ทรมานเพราะอาหารไม่ย่อย ทำอย่างไรดีนะ?

เผยแพร่ครั้งแรก 21 มิ.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
ทรมานเพราะอาหารไม่ย่อย ทำอย่างไรดีนะ?

เชื่อว่าหลายคนคงเคยมีอาการอึดอัด จุกเสียด แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ เพราะอาหารไม่ย่อยกันทั้งนั้น บางครั้งก็เกิดจากการทานอาหารมากเกินไป รีบกินเร็วไป หรือเกิดจากความผิดปกติในทางเดินอาหารก็ได้ มาดูกันดีกว่าว่า อาหารไม่ย่อย เกิดจากอะไรได้บ้าง เราจะรักษาอาการ และป้องกันได้อย่างไร

อาการแบบไหนถึงเรียกว่าอาหารไม่ย่อย?

  • รู้สึกปวดท้องช่วงบน มีอาการเสียดแน่น จุกลิ้นปี่ อึดอัดจนแทบอยากปลดตะขอกางเกง บางครั้งเพิ่งทานอาหารได้เล็กน้อยก็จุกจนทานต่อไม่ไหว
  • ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีลมในทางเดินอาหาร
  • อาจคลื่นไส้ อาเจียน หรือเรอออกมาบ่อยๆ
  • บางครั้งอาจรู้สึกแสบร้อนในอก เนื่องจากกรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหาร

อาหารไม่ย่อยเกิดจากอะไรได้บ้าง?

เกิดจากพฤติกรรมการกิน

พฤติกรรมที่ทำให้อาหารไม่ย่อย ได้แก่ กินอาหารปริมาณมากเกินไปในคราวเดียว กินอย่างเร่งรีบเกินไป เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด และกินอาหารไม่ตรงเวลา ทำให้ระบบย่อยอาหารแปรปรวน เช่น มีน้ำย่อยไม่เพียงพอ และทำให้มีอาการจุกเสียดท้องตามมาได้ ซึ่งอาการจะหายไปเมื่ออาหารเริ่มย่อยได้ปกติ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

เกิดจากประเภทอาหารที่กิน

อาหารที่มีรสเผ็ดจัด อาหารหมักดอง อาหารไขมันสูง จำพวกของทอด และอาหารพวกเนื้อสัตว์ที่ย่อยยาก จะทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานหนัก มีแก๊สในกระเพาะอาหารมาก จนเกิดอาการปวดและจุกเสียดแน่นท้องได้ ร่วมถึงพวกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มผสมคาเฟอีน ก็มีส่วนทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ระคายเคือง ทำให้เกิดอาการปวดแสบท้องได้เช่นกัน

เกิดจากความผิดปกติในทางเดินอาหาร

โรคในทางเดินอาหารที่ส่งผลให้การย่อยอาหารแปรปรวน ได้แก่

  • มีแผลในกระเพาะอาหาร และเยื่อบุกระเพาะอาหารอักเสบ ซึ่งอาจเกิดจากแบคทีเรีย H.pylori หรือเกิดจากสาเหตุอื่นก็ได้
  • มีแผลในลำไส้เล็กส่วนต้น หรือลำไส้เล็กอักเสบ
  • โรคกรดไหลย้อน
  • ท้องผูก และมีอาหารสะสมอยู่ในทางเดินอาหารมาก
  • มีความผิดปกติที่ตับ ตับอ่อน หรือถุงน้ำดี ซึ่งเป็นอวัยวะที่ผลิตเอนไซม์ย่อยอาหาร
  • เป็นมะเร็งที่หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร หรือลำไส้
  • เป็นโรคแพ้กลูเทน ทำให้ไม่สามารถย่อยอาหารที่มีกลูเทนเป็นส่วนประกอบได้ รวมถึงไม่สามารถดูดซึมสารอาหารอื่นๆ ได้ด้วย

เกิดจากสาเหตุอื่นๆ

เช่น มีความเครียด วิตกกังวล หรืออยู่ระหว่างตั้งครรภ์ ทำให้ฮอร์โมนเกิดการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้การหลั่งเอนไซม์ในระบบย่อยอาหารแปรปรวนด้วย

รักษาอาการอาหารไม่ย่อยได้อย่างไรบ้าง?

  • รักษาโดยการใช้ยา

ส่วนใหญ่อาการจุกเสียดแน่นท้อง จะรักษาโดยใช้ยาลดกรด อย่างเช่นยากลุ่ม PPIs และ H2RAs ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป มีทั้งรูปแบบยาน้ำ ยาเม็ด และยาเม็ดแบบเคี้ยว นอกจากนี้ หากพบว่าอาการเกิดจากแผลในกระเพาะเนื่องจากเชื้อ H.pylori ก็อาจต้องให้ยาปฏิชีวนะ เช่น Amoxicillin ด้วย

นอกจากยาบรรเทาอาการแล้ว หากอาการนั้นเกิดจากโรคหรือความผิดปกติ ก็ต้องทำการรักษาโรคที่เป็นต้นเหตุด้วย เช่น ให้ยาเคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็ง รวมถึงหากเกิดแผลและมีเลือดออกในเยื่อบุทางเดินอาหาร จนเกิดภาวะโลหิตจางและอ่อนเพลีย หรือขาดสารอาหาร ก็อาจให้ยาเสริมธาตุเหล็กและยาบำรุงอื่นๆ ร่วมด้วย          

อาหารไม่ย่อยป้องกันได้อย่างไร?

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินให้เหมาะสม โดยทานอาหารให้ตรงเวลา ไม่ทานทีละมากๆ ไม่ควรทานอาหารแบบบุฟเฟต์บ่อยๆ และไม่ควรรีบทานจนเกินไป
  • หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารที่มีไขมันสูง และอาหารอื่นๆ ที่ย่อยยาก
  • งดการดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ซึ่งก่อให้เกิดความระคายเคืองในทางเดินอาหาร
  • พยายามผ่อนคลายความเครียด ลดการวิตกกังวล เพื่อให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ปกติ

 


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)