กัมมันตภาพรังสี…อันตรายที่มองไม่เห็น

เผยแพร่ครั้งแรก 3 ต.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
กัมมันตภาพรังสี…อันตรายที่มองไม่เห็น

รังสีเป็นพลังงานรูปแบบหนึ่งที่สัมผัสไม่ได้ด้วยประสาทสัมผัสของมนุษย์ แต่สามารถตรวจวัดได้ด้วยอุปกรณ์พิเศษ

ในปัจจุบันเราได้นำคุณสมบัติของรังสีมาใช้ประโยชน์มากมาย เช่น ใช้ถ่ายภาพเอกซเรย์ เพราะรังสีสามารถทะลุทะลวงร่างกายทำให้เกิดเงาในแผ่นเอกซเรย์ หรือโรงงานพลังงานนิวเคลียร์ซึ่งนำสารกัมมันตภาพรังสีมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นต้น ทราบหรือไม่ว่าในความเป็นจริงเราสัมผัสรังสีตลอดเวลา เนื่องจากมันมีอยู่ทั่วไปตามธรรมชาติปะปนกับอากาศที่เราหายใจและอาหารที่เรารับประทาน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

กัมมันตภาพรังสี อันตรายต่อมนุษย์อย่างไร?

รังสีคอสมิกที่จากชั้นบรรยากาศเมื่อเข้าใกล้พื้นผิวโลกความเข้มข้นของมันจะลดลงเรื่อยๆจนไม่ทำให้เกิดอันตรายกับมนุษย์ แต่ผู้ที่อยู่บนที่สูงหรือทำงานที่ความสูงเหนือระดับน้ำทะเลมากๆเช่น นักบิน คนเหล่านี้จะได้รับปริมาณรังสีมากกว่าคนทั่วไป แต่บทความนี้อยากให้ทำความรู้จักกับก๊าซเรดอนซึ่งเป็นก๊าซกัมมันตภาพรังสีชนิดหนึ่งที่พบได้ทั่วไปในบ้านที่เราอาศัยอยู่และอาจเป็นเหตุให้เราได้รับสารกัมมันตภาพรังสีมากเสียกว่าคนที่อาศัยอยู่รอบๆโรงงานพลังงานนิวเคลียร์เสียอีก ความสำคัญคือเรดอนถูกจัดให้เป็นสารก่อมะเร็งและเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปอดเป็นอันดับสองของรองจากการสูบบุหรี่ รู้แบบนี้เรามาทำความรู้จักกับก๊าซเรดอนกันเลย

แร่ยูเรเนียมเป็นต้นกำเนิดของก๊าซเรดอน หากย้อนไปดูตารางธาตุในหนังสือเคมีจะพบว่ายูเรเนียมถูกจัดให้อยู่ท้ายสุดของตารางธาตุเนื่องจากเป็นธาตุที่หนักที่สุดในโลกตรงข้ามกับก๊าซไฮโดรเจนซึ่งเป็นธาตุที่เบาที่สุด ยูเรเนียมเป็นธาตุที่เกิดตามธรรมชาติอยู่ในชั้นหินและการสลายตัวของยูเรเนียมเป็นแหล่งกำเนิดความร้อนให้แก่เปลือกโลก

ปัจจุบันมีการทำเหมืองเพื่อนำยูเรเนียมในหลายประเทศคล้ายๆกับเหมืองแร่ดีบุก แร่ยิปซั่ม เพื่อมาใช้สำหรับโรงงานนิวเคลียร์ในการผลิตไฟฟ้า เมื่อยูเรเนียมตามธรรมชาติแตกตัวจะให้เป็นก๊าซเรดอนซึ่งจะซึมขึ้นสู่อากาศบนผิวดิน โดยปกติก๊าซเรดอนในธรรมชาติจะถูกเจือจางในอากาศไม่ทำให้เกิดอันตราย

ปัญหาอยู่ที่อาคารที่มีการระบายอากาศไม่ดีและมีความกดอากาศต่ำกว่าภายนอกทำให้ก๊าซไหลเข้าไปสะสมภายในได้ง่าย หากมีรอยแตกร้าวของตัวอาคารร่วมด้วยก๊าซก็จะซึมเข้าได้มากขึ้นหรือแม้แต่ซึมออกมาจากตัวอาคารที่มีธาตุยูเรเนียมปะปนมาในอิฐหรือหินที่ใช้ก่อสร้างก็ได้ การสูบน้ำใต้ดินหรือน้ำบาดาลที่มีเรดอนปนมาใช้ก๊าซสามารถระเหยและสะสมอยู่ในบ้านได้เช่นกัน แต่ไม่ใช่ทุกพื้นที่จะมีระดับก๊าซเรดอนเท่ากันขึ้นกับว่าพื้นดินตรงนั้นมีธาตุยูเรเนียมมากน้อยแค่ไหน

รายงานของมะเร็งปอดพบมากในพื้นที่ที่เป็นเหมืองยูเรเนียมซึ่งตรงไปตรงมา แต่เป็นที่น่าตกใจที่กลับพบว่าความเข้มข้นของก๊าซนี้มีสูงมากในบ้านเรือนที่อยู่อาศัยทำให้หลายประเทศให้ความสำคัญและตื่นตัวกับการตรวจวัดระดับก๊าซนี้อย่างจริงจังรวมถึงก่อสร้างบ้านลดการสะสมก๊าซเรดอน สำหรับประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดให้ตรวจวัดระดับก๊าซเรดอนแต่เริ่มมีการศึกษาในพื้นที่ที่มีผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดสูง เช่น จังหวัดเชียงใหม่ จากการสุ่มตรวจในบ้านเรือนภายในกรุงเทพมหานครก็พบว่าบางบ้านเรือนมีระดับก๊าซเรดอนสูงกว่าค่ากำหนด

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ปัจจุบันสถาปนิคให้ความสำคัญกับการสร้างที่อยู่อาศัยโดยมีวิธีลดการสะสมของก๊าซเรดอนในบ้านได้ 3 วิธี คือ

  • ลดระดับความดันที่ผิวดิน ด้วยการติดตั้งท่อดูดก๊าซใต้ตัวอาคารทำให้ความดันบริเวณพื้นดินใต้ตัวอาคารต่ำลง อากาศจากภายนอกและในอาคารจะไหลลงไปด้านล่างแทน
  • เพิ่มระดับความดันในอาคาร เป็นการดูดอากาศจากภายนอกเข้ามามากกว่าที่ระบายออก วิธีนี้ทำให้ความดันในอาคารสูงขึ้นป้องกันก๊าซไหลเข้ามาภายใน
  • ปิดรอยรั่วเพื่อป้องกันก๊าซซึมสู่ตัวอาคาร แต่ทำได้ยากที่จะอุดรอยรั่วทั้งหมดในอาคารขนาดใหญ่

เรื่องกัมมันตภาพรังสีอาจดูไกลตัวแต่ความจริงสารเหล่านี้อยู่ใกล้ตัวเรามาก เรารู้จักรังสีในทางการแพทย์ แต่ความเป็นจริงมันถูกนำมาใช้อุตสาหกรรมหลายอย่างซึ่งสุดท้ายกลายเป็นของเสียที่ต้องการกำจัด ขยะเหล่านี้อาจหลุดออกจากกระบวนการกำจัดที่ถูกวิธีทำให้เกิดการปล่อยรังสีสู่สภาพแวดล้อมอย่างไม่ตั้งใจเช่นตัวอย่างที่เคยเกิดในประเทศไทยหลายปีก่อน

โดยทั่วไปการสัมผัสสารกัมมันตรังสีจะส่งผลอย่างไรต่อร่างกายก็ขึ้นกับปริมาณรังสีที่ได้รับ เช่น ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองการทิ้งระเบิดปรมณูที่ฮิโรชิมาซึ่งมีธาตุยูเรเนียมเป็นส่วนประกอบ การระเบิดได้ปล่อยรังสีปริมาณสูงมากทำให้ผู้คนร่วมแสนที่ได้รับรังสีนั้นเสียชีวิตโดยร้อยละ 80 เสียชีวิตภายในวันที่ถูกระเบิด

เมื่อร่างกายได้รับรังสีปริมาณสูงจะส่งผลต่อระบบประสาททำให้สมองบวม สำหรับคนที่เสียชีวิตภายใน 4-10 วัน หลังจากนั้นมักได้รับรังสีน้อยกว่ากลุ่มแรก โดยมีสาเหตุการเสียชีวิตมาจากร่างกายขาดน้ำเพราะถ่ายเหลวเนื่องจากเยื่อบุในลำไส้ซึ่งเป็นส่วนที่ไวต่อรังสีถูกทำลายและหลุดลอกจนสร้างทดแทนไม่ไหว คนที่อยู่รอดได้ในเวลาต่อมาพบว่าเกิดมะเร็งเม็ดเลือดมากกว่าคนทั่วไปเกือบ 20 เท่ารวมถึงมะเร็งชนิดอื่นๆด้วย อันนี้เป็นเพราะว่ารังสีมีพลังงานที่เข้าไปทำให้ยีนกลายพันธุ์เปลี่ยนเซลล์ปกติกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ ส่วนที่ไม่เป็นมะเร็งก็มีอายุที่สั้นลงและเกิดต้อกระจกมากกว่าคนปกติอย่างชัดเจน

เป็นไปได้ว่าโรคมะเร็งเกิดมากขึ้นโดยเฉพาะเกิดกับคนในพื้นที่เดียวกันหรือครอบครัวเดียวกัน นอกจากสาเหตุทางพันธุกรรมแล้วอาจเกิดจากการสัมผัสสารกัมมันตภาพรังสีโดยไม่รู้ตัวก็ได้ มะเร็งปอดกับก๊าซเรดอนก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง การตรวจระดับก๊าซและลดการสะสมของก๊าซเรดอนในอาคารบ้านเรือนเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Radiation risk from medical imaging. Harvard Health. (https://www.health.harvard.edu/cancer/radiation-risk-from-medical-imaging)
Radiation sickness: Sources, effects, and protection. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/219615)
Ionizing radiation, health effects and protective measures. World Health Organization (WHO). (https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/ionizing-radiation-health-effects-and-protective-measures)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป