มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นกับระบบน้ำเหลืองของร่างกาย ซึ่งเกิดจากการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนที่ผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ ซึ่งเป็นเม็ดเลือดขาวที่อยู่ในระบบน้ำเหลือง พบโรคมะเร็งชนิดนี้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย โดยสามารถรักษามะเร็งชนิดนี้ด้วยการใช้ยาเคมีบำบัด การใช้รังสีรักษา และการรักษาโดยการให้ยาเจาะจงเซลล์มะเร็ง หรือเรียกว่า monoclonal antibody therapy
บทนำโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน
มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน เป็นมะเร็งที่เกิดกับระบบน้ำเหลือง (lymphatic system) ที่ประกอบไปด้วยท่อน้ำเหลืองและต่อมน้ำเหลืองกระจายอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ระบบน้ำเหลืองเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกัน ของเหลวใสที่เรียกว่าน้ำเหลืองจะไหลผ่านตามท่อน้ำเหลือง ประกอบด้วยเซลล์เม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ (lymphocytes) ซึ่งมีหน้าที่ต่อสู้กับการติดเชื้อ
ในผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน เม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ที่ได้รับผลกระทบจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนอย่างผิดปกติ และมีการสะสมภายในระบบน้ำเหลือง เช่น ภายในต่อมน้ำเหลือง ซึ่งเม็ดเลือดขาวเหล่านี้จะสูญเสียความสามารถในการต่อสู้กับการติดเชื้อ ทำให้คุณมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อง่ายกว่าคนปกติ
อาการที่พบได้บ่อยที่สุดของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน คือ ต่อมน้ำเหลืองโต (ไม่เจ็บ) โดยมักพบที่คอ รักแร้ หรือที่ขาหนีบ
ใครบ้างที่ได้รับผลกระทบจากโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน
ในประเทศสหราชอาณาจักร พบผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินมากกว่าปีละ 12,000 ราย
สำหรับประเทศไทยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินเป็นมะเร็งโลหิตวิทยาชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อย
สามารถพบโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน ได้ทุกช่วงอายุ แต่โอกาสที่จะเป็นโรคนี้จะสูงขึ้นถ้าคุณมีอายุมากขึ้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้รับการวินิจฉัยโรคนี้เมื่ออายุมากกว่า 65 ปี และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย
ตรวจมะเร็งทั่วไปวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 340 บาท ลดสูงสุด 64%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
อะไรคือสาเหตุของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน?
สาเหตุของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด อย่างไรก็ตามคุณจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้มากขึ้นถ้าคุณ:
- เป็นโรคที่ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
- ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน (immunosuppressant medication)
- เคยติดเชื้อไวรัส Epstein-Barr virus (EBV)
นอกจากนี้คุณยังมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินมากขึ้นเล็กน้อยหากญาติในลำดับติดกับคุณเป็นโรคนี้ เช่น พ่อแม่ หรือ พี่น้อง
จะวินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินได้อย่างไร?
วิธีเดียวที่จะยืนยันการวินิจฉัยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินได้ก็คือการทำการตรวจชิ้นเนื้อ (biopsy)
การนำเนื้อเยื่อไปตรวจนี้เป็นการผ่าตัดเล็ก ซึ่งจะมีการนำตัวอย่างของเนื้อเยื่อต่อมน้ำเหลืองที่ได้รับผลกระทบออกไปตรวจในห้องปฏิบัติการ
การพยากรณ์โรค/อนาคตของผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน
ปัจจุบันมีการแบ่งมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินออกเป็นหลายชนิดย่อย แต่โดยทั่วไปสามารถจัดได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ ได้แก่:
- มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินชนิดเกรดสูง หรือชนิดรุนแรง (high-grade or aggressive non-Hodgkin lymphoma) ซึ่งเป็นชนิดที่มีการลุกลามของโรคอย่างรวดเร็ว และรุนแรง
- มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินชนิดเกรดต่ำ หรือ ชนิดลุกลามช้า (indolent non-Hodgkin lymphoma) ซึ่งมีการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งอย่างช้าๆ และคุณอาจไม่มีอาการใดๆ เลยเป็นเวลาหลายปี
การพยากรณ์โรค/อนาคตของผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินมีความแตกต่างกันมาก ขึ้นกับชนิดของมะเร็งที่กำลังเป็น, ขึ้นกับเกรดของโรคมะเร็ง และขึ้นกับการแพร่กระจายของโรค รวมถึงอายุของผู้ป่วย
