กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis) เป็นโรคยอดฮิตที่พบบ่อยในผู้หญิง บางรายเป็นแล้วก็กลับมาเป็นซ้ำได้อีก สาเหตุมักมาจากการกลั้นปัสสาวะนานๆ การดื่มน้ำน้อยเกินไป นั่นเอง
รู้จักกระเพาะปัสสาวะ
กระเพาะปัสสาวะเป็นถุงคล้ายบอลลูนที่สร้างขึ้นจากกล้ามเนื้อ ตั้งอยู่บริเวณหัวหน่าว หน้ามดลูกของผู้หญิง ส่วนผู้ชาย กระเพาะปัสสาวะจะอยู่ด้านหน้าต่อจากทวารหนัก
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
กระเพาะปัสสาวะทำหน้าที่สร้างและเก็บปัสสาวะ มีความจุราว 350-550 มิลลิลิตร เมื่อมีน้ำปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น ผนังกระเพาะปัสสาวะจะบีบตัวเข้าหากันเพื่อขับน้ำปัสสาวะออกมา
โดยปกติแล้ว กระเพาะปัสสาวะจะสามารถขับน้ำปัสสาวะออกได้หมดภายในเวลาไม่เกิน 30 วินาที โดยไม่มีอาการปวด หรือแสบ บริเวณหลอดปัสสาวะ
กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
กระเพาะปัสสาวะอักเสบเป็นภาวะที่มักเกิดจากการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ หรือ Acute Bacterial Cystitis (กระเพาะปัสสาวะอักเสบเฉียบพลันจากแบคทีเรีย) มากถึง 84% โดยพบในเพศหญิงได้มากกว่าเพศชาย เนื่องจากเพศหญิงมีท่อปัสสาวะสั้นกว่าเพศชาย เชื้อโรคจึงเข้าถึงได้ง่ายกว่า
หากการอักเสบไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ อาจเรียกว่า "Interstitial Cystitis"
สาเหตุที่ทำให้เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- ดื่มน้ำน้อย
- กลั้นปัสสาวะบ่อย
- การมีเพศสัมพันธ์
- ปฏิกิริยาต่อยาบางตัว
- การรักษาโดยการฉายรังสี
- ได้รับสารระคายเคือง เช่น น้ำยาทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น
- การคุมกำเนิดโดยใช้เยลลี่ที่ใช้ฆ่าอสุจิ (Spermicidal Jellies)
- การใส่สายสวนปัสสาวะ
- ภาวะแทรกซ้อนจากโรคอื่น ๆ
- ระบบโครงสร้างของระบบปัสสาวะผิดปกติ
- มีปัญหาเรื่องนิ่ว
อาการของกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
อาการและอาการแสดงของโรคนี้จะขึ้นกับแต่ละบุคคล ตัวอย่างอาการ เช่น
- ปวดปัสสาวะตลอดเวลา
- ปัสสาวะมากกว่า 10 ครั้งต่อวัน แบบกะปริดปะปรอย
- ปัสสาวะช่วงกลางคืนบ่อย
- ปัสสาวะบ่อยๆ ในปริมาณน้อยๆ
- ปัสสาวะแสบขัด
- ปัสสาวะมีเลือดปน
- ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็น
- รู้สึกปวดมวนบริเวณอุ้งเชิงกราน
- ปวดท้องน้อย
- มีไข้ต่ำๆ
อาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบในเด็ก
อาจมีอาการแสดงเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ได้ นอกจากนั้นการที่มีปัสสาวะราดในตอนกลางวันในเด็กที่ฝึกการใช้กระโถนแล้ว ยังอาจเป็นอาการหนึ่งของการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะของเด็กได้ แต่มักจะไม่เกี่ยวข้องกับการปัสสาวะราดในตอนกลางคืน
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
อาการกระเพาะะปัสสาวะอักเสบในผู้สูงอายุ
ส่วนในผู้สูงอายุ อาจมีอาการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ หรือสับสน ผู้ที่มีอาการข้างต้นควรพบแพทย์เพื่อตรวจดูปริมาณเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะประกอบการวินิจฉัย
การรักษากระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- แพทย์จะใช้ยาปฏิชีวนะในการกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการติดเชื้อประมาณ 3-5 วัน ชนิดของยาที่ใช้จะขึ้นอยู่กับชนิดของแบคทีเรียที่ก่อโรค ในรายที่เป็นโรคนี้ครั้งแรก อาการมักจะดีขึ้นอย่างรวดเร็วหลังรับประทานยาปฏิชีวนะไม่กี่วัน แต่ยังคงต้องรับประทานยาให้ครบตามที่แพทย์สั่ง
- หากเคยมีประวัติติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะมาก่อน แพทย์อาจให้รับประทานยาปฏิชีวนะนานขึ้น และถ้าหากมีประวัติการเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือมีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะหลายครั้ง แพทย์อาจส่งพบผู้เชี่ยวชาญด้านความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ
- แพทย์อาจสั่งยาแก้ปวด เช่น Pyridium (Phenazopyridine) เพื่อช่วยลดอาการปวดกระเพาะปัสสาวะ
- หากมีการติดเชื้อเกิดขึ้นระหว่างการนอนโรงพยาบาล แพทย์มักจะใช้ยาปฏิชีวนะอีกชนิดหนึ่ง หรือให้รับประทานยาอีกครั้ง เนื่องจากแบคทีเรียที่ก่อโรคในโรงพยาบาลมักเป็นเชื้อที่มีการดื้อยาปฏิชีวนะทั่วไป
- ในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีกระเพาะปัสสาวะอักเสบบ่อยๆ แพทย์อาจพิจารณาใช้ใช้ครีม Estrogen ทาบริเวณช่องคลอด
การป้องกันกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอในแต่ละวัน อย่างน้อย 8 -10 แก้ว
- หลีกเลี่ยงการกลั้นปัสสาวะนานๆ
- ทำความสะอาดอวัยวะเพศทุกครั้งอย่างถูกต้องหลังปัสสาวะและอุจจาระเสร็จ โดยทำความสะอาดจากด้านหน้าไปด้านหลัง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- หลังมีเพศสัมพันธ์ควรปัสสาวะทิ้งและทำความสะอาดร่างกายให้สะอาด
โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ แม้จะรักษาหายแต่ก็มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ดังนั้นการดูแลตนเองด้วยวิธีที่แนะนำจึงเป็นการป้องกันโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบที่ดีที่สุด
หากมีอาการกำเริบขึ้นอีกก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับยาปฏิชีวนะ หรือรับคำแนะนำการปฏิบัติตนตามความรุนแรงของอาการ
ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android
มีอาการฉี่บ่อย และหนาวง่าย อยากทราบว่ามีโอกาสเป็นโรคอะไร และมีวิธีดูแลรักษาเบื้องต้นอย่างไรบ้างคะ