แวนโคไมซิน (Vancomycin) เป็นยาในกลุ่มยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการรักษากันเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกหลายชนิด รวมถึงรักษาอาการติดเชื้อผิวหนังโดยมีภาวะแทรกซ้อน ซึ่งมักนิยมฉีดโดยใช้วิธีฉีดเข้าหลอดเลือดดำ รวมถึงเพื่อรักษาภาวะอื่นๆ ด้วย เช่น
- การติดเชื้อในกระแสเลือด
- ภาวะเยื่อบุหัวใจอักเสบ
- การติดเชื้อที่กระดูก และข้อ
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบที่เกิดจากเชื้อสตาฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureuas) ที่ดื้อต่อการใช้ยา methicillin
นอกจากนี้ แพทย์ยังมักนิยมใช้ยาในรูปแบบรับประทานเพื่อรักษาโรคลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อคลอสไทรเดียม ดิฟิฟายล์ (Clostridium difficile) ระดับรุนแรง แต่การใช้ยาโดยวิธีรับประทาน จะมีการดูดซึมยาเพื่อนำไปใช้ได้น้อยกว่า
โปรแกรมตรวจสุขภาพวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 99 บาท ลดสูงสุด 96%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
ยา Vancomycin ถูกสกัดแยกครั้งแรกในปีค.ศ. 1953 โดย Edmund Kornfeld จากตัวอย่างดินที่เก็บได้จากป่าในประเทศบอเนียว
ตัวอย่างยี่ห้อของยา Vancomycin ที่มีจำหน่ายในประเทศไทย
ชื่อยี่ห้อ | บริษัทผู้ผลิต |
Edicin - ยาฉีด รูปแบบ infusion ขนาด 500 มิลลิกรัม |
Sandoz |
Vancin-S - ยาฉีด ขนาด 500 มิลลิกรัม - ยาฉีด ขนาด 1 กรัม |
Siam Bheasach |
Vancocid - ยาฉีด ขนาด 500 มิลลิกรัม |
Milimed |
Vancomycin CJ - ยาฉีด ขนาด 1 กรัม |
BJC |
Vancogen - ยาฉีด ขนาด 1 กรัม |
บริษัท แคสป้า ฟาร์มาซูติคอล (ประเทศไทย) จำกัด |
Vancomycin hydrochloride for injection usp (lyophilised) - ยาฉีด ขนาด 500 มิลลิกรัม |
Atlanta Medicare |
Vancolon - ยาฉีด ขนาด 500 มิลลิกรัม |
บริษัท ฐิติรัตน์สานนท์ จำกัด |
Celovan - ยาฉีด ขนาด 500 มิลลิกรัม |
ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภิญโญฟาร์มาซี |
Vancin-S - ยาฉีด ขนาด 1 กรัม |
Pfizer |
โรค และอาการที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยานี้บรรเทา
- ข้อบ่งใช้สำหรับป้องกันเยื่อบุหัวใจอักเสบ
- ข้อบ่งใช้สำหรับการติดเชื้อ staphylococcus อย่างรุนแรง หรือเชื้อแกรมบวกอื่น
- ข้อบ่งใช้สำหรับการติดเชื้อแบคทีเรียที่เยื่อบุหัวใจ
- ข้อบ่งใช้สำหรับลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อ staphylococcus
- ข้อบ่งใช้สำหรับอาการท้องเสียจากการติดเชื้อ และลำไส้อักเสบ
กลไกการออกฤทธิ์ของยา Vancomycin
กลไกการออกฤทธิ์ของยาคือ Vancomycin เป็นยากลุ่มยาต้านเชื้อแบคทีเรีย การออกฤทธิ์ของมันเกิดขึ้นโดยจับกับดี-อะลานิล-ดี-อะลานิน (D-alanyl-D-alanine) ซึ่งเป็นองค์ประกอบตั้งต้นสำคัญในการสร้างผนังเซลล์
เมื่อเกิดการจับตัวกัน จึงทำให้เกิดการยับยั้งกระบวนการพอลิเมอไรเซชัน (polymerization) ของไกลโคเพปไทด์ (glycopeptide) ซึ่งนำไปสู่การยับยั้งกระบวนการสังเคราะห์ผนังเซลล์ และยังแวนโคไมซินยังมีฤทธิ์ในการทำลายเยื่อหุ้มเซลล์ของแบคทีเรีย
ข้อบ่งใช้ของยา Vancomycin
ข้อบ่งใช้สำหรับป้องกันเยื่อบุหัวใจอักเสบ
- ยาในรูปแบบยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ
- ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ 1 กรัมก่อนดมยาสลบ และอาจให้ยาในขนาด 1 กรัม 12 ชั่วโมงหลังจากการผ่าตัด
ข้อบ่งใช้สำหรับการติดเชื้อ staphylococcus รุนแรง หรือเชื้อแกรมบวกอื่น
- ยาในรูปแบบยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ
- ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ บริหารแบบ infusion 500 มิลลิกรัม ทุก 6 ชั่วโมง ระยะเวลาที่ใช้ในการบริหารยาอย่างน้อย 60 นาที หรือขนาด 1 กรัม ทุก 12 ชั่วโมง ระยะเวลาที่ใช้ในการบริหารยาอย่างน้อย 100 นาที
- ขนาดการใช้ยาในผู้สูงอายุ จำเป็นต้องมีการปรับขนาดยา
ข้อบ่งใช้สำหรับการติดเชื้อแบคทีเรียที่เยื่อบุหัวใจ
- ยาในรูปแบบยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ
- ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ 1 กรัม ทุก 12 ชั่วโมงเป็นเวลา 4 ถึง 6 สัปดาห์ อาจใช้เป็นยาเดี่ยว หรือร่วมกับยาปฏิชีวนะอื่น
- ขนาดการใช้ยาในผู้สูงอายุ จำเป็นต้องมีการปรับขนาดยา
ข้อบ่งใช้สำหรับลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อ staphylococcus
- ยาในรูปแบบยารับประทาน
- ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ 0.5 ถึง 2 กรัมต่อวันแบ่งให้ยาสามถึงสี่ครั้ง เป็นเวลา 7 ถึง 10 วัน
- ขนาดการใช้ยาในเด็ก 40 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน แบ่งให้ยาสามถึงสี่ครั้ง เป็นเวลา 7 ถึง 10 วันขนาดยาสูงสุด 2 กรัมต่อวัน
- ขนาดการใช้ยาในผู้สูงอายุ จำเป็นต้องมีการปรับขนาดยา
ข้อบ่งใช้สำหรับอาการท้องเสียจากการติดเชื้อ และลำไส้อักเสบ
- ยาในรูปแบบยารับประทาน
- ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ 125 มิลลิกรัม วันละสี่ครั้ง เป็นเวลา 7 ถึง 10 วัน
- ขนาดการใช้ยาในเด็ก 40 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน แบ่งให้ยาสามถึงสี่ครั้ง เป็นเวลา 7 ถึง 10 วัน ขนาดยาสูงสุด 2 กรัมต่อวัน
- ขนาดการใช้ยาในผู้สูงอายุ จำเป็นต้องมีการปรับขนาดยา
ข้อปฏิบัติเมื่อลืมรับประทานยา Vancomycin
- ในกรณีลืมรับประทานยาตามเวลาปกติที่รับประทาน ถ้าปกติรับประทาน 1 เม็ด ให้รับประทานยาทันทีที่นึกได้จำนวน 1 เม็ดโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เม็ดแทนเม็ดที่ลืมรับประทาน
- ในกรณีลืมรับประทานยาใกล้กับเวลารับประทานถัดไป ให้รับประทานยาในมื้อถัดไปในขนาด 1 เม็ด โดยข้ามยาในมื้อที่ลืมไป และไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เม็ด
ข้อควรระวังของการใช้ยา Vancomycin
- ไม่ใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่แพ้ยาแวนโคไมซิน
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่แพ้ยาไทโคพลานิน (teicoplanin)
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีการสูญเสียการได้ยินมาก่อนหน้านี้
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีภาวะลำไส้อักเสบ
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคไต
- ระวังการใช้ยานี้ในสตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร และในผู้ป่วยสูงอายุ