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
มะเร็งชนิดเกรดต่ำ หรือชนิดลุกลามช้ายังไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาทันที แต่มีความยากในการรักษาให้หายขาด ในขณะที่มะเร็งชนิดเกรดสูงจำเป็นต้องได้รับการรักษาทันที แต่มีแนวโน้มที่จะตอบสนองต่อการรักษาดีกว่าและมีโอกาสหายขาด
การรักษาหลักสำหรับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินคือ:
- การใช้ยาเคมีบำบัด
- การใช้รังสีรักษา
- การรักษาโดยการให้ยาเจาะจงเซลล์มะเร็ง (targeted treatment) หรือเรียกว่า monoclonal antibody therapy
ภาพรวมของโรคพบว่าส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินสามารถรักษาได้
อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงในระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการรักษาคือ ภาวะมีบุตรยาก และเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งชนิดอื่นๆ แทน
อาการของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน
อาการที่พบได้บ่อยของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน คือ ต่อมน้ำเหลืองโต (ไม่เจ็บ) มักพบที่บริเวณคอ รักแร้ หรือขาหนีบ
ต่อมน้ำเหลืองคือเนื้อเยื่อมีลักษณะเป็นก้อนขนาดเท่าเมล็ดถั่ว (pea-sized) พบได้ทั่วร่างกาย ภายในต่อมน้ำเหลืองประกอบด้วยเซลล์เม็ดเลือดขาวเพื่อช่วยต่อสู้กับการติดเชื้อ
การโตของต่อมน้ำเหลืองเกิดมาจากการสะสมของเซลล์เม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์อยู่ภายในต่อมน้ำเหลือง
อย่างไรก็ตามแม้ว่าคุณจะมีอาการต่อมน้ำเหลืองโต แต่ก็มีโอกาสน้อยที่จะเกิดจากโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน เพราะต่อมน้ำเหลืองมักโตได้ง่ายจากการตอบสนองต่อการติดเชื้อทั่วไปอยู่แล้ว
อาการอื่นๆ ของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน
ผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินบางรายจะมีอาการทั่วไปอื่นๆ ด้วย ได้แก่:
- เหงื่อออกตอนกลางคืน
- น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ
- มีไข้
- ไอเรื้อรัง หรือ รู้สึกหายใจลำบาก
- คันตามผิวหนังทั่วร่างกายเรื้อรัง
อาการอื่นๆ ที่พบได้จะขึ้นกับว่าต่อมน้ำเหลืองที่โตนั้นอยู่ที่บริเวณใดของร่างกาย ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นช่องท้อง ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดท้อง หรือ อาหารไม่ย่อย ได้
มีผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองจำนวนเล็กน้อยที่พบเซลล์ผิดปกติในไขกระดูกขณะได้รับการวินิจฉัยด้วย ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของอาการดังนี้:
- อ่อนเพลียเรื้อรัง
- มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มขึ้น
- เลือกออกมากผิดปกติ เช่น เลือดกำเดาไหล, มีประจำเดือนมามากผิดปกติ และเห็นจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง
เมื่อไรที่ควรไปพบแพทย์
ให้ไปพบแพทย์หากคุณมีอาการใดๆ ดังกล่าวข้างต้น โดยเฉพาะหากคุณมีอาการต่อมน้ำเหลืองโตเรื้อรังโดยไม่มีอาการแสดงของการติดเชื้อ
แม้ว่าอาการที่เกิดขึ้นมีแนวโน้มน้อยที่จะเกิดจากโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน แต่การเข้ารับการตรวจวินิจฉัยคือวิธีที่ดีที่สุด
สาเหตุของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน
โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลง (การกลายพันธุ์) ภายในดีเอ็นเอ (DNA) ของเซลล์เม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ แต่เหตุผลว่าเพราะอะไรจึงเกิดเหตุการณ์นี้ยังไม่ทราบแน่ชัด
ดีเอ็นเอเป็นตัวกำหนดหน้าที่การทำงานหลักของเซลล์ เช่น เมื่อไรที่เซลล์ต้องเจริญเติบโตและแบ่งตัวเพิ่มจำนวน เมื่อมีการกลายพันธุ์ของดีเอ็นเอทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหน้าที่การทำงานของเซลล์ ดังนั้นเซลล์จึงมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องและไม่สามารถควบคุมได้
เซลล์เม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ที่ผิดปกติมักจะมีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนภายในต่อมน้ำเหลืองตั้งแต่ 1 ต่อมขึ้นไป ซึ่งอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ที่คอ หรือ ขาหนีบ เมื่อเวลาผ่านไป มีโอกาสที่เซลล์เม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ผิดปกติเหล่านี้จะแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เช่น:
- ไขกระดูก
- ม้าม
- ตับ
- ผิวหนัง
- ปอด
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินบางรายอาจเกิดโรคมะเร็งชนิดนี้ครั้งแรกภายในอวัยวะ หรือที่บริเวณอื่นๆ นอกจากระบบน้ำเหลืองก็ได้
ใครบ้างที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน?
แม้ว่าสาเหตุของการเกิดการกลายพันธุ์ของดีเอ็นเอซึ่งกระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัยที่จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน ได้แก่:
- เป็นโรคที่ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ติดเชื้อเอชไอวี (HIV)
- กำลังได้รับยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน เช่น การได้รับยากดภูมิคุ้มกันภายหลังการปลูกถ่ายอวัยวะ
- เป็นโรคทางระบบภูมิคุ้มกัน (autoimmune) เช่น รูมาตอยด์ (rheumatoid)
- เคยมีการติดเชื้อไวรัส Epstein-Barr virus (EBV)
- เคยสัมผัสกับ Human T-cell lymphotropic virus (HTLV)
- กำลังติดเชื้อ Helicobacter pylori – เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อย ซึ่งมักติดเชื้อที่เยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก
- กำลังได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด หรือรังสีรักษา สำหรับมะเร็งในระยะเริ่มต้น
- เป็นโรค coeliac disease – ซึ่งเป็นปฏิกิริยาการแพ้สารกลูเตน (gluten) ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบของลำไส้เล็ก
โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินไม่ใช่โรคติดต่อ และไม่พบการถ่ายทอดระหว่างคนในครอบครัว อย่างไรก็ตามความเสี่ยงของการเป็นโรคนี้อาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อยถ้าญาติในลำดับติดกับคุณเป็นโรคนี้ เช่น พ่อแม่ หรือพี่น้อง
โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินสามารถพบได้ทุกช่วงอายุ แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้รับการวินิจฉัยเมื่ออายุมากกว่า 65 ปี และโรคนี้พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย
การวินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน
หากคุณไปพบแพทย์เพราะคุณมีความกังวลเกี่ยวกับอาการของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน แพทย์จะสอบถามเกี่ยวกับสุขภาพของคุณ และทำการตรวจร่างกายให้กับคุณ
หากมีความจำเป็นแพทย์จะส่งต่อคุณไปรับการตรวจอย่างเหมาะสมต่อไป
หากคุณได้รับการสงสัยว่าเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน คุณมักจะได้รับการทำการตรวจชิ้นเนื้อ (biopsy) เพราะเป็นวิธีเดียวที่จะยืนยันการวินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินได้
การตรวจชิ้นเนื้อ (biopsy)
การตรวจชิ้นเนื้อคือการนำตัดบางส่วนของต่อมน้ำเหลือง หรือตัดต่อมน้ำเหลืองทั้งหมดออกมาตรวจในห้องปฏิบัติการ
การทำการตรวจชิ้นเนื้อเป็นหัตถการทางการแพทย์ขนาดเล็ก ซึ่งสามารถทำภายใต้การใช้ยาชาเฉพาะที่ได้ ทำให้บริเวณที่ทำมีอาการชา ในบางกรณีต่อมน้ำเหลืองที่ได้รับผลกระทบจากโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินมีความยากต่อการเข้าถึง แพทย์จะพิจารณาใช้ยาสลบเพื่อทำการตัดเอาต่อมน้ำเหลืองนั้นมาตรวจ
เมื่อได้ตัวอย่างชิ้นเนื้อมาแล้ว พยาธิแพทย์ (ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจโรคจากเนื้อเยื่อ) จะนำชิ้นเนื้อเยื่อดังกล่าวมาตรวจหาเซลล์มะเร็ง หากแพทย์ตรวจพบเซลล์มะเร็งในตัวอย่างที่ตัดออกมาตรวจ แพทย์จะสามารถระบุชนิดของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินให้กับคุณได้ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการวางแผนการรักษาให้กับคุณ
ชนิดของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน
ปัจจัยมีชนิดของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินมากกว่า 30 ชนิด เช่น:
- diffuse large B-cell lymphoma
- follicular lymphoma
- extranodal marginal zone B-cell (MALT)
- mantle cell lymphoma
- Burkitt lymphoma
- mediastinal large B-cell lymphoma
- nodal marginal zone B-cell lymphoma
- small lymphocytic lymphoma
- lymphoplasmacytic lymphoma
- peripheral T-cell lymphoma
- skin (cutaneous) lymphomas
- anaplastic large-cell lymphoma
- lymphoblastic lymphoma
การตรวจเพิ่มเติม
หากผลการตรวจชิ้นเนื้อยืนยันการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินแล้ว ยังมีการตรวจเพิ่มเติมที่จำเป็นต้องทำเพื่อตรวจว่ามะเร็งต่อมน้ำเหลืองมีการแพร่กระจายไปมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะช่วยให้แพทย์บอกระยะของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้
การตรวจเพิ่มเติมอาจได้แก่:
- การตรวจเลือด-การตรวจเลือดในระหว่างการวินิจฉัยและระหว่างการรักษาเพื่อตรวจเช็คสภาวะสุขภาพโดยทั่วไปของคุณ, เพื่อตรวจดูระดับของเซลล์เม็ดเลือดแดง และเซลล์เม็ดเลือดขาว รวมถึงเกร็ดเลือด และเพื่อดูการทำงานของอวัยวะต่างๆ ว่ายังทำงานปกติหรือไม่ เช่น ตับ ไต
- การเจาะตรวจไขกระดูก (bone marrow sample)-คือการตรวจชิ้นเนื้อของไขกระดูกเพื่อดูว่ามะเร็งต่อมน้ำเหลืองแพร่กระจายไปที่ไขกระดูกหรือไม่ โดยการใช้เข็มยาวเจาะเข้าไปดูดตัวอย่างไขกระดูกออกจากบริเวณกระดูกเชิงกราน ซึ่งสามารถทำโดยการใช้ยาชาเฉพาะที่
- การเอกซเรย์ปอด (chest X-ray)-เพื่อดูว่ามะเร็งมีการแพร่กระจายไปที่ปอดหรือไม่
- การทำซีทีสแกน/การสแกนภาพด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (computerised tomography (CT) scan)-คือการใช้รังสีเอกซ์เพื่อสร้างเป็นภาพสามมิติของสิ่งที่อยู่ภายในร่างกาย ซึ่งใช้เพื่อตรวจสอบการแพร่กระจายของมะเร็ง
- การสแกนภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (magnetic resonance imaging (MRI) scan) คือการใช้สนามแม่เหล็กเข้มข้นเพื่อสร้างเป็นภาพของบริเวณต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งใช้เพื่อตรวจสอบการแพร่กระจายของมะเร็ง
- positron emission tomography (PET) scan คือ การสแกนเพื่อวัดกิจกรรมของเซลล์ในส่วนต่างๆ ของร่างกาย และเพื่อตรวจสอบการแพร่กระจายของมะเร็ง และผลที่เกิดขึ้นจากการรักษา โดยทั่วไปมักทำไปพร้อมกับการทำซีทีสแกน เพื่อให้มีความแม่นยำในการแสดงผลว่าเนื้อเยื่อแต่ละส่วนของร่างกายมีการทำงานอย่างไร
- การเจาะน้ำไขสันหลัง (lumbar puncture) คือการใช้เข็มขนาดเล็กเจาะดูดน้ำไขสันหลังไปตรวจหาว่ามีเซลล์มะเร็งอยู่ภายในหรือไม่
การแบ่งระยะของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน
เมื่อทำการตรวจทุกอย่างเสร็จแล้ว ควรมีความเป็นไปได้ที่จะบอกระยะของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โดยระยะของโรคเป็นการบอกว่ามะเร็งแพร่กระจายไปมากน้อยเพียงใด
ระยะหลักของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน ได้แก่:
- ระยะที่ 1- มะเร็งจำกัดบริเวณเฉพาะกลุ่มของต่อมน้ำเหลือง 1 กลุ่ม เช่น ที่คอ หรือขาหนีบ ซึ่งอาจอยู่เหนือหรือต่ำกว่ากะบังลม
- ระยะที่ 2-มีกลุ่มของต่อมน้ำเหลือง 2 กลุ่มหรือมากกว่าที่ได้รับผลกระทบจากโรค ซึ่งอาจอยู่เหนือหรือต่ำกว่ากะบังลม
- ระยะที่ 3-มะเร็งแพร่กระจายไปยังกลุ่มของต่อมน้ำเหลืองทั้งด้านบนและด้านล่างกะบังลม
- ระยะที่ 4-มะเร็งแพร่กระจายไปตามระบบน้ำเหลือง และพบได้ที่อวัยวะอื่นๆ หรือที่ไขกระดูก
แพทย์ยังเติมตัวอักษรภาษาอังกฤษ “A” หรือ “B” เข้าไปต่อท้ายระยะของโรค เพื่อบ่งชี้ว่าคุณมีอาการอื่นๆ หรือไม่
- A หมายถึง คุณไม่มีอาการอื่นๆ นอกเหนือจากต่อมน้ำเหลืองโต
- B หมายถึง คุณมีอาการเพิ่มเติม คือ น้ำหนักลด มีไข้ หรือมีเหงื่อออกตอนกลางคืน
ในบางกรณี แพทย์อาจใช้ตัวอักษรเพิ่มเติมเพื่อบอกตำแหน่งที่เป็นโรคมะเร็งครั้งแรก เช่น “E” (extranodal) ซึ่งหมายถึงมะเร็งเกิดขึ้นนอกเหนือระบบน้ำเหลือง
เกรดของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน (Grading non-Hodgkin lymphoma)
ในการตรวจต่างๆ จะช่วยให้แพทย์บอกได้ว่าคุณกำลังเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินเกรดใดอยู่ ซึ่งมีอยู่ 2 เกรดหลัก ได้แก่:
- เกรดต่ำ หรือ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินชนิดลุกลามช้า (low-grade or indolent non-Hodgkin lymphoma)-ซึ่งมะเร็งมีการแบ่งตัวช้า และอาจไม่มีอาการใดๆ เลยเป็นเวลาหลายปี
- เกรดสูง หรือ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินชนิดลุกลามเร็ว (high-grade or aggressive non-Hodgkin lymphoma) ซึ่งมะเร็งมีการแบ่งตัวเร็ว และมีความรุนแรง
มะเร็งชนิดเกรดต่ำมักไม่จำเป็นต้องทำการรักษาทันที แต่มีความยากในการรักษาให้หายขาด ส่วนมะเร็งเกรดสูงจำเป็นต้องรักษาทันที แต่มีแนวโน้มที่จะตอบสนองต่อการรักษาดีกว่า และมีโอกาสหายขาด
ในบางกรณีผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินเกรดต่ำอาจพัฒนาเป็นเกรดสูงได้เมื่อเวลาผ่านไป
การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน
มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินมักรักษาด้วยการใช้ยาที่มีฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็ง หรือ การใช้รังสีรักษา อย่างไรตามในผู้ป่วยบางรายอาจยังไม่จำเป็นต้องรักษาทันทีที่ตรวจพบ
มีผู้ป่วยจำนวนน้อยที่พบว่าเป็นมะเร็งในระยะเริ่มแรก และมีขนาดเล็กมาก ทำให้สามารถกำจัดออกระหว่างการทำการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจได้ (biopsy) หากเป็นกรณีนี้ก็อาจไม่จำเป็นต้องทำการรักษาใดๆ เพิ่มเติมอีก
แผนการรักษาของคุณ
แผนการรักษาของคุณจะขึ้นกับภาวะสุขภาพโดยรวมและอายุของคุณ เนื่องจากการรักษาจะสร้างความเครียดอย่างมากให้กับร่างกายได้
การขอคำปรึกษาเกี่ยวกับแผนในการรักษาจะเกี่ยวข้องกับแพทย์หลายสาขารวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญหลายสาขาที่ร่วมกันดูแลผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เราเรียกว่าคือทีมสหสาขาวิชาชีพ
ทีมสหสาขาวิชาชีพจะให้คำแนะนำการรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคุณ อย่างไรก็ตาม คุณไม่ควรเร่งตัดสินใจเกี่ยวกับแผนการรักษาของคุณจนเกินไป โดยก่อนการตัดสินใจ คุณสามารถพูดคุยกับเพื่อน ครอบครัว หรือคู่ชีวิตของคุณก่อนได้
คุณยังจะได้รับการเชิญให้เข้าพูดคุยกับทีมดูแลรักษาคุณเพื่อรับคำปรึกษาเกี่ยวกับความเสี่ยงและประโยชน์ที่จะได้รับจากการรักษาก่อนที่จะเริ่มต้นการรักษา
คุณสามารถสอบถามข้อมูลกับทีมแพทย์ที่ดูแลคุณได้หากมีงานวิจัยทางคลินิกที่พร้อมจะให้คุณเข้าร่วมการวิจัยในขณะนั้น
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับทางเลือกในการรักษาหลักของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินมีรายละเอียดดังนี้
วิธีการรอดูอาการ (wait-and-see approach)
หากโรคของคุณจัดเป็นประเภทเกรดต่ำ (มีการดำเนินไปของโรคอย่างช้าๆ) และสุขภาพโดยรวมของคุณยังดีอยู่ คุณจะได้รับคำแนะนำให้รอดูอาการก่อนในเบื้องต้น เพราะผู้ป่วยจำนวนหนึ่งต้องใช้เวลาหลายปีกว่าโรคมะเร็งจะก่อให้เกิดอาการขึ้นมา จึงยังไม่จำเป็นต้องรีบรักษาอย่างเร่งด่วนในขณะนี้
หากคุณได้รับคำแนะนำให้รอดูอาการก่อน คุณจะได้รับการนัดหมายมาพบแพทย์เพื่อตรวจดูอาการเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ และคุณสามารถมาพบแพทย์ได้เสมอหากรู้สึกว่ามีอาการแย่ลง
ยาเคมีบำบัด (chemotherapy)
ยาเคมีบำบัดมีการใช้อย่างกว้างขวางเพื่อรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน ซึ่งเป็นการใช้ยาเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งในร่างกาย อาจใช้ยาเคมีบำบัดเป็นยาเดี่ยว หรือใช้ร่วมกับวิธีชีวบำบัด และ/หรือ ร่วมกับการให้รังสีรักษาก็ได้
