โรคมะเร็งปอด

เผยแพร่ครั้งแรก 15 พ.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 25 นาที
โรคมะเร็งปอด

ปอดเป็นอวัยวะในระบบทางเดินหายใจ อยู่ในช่องอก มีสองข้างคือซ้ายและขวา มีหน้าที่ในการหายใจและฟอกอากาศเพื่อนำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย

ปอดทั้งข้างซ้ายและขวาแบ่งเป็นหลายกลีบ ได้แก่ กลีบบน กลีบกลาง และกลีบล่าง ซึ่งโรคมะเร็งปอดสามารถเกิดขึ้นได้กับปอดทุก ๆ กลีบในอัตราส่วนใกล้เคียงกัน นอกจากนี้โรคมะเร็งปอดยังสามารถเกิดได้พร้อมกันในหลายตำแหน่งของปอด หรือแพร่กระจายเข้ากระแสเลือดจากปอดข้างหนึ่งไปสู่ปอดข้างเดียวกันแต่คนละกลีบ หรือเข้าสู่ปอดอีกข้างได้เช่นกัน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจมะเร็งทั่วไปวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 340 บาท ลดสูงสุด 64%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

เซลล์ของปอดมีหลายชนิด ได้แก่ เซลล์ของเนื้อเยื่อปอดซึ่งมีหน้าที่แลกเปลี่ยนออกซิเจน เซลล์เยื่อเมือกบุภายในหลอดลมต่าง ๆ กล้ามเนื้อ เส้นเลือด เซลล์ต่อมน้ำลาย และเซลล์ต่อมน้ำเหลือง ซึ่งเซลล์ทุกชนิดของปอดสามารถเกิดเป็นโรคมะเร็งได้ทั้งหมด แต่ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดของโรคมะเร็งปอดจะเกิดจากเซลล์เยื่อเมือกบุภายในหลอดลม

มะเร็งปอดคืออะไร

มะเร็งปอดเกิดขึ้นเมื่อเซลล์ปกติภายในปอดเปลี่ยนแปลงตัวเองไปเป็นเซลล์ผิดปกติ ซึ่งมีความสามารถในการเจริญเติบโตอย่างไม่จำกัด เซลล์เหล่านี้แบ่งได้หลายชนิด ทำให้เกิดมะเร็งที่แตกต่างกันไป บางชนิดโตและลุกลามได้เร็ว ในประเทศไทยมะเร็งปอดเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตในทั้งเพศชายและหญิง

ใครบ้างมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอด

  • ผู้ที่สูบบุหรี่และดมควันบุหรี่ (second hand smoker)
  • ผู้ที่สัมผัสกับก๊าซเรดอน (radon) ซึ่งแปลงสภาพมาจากธาตุยูเรเนียมซึ่งเป็นก๊าซกัมมันตรังสี ก๊าซเหล่านี้สามารถมากับหิน ดิน ทราย เป็นวัสดุที่ใช้ก่อสร้างอาคาร
  • ผู้ที่สัมผัส สูดดมโลหะหนักซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ได้แก่ สารหนู แคดเมียม โครเมียม นิกเกิล เบริลเลียม ซิลิกา ละอองน้ำมัน แร่ใยหิน
  • ผู้ที่มีประวัติเป็นมะเร็งที่อวัยวะอื่น
  • ผู้ที่มีโรคปอดเป็นโรคประจำตัว เช่น โรคถุงลมโป่งพอง
  • ผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งปอด

อาการของมะเร็งปอดมีอะไรบ้าง 

  • ไอ หายใจเหนื่อย บางครั้งมีเสียงหวีด ๆ เกิดจากก้อนเนื้องอกกดเบียดหลอดลมหรือเนื้อปอด
  • ไอเป็นเลือด เกิดจากก้อนเนื้องอกลุกลามสู่หลอดเลือด
  • เจ็บหน้าอกเวลาหายใจเข้าลึก ๆ เกิดจากก้อนเนื้องอกทำให้เกิดเยื่อหุ้มปอดอักเสบหรือลุกลามไปยังเยื่อหุ้มปอด
  • เสียงแหบ เกิดจากการกดเบียดหรือทำลายเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงกล่องเสียง โดยเส้นประสาทนี้อยู่บริเวณช่องอก
  • ปวดศีรษะ หน้าบวม แขนบวม พบได้กรณีมีภาวะอุดตันของหลอดเลือดดำจากก้อนเนื้องอกไปกดเบียด ทำให้เลือดดำของศีรษะ ใบหน้า และแขน ไหลกลับสู่หัวใจไม่สะดวกและเกิดการคั่งของเลือด จึงมีอาการบวม
  • กรณีก้อนเนื้องอกอยู่บริเวณยอดปอด จะทำให้เกิดอาการปวดแขนหรือร้าวลงแขนและไหล่จากการกดบริเวณเส้นประสาทส่วนคอ หากมีการกดเบียดถึงไขสันหลังอาจทำให้เกิดอาการมืออ่อนแรงได้ อาการหนังตาตกเนื่องจากระบบประสาทอัตโนมัติที่อยู่บริเวณใกล้กับยอดปอดถูกกดเบียด

อาการของโรคมะเร็งปอดในเพศชาย

โรคมะเร็งปอดในเพศชายนั้นมีอาการที่แตกต่างจากเพศหญิง โดยในเพศชายจะมีโอกาสพบอาการของโรคหัวใจและโรคมะเร็งปอดร่วมด้วยมากกว่า

เนื่องจากของโรคมะเร็งปอดในเพศชายมีอาการใกล้เคียงกับโรคอื่น จึงเกิดความผิดพลาดในการวินิจฉัยโรคได้ ดังนั้นการตรวจพบอาการที่พบไม่บ่อยของโรคจึงมีความสำคัญในการวินิจฉัยโรคได้รวดเร็วและอยู่ในระยะที่รักษาได้

ทำไมโรคมะเร็งปอดในเพศชายจึงมีอาการต่างจากเพศหญิง

หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้อาการของโรคมะเร็งปอดในเพศชายและเพศหญิงมีความแตกต่างกัน คือ ชนิดของมะเร็ง ซึ่งชนิดของมะเร็งที่ต่างกันจะทำให้มีอาการแสดงที่ต่างกันด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

อีกเหตุผลหนึ่งคือ ในเพศชายมีอัตราผู้ที่เป็นมะเร็งปอดและมีประวัติสูบบุหรี่มากกว่าในเพศหญิง ดังนั้นชนิดของมะเร็งปอดในเพศชายจะมีความสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่สูง

อาการที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งปอดแต่ละชนิด

Non-small cell lung cancers

Non-small cell lung cancers นับเป็นร้อยละ 80 ของโรคมะเร็งปอด ซึ่งมี 3 ชนิดหลักได้แก่

ในเพศชายจะพบมะเร็งปอดชนิด Squamous cell carcinoma มากที่สุด ซึ่งจะเกิดใกล้กับทางเดินหายใจหลักและมักแสดงอาการในช่วงแรกของการเป็นโรค อาการเหล่านี้ได้แก่

ในทางตรงกันข้าม มะเร็งปอดที่พบบ่อยในเพศหญิงคือชนิด adenocarcinoma

มะเร็งชนิด adenocarcinoma เกิดในปอดส่วนนอก และเนื้องอกสามารถโตเป็นก้อนใหญ่ หรือสามารถแพร่กระจายไปบริเวณต่าง ๆ ได้ก่อนที่ผู้ป่วยจะเกิดอาการ อาการเริ่มต้น ได้แก่ หายใจไม่ทั่วท้อง เหนื่อย ปวดหลังและไหล่ ซึ่งจะพบได้มากกว่าอาการทั่วไปของโรค เช่น การไอ

Small cell lung cancers

มะเร็งชนิดนี้มักสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ ซึ่งจะพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ต่างจาก non-small cell lung cancers ที่จะพบในเพศหญิงมากกว่า

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

Small cell lung cancers จะเกิดใกล้กับทางเดินหายใจขนาดใหญ่และจะแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว โดยมักจะแพร่ไปสู่สมอง ดังนั้นอาการเริ่มต้นของมะเร็งชนิดนี้จึงอาจพบสัมพันธ์กับมะเร็งในสมอง ได้แก่ ปวดหัว การมองเห็นเปลี่ยน ร่างกายอ่อนแรงข้างเดียว หรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป

อาการโรคมะเร็งปอดที่พบในเพศชายได้มากกว่า

ดังที่กล่าวข้างต้นว่ามะเร็งปอดที่พบในเพศชายมักจะเกิดใกล้กับทางเดินหายใจหลัก เนื้องอกเหล่านี้จะทำให้เกิดอาการเริ่มต้นของโรคซึ่งสัมพันธ์กับทางเดินหายใจ เช่น การไอเป็นเลือด ปอดแฟบจากการอุดกั้นทางเดินอากาศ และไอ

ยังมีกลุ่มอาการที่พบร่วมในโรคมะเร็งปอดอีกกลุ่มหนึ่ง คือ Paraneoplastic syndrome โดยกลุ่มอาการนี้เกิดจากสารคล้ายฮอร์โมนที่หลั่งจากตัวเนื้องอกเอง (พบบ่อยใน Small cell lung cancers, Squamous cell lung cancers และ Large cell carcinomas)

กลุ่มอาการ Paraneoplastic syndrome ได้แก่ ระดับแคลเซียมในเลือดเพิ่มขึ้น (hypercalcemia) ระดับโซเดียมต่ำ แขนอ่อนแรง เสียการทำงานประสานงานของกล้ามเนื้อ และตะคริว เป็นต้น

อาการที่พบไม่บ่อยในโรคมะเร็งปอดในเพศชาย

อาการในมะเร็งปอดชนิด non-small cell lung cancers จะพบในเพศหญิงที่ไม่สูบบุหรี่มากกว่าในเพศชาย ส่วน Bronchoalveolar Carcinoma (BAC) ซึ่งเป็นมะเร็งชนิดหนึ่งใน Adenocarcinoma อาจมีอาการคล้ายโรคมะเร็งปอดชนิดอื่น แต่มักจะได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคปอดอักเสบ หรือโรคปอดอื่น ๆ

การตรวจวินิจฉัย

กรณีมีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นมะเร็งปอดแม้ภาพเอกซเรย์ปอดจะปกติ (พบได้ประมาณร้อยละ 25) แพทย์จะตรวจเพิ่มเติมด้วยการถ่ายภาพทางรังสีที่ละเอียดกว่า เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือ PET scan เมื่อเห็นก้อนในปอดที่น่าสงสัย จะตัดชิ้นเนื้อไปตรวจว่าเป็นก้อนเนื้องอกชนิดใดต่อไป

การวินิจฉัยโรค มีประวัติสูบบุหรี่หรือได้รับควันบุหรี่จากบุคคลใกล้ชิด มีการสัมผัสกับสารพิษ เคยมีอาการไอ มีเสมหะ หายใจลำบาก จากการถ่ายภาพรังสีทรวงอกจะพบก้อนมะเร็ง ฟังปอดได้ยินเสียงเสียดสีของเยื่อหุ้มปอด (Friction rub) ตรวจพบนิ้วปุ้ม ตรวจร่างกายทุกระบบอาจพบความผิดปกติของอวัยวะที่มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะนั้น ๆ เช่น ปวดศีรษะ ชัก กลืนลำบาก เสียงแหบ เป็นต้น จากการตรวจหาเซลล์มะเร็งในเสมหะ ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan), Magnetic resonance image (MRI), Positron emission tomography (PET) scan จากการเจาะปอดเพื่อนำน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอดตรวจหาเซลล์มะเร็ง การส่องกล้องหลอดลม (Bronchoscopy) เพื่อตัดชิ้นเนื้อในหลอดลมมาตรวจหาเซลล์มะเร็ง การตัดชิ้นเนื้อด้วยเข็มผ่านทรวงอก (Transthoracic needle biopsy) การดูภาพทึบรังสีโดยตรงขณะถ่ายภาพ (Fluoroscopy) การส่องกล้องตรวจช่องอก (Mediastinoscopy) เพื่อดูการกระจายของมะเร็งไปยังทรวงอก อาจตรวจเลือดหาระดับ alkaline phosphatase เพื่อดูว่ามะเร็งกระจายไปยังกระดูกหรือตับหรือไม่ หากมีการกระจายไปยังกระดูกหรือตับจะพบว่ามีระดับสูงกว่าปกติ อาจตรวจระดับของ Carcinoembryonic antigen (CEA) จะพบค่าสูงเมื่อเป็นมะเร็งปอด

ใครควรไปตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอด  

ในประเทศไทยยังให้การคัดกรองมะเร็งปอดเป็นแบบแล้วแต่โอกาส คือคัดกรองโดยอิสระขึ้นอยู่กับแต่ละสถานพยาบาล ซึ่งต่างจากการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งทวารหนักที่มีอยู่ในแผนสาธารณสุขระดับชาติที่รัฐสนับสนุน ผู้อยู่ในกลุ่มมีความเสี่ยงสูงแนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งปอดคือผู้ที่มีลักษณะดังนี้

  • อายุระหว่าง 55-74 ปีที่สูบบุหรี่มากกว่า 30 pack years และเลิกบุหรี่น้อยกว่า 15 ปี
  • อายุมากกว่า 50 ปีที่สูบบุหรี่มากกว่า 20 pack years และมีความเสี่ยงอื่น ๆ ของมะเร็งปอด
  • Pack years คำนวณจากจำนวนบุหรี่ที่สูบต่อวันเป็นปริมาณซอง คูณกับระยะเวลาที่สูบ เช่น สูบบุหรี่วันละ 20 มวน เป็นเวลา 10 ปี คือ สูบ 1 ซอง (มี 20 มวน) x 10 ปี = 10 pack years

การคัดกรองจะทำโดยการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ สามารถเห็นก้อนในปอดได้ชัดเจนกว่าการตรวจภาพเอกซเรย์ปอดทั่วไป จากนั้นแพทย์จะนัดติดตามเป็นระยะขึ้นอยู่กับว่าตรวจพบอะไรบ้าง อย่างไรก็ตามการตรวจคัดกรองไม่สามารถการันตีว่าจะตรวจพบมะเร็งปอดในระยะเริ่มแรกและรักษาได้หายขาด บางครั้งผลที่ตรวจได้เป็นผลลวง คือคัดกรองว่าเป็นมะเร็ง แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่มะเร็ง เนื่องจากคัดกรองจากภาพเอกซเรย์ซึ่งไม่มีผลชิ้นเนื้อและผู้ป่วยต้องรับรังสีจากการถ่ายเอกซเรย์ ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำมาตรวจคัดกรอง

การสูบกัญชาทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดหรือไม่

โรคมะเร็งปอดนั้นมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการสูบบุหรี่ แต่การสูบกัญชาจะก่อให้เกิดมะเร็งปอดด้วยหรือไม่ คงไม่มีคำตอบสั้น ๆ สำหรับเรื่องนี้

ในปี 2006 วงการแพทย์มีการศึกษาพบว่าการสูบกัญชาไม่ทำให้เป็นโรคมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น และยังมีข้อเสนอแนะว่าการสูบกัญชายังอาจป้องกันการเกิดมะเร็งปอดได้อีกด้วย แต่ในการศึกษาปัจจุบันให้ผลในทางตรงกันข้าม คือพบว่าการสูบกัญชาและการเป็นโรคมะเร็งปอดมีความสัมพันธ์กัน แต่ผลยังไม่ชัดเจนมาก

จากการศึกษาพบว่าเพศชายที่สูบกัญชาและสูบบุหรี่ด้วย มีจำนวนคนที่เป็นโรคมะเร็งปอดมากขึ้นถึง 2 เท่า และยังมีอีกการศึกษาหนึ่งที่พบว่าการสูบกัญชาเป็นเวลานานจะทำให้เกิดมะเร็งปอดในเพศชายวัยกลางคน (ต่ำกว่า 55 ปี) 

ผลของกัญชาต่อปอด

นักวิจัยกล่าวว่าการสูบกัญชาเป็นประจำทำให้เกิดการทำลายทางเดินหายใจซึ่งสามารถเห็นได้จากตาเปล่าและการดูภายใต้กล้องจุลทรรศน์ อีกทั้งมีรายงานถึงอาการของความผิดปกติของการหายใจ เช่น การหายใจเสียงหวีด การหายใจเร็ว และการไอ นั่นคือการสูบกัญชาเป็นประจำไม่ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของของการทำงานของปอด รวมทั้งไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง

เนื่องจากกัญชาเป็นสิ่งผิดกฎหมาย จึงทำการทดลองได้ยาก ต่างจากการทดลองกับบุหรี่ ดังนั้นการทราบเกี่ยวกับข้อมูลต่าง ๆ ของกัญชาจึงจำเป็นมาก

