มะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคร้ายที่ไม่ควรมองข้าม

เผยแพร่ครั้งแรก 16 ก.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
มะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคร้ายที่ไม่ควรมองข้าม

ต่อมน้ำเหลือง เป็นต่อมที่กระจายอยู่ทั่วร่างกาย เช่น ใต้รักแร้ ขาหนีบ คอ ภายในประกอบด้วยน้ำเหลืองและสารต่างๆ ซึ่งมีบทบาทในการป้องกันเชื้อโรคที่รุกรานเข้าสู่ร่างกาย ต่อมน้ำเหลืองจะติดอยู่กับท่อน้ำเหลือง ซึ่งทำหน้าที่ลำเลียงน้ำเหลืองไปยังส่วนต่างๆ ในร่างกาย ดังนั้น ถ้าเกิดเป็น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) เซลล์มะเร็งก็จะลุกลามไปยังอวัยวะต่างๆ ได้ง่าย

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) เกิดจากการแบ่งตัวอย่างผิดปกติของเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ภายในต่อมน้ำเหลือง ซึ่งเกิดขึ้นได้กับต่อมน้ำเหลืองทุกบริเวณ และพบได้ในคนทุกวัย รวมถึงในเด็กด้วย มะเร็งต่อมน้ำเหลืองพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันผิดปกติ และมีการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียบางชนิด เช่น Epstein-Barr Virus ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้เช่นกัน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ประเภทของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองมีอยู่หลายชนิด ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ ดังนี้

  • มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน (Hodgkin's Lymphoma: HL) พบได้น้อยกว่า และมักพบในเด็กและวัยรุ่นเป็นหลัก
  • มะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่ไม่ใช่ฮอดจ์กิน หรือนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin's Lymphoma: NHL) พบบ่อยกว่า และมักพบในผู้ใหญ่ รวมถึงผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง

อาการของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

  • ต่อมน้ำเหลืองบวมโต เนื่องจากเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์แบ่งตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งมักเห็นได้ชัดเจนบริเวณคอ ขาหนีบ และรักแร้ ส่วนใหญ่ไม่มีอาการเจ็บปวด
  • มีไข้เรื้อรัง
  • รู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลีย น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • เป็นแผลและมีเลือดออกง่าย
  • มีการติดเชื้ออย่างรุนแรง
  • มีเหงื่อออกมากโดยเฉพาะตอนกลางคืน

ระยะของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองแบ่งได้เป็น 4 ระยะ เช่นเดียวกับมะเร็งทั่วไป

ระยะที่ 1  เกิดมะเร็งขึ้นที่ต่อมน้ำเหลืองเพียงต่อมเดียว

ระยะที่ 2  เกิดมะเร็งขึ้นที่ต่อมน้ำเหลืองตั้งแต่ 2 จุดขึ้นไป โดยต่อมที่เกิดมะเร็งจะอยู่ในเหนือกะบังลม หรือใต้กะบังลมเหมือนกันเท่านั้น

ระยะที่ 3   เกิดมะเร็งขึ้นที่ต่อมน้ำเหลืองตั้งแต่ 2 จุดขึ้นไป โดยต่อมที่เกิดมะเร็งกระจายอยู่ทั่วร่างกาย ทั้งเหนือและใต้กะบังลม

ระยะที่ 4  มะเร็งลุกลามออกนอกระบบน้ำเหลือง ทำให้พบเซลล์มะเร็งที่อวัยวะอื่น เช่น ปอด ตับ กระดูก เป็นต้น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง

การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้นอาจแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ขึ้นอยู่ขึ้นชนิดของมะเร็ง ระยะ และการดำเนินโรค โดยทั่วไปมีแนวทางการรักษาดังนี้

  • การใช้เคมีบำบัด เป็นการใช้ยาเคมีเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็ง ซึ่งอาจมีผลข้างเคียงต่อร่างกายรุนแรง และผู้ป่วยแต่ละคนอาจให้ผลตอบสนองต่อการรักษาต่างกัน
  • การฉายรังสี โดยใช้รังสีเอ็กซเรย์ และรังสีโปรตอน ซึ่งมีพลังงานสูงกำจัดเซลล์มะเร็ง
  • การใช้ยาอื่นๆ โดยยาดังกล่าวอาจออกฤทธิ์ต่อเซลล์มะเร็งโดยตรง ทำให้เซลล์มะเร็งไม่สามารถเจริญและแบ่งตัวได้ หรือยาอาจไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันร่างกายให้กำจัดเซลล์มะเร็งได้ดีขึ้น
  • การปลูกถ่ายไขกระดูก โดยใช้ stem cell ไขกระดูกของผู้บริจาคที่เข้ากันได้เท่านั้น และต้องใช้รังสีหรือยาเคมีเพื่อกดภูมิคุ้มกัน ไม่ให้เกิดการต่อต้านเซลล์ที่ปลูกถ่ายเข้าไป

การดูแลตัวเองเมื่อเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

นอกจากการรักษาทางการแพทย์แล้ว การดูแลตนเองอย่างเหมาะสมทั้งระหว่างและหลังการรักษา ก็เป็นการช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และป้องกันไม่ให้มะเร็งแพร่กระจายหรือกลับมาเป็นซ้ำได้ โดยวิธีการสร้างเสริมสุขภาพที่ดี ได้แก่

  • ออกกำลังกายเป็นประจำ หรือขยับร่างกายสม่ำเสมอ
  • ทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเน้นพวกผักผลไม้ งดทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง อาหารดิบ และอาหารหมักดอง
  • งดสูบบุหรี่ และงดดื่มแอลกอฮอล์

การป้องกันมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้นเหมือนกับมะเร็งอื่นๆ คือมักเกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุ จึงยังไม่มีวิธีป้องกันที่แน่นอน แต่อย่างไรก็ตาม การดูแลสุขภาพให้แข็งแรงทั้งด้านร่างกายและจิตใจ จะเป็นเกราะป้องกันตัวเราจากโรคร้ายต่างๆ ซึ่งรวมถึงโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองด้วย


23 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Lymphoma: Signs, Symptoms, and Complications. Verywell Health. (https://www.verywellhealth.com/warning-signs-of-lymphoma-2252446)
A Lymphoma Almost Overlooked. National Center for Biotechnology Information. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5866108/)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป