กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
พญ.วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
พญ.วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี

มะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer)

รู้จักมะเร็งปากมดลูกในทุกแง่มุม ทั้งสาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง วิธีการรักษา ทำความเข้าใจและป้องกันก่อนจะสายเกินไป
เผยแพร่ครั้งแรก 25 ก.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 30 พ.ย. 2022 ตรวจสอบความถูกต้อง 23 ธ.ค. 2020 เวลาอ่านประมาณ 10 นาที
มะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer)

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • มะเร็งปากมดลูกคือ มะเร็งชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นบริเวณปากมดลูก สาเหตุมากกว่า 99% ของการเกิดมะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อเอชพีวี (HPV) การมีเพศสัมพันธ์ด้วยการสอดใส่และการมีกิจกรรมทางเพศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ชาย หรือผู้หญิง
  • นอกจากการติดเชื้อเอชพีวีแล้วยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก เช่น การสูบบุหรี่ การมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง การรับประทานยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดเป็นเวลานานมากกว่า 5 ปี การมีลูกหลายคน
  • อาการของมะเร็งปากมดลูกไม่ค่อยเห็นได้เด่นชัดและอาจไม่มีอาการใดๆ เลยจนกระทั่งจะเข้าสู่ระยะที่มีความรุนแรงแล้ว ผู้หญิงทุกคนจึงต้องเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ เพราะหากตรวจพบการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ตั้งแต่การตรวจคัดกรอง การรักษาจะประสบความสำเร็จสูง
  • การรักษามะเร็งปากมดลูกขึ้นกับการแพร่กระจายของมะเร็ง โดยทั่วไปนิยมรักษาด้วยการผ่าตัดเอามดลูกออกทั้งหมด หรือผ่าตัดออกบางส่วน การใช้รังสีรักษา หรือใช้ร่วมกันระหว่างการผ่าตัดและรังสีรักษา การใช้ยาเคมีบำบัด ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แพทย์จะให้การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งในผู้หญิงที่พบมากเป็นอันดับที่ 2 ในประเทศไทยรองจากมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูกสามารถพบได้ในผู้หญิงทุกช่วงอายุ แต่พบได้มากในผู้ป่วยอายุ 30-45 ปี ที่ยังคงมีเพศสัมพันธ์อยู่ แต่พบได้น้อยมากในผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 25 ปี

อย่างไรก็ตาม การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่มีประสิทธิภาพจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกลงได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจมะเร็งทั่วไปวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 340 บาท ลดสูงสุด 64%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

มะเร็งปากมดลูกคืออะไร?

มะเร็งปากมดลูกคือ มะเร็งชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นบริเวณปากมดลูกของผู้หญิง สาเหตุมากกว่า 99% เกิดจากการติดเชื้อเอชพีวี ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่พบได้บ่อยและติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ด้วยการสอดใส่และการมีกิจกรรมทางเพศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ชาย หรือผู้หญิง

ดังนั้นเชื้อไวรัสนี้จึงติดต่อกันได้บ่อย ประมาณการว่า ผู้หญิง 1 ใน 3 คนจะมีการติดเชื้อเอชพีวีภายใน 2 ปี หลังจากเริ่มมีเพศสัมพันธ์เป็นประจำ และประมาณ 4 ใน 5 ของผู้หญิงจะพบการติดเชื้อเอชพีวีในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งของชีวิต

เชื้อเอชพีวี สาเหตุของมะเร็งปากมดลูกที่พบบ่อย

เชื้อเอชพีวี (Human Papilloma Virus: HPV) เป็นเชื้อที่มีอยู่มากกว่า 100 สายพันธ์ุ ส่วนใหญ่แล้วไม่ทำให้เกิดอันตราย อย่างไรก็ตาม มีเชื้อเอชพีวีบางสายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุของความผิดปกติที่เกิดขึ้นที่เซลล์ปากมดลูก ซึ่งนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้

สำหรับเชื้อเอชพีวีที่เป็นสายพันธุ์เสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกมีอยู่ราว 15 สายพันธุ์ ส่วนสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงสุดต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกคือ สายพันธุ์ที่ 16 และสายพันธุ์ที่ 18 (HPV 16 และ HPV18) ซึ่งเป็นสาเหตุมากถึง 7 ใน 10 คนของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกทั้งหมด

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก

ผู้หญิงที่ติดเชื้อเอชพีวีมีสัดส่วนน้อยที่จะพัฒนาเป็นมะเร็งปากมดลูก เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่จะเพิ่มความเสี่ยงต่อผู้หญิงในการพัฒนาเป็นมะเร็งปากมดลูกอีกหลายปัจจัย ได้แก่

  • การสูบบุหรี่ ผู้หญิงที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูกมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ 2 เท่า เพราะสารเคมีที่พบในบุหรี่ทำให้เกิดผลเสียต่อเซลล์ปากมดลูก
  • มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งอาจเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยได้รับยาบางชนิด เช่น ยากดภูมิคุ้มกันในกรณีที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะเพื่อป้องกันการปฏิเสธอวัยวะ หรือเกิดจากการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) หรือโรคเอดส์ (AIDS)
  • รับประทานยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดเป็นเวลานานมากกว่า 5 ปี พบว่า ผู้หญิงที่รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูกมากกว่าผู้ที่ไม่ได้รับประทานยาเป็นระยะเวลานานขนาดนี้เป็น 2 เท่า ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงว่า เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนี้
  • การมีลูก (มีลูกหลายคน มีความเสี่ยงมากกว่า) ผู้หญิงที่มีลูก 2 คน มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูกเป็น 2 เท่า เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ไม่เคยมีลูก เหตุผลของความสัมพันธ์ระหว่างการมีลูกและมะเร็งปากมดลูกยังไม่ทราบแน่ชัด หนึ่งในทฤษฎีก็คือ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่พบระหว่างการตั้งครรภ์อาจทำให้ปากมดลูกเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากเชื้อเอชพีวีมากยิ่งขึ้น

การพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็งปากมดลูก

โรคมะเร็งปากมดลูกมักจะใช้เวลาหลายปีก่อนจะพัฒนาเป็นมะเร็งขึ้น อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะเกิดโรคมะเร็งขึ้นเซลล์ที่บริเวณปากมดลูกมักแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า "เซลล์ปากมดลูกเจริญผิดปกติ (Cervical Intraepithelial Neoplasia: CIN)" 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจมะเร็งทั่วไปวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 340 บาท ลดสูงสุด 64%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

หรือที่พบได้น้อยกว่าคือ "Cervical Glandular Intraepithelial Neoplasia: CGIN" ทั้ง CIN และ CGIN คือ เซลล์ในระยะก่อนพัฒนาเป็นมะเร็ง (pre-cancerous conditions) ซึ่งยังไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยในทันที แต่ในอนาคตมีโอกาสที่เซลล์ในระยะนี้จะพัฒนาต่อเป็นมะเร็งได้

การพัฒนาของโรคตั้งแต่เริ่มมีการติดเชื้อเอชพีวี ไปจนมีการเจริญผิดปกติของเซลล์ปากมดลูก (CIN หรือ CGIN) จนกระทั่งทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกนั้นเป็นไปอย่างช้าๆ และมักกินระยะเวลา 10-20 ปี

อาการของมะเร็งปากมดลูกไม่ค่อยเห็นได้เด่นชัดและอาจไม่มีอาการใดๆ เลยจนกระทั่งมะเร็งเข้าสู่ระยะที่มีความรุนแรงแล้ว นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญว่า "เหตุใดผู้หญิงทุกคนจึงต้องเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ" 

หากตรวจพบการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ระหว่างการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก การรักษาจะประสบความสำเร็จสูง