  • พบสารก่อมะเร็งและสารร่วมก่อมะเร็งที่อยู่ในควันบุหรี่ ในควันของกัญชาเช่นกัน
  • การสูบกัญชาทำให้เกิดการอักเสบและทำลายเซลล์ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับระยะก่อนโรคมะเร็งในเนื้อเยื่อปอด
  • การสูบกัญชาทำให้เกิดความผิดปกติในการทำงานของภูมิคุ้มกันร่างกาย ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งในการเกิดมะเร็งในแต่ละคน

ข้อสรุปคือ การสูบกัญชาแม้จะมีความเสี่ยงทำให้เกิดมะเร็งปอดได้น้อยกว่าการสูบบุหรี่ แต่ก็ควรระมัดระวังไว้ ซึ่งนอกจากมะเร็งปอดแล้ว การสูบกัญชายังสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งอัณฑะ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปากมดลูก เนื้องอกในสมอง และโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในลูกของมารดาที่สูบกัญชาขณะตั้งครรภ์อยู่

ความสัมพันธ์ระหว่างกัญชาและผู้ป่วยมะเร็ง

ความสัมพันธ์ระหว่างกัญชาและมะเร็งยังมีผลที่ไม่ชัดเจน บางการศึกษากล่าวว่าการสูบกัญชาจะเพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็ง แต่อีกส่วนหนึ่งก็กล่าวว่าการสูบกัญชาสามารถป้องกันการเกิดมะเร็งได้

สิ่งที่เราพอจะรู้คือการสูบกัญชาอาจมีส่วนช่วยผู้ที่เป็นโรคมะเร็ง ซึ่งสถาบันมะเร็งแห่งชาติกล่าวว่า cannabinoids อาจมีประโยชน์ในการรักษาผลข้างเคียงมากมายที่เกิดจากมะเร็ง เช่น อาการเวียนศีรษะ เบื่ออาหาร ปวด และมีปัญหาในการนอน อีกทั้งจากผลภาวะผอมหนังหุ้มกระดูกอันเกิดจากมะเร็ง (cancer cachexia) ซึ่งมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด และเสียมวลกล้ามเนื้อ เป็นสาเหตุการตายจากมะเร็งถึงร้อยละ 20 จึงทำให้ควรมีการศึกษาเกี่ยวกับ cannabinoids มากขึ้น

ระยะของโรคมะเร็งปอด

เมื่อมีการยืนยันการวินิจฉัยโรคมะเร็งปอดแล้วนั้น แพทย์จะประเมินระยะของโรคมะเร็ง โดยระยะของโรคนั้นจะอธิบายถึงตำแหน่งของมะเร็งและการแพร่กระจายที่เกิดขึ้น การประเมินระยะนี้ทำได้ดีที่สุดด้วยการทำ PET scan (Positron-emission scan) ซึ่งจะประเมินบริเวณที่มีการเผาผลาญพลังงานเพิ่มขึ้นที่มักพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งปอด ซึ่งระยะของโรคมะเร็งจะเป็นตัวกำเนิดการรักษาที่แพทย์จะแนะนำต่อไป

ระยะของโรคมะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็กนั้นมีตั้งแต่ I-IV ในระยะเริ่มต้น (I-II) แสดงว่าก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กและไม่ได้กระจายออกไปไกล ในระยะลุกลาม (ระยะที่ III-IV) มะเร็งจะมีขนาดใหญ่กว่าและมีการแพร่กระจายออกนอกปอด สำหรับมะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็กนั้นมี 2 ระยะ คือ

  • ระยะจำกัด (พบเซลล์มะเร็งอยู่ภายในทรวงอกเท่านั้น)
  • ระยะลุกลาม (มะเร็งมีการแพร่กระจายออกไปยังปอดทั้ง 2 ข้าง หรือไปยังอวัยวะอื่นนอกทรวงอก)

เรื่องควรรู้เกี่ยวกับมะเร็งปอดระยะสุดท้าย

นิยามของมะเร็งปอดระยะสุดท้าย

หมายความว่าอย่างไรถ้าแพทย์บอกว่าเป็น “มะเร็งปอดระยะสุดท้าย” ส่วนมากเวลาที่แพทย์ใช้คำว่ามะเร็งปอดระยะสุดท้าย หมายถึง มะเร็งปอดระยะที่สามบีหรือระยะที่สี่ แม้ว่ามะเร็งปอดชนิดสมอลล์เซลล์ (Small cell lung cancer) สามารถลุกลามเป็นระยะสุดท้ายได้ แต่ส่วนใหญ่เวลาที่แพทย์เฉพาะทางมะเร็งวิทยาใช้คำว่า “มะเร็งปอด” จะหมายถึงมะเร็งปอดชนิดนอน-สมอลล์เซลล์ (non-small cell lung cancer) ซึ่งเป็น 85% ของมะเร็งปอดทั้งหมด โดยเหตุผลที่แบ่งมะเร็งปอดออกเป็นระยะต้นกับระยะท้ายนั้นเนื่องจากการรักษาที่แตกต่างกัน มะเร็งปอดระยะต้นนั้นมีวิธีการรักษาอันดับแรกคือการผ่าตัด ขณะที่การรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ นั้นนิยมใช้ในระยะสุดท้ายของโรค

ระยะของมะเร็งปอดระยะสุดท้าย

ดังที่กล่าวไปแล้วว่ามะเร็งปอดระยะสุดท้ายมักหมายถึงมะเร็งปอดชนิดนอน-สมอลล์เซลล์ระยะที่สามบีและระยะที่สี่

  • ระยะสามบี (Stage IIIB) - มะเร็งปอดชนิดนอน-สมอลล์เซลล์ระยะที่สามบี หมายถึง ก้อนมะเร็งขนาดใดก็ได้ที่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองซึ่งอยู่ในทรวงอกด้านตรงข้ามใกล้กระดูกไหปลาร้า หรือมะเร็งกินอวัยวะอื่น ๆ ในทรวงอก เช่น หัวใจหรือหลอดอาหาร
  • ระยะที่สี่ (Stage IV) - มะเร็งปอดชนิดนอน-สมอลล์เซลล์ระยะที่สี่ หมายถึง มะเร็งกระจายไปที่ช่องเยื่อหุ้มปอด (Malignant pleural effusion) หรือกระจายไปส่วนอื่นของร่างกาย ซึ่งมะเร็งส่วนใหญ่จะกระจายไปยังกระดูก ตับ สมอง หรือต่อมหมวกไต

อาการของมะเร็งปอดระยะสุดท้าย

อาการของมะเร็งปอดระยะสุดท้ายอาจสัมพันธ์กับการปรากฏของก้อนมะเร็งในปอด และการกระจายไปยังอวัยวะต่าง ๆ (Metastasis) อาการทางปอดที่พบบ่อยได้แก่ ไอเรื้อรัง หายใจไม่อิ่ม ไอเป็นเลือด และหายใจหอบหวีด และมะเร็งอาจกดเส้นประสาทในทรวงอกทำให้มีเสียงแหบได้ เมื่อมะเร็งปอดโตขึ้นหรือกระจายมากขึ้น อาจเกิดอาการอ่อนเพลีย น้ำหนักลดเอง และเบื่ออาหาร มะเร็งปอดที่กระจายไปยังสมองอาจทำให้ปวดหัว พูดไม่ชัด ความจำเสื่อม และอ่อนแรง หากกระจายไปตับก็จะปวดท้องและตัวเหลืองตาเหลือง ส่วนมะเร็งปอดที่กระจายไปยังกระดูกจะมีอาการปวดหลัง ปวดไหล่ และปวดซี่โครง

การวินิจฉัย

มะเร็งปอดระยะสุดท้ายอาจตรวจพบเบื้องต้นได้จากการเอกซเรย์หรือซีทีสแกน แต่การเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อปอดมาตรวจเพิ่มเติมเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อจะบอกว่าความผิดปกตินั้นเป็นมะเร็งหรือไม่ และเป็นมะเร็งชนิดใด สำหรับมะเร็งปอดชนิดนอน-สมอลล์เซลล์ระยะสุดท้ายนั้น การตรวจยีน (Gene profiling) หรือตรวจโมเลกุลสารพันธุกรรม (Molecular profiling) เป็นสิ่งสำคัญ ขณะที่การตรวจชิ้นเนื้อจากปอดแบบปกติก็จำเป็นเพื่อตรวจหายีนดังกล่าว และในปี 2016 การตรวจชิ้นเนื้อแบบของเหลวได้รับอนุญาตให้ใช้เพื่อตรวจหาการกลายพันธุ์ของยีนอีจีเอฟอาร์ (EGFR)

ชนิดของมะเร็งระยะสุดท้าย

มะเร็งปอดชนิดสมอลล์เซลล์อาจเกิดเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายได้ แต่มีหลากหลายประเภท ส่วนมะเร็งปอดชนิดนอน-สมอลล์เซลล์ระยะสุดท้าย ได้แก่

  • มะเร็งปอดชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมา (Lung adenocarcinoma) ซึ่งเกิดขึ้นประมาณครึ่งหนึ่งของมะเร็งปอดชนิดนอน-สมอลล์เซลล์ และมะเร็งปอดชนิดนี้พบบ่อยที่สุดในผู้หญิง ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ และวัยรุ่น
  • มะเร็งปอดชนิดสแควมัสเซลล์คาร์ซิโนมา (Squamous cell carcinoma) ซึ่งเกิดขึ้นประมาณ 30% ของมะเร็งปอดชนิดนอน-สมอลล์เซลล์
  • มะเร็งปอดชนิดลาร์จเซลล์คาร์ซิโนมา (Large cell carcinoma) เกิดประมาณ 10% ของมะเร็งปอดชนิดนอน-สมอลล์เซลล์
  • มะเร็งปอดชนิดอื่น ๆ จะพบว่ามะเร็งปอดชนิดที่กล่าวมานั้นรวมกันแล้วยังไม่ถึง 100% เนื่องจากมะเร็งปอดอาจมีลักษณะที่ก้ำกึ่งกันระหว่างชนิดต่าง ๆ ที่กล่าวไป เช่น อาจมีลักษณะเป็น “อะดีโนสแควมัส”(adenosquamous) หรือตำแหน่งของมะเร็งที่ต่างกันอาจมีลักษณะของมะเร็งมากกว่าสองชนิด

การรักษา

เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องกล่าวว่า การรักษามะเร็งปอดระยะสุดท้ายกำลังปรับปรุง และอัตราการรอดชีวิตจากมะเร็งปอดระยะสุดท้ายกำลังดีขึ้น ดังนั้น ไม่ว่าข้อมูลสถิติหรือการรักษาใด ๆ ที่ได้อ่านมานั้น ไม่ทันสมัยและอาจทำให้รู้สึกท้อแท้ เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเรียนรู้ว่าคุณสามารถทำอะไรกับโรคของคุณได้บ้าง แต่ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้วิธีหาข้อมูลออนไลน์ ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันมีการรักษาโรคมะเร็งระยะท้ายใหม่ ๆ หลายวิธีระหว่างปี 2011-2015 ซึ่งมากกว่าช่วง 40 ปีที่ผ่านมาก่อนปี 2011 ถือว่าเป็นความหวังอย่างมาก

ชนิดของการรักษา

ผู้ป่วยจะเริ่มมีส่วนร่วมในการรักษามะเร็งปอดมากกว่าที่ผ่านมา ไม่เหมือนความสัมพันธ์ของแพทย์กับผู้ป่วยแบบสมัยก่อนที่แพทย์เป็นเหมือนผู้ปกครอง แต่แพทย์และผู้ป่วยจะร่วมกันออกแบบวิธีการรักษาที่ดีที่สุดที่เป็นไปได้ร่วมกัน สาเหตุส่วนหนึ่งคือปัจจุบันมีทางเลือกในการรักษามากกว่าและการตัดสินใจบางครั้งขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ป่วย ผลข้างเคียงของการรักษาที่ผู้ป่วยรับได้มากกว่าการเลือกวิธีการรักษาที่ดีกว่าวิธีใดวิธีหนึ่ง และอาจเป็นประโยชน์ที่จะแบ่งการรักษาออกเป็น 2 ประเภทง่าย ๆ คือ

  • การรักษาเฉพาะที่ – การรักษาเฉพาะที่ของมะเร็งนั้นคือการรักษาเฉพาะตำแหน่งที่มะเร็งอยู่ ได้แก่ การฉายรังสีและการผ่าตัด
  • การรักษาทุกส่วนของร่างกาย – การรักษาทุกส่วนมุ่งหวังรักษามะเร็งไม่ว่าอยู่ส่วนใดของร่างกาย ได้แก่ เคมีบำบัด การใช้ยาจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง และภูมิคุ้มกันบำบัด

ตามนิยามของมะเร็งระยะสุดท้ายซึ่งมะเร็งจะไม่อยู่เฉพาะที่ ดังนั้นการรักษาต้องเป็นการรักษาทุกส่วน บางครั้งอาจสงสัยว่าทำไมการผ่าตัดจึงไม่แนะนำในระยะสามบีและระยะที่สี่ของมะเร็งปอด เหตุผลคือการผ่าตัดและการฉายรังสีเพียงอย่างเดียวไม่สามารถรักษามะเร็งปอดที่แพร่กระจายไปแล้วได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องผ่าตัด มีผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาแบบทุกส่วน ซึ่งจะลดขนาดของก้อนมะเร็ง ทำให้การผ่าตัดมีประสิทธิภาพ และมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งรังไข่ “การผ่าตัดลดขนาด” คือการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกบางส่วน ซึ่งมีประโยชน์แต่มักไม่ค่อยทำในมะเร็งปอด ที่จริงแล้วการผ่าตัดจะเพิ่มความตึงเครียดให้กับร่างกายขณะที่ร่างกายต้องการความแข็งแรงเพื่อทนกับการรักษา โดยการรักษาแบบทุกส่วนของร่างกายได้แก่

การใช้ยาจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง – ผู้ป่วยมะเร็งปอดชนิดนอน-สมอลล์เซลล์ระยะท้ายควรตรวจยีน (Gene profiling) หรือตรวจโมเลกุลสารพันธุกรรม (Molecular profiling) ของก้อนมะเร็ง ซึ่งทำโดยการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อ ปัจจุบันมีการพบความผิดปกติของโครโมโซมและการกลายพันธุ์ของยีนหลายแบบซึ่ง “จำเพาะต่อยา” มากกว่าการค้นพบที่ผ่านมา ความผิดปกตินี้บอกถึงความผิดปกติของเซลล์มะเร็งหรือสัมพันธ์กับเซลล์มะเร็งที่ทำให้จำเพาะต่อยาบางตัว โดยถ้ามีการกลายพันธุ์ของยีนอีจีเอฟอาร์ (EGFR mutation) การรวมกันของยีนเอแอลเค (ALK fusion gene) หรือการเรียงลำดับยีนที่ผิดปกติของอาร์โอเอสวัน (ROS1 rearrangement) ซึ่งจำเพาะต่อยาบางตัว และการศึกษาวิธีรักษาแขนงนี้มีแนวโน้มขยายตัวอย่างรวดเร็วในปีหน้า ถ้าการตรวจโมเลกุลสารพันธุกรรมไม่คล้ายคลึงกับที่กล่าวมา ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งวิทยา

เคมีบำบัด – เคมีบำบัดเป็นการรักษาหลักในมะเร็งปอดระยะสุดท้าย ซึ่งจะช่วยยืดอายุขัยของผู้ป่วย มีการใช้ยาผสมกันหลายชนิด แต่ยาส่วนใหญ่มีส่วนผสมของ “แพลทินัม” เช่น ยาแพลทนอล (Platinol) มีชื่อทางการค้าว่าซิสพลาทิน (Cisplatin)

ภูมิคุ้มกันบำบัด – ถ้าเคยดูข่าวหรืออ่านนิตยสารอาจเคยได้ยินเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันบำบัด การรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัด เป็นการรักษาที่น่าตื่นเต้นอย่างมาก ในการรักษามะเร็งระยะท้ายซึ่งไม่เหมือนกับที่เคยได้ยินมาในอดีต โดยการรักษานี้เชื่อว่าเป็นการควบคุมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งในวิธีที่ต่างออกไป และยาตัวแรกในประเภทนี้ที่ใช้รักษามะเร็งปอดได้รับอนุญาตให้ใช้ในปี 2015 และยังมียาอีกหลายชนิดที่กำลังพัฒนาขึ้นซึ่งอยู่ในช่วงการทดลองทางคลินิก

