อาการปวดท้องน้อยเป็นอาการปวดท้องอีกรูปแบบซึ่งหลายคนคงเคยเผชิญมาก่อน และจะให้ความรู้สึกแตกต่างไปจากอาการปวดท้องจากกระเพาะอาหาร หรือโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร อีกทั้งอาการปวดท้องน้อยยังสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง แต่จะพบได้มากกว่าในผู้หญิง ด้วยโครงสร้างและกลไกการทำงานของร่างกายที่เอื้ออำนวยต่อการเกิดอาการนี้มากกว่า
ความหมายของอาการปวดท้องน้อย
อาการปวดท้องน้อย (Pelvic Pain) เป็นอาการปวดซึ่งจะเกิดขึ้นบริเวณใต้สะดือลงไปจนถึงบริเวณกระดูกเชิงกราน หรือจนถึงหัวหน่าว มักพบมากในผู้หญิง และมักเป็นอาการที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบสืบพันธุ์ หรือเกี่ยวกับระบบขับถ่าย เช่น
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
- โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)
- โรคเนื้องอกในมดลูก (Myoma)
- อาการปวดขณะมีประจำเดือน (Menstrual Pain)
- โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)
- โรคนิ่วในไต (Kidney Stones)
- โรคกรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis)
- ท้องผูก (Constipation)
- ท้องเสีย (Diarrhea)
- โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome: IBS)
- อาหารเป็นพิษ (Food Poisoning)
นอกจากนี้ อาการปวดท้องน้อยยังจัดเป็นอาการกล้ามเนื้ออักเสบ ซึ่งเกิดจากการออกกำลังกายที่หนักหน่วงและหักโหมเกินไป หรือเกิดจากการยกของหนักบ่อยๆ ได้ด้วยเช่นกัน
สาเหตุของอาการปวดท้องน้อย
ในทางการแพทย์ อาการปวดท้องน้อยสามารถแบ่งออกได้ 3 ประเภท ได้แก่
1. ปวดท้องน้อยแบบเฉียบพลัน (Acute Pelvic pain)
เป็นอาการปวดซึ่งจะเกิดขึ้นโดยไม่มีสัญญาณผิดปกติล่วงหน้า ผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และอาจหมดสติตามมาในภายหลังได้ อาการปวดท้องน้อยแบบเฉียบพลันมักจะมีสาเหตุมาจากการอักเสบ หรือการขาดเลือดของอวัยวะต่างๆ ภายในช่องท้อง ซึ่งสืบเนื่องมาจากโรคบางชนิด เช่น
- โรคมดลูกอักเสบ
- โรคลำไส้อักเสบ
- โรคไส้ติ่งอักเสบ
- โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- โรคนิ่วในไต
นอกจากนี้ อาการปวดท้องน้อยแบบเฉียบพลันในผู้หญิง ยังอาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของรังไข่ หรือการตั้งครรภ์นอกมดลูกก็เป็นได้
2. ปวดท้องน้อยแบบซ้ำๆ (Recurrent Pelvic Pain)
เป็นอาการปวดท้องที่พบได้ในเพศหญิงเท่านั้น โดยมีสาเหตุมาจากอาการไข่ตกและกลายเป็นประจำเดือนในเวลาต่อมา แต่หากผู้ป่วยมีอาการปวดรุนแรงมากๆ ประกอบกับมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีตกขาวเป็นสีเหลืองขุ่นและมีกลิ่นเหม็นแรง ก็ควรรีบไปพบแพทย์โดยทันที
นอกจากนี้ หากมีผู้ป่วยเพศชายเกิดอาการปวดท้องในลักษณะนี้เกิดขึ้น ก็ควรรีบไปพบแพทย์ด้วยเช่นกันเพื่อตรวจหาความผิดปกติต่อไป
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
3. ปวดท้องน้อยแบบเรื้อรัง (Chronic Pelvic Pain)
เป็นอาการปวดท้องน้อยซึ่งพบได้บ่อยที่สุด และยังมีปัญหาในการวินิจฉัยโรคมากที่สุดด้วย เพราะผู้ป่วยจะมีอาการปวดแบบเป็นๆ หายๆ ไม่สม่ำเสมอและคาดเดาไม่ได้ ทำให้การวินิจฉัยเป็นไปได้ยากว่าตกลงอาการเกิดจากสาเหตุใดกันแน่
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้อาการปวดลักษณะนี้จะหาสาเหตุได้ยาก แต่แพทย์ก็ได้มีการวิเคราะห์หาชนิดของโรค ซึ่งมักเป็นปัจจัยทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อยแบบเรื้อรังขึ้น นั่นก็คือ โรคลำไส้แปรปรวนและมีพังผืดขึ้นในช่องท้อง
แต่หากอาการปวดท้องน้อยลักษณะนี้เกิดในผู้ป่วยหญิง ก็อาจมีความผิดปกติอื่นๆ เข้ามาเป็นสาเหตุเพิ่มเติมได้ เช่น
- โรคช็อกโกแลตซีสต์
- โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
- โรคเนื้องอกในมดลูก
- โรคถุงน้ำในรังไข่
ผลกระทบจากอาการปวดท้องน้อย
ผลกระทบหลักๆ จากอาการปวดท้องน้อยคือ จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดและไม่สบายท้องอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะยืน เดิน หรือนั่งทำงานกับโต๊ะ ผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกเจ็บร้าวไปถึงหลัง ต้นขา หรือก้นจนไม่สามารถทรงตัวอยู่ได้ และผลกระทบนี้ยังอาจลุกลามไปถึงปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ด้วย
นอกจากนี้ อีกผลกระทบที่ร้ายแรงของอาการปวดท้องน้อยก็คือ ความเครียดจากอาการเจ็บป่วยที่อาจเรื้อรังจนส่งผลให้ผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หรือโรควิตกกังวลได้ และหากไม่ได้รับการรักษาหรือได้รับการดูแลที่เพียงพอ ผู้ป่วยอาจเกิดความเครียดถึงขั้นคิดฆ่าตัวตายได้
วิธีรักษาอาการปวดท้องน้อย
แพทย์จะรักษาอาการปวดท้องน้อยแตกต่างกันไปตามอาการของผู้ป่วยแต่ละราย รวมถึงสาเหตุของโรค ความรุนแรง อายุและประวัติสุขภาพของผู้ป่วย โดยจะประกอบไปด้วยวิธีดังต่อไปนี้
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
1. รักษาด้วยการให้ยา
จะมีทั้งยาแบบรับประทานและยาแบบฉีด โดยตัวยาทั่วไปที่แพทย์มักจะใช้ในการรักษาอาการปวดท้องน้อยก็คือ ยาลดการอักเสบ ยาปฏิชีวนะ และยาคุมกำเนิด (เฉพาะในผู้ป่วยเพศหญิงเท่านั้น)
2. รักษาด้วยการผ่าตัด
เป็นวิธีการรักษาที่จะใช้ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการปวดท้องน้อยรุนแรงมาก หรือสาเหตุของอาการปวดท้องน้อยมาจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือมีเนื้องอกขึ้นตามอวัยวะต่างๆ อย่างไรก็ตาม แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยอีกครั้งว่า ผู้ป่วยควรรักษาด้วยการผ่าตัดหรือไม่
3. รักษาด้วยวิธีอื่นๆ
นอกจาก 2 วิธีการรักษาที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีการรักษาด้วยวิธีแบบอื่นๆ อีก เช่น ทำกายภาพบำบัด หรือการออกกำลังกายเพื่อรักษาอาการปวดเกร็งของกล้ามเนื้อ หรือการฝึกบุคลิกภาพแบบใหม่
การรักษาอาการปวดท้องน้อยจะมีประสิทธิภาพดีหรือไม่ดี ล้วนขึ้นอยู่กับความร่วมมือของผู้ป่วยและการวางแผนการรักษาร่วมกับแพทย์ ซึ่งหากผู้ป่วยสามารถจดจำรายละเอียด หรือให้ข้อมูลในขณะปวดท้องได้อย่างชัดเจน แพทย์ก็มีโอกาสที่จะหาสาเหตุของอาการให้ตรงกับโรคที่เป็นอยู่ได้มากยิ่งขึ้น
ถึงแม้ว่าอาการปวดท้องน้อยจะเกิดได้มากในผู้หญิง แต่ก็มีโอกาสที่อาการนี้จะเกิดขึ้นได้ในผู้ชายเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเรื่องของระบบทางเดินปัสสาวะที่อาจเกิดความผิดปกติขึ้น
ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะเพศหญิงหรือชาย หากรู้สึกว่าตนเองปวดท้องน้อยหรือรู้สึกไม่สบายท้องบริเวณดังกล่าว ก็ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อตรวจหาความผิดปกติ และรีบหาทางรักษา ก่อนที่อาการปวดจะร้ายแรงไปมากกว่านี้