อย่างไรก็ตาม หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคมะเร็งปากมดลูก แม้จะพยายามหาคำตอบด้วยตนเองแล้วแต่ก็ยังไม่เป็นที่พอใจ หรือยังไม่มีเวลาไปพบแพทย์ด้วยตนเองที่โรงพยาบาล หรือคลินิก ปัจจุบันสามารถใช้บริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์ได้แล้ว  

คำแนะนำเบื้องต้นจากแพทย์จะช่วยให้คุณรู้ว่า ควรจะดำเนินการต่ออย่างไรบ้าง เช่น ต้องไปตรวจคัดกรองที่ไหน ตรวจด้วยวิธีใด   

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

อาการของมะเร็งปากมดลูก

ส่วนใหญ่แล้ว อาการแรกที่เห็นได้ชัดเจนในโรคมะเร็งปากมดลูกคือ เลือดออกทางช่องคลอด ซึ่งมักพบหลังการมีเพศสัมพันธ์  (postcoital bleeding) รวมทั้งการมีเลือดออกจากช่องคลอดในกรณีต่อไปนี้ 

  • เลือดออกจากช่องคลอดในช่วงเวลาอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่ช่วงที่มีประจำเดือน 
  • หรือมีเลือดออกจากช่องคลอดทั้งที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนแล้ว 

ส่วนอาการอื่นๆ ของมะเร็งปากมดลูกที่พบอาจรวมถึง อาการปวด เมื่อมะเร็งแพร่กระจายไปยังปลายประสาท กระดูก หรือกล้ามเนื้อ จะเป็นสาเหตุให้มีอาการปวดรุนแรง อาการไม่สบายตัวระหว่างมีเพศสัมพันธ์ และตกขาวมีกลิ่นเหม็น

หากมะเร็งปากมดลูกแพร่กระจายไปสู่เนื้อเยื่อและอวัยวะใกล้เคียงจะทำให้เกิดอาการหลายอย่างตามมา ได้แก่

  • ท้องผูก
  • ปัสสาวะมีเลือดปน (haematuria)
  • สูญเสียการควบคุมการปัสสาวะ (กลั้นปัสสาวะไม่อยู่)
  • ปวดกระดูก
  • ขาบวมข้างใดข้างหนึ่ง
  • ปวดอย่างรุนแรงที่หลัง หรือปวดด้านข้างของร่างกาย ที่เกิดจากการบวมที่ไต (ไตบวมน้ำ หรือไตมีปัสสาวะคั่ง)
  • มีการเปลี่ยนแปลงการทำงานของกระเพาะปัสสาวะและลำไส้
  • เบื่ออาหาร
  • น้ำหนักลด
  • อ่อนเพลีย รู้สึกไม่มีเรี่ยวแรง

การวินิจฉัยมะเร็งปากมดลูก

หากมีผลการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกพบความผิดปกติ หรือมีอาการที่มีแนวโน้มว่า คุณอาจเป็นมะเร็งปากมดลูก สูตินรีแพทย์จะตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีต่อไปนี้ 

  • ใช้กล้องส่องตรวจช่องคลอด (colposcopy) ซึ่งเป็นการตรวจหาความผิดปกติที่เกิดขึ้นที่ปากมดลูก ระหว่างการส่องตรวจช่องคลอด แพทย์จะใช้กล้องขนาดเล็กที่มีแสงไฟที่ปลายของกล้องส่องตรวจ จากนั้นจะนำตัวอย่างเนื้อเยื่อจากปากมดลูกไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อดูว่า มีเซลล์มะเร็งหรือไม่
  • การตัดชิ้นเนื้อปากมดลูกออกเป็นรูปกรวย (cone biopsy) ผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจตัดชิ้นเนื้อปากมดลูกออกเป็นรูปกรวยเพื่อนำไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ว่า "มีเซลล์มะเร็งอยู่หรือไม่" วิธีนี้ผู้เข้ารับการตรวจอาจมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดนานถึง 4 สัปดาห์ และอาจมีอาการปวดคล้ายกับมีประจำเดือนด้วย
  • การตรวจเพิ่มเติม หากผลจากการตรวจชิ้นเนื้อพบว่า คุณเป็นมะเร็งปากมดลูก และมีความเสี่ยงที่มะเร็งอาจแพร่กระจายออกไป คุณจำเป็นต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมเพื่อประเมินว่า มะเร็งมีการแพร่กระจายออกไปแล้วมากน้อยเพียงใด 

