กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

หลอดลมอักเสบ ต้นเหตุของอาการไอเรื้อรัง

เผยแพร่ครั้งแรก 12 ส.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
หลอดลมอักเสบ ต้นเหตุของอาการไอเรื้อรัง

หลอดลม เป็นอวัยวะที่มีลักษณะเป็นท่อ และมีหน้าที่นำอากาศเข้าสู่ปอด แต่หากเกิดภาวะที่เรียกว่า หลอดลมอักเสบ (Bronchitis) จากสาเหตุใดก็ตาม เยื่อบุหลอดลมจะบวมขึ้น มีเสมหะติดค้างในหลอดลม ทำให้การหายใจติดขัด เกิดอาการหายใจลำบากและไอเรื้อรังได้

ภาวะหลอดลมอักเสบมีอยู่ 2 แบบ คือ หลอดลมอักเสบแบบเฉียบพลัน และ หลอดลมอักเสบแบบเรื้อรัง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ยุค New Normal สุขภาพ เป็นสิ่งที่ทุกคนใส่ใจมากยิ่งขึ้น

ถ้าเริ่มมีอาการเจ็บคอ คันคอ ระคายคอ หรือมีเสมหะ เหนียวคอ มาดู 5 วิธี บรรเทาง่ายๆ ได้ผล อย่ารอให้เป็นหนัก

  • หลอดลมอักเสบแบบเฉียบพลัน (Acute bronchitis) คือการมีอาการของหลอดลมอักเสบ ได้แก่ ไอเรื้อรัง มีเสมหะ เป็นเวลาไม่เกิน 3 สัปดาห์ ซึ่งบางครั้งก็มีอาการไข้ อ่อนเพลียร่วมด้วย สาเหตุมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย
  • หลอดลมอักเสบแบบเรื้อรัง (Chronic bronchitis) คือการมีอาการไอเรื้อรังยาวนานเกิน 3 เดือน ติดต่อกันอย่างน้อย 2 ปี หรือที่เรียกว่าภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง สาเหตุมักมาจากภูมิแพ้ หอบหืด การสัมผัสฝุ่นควัน และเป็นภาวะแทรกซ้อนจากหลอดลมอักเสบเฉียบพลันที่ไม่ได้รับการรักษา

อาการของหลอดลมอักเสบ

หลอดลมอักเสบแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง มีอาการที่เหมือนกัน ได้แก่

  • ไอเรื้อรัง และบางครั้งรู้สึกเจ็บหน้าอกขณะไอ
  • มีเสมหะ ซึ่งอาจเป็นเสมหะใส ขุ่นข้นมีสี หรืออาจมีเลือดปนก็ได้
  • เจ็บคอ หรือแสบคอ
  • หายใจลำบาก หอบเหนื่อย แน่นหน้าอก
  • ผู้ป่วยบางรายอาจมีไข้ โดยเฉพาะในหลอดลมอักเสบแบบเฉียบพลัน

โดยส่วนมาก อาการของหลอดลมอักเสบแบบเฉียบพลันมักหายไปเองภายใน 1-3 สัปดาห์ แต่หากพบอาการผิดปกติดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์

  • ไอเรื้อรังเกิน 3 สัปดาห์ หรือไอหนักมากจนนอนไม่ได้
  • ไอเป็นเลือด หรือเสมหะมีเลือดปนมาก
  • มีไข้สูง หนาวสั่น หอบเหนื่อย

สาเหตุของหลอดลมอักเสบ

  • การติดเชื้อในทางเดินหายใจ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเชื้อไวรัส เช่น adenovirus และ rhinovirus ที่ก่อโรคหวัด และมีบางส่วนที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น Chlamydia pneumonia
  • การมีโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องกับระบบหายใจ เช่น โรคภูมิแพ้ โรคหืด
  • การสูบบุหรี่เป็นเวลานาน
  • การสัมผัสกับมลภาวะ ฝุ่นควัน สารเคมีเป็นประจำ

การดูแลตัวเองเมื่อเป็นหลอดลมอักเสบ

  • พักผ่อนให้เพียงพอ และดื่มน้ำอุ่นบ่อยๆ
  • หลีกเลี่ยงอากาศเย็นและแห้ง ไอเย็นจากเครื่องปรับอากาศ และลมจากพัดลม หากจำเป็นควรปรับแอร์ให้อุณหภูมิสูงกว่าเดิม และไม่เปิดพัดลมจ่อตัวเอง
  • ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย โดยเฉพาะเวลานอน โดยการห่มผ้า สวมถุงเท้า และสวมเสื้อผ้าที่อบอุ่น
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และการสัมผัสกับฝุ่นควัน สารเคมี สารระเหยที่มีกลิ่นฉุน

ซึ่งการปฏิบัติตนดังกล่าว จะช่วยให้การอักเสบของเยื่อบุหลอดลมดีขึ้นได้

การรักษาหลอดลมอักเสบ

โดยทั่วไปหลอดลมอักเสบมักหายเองได้ เมื่อเราดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม แต่หากอาการค่อนข้างรุนแรงจนรบกวนชีวิตประจำวัน จะเน้นการรักษาตามอาการ ดังนี้

หลอดลมอักเสบแบบเฉียบพลัน

  • หากมีอาการไอมาก จนรบกวนการนอนหลับ ให้ทานยาแก้ไอ เช่น dextromethorphan, codeine รวมถึงถ้ามีเสมหะมาก ก็สามารถทานยาขับเสมหะและยาละลายเสมหะได้ แต่ยาดังกล่าวใช้เพื่อบรรเทาอาการไอเท่านั้น ไม่ได้ช่วยให้การอักเสบดีขึ้น
  • หากมีไข้ ให้ทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล
  • หากมีการติดเชื้อแบคทีเรีย อาจต้องทานยาปฏิชีวนะตามคำสั่งแพทย์ เช่น amoxicillin แต่ยามักไม่ให้ผลดีมากนัก

หลอดลมอักเสบแบบเรื้อรัง

  • หากมีการอักเสบเรื้อรัง แพทย์อาจให้ยาพ่นลดการอักเสบ (inhaled corticosteroids or short-course systemic steroids)
  • หากมีอาการไอเรื้อรัง เสมหะอุดตัน และหายใจลำบาก แพทย์มักให้ยาพ่นขยายหลอดลม เช่น salbutamol และ ipratropium bromide
  • ทั้งนี้ การรักษาจะต้องหาสาเหตุของหลอดลมอักเสบ และหลีกเลี่ยงที่ต้นเหตุด้วย

การป้องกันหลอดลมอักเสบ

  • ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการติดเชื้อในทางเดินหายใจ โดยการพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย และทานอาหารที่มีประโยชน์
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และการสัมผัสกับฝุ่นควัน มลพิษ และสารเคมีเป็นเวลานาน
  • หากเป็นโรคภูมิแพ้ ควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นอาการแพ้ เช่น ขนสัตว์ เกสรดอกไม้


18 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Bronchitis: Definition, causes, symptoms, and treatment. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/8888)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)