การให้ยาเคมีบำบัดสามารถให้ได้หลายวิธีขึ้นกับระยะของโรคมะเร็งที่คุณกำลังเป็น
ถ้าแพทย์พิจารณาแล้วว่าคุณมีโอกาสรักษามะเร็งหายขาย คุณมักได้รับยาเคมีบำบัดทางหลอดเลือดดำ (intravenous chemotherapy) แต่ถ้ามีโอกาสน้อยที่จะหายขาด คุณอาจจำเป็นต้องรับยาโดยการรับประทานเท่านั้น เพื่อใช้บรรเทาอาการที่กำลังเป็น
ถ้าคุณมีความเสี่ยงที่มะเร็งจะแพร่กระจายไปที่สมอง คุณอาจได้รับยาเคมีบำบัดเข้าทางน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (cerebrospinal fluid) โดยการฉีดเข้ารอบๆ กระดูกสันหลัง
การให้ยาเคมีบำบัดโดยทั่วไปจะให้ในช่วงเวลาไม่กี่เดือน และเป็นแบบผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล อย่างไรก็ตามอาจมีบางครั้งที่ต้องนอนพักในโรงพยาบาล เช่น เมื่ออาการแย่ลง หรือมีผลข้างเคียงจากการใช้ยา
ยาเคมีบำบัดก่อให้เกิดผลข้างเคียงหลายประการ ที่สำคัญที่สุดคือยาจะทำให้เกิดความเสียหายต่อไขกระดูก ทำให้เกิดการรบกวนการสร้างเซลล์เม็ดเลือดตามปกติของร่างกาย และก่อให้เกิดอาการดังนี้:
- อ่อนเพลีย
- หายใจหอบเหนื่อย
- มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น
- เลือดออกง่าย มีรอยช้ำได้ง่าย
ถ้าคุณมีอาการดังกล่าวนี้ คุณอาจจำเป็นต้องชะลอการให้ยาครั้งถัดไปเพื่อให้ร่างกายได้มีช่วงเว้นในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดตามปกติ ยาที่เรียกว่า growth factor สามารถกระตุ้นการสร้างเซลล์เม็ดเลือดได้
ผลข้างเคียงอื่นๆ ของการให้ยาเคมีบำบัด ได้แก่:
- คลื่นไส้ และ อาเจียน
- ท้องเสีย
- เบื่ออาหาร
- เป็นแผลในปาก
- อ่อนเพลีย
- ผื่นผิวหนัง
- ผมร่วง
- เกิดภาวะมีบุตรยาก ซึ่งอาจเป็นผลชั่วคราว หรือเป็นผลถาวรก็ได้
ผลข้างเคียงโดยส่วนใหญ่ควรมีอาการดีขึ้นเมื่อการรักษาสิ้นสุดลง หากอาการข้างเคียงบางอย่างยังคงรบกวนชีวิตคุณอยู่ ควรแจ้งให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลคุณทราบ เพราะมีการรักษาที่สามารถช่วยบรรเทาอาการจากผลข้างเคียงของยาได้
การให้ยาเคมีบำบัดขนาดสูง (High-dose chemotherapy)
หากมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินไม่ดีขึ้นด้วยการรักษาเริ่มต้น หรือเรียกว่า ดื้อต่อการรักษา คุณอาจได้รับยาเคมีบำบัดขนาดสูงต่ออีกคอร์สการรักษา
อย่างไรก็ตาม การรักษาแบบเข้มข้นนี้จะสร้างความเสียหายต่อไขกระดูก ทำให้เกิดปัญหาดังที่กล่าวข้างต้น ดังนั้น คุณจำเป็นต้องทำการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์หรือไขกระดูกเพื่อทดแทนไขกระดูกที่ได้รับความเสียหาย
รังสีรักษา (radiotherapy)
การให้รังสีรักษามักถูกใช้เพื่อรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินที่เป็นในระยะเริ่มแรก ซึ่งมะเร็งจำกัดเฉพาะบริเวณหนึ่งของร่างกายเท่านั้น
การรักษามักให้ทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์เป็นเวลาหลายสัปดาห์ และไม่จำเป็นต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลระหว่างการนัดหมายแต่ละครั้ง
ปกติแล้วการให้รังสีรักษาไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด แต่สามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงบางประการได้ ซึ่งมีความหลากหลายขึ้นกับบริเวณของร่างกายที่ทำการรักษา ตัวอย่างเช่น ถ้ารักษาที่คอ จะทำให้มีอาการเจ็บคอ ในขณะที่การรักษาที่ศีรษะจะทำให้ผมร่วง เป็นต้น
ผลข้างเคียงอื่นที่พบบ่อย ได้แก่:
- ผิวหนังแดง แสบ บริเวณที่ทำการรักษา
- อ่อนเพลีย
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ปากแห้ง
- เบื่ออาหาร
ส่วนใหญ่แล้วผลข้างเคียงจะเป็นแบบชั่วคราว แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาในระยะยาวได้เช่นกัน คือ การเกิดภาวะมีบุตรยาก และการมีผิวหนังสีเข้มขึ้นถาวรในบริเวณที่ทำการรักษา