การวินิจฉัยระยะของมะเร็งปากมดลูก

  • การตรวจภายใน (pelvic examination) เพื่อตรวจมดลูก ช่องคลอด ลำไส้ และกระเพาะปัสสาวะว่ามีการแพร่กระจายของมะเร็งไปหรือไม่
  • การตรวจเลือด เพื่อช่วยประเมินการทำงานของตับ ไต และไขกระดูก
  • การทำซีที สแกน/การสแกนด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) คือ การสแกนร่างกายและใช้คอมพิวเตอร์สร้างเป็นภาพของอวัยวะภายในร่างกายเป็นภาพสามมติ การตรวจซีทีสแกนจะช่วยบ่งชี้ว่า มีก้อนเนื้องอกมะเร็งหรือไม่ และบอกว่า มะเร็งมีการแพร่กระจายหรือไม่
  • การตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (magnetic resonance imaging (MRI) scan) การตรวจสแกนนี้จะใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเข้มข้นและคลื่นวิทยาในการสร้างเป็นภาพของอวัยวะภายในร่างกาย ใช้เพื่อตรวจว่า มีการแพร่กระจายของมะเร็งแล้วหรือไม่
  • การเอ็กซเรย์ปอด เพื่อดูว่า มะเร็งแพร่กระจายไปที่ปอดหรือไม่
  • การทำเพทสแกน (positive emission tomography (PET) scan) คือ การตรวจสแกนชนิดพิเศษร่วมกับการฉีดสารกัมมันตรังสีเข้าทางหลอดเลือดดำเพื่อให้เห็นภาพเซลล์มะเร็งได้ชัดเจนขึ้น การตรวจนี้มักทำร่วมกับการทำซีทีสแกนเพื่อดูว่า มะเร็งแพร่กระจายไปมากน้อยแค่ไหน และดูการตอบสนองต่อการรักษาที่ได้รับ

ระยะของโรคมะเร็งปากมดลูก

  • ระยะ 0 (ก่อนเป็นมะเร็ง) ระยะนี้จะยังไม่มีเซลล์มะเร็งที่ปากมดลูก แต่พบการเปลี่ยนแปลงทางชีววิทยาที่สามารถกระตุ้นให้เกิดมะเร็งในอนาคต เราเรียกว่า "ระยะที่ตรวจพบเซลล์ปากมดลูกเจริญผิดปกติ (Cervical Intraepithelial Neoplasia: CIN) หรือมะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มแรก (Carcinoma In Situ: CIS)"
  • ระยะที่ 1 มะเร็งยังอยู่เฉพาะที่ปากมดลูก
  • ระยะที่ 2 มะเร็งมีการแพร่กระจายออกไปจากปากมดลูกเข้าสู่เนื้อเยื่อข้างเคียง แต่ยังไม่ถึงเนื้อเยื่อบุอุ้งเชิงกราน (ผนังอุ้งเชิงกราน) หรือส่วนล่างของช่องคลอด
  • ระยะที่ 3 มะเร็งแพร่กระจายเข้าสู่ส่วนล่างของช่องคลอด และ/หรือ เข้าสู่ผนังอุ้งเชิงกราน
  • ระยะที่ 4 มะเร็งแพร่กระจายเข้าสู่ลำไส้ กระเพาปัสสาวะ หรืออวัยวะอื่นๆ เช่น ปอด

การแพร่กระจายของมะเร็งปากมดลูก

หากมะเร็งปากมดลูกไม่ได้รับการวินิจฉัยและไม่ได้รับการรักษา ตัวมะเร็งจะค่อยๆ แพร่กระจายออกจากปากมดลูกอย่างช้าๆ เข้าสู่เนื้อเยื่อและอวัยวะข้างเคียง

มะเร็งสามารถแพร่กระจายลงสู่ช่องคลอดและกล้ามเนื้อที่ค้ำจุนกระดูกเชิงกรานอยู่ และอาจแพร่กระจายขึ้นด้านบนไปปิดกั้นท่อไต (ท่อที่นำน้ำปัสสาวะจากไตลงสู่กระเพาะปัสสาวะ (ureters) ลำไส้ใหญ่ และไปที่ตับ กระดูก และปอดได้อีกด้วย 

นอกจากนี้เซลล์มะเร็งยังสามารถแพร่กระจายเข้าสู่ระบบน้ำเหลือง (lymphatic system) ซึ่งมีหน้าที่ผลิตเซลล์ที่จำเป็นในระบบภูมิคุ้มกันได้เช่นกัน ในผู้ป่วยบางรายที่เป็นมะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มต้น ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้กับปากช่องคลอดอาจมีเซลล์มะเร็งอยู่ในนั้นด้วย 

และในบางรายต่อมน้ำเหลืองที่หน้าอกและช่องท้องอาจได้รับผลกระทบไปด้วย

การรักษามะเร็งปากมดลูก

การรักษามะเร็งปากมดลูกขึ้นกับว่า มะเร็งแพร่กระจายไปมากน้อยเพียงใด จากนั้นโรงพยาบาลแต่ละแห่งจะใช้ทีมสหสาขาวิชาชีพซึ่งประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาร่วมกันดูแลและวางแผนโปรแกรมการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจในขั้นตอนสุดท้ายว่าจะรักษาแบบไหนนั้น ผู้ป่วยจะเป็นผู้ตัดสินใจ โดยส่วนใหญ่แล้วแพทย์จะแนะนำให้รักษาดังนี้

  • มะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มต้นจะรักษาด้วยการผ่าตัดบางส่วน หรือผ่าตัดมดลูกทั้งหมดออก (hysterectomy) การใช้รังสีรักษา หรือใช้ร่วมกันทั้งการผ่าตัดและรังสีรักษา
  • มะเร็งปากมดลูกระยะแพร่กระจายซึ่งมีความรุนแรงมากขึ้นจะรักษาด้วยการใช้รังสีรักษา และ/หรือ ยาเคมีบำบัด และอาจมีการใช้การผ่าตัดด้วย

การคาดการณ์ว่า มะเร็งปากมดลูกจะรักษาหายขาดหรือไม่นั้นขึ้นกับระยะที่ตรวจพบโรค หากตรวจเจอตั้งแต่ระยะแรก ผู้ป่วยเข้สรับการรักษาเร็วก็มีโอกาสสูงที่จะรักษาหายขาด แต่หากตรวจพบในระยะที่มะเร็งแพร่กระจายแล้ว โอกาสที่จะรักษาให้หายขาดก็จะลดลงเรื่อยๆ 

ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แพทย์จะให้การรักษาแบบ "ประคับประคองตามอาการ (palliative care)" เพื่อชะลอการดำเนินไปของโรค ช่วยให้มีชีวิตยืนยาวขึ้น และบรรเทาอาการต่างๆ ที่สัมพันธ์กับโรค เช่น อาการปวด อาการเลือดออกทางช่องคลอด 

อ่านเพิ่มเติม: การรักษามะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer)

การติดตามหลังการรักษา

หลังการรักษาสิ้นสุดลง ผู้ป่วยยังจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจติดตามอาการเป็นประจำ เนื่องจากมะเร็งปากมดลูกมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ในช่วงเวลาประมาณ 18 เดือนหลังสิ้นสุดคอร์สการรักษา