การทดลองทางคลินิก – สถาบันมะเร็งแห่งชาติแนะนำว่าทุกคนที่เป็นมะเร็งระยะท้ายอาจพิจารณาเข้าร่วมการทดลองทางคลินิก แม้ว่าการทดลองทางคลินิกนั้นยังมีความเร้นลับอยู่มาก แต่การทดลองทางคลินิกจะเสนอโอกาสให้ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายได้ทดลองยาใหม่ ๆ ในการรักษาโรค ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยที่เข้าร่วมการทดลองทางคลินิกสำหรับยาภูมิคุ้มกันบำบัดที่ได้รับอนุญาตในปี 2015 ได้ผลดีกว่าผู้ไม่ได้เข้าร่วมการทดลอง และควรระลึกว่าการรักษาใด ๆ ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้รักษามะเร็งปอดครั้งหนึ่งก็ต้องผ่านการทดลองทางคลินิกมาก่อน ปัจจุบันมีการทดลองทางคลินิกมากกว่า 100 การทดลองเพื่อหาการรักษาใหม่ ๆ สำหรับมะเร็งปอด และควรตรวจสอบว่าจะหาการทดลองทางคลินิกสำหรับมะเร็งปอดได้อย่างไร เช่นเดียวกับการทดลองทางคลินิกแบบไม่เสียค่าใช้จ่ายที่ทำโดยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านมะเร็งปอดหลาย ๆ หน่วยงาน

การรักษามะเร็งที่แพร่กระจาย

ในอดีตการรักษามะเร็งที่แพร่กระจายนั้นเหมือนกันทุกคน แต่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ในผู้ป่วยบางรายที่เป็นมะเร็งปอดแล้วแพร่กระจายไปสมองหรือตับและมีจุดที่กระจายไม่กี่จุด การรักษาคือใช้รังสีรักษาเฉพาะจุดซึ่งช่วยให้อายุยืนขึ้น ในรายที่มะเร็งปอดแพร่กระจายไปกระดูกจะมียาที่ใช้ซึ่งรู้จักกันดีคือ ยาบิสฟอสฟาเนท เช่นเดียวกับการใช้รังสีรักษาที่ช่วยควบคุมอาการปวด

การพยากรณ์โรค

เป็นเรื่องยากที่จะพยากรณ์โรคมะเร็งปอดระยะสุดท้าย เนื่องจากต้องอาศัยข้อมูลทางสถิติที่รวบรวมจากการรักษามะเร็งปอดระยะสุดท้ายหลากหลายวิธี และข้อมูลล่าสุดที่รวบรวมมาพบว่าอัตราการรอดชีวิตของมะเร็งปอดระยะสุดท้ายใน 5 ปีน้อยกว่า 5% แต่อัตราการรอดชีวิตในระยะยาวของมะเร็งปอดระยะสุดท้ายกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

การทำใจยอมรับและการสนับสนุนช่วยเหลือ

สิ่งที่คุณจะเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วหลังได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย คือมะเร็งปอดเป็นโรคในชุมชนและเป็นโรคในครอบครัว ควรติดต่อเพื่อนและครอบครัว เรียนรู้ที่จะเป็นผู้สนับสนุนวิธีรักษามะเร็งด้วยตนเอง พิจารณาติดต่อกับกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งรายอื่นทางออนไลน์ ซึ่งกลุ่มผู้ป่วยนี้จะเป็นเหมือนครอบครัวของคุณที่มีผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายหลาย ๆ คน

สำหรับผู้เป็นที่รัก

การดูแลคนที่รักที่ป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้ายอาจเป็นเรื่องยากที่สุดที่เคยทำ แต่ก็เป็นรางวัลและเป็นคุณค่าชีวิตที่มากที่สุดเช่นกัน และให้แน่ใจว่าใช้เวลาสักครู่อ่านบทความนี้เมื่อคนที่คุณรักเป็นมะเร็งปอด

จะมีอะไรเกิดขึ้นเมื่อคุณต้องเสียชีวิตด้วยมะเร็งปอด

คำถาม : จะมีอะไรเกิดขึ้นเมื่อคุณต้องเสียชีวิตด้วยมะเร็งปอด ?

ผู้ป่วยมะเร็งปอดและคนที่พวกเขารักหลาย ๆ คนอยากคาดการณ์ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นระหว่างการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง แม้จะมีความก้าวหน้าในการรักษาของมะเร็งปอด แต่โดยทั่วไปแล้วมะเร็งปอดถือเป็นประเภทของมะเร็งที่รุนแรงมาก ซึ่งมีรายงานผลการเสียชีวิตถึง 1.6 ล้านคนในปี 2012 บทความนี้จะสำรวจสิ่งที่คุณและคนที่คุณรักสามารถคาดการณ์ได้ หากวิธีการรักษาทุกอย่างได้สิ้นสุดลงและค้นพบว่าตัวเองอยู่ในระยะท้าย ๆ ของมะเร็งปอด

คำตอบ : บุคคลที่เสียชีวิตจากมะเร็งปอดสามารถล่วงรู้บางสิ่ง/ทั้งหมดดังนี้ :

อาการไอและอาการหายใจลำบาก

หลาย ๆ คนที่อยู่ในระยะท้าย ๆ ของมะเร็งปอดจะประสบกับอาการไออย่างรุนแรง ในบางครั้งพวกอาจถึงขั้นไอเป็นเลือด ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่น่ากลัวแต่สามารถควบคุมได้ โดยคณะดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองของคุณ ถ้าคุณประสบกับอาการไอ  คุณอาจจะรู้สึกหายใจตื้นและอ่อนเพลีย คณะดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองของคุณจะช่วยคุณสร้างแผนสุขภาพให้คุณรู้สึกสบายและสงบเท่าที่จะเป็นไปได้จนกว่าอาการไอจะบรรเทาลง

ความกลัวโดยทั่วไปของผู้ป่วยมะเร็งปอด คือ ถ้าพวกเขาจะเสียชีวิตในขณะที่รู้สึกเหมือนว่าพวกเขากำลัง "หายใจไม่ออก" แต่นี่ไม่ใช่กรณีทั่วไปสำหรับผู้ป่วยโดยมาก ภาวะหายใจเร็ว สั้น ๆ สามารถควบคุมได้ด้วยยารักษาโรค การใช้ออกซิเจน และวิธีการอื่น ๆ เพื่อให้คุณรู้สึกสบายและผ่อนคลาย

ความอ่อนแอที่เพิ่มขึ้น

ในช่วงสัปดาห์หรือเดือนสุดท้ายของชีวิตคุณ ความอ่อนแอที่เพิ่มขึ้นจะทำให้งานในชีวิตประจำวันยากลำบากขึ้น เริ่มแรกคุณอาจจะพบว่าตัวเองไม่สามารถเดินได้หากขาดความช่วยเหลือก่อนที่คุณจะเปลี่ยนไปใช้เก้าอี้รถเข็นสำหรับคนป่วย หลังจากนั้นคุณอาจถูกจำกัดให้อยู่บนเก้าอี้ยาวหรือเก้าอี้จนกว่าคุณจะนอนติดเตียง นอกจากนี้ อาการหอบอย่างรุนแรงอาจจะทำให้อาการอ่อนเพลียเพิ่มมากขึ้นและทำให้คุณรู้สึกเหนื่อยล้าประมาณหนึ่งชั่วโมงหรือมากกว่านั้น

คุณจะต้องพึ่งพาผู้อื่นมากขึ้นกว่าเดิมในการดูแลตัวคุณเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นเป็นความคิดที่ดีในการหาคนดูแลคุณล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว โดยการจ้างผู้ดูแลสุขภาพที่เป็นมืออาชีพ หรือการเข้าร่วมสถานพยาบาลที่รับดูแลผู้ป่วย

อาการปวด

ประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากมะเร็งชนิดใด ๆ สามารถประสบกับอาการปวดอย่างรุนแรงในระยะใดระยะหนึ่ง ไม่เพียงแค่นั้น มะเร็งปอดสามารถลามไปที่กระดูกหน้าอกหรือไขสันหลังของคุณได้และสามารถทำให้เกิดอาการปวดที่รุนแรง และเช่นเคย คณะดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองของคุณจะได้รับการฝึกในเรื่องการควบคุมอาการปวดอย่างมีประสิทธิภาพ และทำงานอย่างสุดความสามารถเพื่อที่จะทำให้คุณรู้สึกสบายและสงบในระหว่างนี้ มีหลาย ๆ สิ่งเพิ่มเติมที่คุณสามารถทำเพื่อควบคุมอาการปวดในสภาพแวดล้อมของการดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคองเช่นกัน

