่าหูดออก และเย็บแผลให้เรียบร้อย รวมทั้งให้พักฟื้นอย่างเหมาะสม

อย่างไรก็ตามการรักษาหูดหงอนไก่อาจไม่จำเป็นเท่ากับการรักษาอาการติดเชื้อ HPV ที่เป็นต้นเหตุของโรค และมีโอกาสที่จะเกิดหูดหงอนไก่ซ้ำได้อีกในอนาคต แม้ว่าจะได้รับการรักษาเสร็จสิ้นแล้วก็ตาม

มีวิธีการรักษาหูดหงอนไก่ให้หายขาดหรือไม่?

หูดหงอนไก่เกิดจากเชื้อไวรัส HPV ซึ่งไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดการจากติดเชื้อสายพันธ์ุที่ติดไปแล้ว แม้แต่การฉีดวัคซีนก็ป้องกันไม่ได้หากในอดีตเคยติดเชื้อสายพันธุ์นั้นมาก่อน 

อย่างไรก็ตาม เชื้อ HPV หลายๆ สายพันธุ์สามารถหายไปได้เอง และด้วยความตื่นตัวและตระหนักถึงการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส HPV ที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน อัตราการเกิดการติดเชื้อและการเกิดของหูดหงอนไก่จึงมีแนวโน้มที่จะลดน้อยลงในอนาคตอันใกล้

การป้องกันหูดหงอนไก่

หูดหงอนไก่ประมาณ 90% เกิดขึ้นจากเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์ 6 และ 11 ซึ่งการวัคซีนป้องกันไวรัส HPV ชนิด 2 สายพันธ์ุ (สายพันธุ์ 6 และ 11) ตั้งแต่ยังอายุน้อย (9 ปี) ทั้งในชายและหญิง สามารถช่วยปกป้องคุณจากไวรัสทั้ง 2 ชนิดนี้ได้ แต่ก็ไม่ได้ช่วยป้องกันได้ 100% เพราะยังมีสายพันธ์ุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดหูดหงอนไก่ได้ แต่ก็พบเป็นส่วนน้อย 

นอกจากนี้การปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิตตามคำแนะนำต่อไปนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ควรกระทำไปพร้อมๆ กัน 

  • ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ แต่อย่าลืมว่าถุงยางอนามัยไม่สามารถป้องกันเชื้อ HPV ได้ 100% เพราะเชื้อไวรัสและหูดอาจเกิดขึ้นรอบๆ ผิวหนังภายนอกของคุณได้

  • ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อยหรือมีเพศสัมพันธ์แบบไม่เลือกหน้า

  • หลีกเลี่ยงคู่นอนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศสูง เช่น มีคู่นอนหลายคน หรือยอมมีเพศสัมพันธ์เพื่อเงินหรือยาเสพติด

  • ลด ละ เลิก การสูบบุหรี่ และการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดหูดหงอนไก่ได้

คำถามจากผู้ป่วยเกี่ยวกับหูดหงอนไก่

1. ถ้าเราไม่แน่ใจว่าเราเป็นอะไร เลยกลัวว่าจะเป็นหูดหงอนไก่หรือเปล่า อาการก็ปกติไม่มีไข้ ปวดหัว หรือคันตรงช่องคลอด แต่ว่ามีเหมือนก้อนเนื้อยื่นออกมา แต่เป็นก้อนเล็กมาก 2 จุด อยากทราบว่าจะเป็นอะไรหรือเปล่าคะ 

คำตอบ: หูดหงอนไก่จะขึ้นเป็นติ่งเนื้องอกอ่อนๆ มีสีชมพูหรือสีเนื้อ ผิวอาจขรุขระ และมีหลายขนาดตั้งแต่เล็กไปจนถึงหูดที่รวมตัวเป็นกลุ่มคล้ายหงอนไก่ และในบางคนก็ไม่มีอาการอื่นๆ หรืออาการคันแต่อย่างใด ดังนั้นควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจให้แน่ใจดีกว่า - ตอบโดย นิชดา พงษ์ธัญญกรณ์ (พญ.)

2. ต้องทำยังไงถึงจะไม่กลับมาเป็นหูดหงอนไก่อีกในระยะยาว แล้วมีอาหารอะไรที่ผิดกับโรคบ้าง

คำตอบ 1: การรักษาหูดหงอนไก่ที่ดีคือการป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัส HPV เข้าสู่ร่างกาย โดยการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์

จะช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัส HPV ได้ นอกจากนี้ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV ที่มีชื่อว่าการ์ดาซิล (Gardasil) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันได้ทั้งโรคหูดหงอนไก่และโรคมะเร็งปากมดลูกค่ะ - ตอบโดย วลีรักษ์ จันทร (พว.)

คำตอบ 2: หูดหงอนไก่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาโรคหูดหงอนไก่จะทำก็ต่อเมื่อหูดสร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ป่วย ซึ่งในระหว่างการรักษา 

ผู้ป่วยสามารถบรรเทาอาการเจ็บปวดได้ด้วยการรักษาความสะอาดและพยายามให้บริเวณแผลแห้งอยู่เสมอ อีกทั้งยังควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสที่บริเวณหูดด้วยมือหรือเช็ดด้วยผ้า เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบหรือระคายเคืองเพิ่มขึ้น และหลีกเลี่ยงการซื้อยามาใช้เองจะดีที่สุด 

ในการรักษาทางการแพทย์ หากขนาดของหูดไม่ใหญ่มากนัก แพทย์จะสั่งยาชนิดทาให้ผู้ป่วยใช้ทาบรรเทาอาการและช่วยให้หูดหงอนไก่หลุดออกไป ทว่าการใช้ยาก็มีผลข้างเคียงหลายอย่าง และอาจทำให้รู้สึกเจ็บที่แผลได้ 

ดังนั้นจึงควรใช้ยาตามชนิดและปริมาณที่แพทย์สั่งเท่านั้น นอกจากนี้การรักษาด้วยการผ่าตัดก็เป็นการรักษาอีกวิธีที่ดีและเห็นผลรวดเร็ว ซึ่งในปัจจุบันการผ่าตัดที่นิยมใช้ ได้แก่ การจี้ด้วยความเย็น การจี้ด้วยไฟฟ้า การผ่าตัดหูดออก และการรักษาด้วยเลเซอร์ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง 

แต่การรักษาด้วยวิธีผ่าตัดนี้จะไม่สามารถทำให้หายขาดได้ และอาจต้องรักษาซ้ำจนกว่าจะได้ผลที่น่าพึงพอใจ - ตอบโดย DR. somsong Nillprayoon (นพ.)

คำตอบ 3: หูดหงอนไก่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การรักษาเพื่อบรรเทาอาการมีตั้งแต่การใช้ยาทา การจี้ด้วยเย็น การใช้เลเซอร์ และการผ่าตัด วิธีป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำคือการป้องกันไม่ให้ร่างกายติดเชื้อซ้ำ โดยการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ และฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวี ชนิดการ์ดาซิล (Gardasil) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันได้ทั้งโรคหูดหงอนไก่และโรคมะเร็งปากมดลูก - ตอบโดย ศิรินทิพย์ ผอมน้อย (นักจิตวิทยาคลินิก)

3. เป็นหูดหงอนไก่ ติดมาจากแฟน ช่วยแนะนำยาและวิธีการรักษาให้หน่อย

คำตอบ: โรคหูดหงอนไก่รักษาได้ด้วยการใช้ยาและการผ่าตัด แต่หมอขอแนะนำให้คุณไปตรวจภายในกับแพทย์ก่อน 

ซึ่งจะได้ดูความรุนแรงและตำแหน่งของรอยโรคได้ว่าจะต้องใช้การรักษาด้วยวิธีใดถึงจะเหมาะสม และการรักษาโรคนี้ต้องรักษาโดยการจี้หูดด้วยยา Podophyllin หรือยา Trichloroacetic acid (TCA) ที่ความเข้มต่างๆ 

และจะต้องจี้ยาต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้งหากรอยโรคอยู่ลึกมาก ทั้งนี้การจี้ยาด้วยตัวเองอาจมีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก เช่น อาการแสบร้อนจากยาที่ใช้จี้ ทางที่ดีจึงควรรับการรักษาโดยแพทย์ 

หากใช้ยาแล้วไม่ดีขึ้น แพทย์อาจจะใช้การจี้ไฟฟ้า และตรวจหาการติดเชื้อในโรคกลุ่มติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ร่วมด้วย เนื่องจากโรคอื่นๆ อาจมีผลต่ออาการและการรักษาโรคหูดหงอนไก่ได้ - ตอบโดย รัตน์พล อ่ำอำไพ (นพ.)

4. มีตกขาวเยอะมาก รู้สึกฮอร์โมนเปลี่ยนไปตั้งแต่ฝังยาคุมใต้ท้องแขน ล่าสุดหมอบอกมีเชื้อ Hpv เป็นหูดหงอนไก่ วันนั้นเลยตรวจเลือดและตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยเลย ตอนนี้กำลังรอฟังผลอยู่ และประจำเดือนไม่มา อยากรบกวนสอบถามคุณหมอว่าพอมียาอะไรแนะนำให้ประจำเดือนมารึเปล่า หรือจะไม่มีประจำเดือนเลยในช่วงที่ฝังยา

คำตอบ: ยาฝังคุมกำเนิดเป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพดีมาก โอกาสตั้งครรภ์มีแค่ 0.05% แต่เนื่องจากเป็นยาฮอร์โมน ดังนั้นจึงมีฤทธิ์ของฮอร์โมนต่อผู้ใช้ได้ การที่ประจำเดือนไม่มาก็เป็นหนึ่งในผลของยา 

ซึ่งไม่ใช่ผลเสียและไม่ทำให้สุขภาพของเราในระยะยาวนั้นผิดปกติแต่อย่างใด หากเลิกใช้ยาฝังคุมกำเนิด ประจำเดือนก็จะกลับมาเป็นปกติ 

ส่วนผลข้างเคียงอื่นๆ ได้แก่ ในระยะเวลา 2-3 เดือนแรก ประจำเดือนอาจมาไม่สม่ำเสมอ ประจำเดือนมาแบบกะปริบกะปรอย หรือตกขาวมาก ซึ่งเป็นอาการที่พบได้มากที่สุด หรือในบางรายประจำเดือนมามากติดต่อกันหลายวัน ไม่มีประจำเดือน หรือประจำเดือนขาดไปเลยก็มี 

บางรายอาจมีอาการปวดท้องน้อยและปวดประจำเดือนบ้างในระยะ 2-3 เดือนแรก ในระยะแรกอาจมีอาการปวดแขนบริเวณที่ฝังแท่งยาคุมกำเนิด แผลที่ฝังยาคุมกำเนิดอาจเกิดการอักเสบหรือมีรอยแผลเป็นได้ มีอารมณ์แปรปรวน มีอาการปวดหรือเจ็บเต้านม บางรายอาจมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น (แต่ปัจจัยหลักคืออาหาร ถ้าควบคุมอาหารได้ก็ไม่มีปัญหาอะไร) 

อาจทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ หากเกิดการตั้งครรภ์ขึ้น จะมีโอกาสตั้งครรภ์นอกมดลูกได้มากกว่าปกติ 

ผลข้างเคียงเหล่านี้ เมื่อเทียบกับประสิทธิภาพของการคุมกำเนิดแล้ว ถือว่าคุ้มค่ามาก การแก้ไขเรื่องประจำเดือนไม่มานั้นไม่จำเป็น เนื่องจากเป็นผลของยาอยู่แล้ว แต่ที่ต้องแก้ไขคือพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศของคุณ หรือของคู่นอน (แฟน) ของคุณ 

เนื่องจากหูดหงอนไก่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทางที่ดีควรพาคู่นอนทุกคนมาตรวจหาหูดหงอนไก่ จะได้รับการรักษาไปพร้อมกัน และเลิกพฤติกรรมสำส่อน หากทั้งสองคนไม่มีพฤติกรรมสำส่อน ก็อาจติดจากการเข้าห้องน้ำได้ ในกรณีที่เข้าห้องน้ำสาธารณะ 

และอย่าลืมรักษาความสะอาดของตนเองให้เป็นอย่างดีด้วย - ตอบโดย ประสิทธิ์ วิริยะกิจไพบูลย์ (นพ.)

5. อยากทราบว่าในกรณีที่เป็นหูดหงอนไก่แล้ว จะต้องพบแพทย์และผ่าตัด แต่ไม่มีประกันสังคม ไม่มีบัตรทอง เราจะต้องเริ่มต้นยังไงและจะเสียค่าใช้จ่ายเท่าไรคะ 

คำตอบ: คนไทยทุกคนมีสิทธิ์เข้ารับการรักษาพยาบาล โดยใช้สิทธิ์ใดสิทธิ์หนึ่ง ดังนี้ 

  1. สิทธิ์ข้าราชการ หรือ บิดา มารดา บุตร ของข้าราชการ 

  2. สิทธิ์ประกันสังคม 

  3. สิทธิ์ประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือ บัตรทอง "ผู้มีสิทธิ์ได้รับบัตรทองคือประชาชนคนไทยทุกคนที่ยังไม่มีสิทธิใดๆ จากหลักประกันอื่น หรือหากไม่ต้องการใช้สิทธิ์ใดๆ เลยก็ย่อมได้ เช่น จ่ายเงินรักษาเองในโรงพยาบาลเอกชน คลินิก หรือสถานบริการเอกชน 

ทั้งนี้ค่ารักษาพยาบาลในแต่ละโรคก็แตกต่างกันไป โดยทั่วไป ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน คลินิก หรือสถานบริการเอกชนจะแพงกว่าโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลของรัฐบาล ผู้ป่วยสามารถสอบถามค่ารักษาพยาบาลก่อนเข้ารับการรักษาหรือบริการต่างๆ ได้ - ตอบโดย Dr.Chaiwat J.(หมอเปี๊ยก) (นพ.)

6. ผมเป็นหูดหงอนไก่สามารถซื้อยามาทาเองได้ไหม คือเคยเป็นมาแล้ว แต่ครั้งนี้ไม่อยากไปโรงพยาบาล

คำตอบ: ยาที่สามารถซื้อมาทาเองได้จากร้านขายยาทั่วไป ได้แก่ Podofilox gel, Imiquimod cream, Sinecatechin ointment  แต่หากไม่หายควรไปพบแพทย์ - ตอบโดย นิชดา พงษ์ธัญญกรณ์ (พญ.)


30 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Genital Warts (HPV) (for Teens). Nemours KidsHealth. (https://kidshealth.org/en/teens/std-warts.html)
Genital Warts (HPV): Treatment, Symptoms, Pictures & Causes. eMedicineHealth. (https://www.emedicinehealth.com/genital_warts/article_em.htm)
Genital Warts | HPV | Human Papillomavirus. MedlinePlus. (https://medlineplus.gov/genitalwarts.html)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

ดูคำถามและคำตอบอื่นๆ ที่เกี่ยวกับอาการนี้
หูดหงอนไก่ต้องทำยังไงถึงจะไม่กลับมาเป็นอีกในระยะยาวคะ แล้วมีอาหารอะไรที่ผิดกับโรคบ้าง
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
ผมเป็นหูดหงอนไก่สามารถซื้อยามาทาเองได้มั้ยคับ คือเคยเป็นมาแล้ว แต่ครั้งนี้ไม่อยากไปโรงพยาบาลครับ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)