Monoclonal antibody therapy
ในโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กินบางชนิด คุณอาจได้รับการรักษาด้วยยาที่เรียกว่า monoclonal antibody
ยาชนิดนี้จะเข้าไปจับกับผิวของเซลล์มะเร็งและกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้เข้าจับและทำลายเซลล์มะเร็งดังกล่าว โดยทั่วไปมักให้ยานี้ร่วมกับยาเคมีบำบัดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา
ในมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กินบางชนิด คุณอาจได้รับยา monoclonal antibody อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานถึง 2 ปี ภายหลังเริ่มการรักษาแล้ว โดยให้ร่วมกับยาเคมีบำบัด ซึ่งจะช่วยลดโอกาสที่มะเร็งจะกลับมาเป็นซ้ำในอนาคต
หนึ่งในยาหลักประเภท monoclonal antibody ที่ใช้เพื่อรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินคือยา ริทูซิแมบ (rituximab) โดยยานี้จะให้เข้าทางหลอดเลือดดำในเวลาไม่กี่ชั่วโมง
ผลข้างเคียงของยา rituximab ได้แก่:
คุณอาจได้รับยาเพื่อป้องกันหรือเพื่อบรรเทาผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น โดยผลข้างเคียงควรมีอาการดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป เนื่องจากร่างกายมีความคุ้นชินกับยา rituximab
เนื่องจากยา rituximab ประสบความสำเร็จอย่างมากในการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน นักวิทยาศาสตร์จึงกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อค้นหายาประเภท monoclonal antibody เพิ่มเติมอีก เพื่อใช้รักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง และยาบางตัวกำลังอยู่ระหว่างการวิจัยทางคลินิกเพื่อใช้รักษามะเร็งในระยะรุนแรง คุณอาจสอบถามแพทย์ หากคุณต้องการเข้าร่วมการศึกษาวิจัยระหว่างที่คุณกำลังรักษาโรคอยู่
ยาสเตียรอยด์
ยาสเตียรอยด์ถูกใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัดเพื่อรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน เพราะข้อมูลจากการศึกษาพบว่าการให้ยาสเตียรอยด์จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ยาเคมีบำบัด
โดยปกติแล้วยาสเตียรอยด์จะให้ในรูปแบบยาเม็ดรับประทาน โดยให้พร้อมกับยาเคมีบำบัด โดยยาสเตียรอยด์จะให้ในระยะเวลาสั้นๆ เป็นเวลาไม่กี่เดือน เนื่องจากยาสเตียรอยด์มีข้อจำกัดเรื่องผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยของการใช้ยาสเตียรอยด์ระยะสั้น ได้แก่:
- อยากอาหาร ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มได้
- อาหารไม่ย่อย
- ปัญหานอนไม่หลับ
- รู้สึกกระวนกระวายใจ
ในบางสถานการณ์ที่พบได้น้อย คุณอาจได้รับยาสเตียรอยด์เป็นในระยะยาวได้ โดยผลข้างเคียงของการใช้ยาสเตียรอยด์ในระยะยาวได้แก่ น้ำหนักตัวเพิ่ม บวมที่มือ เท้า และเปลือกตา
ผลข้างเคียงจากการใช้ยาสเตียรอยด์เริ่มดีขึ้นเมื่อการรักษาสิ้นสุดลง
การติดตามผู้ป่วย (follow-up)
เมื่อคุณได้รับการรักษาจนครบแล้ว คุณอาจต้องทำการตรวจสแกนเพื่อดูว่าการรักษาได้ผลหรือไม่ และต้องได้รับการนัดหมายเพื่อตรวจติดตามอาการตามนัด เพื่อดูว่ามะเร็งสงบแล้วหรือยัง และมีอาการแสดงของการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งหรือไม่
ในช่วงแรกจะนัดผู้ป่วยมาพบแพทย์ทุก ๆ 2-3 สัปดาห์ หรือทุกเดือน แต่จะค่อยๆ เว้นระยะห่างออกไปเรื่อยๆ
ภาวะแทรกซ้อน
ผู้ป่วยบางรายที่รักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน จะพบปัญหาในระยะยาวได้ แม้ว่าจะรักษาหายขาดแล้วก็ได้
โดยภาวะแทรกซ้อนหลักที่พบได้จากโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน มีรายละเอียดดังนี้
ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
การมีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงคือภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยจากโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน และจะมีอาการรุนแรงขึ้นได้เมื่อทำการรักษาโรคนี้
อย่างไรก็ตาม ระบบภูมิคุ้มกันจะค่อยๆ กลับมาฟื้นตัวในช่วงเดือน และปี หลังการรักษา
ถ้าคุณมีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง คุณจะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น และจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงจากการติดเชื้อด้วย ในบางกรณีคุณจึงอาจได้รับคำแนะนำให้รับประทานยาปฏิชีวนะ (ยาฆ่าเชื้อ) เป็นประจำเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้น
ดังนั้นสิ่งสำคัญคือต้องแจ้งให้แพทย์ทราบหากคุณมีอาการของการติดเชื้อเกิดขึ้น เพราะอาจจำเป็นต้องรักษาการติดเชื้อทันทีเพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง ซึ่งช่วงเวลาที่สำคัญมากคือในช่วงไม่กี่เดือนแรกหลังการรักษา
อาการของการติดเชื้อ ได้แก่:
- มีไข้
- ปวดศีรษะ
- ปวดกล้ามเนื้อ
- ท้องเสีย
- อ่อนเพลีย
- ผื่นพุพองที่มีอาการเจ็บ
การฉีดวัคซีน
คุณควรมั่นใจว่าคุณได้รับการฉีดวัคซีนที่จำเป็น และเป็นปัจจุบันแล้ว
อย่างไรก็ตาม สำคัญที่สุดคือ คุณควรปรึกษาแพทย์ก่อนการฉีดวัคซีน เพราะคุณจะไม่ปลอดภัยหากได้รับการฉีดวัคซีนชนิดเชื้อเป็น (live vaccines) จนกว่าจะสิ้นสุดการรักษาไปแล้วเป็นเวลาหลายๆ เดือน
ตัวอย่างของวัคซีนเชื้อเป็น ได้แก่:
- วัคซีนงูสวัด (shingles vaccine)
- วัคซีนบีซีจี (BCG vaccine) เพื่อป้องกันการติดเชื้อวัณโรค
- วัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูม (MMR vaccine) เพื่อป้องกันการติดเชื้อ หัดเยอรมัน คางทูม
ภาวะมีบุตรยาก
ยาเคมีบำบัดและการให้รังสีรักษาสำหรับรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้ โดยอาจเป็นเพียงผลชั่วคราวหรือเป็นอย่างถาวรก็ได้
โดยทีมแพทย์ที่ดูแลคุณจะประเมินความเสี่ยงของการมีภาวะมีบุตรยากจากสถานการณ์เฉพาะบุคคลและแจ้งทางเลือกในการรักษาให้คุณทราบ
ในบางกรณี อาจมีความเป็นไปได้ที่จะเก็บตัวอสุจิ และไข่ ไว้ให้เรียบร้อยก่อนเริ่มการรักษา
มะเร็งชนิดที่ 2
การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินจะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งชนิดอื่นๆ ในอนาคตได้ เราเรียกว่ามะเร็งชนิดที่ 2 (second cancer)
ความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งชนิดอื่นๆ จะเพิ่มมากขึ้นภายหลังการรักษามะเร็ง เพราะยาเคมีบำบัดและรังสีรักษาจะไปสร้างความเสียหายให้กับเซลล์ปกติในร่างกายด้วย ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจทำให้เซลล์นั้นเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นเซลล์มะเร็งได้เมื่อผ่านไปหลายปี
คุณสามารถลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งชนิดที่ 2 ได้ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อสุขภาพที่ดี คือ ไม่สูบบุหรี่ รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน รับประทานอาหารที่หลากหลายครบ 5 หมู่ และออกกำลังกายเป็นประจำ
คุณควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีอาการบางอย่างที่สงสัยว่าจะเป็นมะเร็งชนิดที่ 2 เกิดขึ้น
ปัญหาทางสุขภาพอื่นๆ
การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินจะทำให้มีโอกาสเกิดปัญหาอื่นๆ ได้ แม้ว่าอายุยังน้อย เช่น:
- โรคหัวใจ
- โรคปอด
- โรคไต
- โรคต่อมไทรอยด์
- โรคเบาหวาน
- โรคต้อกระจก
การทราบว่าตนเองเป็นโรคมะเร็งจะเพิ่มความเสี่ยงของการมีภาวะซึมเศร้าได้
คุณควรแจ้งให้แพทย์ทราบ หากมีอาการผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้น เช่น หายใจหอบเหนื่อยเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น