- ติดตามการได้ยินเสียงในระหว่างการใช้ยานี้
ผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา Vancomycin
ยานี้อาจก่อให้เกิดอาการอันไม่พึงประสงค์ ได้แก่
- กลุ่มอาการ Red-man syndrome ซึ่งมีอาการ คือ ผิวหนังร้อนแดง เกิดทั่วบริเวณใบหน้า และบริเวณลำตัวส่วนบน อาจมีอาการร่วมกับภาวะความดันโลหิตต่ำ และเกิดกลุ่มอาการคล้ายอาการช็อก
- อาการแพ้แบบ Steven Johnson syndrome
- หลอดเลือดอักเสบ
- อาการแพ้ยาแบบ DRESS
- นิวโทรฟิลต่ำอีโอสิโนฟิลต่ำ
- เกล็ดเลือดต่ำ
- เป็นพิษต่อหู
- เป็นพิษต่อไต
- หลอดเลือดดำผิวอักเสบ
- รบกวนการทำงานของระบบทางเดินอาหาร
- เกิดอาการอันไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง ได้แก่ อาการติดเชื้อ Pseudomembrane Colitis (PMC) ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาปฏิชีวนะ
ข้อมูลการใช้ยา Vancomycin ในสตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร
สำหรับการใช้ยาในสตรีมีครรภ์ ตัวยาจัดอยู่ในกลุ่ม category B คือ ยาค่อนข้างมีความปลอดภัยในการใช้ยาในสตรีมีครรภ์ และยาฉีดจัดอยู่ในกลุ่ม Category C
ประเภทของยาตามองค์การอาหารและยาในประเทศไทย
ยาจัดอยู่ในกลุ่มยาอันตราย จำหน่ายเฉพาะในร้านขายยาแผนปัจจุบันที่มีเภสัชกรชั้นหนึ่งเป็นผู้จ่ายยาเท่านั้น
ข้อมูลการเก็บรักษายา Vancomycin
- ยาในรูปแบบยาแคปซูล เก็บที่อุณหภูมิระหว่าง 15 ถึง 30 องศาเซลเซียส
- ยาในรูปแบบยาผงสำหรับละลาย เก็บที่อุณหภูมิระหว่าง 2 ถึง 8 องศาเซลเซียส
สิ่งที่ควรแจ้งแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลในการสั่งใช้ยา
แพทย์ และเภสัชกรสามารถให้ข้อมูลการใช้ยาอย่างปลอดภัย ผู้ป่วยควรแจ้งข้อมูลเหล่านี้แก่แพทย์ หรือเภสัชกรเพื่อประโยชน์ต่อผู้ป่วย และลดความเสี่ยงในการเกิดอันตรายจากการใช้ยา
- แจ้งข้อมูลการใช้ยารักษาโรคประจำตัว ยาที่เพิ่งรับประทานก่อนหน้านี้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่รับประทาน (รวมถึงวิตามิน และสมุนไพร)
ในกรณีมียาประจำตัวจำนวนมาก ให้พกยาเพื่อให้แพทย์หรือเภสัชกรช่วยตรวจสอบก่อนสั่งจ่ายยาใหม่ ไม่ให้เกิดอันตรกิริยาระหว่างยาที่จะได้รับใหม่ และยาที่เดิมที่ผู้ป่วยใช้อยู่ - แจ้งประวัติการแพ้ยา หรืออาการแพ้ที่เกิดขึ้นเมื่อใช้ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือแพ้อาหารชนิดใดอยู่ (เนื่องจากยาบางชนิดมีส่วนประกอบของไข่ขาว นม ยีสต์)
โดยตัวอย่างอาการแพ้ยาที่เกิดขึ้น เช่น อาการบวม เกิดผื่น หายใจลำบาก หรือให้นำบัตรแพ้ยา พกติดตัว และแสดงบัตรนี้แก่แพทย์ หรือเภสัชกรก่อนเข้าใช้บริการสุขภาพทุกครั้ง - แจ้งข้อมูลในกรณีที่มีการตั้งครรภ์ หรือมีแผนที่จะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจากยาบางชนิดส่งผลอันตรายต่อเด็กในครรภ์ หรือสามารถขับออกทางน้ำนมได้
- แจ้งข้อมูลที่จะส่งผลต่อการรับประทานยา เช่น มีปัญหาการกลืนลำบาก มีปัญหาด้านการมองเห็น หรืออ่านฉลากยา วิธีการรับประทานยา เพื่อแพทย์หรือเภสัชกรจะได้ช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง
เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพผู้หญิง ผู้ชายทั่วไป จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android