การนัดหมายเพื่อติดตามอาการมักแนะนำให้ติดตามทุก 4 เดือน ในช่วง 2 ปีแรกหลังสิ้นสุดการรักษา จากนั้นติดตามห่างออกไปเป็นทุก 6 – 12 เดือน ในช่วง 3 ปีต่อมา

ภาวะแทรกซ้อนจากมะเร็งปากมดลูก

ภาวะแทรกซ้อนจากมะเร็งปากมดลูกอาจเกิดจากผลข้างเคียงของการรักษา หรือเกิดจากตัวโรคมะเร็งปากมดลูกที่มีการลุกลาม ได้แก่ 

  • หมดประจำเดือนก่อนกำหนด (Early menopause) ทำให้มีอาการต่อไปนี้ เช่น ขาดประจำเดือน ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกตอนกลางคืน ช่องคลอดแห้ง
  • ภาวะเลือดออก หากมะเร็งแพร่กระจายไปที่ช่องคลอด ลำไส้ หรือกระเพาะปัสสาวะจะทำให้เกิดเลือดออกได้ เช่น ที่ช่องคลอด ลำไส้ตรง 
  • ตกขาว (Vaginal discharge) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ไม่บ่อยแต่รบกวนชีวิตผู้ป่วย โดยตกขาวจะมีกลิ่นเหม็น 
  • ช่องคลอดแคบ ทำให้เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ หรือมีเพศสัมพันธ์ลำบากขึ้น
  • บวมน้ำเหลือง (Lymphoedema) ทำให้เกิดการขัดขวางการทำงานตามปกติของระบบน้ำเหลือง ทำให้เกิดการสะสมของของเหลวภายในเนื้อเยื่อ ทำให้เกิดการบวมน้ำเหลือง ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้จากการบวมของขา 
  • ไตวาย (kidney failure) ในรายที่เป็นมะเร็งปากมดลูกระยะแพร่กระจาย ก้อนมะเร็งสามารถกดเบียดที่ท่อไต และขัดขวางการไหลของปัสสาวะจากไต ทำให้เกิดการคั่งของปัสสาวะภายในไต (hydronephrosis) และอาจทำให้ไตบวมได้
  • ลิ่มเลือดอุดตัน ทำให้เลือดมีความหนืดมากขึ้น เลือดไหลเวียนช้า และมีแนวโน้มที่จะเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ เช่น เกิดการลิ่มเลือดอุดตันที่บริเวณขา
  • ผลกระทบด้านจิตใจ เช่น ทำให้รู้สึกแย่ หดหู่ เครียด เสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า หากรู้สึกเครียด เศร้าแบบไม่มีเหตุผม สามารถไปพูดคุยปรึกษาจิตแพทย์ได้ 

การป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก

ในการป้องกันมะเร็งปากมดลูกจะต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน โดยวิธีที่จะช่วยลดความเสี่ยงมีดังนี้

การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย

ผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชพีวี (HPV) ซึ่งตัวเชื้อไวรัสเอชพีวีจะติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน ดังนั้นการใช้ถุงยางอนามัยจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อดังกล่าวได้

อย่างไรก็ตาม เชื้อไวรัสนี้อาจติดต่อกันได้แม้ไม่มีการสอดใส่อวัยวะเพศ เพราะสามารถติดต่อผ่านการสัมผัสร่างกายระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ได้เช่นกัน เช่น การสัมผัสกันของผิวหนังบริเวณอวัยวะเพศของทั้งสองฝ่าย หรือโดยการใช้เซ็กซ์ทอย (sex toys)

คุณจะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชพีวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เช่น หนองในแท้ หนองในเทียม ซิฟิลิส ติดเชื้อเอชไอวี เพิ่มขึ้น หากมีเพศสัมพันธ์บ่อยครั้งและเปลี่ยนคู่นอนหลายคน 

หากไม่มั่นใจในสุขภาพระบบสืบพันธุ์ของตนเองและคู่นอน การตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือ STD น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด ปัจจุบันการตรวจโรคเช่นนี้ก็มีให้บริการหลากหลายประเภท มีทั้งการตรวจในคลินิกและโรงพยาบาล

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (Screening for cervical cancer) เป็นประจำคือ วิธีที่ดีที่สุดในการดูว่า มีเซลล์ผิดปกติที่ปากมดลูกตั้งแต่ระยะแรกๆ ของโรคหรือไม่

แนะนำให้ผู้หญิงอายุ 25-49 ปี ตรวจคัดกรองทุก 3 ปี ผู้หญิงที่อายุ 50-64 ปี แนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุกๆ 5 ปี 

ส่วนผู้หญิงที่อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป จะแนะนำให้ตรวจเฉพาะกรณีที่ยังไม่เคยตรวจเลยตั้งแต่อายุ 50 ปี หรือผลการตรวจในครั้งก่อนหน้านี้พบความผิดปกติ

หากเคยได้รับการรักษาความผิดปกติของเซลล์ที่ปากมดลูกแล้ว จะต้องเข้ารับการตรวจคัดกรองบ่อยครั้งขึ้น สำหรับจำนวนครั้งที่ต้องเข้ารับการตรวจจะมาก-น้อย หรือบ่อยครั้งเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่ตรวจพบ

แม้ว่าจะสามารถตรวจพบความผิดปกติของเซลล์ที่ปากมดลูกได้ แต่ผลการตรวจคัดกรองก็ไม่ได้แม่นยำ 100% ดังนั้นหากมีอาการผิดปกติ เช่น เลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติ ต้องรีบไปพบแพทย์แม้ว่าจะเพิ่งผ่านการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแล้วผลออกมาปกติก็ตาม

อ่านเพิ่มเติม: รู้ก่อนตรวจมะเร็งปากมดลูก

การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก

เด็กหญิงจะได้รับคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกเมื่ออายุ 12-23 ปี โดยจะฉีดทั้งหมด 3 เข็ม ในช่วงเวลา 6 เดือน

แม้ว่า วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกจะลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งปากมดลูกได้มาก แต่ไม่ได้ยืนยัน 100% ว่าจะไม่เป็นโรคนี้ คุณจึงยังจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ แม้ว่าจะเคยฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกมาแล้วก็ตาม

อ่านเพิ่มเติม: วัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก

หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่

คุณสามารถลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ด้วยการไม่สูบบุหรี่ เนื่องจากพบว่า ผู้ที่สูบบุหรี่จะมีความสามารถในการกำจัดเชื้อเอชพีวีออกจากร่างกายได้น้อยกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ จึงทำให้มีโอกาสพัฒนาเป็นมะเร็งมากกว่า    

มะเร็งปากมดลูกแม้จะเป็นโรคที่พบได้บ่อย แต่ก็เป็นโรคมะเร็งไม่กี่ชนิดที่มีวัคซีนสามารถป้องกันการเกิดโรคได้ มีวิธีตรวจคัดกรองที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีวิธีการป้องกันที่สามารถทำได้ไม่ยาก 

สิ่งสำคัญคือ คุณผู้หญิงทุกคนต้องรู้จักและเข้าใจโรคนี้ ไม่ควรละเลยการดูแลตนเอง

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกการอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android

รวมบทความที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งปากมดลูก 


9 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
ตรวจ Pap Smear คืออะไร แปลผลยังไง เจ็บไหม อ่านสรุปได้ที่นี่ , (https://hdmall.co.th/c/pap-smear).
ผลข้างเคียงวัคซีนมะเร็งปากมดลูก (HPV) | HDmall (https://hdmall.co.th/c/hpv-vaccine-side-effects).
Niederhuber JE, et al., Cancers of the cervix, vulva and vagina. In: Abeloff's Clinical Oncology. 6th ed. Philadelphia, Pa.: Elsevier; 2020.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป