กองบรรณาธิการ HonestDocs
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HonestDocs
พญ.วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
พญ.วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี

การรักษามะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer)

เผยแพร่ครั้งแรก 23 เม.ย. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 5 ต.ค. 2020 เวลาอ่านประมาณ 8 นาที

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • โรคมะเร็งปากมดลูกเป็นโรคมะเร็งที่พบได้มากเป็นอันดับต้นๆ ในผู้หญิงทั่วโลกและผู้หญิงไทย พบได้ในผู้หญิงตั้งแต่อายุยังน้อยไปจนถึงวัยชรา
  • ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้คือ การติดเชื้อไวรัส HPV ส่วนสาเหตุอื่นๆ เช่น มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย มีความผิดปกติในมดลูก รับประทานยาคุมกำเนิดติดต่อกันนาน การเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  • โรคมะเร็งปากมดลูกแบ่งออกได้ 4 ระยะ โดยระยะที่ร้ายแรงสุดคือ เชื้อมะเร็งกระจายไปยังช่องคลอด ผนังเชิงกราน กระเพาะปัสสาวะ และเริ่มลุกลามไปสู่อวัยวะอื่นๆ
  • การรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับว่า เชื้อมะเร็งได้กระจายไปมากน้อยขนาดไหน เช่น การตัดชิ้นเนื้อปากมดลูก การผ่าตัดเอามดลูกออก การใช้รังสีรักษาร่วมกับยาเคมีบำบัด
  • โรคมะเร็งปากมดลูกมีสิทธิ์กลับมาเป็นซ้ำได้ ดังนั้นผู้ที่เคยกำจัดเชื้อมะเร็งออกไปแล้วยังต้องมาตรวจกับแพทย์เพื่อติดตามอาการ และตรวจหาสัญญาณการกลับมาเป็นโรคมะเร็งอีกครั้ง
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจโรคมะเร็งสำหรับผู้หญิง

โรคมะเร็งปากมดลูก (Cancer of Cervix) เป็นประเภทของโรคมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับต้นๆ ในผู้หญิงทั่วโลกและผู้หญิงไทย สามารถพบได้ในผู้หญิงตั้งแต่วัยสาวจนถึงวัยชรา แต่จะพบมากที่สุดในผู้หญิงอายุ 30-50 ปี 

โรคมะเร็งปากมดลูกถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้หญิงไทยมากเป็นอันดับต้นๆ โดยเฉลี่ยจะพบผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งปากมดลูกถึง 14 รายต่อวัน 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจมะเร็งทั่วไปวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 340 บาท ลดสูงสุด 64%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

สาเหตุของมะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูกเกือบทั้งหมดมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสชื่อ HPV (Human Papilloma Virus) ซึ่งมีนับร้อยสายพันธุ์ จากการมีเพศสัมพันธ์กับชาย หรือหญิงที่มีเชื้อไวรัสนี้ที่อวัยวะเพศ 

สายพันธุ์ไวรัส HPV ที่มีความเสี่ยงทำให้เกิดความผิดปกติบเซลล์ปากมดลูก ซึ่งนำไปสู่การเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกได้คือ สายพันธุ์ 16 และ 18 ส่วนสายพันธุ์ที่ 6 และ 11 จัดเป็นสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงต่ำในการก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก 

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองสายพันธุ์นี้ก็สามารถทำให้เกิดโรคหูดหงอนไก่และมะเร็งทวารหนักซึ่งเป็นโรคที่พบได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย 

ความน่ากลัวของโรคมะเร็งปากมดลูกคือ หลังจากติดเชื้อไวรัสแล้วจะยังไม่แสดงอาการใดๆ นานนับสิบปี ดังนั้นผู้ป่วยหลายรายกว่าจะตรวจพบว่า เป็นมะเร็งปากมดลูกก็เข้าสู่ระยะท้ายๆ แล้ว ซึ่งการรักษามักไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร 

อีกทั้งผู้ป่วยยังมีโอกาสเสียชีวิตสูงเนื่องจากมะเร็งได้ลุกลามและแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อและอวัยวะใกล้เคียงอื่นๆ แล้ว 

อาการของโรคมะเร็งปากมดลูก

  • มีตกขาวจำนวนมากผิดปกติ
  • ตกขาวมีลักษณะเป็นหนอง มีกลิ่นเหม็น หรือมีลักษณะคล้ายน้ำไหลออกมาจากช่องคลอด
  • มีเลือดออกกะปริดกะปรอย
  • มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์
  • มีเลือดออกในขณะที่ไม่ใช่รอบเดือน

หากโรคมะเร็งปากมดลูกแพร่กระจายสู่เนื้อเยื่อรอบๆ และอวัยวะใกล้เคียง อาจทำให้เกิดอาการดังนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจมะเร็งทั่วไปวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 340 บาท ลดสูงสุด 64%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

  • ท้องผูก
  • ปัสสาวะมีเลือดปน
  • สูญเสียการควบคุมการปัสสาวะ
  • ปวดกระดูก
  • ขาบวมข้างใดข้างหนึ่ง
  • ปวดที่หลัง หรือปวดด้านข้างของร่างกายอย่างรุนแรง
  • มีการเปลี่ยนแปลงการทำงานของกระเพาะปัสสาวะและลำไส้
  • เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
  • อ่อนเพลีย รู้สึกไม่มีเรี่ยวแรง

ใครเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูก

  • ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุต่ำกว่า 18 ปี 
  • ผู้หญิงที่อายุมากกว่า 40 ปี 
  • ผู้หญิงที่มีคู่นอนหลายคน หรือมีคู่นอนที่มีประวัติติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually Transmitted Disease: STD) หรือเชื้อไวรัสเอชพีวี (Human Papillomavirus: HPV) หรือเรียกอีกชื่อว่า "ไวรัสหูด"
  • มีประวัติเป็นโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
  • มีโรคเรื้อรัง หรือโรคที่ทำให้ภูมิต้านทานต่ำ เช่น โรคเอดส์ การติดเชื้อไวรัสเอชไอวี
  • ผู้หญิงที่มีประวัติความผิดปกติเกี่ยวกับปากมดลูก ช่องคลอด หรือเยื่อบุเซลล์มดลูกผิดปกติ
  • ผู้ที่สูบบุหรี่บ่อย
  • ผู้หญิงที่รับประทานยาคุมกำเนิดติดต่อกันมากกว่า 5 ปี

การวินิจฉัยโรคมะเร็งปากมดลูก

หากแพทย์สงสัยว่า ผู้ป่วยอาจเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก หรือมีผลการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแล้วพบความผิดปกติที่เซลล์ปากมดลูก แพทย์อาจส่งตัวไปตรวจเพิ่มเติมโดยใช้กล้องส่องตรวจช่องคลอด (Colposcopy) แพทย์จะนำตัวอย่างเนื้อเยื่อจากปากมดลูกไปตรวจดูว่า "มีเซลล์มะเร็งหรือไม่" 

ผู้ป่วยบางรายอาจได้รับการตัดชิ้นเนื้อปากมดลูกออกเป็นรูปกรวย เมื่อตัดชิ้นเนื้อแล้ว อาจพบอาการเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดนานถึง 4 สัปดาห์ และอาจมีอาการปวดคล้ายกับมีประจำเดือนด้วย

หากผลจากการตรวจชิ้นเนื้อยืนยันว่า ผู้ป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกและมีความเสี่ยงที่มะเร็งจะแพร่กระจายออกไป อาจจำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติมดังนี้

  • การตรวจภายใน เพื่อตรวจมดลูก ช่องคลอด ลำไส้ และกระเพาะปัสสาวะว่า มีการแพร่กระจายของมะเร็งไปหรือไม่
  • ตรวจเลือด เพื่อช่วยประเมินการทำงานของตับ ไต และไขกระดูก
  • การสแกนด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) การสแกนร่างกายและใช้คอมพิวเตอร์สร้างภาพอวัยวะภายในร่างกายแบบสามมิติ การตรวจซีทีสแกนจะช่วยบ่งชี้ว่า มีก้อนเนื้องอกมะเร็งหรือไม่ และมีการแพร่กระจายหรือไม่
  • การตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ MRI scan (Magnetic Resonance Imaging) การตรวจสแกนนี้จะใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเข้มข้นในการสร้างเป็นภาพของอวัยวะภายในร่างกาย ใช้เพื่อตรวจว่า มะเร็งมีการแพร่กระจายหรือไม่
  • เอกซเรย์ปอด เพื่อดูว่า มะเร็งแพร่กระจายไปที่ปอดหรือไม่
  • เพทสแกน (Positron Emission Tomography: PET scan) คือ การตรวจสแกนชนิดพิเศษร่วมกับการฉีดสารกัมมันตรังสีเข้าทางหลอดเลือดดำ เพื่อให้มองเห็นภาพเซลล์มะเร็งได้ชัดเจนขึ้น การตรวจนี้มักทำร่วมกับการทำซีทีสแกน ในการดูว่า มะเร็งแพร่กระจายไปมากน้อยแค่ไหนและดูการตอบสนองต่อการรักษาที่ได้รับ

ระยะของมะเร็งปากมดลูก

โรคมะเร็งปากมดลูกแบ่งออกเป็น 5 ระยะหลัก แต่ละระยะสามารถระบุการกระจายของเซลล์มะเร็งได้ ดังนี้

  • ระยะที่ 0 หรือระยะก่อนเป็นมะเร็ง ยังไม่มีเซลล์มะเร็งที่ปากมดลูก แต่พบการเปลี่ยนแปลงทางชีววิทยาที่สามารถกระตุ้นให้เกิดมะเร็งในอนาคต เราเรียกว่า "ระยะที่ตรวจพบเซลล์ปากมดลูกเจริญผิดปกติ (Cervical Intraepithelial Neoplasia (CIN)) หรือมะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มแรก (Carcinoma In Situ (CIS))"
  • ระยะที่ 1 มะเร็งกระจายอยู่เฉพาะที่ปากมดลูกเท่านั้น
  • ระยะที่ 2 มะเร็งมีการแพร่กระจายออกไปจากปากมดลูกเข้าสู่เนื้อเยื่อข้างเคียง แต่ยังไม่ถึงเนื้อเยื่อบุอุ้งเชิงกราน (ผนังอุ้งเชิงกราน) หรือส่วนล่างของช่องคลอด
  • ระยะที่ 3 มะเร็งแพร่กระจายไปยังส่วนล่างของช่องคลอด และ/หรือ ผนังเชิงกรานส่วนล่าง โดยอาจไปกดท่อไตที่ลำเลียงปัสสาวะจากไตไปสู่กระเพาะปัสสาวะ แต่ยังไม่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง หรืออวัยวะไกลๆ
  • ระยะที่ 4 มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะใกล้เคียง หรือส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เช่น ลำไส้ กระเพาะปัสสาวะ ปอด

การรักษามะเร็งปากมดลูกมีวิธีใดบ้าง?

การรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกจะขึ้นกับว่า มะเร็งแพร่กระจายไปมากน้อยเพียงใด เนื่องจากการรักษาโรคมะเร็งมีความซับซ้อน โรงพยาบาลแต่ละแห่งจึงใช้ทีมสหสาขาวิชาชีพซึ่งประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาวิชาชีพ ร่วมกันวางแผนการรักษาโรคมะเร็งให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

ทีมแพทย์จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย แต่สุดท้ายผู้ป่วยจะเป็นผู้ตัดสินใจว่า จะรักษาด้วยวิธีใด โดยส่วนใหญ่แล้ว แพทย์จะแนะนำให้รักษาด้วยวิธีเหล่านี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจมะเร็งสำหรับผู้หญิงวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 495 บาท ลดสูงสุด 79%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

  • การทำลายเนื้อเยื่อผิดปกติบริเวณปากมดลูก
  • การผ่าตัด
  • รังสีรักษา
  • ยาเคมีบำบัด

การทำลายเนื้อเยื่อผิดปกติบริเวณปากมดลูก 

หากผลการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกพบว่า ผู้ป่วยยังไม่ได้เป็นโรคมะเร็งปากมดลูก แต่พบการเปลี่ยนแปลงทางชีววิทยาที่สามารถเปลี่ยนไปเป็นมะเร็งได้ในอนาคต กรณีนี้มีทางเลือกในการรักษาหลายวิธี เช่น

  • การตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า ตัดเซลล์ผิดปกติออกจากร่างกาย โดยการใช้เส้นลวดร่วมกับการปล่อยกระแสไฟฟ้า
  • การตัดชิ้นเนื้อปากมดลูกออกเป็นรูปกรวย (Cone Biopsy) เซลล์เนื้อเยื่อที่ผิดปกติจะถูกตัดออกระหว่างการผ่าตัด
  • การใช้เลเซอร์จี้ทำลาย (Laser Therapy) การใช้เลเซอร์ทำลายเซลล์ผิดปกติ

การผ่าตัด

มีการผ่าตัดหลัก 3 วิธีที่ใช้รักษาโรคมะเร็งปากมดลูก ได้แก่

1.การตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวยแบบกว้าง (Radical trachelectomy) 

การตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวยแบบกว้างเป็นการผ่าตัดที่ต้องอาศัยทักษะความชำนาญ ซึ่งบางโรงพยาบาลอาจไม่สามารถทำได้ เนื่องจากต้องผ่าตัดปากมดลูก เนื้อเยื่อข้างเคียง และส่วนบนของช่องคลอดจะถูกตัดออกจากร่างกาย แต่ตัวมดลูกยังคงอยู่ที่เดิม 

เหมาะสำหรับกับผู้ที่เป็นโรคมะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มแรก และเหมาะกับผู้ที่ยังต้องการมีบุตร แต่ก็ไม่เป็นการยืนยันแน่นอนว่า ผู้ป่วยยังสามารถมีลูกได้ในอนาคต

ถ้ามีลูกหลังการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ แม่ต้องคลอดด้วยการผ่าตัดคลอด (caesarean section) เท่านั้น นอกจากนี้หลังการผ่าตัดแล้วหากต้องการมีลูกคนต่อไปแนะนำให้รอ 6-12 เดือน เพื่อให้มีเวลามากพอสำหรับมดลูกและช่องคลอดในการฟื้นตัว

2.การผ่าตัดมดลูกออก (Hysterectomy) 

การผ่าตัดนำมดลูกและปากมดลูกออกขึ้นอยู่กับระยะของโรคมะเร็ง อาจมีความจำเป็นต้องผ่าตัดรังไข่และท่อนำไข่ออกด้วย เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นโรคมะเร็งปากมดลูกระยะแรกถึงระยะที่ 2 และอาจรักษาต่อด้วยการใช้รังสีรักษาเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็ง

การผ่าตัดมดลูกออกเพื่อรักษามะเร็งปากมดลูก มี 2 วิธีได้แก่

  • การผ่าตัดมดลูกธรรมดา เป็นการผ่าตัดปากมดลูกและตัวมดลูกออกจากร่างกาย ในบางกรณีอาจต้องมีการตัดรังไข่และท่อนำไข่ออกด้วย การผ่าตัดด้วยวิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มแรกเท่านั้น
  • การผ่าตัดมดลูกแบบกว้าง หรือผ่าตัดแบบถอดรากโคน (Radical hysterectomy) เป็นการผ่าตัดเอาปากมดลูก มดลูก เนื้อเยื่อและต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง รังไข่ และท่อนำไข่ ออกทั้งหมด แนะนำให้ทำในผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกระยะรุนแรง มีการแพร่กระจาย 

ภาวะแทรกซ้อนระยะสั้นที่พบได้คือ การติดเชื้อ เลือดออก เลือดอุดตัน ทำให้ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ และลำไส้ตรงได้รับความเสียหายโดยไม่ตั้งใจ สำหรับความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวมีน้อย แต่ถ้าเกิดขึ้นจะรบกวนชีวิตประจำวันได้ 

ภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว ได้แก่

  • ความเสี่ยงที่ช่องคลอดจะสั้นลงและแห้ง ทำให้เจ็บปวดระหว่างมีเพศสัมพันธ์
  • กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
  • แขนขาบวม เนื่องจากมีของเหลวสะสม (บวมน้ำเหลือง หรือ lymphoedema)
  • ลำไส้อุดตันเพราะมีเนื้อเยื่อแผลเป็นเกิดขึ้น ซึ่งอาจจำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

เมื่อตัดมดลูกตัดออกจะทำให้ไม่สามารถมีลูกได้ และหากมีการผ่าตัดรังไข่ออกไปจะทำให้หมดประจำเดือนก่อนวัยได้ในรายที่ยังไม่หมดประจำเดือน

3.การผ่าตัดอวัยวะในอุ้งเชิงกรานแบบกว้าง (Pelvic Exenteration) 

การผ่าตัดใหญ่ที่จะผ่าเอาปากมดลูก ช่องคลอด มดลูก กระเพาะปัสสาวะ รังไข่ ท่อน้ำไข่ และลำไส้ตรงออกจากร่างกาย มักใช้รักษาผู้ที่ประสบปัญหามะเร็งปากมดลูกกลับมาเป็นซ้ำเฉพาะภายในบริเวณอุ้งเชิงกราน แต่ไม่แพร่กระจายออกจากบริเวณนี้ 

การผ่าตัดอวัยวะในอุ้งเชิงกรานแบบกว้างจะแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน ดังนี้

  • การผ่าตัดมะเร็งออก รวมไปถึงกระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ตรง ช่องคลอด และส่วนล่างของลำไส้
  • การผ่าตัดรู 2 รูไว้ที่หน้าท้อง เพื่อเป็นทางระบายอุจจาระและปัสสาวะออกจากร่างกายเข้ามาเก็บไว้ที่ถุงกักเก็บปัสสาวะและอุจจาระ

ภายหลังการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ ผู้ป่วยยังสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ภายหลังการพักฟื้นแต่อาจต้องใช้เวลาหลายเดือน

รังสีรักษา 

การใช้รังสีรักษาสามารถใช้เดี่ยวๆ หรือใช้ร่วมกับการผ่าตัดในการรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มแรก และอาจใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัดสำหรับรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกระยะลุกลาม ซึ่งสามารถใช้เพื่อควบคุมอาการเลือดออก และอาการปวดได้

การใช้รังสีรักษามักใช้เวลาประมาณ 5-8 สัปดาห์ต่อคอร์ส การให้รังสีรักษาสามารถให้ได้ 2 วิธี ได้แก่

  • ให้ภายนอกร่างกาย (externally) เป็นการใช้เครื่องฉายคลื่นพลังงานสูงภายนอกร่างกายเข้ามาที่บริเวณอุ้งเชิงกรานเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง
  • ให้ภายในร่างกาย (internally) เป็นการฝังแร่กัมมันตรังสีภายในช่องคลอดและปากมดลูก

ส่วนใหญ่แล้วจะใช้รังสีรักษาทั้งภายในและภายนอกร่างกายร่วมกัน โดยคอร์สของการรักษาด้วยรังสีรักษามักใช้เวลาประมาณ 5-8 สัปดาห์

เนื่องจากรังสีรักษาทำลายเซลล์มะเร็งได้ มันจึงสามารถทำลายเซลล์ปกติในร่างกายได้ด้วยเช่นกัน ทำให้เกิดผลข้างเคียงกับผู้ป่วยเป็นเวลาหลายเดือน หรืออาจเป็นปีหลังการรักษา

ผลข้างเคียงของรังสีรักษาที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • ท้องเสีย
  • เจ็บปวดขณะปัสสาวะ
  • เลือดออกจากช่องคลอด หรือไส้ตรง
  • รู้สึกอ่อนเพลีย
  • รู้สึกคลื่นไส้
  • ผิวหนังบริเวณอุ้งเชิงกรานแสบร้อนคล้ายๆ กับการโดนแดดเผาไหม้
  • ช่องคลอดแคบลง ทำให้เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
  • เกิดภาวะมีบุตรยากขึ้น
  • มีความเสียหายเกิดขึ้นที่รังไข่ ซึ่งทำให้หมดประจำเดือนก่อนวัยอันควร (หากคุณยังคงมีประจำเดือนอยู่)
  • มีความเสียหายเกิดขึ้นที่กระเพาะปัสสาวะและลำไส้ ทำให้ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะ/อุจจาระ ได้

ผลข้างเคียงส่วนใหญ่ที่กล่าวถึงข้างต้นจะค่อยๆ ดีขึ้นภายใน 8 สัปดาห์หลังสิ้นสุดการรักษา แต่บางกรณีผลข้างเคียงอาจเป็นอย่างถาวร ผลข้างเคียงบางอย่างอาจเกิดขึ้นภายหลังการรักษาเสร็จสิ้นไปแล้วเป็นเวลาหลายเดือน หรือเป็นปี ก็ได้

ยาเคมีบำบัด 

สามารถใช้ร่วมกับรังสีรักษาเพื่อรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกให้หายขาด หรืออาจใช้เดี่ยวๆ เพื่อรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกระยะลุกลามเพื่อชะลอโรคและช่วยบรรเทาอาการให้กับผู้ป่วย

ยาเคมีบำบัดสามารถใช้ได้ทั้งยาเดี่ยว คือ cisplatin หรือใช้ร่วมกันระหว่างยาเคมีบำบัดหลายชนิดเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง โดยทั่วไปจะให้ยาเคมีบำบัดโดยการหยดยาเข้าหลอดเลือดดำในลักษณะของผู้ป่วยนอก เมื่อรับยาครบแล้วสามารถกลับบ้านได้

ยาเคมีบำบัดก็เหมือนกับรังสีรักษาคือ ตัวยาสามารถทำลายเซลล์ปกติในร่างกายได้ โดยผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยของยาเคมีบำบัด ได้แก่

  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ท้องเสีย
  • รู้สึกอ่อนเพลียตลอดเวลา
  • เซลล์เม็ดเลือดมีปริมาณลดลง ทำให้รู้สึกอ่อนเพลียและหายใจหอบเหนื่อย (โลหิตจาง) และมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ง่ายเพราะขาดเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรค
  • แผลในปาก
  • เบื่ออาหาร
  • ผมร่วง ผมควรกลับมางอกใหม่ภายใน 3-6 เดือน หลังจบคอร์สของการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ยาเคมีบำบัดทุกตัวจะทำให้เกิดผมร่วง

ยาเคมีบำบัดบางชนิดมีพิษต่อไต ดังนั้นผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องเจาะเลือดเพื่อติดตามค่าการทำงานของไตอย่างสม่ำเสมอ

การติดตามหลังการรักษา

หลังการรักษาสิ้นสุดลงและมะเร็งได้ถูกกำจัดออกจากร่างกายแล้ว ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจติดตามอาการเป็นประจำ ซึ่งจะเป็นการตรวจร่างกายโดยแพทย์เพื่อดูช่องคลอดและปากมดลูก (หากยังไม่ได้ผ่าตัดออก) เนื่องจากมะเร็งปากมดลูกมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้นั่นเอง  

หากมะเร็งปากมดลูกกลับมาเป็นซ้ำ มักจะกลับมาในช่วงเวลาประมาณ 18 เดือนหลังสิ้นสุดคอร์สการรักษา

การนัดหมายเพื่อติดตามอาการมักแนะนำให้ติดตามทุกๆ 4 เดือน ในช่วง 2 ปีแรกหลังสิ้นสุดการรักษา จากนั้นจะนัดหมายติดตามห่างออกไปเป็นทุก 6-12 เดือน ในช่วง 3 ปีต่อมา

มะเร็งปากมดลูกแม้จะเป็นโรคอันตรายแต่ก็มีวิธีรักษาได้หลายวิธี อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ดีที่สุด คือ การดูแลตนเองด้วยการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำทุกปี เช่น วิธีแป๊บสเมียร์ การตรวจแบบตินเพร็พ 

รวมทั้งการป้องกันตนเองด้วยการฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก และการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยด้วยการใส่ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธี   

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจโรคมะเร็งสำหรับผู้หญิง จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


10 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
ผลข้างเคียงวัคซีนมะเร็งปากมดลูก (HPV) | HDmall (https://hdmall.co.th/c/hpv-vaccine-side-effects).
Womenshealth.gov, Cervical cancer (https://www.womenshealth.gov/cancer/cervical-cancer), 24 September 2020.
WebMD, Cervical Cancer: Causes, Symptoms, Diagnosis, Treatment, & Outlook (https://www.webmd.com/cancer/cervical-cancer/cervical-cancer#1), 24 September 2020.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

ดูคำถามและคำตอบอื่นๆ ที่เกี่ยวกับอาการนี้
ผู้ที่เป็นมะเร็งปากกมดลูกระยะที่สาม แต่ทำคีโมรักษาเรียบร้อยแล้ว มีโอกาสหาย100%รึป่าวค่ะ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
เราจะมีวิธีป้องกันมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีไหนได้บ้างและการใช้สบู่เหลวอนามัยเป็นอันตรายมากไหม
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
มะเรีงปากมดลูก มีทางไม่ให้เกิดขึ้นได้ไหม
คำถามนี้ได้การตอบจากพยาบาลผู้เชี่ยวชาญ
มะเร็งปากมดลูกมีวิธีการป้องกันอย่างไร
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
ปัญหาตกขาวเรื้อรังจะมีผลต่อมะเร็งปากมดลูกหรือเปล่าคะ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
อยากทราบว่าระยะแรกของมะเร็งปากมดลูกจะแสดงอาการอย่างไร?
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)