ความอยากอาหารที่ลดลงและน้ำหนักตัวลด

ผู้ป่วยมะเร็งปอดเกือบทุกคนประสบกับความอยากอาหารที่ลดลงและน้ำหนักตัวลด เมื่อร่างกายของเขาเริ่มที่จะเข้าสู่ขั้นตอนการเสียชีวิต เมื่อร่างกายไม่ต้องการแคลอรีเหมือนเช่นเคย ลำไส้เริ่มที่จะไม่ทำงานเมื่อร่างกายทำงานเฉพาะอวัยวะที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ เช่น สมอง หัวใจ และปอด

ดังนั้น มันเป็นเรื่องปกติมาก ๆ ที่คุณจะไม่รู้สึกหิวหรือรู้สึกอยากรับประทานอาหารที่เคยชอบจริง ๆ เมื่อการรับประทานอาหารและแคลอรีของคุณลดน้อยลง น้ำหนักตัวคุณจะลดลงซึ่งเป็นเรื่องปรกติสำหรับขั้นตอนการเสียชีวิต

ความสับสน

คนส่วนใหญ่ที่เสียชีวิตจากมะเร็งปอดจะประสบกับอาการทั่วไปในบั้นปลายชีวิต เช่น ความวิตกกังวล การอยู่ไม่นิ่ง และแม้กระทั่งความสับสน คุณอาจไม่สามารถจำคนที่คุณรักได้ในที่สุด และคุณอาจประสบกับความสับสนกับที่ที่คุณอยู่หรือสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวคุณ นอกจากนี้คุณอาจประสบกับอาการเพ้อ หรืออาการกระสับกระส่ายในระยะสุดท้าย ซึ่งสามารถทำให้คุณรู้สึกแย่ได้มาก ๆ แต่คณะดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของคุณจะเตรียมพร้อมในการ รักษาความวิตกกังวลของคุณ หรือการอยู่ไม่นิ่งที่สามารถก่อให้เกิดความสับสนได้

คุณอาจจะอยากเตรียมพร้อมสำหรับเหตุนี้ โดยเตรียมการสำหรับช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของคุณ เช่น แจ้งความประสงค์สุดท้ายของชีวิตแก่คนที่คุณรัก และสร้างเจตนารมณ์ล่วงหน้าก่อนเสียชีวิต ด้วยการบอกทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณต้องการกับคนในครอบครัว เพื่อน หรือคนอื่น ๆ ที่มีความสำคัญต่อชีวิตคุณ เตรียมพินัยกรรมทางกฎหมายของคุณ และแม้แต่วางแผนสำหรับงานศพของคุณ มีหลาย ๆ งานที่คุณสามารถทำสำเร็จได้ในช่วงที่คุณอยู่ในการป่วยระยะสุดท้าย เพื่อช่วยคนใกล้ชิดของคุณเตรียมการล่วงหน้า

ฉันจะเสียชีวิตอย่างสงบไหม ?

ส่วนใหญ่แล้วคำถามแรกของผู้ป่วยมะเร็งปอดและผู้เป็นที่รักของพวกเขามักถามคือ เขาหรือเธอจะเสียชีวิตอย่างสงบหรือไม่ นอกจากอาการที่ได้กล่าวถึงข้างต้นทั้งหมด ผู้ป่วยมะเร็งปอดส่วนใหญ่มักประสบกับการเสียชีวิตที่สงบและสบาย ภายใต้การดูแลอย่างมืออาชีพ การที่คุณเลือกที่จะเสียชีวิตพร้อมกับความช่วยเหลือจากการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย และ/หรือการดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคองนั้น คุณสามารถรับการดูแลจากนักวิชาชีพดูแลสุขภาพและการควบคุมอาการและการปวดอย่างมืออาชีพตลอด 24 ชั่วโมงในระยะเวลาที่เหลือของคุณได้

การรักษามะเร็งปอดทำได้อย่างไร

ทางเลือกในการรักษามะเร็งปอดนั้นมีได้ตั้งแต่การผ่าตัด การฉายรังสี และการให้ยาเคมีบำบัด
ภายหลังจากที่คุณได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปอดนั้น แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งจะพูดคุยถึงทางเลือกในการรักษากับคุณ ทางเลือกในการรักษานี้จะขึ้นอยู่กับระยะของโรคหรือการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง มะเร็งปอดนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มหลัก คือ ชนิดเซลล์เล็ก (small cell lung cancer หรือ SCLC) และชนิดที่ไม่ใช่เซลล์เล็ก (non-small cell lung cancer หรือ NSCLC) ซึ่งทั้ง 2 ชนิดนี้รักษาต่างกัน การรักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก ทางเลือกในการรักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก ประกอบด้วย

  • การให้ยาเคมีบำบัด : เป็นวิธีการหลักในการรักษามะเร็งชนิดนี้ในผู้ป่วยส่วนใหญ่ โดยคุณจะได้รับยาต้านมะเร็งหลายตัว ยาบางตัวสามารถใช้รับประทานได้ ในขณะที่บางตัวต้องฉีดเข้าเส้นเลือดดำ ผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดมักจะได้รับยาเคมีบำบัดประมาณ 4-6 รอบ แต่ละรอบนั้นใช้เวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ ในหนึ่งรอบนั้นจะรวมเวลาที่ได้รับยา (1-3 วัน) ตามด้วยช่วงเวลาที่ให้ร่างกายฟื้นตัวจากการรักษา
  • การฉายรังสี : เป็นวิธีที่ใช้การฉายรังสีพลังงานสูง (เช่น เอกซเรย์) เพื่อใช้ฆ่าเซลล์มะเร็ง รังสีนี้จะถูกสร้างมาจากเครื่องที่อยู่นอกร่างกายและพุ่งเป้าไปที่ก้อนมะเร็ง ผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็กอาจได้รับการฉายรังสีร่วมกับการรับเคมีบำบัดหรืออาจฉายรังสีหลังจากสิ้นสุดการให้ยาเคมีบำบัด
  • การผ่าตัด : การผ่าตัดเพื่อนำก้อนมะเร็งออกอาจเป็นทางเลือกในการรักษามะเร็งชนิดนี้ในระยะเริ่มต้น ซึ่งก้อนยังอยู่ในปอดข้างเดียวและไม่มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น

สมาคมโรคมะเร็งแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาประมาณว่า สามารถพบโรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็กในระยะเริ่มต้นเช่นนี้ได้น้อยกว่า 1 ใน 20 คน
การรักษาโรคมะเร็งชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก ทางเลือกในการรักษา ประกอบด้วย

  • การผ่าตัด : การผ่าตัดเพื่อนำก้อนมะเร็งออกนี้เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเมื่อมะเร็งยังอยู่ในระยะเริ่มต้น อาจใช้การฉายรังสี และ/หรือ การให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการผ่าตัด
  • การฉายรังสี : ในบางครั้งการฉายรังสีอาจเป็นวิธีการรักษาหลักของมะเร็งชนิดนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ใช้วิธีฉายรังสีแทนการผ่าตัดหากก้อนมะเร็งนั้นไม่สามารถผ่าตัดได้เนื่องจากขนาดหรือตำแหน่งภายในปอด บางครั้งอาจให้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดไปพร้อมกับการฉายรังสี
  • การให้ยาเคมีบำบัด : การให้ยาเคมีบำบัดสามารถใช้ได้ในสถานการณ์ต่าง ๆ ขึ้นกับระยะของโรค บางคนอาจได้รับยาเคมีบำบัดก่อนการผ่าตัดเพื่อทำให้ก้อนมีขนาดเล็กลง ในขณะที่บางคนอาจรับยาเคมีบำบัดหลังจากการผ่าตัดเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งที่อาจหลงเหลืออยู่ การฉายรังสีมักใช้ร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัดก่อนหรือหลังการผ่าตัด บางครั้งการให้ยาเคมีบำบัดก็ถือเป็นวิธีการรักษาหลักของโรคมะเร็งระยะลุกลาม
  • การรักษาแบบจำเพาะ : แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยากลุ่มนี้เพื่อให้จำเพาะกับเซลล์มะเร็ง ยากลุ่มนี้แตกต่างจากยาเคมีบำบัดทั่วไปที่การทำงานของมันและมักใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งระยะลุกลาม ยากลุ่มนี้มักให้ร่วมกับยาเคมีบำบัด ยาที่มักใช้บ่อยประกอบด้วย
    • Alecensa (alectinib)
    • Avastin (bevacizumab
    • Cyramza (ramucirumab)
    • Keytruda (pembrolizumab)
    • Tarceva (erlotinib)
    • Xalkori (crizotinib)  
  • การรักษาด้วยภูมิคุ้มกัน : การรักษาวิธีนี้ใช้ยาที่กระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเข้าไปจับและฆ่าเซลล์มะเร็งได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การรักษาวิธีนี้สามารถใช้รักษามะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็กบางชนิดได้

อัตราการรอดชีวิตของมะเร็งปอด
อัตราการรอดชีวิตมักพูดเกี่ยวกับผลลัพธ์ของผู้ที่เป็นมะเร็งปอด อัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี หมายถึง จำนวนผู้ป่วยที่ยังมีชีวิตอยู่ที่ 5 ปีหลังจากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง บางคนอาจสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานกว่า 5 ปี อัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปีของมะเร็งปอดทุกชนิดรวมกันนั้นอยู่ที่ประมาณ 18% ผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดมากกว่าครึ่งจะเสียชีวิตภายในปีแรกที่ได้รับการวินิจฉัย อัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปีของมะเร็งปอดที่ตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกนั้นอยู่ที่ประมาณ 54% และอยู่ที่ 4% ในผู้ป่วยที่ตรวจพบระยะที่มะเร็งแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกาย

การพยาบาล ลดความไม่สุขสบาย ลดความวิตกกังวลและความกลัว ป้องกันภาวะพร่องออกซิเจน ส่งเสริมให้ได้รับสารอาหารและน้ำอย่างเพียงพอ และป้องกันภาวะเสียสมดุลน้ำและอิเล็กโทรไลต์

โรคมะเร็งปอดสามารถป้องกันได้ด้วยการลดความเสี่ยง

ในประเทศไทยมะเร็งปอดเป็นโรคที่พบมาก และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเป็นอันดับต้น ๆ ทั้งในเพศชายและหญิง เมื่ออุบัติการณ์โรคกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในเพศหญิง ผู้ป่วยมะเร็งปอดส่วนใหญ่ (80-90%) เกิดจากการสูบบุหรี่จึงสามารถป้องกันได้ ธรรมชาติทางชีววิทยาของมะเร็งปอดทำให้เราพบผู้ป่วยเมื่อเริ่มมีอาการในขณะที่โรคอยู่ในระยะลุกลามและแพร่กระจาย เป็นเหตุให้ผู้ป่วยประมาณ 90% เสียชีวิตจากโรคมะเร็งภายในระยะเวลา 1-2 ปี มะเร็งปอดพบมากในคนอายุ 50-75 ปี ผู้ป่วยส่วนใหญ่ (80%) จะเป็นผู้ที่สูบบุหรี่ และประมาณ 5% จะเป็นผู้ที่ต้องสูดดมควันบุหรี่จากผู้อื่น ผู้ที่สูดดมควันบุหรี่จากผู้อื่นจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น 26% สาเหตุของมะเร็งปอดเกิดจากสารก่อมะเร็งชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารที่ได้รับจากการสูบบุหรี่ จากการศึกษาพบว่า ผู้ที่สูบบุหรี่วันละ 1 ซอง เป็นเวลานาน 20 ปี จะมีโอกาสเป็นมากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ 6-7 เท่า การเลิกสูบบุหรี่สามารถลดโอกาสที่จะเกิดมะเร็งให้น้อยลงได้ ถึงแม้จะไม่น้อยลงเท่าคนไม่สูบบุหรี่ก็ตาม


 

จำนวนมวนของบุหรี่ที่สูบต่อวันและชนิดของบุหรี่ที่สูบสัมพันธ์กับอัตราเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด ผู้ที่สูบบุหรี่ 10-13% จะเกิดมะเร็งปอดภายในระยะเวลา 30-40 ปี อย่างไรก็ตามถ้าเลิกสูบบุหรี่ก็สามารถลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดลงเหลือเท่าผู้ไม่สูบบุหรี่ได้ภายในระยะเวลา 10-15 ปี ผู้ที่สูบบุหรี่และเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจะยิ่งเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด สารก่อมะเร็งที่อาจเป็นสาเหตุของโรคในผู้ป่วย 10-15% ที่ไม่สูบบุหรี่ ได้แก่ แอสเบสตอส (ตัวอย่างเช่น ผู้ที่ทำงานในโรงงานผลิตผ้าเบรกรถยนต์ เป็นต้น) โดยเฉพาะถ้าคนนั้นสูบบุหรี่ด้วยจะยิ่งเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งสูงถึง 50 เท่า สารก่อมะเร็งอื่น ๆ ได้แก่ แร่เรดอน มลภาวะในอากาศจากอุตสาหกรรมโลหะหนัก ควันและมลภาวะในสิ่งแวดล้อม การฉายรังสีเพื่อรักษา

มะเร็งชนิดอื่นก็อาจเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็งปอดได้ โดยเฉพาะผู้สูบบุหรี่ร่วมด้วย นอกจากนี้ปัจจัยทางพันธุกรรมก็อาจมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย มะเร็งปอดเป็นโรคที่ตรวจหาในระยะเริ่มแรกได้ยาก การนำผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง (ผู้ชายสูบบุหรี่อายุเกิน 40 ปี) มาตรวจเสมหะและเอกซเรย์ปอดเพื่อพยายามจะลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง พบว่าสามารถพบผู้ป่วยมะเร็งในระยะเริ่มแรกมากขึ้น แต่ไม่สามารถลดอัตราการตายลงได้ จึงเชื่อว่ามะเร็งปอดแม้จะมีขนาดเล็กก็พบการแพร่กระจายได้สูง มะเร็งปอดมักจะเริ่มมีอาการเมื่อโรคลุกลามมากแล้ว อาการที่พบ ได้แก่ อาการไอ หายใจลำบาก ไอเป็นเลือด ปอดอักเสบบ่อย เจ็บลึกที่หน้าอก หายใจลำบากจากน้ำท่วมปอด เป็นต้น นอกจากนี้อาจมีอาการเนื่องจากมะเร็งลุกลามหรือแพร่กระจาย เช่น เสียงแหบ อาการทางสมอง ปวดกระดูก เป็นต้น

คำถามและคำตอบเกี่ยวกับมะเร็งปอด

ถาม : โรคมะเร็งปอดเกิดจากอะไร ?

ตอบ : ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคมะเร็งปอด แต่จากการศึกษาเชื่อว่าน่าจะมาจากหลายปัจจัยเสี่ยงร่วมกัน ได้แก่

  • การสูบบุหรี่ โดยพบว่าในคนสูบบุหรี่ เมื่อเลิกสูบบุหรี่ โอกาสเกิดโรคมะเร็งปอดจะลดลง นอกจากนี้ยังพบว่าคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่แต่ได้รับควันบุหรี่ สม่ำเสมอ (secondhand smoker/passive smoker) มีปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปอดสูงพอ ๆ หรือสูงกว่าผู้สูบบุหรี่โดยตรง (เพราะสูดควันบุหรี่เข้าปอดเต็มที่โดยไม่มีเครื่องป้องกันหรือไม่มีการพ่นควันบุหรี่ออกมา)
  • การมีพันธุกรรมชนิดไม่ถ่ายทอดบางชนิดผิดปกติ โดยเฉพาะพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการแบ่งตัวและ/หรือการตายของเซลล์
  • ไอเรื้อรัง
  • ไอเป็นเลือด มีเสมหะปนเลือดและ/หรือมีน้ำลายปนเลือด
  • เหนื่อยง่าย หอบ 
  • น้ำหนักลดโดยหาสาเหตุไม่ได้
  • มีไข้ต่ำ ๆ แต่หาสาเหตุไม่ได้
  • บางครั้งมีอาการใบหน้า คอ หรือแขนบวม (มักเป็นแขนข้างขวา) ร่วมกับอาการเหนื่อย หอบ นอนราบไม่ได้ เกิดจากก้อนมะเร็งกดเบียดหรือลุกลาม เข้าหลอดเลือดดำในช่องอก
  • เมื่อโรคลุกลามมาก อาจคลำพบต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณเหนือกระดูกไหปลาร้า
  • บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดไม่มีอาการทางปอดที่ชัดเจน แต่เป็นอาการจากโรคมะเร็งปอดแพร่กระจาย อาการที่พบได้บ่อยคือ การเป็นอัมพาต จากโรคมะเร็งแพร่กระจายเข้าสมองและ/หรือไขสันหลัง (มักร่วมกับอาการปวดหลัง) และอาการปวดหลัง ปวดกระดูก หรือกระดูกหัก จากการที่โรคมะเร็งแพร่กระจายเข้ากระดูก

ถาม : โรคมะเร็งปอดพบได้บ่อยหรือไม่ ?

ตอบ : โรคมะเร็งปอดเป็นโรคมะเร็งที่มีอัตราการเกิดสูงติด 1 ใน 5 ของโรคมะเร็งที่พบบ่อยในคนทั่วโลก ในประเทศไทยโรคมะเร็งปอดก็ติด 1 ใน 10 อันดับของโรคมะเร็งที่พบบ่อยทั้งผู้หญิงและผู้ชาย

โรคมะเร็งปอดเป็นโรคมะเร็งในผู้ใหญ่ มีโอกาสเกิดน้อยกว่าในคนอายุต่ำกว่า 40 ปี โดยพบอัตราการเกิดสูงในช่วงอายุ 50-60 ปี และมีอัตราการเกิด ในผู้ชายสูงกว่าในผู้หญิงประมาณ 2 เท่า

ถาม : โรคมะเร็งปอดมีกี่ชนิด ?

ตอบ : โรคมะเร็งปอดมีหลายชนิดย่อย แต่แบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลักคือชนิดเซลล์ตัวโต (ตัวใหญ่) และชนิดเซลล์ตัวเล็ก โดยชนิดเซลล์ตัวโตจะมีความรุนแรงของโรคต่ำกว่าชนิดเซลล์ตัวเล็ก และเป็นชนิดที่พบได้บ่อยกว่าประมาณ 3-4 เท่า

ถาม : โรคมะเร็งปอดมีอาการอย่างไร ?

ตอบ : โรคมะเร็งปอดไม่มีอาการเฉพาะ แต่จะเป็นอาการเช่นเดียวกับการติดเชื้อในปอดหรือโรคปอดทั่วไป 

ถาม : รู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคมะเร็งปอด ?

ตอบ : แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งปอดได้จากการสอบถามประวัติการตรวจร่างกาย การเอกซเรย์ปอด แต่ที่ให้ผลแน่ชัดคือการเจาะ ดูด หรือตัดชิ้นเนื้อจากก้อนมะเร็งหรือน้ำในปอด/เยื่อหุ้มปอด (อาจใช้วิธีส่องกล้องหรือรังสีร่วมรักษา) ไปตรวจทางเซลล์วิทยาและ/หรือพยาธิวิทยา

ถาม : โรคมะเร็งปอดมีกี่ระยะ ?

ตอบ :รคมะเร็งปอดมี 4 ระยะเช่นเดียวกับโรคมะเร็งชนิดอื่น ๆ (บางระยะแบ่งเป็นระยะย่อย เพื่อให้แพทย์โรคมะเร็งใช้เป็นตัวบ่งชี้ทางการรักษา) ได้แก่

ระยะที่ 1 ก้อนเนื้อมะเร็งมีขนาดไม่เกิน 5 เซนติเมตร และเกิดในตำแหน่งที่ห่างจากขั้วปอด

ระยะที่ 2 ก้อนเนื้อมะเร็งมีขนาดโตมากกว่า 5 เซนติเมตร และ/หรือ ลุกลามเข้าเยื่อหุ้มปอด และ/หรือผนังหน้าอก และ/หรือลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองบริเวณขั้วปอดข้างเดียวกับก้อนมะเร็ง

ระยะที่ 3 ก้อนมะเร็งเกิดในบริเวณใกล้ขั้วปอด และ/หรือลุกลามเข้าปอดกลีบอื่น ๆ เส้นเลือดใหญ่ และ/หรือลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองในช่องอก และ ต่อมน้ำเหลืองเหนือไหปลาร้า

ระยะที่ 4 โรคมะเร็งแพร่กระจายเข้ากระแสเลือด ไปยังอวัยวะอื่น ๆ ซึ่ง อยู่ไกลออกไป อวัยวะที่พบได้บ่อยคือ ตัวปอดเอง กระดูก สมองและตับ และ /หรือมีน้ำมะเร็งในช่องปอดและ/หรือในเยื่อหุ้มหัวใจ

ถาม : โรคมะเร็งปอดรักษาให้หายได้หรือไม่ ?

ตอบ : โรคมะเร็งปอดจัดเป็นมะเร็งชนิดที่มีความรุนแรงของโรคสูงมาก มักพบการลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง และแพร่กระจายเข้ากระแสเลือดสูงมาก แต่ยังมีโอกาสรักษาหายได้ แม้โอกาสรักษาหายจะต่ำกว่าโรคมะเร็งชนิดอื่น ๆ ก็ตาม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่ ระยะของโรค มะเร็ง ผลการผ่าตัดว่าสามารถผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกได้หมดหรือไม่ ประสิทธิภาพในการทำงานของปอด อายุ และสุขภาพของผู้ป่วย

ถาม : โรคมะเร็งปอดมีวิธีรักษาอย่างไร ?

ตอบ : ในโรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต การรักษาโรคในระยะแรกมักเป็นการผ่าตัด อาจร่วมกับเคมีบำบัด แต่ในระยะลุกลามรุนแรง การรักษามักเป็นเคมีบำบัดร่วมกับรังสีรักษา หรือเป็นการรักษาบรรเทา/ประทังอาการ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุและสุขภาพของผู้ป่วย และในโรคระยะแพร่กระจาย การรักษาจะเป็นแบบบรรเทา/ประทังอาการ หรือการประคับประคอง/พยุงอาการ/การรักษาทางอายุรกรรมทั่วไป

การรักษาโรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็ก ซึ่งมีความรุนแรงของโรคสูงกว่าชนิดเซลล์ตัวโต เมื่อตรวจพบโรคมักเป็นโรคระยะลุกลามรุนแรงหรือระยะ แพร่กระจายแล้ว ดังนั้น วิธีการรักษาหลักคือยาเคมีบำบัดและรังสีรักษา อาจเป็นวิธีใดวิธีหนึ่งหรือทั้งสองวิธีการร่วมกัน และ/หรือการรักษาบรรเทา/ ประทังอาการ หรือการประคับประคอง/พยุงอาการ/การรักษาทางอายุรกรรมทั่วไป ส่วนการผ่าตัดจะพิจารณาผู้ป่วยเป็นราย ๆ ไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุและสุขภาพของผู้ป่วย

โรคมะเร็งปอดได้มีการศึกษาเรื่องการใช้ยารักษาตรงเป้าอย่างกว้างขวาง และแม้จะยังจัดเป็นการรักษาที่ยังอยู่ในระหว่างการศึกษา แต่ตัวยาก็มีวาง ขายทั่วไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังเป็นยาที่ไม่สามารถรักษาโรคมะเร็งปอดให้หายได้ เพียงควบคุมโรคได้ระยะหนึ่งจนกว่าโรคจะดื้อยา นอกจากนี้ยายังมีราคาสูงมากเกินกว่าที่ผู้ป่วยทุกคนจะเข้าถึงได้

ถาม : มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดหรือไม่

ตอบ : ปัจจุบันยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดที่มีประสิทธิภาพที่สามารถตรวจโรคมะเร็งปอดให้พบตั้งแต่เมื่อเริ่มเป็น (การเอกซเรย์ปอดและ/หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอดเป็นการวินิจฉัยโรคมะเร็ง ไม่ใช่การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอด) ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดในขณะนี้คือ เมื่อมีอาการผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์

อย่างไรก็ตาม ประเทศทางตะวันตกซึ่งมีผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดจำนวนมากกำลังศึกษากันอย่างกว้างขวาง จริงจัง และเร่งด่วน เพื่อหาวิธีที่มีประสิทธิ ภาพในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอด

ถาม : มีวิธีป้องกันโรคมะเร็งปอดหรือไม่ ?

ตอบ : จนถึงปัจจุบัน วิธีป้องกันการเกิดโรคมะเร็งปอดที่ดีที่สุดคือการไม่สูบบุหรี่ และถ้ายังสูบอยู่ควรเลิก เพราะช่วยลดโอกาสเกิดโรคมะเร็งปอดได้ดังที่กล่าวแล้ว

คุณสามารถอ่านข้อมูลดี ๆ มีประโยชน์แบบนี้ได้เพิ่มเติมที่หนังสือ "ถาม-ตอบมะเร็งร้าย สารพัดชนิด" โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงพวงทอง ไกรพิบูลย์ สำนักพิมพ์ซีเอ็ด เพื่อสนับสนุนผู้แต่ง


23 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
North, C. M., & Christiani, D. C. (2014). Women and lung cancer: What's new? (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3827695/)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป